วันเสาร์, มีนาคม 07, 2552

ออสการ์ 2009: ชัยชนะของเด็กสลัม


งานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 81 ผ่านพ้นไปโดยปราศจากเซอร์ไพรซ์ในแง่ของผลรางวัล หนังอิสระทุนต่ำที่เกือบจะถูกส่งตรงลงตลาดหนังแผ่นอย่าง Slumdog Millionaire กวาดรางวัลไปครองมากสุดตามคาด รวมทั้งสิ้น 8 รางวัล ทำสถิติเทียบเท่า Amadeus (1984) Gandhi (1982) Cabaret (1972) My Fair Lady (1964) On the Waterfront (1954) From Here to Eternity (1953) และ Gone with the Wind (1939) นอกจากนี้ Slumdog Millionaire ยังกลายเป็นหนังเรื่องที่สี่ในประวัติศาสตร์ ซึ่งคว้าออสการ์สาขาภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดยไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาการแสดงเลย ตามหลัง Gigi (1958) The Last Emperor (1987) และ The Lord of the Rings: The Return of the King (2003)

ที่บอกว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะก่อนหน้านี้หนังของ แดนนี่ บอยล์ เพิ่งกวาดรางวัลของสมาพันธ์ต่างๆ มาครองแบบครบถ้วน ชนิดไม่เคยมีหนังเรื่องใดทำได้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นสมาพันธ์ผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้าง นักแสดง ผู้กำกับภาพ คนตัดต่อ คนเขียนบท นักออกแบบงานสร้าง และกระทั่งสมาพันธ์นักออกแบบเครื่องแต่งกาย (สองรางวัลหลังในสาขาภาพยนตร์ร่วมสมัย) นอกเหนือไปจากนั้น มันยังชนะรางวัลสูงสุดบนเวทีลูกโลกทองคำและ BAFTA ด้วย

Slumdog Millionaire ถือเป็นชัยชนะครั้งแรกของ ฟ็อกซ์ เซิร์ชไลท์ บนเวทีออสการ์หลังเคยเฉียดๆ มาสองปีติดกันจาก Little Miss Sunshine และ Juno ทุกคนในงานดูจะมีความสุขกับผลลัพธ์ที่ออกมาไม่น้อย สังเกตได้จากการลุกขึ้นยืนปรบมือให้ทีมงานรวมทั้งเหล่านักแสดงเด็กๆ เมื่อหนังคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาครอง มีคนวิเคราะห์ว่าเหตุที่ Slumdog Millionaire ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามบนเวทีออสการ์ ไม่ใช่เพราะมันเป็นผลงานที่ “ดีที่สุด” แต่เพราะมันสอดคล้องกับอารมณ์ของคนอเมริกัน ณ เวลานี้มากที่สุด ตั้งแต่ไอเดียที่ว่าเงินไม่ได้นำมาซึ่งความสุข ความรักมีชัยเหนือทุกสิ่ง และการที่ผู้ชายตัวเล็กๆ ในสังคมสามารถเอาชนะทุกคนได้ด้วยการเล่นตามกฎ ที่สำคัญ มันเป็นหนังซึ่งให้ “ความหวัง” อย่างเต็มเปี่ยม ทั้งหมดนี้เอง (บวกกับคุณภาพอันน่าพึงพอใจของหนัง) ส่งผลให้ Slumdog Millionaire เอาชนะเหนืออุปสรรคหลากหลายไม่ต่างจากตัวละครเอกอย่างจามาล (ความเป็นหนังอินดี้/พูดภาษาฮินดูครึ่งเรื่อง/กำกับโดยคนอังกฤษ/นำแสดงโดยคนอังกฤษและอินเดีย/เข้าชิงออสการ์มากเป็นอันดับสอง/ไม่ได้เข้าชิงสาขาการแสดงเลย)

เซอร์ไพรซ์เดียวของงาน คือ การคว้ารางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมมาครองของ Departures (ญี่ปุ่น) โดยเบียดคู่แข่งตัวเก็งอย่าง Waltz with Bashir (อิสราเอล) และ The Class (ฝรั่งเศส) ไปแบบชวนกังขา อย่างไรก็ตาม เซียนออสการ์หลายคนคาดเดาไว้แล้วว่าอาจเกิดเหตุการณ์ล็อกถล่ม เนื่องจากสาขานี้เรียกร้องให้กรรมการทุกคนต้องดูหนังที่ได้เข้าชิงครบทั้งห้า ซึ่งส่วนใหญ่ที่ทำได้ (เพราะมีเวลาว่าง) มักเป็นสมาชิกอายุมาก ที่อาจ “เย็นชา” ต่อความแปลกใหม่ ท้าทายของ Waltz with Bashir และชื่นชอบอารมณ์อบอุ่น อ่อนหวานใน Departures

