วันเสาร์, มีนาคม 22, 2551

Short Replay: The Purple Rose of Cairo


เมื่อพูดถึงผลงานระดับสุดยอดของ วู้ดดี้ อัลเลน หลายคนอาจลืมจะนึกถึง The Purple Rose of Cairo ทั้งที่ความจริงแล้วคุณภาพของมันหาได้อ่อนด้อยกว่า Annie Hall, Manhattan, Crimes and Misdemeanors, Hannah and Her Sisters หรือ Bullets over Broadway และบางทีอาจเหนือกว่าเสียด้วยซ้ำ

หนังผสมผสานอารมณ์ขันและสัจธรรมอันเจ็บปวดของชีวิตได้อย่างกลมกลืน เรื่องราวของ เซซีเลีย (มีอา ฟาร์โรว์) สาวเสิร์ฟในเมืองนิวเจอร์ซีย์ยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ที่มักจะหาทางหนีจากความทุกข์ของชีวิตแบบกัดก้อนเกลือกินกับสามีขี้เหล้า ไม่เอาอ่าว แถมยังชอบลงไม้ลงมือกับคนใกล้ตัวเวลาเมา (แดนนี่ ไอเอลโล) ด้วยการแอบหลบไปดูหนังเรื่อง The Purple Rose of Cairo จนกระทั่งวันหนึ่ง ทอม แบ็กซ์เตอร์ (เจฟฟ์ เดเนียลส์) พระเอกแสนดีสุดเพอร์เฟ็กต์ในหนัง ก็พลันกระโดดออกมาจากจอ แล้วบันดาลความฝันอันแสนโรแมนติกของเธอ (และอาจหมายรวมถึงผู้หญิงอีกจำนวนมาก) ให้กลายเป็นจริง

แต่พฤติกรรมของทอมได้ก่อให้เกิดความอลหม่านไปทั่ว ตัวละครอื่นๆ ในหนังเริ่มตื่นตระหนกและทำอะไรไม่ถูก (เรื่องราวไม่สามารถดำเนินต่อไปได้เพราะขาดตัวแสดงไปคน) จนกระทั่งคนหนึ่งต้องลุกขึ้นมาเต้นแท็บเป็นการแก้เซ็ง ขณะเดียวกันเหล่าผู้บริหารในฮอลลีวู้ดก็ขนขบวนมายังนิวเจอร์ซีย์ เพื่อข่มขู่ทอมว่า หากเขาไม่ยอมกลับไปเล่นหนังต่อ พวกเขาจะถอนหนังออกจากโรง พร้อมทั้งติดต่อ กิล เชพเพิร์ด (เดเนียลส์) ให้มาช่วยกล่อมเซซีเลีย เพื่อให้เธอโน้มน้าวทอมให้ยอมกลับเข้าจอหนังตามเดิม (งงไหมเนี่ย)

อย่างไรก็ตาม ความสนุกสนานที่เคลือบไว้ในเปลือกนอกหาได้ปกปิดสารัตถะของหนัง นั่นคือ ความสุขเป็นสิ่งชั่วแล่น ส่วนความทุกข์ทรมานนั้นถือเป็นสรณะ ดังจะเห็นได้จากบทสรุปของหนัง ซึ่งตอกย้ำสัจธรรมแห่งความเจ็บปวดของชีวิต ไปพร้อมๆ กับมหัศจรรย์แห่งโลกภาพยนตร์ ซึ่งสามารถช่วยปัดเป่าความเศร้าหมองได้... แม้จะเพียงช่วงเวลาสักสองชั่วโมงก็ตาม

Eastern Promises: ภาพสะท้อนของกันและกัน


ถึงแม้จะเริ่มต้นอาชีพด้วยการทำหนังตามแนวทาง (genre) เป็นส่วนใหญ่ (1) แต่ผลงานในระยะหลังของผู้กำกับ เดวิด โครเนนเบิร์ก ดูเหมือนจะมุ่งเน้นไปยังการเบี่ยงเบน บิดเบือนธรรมเนียมปฏิบัติ พร้อมทั้งเสริมมุมมองใหม่ให้กับสูตรสำเร็จอันคุ้นเคยเสียมากกว่า ก่อนจะตบท้ายด้วยการตั้งคำถามต่อประเด็นซับซ้อน โดยไม่พยายามยัดเยียดคำตอบที่เรียบง่ายเป็นบทสรุป

ใน A History of Violence เขาเล่นสนุกกับการพลิกผันแนวทางแอ็กชั่นสไตล์ Die Hard (ตัวละครธรรมดาถูกสถานการณ์บังคับให้กลายสภาพเป็นฮีโร่) ส่วนใน Eastern Promises ผลงานซึ่งเปรียบเสมือนฝาแฝด “มุมกลับ” ของ A History of Violence เป้าหมายกลับเปลี่ยนมาเป็นหนังแก๊งสเตอร์

นักวิจารณ์ภาพยนตร์เมืองนอกบางคนได้ยก The Godfather (1972) ขึ้นมาเปรียบเทียบ ซึ่งก็ไม่ถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ เนื่องจากหนังทั้งสองคล้ายคลึงกันในเชิงรายละเอียดอยู่ไม่น้อย เช่น บทเจ้าพ่อจอมเหี้ยม ผู้มีภาพลักษณ์ภายนอกเหมือนคุณปู่ที่ดูไม่เป็นพิษเป็นภัยอย่าง เซมยอน (อาร์มิน มูลเลอร์-สตาห์ล) อาจเปรียบได้กับ ดอน คอร์ลิโอเน ขณะลูกชายผู้อ่อนแอ ขี้เหล้า บุ่มบ่าม กักขฬะ และมีแนวโน้มรักร่วมเพศของเขาอย่าง คีริล (วินเซนต์ แคสเซล) ก็เป็นส่วนผสมระหว่างเฟรโด กับ ซอนนี่ คอร์ลิโอเน และสุดท้าย “คนนอก” ที่ดูสุขุม เยือกเย็น อีกทั้งยังเชี่ยวชาญในหน้าที่ จนต่อมากลับกลายเป็นผู้สืบทอดความยิ่งใหญ่ของแก๊งมาเฟียอย่างนิโคไล (วีโก้ มอร์เทนเซน) ก็อาจเปรียบได้กับ ทอม เฮแกน และ ไมเคิล คอร์ลิโอเน

จุดผกผันอยู่ตรงที่หนังของโครเนนเบิร์กดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับตัวละครผู้หญิงค่อนข้างมาก ซึ่งปกติมักถูกผลักดันให้เป็นเพียงไม้ประดับในหนังแก๊งสเตอร์ โดยเฉพาะ แอนนา (นาโอมิ วัตส์) ที่เปรียบเสมือนตัวเดินเรื่อง ควบคู่กับนิโคไล และ ทาเทียนา (ซาราห์-ฌอง ลาบรอส) ซึ่งอาจปรากฏร่างให้เห็นบนจอเพียงฉากเดียว แต่สมุดบันทึกของเธอได้กลายเป็นตัวจุดประกายเรื่องราวทั้งหมด นอกจากนี้ คนดูยังสามารถตระหนักถึงตัวตนของเธอตลอดทั้งเรื่องผ่านเสียงเล่าปริศนา และที่สำคัญ หนังยังแสดงให้เห็นจุดล่มสลายรวมถึงการเปลี่ยนถ่ายอำนาจครั้งสำคัญในแก๊งมาเฟีย อันเกิดจากน้ำมือของเด็กสาววัย 14 ปีด้วย

น่าสังเกตว่าโครเนนเบิร์กและคนเขียนบท สตีฟ ไนท์ จงใจละเมิดหลักเหตุผลบางอย่างโดยใช้เสียงทาเทียนาเล่าเรื่อง (สมุดบันทึกถูกเขียนเป็นภาษารัสเซีย แต่เสียงเล่ากลับเป็นภาษาอังกฤษ และปรากฏขึ้นครั้งแรกก่อนแอนนาจะแปลความหมายใดๆ ในนั้นได้) เพื่อฉีดเพิ่มระดับ “ความเป็นหญิง” ให้กับหนังแนวผู้ชาย และไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังสอดแทรกเจตนารมณ์ไว้ในระดับสัญลักษณ์ด้วย เมื่อ Eastern Promises เป็นหนังอาชญากรรมที่ปราศจากร่องรอยของ “ปืน” หรือสัญลักษณ์แห่งเพศชายอย่างสิ้นเชิง ตรงกันข้าม อาวุธหลักที่พวกนักฆ่านำมาใช้สังหารเหยื่อทั้งหลายกลับกลายเป็นใบมีดคมกริบ

