วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 21, 2552

ทำความเข้าใจ The Reader (1)


ตลอดช่วงเวลาเกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมาในอเมริกา หนังเรื่อง The Reader ดูเหมือนจะโดนกระแสต่อต้านกลุ้มรุมแทบทุกวันจนสะบักสะบอมเกินเยียวยา สาเหตุสำคัญคงเป็นเพราะตัวหนังดันหลุดเข้าชิงออสการ์สาขาสำคัญๆ แทนตัวเก็งที่หลายคนคาดหวังอยากจะเห็นอย่าง The Dark Knight (ไม่เช่นนั้น มันก็คงเลือนหายไปจากความสนใจของคนทั่วไปเหมือนหนังหวังกล่องอีกหลายเรื่องของไวน์สไตน์อย่าง Bobby และ Breaking and Entering) แต่ขณะเดียวกัน หลายสิ่งหลายอย่างในหนังก็เหมือนจะ “ล่อเป้า” ให้คนสาดใส่อารมณ์ได้อย่างมากมาย

ต้องยอมรับว่าผมเดินเข้าไปชม The Reader ด้วยความคาดหวังค่อนข้างต่ำ แม้จะได้อ่านหนังสือแล้วและชื่นชอบมันไม่น้อยก็ตาม เนื่องจากกระแสแง่ลบและคำวิจารณ์โดยรวมจากเมืองนอก ซึ่งค่อนข้างก้ำกึ่งไปทางย่ำแย่ แต่ความคิดแรกที่แวบเข้ามาในหัวผมหลังจากดูหนังจบ คือ ตัวหนังไม่ได้เลวร้ายอย่างที่หลายคนพยายามจะวาดภาพให้มันเป็น ผมคิดว่าหนังยังมีข้อบกพร่องปรากฏให้เห็นอยู่บ้างในเชิงเทคนิคและการเล่าเรื่องที่ค่อนข้างขาดๆ เกินๆ บางทีก็ดูรวบรัดจนไร้พลังโน้มน้าว แต่จุดแข็งของหนังอยู่ตรงประเด็นอันชวนค้นหา และท่าทีในการนำเสนอ ซึ่งไม่ได้พยายามยัดเยียด หรือมอบคำตอบสำเร็จรูป ตรงกันข้าม มันต้องการกระตุ้นให้คนดูตั้งคำถามเสียมากกว่า และบางทีนั่นเองอาจเป็นสาเหตุให้หนังถูกโจมตีรอบด้าน ทั้งจากข้อหาที่ปราศจากมูล และข้อหาที่พอจะมีมูลอยู่บ้าง

ประเด็นหลักๆ ของข้อโจมตีที่ผมพอจะสรุปได้ คือ (1) หนังใช้ภาพลักษณ์ของ “ผลงานศิลปะ” และฉากโป๊เปลือยเพื่อสร้างความน่าเห็นใจให้ตัวละครน่ารังเกียจอย่างฮันนา ส่งผลให้มันเป็นหนังที่ “ไม่ซื่อสัตย์” และ “หลอกลวง” (2) The Reader เปรียบเสมือนข้อแก้ต่างให้กับชาวเยอรมันยุคนาซีเรืองอำนาจว่า พวกเขาไม่มีส่วนรู้เห็นกับพฤติกรรมของฮิตเลอร์ และ (3) การใช้ปมเกี่ยวกับ “ไม่รู้หนังสือ” มาเบี่ยงเบนคนดูให้หลงลืมอาชญากรรมอันเลวร้ายของตัวละครเอก นอกจากนี้ บางคนยังก้าวไปไกลถึงขั้นกล่าวหา The Reader ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามจะทำให้การสังหารหมู่ชาวยิวกลายเป็นเพียงตำนานที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง!