การเมืองบนเวทีออสการ์

หลังความพ่ายแพ้ของกลุ่มรักร่วมเพศในการคว่ำข้อเสนอเพื่อแก้ไขกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนีย (Proposition 8) ซึ่งระบุให้การแต่งงานเป็นสิทธิอันชอบธรรมของ “ชายกับหญิง” เท่านั้น (หมายความว่าเกย์หรือเลสเบี้ยนจะไม่สามารถแต่งงานโดยถูกต้องตามกฎหมายในแคลิฟอร์เนีย) ชัยชนะของ Milk บนเวทีออสการ์ ดูเหมือนจะเป็นการแก้เผ็ดเล็กๆ น้อยๆ ของเหล่าประชาชนหัวเสรีนิยม (หรือตามคำพูดของ ฌอน เพนน์ “you commie homo-loving son of guns”) เนื่องจากไคล์แม็กซ์ช่วงท้ายเรื่องของ Milk โฟกัสไปยังการต่อสู้ของ ฮาร์วีย์ มิลค์ เพื่อคว่ำ Proposition 6 เมื่อปี 1978 ซึ่งจะกีดกันไม่ให้รักร่วมเพศทำงานเป็นครูในสถาบันการศึกษา

คนแรกที่ฉวยโอกาสตบหน้ากลุ่มอนุรักษ์นิยม ซึ่งรณรงค์ให้ทุกคนโหวตรับ Proposition 8 (เดินนำแถวมาแต่ไกลโดยโบสถ์คาทอลิก) ได้แก่ ดัสติน แลนซ์ แบล็ค เจ้าของรางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมจาก Milk

“ตอนผมอายุ 13 ปี พ่อกับแม่ตัดสินใจย้ายพวกเราออกจากชุมชนมอร์มอนที่เคร่งศาสนาในซานแอนโตนีโอ รัฐเท็กซัสมายังรัฐแคลิฟอร์เนีย จากนั้นผมก็ได้ยินเรื่องราวของ ฮาร์วีย์ มิลค์ ซึ่งทำให้ผมมีความหวังว่า สักวันหนึ่งผมจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเปิดเผย บางทีอาจตกหลุมรักและแต่งงานกับใครสักคน ผมอยากจะขอบคุณแม่ ผู้รักผมแบบที่ผมเป็นเสมอมาท่ามกลางแรงกดดันจากรอบข้าง แต่เหนืออื่นใด หากฮาร์วีย์ยังมีชีวิตอยู่ เขาคงอยากให้ผมพูดกับเด็กชายเด็กหญิงรักร่วมเพศ ซึ่งเคยถูกโบสถ์ หรือรัฐบาล หรือครอบครัวของตนดูหมิ่นว่าด้อยค่า ผมอยากจะบอกเขาและเธอทั้งหลายเหล่านั้นว่าพวกคุณสวยงาม สมบูรณ์ และไม่ว่าใครจะพูดอย่างไร พระเจ้ารักคุณทุกคน ผมขอสัญญาว่าอีกไม่นาน เราจะมีสิทธิเท่าเทียมกันทั่วทั้งประเทศอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ ขอบคุณพระเจ้า ที่มอบ ฮาร์วีย์ มิลค์ แก่พวกเรา”

เกือบสามชั่วโมงต่อมา ฌอน เพนน์ ได้ดับฝัน มิคกี้ รู้ก และออกมารับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก Milk (เขากลายเป็นนักแสดงชายคนที่ 9 ที่ได้รางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำสองครั้งตามหลัง เดเนี่ยล เดย์-ลูว์อีส, แจ๊ค นิโคลสัน, ทอม แฮงค์, ดัสติน ฮอฟฟ์แมน, มาร์ลอน แบรนโด, แกรี่ คูเปอร์, เฟรดิค มาร์ช และ สเปนเซอร์ เทรซี่) พร้อมกับตอกย้ำในสิ่งเดียวกัน แต่ด้วยท่าทีชัดเจน แข็งกร้าวกว่า

“ใครก็ตามที่ขับรถเข้ามาในงานคืนนี้คงเห็นสัญญาณแห่งความเกลียดชัง (หน้างานมีการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรักร่วมเพศ) ผมคิดว่านี่ถือเป็นเวลาอันเหมาะสมสำหรับกลุ่มคนที่โหวตต่อต้านการแต่งงานของรักร่วมเพศ ในการทบทวนพฤติกรรมของตนแล้วนึกละอายใจ รวมทั้งความละอายใจในแววตาของคนรุ่นลูกรุ่นหลาน หากพวกเขายังคิดจะสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวต่อไป เราจำเป็นต้องมอบสิทธิเท่าเทียมกันให้แก่ทุกคน”