ในฉากฆาตกรรม อิเครม (โจเซฟ อัลทิน) อันสุดแสนหวาดเสียวและสยดสยอง โครเนนเบิร์กเปิดโอกาสให้คนดูได้ประจันหน้ากับบาดแผลของเด็กหนุ่มแบบจะๆ เมื่ออิเครมดึงผ้าพันคอลง เผยให้เห็นรอยเชือดที่เปิดกว้างออกและเลือดจำนวนมากที่ไหลทะลักออกมาดุจสภาพของช่องคลอดผู้หญิงในวันมามาก (2)

ขณะเดียวกันอารมณ์โฮโมอีโรติก ซึ่งมักจะส่งกลิ่นอายเพียงจางๆ ในโลกแห่ง “มิตรภาพแน่นแฟ้น” ระหว่างเหล่าร้าย (เพศชาย) ที่ผู้หญิงไม่อาจเข้าถึง ยังถูกโครเนนเบิร์กแต่งเติมจนทะลักจุดแตกผ่านฉากคีริลเฝ้ามองนิโคไลร่วมเพศกับโสเภณี ฉากนิโคไลสวมบ็อกเซอร์เพียงตัวเดียว ยืนอวดรอยสักตามร่างกายให้บรรดาเจ้าพ่อได้สำรวจตรวจสอบ และฉากนิโคไลต่อสู้กับสองนักฆ่าในสภาพเปลือยเปล่า

นอกจากจะสะท้อนให้เห็นความพยายามบิดเบือนและแยกตัวจากสูตรสำเร็จภายใต้โครงสร้างที่คนดูคุ้นเคยแล้ว พลังแห่งอิสตรีที่ถูกผสานเข้ามายังสะท้อนให้เห็นทัศนคติแห่งทวิภาวะของโครเนนเบิร์ก กล่าวคือ เขามองเห็นการแบ่งแยก (จิตใจ/ร่างกาย, ความดี/ความชั่ว, มนุษย์/จักรกล) ทว่าเส้นแบ่งระหว่างสองขั้วดัวกล่าวดูเหมือนจะไม่ชัดเจน จนบางครั้งเราไม่อาจแน่ใจได้ว่าอะไรเป็นอะไร เช่นเดียวกับความขัดแย้งและคล้ายคลึงของฝาแฝดนรีแพทย์ (เจเรมี่ ไอรอนส์) ใน Dead Ringers ที่แบ่งปันตัวตน ชีวิต และกระทั่งผู้หญิง เนื่องจากพวกเขามีเศษเสี้ยวเชื่อมโยงกัน และคนหนึ่งก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยปราศจากอีกคนหนึ่ง

ทั้งใน A History of Violence และ Eastern Promises หนังเริ่มต้นด้วยการแจกแจงให้เห็นสองโลกที่แตกต่าง แบ่งแยกเป็นเอกเทศระหว่างโลกของคนธรรมดา (ความดีงาม) กับโลกแห่งอาชญากรรม (ความชั่วร้าย) ก่อนจะค่อยๆ ชักนำทั้งสองให้เชื่อมโยงและหลอมรวมจนแทบมองไม่เห็นเส้นแบ่ง โดยตัวละครที่ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างสองโลกในหนังทั้งสองเรื่องล้วนรับบทโดย วีโก้ มอร์เทนเซน ซึ่งสะท้อนลักษณะขั้วตรงข้ามของคนเดียวกัน

ขณะที่ ทอม สตอล ใน A History of Violence สร้างภาพลวงแห่งความดีงามขึ้นเพื่อหวังจะปกปิดอดีตอันชั่วร้าย นิโคไลใน Eastern Promises กลับสร้างภาพลวงแห่งความชั่วร้ายขึ้นเพื่อหวังจะปกป้องความดีงาม (เขาช่วยเหลือโสเภณีให้รอดพ้นจากซ่องนรกและช่วยชีวิตลุงของแอนนา) ทอมสวมรอยเข้าไปในโลกธรรมดาเพื่อหลบหนีจากโลกอาชญากรรม ส่วนนิโคไลกลับสวมรอยเข้าไปในโลกอาชญากรรม แล้วตอบปฏิเสธโลกธรรมดาเมื่อเขาได้รับการหยิบยื่นโอกาสจากแอนนา ซึ่งเขารู้สึกผูกพัน (หรืออาจถึงขั้นหลงรัก?) และจากหัวหน้าในกรมตำรวจที่เปิดทางให้เขาถอนตัว ทอมแสดงให้เห็นประกายของปีศาจร้ายที่กระหายความรุนแรง เมื่อสถานการณ์เรียกร้องให้เขาต้องเผชิญหน้ากับโลกอาชญากรรม ส่วนนิโคไลกลับแสดงให้เห็นประกายของความรักและเมตตา เมื่อสถานการณ์ชักนำเขาให้หวนไปสัมผัสกับโลกธรรมดา (แอนนาและทาเทียนา)

ความแตกต่างสำคัญอยู่ตรงอดีตที่คลุมเครือของนิโคไล เพราะคนดูไม่อาจแน่ใจได้ว่าเขาเคยใช้ชีวิตธรรมดามาก่อน แล้วปฏิเสธมันเพื่ออุทิศตนต่อการล้มล้างแก๊งมาเฟีย หรือบรรดารอยสักทั้งหลายของเขาเป็นของจริง และเขาถูกทางการดึงตัวจากเรือนจำในประเทศรัสเซียมารับงานนี้เพื่อไถ่บาปให้กับอดีตอันชั่วร้าย

อย่างไรก็ตาม ในฉากสุดท้าย หนังทั้งสองเรื่องดูเหมือนจะเวียนมาบรรจบกันอีกครั้ง (กระทั่งอาหารที่ทอมกับครอบครัวและแอนนากับครอบครัวทานก็ยังคล้ายคลึงกันอย่างประหลาด นั่นคือ เนื้ออบกับผัก) ด้วยภาพโคลสอัพใบหน้าตัวละครเอกที่โต๊ะอาหาร โดยดวงตาของทอมดูจะเต็มไปด้วยความหวาดหวั่น แต่เปี่ยมความหวัง ขณะมองหาร่องรอยการยอมรับจากสมาชิกในครอบครัว ส่วนดวงตาของนิโคไลกลับฉายแววครุ่นคิด เมื่อเขาหวนคำนึงถึงเรื่องราวของทาเทียนาและบางทีอาจรวมถึงโอกาสสร้างชีวิตใหม่กับแอนนาที่เขาปล่อยให้หลุดมือไป

นอกจากนี้ ฉากดังกล่าวยังอาจเตือนคนดูให้ระลึกถึงฉากจบของ The Godfather Part II ขณะ ไมเคิล คอร์ลิโอเน นั่งเดียวดายอยู่บนเก้าอี้ เขาทรงอำนาจสูงสุด แต่ปราศจากความสุข เขาเลือกจะผลักไสทุกคนออกห่างและยอมสละทุกสิ่งเพื่ออำนาจและเงินทอง ส่งผลให้คนดูอดไม่ได้ที่จะชิงชัง สังเวชเขา ตรงกันข้าม โครเนนเบิร์กกลับไม่เปิดโอกาสให้คนดูสามารถตัดสินใจได้ว่าควรรู้สึกอย่างไรกับฉากจบของ Eastern Promises

นิโคไลเริ่มหลงใหลในอำนาจ หรือเขายอมสละความสุขส่วนตัวเพื่อปกป้องผู้บริสุทธิ์? เราควรจะชื่นชม หรือนึกกังขาการปฏิเสธข้อเสนอให้ถอนตัวจากปฏิบัติการของเขา?