ในความเห็นของผม The Reader ไม่ใช่หนังเกี่ยวกับการสังหารหมู่ชาวยิว นาซี หรือกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สอง ฉะนั้น ข้อกล่าวหาทั้งหลายข้างต้นจึงถือเป็นการโจมตีไม่ถูกจุด (แม้ข้อสังเกตบางอย่างจะมีมูลฐานและมุมมองที่น่าสนใจไม่น้อยก็ตาม) และออกจะไม่ค่อยยุติธรรมต่อตัวหนังสักเท่าไหร่ แต่ก่อนจะไปพูดถึงประเด็นหลักของหนัง ผมอยากจะนำเสนอความคิดเห็นพอสังเขปเกี่ยวกับข้อโจมตีทั้งหลายข้างต้น

ปฏิกิริยาแง่ลบของ The Reader ทำให้ผมนึกถึง ฮันนาห์ อาเรนท์ ผู้เคยใช้วลี “the banality of evil” (ความชั่วร้ายอันแสนสามัญ) อธิบายพฤติกรรมของ อดอล์ฟ อิชมันน์ นายทหารนาซีระดับสูงที่ออกแบบค่ายกักกันชาวยิวในยุโรปตะวันออกและวางแผนการสังหารหมู่เพื่อแก้ “ปัญหาชาวยิว” ให้กับฮิตเลอร์ โดยวลีดังกล่าวเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนจากรอบข้าง โดยเฉพาะจากกลุ่มต่อต้านนาซี ซึ่งต้องการวาดภาพให้นาซีเป็นพวกมีปัญหาทางจิตและแตกต่างจากมนุษย์ธรรมดาทั่วไป (ส่วนมุมมองของอาเรนท์ต่ออิชมันน์ คือ เขากระทำการดังกล่าวเพียงเพราะต้องการเลื่อนตำแหน่งในกองทัพ หาใช่เพราะเขาเหยียดชาวยิวหรือมีสภาพจิตบกพร่อง) อาเรนท์เลือกใช้วลีดังกล่าวไม่ใช่เพื่อเรียกร้องความเห็นใจให้กับอิชมันน์ แต่เพื่อสะท้อนแง่มุมว่าอิชมันน์ไม่ได้ “สนุก” กับการฆ่า ความเกลียดชังหาใช่เหตุผลที่ผลักดันเขาให้สังหารหมู่ชาวยิว แต่เป็นเพราะเขา “มืดบอด” เกินกว่าจะตระหนักในศีลธรรม สามัญสำนึก หรือความถูกต้องต่างหาก เขาทำตามคำสั่งโดยไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่จะตามมา

ไม่มีใครเถียงว่าปรากฏการณ์สังหารหมู่ชาวยิวถือเป็นความเลวร้ายสูงสุดอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่สำคัญ ทุกอย่างช่างชัดเจนเหลือเกินว่า ยิว = เหยื่อผู้น่าสงสาร และ นาซี = ปีศาจร้าย ดังนั้น ใครก็ตามที่พยายามจะมอบ “ความเป็นมนุษย์” ให้เหล่านาซีจึงย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงเสียงคัดค้าน ต่อต้าน

จะว่าไปแล้ว ตัวละครอย่าง ฮันนา ชมิดซ์ ก็คงไม่แตกต่างจาก อดอล์ฟ อิชมันน์ สักเท่าไหร่ เธอเข้าไปมีส่วนร่วมในกองทัพนาซี (ซึ่งต้องไม่ลืมว่าขณะนั้นเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ หรือพูดง่ายๆ คือ เป็นรัฐบาลของประเทศ) เพราะความโง่เขลา มืดบอดต่อสามัญสำนึก เธอมองไม่เห็น “ภาพรวมในมุมกว้าง” ของสถานการณ์ แล้วตัดสินทุกอย่างจากเพียงเบื้องหน้า เช่น เธอตัดสินใจไม่เปิดประตูโบสถ์ เพราะตอนนั้นเธอคิดเพียงว่าตนเองเป็นผู้คุม และหน้าที่ของผู้คุม ก็คือ ต้องไม่ปล่อยให้นักโทษหลบหนี หรือก่อความวุ่นวาย ศีลธรรมหรือความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์หาได้แวบเข้ามาในหัวสมองของเธอไม่

