วันอังคาร, ธันวาคม 23, 2551

Oscar 2009: เปิดตัวขวัญใจนักวิจารณ์


พอยกแรกผ่านพ้นไป Slumdog Millionaire ของ แดนนี่ บอยล์ ดูจะมีแต้มต่อหนังเรื่องอื่นๆ อยู่เล็กน้อย หลังกวาดรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก NBR, NYFCO, BFSC และ WAFCA มาครอง พร้อมทั้งเข้าชิงสาขาเดียวกันของลูกโลกทองคำและ Broadcast Film Critics Association อย่างครบถ้วน นอกจากนี้ บอยล์ยังคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก LAFCA และตัวหนังก็ติดโหวตเป็นอันดับสามของ NYFCC (รองจาก Milk และ Rachel Getting Married) ควบคู่กับ Happy-Go-Lucky ด้วย นั่นหมายความว่า Slumdog Millionaireได้เสียงสนับสนุนจากนักวิจารณ์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับ Juno และ Little Miss Sunshine ซึ่งหลายคนมักจะหยิบยกมาอ้างอิงในฐานะ “หนังเล็กที่ไปไกลถึงออสการ์”

The Curious Case of Benjamin Button ซึ่งตีควบมากับ Slumdog Millionaire ก่อนหน้านี้ เริ่มเสียศูนย์ไปเล็กน้อย หลังเสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ไม่ค่อยอบอุ่นดังคาด (มีเพียง NBR ที่มอบรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมให้ เดวิด ฟินเชอร์) แม้สุดท้ายจะสามารถเรียกคะแนนคืนมาได้บ้างจากการเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำสาขาสำคัญๆ (หนัง/ผู้กำกับ/นำชาย/บท) ตรงกันข้ามกับ Milk ซึ่งทำท่าเหมือนจะมาแรงจากการคว้ารางวัลใหญ่ของ NYFCC มาครอง แต่สุดท้ายกลับถูกลูกโลกทองคำเชิดใส่อย่างน่าเจ็บใจ (อาจเป็นเพราะหนังให้อารมณ์ “อเมริกัน” เกินไปสำหรับผู้สื่อข่าวต่างประเทศ?)

นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่าชัยชนะของ Milk อาจเกิดจากการ “บล็อก” โหวตมากพอๆ กับชัยชนะของ United 93 เมื่อสองปีก่อน ดังจะเห็นได้จากคำสารภาพของนักวิจารณ์ ลู ลูเมนิค “ในการลงคะแนนรอบแรก สมาชิกทุกคนจะต้องระบุ 3 ตัวเลือกเรียงตามลำดับ โดยอันดับหนึ่งจะได้ 3 คะแนน อันดับสอง 2 คะแนน และอันดับสาม 1 คะแนน สมาชิกบางคนเลือกจะ “บล็อก” บางตัวเลือกที่พวกเขาไม่อยากให้ชนะด้วยการไม่จัดมันติดอันดับใดๆ เลย แล้วเติมอันดับสองกับสามด้วยตัวเลือกที่รู้แน่ว่าไม่มีทางชนะ” ลูเมนิคกล่าว “โดยส่วนตัวผมเลือก Slumdog Millionaire อันดับหนึ่งในการลงคะแนนสามรอบแรก แต่เมื่อปรากฏชัดว่า Rachel Getting Married อาจคว้าชัยไปครองในที่สุด ผมจึงเปลี่ยนตัวเลือกอันดับหนึ่งมาเป็น Milk หนังอีกเรื่องที่ผมชอบเหมือนกัน และมันก็คว้าชัยมาครองในการลงคะแนนรอบสุดท้าย”


ทางด้าน Frost/Nixon ดูจะยังคงรักษาระดับความมั่นคงได้อย่างเสมอต้นเสมอปลายและน่าจะหลุดเข้าชิงได้แบบเนียนๆ ตัวเก็งเดียวที่ส่ออาการ “ร่อแร่” สูงสุดในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม คือ Revolutionary Road ซึ่งนอกจากจะไม่ถูกกล่าวถึงเลยในรางวัลของเหล่านักวิจารณ์แล้ว มันยังหลุดโผ 10 หนังยอดเยี่ยมแห่งปีของ NBR และ AFI ไปอย่างน่ากังขาด้วย (ส่วนการหลุดโผ AFI ของ Slumdog Millionaire น่าจะมาจากการที่มันไม่ใช่หนังอเมริกันมากพอ) ตัวแปรเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าผลงานของ แซม เมนเดส ไม่ค่อยถูกจริตนักวิจารณ์สักเท่าไหร่ หรือบางทีมันอาจแบ่งแยกนักวิจารณ์เกินกว่าจะรวบรวมเสียงสนับสนุนได้มากพอ