มองในแง่หนึ่ง วิธีจบแบบปลายเปิดดังกล่าวช่างสอดคล้องกับสารที่โครเนนเบิร์กต้องการนำเสนอเกี่ยวกับความคลุมเครือของเส้นแบ่งระหว่างความดีกับความชั่ว และเปลือกนอกบางทีก็ไม่อาจสะท้อนให้เห็นเนื้อแท้ของตัวละคร ดังเช่น ทอม สตอล คุณพ่อตัวอย่างที่กลายเป็นนักฆ่าจอมโหด หรือนิโคไล นักฆ่าจอมโหดที่กลายเป็นผู้พิทักษ์กฎหมาย หรือแม้กระทั่งตัวละครเพศหญิง ซึ่งในแวบแรกเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งความดีงาม โครเนนเบิร์กก็ไม่เว้นที่จะปลูกฝังเมล็ดแห่งความคลุมเครือให้พวกเธอ

เช่นเดียวกับ อีดี้ สตอล (มาเรีย เบลโล) ใน A History of Violence ซึ่งเผยให้เห็นประพิมประพายของด้านมืดหลังต้องเข้าไปพัวพันกับโลกอาชญากรรม ผ่านฉากที่เธอสบถด่าพร้อมทั้งข่มขู่ แดน โฟกาตี้ (เอ็ด แฮร์ริส) ให้อยู่ห่างๆ จากครอบครัวเธอและฉากการร่วมรักแบบดิบๆ บนขั้นบันได แอนนาเองก็กลายเป็นเป้าสงสัยในเจตนารมณ์อันแท้จริงของเธอต่อความพยายามจะช่วยเหลือเด็กทารกแปลกหน้า บทหนังปูรายละเอียดว่าเธอเพิ่งแท้งลูกและเลิกรากับคนรัก ฉะนั้นความผูกพันระหว่างเธอกับเด็กย่อมไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ขณะเดียวกันเหตุไฉนเธอถึงไม่ยอมเลิกรา หรือส่งมอบเรื่องให้ตำรวจ เมื่อเริ่มตระหนักว่าเด็กคนนี้กำลังชักนำเธอและครอบครัวเข้าไปพัวพันกับอันตรายร้ายแรง เป็นไปได้ไหมว่าเพราะเธอเห็นช่องทางอันชอบธรรมที่จะถือครองเด็กทารก ซึ่งอาจมาช่วยเติมเต็มชีวิตอันว่างเปล่า ทุกข์ระทม และเธอก็พร้อมจะมุ่งมั่นทำทุกอย่างเพื่อให้ฝันนั้นเป็นจริง

หลังได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลที่เธอไม่คาดคิดสูงสุด ในช่วงท้ายเรื่อง แอนนาจึงคาดคั้นนิโคไลว่า “ฉันจำเป็นต้องรู้ว่าคุณเป็นใคร” แต่ก็เช่นเดียวกับคนดู เธอไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน และเช่นเดียวกับคนดู เธอได้เรียนรู้ว่าท่ามกลางสภาพสังคมอันซับซ้อนและผุกร่อน เมื่อความหวังที่จะเดินทางมาแสวงโชคด้วยการเป็นนักร้อง กลับลงเอยด้วยการโดนหลอกมาคุมขังแล้วบีบบังคับให้ค้าประเวณี คุณไม่อาจแบ่งแยกขาวออกจากดำได้อย่างชัดเจนเหมือนในหนังคาวบอยยุคเก่าอีกต่อไป

หมายเหตุ

(1) จริงอยู่ว่าภาพยนตร์สยองขวัญยุคแรกของโครเนนเบิร์กอาจมีเนื้อเรื่องและโครงสร้างคล้ายคลึงหนังสยองขวัญทั่วไป แต่พวกมันก็มีเอกลักษณ์บางอย่างที่น่าจดจำเช่นกัน โดยเฉพาะการสะท้อนสภาพความป่วยไข้ทางจิตเป็นรูปธรรมผ่านการกลายพันธุ์ของเนื้อหนังมังสา (Eastern Promises สะท้อนกลิ่นอายดังกล่าวให้เห็นผ่านบรรดารอยสักตามตัว ซึ่งสามารถบ่งบอกถึงประสบการณ์และตำแหน่งสถานะของบุคลล) รวมทั้งการสอดแทรกประเด็นวิพากษ์สังคมและเทคโนโลยีแบบที่พบเห็นได้ไม่บ่อยนักในหนังประเภทนี้

(2) บทเปรียบเทียบบาดแผลกับช่องคลอดคงไม่ถือเป็นเรื่องน่าแปลกสำหรับคอหนังที่คุ้นชินกับผลงานในอดีตของโครเนนเบิร์ก และเคยได้เห็น เจมส์ วู้ด “ล่วงละเมิด” ช่องท้องของตัวเองใน Videodrome หรือ จู๊ด ลอว์ เสียบสายเล่นเกมใส่รูบนแผ่นหลัง เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์ ใน eXistenZ หรือ เจมส์ สเปเดอร์ พยายามร่วมรักกับบาดแผลบนท่อนขาของ โรแซนนา อาร์เควตต์ ใน Crash

วันพฤหัสบดี, มีนาคม 06, 2551

Short Replay: Bully


ไม่มีนักทำหนังคนไหนจะสะท้อนด้านมืดของวัยรุ่นได้เถรตรงและรุนแรงเทียบเท่ากับ แลร์รี่ คลาค ผลงานกำกับสุดอื้อฉาวเรื่องแรกของเขาอย่าง Kids (1995) สำรวจพฤติกรรมมั่วเซ็กซ์ของเหล่าวัยรุ่น ส่วน Bully ผลงานกำกับชิ้นที่สามได้เปลี่ยนมาพูดถึงประเด็นความรุนแรง โดยดัดแปลงมาจากเหตุการณ์จริงเมื่อปี 1993 เรื่องราวของกลุ่มเด็กมัธยมที่ร่วมลงมือกันฆ่านักเลงประจำโรงเรียนคนหนึ่ง

หนังไม่ได้สร้างความน่าเห็นใจให้กับฝ่ายใด จริงอยู่ บ็อบบี้ (นิค สตาห์ล) เป็นตัวละครที่ชั่วร้าย น่ารังเกียจ อย่างเห็นได้ชัด เขาข่มเหงเพื่อนสนิท มาร์ตี้ (แบรด เรนโฟร) ในทุกๆ ทาง และข่มขืนหญิงสาวโดยไม่ยั้งคิด แต่มาร์ตี้กับกลุ่มเพื่อนที่ร่วมวางแผนกันฆ่าบ็อบบี้ก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันสักเท่าไหร่ พวกเขาใช้ชีวิตว่างเปล่าเฉื่อยแฉะในย่านชานเมืองโดยไร้จุดหมาย วันๆ เอาแต่มั่วสุมกันตามร้านวีดีโอและร้านฟาสต์ฟู้ด พวกเขาขาดแรงบันดาลใจ จินตนาการ และความกล้าหาญพอจะฉุดตัวเองให้หลุดพ้นจากสภาพแวดล้อมอันผุพัง ไร้อนาคต ขณะเดียวกันบุคคลรอบข้างพวกเขาก็ดูเหมือนจะไม่สนใจใยดีสักเท่าไหร่ ความรุนแรงเริ่มผุดขึ้นจากประกายความคิด โดยอิทธิพลของเหล้า เซ็กซ์ และความเบื่อหน่าย ก่อนจะถูกขยายเป็นจริงเป็นจังเมื่อเกิดการก่อตัวรวมกลุ่ม

คลาคจับอารมณ์ว้าวุ่นและเรื่อยเปื่อยของวัยรุ่นได้แบบอยู่หมัด เช่นเดียวกับความสมจริงของฉากฆาตกรรม ซึ่งยุ่งยาก เลอะเทอะ และโหดร้าย หนังของเขาปราศจากความประนีประนอม จนเมื่อดูจบคุณอาจรู้สึกเหมือนเพิ่งถูกชกเข้าจังๆ ที่หน้าท้อง ก่อนอาการจุกเสียดจะเริ่มแปรผันเป็นความหดหู่ สิ้นหวัง... หลังจากคุณพลันตระหนักว่าเด็กเหล่านี้ไม่ได้โง่เขลาเพราะสิ้นไร้ทางออก หากแต่เพราะพวกเขาเลือกจะจมปลักเยี่ยงนั้นต่างหาก

