วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 14, 2552

Oscar 2009: Best Actor


ริชาร์ด เจนกินส์ (The Visitor)

แม้ใบหน้าของเขาจะดูคุ้นตาจากการแสดงหนังมาแล้วกว่า 70 เรื่อง แต่นักดูหนังส่วนใหญ่กลับยังไม่สามารถจดจำชื่อ ริชาร์ด เจนกินส์ ได้ ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไปหลังเจนกินส์ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากหนังเรื่อง The Visitor ซึ่งเขารับบทเป็น วอลเตอร์ เวล ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ ที่หย่าขาดจากภรรยานักเปียโน “ถ้าคุณรู้จักวอลเตอร์ ถ้าคุณมีโอกาสร่วมงานกับเขา คุณจะต้องหงุดหงิดอย่างไม่ต้องสงสัย” ผู้กำกับ ทอม แม็คคาธีย์ กล่าว “เขาใช้ชีวิตเอื่อยเนือยเหมือนคนเดินละเมอ ผมต้องยกเครดิตให้กับริชาร์ดที่สามารถทำให้ตัวละครลักษณะนี้ดูน่าสนใจและชวนติดตาม”

เป็นเรื่องน่าแปลกสำหรับฮอลลีวู้ด เมื่อเจนกินส์ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในอาชีพนักแสดงเมื่ออายุได้ 60 ปี โดยปีนี้นอกจากการแสดงอันน่าจดจำใน The Visitor แล้ว เขายังขโมยหัวใจคนดูมาครองใน Burn After Reading อีกด้วย ซึ่งมันถือเป็นการร่วมงานกันครั้งที่สามของเจนส์กินส์กับ โจเอล และ อีธาน โคน หลังจากก่อนหน้านี้เขาเคยไปทดสอบหน้ากล้องเพื่อเล่นหนังของสองพี่น้องเจ้าของรางวัลออสการ์จาก No Country for Old Men หลายครั้งนับแต่ Raising Arizona (สำหรับเรื่อง Fargo เขาอยากได้บทของ วิลเลียม เอช. เมซี่ มาก) แล้วลงเอยด้วยการรับบทสมทบเล็กๆ ใน The Man Who Wasn’t There และ Intolerable Cruelty

ทอม แม็คคาธีย์ นักแสดงที่ผันตัวมาทำงานหลังกล้อง เคยร่วมงานกับเจนกินส์มาแล้วใน The Station Agent หนังชีวิตน้ำดีซึ่งเปิดโอกาสให้นักแสดงรุ่นใหญ่มากประสบการณ์อย่างเจนกินส์ได้แสดงนำเป็นครั้งแรก และเขาก็ตั้งใจเขียนบท วอลเตอร์ เวล ขึ้นเพื่อเจนกินส์โดยเฉพาะ “คุณไม่มีทางหาทุนมาสร้างหนังเรื่องนี้ได้แน่ ถ้าให้ผมแสดงนำ” นั่นเป็นคำพูดแรกของเจนกินส์หลังได้รับข้อเสนอ แต่แม็คคาธีย์ไม่ยอมแพ้

ใบหน้าที่ซุกซ่อนอารมณ์ แทบจะปราศจากการแสดงออกของเจนกินส์ช่วยมอบความลึกลับให้ The Visitor วอลเตอร์กำลังซึมเศร้า หรือเขาแค่ชาชินกับชีวิต? จุดเด่นประการหนึ่งของหนังอยู่ตรงที่มันหลีกเลี่ยงการมอบคำตอบเด่นชัดแก่คนดู กระทั่งเหตุการณ์สำคัญในหนัง ซึ่งผลักดันพล็อตเรื่องให้เดินไปข้างหน้า (เมื่อศาสตราจารย์ต้องเดินทางมายังแมนฮัตตันเพื่อเข้าร่วมการสัมมนา เขาค้นพบว่าอพาร์ตเมนต์ที่เขาซื้อไว้ แต่แทบไม่เคยมาอยู่ ถูกจับจองโดยคู่รักชาวต่างชาติ) วอลเตอร์ก็ดูจะตอบสนองด้วยความกระตือรือร้นเพียงน้อยนิด “เช่นเดียวกับนักแสดงชั้นยอดทั้งหลาย” แม็คคาธีย์พูดถึงดารานำของเขา “คุณจะไม่เห็นเขาแสดง”