อาการเป๋ของ Revolutionary Road ส่งผลให้อนาคตของ The Dark Knight ดูสดใสขึ้นมาในฉับพลัน (ตัวหนังและผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลน คว้าอันดับรองชนะเลิศจาก LAFCA มาครอง) อีกรายที่กวาดคะแนนจากนักวิจารณ์มาครองอย่างมากมายจนน่าใจหาย คือ Wall-E ซึ่งได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของ LAFCA และ BSFC แต่โอกาสเข้าชิงออสการ์ของมันอาจยังห่างไกล (พิกซาร์ต้องโหมโปรโมตมากกว่านี้ ทำให้คนตระหนักว่าพวกเขาไมได้หวังเข้าชิงแค่สาขา “ของตาย” อย่าง Best Animation เท่านั้น) เพราะมันต้องเบียด Frost/Nixon ให้ตกขอบ และต้องคอยกันไม่ให้ Doubt หนังตัวเก็งอีกเรื่องโกยคะแนนแซงหน้า โดยเรื่องหลังรับประกันว่าต้องได้แรงสนับสนุนอย่างมากจากเหล่านักแสดง ซึ่งถือเป็นกรรมการออสการ์กลุ่มใหญ่สุด

การปรากฏตัวแบบ “โผล่มาจากไหน” ของ The Reader และผู้กำกับ สตีเฟ่น ดัลดรี้ ในรายชื่อลูกโลกทองคำ ซึ่งเลือกจะมองข้าม Milk และ The Dark Knight ถือว่าไม่น่าแปลกใจสำหรับหลายคน เนื่องจาก The Reader เป็นหนังของ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ ผู้เคย “โปรยเสน่ห์” ใส่คณะกรรมการลูกโลกทองคำมาแล้วหลายครั้ง ส่งผลให้พวกเขาหลวมตัวเสนอชื่อหนังอย่าง Bobby และ The Great Debaters เข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาในอดีต แต่สำหรับรางวัลออสการ์ อิทธิพลของไวน์สไตน์ ณ ตอนนี้ช่างห่างไกลจากตอนที่เขาผลักดัน Shakespeare in Love จนพลิกล็อกชนะ Saving Private Ryan อยู่มากโข การเข้าชิงลูกโลกทองคำจึงไม่ได้ช่วยเหลือสถานการณ์ของ The Reader มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาว่าคำวิจารณ์ในช่วงแรกของหนังอยู่ระดับเดียวกับ Australia อีกหนึ่งตัวเก็งที่ฟุบคาเวทีไปตั้งแต่ก่อนเทศกาลแจกรางวัลจะเริ่มต้นขึ้น

จากรูปการณ์ในปัจจุบัน อันดับตัวเก็งสาขาภาพยนตร์/ผู้กำกับยอดเยี่ยมสามารถสรุปได้ดังนี้ 1) Slumdog Millionaire 2) The Curious Case of Benjamin Button 3) Milk 4) Frost/Nixon 5) The Dark Knight 6) Doubt และ 7) Revolutionary Road โดยตัวสอดแทรกในสาขาผู้กำกับ (เป็นที่ทราบกันดีว่าสาขานี้มักจะไม่ตรงกันกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์) ได้แก่ โจนาธาน เด็มมี่ (Rachel Getting Married) ไมค์ ลีห์ (Happy-Go-Lucky) และ ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ (The Wrestler) ถ้าสมมุติฐานดังกล่าวเป็นจริง ใครล่ะจะโดนเขี่ยออก รอน โฮเวิร์ด? กัส แวน แซนท์? หรือ เดวิด ฟินเชอร์? สองคนที่ยังสามารถนอนหลับได้เต็มตา... อย่างน้อยก็ในตอนนี้ คือ แดนนี่ บอยล์ และ คริสโตเฟอร์ โนแลน