เราสามารถด่าทอได้ว่าเธอโหดเหี้ยม ไร้มนุษยธรรม หรือกระทั่งตัดสินว่าเธอมีความผิดจริงโทษฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา แต่ (ในแง่ความเป็นหนัง) มันจะได้ประโยชน์อะไรนอกจากความสะใจ จากความรู้สึกว่าโลกนี้ยังมีระบบระเบียบทางศีลธรรมหลงเหลืออยู่ (อย่างไรก็ตาม หนังได้ตั้งคำถามต่อ “ความยุติธรรม” ดังกล่าว โดยเตือนคนดูให้ตระหนักว่าฮันนากับกลุ่มผู้คุมหญิงเหล่านี้เป็นเพียงแค่ “แพะบูชายัน”)

คำถามที่ผมนึกสงสัย คือ การที่เราพยายามจะ “ทำความเข้าใจ” เธอ หรือเหล่านาซีคนอื่นๆ นั้นมันกลายเป็นความผิดไปด้วยตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะเหล่าเสียงคัดค้าน The Reader เท่าที่ผมได้อ่านๆ มา ส่วนใหญ่ล้วนแสดงความเห็นในลักษณะเดียวกับเพื่อนนักศึกษาของไมเคิล นั่นคือ “มีอะไรต้องทำความเข้าใจกันอีก” และ “ถ้าเป็นผม ผมจะยิงพวกมันให้หมดทุกคน!”

การตัดสินคนเป็นเรื่องง่ายดาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณนั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง หลังจากช่วงเวลาได้ผันผ่านไประยะหนึ่งแล้ว หากคุณไม่ได้ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์เดียวกัน ไม่ได้เติบโตมาในสภาพแวดล้อมเดียวกัน หรือไม่ได้รับ/ขาดโอกาสแบบเดียวกัน

ไม่เชื่อ ลองนึกภาพตัวเองมีชีวิตอยู่ในยุคนาซีเรืองอำนาจดูสิ คุณจะกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวแบบตัวเอกใน Sophie Scholl: The Final Days ซึ่งนับแล้วคงเป็นแค่ 1% ของชาวเยอรมันยุคนั้น หรือคุณจะนิ่งเงียบเฉกเช่นชาวเยอรมันอีกกว่า 80% จริงอยู่ คุณอาจคิดว่าคุณคงไม่มีวันเข้าร่วมกองทัพนาซีอย่างฮันนาแน่ๆ เพราะมันเป็นความบ้าคลั่งที่ชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว... แต่ทุกสิ่งทุกอย่างมันชัดเจนจริงหรือ (อย่าลืมว่าเมื่อไม่กี่ปีก่อนชาวอเมริกันจำนวนมากก็เคยแสดงความเห็นชอบให้ใช้กำลังทหารรุกรานประเทศอิรักมาแล้ว เพราะตอนนั้นพวกเขาคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันชัดเจน แต่ตอนนี้พวกเขากลับเริ่ม “Doubt”)

ทุกวันนี้ความวุ่นวายทั้งหลายไม่ได้เกิดจากการที่เรา “ตัดสิน” แทนที่จะพยายาม “ทำความเข้าใจ” หรอกหรือ

8 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ก็จริงครับ
ตามที่ว่ามาในแง่วิธีการวิจารณ์ตัวหนังแบบมีอคติ
ส่วนตัวผมมองว่า the dark knight เป็นหนังที่ดีเเละคุ้มค่าในหลายๆองค์ประกอบ แต่มันยังเร็วไปในการดำเนินเรื่องจนไม่มีอารมณ์ร่วม (แม้แต่ตอนนางเอกตายยังไม่มีฉากอารมณ์เศร้าเลย เช่น งานศพ) หนังไม่น่าจะได้เข้าชิงในสาขาภาพยนต์ยอดเยี่ยม แต่ถ้าเรื่องบท หรือ ดนตรี น่าจะได้เข้าชิงครับ (ขนาด doubtยังมีปัญหาเรื่องการตัดต่ออารมณ์ แต่สาขาบทก็ได้ชิง)ผมว่า the reader กับ happy-go-luckly มาตรฐานเดียวกันนะ

Riverdale กล่าวว่า...