สำหรับเจนกินส์การที่บทหนังปราศจากคำอธิบายถือเป็นแรงดึงดูดสำคัญ เขาไม่ต้องการให้คนดูล่วงรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับวอลเตอร์ “ผมชอบการที่คุณไม่อาจทราบได้ว่าเขา (วอลเตอร์) กำลังคิดอะไรอยู่” อย่างไรก็ตาม เจนกินส์ยอมรับว่าเขาประหม่าไม่น้อยกับการแบกหนังทั้งเรื่องไว้บนบ่า “ผมตระหนักดีถึงความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกตื่นเต้นมากๆ ที่ได้รับบทนี้ ผมกระวนกระวายในช่วงสองสามวันแรก จากนั้นก็เริ่มคิดได้ว่า ทอมเขียนบทนี้ให้ผม ถ้าผมยังทำไม่ได้ อาชีพนักแสดงของผมคงตกที่นั่งลำบาก”


แฟรงค์ แลนเกลลา (Frost/Nixon)

มองจากรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว แฟรงค์ แลนเกลลา ไม่มีอะไรเหมือน ริชาร์ด เอ็ม. นิกสัน ประธานาธิบดีคนที่ 37 ของอเมริกาเลยสักนิด เขาตัวสูงใหญ่ (6 ฟุต 3 นิ้ว) มือเท่าใบลาน แต่เคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว ทว่าเมื่อต้องปรากฏตัวบนจอในหนังเรื่อง Frost/Nixon ของ รอน โฮเวิร์ด เขาจะโก่งตัวไปข้างหน้าในอิริยาบถที่นิกสันชอบทำ มือไม้กระตุก คิ้วขมวด ดวงตาเลิกลั่ก และพูดจาด้วยน้ำเสียงทุ้มต่ำ จนพอดูหนังจบ คนดูกลับรู้สึกว่าแลนเกลล่าดูเหมือนนิกสันยิ่งกว่าตัวนิกสันเองซะอีก!

แลนเกลลาเตรียมทำการบ้านด้วยการเดินทางไปยังห้องสมุดนิกสัน ใช้เวลาหลายชั่วโมงนั่งดูเทปบันทึกภาพจำนวนมาก และพูดคุยกับ ไมค์ วอลเลซ, บาร์บารา วอลเทอร์ส, แฟรงค์ แกนนอน และใครก็ตามที่รู้จักนิกสัน จากนั้นในท้ายที่สุดเขาจะพยายามลืมทุกอย่างที่ได้รับฟังมา “สองสิ่งที่สะดุดใจผม คือ หนึ่ง นิกสันกระหายความยิ่งใหญ่ เขาปรารถนาจะเป็นอมตะ สอง นิกสันตกเป็นเหยื่อของเสียงในหัวเขา เราทุกคนล้วนเคยตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นมาบ้างไม่มากก็น้อย เสียงพวกนั้นคือสาเหตุว่าทำไมบางคนจึงชอบทำลายตัวเอง แต่ในกรณีนิกสัน เสียงดังกล่าวตะโกนดังกว่า จนกลบเสียงแห่งสติปัญญา เหตุผล หรือสำนึกผิดชอบชั่วดี”