ในส่วนของสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม สามคนที่น่าจะรับประกันการเข้าชิงแน่นอนแล้ว คือ 1) ฌอน เพนน์ (Milk) 2) มิคกี้ รู้ก (The Wrestler) และ 3) แฟรงค์ แลนเกลลา (Frost/Nixon) โดยคนแรกถึงขั้นมีโอกาสสูงที่จะคว้าออสการ์ตัวที่สองมาครองหลังจากกวาดรางวัลนักวิจารณ์มาครองแบบเกือบจะเป็นเอกฉันท์ อย่างไรก็ตาม ว่ากันว่าคู่แข่งสำคัญของเพนน์หาใช่รู้ก หรือแลนเกลล่า หากแต่เป็น คลินท์ อีสต์วู้ด (Gran Torino) โดยบทของเขาถือเป็นการปลุกวิญญาณ Dirty Harry รวมถึงภาพลักษณ์ของอีสต์วู้ดในหนังคาวบอยคลาสสิกทั้งหลาย ซึ่งน่าจะโดนใจกรรมการกลุ่มสูงวัย ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่าอีสต์วู้ดยังไม่เคยได้ออสการ์ทางการแสดงมาก่อน (เคยเข้าชิงสองครั้งจาก Unforgiven และ Million Dollar Baby) แถมยังเป็นที่รักของทุกคนมากกว่า มิคกี้ รู้ก ซึ่งน่าจะมีความหวังแค่ได้เข้าชิง ปัญหาเดียวของปู่คลินท์ คือ หลายคนไม่ชอบตัวหนังถึงขนาดด่ากราดแบบสาดเสียเทเสียเลยทีเดียว

คนสุดท้ายที่น่าจะเบียดเข้าไปเป็นหนึ่งในห้าได้สำเร็จ คือ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (Revolutionary Road) โดยพิจารณาจากประวัติการเข้าชิงในอดีต กระนั้น หาก The Curious Case of Benjamin Button เกิดป็อปปูล่าขึ้นมาในหมู่กรรมการออสการ์ อานิสงส์ของตัวหนังก็อาจส่งผลให้ แบรด พิทท์ หลุดเข้าชิงในสาขานี้ ส่วนตัวสอดแทรกท้ายสุด ได้แก่ ริชาร์ด เจนกินส์ ขวัญใจนักวิจารณ์จาก The Visitor ซึ่งอาจเป็นหนังเล็กเกินไป และการแสดงของเขาก็อาจลุ่มลึกเกินไปสำหรับรสนิยมของกรรมการออสการ์

ถ้าจะมีใครสักคนได้ประโยชน์สูงสุดจากเสียงเชียร์ของเหล่านักวิจารณ์ คนๆ นั้น ได้แก่ แซลลี่ ฮอว์กินส์ (Happy-Go-Lucky) ซึ่งคงรับประกันการเข้าชิงออสการ์ค่อนข้างแน่จากการกวาดรางวัลของสถาบันใหญ่ๆ อย่าง LAFCA และ NYFCC มาครองแบบครบถ้วน (ตามสถิติในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา นักแสดง 11 คนที่คว้ารางวัลจากทั้งสองสถาบันมาครองล้วนลงเอยด้วยการถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ครบทั้ง 11 คน โดยนักแสดงคนล่าสุดที่ได้รางวัลจากทั้งสองสถาบันและพลาดการเข้าชิงออสการ์ คือ บิล เมอร์เรย์ จาก Rushmore เมื่อปี 1999) นอกจากนี้ ไมค์ ลีห์ ยังมีสถิติน่าประทับใจในการส่งนักแสดงนำหญิงเข้าชิงออสการ์ สังเกตได้จากความสำเร็จของ เบรนด้า เบลธิน (Secrets & Lies) และ อีเมลด้า สตอนตัน (Vera Drake)