Beauty and the Surgery


200 Pounds Beauty (2006): กระแสศัลยกรรมพลาสติกในเกาหลีรุนแรงขนาดไหน ทุกคนต่างทราบกันดี ฉะนั้น การปรากฏตัวขึ้นของภาพยนตร์ตลกเกี่ยวกับสาวอ้วนอัปลักษณ์ที่แปลงโฉมกลายเป็นสาวสวยด้วยฝีมือแพทย์เรื่องนี้จึงถือเป็นเรื่องไม่น่าแปลก (แถมยังเกือบจะเป็นความจำเป็น เมื่อปรากฏว่าการผ่าตัดเสริมความงามกลายเป็นสิ่งปกติสำหรับหนุ่มสาวชาวเกาหลีไม่ต่างกับการเลือกซื้อสินค้าในร้านขายของชำเลยทีเดียว) และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน ที่หนังจะส่งสารให้คนดูตระหนักว่าความงามภายนอกนั้นหาได้นำมาซึ่งความสุขภายในเสมอไป แม้ว่าขณะเดียวกันเราก็ไม่อาจปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่าสังคมทุนนิยมและบูชาวัตถุในปัจจุบันเชิดชูและตัดสินผู้คนจากรูปลักษณ์ภายนอกมากกว่าความงามจากภายใน ความน่าแปลกอยู่ตรงที่หนังตลกเรื่องนี้นอกจากจะเรียกเสียงฮาได้อย่างต่อเนื่องแล้ว มันยังหาทางออกให้กับประเด็นอันซับซ้อนได้อย่างสมจริงและเต็มอิ่มหัวใจ

Death Becomes Her (1992): สังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง แต่มนุษย์หลายคนก็ดูเหมือนจะยังไม่อาจทำใจยอมรับสัจธรรมข้อนี้ได้ สองในนั้น คือ เมเดอลีน (เมอรีล สตรีพ) กับ เฮเลน (โกลดี้ ฮอว์น) อดีตคู่กัดที่ต่างหมายปองชายคนเดียวกัน (บรูซ วิลลิส) และถวิลหาความสาวอมตะเหนือสิ่งอื่นใด หลังจากแรงโน้มถ่วงโลกเริ่มดึงอวัยวะหลายส่วนของพวกหล่อนให้ห้อยย้อย หย่อนยานเกินกว่าการฉีดคอลลาเจนและการลอกหน้าด้วยสารเคมีจะช่วยเหลือได้ หนังแฟนตาซีสุดฮาเรื่องนี้ของผู้กำกับ โรเบิร์ต เซเมคิส (Beowulf) ตั้งหน้าล้อเลียนบรรดาสาวใหญ่ไฮโซที่หวาดกลัวความแก่ชราทั้งหลายและวัฒนธรรมบูชารูปลักษณ์ภายนอกอย่างเจ็บแสบ พร้อมทั้งตั้งคำถามในตอนจบว่าการมีความสวยความสาวไปตราบชั่วกาลนานนั้นมันชวนปรารถนาเหนือการใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า แล้วตายจากไปตามอายุขัยและกฎแห่งธรรมชาติจริงๆ หรือ

Face/Off (1997): ต้องยอมรับว่าพล็อตเรื่องของนายตำรวจเอฟบีไอ ที่เข้ารับการผ่าตัด “ถอดหน้า” ของอาชญากรมาใส่เพื่อแฝงตัวเข้าหมู่โจร แล้วยับยั้งแผนการร้ายใน Face/Off นั้นค่อนข้างเหนือจริงจนน่าหัวเราะ และปราศจากเหตุผลความเป็นไปได้อย่างสิ้นเชิงทั้งทางการแพทย์และสถานการณ์ แต่ผู้กำกับ จอห์น วู เลือกนักแสดงมาได้เหมาะกับบท เมื่อผสานเข้ากับทักษะการกำกับหนังแอ็กชั่นที่ลงตัวของเขา และทุนสร้างมโหฬารของฮอลลีวู้ด ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาสามารถระเบิดภูเขาเผากระท่อมได้อย่างเต็มรูปแบบ มันจึงกลายเป็นผลงานเพื่อความบันเทิงที่สนุกสนานและลุ้นระทึกตั้งแต่ต้นจนจบ ยิ่งเมื่อเทียบกับ Mission Impossible II, Paycheck และ Broken Arrow แล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหนังเรื่องนี้คือผลงานกำกับที่ดีที่สุดของ จอห์น วู นับแต่ผันตัวมาทำงานในฮอลลีวู้ด

Rabid (1977): สาวสวยนางหนึ่ง (รับบทโดยอดีตดาวโป๊ชื่อดังแห่งยุค มาริลีน แชมเบอร์ส) เกิดประสบอุบัติเหตุทางมอเตอร์ไซค์จนเสียโฉมและต้องเข้ารับการผ่าตัดเนื้อเยื่อแนวใหม่ ซึ่งยังไม่เคยทดลองใช้กับใครมาก่อน สุดท้ายหล่อนสามารถกลับมาสวยดังเดิมได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่ผลข้างเคียง คือ อาการหิวกระหายเลือดมนุษย์ ซึ่งเริ่มแพร่กระจายดุจโรคระบาด ส่งผลให้ผู้คนเกือบทั้งเมืองกลายสภาพเป็นผีดิบดูดเลือดภายในเวลาอันรวดเร็ว ที่สำคัญ อาวุธลับในการสังหารเหยื่อของเจ้าหล่อนนั้นมีสภาพเหมือนตัวหนอนชวนแขยง ซึ่งโผล่ออกมาทางรักแร้! หนังเกรดบียุคแรกๆ ของผู้กำกับเกรดเอในปัจจุบันอย่าง เดวิด โครเนนเบิร์ก (Eastern Promises) อาจเต็มไปด้วยเซ็กซ์ เลือด ความรุนแรง และสิ่งอุจาดตาสารพัดเฉกเช่นหนังสยองขวัญดาษๆ ทั่วไป แต่ขณะเดียวกันมันก็ยังแฝงการวิพากษ์วงการแพทย์ รัฐบาล และความหวาดกลัวโรคติดต่อทางเพศเอาไว้ด้วย

The Shape of Things (2003): ถ้า In the Company of Men หนังเรื่องแรกของ นีล ลาบูท คือ ภาพสะท้อนของมนุษย์เพศชายว่าชั่วร้ายมากขนาดไหน The Shape of Things ผลงานกำกับชิ้นที่ห้าของเขา ก็เปรียบเสมือนขั้วตรงข้ามที่พิสูจน์ให้เห็นว่ามนุษย์เพศหญิงนั้นหาได้วิเศษเลิศเลอไปกว่ากันสักเท่าไหร่ เรื่องราวของชายหนุ่มสุดเด๋อ (พอล รัดด์) ที่ถูกแฟนสาวแสนสวย (ราเชล ไวซ์) หลอกล่อด้วยมารยาแห่งเพศหญิงให้ลุกขึ้นมาแปลงโฉมตัวเองด้วยการเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัว ทรงผม ลดน้ำหนัก สวมคอนแท็ก และก้าวไปไกลถึงขนาดเข้ารับการผ่าตัดเสริมจมูก (แต่เมื่อโดนใครถาม เขากลับตอบว่าประสบอุบัติเหตุ) สุดท้ายชายหนุ่มอวบอ้วนขี้อายได้กลายสภาพเป็นหนุ่มหล่อทรงเสน่ห์ที่มั่นใจในตัวเอง แต่ความ “ดูดี” ของรูปลักษณ์ภายนอกดูเหมือนจะเริ่มเปลี่ยนแปลงจิตใจภายในของเขาไปพร้อมๆ กัน บทเฉลยในตอนท้ายของหนังถือเป็นการตบหน้าคนดูอย่างเจ็บแสบ

วันเสาร์, มีนาคม 01, 2551

Oscar 2008: You Can’t Stop What’s Coming


การกวาดรางวัลแทบทุกเวทีมาครอง ตั้งแต่รางวัลของบรรดาสมาคมนักวิจารณ์ทั้งหลายทั่วอเมริกาและรางวัลของเหล่าสมาพันธ์นักแสดง ผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้าง และคนเขียนบท ไม่อาจผลักดันให้ No Country for Old Men กลายเป็นตัวเก็งประเภทนอนมาในสายตาของทุกคน เนื่องจาก “เนื้อใน” ของตัวหนังค่อนข้างขัดแย้งกับรสนิยมของคณะกรรมการออสการ์อย่างรุนแรง หากเปรียบเทียบกับผลงานเรื่องอื่นๆ ที่เคยคว้าชัยมาก่อน