ไม่น่าเชื่อว่า ถึงแม้เขาจะรับบทเดียวกันนี้ในเวอร์ชั่นละครเวทีได้อย่างยอดเยี่ยมจนคว้ารางวัลโทนี่มาครอง แต่ แฟรงค์ แลนเกลลา หาใช่ตัวเลือกแรกสำหรับเวอร์ชั่นหนัง เนื่องจากทางสตูดิโอเห็นว่าบท ริชาร์ด นิกสัน เหมาะสำหรับนักแสดงเกรดเออย่าง วอร์เรน เบ็ตตี้, แจ็ค นิโคลสัน และ เควิน สเปซีย์ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดล้วนมีชื่อคุ้นหูนักดูหนังมากกว่าแลนเกลลา ผู้คร่ำหวอดในวงการละครเวทีเป็นหลัก แต่สุดท้าย รอน โฮเวิร์ด ก็ตัดสินใจจะเรียกใช้งานแลนเกลลา ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวดูจะสอดคล้องกับดวงชะตาของนักแสดงวัย 71 ปีอยู่ไม่น้อย หลังจากเขาเริ่ม “มือขึ้น” ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมากับงานแสดงอันน่าจดจำในหนังเรื่อง Good Night, and Good Luck, Starting out in the Evening และละครบรอดเวย์เรื่อง Man for All Seasons

โดยบุคลิกส่วนตัวแล้ว แลนเกลลาค่อนข้างแตกต่างจากนิกสันราวฟ้ากับดิน เขานิยมถ่อมตนและพึงพอใจกับสถานะในปัจจุบัน นอกจากนี้ เขายังขึ้นชื่อเรื่องการปกป้องความเป็นส่วนตัวเหนืออื่นใด โดยหากคุณพยายามกูเกิ้ลหาข้อมูลของเขา คุณจะต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะทราบรายละเอียดคร่าวๆ เช่น เขาเคยแต่งงาน แต่หย่าร้างแล้ว มีลูกทั้งหมดสองคน และเคยสานสัมพันธ์ยาวนานกับ วูปปี้ โกลด์เบิร์ก (พวกเขาพบกันในกองถ่ายหนังเรื่อง Eddie) “ผมไม่ชอบสารภาพเรื่องส่วนตัวกับสาธารณชน” เขากล่าว “และผมก็ไม่ชอบคนประเภทนั้นด้วย”

ระหว่างการถ่ายทำหนังเรื่อง Frost/Nixon รอน โฮเวิร์ด กล่าวว่า “ผมสนใจอยากจะเห็นแฟรงค์กลืนหายไปกับตัวละคร จนเกือบถึงขั้นลืมไปว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ในแง่ของการถ่ายทำภาพยนตร์ ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้เป็นเหมือนการสร้างตัวเลือกใหม่ๆ และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ซึ่งเขายังไม่เคยสำรวจ หรือปฏิเสธพวกมันไปเมื่อครั้งแสดงละครเวที และเขาก็ทำให้ตัวเลือกทั้งหลายเหล่านั้นสอดคล้องไปกับตัวละครได้อย่างแนบเนียน”


ฌอน เพนน์ (Milk)

โดยมากแล้ว ฌอน เพนน์ มักจะไม่ค่อยรับบทเป็นอภิสิทธิ์ชน ถ้าเขาถูกเคลื่อนย้ายมวลสารไปยังทศวรรษ 1930-1940 ยุคสตูดิโอรุ่งเรือง เขาคงจะทำสัญญากับ วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ซึ่งมีนักแสดงในสังกัดอย่าง เจมส์ แค็กนีย์, ฮัมฟรีย์ โบการ์ท และจอห์น การ์ฟิลด์ แล้วรับบทจำพวกนักเลงข้างถนนที่หยิ่งทะนง ไม่ยอมรับบริจาคจากใคร แต่กัดฟันต่อสู้เพื่อความอยู่รอดด้วยไหวพริบเฉพาะตัว การเติบโตมาในครอบครัวหัวเอียงซ้าย (พ่อของเขา ลีโอ เพนน์ เป็นผู้กำกับละครทีวีซึ่งถูกขึ้นบัญชีดำในยุคแม็คคาธีย์) ดูจะเตรียมความพร้อมให้เพนน์สำหรับสถานะแอนตี้ฮีโร่แห่งชนชั้นล่าง ชนกลุ่มน้อย และบรรดาเหยื่ออธรรมของสังคม