คำถามที่ตามมา คือ แซลลี่ ฮอว์กินส์ จะเขี่ยใครหลุดจากวงโคจร? ณ เวลานี้ ขวัญใจออสการ์ในหนังฟอร์มใหญ่สามเรื่องอย่าง เมอรีล สตรีพ (Doubt) เคท บลันเช็ตต์ (The Curious Case of Benjamin Button) และ เคท วินสเล็ท (Revolutionary Road) น่าจะยังหายใจได้คล่องคออยู่ ส่วน แอน แฮทธาเวย์ (Rachel Getting Married) ก็ยังพอหลงเหลือเครดิตอยู่บ้างจากการคว้ารางวัลของ NBR มาครอง และเธอก็ไม่พลาดการเข้าชิงรางวัลสำคัญๆ อย่างครบถ้วน คนเดียวที่ตกที่นั่งลำบาก คือ คริสติน สก็อตต์ โธมัส (I’ve Loved You So Long) ซึ่งแม้กระแสร่ำลือในเบื้องต้นเกี่ยวกับความยอดเยี่ยมของผลงานจะหนาหู แต่พอถึงเวลาแจกรางวัลจริง ชื่อของเธอกลับโดนกลืนหายไปจนน่าเป็นห่วง นี่ขนาดยังไม่ต้องพูดถึงตัวสอดแทรกสุดอันตรายอย่าง เมลิสสา ลีโอ (Frozen River) ซึ่งมีข้อได้เปรียบตรงเป็นชาวอเมริกันและแสดงในหนังที่รู้จักในวงกว้างกว่า (ล่าสุด Frozen River ติด 10 อันดับหนังยอดเยี่ยมของ AFI ด้วย) ที่สำคัญ คะแนนของเธอตีคู่มากับฮอว์กินส์ในหลายรางวัลนักวิจารณ์ และ โรเจอร์ อีเบิร์ต ก็เขียนยกย่องการแสดงของเธออย่างเลิศลอย... การแข่งขันในสาขานักแสดงนำหญิงประจำปีนี้ถือว่าดุเดือดเลือดพล่านทีเดียว

นักแสดงสองคนที่ไม่เพียงจะตีตั๋วเข้าชิงแน่นอน แต่ยังมีเปอร์เซ็นต์คว้ารางวัลมาครองค่อนข้างสูง คือ ฮีธ เลดเจอร์ (The Dark Knight) และ เพเนโลปี้ ครูซ (Vicky Cristina Barcelona) คนแรกได้เปรียบตรงการจากไปก่อนเวลาอันควร ส่วนคนหลังได้เปรียบตรงสถิติการส่งนักแสดงขึ้นคว้ารางวัลออสการ์ของ วู้ดดี้ อัลเลน ตัวอย่างในอดีตก็เช่น ไดแอน วีสต์ (สองครั้งจาก Hannah and Her Sisters และ Bullets over Broadway) ไดแอน คีตัน (Annie Hall) และ มีรา ซอว์วีโน่ (จาก Mighty Aphrodite) ก่อนหน้านี้ทั้งสองถูกมองว่าเป็นตัวเก็งลำดับต้นๆ อยู่แล้ว การกวาดรางวัลของนักวิจารณ์มาได้แบบกระบุงโกยช่วยตอกย้ำสมมุติฐานดังกล่าวให้หนักแน่นขึ้น


ในส่วนของสาขานักแสดงสมทบชาย อีกสามคนที่น่าจะได้เข้าชิงอย่างไม่ยากเย็น คือ ฟิลลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน (Doubt), จอช โบรลิน (Milk) และ ไมเคิล แชนนอน (Revolutionary Road) โดยตำแหน่งสุดท้ายคงเป็นการชิงดำกันระหว่าง เจมส์ ฟรังโก้ (Milk), ไมเคิล ชีน (Frost/Nixon) และ เอ็ดดี้ มาร์แซน (Happy-Go-Lucky) คนแรกเสียเปรียบตรงที่เขาอาจตัดคะแนนกันเองกับ จอช โบรลิน คนที่สองได้เปรียบตรงการรับบทนำคู่กับ แฟรงค์ แลนเกลลา แต่ถูกผลักมาชิงสมทบเพื่อหลีกเลี่ยงสาขานำชายซึ่งแออัดยัดเยียดมากแล้ว ส่วนคนสุดท้ายแม้จะไม่ถูกพูดถึงมากนัก (เพราะทุกสายตาจับจ้องไปยัง แซลลี่ ฮอว์กินส์) แต่หลายคนคิดว่าเขาทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน

ถัดจากครูซ กลุ่มตัวเก็งในสาขานักแสดงสมทบหญิงเรียงตามลำดับได้ดังนี้ 1) ไวโอลา เดวิส (Doubt) 2) เคท วินสเล็ท (The Reader) 3) โรสแมรี เดอวิตต์ (Rachel Getting Married) 4) มาริสา โทเม (The Wrestler) 5) ทาราจิ พี. เฮนสัน (The Curious Case of Benjamin Button) และ 6) เดบร้า วิงเกอร์ (Rachel Getting Married) ดูตามรูปการณ์แล้ว ยังไม่มีใครโดดเด่นพอจะโค่นครูซลงจากตำแหน่งเต็งหนึ่งได้ เดวิสอาจกวาดคำชมไปมากมาย แต่เธอมีบทบาทในหนังแค่เพียงสองฉาก ส่วนบทผู้คุมค่ายกักกันชาวยิวของวินสเล็ทก็ดูเหมือนจะไม่สามารถเรียกร้องความเห็นใจใดๆ จากคนดูได้ ขณะที่เดอวิตต์ แม้จะดูสมบูรณ์แบบ ก็ยังขาดบารมีในระดับเดียวกับครูซ ซึ่งเคยเข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาแล้วจาก Volver

การแข่งขันยกที่สองจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนมกราคม เมื่อบรรดาสมาคมต่างๆ ของอเมริกา อาทิ ผู้กำกับ (DGA) นักแสดง (SAG) ผู้อำนวยการสร้าง (PGA) ฯลฯ เริ่มประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรอบสุดท้ายออกมา รางวัลของสมาคมต่างๆ เหล่านี้จะเป็นเครื่องวัดระดับความร้อนแรงของเหล่าตัวเก็งทั้งหลายได้ดีกว่ารางวัลนักวิจารณ์ เนื่องจากคนลงคะแนนเป็นกลุ่มเดียวกันกับคณะกรรมการออสการ์

เกร็ดเก็บตก
• สุดท้ายดนตรีประกอบอันทรงพลังและเปี่ยมความคิดสร้างสรรค์ของ The Dark Knight ก็ได้รับสิทธิ์พิจารณาให้เข้าชิงรางวัลออสการ์ หลังจากก่อนหน้านี้ร่ำๆ จะถูกตัดสิทธิ์เนื่องด้วยเหตุผลว่ามีรายนามนักแต่งเพลงมากเกินไปในเอกสารทางการของสตูดิโอ เพื่อระบุลิขสิทธิ์และความยาวของดนตรีประกอบทุกชิ้นในภาพยนตร์ หรือเรียกสั้นๆ ว่า cue sheet ฮันส์ ซิมเมอร์ กล่าวว่าสาเหตุที่จำเป็นต้องมีการระบุรายนามเอาไว้มากมาย (รวมทั้งหมดแล้ว 5 คน) ในเอกสารดังกล่าวก็เพื่อให้ทีมงานทุกคนได้รับผลประโยชน์ทางการเงินอย่างครบถ้วน (สมาคมทางดนตรีต่างๆ เช่น ASCP และ BMI จะยึดรายนามตาม cue sheet เป็นหลักในการแบ่งปันผลประโยชน์ทางลิขสิทธิ์ให้แก่นักแต่งเพลง) อย่างไรก็ตาม อเล็กซ์ กิ๊บสัน (นักตัดต่อเพลง), เมล เวสสัน (นักออกแบบเสียงประกอบ) และ ลอร์น บัลฟ์ (นักแต่งเพลง) ได้เซ็นเอกสารยืนยันว่าสกอร์ใน The Dark Knight โดยหลักๆ แล้วถือเป็นผลงานร่วมกันของ ฮันส์ ซิมเมอร์ และ เจมส์ นิวตัน โฮเวิร์ด ซึ่งได้รับเครดิตอย่างเป็นทางการ ซิมเมอร์และชอว์ต่างก็เคยเข้าชิงออสการ์มาแล้วคนละเจ็ดครั้ง โดยคนแรกคว้าออสการ์มาครองจาก The Lion King