No Country for Old Men เป็นหนังท้าทายความคิด เต็มเปี่ยมด้วยสัญลักษณ์ลุ่มลึก มุมมองอันเย้นหยัน และความรุนแรงแบบถึงเลือดถึงเนื้อ มันไม่ใช่หนังเชิดชูคุณธรรม สร้างขวัญ กำลังใจ หรือให้ความหวังใดๆ กับการมีชีวิต ขณะเดียวกันสาระของหนังก็ค่อนข้างคลุมเครือ รวมไปถึงฉากจบแบบกะทันหัน ชวนงุนงง ซึ่งเหมือนจะบีบให้คนดูเดินออกจากโรงหนังด้วยความคิดว่าสังคมมนุษย์กำลังเดินหน้าสู่หายนะอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง จริงอยู่ ออสการ์เคยให้รางวัลสูงสุดกับภาพยนตร์แนวแอ็คชั่น/เขย่าขวัญมาก่อน แต่อย่างน้อย The Departed ก็ยังรู้จักประนีประนอมด้วยการจบให้คนร้ายต้องชดใช้กรรม ขณะที่ The Silence of the Lambs อาจปล่อยให้ ฮันนิบาล เล็คเตอร์ หนีรอดออกจากคุก แต่คนดูก็ยังรู้สึกอุ่นใจและอิ่มเอิบ เมื่อพบว่า แคลริซ สตาร์ลิ่ง ตัวเดินเรื่องที่แท้จริงของหนัง ช่วยชีวิตเหยื่อจากเงื้อมมือของฆาตกรโรคจิตได้สำเร็จ แล้วก็เลื่อนขั้นเป็นเอฟบีไอเต็มตัวในตอนจบ

ด้วยเหตุนี้เอง ผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยจึงเชื่อว่า รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนี้จะตกเป็นของหนังเรื่องอื่น ซึ่ง “เข้าทาง” ออสการ์มากกว่า หลายคนเห็นว่า Juno ผลงาน feel-good อย่างแท้จริงเพียงเรื่องเดียว แถมยังทำเงินสูงสุด จะหยิบชิ้นปลามันไปครอง บางคนเชื่อว่า Michael Clayton ผลงานสไตล์คลาสสิกฮอลลีวู้ดที่ถูกปรับแต่งให้ร่วมสมัยขึ้น อาจทำคะแนนแซงโค้งสุดท้ายเพราะอิทธิพลของดารานำ จอร์จ คลูนีย์ กับผู้กำกับ โทนี่ กิลรอย ซึ่งเปรียบเสมือนลูกรักของสตูดิโอฮอลลีวู้ด และบางคนถึงกระทั่งเชื่อว่า Atonement อาจสร้างปรากฏการณ์แบบ Driving Miss Daisy ด้วยการคว้าชัย ทั้งที่ผู้กำกับ โจ ไรท์ พลาดการเข้าชิง

แต่แล้วสุดท้าย กลับไม่มีใครหรือหนังเรื่องไหนสามารถขัดขวางชะตากรรมอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

มาสเตอร์พีซของสองพี่น้อง โจเอล และ อีธาน โคน เดินหน้าคว้ารางวัลสูงสุดบนเวทีออสการ์มาครองแบบนิ่มๆ เช่นเดียวกับเวลา แอนตัน ชีเกอร์ ออกตระเวนล่าเหยื่อ

นอกจากนี้พวกเขายังคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (จากนิยายของ คอร์แม็ค แม็คคาธีย์) และผู้กำกับยอดเยี่ยมมาครองตามความคาดหมายอีกด้วย โดยสองสาขาหลังนี้ดูเหมือนจะ “ล็อก” มากกว่าสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ส่งผลให้ No Country for Old Men ถูกจัดเข้ากลุ่มเดียวกับ The Departed, The Lord of the Rings: The Return of the King, A Beautiful Mind, American Beauty, Forrest Gump, Schindler’s List, The Silence of the Lambs, Dances With Wolves, Rain Man และ The Last Emperor ซึ่งคว้าสามรางวัลใหญ่มาครองในรอบ 20 ปี

อันที่จริง สองพี่น้องโคนเกือบทำสถิติเท่า วอลท์ ดีสนีย์ เมื่อปี 1954 ซึ่งคว้าออสการ์มาครองสี่ตัวในคืนเดียว (จากสาขาภาพยนตร์สารคดี สารคดีขนาดนั้น ภาพยนตร์การ์ตูนขนาดสั้น และภาพยนตร์ขนาดสั้น) หากพวกเขาไม่พ่ายให้กับ The Bourne Ultimatum ในสาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม (สองพี่น้องโคนเข้าชิงภายใต้นามแฝงร่วมว่า โรเดอริค เจย์เนส) อย่างไรก็ตาม ทางสมาพันธ์ภาพยนตร์ระบุว่าหากพี่น้องโคนชนะในสาขานี้ พวกเขาจะได้รางวัลออสการ์เพียงตัวเดียวเท่านั้น โดยสลักนามเป็น โรเดอริค เจย์เนส และพวกเขาจะไม่ถูกบันทึกอย่างเป็นทางการว่าเป็นผู้ชนะ ตรงกันข้าม ผลที่ออกมาทำให้สองพี่น้องโคนทำสถิติเทียบเท่าผู้กำกับหลายคนที่คว้าออสการ์มาครองสามตัวในคืนเดียว เช่น ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า (The Godfather Part II), เจมส์ คาเมรอน (Titanic), เจมส์ แอล. บรู้กส์ (Terms of Endearment) และ บิลลี่ ไวเดอร์ (The Apartment)

ชัยชนะของพวกเขาอาจเป็นเรื่องไม่เหนือความคาดหมาย แต่สองพี่น้องโคนดูเหมือนจะไม่ได้เตรียมอะไรมาพูดบนเวทีมากนัก โดยหลังจากคว้าชัยชนะในสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงมาครอง โจเอล โคน กล่าวขอบคุณประมาณสี่ห้าประโยค ก่อนอีธานจะเสริมตบท้ายว่า “เรา... เอ่อ.... ขอบคุณมากครับ” ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม อีธานก็กล่าวว่า “ผมไม่มีอะไรจะเสริมจากที่พูดไปแล้ว” บุคลิกเรียบเฉยของพวกเขาอาจทำให้หลายคนนึกถึงมุกตลกร้ายๆ แบบหน้าตายในหนังอย่าง Fargo และ No Country for Old Men บางทีความดีอกดีใจและตื่นเต้นของพวกเขาอาจถูกถ่ายพลังไปยัง ฟรานเซส แม็คดอร์มานด์ ภรรยาของโจเอล จนหมด

อีกสองรางวัลใหญ่ ซึ่งผลลัพธ์สามารถเรียกได้ว่า “ไม่อาจหลีกเลี่ยง” หลังจากพวกเขาเดินหน้ากวาดรางวัลมาแบบเกือบจะเป็นเอกฉันท์ ทั้งสมาคมนักวิจารณ์ ลูกโลกทองคำ SAG และ BAFTA นั่นคือ นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมและนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม

เดเนี่ยล เดย์-ลูว์อิสต์ สั่งสมความเคารพและชื่นชมในหมู่นักแสดงมานาน แม้เขาจะเล่นหนังแค่ทศวรรษละไม่กี่เรื่อง สถานะของเขาไม่ต่างเทพเจ้าแห่งการแสดง ดังจะเห็นได้จากคำชมของ ฌอน เพนน์ เจ้าของรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก Mystic River เมื่อปี 2003 ในงานเลี้ยงหลังรางวัลออสการ์ที่ว่า “เดเนี่ยล เดย์-ลูว์อิสต์ เป็นนักแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกภาพยนตร์”