เพนน์นิยมหลีกเลี่ยงหนังตลาดฟอร์มใหญ่ ซึ่งมักหอมหวานจนนักแสดงชั้นนำส่วนใหญ่ของฮอลลีวู้ดไม่กล้าปฏิเสธ แล้วเลือกแสดงในผลงานที่เขาชื่นชอบเป็นการส่วนตัว เพื่อเขาจะได้ถ่ายทอดเปลวเพลิงแห่งพลังสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ และดูเหมือนว่าความทุ่มเทของเขาจะปราศจากจุดสิ้นสุด ดังจะเห็นได้จากผลงานแสดงอันน่าทึ่งใน Dead Man Walking และ Mystic River โดยเรื่องหลังทำให้เขาคว้ารางวัลออสการ์มาครอง

ความหลงใหลของเพนน์ต่อ คริส แม็คแคนด์เลส หนุ่มนักอุดมคติใน Into the Wild ผู้เลือกจะหันหลังให้กับสังคม แล้วออกเดินทางไปผจญภัยยังดินแดนอลาสก้า สะท้อนให้เห็นความต้องการจะทดสอบความกล้าหาญภายในของเพนน์ “บางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับการเดินทางออกจากสภาพแวดล้อมที่คุณคุ้นเคยและรู้สึกปลอดภัยทำให้เรื่องราวของคริสเปี่ยมไปด้วยพลัง เช่นเดียวกับการค้นหาว่าคุณมีศักยภาพพอจะทำอะไรได้บ้าง” เพนน์ ซึ่งดัดแปลงหนังสือของ จอน คราเคาเออร์ เป็นบทและควบตำแหน่งผู้กำกับด้วยกล่าว

วู้ดดี้ อัลเลน ซึ่งเคยร่วมงานกับเพนน์ใน Sweet and Lowdown อีกหนึ่งบทบาทที่ทำให้เขาได้เข้าชิงออสการ์นักแสดงนำชาย ให้ความเห็นว่านักแสดงหนุ่มใหญ่เลือกจะกักเก็บความรู้สึกเอาไว้ภายในเพื่อปกป้องตนเอง ลึกๆ แล้วเพนน์มีแง่มุมที่อ่อนโยน นุ่มนวลซุกซ่อนอยู่ ประกายดังกล่าวปรากฏให้เห็นบ้างใน Sweet and Lowdown ก่อนจะพุ่งสูงถึงขีดสุดใน Milk ซึ่งเพนน์รับบทเป็น ฮาร์วีย์ มิลค์ นักการเมืองเกย์ระหว่างช่วงทศวรรษ 1970 และนักบุกเบิกสิทธิเท่าเทียมกันของรักร่วมเพศ ที่ถูกสังหารโหดโดยนักการเมืองคู่แข่งหัวรุนแรง เพนน์เปลี่ยนวิธีการพูด น้ำเสียง รวมไปถึงอิริยาบถเล็กๆ น้อยๆ (เอียงศีรษะ ห่อไหล่) เพื่อเลียนแบบบุคลิกจริงของมิลค์ ซึ่งนักดูหนังคุ้นเคยจากสารคดีชนะรางวัลออสการ์เรื่อง The Times of Harvey Milk แต่สิ่งที่ทำให้การแสดงของเพนน์เหนือชั้นขึ้นไปอีกขั้นอยู่ตรงการนำเสนอจิตวิญญาณของมิลค์ โดยล้วงลึกถึงแก่นแท้ภายใน แล้วผันแปรเขาให้กลายเป็นชายหนุ่มแห่งอุดมคติ ตลอดจนความเท่าเทียมกัน จนทำให้คนดูต้องหวนนึกถึงพลังทำลายล้างของความเกลียดชัง ความหวาดกลัว และอคติ