• ราวกับ คลินท์ อีสต์วู้ด ยังมีออสการ์มานอนกอดที่บ้านไม่มากพอ นอกจากความหวังอันเป็นไปได้ในการเข้าชิงสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมแล้ว (ว่ากันว่านี่อาจจะเป็นบทบาทอำลาวงการของปู่คลินท์ หลังจากเขาเคยพูดแบบเดียวกันกับบทใน Million Dollar Baby จนกระทั่งได้อ่านบท Gran Torino และอดใจไม่รับแสดงเองไม่ได้) วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ยังได้สร้างเว็บไซต์ For Your Consideration ขึ้นเพื่อโปรโมตดนตรีประกอบของหนังเรื่อง Gran Torino ด้วย (ผลงานประพันธ์เพลงของอีสต์วู้ดใน Million Dollar Baby ถูกออสการ์มองข้ามอย่างน่าเสียดาย) แต่ทีเด็ดคงอยู่ตรงเพลง Gran Torino ซึ่งขับร้องช่วงแรกๆ โดย คลินท์ อีสต์วู้ด (!?!) ด้วยเสียงทุ้มต่ำแหบพร่าเหมือนคนโดดเจาะปอด ส่วนเนื้อเพลงที่เหลือส่วนใหญ่จะเป็นเสียงร้องของ เจมี่ คัลลัม ซูเปอร์สตาร์เพลงแจ๊ซวัย 29 ปีชาวอังกฤษ

• แม้จะมีการผลิตหนังการ์ตูนออกมามากมายในปีนี้ แต่รางวัลออสการ์สาขา Best Animated Feature จะยังคงจำกัดจำนวนผู้เข้าชิงไว้แค่ 3 เนื่องจากมีหนัง “ส่งเข้ารับการพิจารณา” เพียง 14 เรื่อง (ตามกฎแล้วต้องมีหนังส่งเข้าพิจารณา 16 เรื่องขึ้นไปคณะกรรมการถึงจะเปลี่ยนจำนวนผู้เข้าชิงเป็น 5) โดยหนังที่ไม่ได้ ส่งเข้ารับการพิจารณาก็เช่น Star Wars: The Clone Wars, Fear(s) of the Dark และ Azur and Asmar นี่ถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย เนื่องจากปีนี้มีหนังการ์ตูนที่สมควรเข้าชิงมากกว่า 3 เรื่อง และในเมื่อ Wall-E ของพิกซาร์จับจองที่นั่งไปหนึ่งที่แน่นอนแล้ว (การ์ตูนของค่ายนี้ไม่เคยพลาดการเข้าชิง) จึงเหลือตำแหน่งว่างอีกเพียงสองที่ (ตัวเก็ง ณ ตอนนี้ คือ Kung Fu Panda และ Waltz with Bashir โดยอาจมี Dr. Seuss’s Horton Hears a Who!, The Tale of Despereaux, The Sky Crawlers และ $9.99 เป็นตัวสอดแทรก) บรรดา “ปลาเล็ก” เหล่านั้นอาจคิดว่าพวกเขาไม่มีทางสู้พวก “ปลาใหญ่” ได้ ซึ่งนั่นถือเป็นความเข้าใจผิด เพราะในขั้นตอนการเสนอชื่อนั้น คุณภาพมีคุณค่าเหนือเงินโปรโมต กรรมการทุกคนจำเป็นต้องดูหนังเข้าประกวดอย่างน้อย 80% (หมายถึง 12 จาก 14 เรื่อง) ก่อนลงคะแนนให้แต่ละเรื่อง จากนั้นหนังที่ได้คะแนนสูงสุดสามอันดับแรกจะถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ ด้วยเหตุนี้ หนังทุกเรื่องจึงมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ขั้นตอนดังกล่าวส่งผลให้การ์ตูนจากค่าย “ปลาเล็ก” แต่อัดแน่นด้วยคุณภาพอย่าง The Triplets of Belleville และ Persepolis ได้เข้าชิงมาแล้ว