ฮาเวียร์ บาร์เด็ม อาจโด่งดังในประเทศสเปนมานาน แต่เขาเพิ่งเริ่มเป็นที่รู้จักในฮอลลีวู้ดจาก Before Night Falls ซึ่งทำให้เขาได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก และ The Sea Inside บท แอนตัน ชีเกอร์ หรือที่บางคนขนานนามให้เป็น “เครื่องจักรฆ่าคน” และ “ความชั่วร้ายที่ไม่อาจหยุดยั้ง” ของเขาใน No Country for Old Men ถือเป็นการแสดงอันน่าจดจำและการแคสติ้งที่กล้าหาญในระดับเดียวกับ ฮันนิบาล เล็คเตอร์ บาร์เด็มเองก็ดูเหมือนจะตระหนักดีว่าเขาคงไม่ได้รับโอกาสแบบนี้บ่อยๆ “ผมอยากจะขอบคุณสองพี่น้องโคนที่เสียสติพอจะคิดว่าผมสามารถเล่นบทนี้ได้ พร้อมกับประดิษฐ์ทรงผมที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์มาไว้บนศีรษะผม” เขากล่าวขณะขึ้นรับรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม

อีกหนึ่งรางวัลที่เป็นไปตามโผ คือ บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ของ ไดอาโบล โคดี้ (Juno) สาวนักเต้นระบำเปลื้องผ้าที่ผันตัวมาเป็นคนเขียนบท แล้วคว้ารางวัลออสการ์ไปครองจากการเข้าชิงครั้งแรก เธอดูจะตื้นตันและตื่นเต้นกับความโด่งดังในชั่วข้ามคืน เธออุทิศรางวัลให้กับเหล่านักเขียนทั้งหลาย ก่อนจะกล่าวตบท้ายว่า “ขอบคุณทุกคนในครอบครัวที่รักฉันแบบที่ฉันเป็น”


No Oscar for Old Women

ถึงแม้จะเริ่มวิ่งนำมาตั้งแต่โค้งแรก โดยการกวาดรางวัลของสมาคมนักวิจารณ์มาครองสูงสุด รวมทั้งลูกโลกทองคำ (สาขาหนังดราม่า) และรางวัลของสมาพันธ์นักแสดงแห่งอเมริกา (SAG) แต่ จูลี่ คริสตี้ จาก Away From Her กลับเริ่มส่อแววหืดจับอย่างเด่นชัดบนเวทีตุ๊กตาทองของอังกฤษ (BAFTA) เมื่อเธอพลาดท่าให้กับสาวสวยคู่แข่งคนสำคัญอย่าง มาริยง โกติญาร์ จาก La Vie En Rose กระนั้น หลายคนยังเชื่อว่าสุดท้ายแล้วคริสตี้จะสามารถประคองตัวจนคว้าออสการ์นักแสดงนำหญิงมาครองได้อีกครั้ง

ทว่าการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น

กระแสโกติญาร์เริ่มรุนแรง เมื่อบรรดาดาราชื่อดังพากันออกมาเชียร์เธอแบบถ้วนทั่ว เริ่มจาก เคท บลันเช็ตต์ คู่แข่งในสาขานักแสดงนำหญิง ( “มาริยง โกติญาร์ ใน La Vie en Rose ช่างน่าตะลึง การแสดงของเธอสอดคล้องตามหนังทั้งเรื่องอย่างสมบูรณ์แบบ เธอไม่เพียงแค่สวมวิญญาณเพียฟเท่านั้น แต่ยังสรรค์สร้างมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อคนหนึ่งขึ้นมา ซึ่งฉันคิดว่ามันวิเศษสุดและทรงพลังอย่างยิ่ง นี่เป็นหนึ่งในการแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่ฉันเคยเห็นมา” ทีนี้เราคงไม่แปลกใจแล้วว่าทำไมเคทถึงได้ตกใจและดีใจขนาดนั้น เมื่อชื่อของโกติญาร์ถูกประกาศ) ไปจนถึง ไรอัน กอสลิ่ง (“เธอไม่เพียงเลียนแบบบุคลิกคนดังได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ความเป็นมนุษย์อันเปี่ยมล้นยังได้ยกระดับการแสดงของเธอให้กลายเป็นงานสร้างสรรค์อันจริงใจ ซื่อตรง และเป็นธรรมชาติสูงสุด สำหรับผม นี่ไม่ใช่การแสดงระดับสุดยอดเท่านั้น แต่มันยังสะท้อนให้เห็นตัวตนที่อัดแน่นไปด้วยความรักของนักแสดงอีกด้วย”) และ คีร่า ไนท์ลีย์ (“ฉันคิดว่ามันเป็นหนึ่งในการแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่ฉันเคยเห็นมา”) นอกจากนี้ เมื่อถูกถามก่อนงานประกาศผลว่าเขาอยากยื่นรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงให้กับใครมากที่สุด คำตอบของ ฟอเรสต์ วิทเทเกอร์ คือ “มาริยง โกติญาร์! คุณได้ดู La Vie En Rose หรือเปล่า เธอแปลงร่างเป็นตัวละคร! สุดยอดจริงๆ!”

แน่นอน โกติญาร์ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญอีกสองปัจจัย ได้แก่ เธอรับบทเป็นคนจริงในประวัติศาสตร์ (อีดิธ เพียฟ) ซึ่งตามสถิติแล้วถือว่า “เข้าทาง” ออสการ์อย่างแรง สังเกตได้จากความสำเร็จของ จูเลีย โรเบิร์ตส์ (Erin Brockovich) นิโคล คิดแมน (The Hours) ชาร์ลิซ เธรอน (Monster) รีส วิทเธอร์สพูน (Walk the Line) และล่าสุด เฮเลน เมียร์เรน (The Queen) ส่วนอีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ นั่นคือ ด้วยวัย 32 ปี โกติญาร์ถือว่ามีอายุอยู่ในช่วงวัยเฉลี่ยของนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมพอดี ต่างจากคู่แข่งสำคัญของเธออย่างคริสตี้ ซึ่งแก่เกินไป (66 ปี) และ เอลเลน เพจ ซึ่งเด็กเกินไป (21 ปี)

ในรอบสิบปีที่ผ่านมา นักแสดงที่คว้าชัยบนเวทีออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงล้วนเป็นสาวสวยแทบทั้งสิ้น (เฮเลน ฮันท์ จาก As Good As It Gets, โรเบิร์ตส์, กวิเน็ท พัลโทรล จาก Shakespeare in Love, เธรอน, คิดแมน, วิทเธอร์สพูน และ ฮัลลี่ เบอร์รี่ จาก Monster’s Ball ส่วน ฮิลารี แสวงค์ เจ้าของสองออสการ์จาก Boys Don’t Cry และ Million Dollar Baby นั้นอาจคาบเกี่ยวในแง่ “ความสวย” แต่อย่างน้อยเธอก็เข้าข่าย “วัยสาว” อย่างไม่ต้องสงสัย) ที่สำคัญ บ่อยครั้งพวกเธอเหล่านั้นก็ไม่กลัวจะทำตัวอัปลักษณ์ (เธรอน) หรือลดทอนความสวยลง (เบอร์รี่, ฮันท์, คิดแมน) เพื่อโน้มนำอารมณ์คนดู ซึ่งนั่นถือเป็นปรากฏการณ์เดียวกับโกติญาร์ใน La Vie En Rose (การแปลงสภาพสาวสวยให้กลายเป็นหญิงชราได้อย่างแนบเนียนส่งผลให้หนังฝรั่งเศสเรื่องนี้สามารถคว้ารางวัลแต่งหน้ายอดเยี่ยมไปครองอีกหนึ่งรางวัล)

ข้อยกเว้นเพียงหนึ่งเดียวเกิดขึ้นเมื่อปีก่อน หลัง เฮเลน เมียร์เรน (62 ปี) คว้าออสการ์มาครองทั้งที่เธอก้าวพ้นวัยสาวมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจยังจำกันได้ว่าระหว่างกระแสออสการ์กำลังพีคสุดขีดเมื่อปีก่อน เมียร์เรนได้ทยอยขึ้นปกนิตยสารหลายฉบับด้วยภาพลักษณ์ “เซ็กซี่” เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ถึงจะแก่ แต่เธอก็หาได้ “เฉา” ไปตามวัยไม่ ตรงกันข้าม คริสตี้ ซึ่งแม้จะยังสวยและเซ็กซี่ไม่แพ้กัน กลับไม่ค่อยเดินสายโปรโมต แล้วเก็บตัวเงียบจนกระทั่งคืนวันประกาศผล บางทีนั่นอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นำไปสู่ความแตกต่าง นอกเหนือจากข้อเท็จจริงที่ว่า เมียร์เรนยังไม่เคยได้ออสการ์ ส่วนคริสตี้เคยได้มาแล้ว (จากหนังเรื่อง Darling เมื่อปี 1966)

ว่ากันว่าสาเหตุที่ออสการ์ดูเหมือนจะชื่นชอบสาวสวยในสาขานักแสดงนำหญิง แต่ค่อนข้างรังเกียจกีดกันเด็กหนุ่มในสาขานักแสดงนำชาย (เจมส์ แม็คอะวอย รออีกสัก 20 หรือ 30 ปีนะ เมื่อใบหน้าของนายมีรอยย่นมากพอๆ กับ ทอมมี่ ลี โจนส์ นั่นแหละ) เป็นเพราะฮอลลีวู้ดถือครองโดยเพศชาย และพวกเขาก็เลือกจะมอบแต้มต่อให้ “อาหารตา” ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจได้มากกว่า “ประสบการณ์”

เห็นได้ชัดว่า แอชตัน คุชเชอร์ คือ ชนกลุ่มน้อยในฮอลลีวู้ด ส่วน ไมเคิล ดั๊กลาส คือ ตัวแทนของเสียง (ผู้ชาย) หมู่มาก!?!