แบรด พิทท์ (The Curious Case of Benjamin Button)

คืนวันแห่งภาพลักษณ์หนุ่มเซ็กซี่ หล่อเหนือมนุษย์ และซูเปอร์สตาร์ขายแผงอกไร้ไขมันของ แบรด พิทท์ ดูเหมือนจะเริ่มห่างไกลออกไปเรื่อยๆ เมื่อประวัติศาสตร์หน้าใหม่เปิดกว้างสำหรับ แบรด พิทท์ ที่อายุมากขึ้นและฉลาดขึ้น (แต่ไม่ได้ขึ้นกล้องน้อยลง) ข้อเท็จจริงดังกล่าวสะท้อนชัดในผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุด The Curious Case of Benjamin Button ซึ่งพิทท์รับบทเป็น เบนจามิน บัตตัน ชายที่เกิดมาชราภาพ แล้วค่อยๆ หนุ่มขึ้นตามกาลเวลา การย่างเข้าสู่วัยกลางคนส่งผลให้นักแสดงที่เคยเข้าชิงออสการ์นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจาก Twelve Monkeys ตระหนักดีถึงความไม่จีรังแห่งสรรพสิ่ง “เมื่ออายุขึ้นเลขสี่ คุณจะเริ่มหันมาตรวจสอบชีวิตที่ผ่านมา” พิทท์ ซึ่งเพิ่งจะอายุครบรอบ 45 ปีเมื่อเดือนธันวาคม กล่าว “ผมขอเลือกสติปัญญาเหนือความอ่อนเยาว์”

บทหนังของ อีริค รอธ ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องสั้นชื่อเดียวกันของ เอฟ. สก็อตต์ ฟิทซ์เจอรัลด์ เมื่อ 90 ปีก่อน เล่าถึงการผจญภัยผ่านยุคสมัยของเบนจามิน ในสไตล์เดียวกับ Forest Gump บทภาพยนตร์รางวัลออสการ์ของรอธ นับแต่เขาถือกำเนิดมาในร่างของชายอายุ 80 ปี แต่หัวใจหลักของหนังยึดโยงอยู่กับความสัมพันธ์ของเบนจามินกับ เดซีย์ (เคท บลันเช็ตต์) นักบัลเล่ต์สาวที่เขาได้พบและผูกพันตั้งแต่วัยเยาว์ โดยขณะเขายิ่งหนุ่มขึ้น เธอกลับเริ่มแก่ชราลงตามธรรมชาติ แม้จะมีช่วงเวลาตรงกลางที่เส้นทางอายุของทั้งสองมาบรรจบกันพอดี แต่สุดท้ายสัมพันธภาพหวานปนขมระหว่างทั้งสองย่อมจบลงด้วยโศกนาฏกรรมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

“มันเป็นโศกนาฏกรรมเพราะไม่ว่ารักใดย่อมเกี่ยวโยงกับความสูญเสีย มันคือความเสี่ยงที่คุณต้องทนรับ” พิทท์อธิบาย “ยิ่งรักของคุณยิ่งใหญ่มากเท่าใด ความสูญเสียที่คุณต้องเผชิญก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ตอนนี้การได้อยู่กินกับหญิงคนรักและลูกๆ ของเราทำให้ผมตระหนักถึงสัจธรรมดังกล่าวอย่างชัดเจน แต่ไม่ว่าอนาคตจะเป็นเช่นใด วันคืนที่เราได้อยู่ด้วยกันถือเป็นช่วงเวลาอันวิเศษสุด”