• บางทีออสการ์ก็รู้จักคิด “นอกกรอบ” กับเขาเหมือนกัน เช่น การเลือก ฮิวจ์ แจ๊คแมน มาเป็นพิธีกรในงานแจกรางวัลออสการ์ครั้งที่ 81 ซึ่งนั่นถือเป็นจุดสิ้นสุดแนวคิด “พิธีกร = ดาวตลก” อันดำรงอยู่คู่ออสการ์มายาวนาน หลายคนแสดงข้อกังขาว่าแจ็คแมนจะรับมือไหวได้อย่างไรกับบทพูดเปิดตัว (ที่มักอุดมไปด้วยมุกตลก) หรือว่าส่วนดังกล่าวจะถูกตัดออก แล้วแทนที่ด้วยการแนะนำหนังเป็นเสียงเพลง? อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า The Sexiest Man Alive คนล่าสุดของนิตยสาร People จะไร้ซึ่งประสบการณ์ทางด้านนี้เสียทีเดียว เพราะเขาเคยคว้ารางวัลเอ็มมี่จากการเป็นพิธีกรให้งานแจกรางวัลโทนี่มาแล้ว นอกจากนี้เขายังเคยคว้ารางวัลโทนี่สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมมาครองจากละครเพลงเรื่อง The Boy from Oz การตัดสินใจดังกล่าวของเหล่าผู้บริหารในสถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์ดูเหมือนจะสอดคล้องกับการทดลองเปลี่ยน กิล เคทส์ โปรดิวเซอร์รายการรออสการ์ขาประจำ มาเป็น บิล คอนดอน และ ลอว์เรนซ์ มาร์ค สองคู่หูจาก Dreamgirls ด้วยความหวังที่จะสร้างสีสันแปลกใหม่ให้กับรูปแบบรายการ หลังจากเรตติ้งการถ่ายทอดสดงานแจกรางวัลออสการ์ในช่วงหลังๆ เริ่มดิ่งลงเหวอย่างต่อเนื่อง


• ดาวตลก/ผู้กำกับ เจอรรี่ ลูว์อีสต์ (The Nutty Professor, The Ladies Man) ได้รับเลือกให้คว้ารางวัล Hersholt Humanitarian Award หรือออสการ์พิเศษสำหรับการอุทิศตนให้กิจกรรมทางด้านมนุษยธรรมจนนำชื่อเสียงมาสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยผู้ได้รับรางวัลในอดีตก็เช่น อาเธอร์ ฮิลเลอร์, พอล นิวแมน, ออเดรย์ เฮบเบิร์น, อลิซาเบ็ธ เทย์เลอร์, ควินซีย์ โจนส์, แฟรงค์ ซินาตร้า และ เกรกอรี่ เพ็ค กระนั้นการตัดสินใจดังกล่าวดูจะสร้างกระแสต่อต้านได้ไม่น้อยจากชาวรักร่วมเพศ หลังลูว์อีสต์เคยให้สัมภาษณ์ในเชิงเหยียดหยามชาวเกย์อยู่หลายครั้ง โดยชุมชนสีรุ้ง ซึ่งจิตตกมากพออยู่แล้วจากเหตุการณ์แพ้โหวต Proposition 8 (ร่างกฎหมายในรัฐแคลิฟอร์เนียที่จะอนุญาตให้ “บุคคลต่างเพศเท่านั้น” มีสิทธิแต่งงานกันได้) รู้สึกว่าการมอบรางวัลอันทรงเกียรตินี้ให้แก่ลูว์อีสต์เป็นเหมือนการ “เหยาะเกลือลงบนบาดแผล” และแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดแจ้ง เนื่องจากรางวัล Hersholt Humanitarian Award ไม่ใช่รางวัลความสำเร็จทางอาชีพ แต่เป็นการสดุดี “เมตตาธรรม” ของบุคคลนั้น เมื่อถูกตั้งข้อครหาต่อตัวเลือกในปีนี้ สถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์ให้คำตอบเพียงว่า “เขา (ลูว์อีสต์) ได้กล่าวขอโทษ (ชาวรักร่วมเพศ) แล้วนี่”