^
^
^
เรื่องรางวัลบางทีก็แล้วแต่มุมมองน่ะครับ ผมไม่ค่อยถือสาอะไรมากมาย บางคนว่าเรื่องนี้น่าได้เข้าชิง อีกคนว่าเรื่องนี้ดีกว่า เถียงกันไปมา ไม่มีวันสิ้นสุด

โดยส่วนตัว ผมชอบ The Dark Knight และ The Reader ในระดับใกล้เคียงกัน แต่เรื่องหลังอาจจะ "ถูกรสนิยม" ผมมากกว่าเล็กน้อย ซึ่งเป็นเรื่องของฉันทาคติล้วนๆ :)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ไม่ระบุชื่อ=เกรียง คนรักหนัง
ครับ
รางวัลก็แค่กลไกทางการตลาดของบริษัทภาพยนต์
ทำให้เราอยากดูหนังมากขึ้น
ผมมองว่ามันเปิดโอกาศให้มีคนทำศิลปดีๆทางภาพยนต์ให้เราได้ดูด้วยความตั้งใจ
มากกว่าแค่สนุกเเบบหวังคนดูอย่างเดียวครับ
ขอบคุณครับที่ตอบ
ผมชอบบทความพี่มาก
by krieng_tula20@hotmail.com

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ชอบบทความพี่มากเช่นกันครับ

ผมเข้าไปดูหนังแล้ว และเห็นด้วยว่าตัวหนังไม่ได้แย่ดังที่ได้ยินคำวิจารณ์มา และเหนืออื่นใด ผมคิดว่าภาพความเป็นเหยื่อของยิวในปัจจุบันสมควรได้รับการพิจารณาเพื่อหาทางอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขในแง่มุมอื่นๆ บ้างได้แล้ว ผมคิดว่าตราบเท่าที่ความเป็นเหยื่อของยิวที่อิงกับความเป็นผู้ร้ายสมบูรณ์ แบบของเยอรมันยังคงถูกผลิตซ้ำไปซ้ำมาเช่นนี้ ในความรู้สึกนึกคิดของชาวยิวก็จะมีข้อแก้ต่างทางศีลธรรมให้ตนเองอยู่ร่ำไป และตลอดไป ซึ่งหากไม่ระวัง ต่อไปจะกลายเป็นสภาพไทย-พม่าแบบสังคมไทยทุกวันนี้ ที่เหตุการณ์ในอดีตเป็นร้อยปียังถูกนำมาใช้เพื่อตอกย้ำเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง

จริงอยู่ มันเป็นโศกนาฏกรรมจริง น่าเห็นใจจริง แต่ชีวิตก็ยังต้องดำเนินต่อไป และต่อไปร่วมกับคนอื่นๆ ด้วย คนที่มองตนเองเป็นเหยื่อตลอดเวลาจะมีใจคิดถึงความรู้สึกของผู้อื่นได้ อย่างไร? และจะเลิกโทษคนอื่นลึกๆ ได้อย่างไร? บางทีความเลวร้ายของอิสราเอลเมื่อไม่นานมานี้ก็อาจเนื่องมาจากการผ่อนปรน ตนเองเนื่องมาจากการมองตนเองเป็นเหยื่อตลอดกาลแบบนี้แหละ (ชาวยิวไม่ใช่คนกลุ่มเดียวที่ฮิตเลอร์ฝากผลงานอันเหี้ยมโหดเอาไว้ ผมอ่านประโยคแสดงความมุ่งมั่นของฮิตเลอร์ตอนเปิดฉากสงครามในแนวรบตะวันออก "เซนต์ ปีเตอรสเบิร์กควรจะหายสาบสูญไปจากโลกนี้" ครั้งใด ผมก็หนาวลึกๆ อยู่ทุกครั้ง บังเอิญว่าฮิตเลอร์เกือบจะทำสำเร็จเสียด้วย) แต่ความเป็นเหยื่อของยิวสร้างประโยชน์ทางการเมืองมหาศาล (ขณะที่ความเป็นเหยื่อของคอมมิวนิสต์รัสเซียนั้นไม่ โดยเฉพาะในช่วงสงครามเย็น) ผมดีใจนะครับที่มีหนังอย่าง The Reader, Sophie Scholl และ Valkyrie ออกมา ไม่ว่าคุณภาพหนังจะเป็นอย่างไร แต่การให้ตัวเอกเป็นเยอรมันแบบอื่นๆ บ้าง และชี้ให้ภาพความเป็นมนุษย์ของพวกเขา ผมว่าน่าจะส่งเสริมมากกว่าประณามครับ