บรรดามิตรสหายล้อมรอบล้วนสัมผัสได้ถึง “การเติบใหญ่” ของพิทท์ รวมทั้ง เดวิด ฟินเชอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยกำกับเขามาแล้วสองครั้งใน Se7en และ Fight Club “ตลอด 15 ปีที่ได้รู้จักเขามา ผมไม่เคยเห็นเขาเปี่ยมความมั่นใจมากเท่านี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นในกองถ่ายหรือนอกกองถ่าย” ฟินเชอร์กล่าว “ผมคิดว่าสาเหตุหลักคงมาจากครอบครัวของเขา มันเหมือนเขาเลิกที่จะวิ่งไล่สิ่งต่างๆ แล้วหันมุ่งมั่นทำงานเต็มเปี่ยม” พิทท์เห็นด้วยกับคำวิเคราะห์ดังกล่าว “ผมไม่จำเป็นต้องงมหาตัวละครอย่างหนักเหมือนเมื่อก่อน ผมสามารถเข้าใจตัวละครได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องลองผิดลองถูกอีกต่อไป นอกจากนี้ เมื่ออายุมากขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น ผมตระหนักดีว่าตนเองต้องการอะไร รู้ว่าอะไรเหมาะไม่เหมาะ และสุดท้าย ผมอยากเร่งทำงานให้เสร็จเพื่อจะได้กลับไปหาลูกๆ ที่บ้าน” เขากล่าวพร้อมรอยยิ้ม


มิคกี้ รู้ค (The Wrestler)

ฮอลลีวู้ดดูเหมือนจะชื่นชอบการคัมแบ็คมากพอๆ กับการแสดงชั้นครู สองปีก่อน แจ๊คกี้ เอิร์ล ฮาลีย์ เคยทำสำเร็จควบคู่กันจากหนังเรื่อง Little Children มาปีนี้ถึงคราว มิคกี้ รู้ค กลับมากอบกู้ชื่อเสียงของเขาใน The Wrestler และบางทีอาจก้าวไกลไปอีกขั้นด้วยการคว้ารางวัลออสการ์มาครอง เช่นเดียวกับฮาลีย์ รู้คเคยดำรงสถานะหนุ่มหล่อ ขวัญใจสาวๆ เมื่อสมัยยังหนุ่มแน่น ก่อนจะทำลายอนาคตด้วยน้ำมือตัวเอง “ผมเย่อหยิ่ง ไม่ฉลาดพอ หรือมีการศึกษามากพอจะรับมือกับชื่อเสียงที่หลั่งไหลเข้ามา” นักแสดงวัย 53 ปียอมรับ

รู้คเริ่มสร้างชื่อเสียงตั้งแต่ช่วงอายุ 20 กว่าๆ ด้วยหนังอย่าง Body Heat และ Diner ซึ่งทำให้เขากวาดคำชมจากนักวิจารณ์อย่างมากมาย แต่แล้วตลอดช่วงทศวรรษ 1990 เขากลับปฏิเสธบทเด่นในหนังอย่าง Beverly Hills Cop, Pulp Fiction, Platoon, Rain Man และ The Silence of the Lambs เพื่อไปแสดงหนังเรทอาร์ และหนังแนวสืบสวนระดับล่าง นอกจากนี้ ความเป็นคนอารมณ์ร้าย มีทัศนคติเย่อหยิ่ง และชอบพูดจาแบบไม่ถนอมน้ำใจใครก็เริ่มสร้างชื่อเสียให้รู้ค ทำให้เขากลายเป็น “ฝันร้าย” ในวงการหนัง เมื่องานเริ่มหดหาย รู้คจึงเบนเข็มไปเป็นนักมวยขณะมีอายุสามสิบปลายๆ อาชีพที่ทำให้ใบหน้าและร่างกายของเขาสะบักสะบอมจนไม่เหลือเค้าหนุ่มเซ็กซี่ หลังจากใช้เวลาพักรักษาตัวอยู่หลายปี รู้คจึงเริ่มเดินหน้าหวนคืนสู่วงการบันเทิง เริ่มต้นด้วยบทเล็กๆ ใน Man on Fire, Sin City และ Domino ก่อนจะขุดเจอหลุมทองขนาดใหญ่กับ The Wrestler