• รายชื่อภาพยนตร์สารคดีรอบรองชนะเลิศจำนวน 15 เรื่องดูเหมือนจะเป็นที่ยอมรับในวงกว้างพอสมควร เมื่อบรรดา “หนังเต็ง” ทั้งหลายล้วนปรากฏตัวกันแบบครบถ้วน ไม่มีตกหล่น อาทิ Trouble the Water สารคดีเกี่ยวกับเฮอร์ริเคนแคทรีนา ซึ่งชนะรางวัล Jury Prize จากซันแดนซ์ Man on Wire สารคดีขวัญใจนักวิจารณ์เกี่ยวกับการเดินไต่ลวดท้าความตายระหว่างตึกแฝด เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ Encounters at the End of the World สารคดีเกี่ยวกับการเดินทางสู่แอนตาร์ติกา กำกับโดย เวอร์เนอร์ แฮร์ซอก (Grizzly Man) Standard Operating Procedure ผลงานล่าสุดของ เออร์รอล มอร์ริส (The Fog of War) เกี่ยวกับบทบาทของทหารสหรัฐในเรือนจำ อาบู กรออิบ ชานกรุงแบกแดด (หนังสำรวจประเด็นการทรมานนักโทษใกล้เคียงกับสารคดีรางวัลออสการ์เมื่อปีก่อน Taxi to the Dark Side) Glass: A Portrait of Philip in Twelve Parts สารคดีเล่าชีวิตและผลงานของนักประพันธ์ที่เคยเข้าชิงออสการ์สามครั้ง ฟิลิป กลาส (Kundun, The Hours, Notes on a Scandal) และ Pray the Devil Back to Hell สารคดีเกี่ยวกับผู้หญิงที่ต่อสู้กับสงครามในลิเบอเรียและได้รับชัยชนะ


• เหตุการณ์อื้อฉาวจากปีก่อน เมื่อหนังอย่าง 4 Months, 3 Weeks and 2 Days, Persepolis, Silent Light และ The Edge of Heaven หลุดโผออสการ์อย่างน่ากังขา ส่งผลให้คณะกรรมการในสายภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมจำเป็นต้องเปลี่ยนกฎเกณฑ์เพื่อยกระดับ “ความน่าเชื่อถือ” และลดข้อครหาเรื่อง “รสนิยม” (การต้องดูหนังมากกว่า 20 เรื่องภายในเวลา 10 สัปดาห์ทำให้สมาชิกซึ่งเกษียณอายุแล้วได้เปรียบสมาชิกหนุ่มสาว ซึ่งยังต้องทำมาหากินอยู่ในวงการ) ปี 2008 มีหนังส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 69 เรื่อง สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่คราวนี้กรรมการจะคัดเลือกหนังให้เข้ารอบรองแค่ 6 เรื่อง (เดิมต้องเลือก 9 เรื่อง) จากนั้น กรรมการบริหารจำนวนมากกว่า 20 คนจะคัดเลือกหนังเพิ่มเข้าไปอีก 3 เพื่อรับประกันว่า “ตัวเต็ง” ขวัญใจนักวิจารณ์ที่ควรติดจะไม่โดนอุ้มหายระหว่างทาง โดยตัวเต็งในปีนี้ประกอบไปด้วย The Class (ฝรั่งเศส) ชนะเลิศจากคานส์ Gomorra (อิตาลี) รองชนะเลิศจากคานส์ แต่แก้แค้นได้สำเร็จบนเวที European Film Awards โดยกวาดมาครองถึงห้าสาขา รวมทั้งหนังยอดเยี่ยม และ Waltz with Bashir (อิสราเอล)

NBR = National Board of Review
LAFCA = Los Angeles Film Critics Association
NYFCC = New York Film Critics Circle
WAFCA = Washington DC Area Film Critics Association
BSFC = Boston Society of Film Critics
NYFCO = New York Film Critics Online
SFFCC = San Francisco Film Critics Circle

3 ความคิดเห็น:

celinejulie กล่าวว่า...

--ว้า เสียดายจังเลยที่ Jerry Lewis อาจจะเป็นพวกเกลียดเกย์ เราไม่รู้เหมือนกันว่าจริงๆแล้วเขาเกลียดเกย์มากน้อยแค่ไหน แต่เนื่องจากเรายังไม่ทราบรายละเอียดในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นเรายังไม่ขอตัดสินเขาแล้วกัน เราคงต้องขอศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อน

--รู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองไม่ได้ยินชื่อเจมี คัลลัม (หนึ่งในสามีของน้อง MATT) มานานหลายปีแล้ว จนกระทั่งได้มาอ่านบทความนี้

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมรัก เจมี่ คัลลัม!

Riverdale กล่าวว่า...

เชียร์เพลงนี้ให้ได้เข้าชิงสาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยม เผื่อน้องแม็ทท์จะได้เห็นสามีมาร้องเพลงในงานออสการ์ :)