There Will Be Some Surprises

จริงอยู่ว่าปีนี้อาจไม่มีนาที “ชวนช็อค” เหมือนเมื่อครั้งที่ Shakespeare in Love คว้าชัยเหนือ Saving Private Ryan หรือ Crash พลิกคว่ำ Brokeback Mountain หรือ The Pianist ตัดหน้าคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ นักแสดงนำชาย และผู้กำกับยอดเยี่ยมมาครองแบบเหนือความคาดหมาย แต่หลายรางวัลก็ยังถือเป็นเซอร์ไพรซ์เล็กๆ ได้ และนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมคือหนึ่งในนั้น นอกเหนือจากรางวัลใหญ่อย่างนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม

หนึ่งเดือนก่อนหน้า เชื่อกันว่าสาขานี้จะเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง เอมี่ ไรอัน (Gone Baby Gone) ราชินีรางวัลสมาคมนักวิจารณ์ เคท บลันเช็ตต์ (I’m Not There) ผู้ชนะบนเวทีลูกโลกทองคำ + ขวัญใจออสการ์ และ รูบี้ ดี (American Gangster) เจ้าของรางวัลสมาพันธ์นักแสดง (SAG) + ประสบการณ์อันเชี่ยวกรากยาวนาน แต่กระแส ทิลด้า สวินตัน (Michael Clayton) กลับเริ่มโหมกระหน่ำรุนแรงหลังจากเธอพลิกคว้ารางวัล BAFTA มาครอง พร้อมทั้งความเชื่อที่ว่าคณะกรรมการออสการ์ต้องการให้รางวัลปลอบใจหนังโปรดของพวกเขาอย่าง Michael Clayton และนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมก็ถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะเจาะพอดิบพอดี

แน่นอน การแสดงของสวินตันถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ และคงไม่มีใครปฏิเสธว่าเธอคู่ควรกับรางวัลนี้มากที่สุด หากคุณมีโอกาสได้ชม Michael Clayton ส่วนบุคลิกอันเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเธอนั้น คุณสามารถสังเกตได้จากชุดที่เธอใส่มาร่วมงานออสการ์ แม้ว่ามันจะลดระดับ “ความแรง” (หรือ “ความแปลกพิลึก” ในมุมมองของเซียนแฟชั่น) จากปกติลงไปพอสมควรแล้ว รวมถึงแก๊กตลกหน้าตายชวนพิศวงของเธอเกี่ยวกับ จอร์จ คลูนีย์ และชุดแบทแมน เมื่อก้าวขึ้นรับรางวัลบนเวที (เธอกับคลูนีย์จะกลับมาปะทะกันอีกครั้งในหนังใหม่ของสองพี่น้องโคนเรื่อง Burn After Reading)

เซอร์ไพรซ์อื่นๆ ที่เหลือดูจะไปตกอยู่ในสาขาเล็กๆ มากกว่า อาทิ ออกแบบเครื่องแต่งกาย (เมื่อเต็งหนึ่งในสไตล์สวยหรู มีรสนิยมอย่าง Atonement พ่ายแพ้ให้กับสไตล์ยิ่งมากยิ่งดีแนวลิเกฝรั่งอย่าง Elizabeth: The Golden Age) เทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม (เมื่อหนังดังอย่าง Transformers พ่ายแพ้ให้กับหนังเจ๊งสนั่นอย่าง The Golden Compass) และสารคดีขนาดยาว (เมื่อหนังเต็งหนึ่งอย่าง No End in Sight พ่ายแพ้ให้กับหนังม้ามืดอย่าง Taxi to the Dark Side)

ส่วนภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดบนเวทีออสการ์ปีนี้น่ะเหรอ?

คำตอบ คือ The Bourne Ultimatum ซึ่งคว้ารางวัลมาครองสามตัวจากการเข้าชิงในสามสาขา คิดเป็น 100% พอดี ไหนใครบอกว่าออสการ์ไม่รักหนังตลาด?


เกร็ดเก็บตก

• นี่ถือเป็นครั้งแรกนับจากปี 1965 ที่สี่รางวัลการแสดงบนเวทีออสการ์ล้วนตกเป็นของนักแสดงต่างชาติแบบครบถ้วน โดยเมื่อ 43 ปีก่อน เร็กซ์ แฮร์ริสัน (อังกฤษ) ได้รางวัลนำชายจาก My Fair Lady จูลี่ แอนดรูว์ส (อังกฤษ) ได้รางวัลนำหญิงจาก Mary Poppins ปีเตอร์ อุสตินอฟ (อังกฤษ) ได้รางวัลสมทบชายจาก Topkapi และ ลีลา เคโดรวา (รัสเซีย) ได้รางวัลสมทบหญิงจาก Alexis Zorbas แต่ออสการ์ปีนี้ดูจะหลากหลายทางเชื้อชาติมากขึ้นเล็กน้อย เมื่อมีนักแสดงชาวอังกฤษคว้ารางวัลไปครองสองคน (เดย์-ลูว์อิสต์, สวินตัน) ส่วนอีกสองคนเป็นชาวสเปน (บาเด็ม) กับ ฝรั่งเศส (โกติญาร์) นอกจากนี้ รางวัลเพลงประกอบยอดเยี่ยม (Falling Slowly จากหนังเรื่อง Once) ยังตกเป็นของคู่นักร้อง/นักแสดง/นักแต่งเพลงชาวไอริช (เกล็น แฮนซาร์ด) กับสาธารณรัฐเช็ค (มาร์เคทา เออร์โกลวา) ส่วนรางวัลกำกับศิลป์ก็ตกเป็นของทีมงานชาวอิตาเลียน (ดังเต้ เฟอร์เรตติ และ ฟรานเชสกา โล เชียโว จาก Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street) จนอาจเรียกได้ว่าออสการ์ปีนี้โกอินเตอร์อย่างแท้จริง

• เดเนี่ยล เดย์-ลูว์อิสต์ กลายเป็นนักแสดงคนที่ 8 ในประวัติศาสตร์ที่คว้ารางวัลนักแสดงนำชายมาครองได้สองครั้ง (ครั้งแรกได้จาก My Left Foot เมื่อปี 1990) ถัดจาก สเปนเซอร์ เทรซี่ (Captains Courageous, Boys Town) เฟรดริค มาร์ช (Doctor Jekyll and Mr. Hyde, The Best Years of Our Lives) แกรี่ คูเปอร์ (Sergeant York, High Noon) มาร์ลอน แบรนโด (On the Waterfront, The Godfather) ดัสติน ฮอฟฟ์แมน (Kramer vs. Kramer, Rain Man) ทอม แฮงค์ (Philadelphia, Forrest Gump) และ แจ๊ค นิโคลสัน (One Flew Over the Cuckoo’s Nest, As Good As It Gets) ส่วน มาริยง โกติญาร์ ก็กลายเป็นนักแสดงคนที่สองที่คว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงมาครองจากหนังพูดภาษาต่างประเทศ หลังจาก โซเฟีย ลอเรน เคยทำสำเร็จเมื่อปี 1962 จากหนังเรื่อง Two Women