แรนดี้ (เดอะ แรม) โรบินสัน เป็นนักมวยปล้ำที่เคยโด่งดังในอดีต แต่ปัจจุบันกลับกลายสภาพเป็นชายชราอนาคตดับ เขาสูญเสียทุกอย่าง ทั้งภรรยา ลูกสาว เงินทอง ตลอดจนชื่อเสียง และกำลังใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในรถเทรลเลอร์ซึ่งมีสภาพทรุดโทรมไปต่างจากเจ้าของ อาการหัวใจวายบีบบังคับให้แรนดี้ต้องทบทวนชีวิตที่ผ่านมา ก่อนจะเริ่มต้นประสานรอยร้าวกับลูกสาว (อีวาน ราเชล วู้ด) ค้นหาความหวานกับนักเต้นระบำเปลื้องผ้าสาวใหญ่ (มาริสา โทเม) และพยายามหวนคืนสู่สังเวียนมวยปล้ำซึ่งเขาโหยหา

บทดังกล่าวดูจะคล้ายคลึงกับชีวิตจริงของรู้คไม่น้อย “ผมอยู่คนเดียวมา 12 ปีแล้ว” รู้คกล่าว “บุคคลที่ผมใกล้ชิดที่สุด คือ น้องชาย คุณยาย และอดีตภรรยา ล้วนไม่อยู่กับผมแล้ว ผมไม่มีเพื่อนแท้สักคน ผมคบหาผู้หญิงบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นนักเต้นระบำเปลื้องผ้าชาวรัสเซีย แต่ไม่ได้คิดจริงจังกับใคร ผมสักชื่ออดีตภรรยาไว้บนแขน เธอเป็นรักแท้เพียงหนึ่งเดียวของผม แต่ผมเองก็แปลกใจที่รู้สึกโอเคกับการอยู่คนเดียว ผมโอเคกับมันมากกว่า เดอะ แรม เขากำลังอยู่ในสภาพสิ้นหวัง”

ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ เป็นแฟนพันธุ์แท้ของรู้คนับแต่ได้เห็นเขาแสดงใน Angel Heart “ผมต้องการนักแสดงสักคนที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ได้หลากหลาย แต่ขณะเดียวกันก็มีรูปร่างเหมาะกับการรับบทนักมวยปล้ำด้วย มันไม่ง่ายเลย ชื่อของมิคกี้แวบเข้ามาในหัว ผมชื่นชอบผลงานของเขา เลยตัดสินใจลองติดต่อเขาดู” เมื่อการถ่ายทำเริ่มต้นขึ้น ผู้กำกับหนุ่มก็ค้นพบว่าพรสวรรค์ทางการแสดงของรู้คนั้นหาได้เหือดหายไปตามกาลเวลาแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้เขาจึงเปิดโอกาสให้รู้คแก้ไขสามารถบทพูดของตัวเอง รับฟังข้อเสนอของเขาเกี่ยวกับเครื่องแต่งกาย เมคอัพ และกระทั่งรอยสัก แน่นอน การเสี่ยงเดิมพันของอาโรนอฟสกี้ให้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า “มิคกี้สร้างตัวละครตัวนี้ขึ้นมา บทหนังอาจมอบชื่อและสถานะให้กับตัวละคร แต่มิคกี้เป็นคนมอบชีวิตให้กับ แรนดี้ เดอะ แรม”

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อ่านบทความวิเคราะห์ออสการ์ของพี่ ได้อย่างสนุกสนานเสมอ

ขอบคุณที่ทำมาโพสต์ที่นี่ให้อ่านกันครับ

Riverdale กล่าวว่า...

ขอบคุณที่ติดตามอ่านจ้ะ :)