Riverdale กล่าวว่า...

^
^
^
เป็นความคิดที่น่าสนใจมาก อันที่จริง ผมเองก็รู้สึกแบบเดียวกันว่ามันออกจะตลกไม่น้อย เมื่อหนังอย่าง The Reader ถูกด่าจากการนำเสนอภาพนาซีในอดีตเป็นมนุษย์ ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันชาวยิวกลับถล่มเข่นฆ่าคนชาติอื่นอย่างโหดเหี้ยม

เรากำลังหลงจมกับอดีตมากเกินไปหรือเปล่า

alexz กล่าวว่า...

ผมว่าถ้าไม่สนใจเรื่องกล่องมาเป็นมาตรฐาน หรือไม่พกพาอคติเข้าไปนั่งดูหนังด้วย หรือส่วนของบทประพันธ์ซึ่งดีอยู่แล้ว ส่วนตัวผมก็ไม่ได้รู้สึกปลาบปลื้มกับตัวหนังเรื่องนี้สักเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ได้แย่ถึงขนนาดที่อารมณ์เสีย ส่วนตัวผมว่าพอดูได้ แม้จะอยากเดินออกไปดูดบุหรี่อยู่หลายครั้ง ผมว่าหนังที่มี่ส่วนที่ให้คนนั่งดูได้มีส่วนคาดเดาในความคิดความรู้สึกของตัวละคร มันเป็นเรื่องที่ดี ที่ทำให้คนที่นั่งดูได้เหมือนเป็นส่วนหนึ่งกับตัวละคน แต่ผมว่า The Reader มีช่องว่างในส่วนนี้ ที่มากเกินไป ทำให้ขาดพลังของเนื้อเรื่อง ยิ่งถ้าเป็นคนสมาธิสั้นแบบเพื่อนผมที่ไปดูด้วยกัน อาจจะเลิกดูไปเลย เพราะเหตุผลง่ายๆที่บอกว่า "ไม่รู้เรื่อง" การลำดับภาพและการเล่าเรื่องผมว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ แต่ก้อถือว่าโอเคสำหรับผม

อันนี้มองจากมุมของคนดูที่ไม่มีความรู้เรื่องการทำหนังและเรื่องของสงครามนาซีเลยนะครับ

แต่ชอบที่พี่เขียน ได้ความเข้าใจอีกเยอะเลยคับ ^^

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ไม่เคยเสียนำตาให้หนังเรื่องไหนมาก่อนนอกจากThe Reader ถึงแม้จะมีฉากเปลือยแต่ก็ดูไม่น่าเกลียดภาพที่ออกมากลับสวยมีศิลป์ดูเป็นธรรมชาติมากมากนางเอกดูเซ็กซี่อมน่าร้ากน่าค้นหาด้วยโดยเฉพาะฉากที่พระเอกจะไปเยี่ยมนางเอกที่คุกแต่กลับหันหลังกลับไม่เข้าใจว่าพระเอกคิดอะไรอยู่ แต่ทำไมนางเอกต้องฆ่าตัวตายด้วย

Unknown กล่าวว่า...

ตอนจบนี่เศร้ามากๆ
http://www.rvbookthai.com/thereader/