• ไม่เพียงหนังในแนวมืดหม่นจะครองเวทีออสการ์ปีนี้เท่านั้น แต่เหล่าวายร้ายยังพากันอาละวาดกวาดรางวัลเป็นว่าเล่นอีกด้วย โดยสามในสี่คนของนักแสดงที่ชนะรางวัลล้วนรับบทเป็นฆาตกรทั้งสิ้น (ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์) ตั้งแต่เดย์-ลูว์อิสต์ในบทเจ้าพ่อบ่อน้ำมันที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อความเป็นใหญ่ บาเด็มในบทนักฆ่าที่ไร้ความเมตตา ไปจนถึงสวินตันในบทผู้บริหารจอมทะเยอทะยานที่ลงมือสั่งเก็บทุกคนที่มาขัดขวางหนทางสู่ความสำเร็จของเธอ

• การหวนคืนเวทีออสการ์ของ จอน สจ๊วต ถือว่าสอบผ่านด้วยคะแนนที่สูงกว่าครั้งแรก เขาค่อนข้างผ่อนคลายและลื่นไหล แม้จะไม่ถึงขั้นเรียกเสียงฮาได้อย่างสม่ำเสมอ แก๊กเด็ดของเขาก็เช่น การแสดงความเห็นเรื่องที่นิตยสาร Vanity Fair ประกาศงดจัดปาร์ตี้ฉลองหลังงานออสการ์เพื่อสนับสนุนและแสดงความเคารพต่อการประท้วงของสมาพันธ์นักเขียน (“ถ้า Vanity Fair อยากให้เกียรตินักเขียน บางทีปีหน้าพวกเขาน่าจะลองเชิญนักเขียนไปร่วมงานปาร์ตี้บ้าง”) มุกล้อเลียนผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต (“Away From Her เป็นหนังเกี่ยวกับผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์และหลงลืมสามีของตัวเอง ฮิลลารี คลินตัน เรียกมันว่าหนัง feel-good แห่งปี”) และการอ้างอิงถึงดาราสาวในงานที่กำลังตั้งครรภ์ (เจสซิกา อัลบา, นิโคล คิดแมน, เคท บลันเช็ตต์) พร้อมกับบอกว่าจำนวนรวมอาจไม่ใช่แค่สามเพราะ “คืนนี้ยังอีกยาวไกล และ แจ๊ค นิโคลสัน ก็มาร่วมงานด้วย”

• บรรยากาศโดยรวมของงานค่อนข้างจืดชืด ปราศจากสีสัน หรือความน่าตื่นเต้น ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งอาจเป็นผลจากการที่ทีมเขียนบทมีเวลาเตรียมงานแค่หกวันเท่านั้นหลังการประท้วงสิ้นสุดลง คลิปรวมมิตรในอดีตถูกนำมาใช้บ่อยครั้งราวกับจะเตือนคนดูให้นึกถึงวันคืนอันหอมหวานเมื่อครั้งก่อน แต่ข้อดีหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธของงานครั้งนี้ คือ มันสั้นประมาณสามชั่วโมงครึ่ง กระชับ และปราศจากข้อกังขาในแง่ผลรางวัล อย่างไรก็ตาม มันกลายเป็นงานออสการ์ที่เรตติ้งต่ำสุดในรอบยี่สิบปี โดยมีคนดูในอเมริกาแค่ 32 ล้านคน ห่างไกลอยู่หลายขุมจากปี 1998 ซึ่งมีคนดูประมาณ 55 ล้านคน เมื่อ Titanic กวาดรางวัลมาครอง หลายคนไม่นึกแปลกใจกับผลลัพธ์ดังกล่าวเนื่องจากออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปีนี้ปราศจากหนังฮิตถล่มทลาย (เรื่องเดียวที่ทำเงินเกิน 100 ล้านเหรียญ คือ Juno) และสมมุติฐานหนึ่งที่ได้รับการพิสูจน์มาหลายต่อหลายครั้ง ก็คือ ถ้าไม่มีหนังใหญ่ๆ เข้าชิง คนก็ไม่กดรีโมทมาดู แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ากรรมการออสการ์ควรเก็บมันมานั่งคิดให้ปวดหัว “จะให้พวกเขาหันมาเสนอชื่อหนังอย่าง Spiderman 3 และ Alvin and the Chipmunks หรือยังไง” เลียวนาร์ด มัลติน นักประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ให้ความเห็น “เราต้องไม่ลืมว่านี่เป็นงานแจกรางวัลความยอดเยี่ยมทางภาพยนตร์ ซึ่งบังเอิญมีการถ่ายทอดสดทางทีวีด้วย ไม่ใช่รายการทีวี”

• ช่วงเวลา In Memoriam บนเวทีออสการ์ปีนี้ดูเหมือนจะสร้างกระแสอื้อฉาวได้ไม่น้อย เมื่อนักแสดงหลายคนถูกมองข้ามไปโดยเฉพาะ แบรด เรนโฟร (The Client, Bully, Apt Pupil) อูลริช มูเฮอ (The Lives of Others) และ รอย ไชเดอร์ (Jaws, All That Jazz) หลังเกิดกระแสต่อต้านและคำครหาหนาหูปลิวว่อนทั่วอินเทอร์เน็ต ตัวแทนทีมงานเบื้องหลังงานออสการ์จึงได้ออกมาอธิบายว่า บุคคลที่จะถูกรวมไว้ต้องเสียชีวิตภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2007 ถึง 31 มกราคม 2008 ซึ่งกรณีนี้ รอย ไชเดอร์ ถือว่าไม่ตรงตามเกณฑ์เนื่องจากเขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2008 ส่วนกรณีของเรนโฟรกับมูเฮอนั้น เหตุผลง่ายๆ ก็คือ “เราไม่สามารถรวมทุกคนไว้ในคลิปได้ เป้าหมายของเรา คือ การให้เกียรติปัจเจกชนในทุกสาขาอาชีพของแวดวงภาพยนตร์ ไม่ใช่แค่นักแสดงเท่านั้น” หาใช่เพราะพวกเขาหลงลืม หรือเพราะเรนโฟรกับมูเฮอไม่ใช่สมาชิกสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งอเมริกา หรือเพราะเรนโฟรมีประวัติด่างพร้อยในเรื่องยาเสพติดและมูเฮอเป็นชาวเยอรมันอย่างที่บางคนตั้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด

• ไฮไลท์ของงานเป็นตอนที่ เกล็น แฮนซาร์ด กับ มาร์เคทา เออร์โกลวา ก้าวขึ้นรับรางวัลเพลงประกอบยอดเยี่ยมจาก Once ภาพยนตร์เพลงที่สร้างขึ้นด้วยเงินทุนเทียบเท่าค่าออกแบบเสื้อผ้าในหนังฮอลลีวู้ดบางเรื่อง แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นที่รักของนักวิจารณ์และคอหนังจำนวนมาก คนแรกได้กล่าวขอบคุณแบบครบถ้วน แต่ก่อนคนหลังจะทันได้พูดอะไร เสียงดนตรีก็ดังขึ้นไล่ทั้งสองลงจากเวที แต่แล้วหลังจากพักเบรกโฆษณา จอน สจ๊วต ก็ได้พาเออร์โกลวากลับขึ้นมาบนเวทีอีกครั้งเพื่อกล่าวขอบคุณ (ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน) และนักดนตรีสาววัย 19 ปีก็ฉกฉวยโอกาสนั้นอย่างคุ้มค่า เธอพูดว่า “ฉันอยากจะกล่าวขอบคุณอย่างสูง รางวัลนี้มีค่ามาก ไม่เฉพาะกับเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักดนตรีและศิลปินอิสระทั้งหลายที่ต้องปากกัดตีนถีบมาตลอดชีวิต เพราะการที่เราได้มายืนอยู่ที่นี่ในคืนนี้ คือ บทพิสูจน์ให้เห็นว่าความฝันกลายเป็นจริงได้ และใครก็ตามที่กล้าจะฝัน จงอย่ายอมแพ้ เพลง Falling Slowly แต่งขึ้นด้วยมุมมองของความหวัง และนั่นคือสิ่งที่เชื่อมโยงทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าเราแต่ละคนจะแตกต่างกันแค่ไหนก็ตาม”