อย่างไรก็ตาม มองเผินๆ ออสการ์อาจดูเหมือนจะ homo-loving จริง อย่างน้อยก็ในส่วนของสาขาการแสดง (เพนน์, ทอม แฮงค์ จาก Philadelphia, วิลเลียม เฮิร์ต จาก Kiss of the Spider Woman และ ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน จาก Capote) แต่หากพูดถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแล้ว นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง ความพ่ายแพ้แบบเหนือความคาดหมายของ Brokeback Mountain และเป็นไปตามความคาดหมายของ Milk ได้พิสูจน์ให้เห็นว่ารักร่วมเพศคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะสามารถคว้ารางวัลใหญ่บนเวทีออสการ์มาครอง... ถ้าไม่นับรวมหนังอย่าง Ben Hur และ The Lord of the Rings: The Return of the King น่ะนะ!?!


ความสุขของ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์

ข่าวคราวความขัดแย้งระหว่างสองผู้อำนวยการสร้างขาใหญ่ในวงการอย่าง สก็อตต์ รูดิน (No Country for Old Men) กับ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ (Shakespeare in Love) เกี่ยวเนื่องกับกำหนดการฉาย The Reader (คนแรกอยากให้หนังฉายปี 2009 ส่วนคนหลังอยากเร่งดันหนังให้เข้าฉายปี 2008 เถียงกันไปมา สุดท้ายรูดิน ซึ่งมีหนังเก็งออสการ์สองเรื่องอยู่แล้วอย่าง Doubt กับ Revolutionary Road จึงประกาศถอนชื่อออกจากเครดิตหนัง The Reader) ส่งผลให้หลายคนคาดเดาว่าใครจะทำคะแนนนำบนเวทีออสการ์ เมื่อทั้งสองขับเคี่ยวกันมาแบบหายใจรดต้นคอในสองสาขาสำคัญ นั่นคือ นักแสดงนำหญิง (เมอรีล สตรีพ vs เคท วินสเล็ท) กับ นักแสดงสมทบหญิง (ไวโอลา เดวิส vs เพเนโลปี้ ครูซ)

ในยกแรกของการประกาศรายชื่อผู้เข้าชิง ไวน์สไตน์ชนะไปก่อนจากการที่ The Reader ทิ้งห่างหนังทั้งสองเรื่องของรูดินแบบไม่เห็นฝุ่น แล้วเข้าชิงออสการ์สาขาใหญ่ๆ อย่างถ้วนทั่ว (หนัง/กำกับ/บท/นำหญิง) ส่วนในยกสองหลายคนเริ่มคาดเดาว่าไวน์สไตน์อาจสมหวังในสาขานำหญิง แต่ต้องผิดหวังในสาขาสมทบหญิง หลัง ไวโอลา เดวิส หรือกระทั่ง เอมี่ อดัมส์ เริ่มจะทำคะแนนกวดตัวเก็งอย่างครูซมาแบบกระชั้นชิด (บริษัทของไวน์สไตน์รับจัดจำหน่าย Vicky Cristina Barcelona) แต่สุดท้าย ไวน์สไตล์ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเขายังเป็นมือหนึ่งในการล็อบบี้หนัง/นักแสดงสู่ความยิ่งใหญ่บนเวทีออสการ์

เพเนโลปี้ ครูซ กลายเป็นนักแสดงหญิงคนที่ 4 ที่คว้ารางวัลออสการ์มาครองจากการรับบทในหนังของ วู้ดดี้ อัลเลน ตามหลัง ไดแอนน์ วีสต์ (สองครั้งจาก Hannah and Her Sisters และ Bullets Over Broadway) มีร่า ซอร์วีโน่ (Mighty Aphrodite) และ ไดแอน คีตัน (สาขานักแสดงนำหญิงจาก Annie Hall) ส่วนนักแสดงชายเพียงคนเดียวที่ชนะรางวัลออสการ์จากการเล่นหนังของอัลเลน คือ ไมเคิล เคน จาก Hannah and Her Sisters

“บอกได้เลยว่าฉันต้องการเวลามากกว่า 45 วินาที เคยมีใครเป็นลมบนนี้มาก่อนหรือเปล่า เพราะฉันอาจเป็นคนแรก” ครูซกล่าวเมื่อขึ้นรับรางวัล ก่อนจะยอมรับว่าเธอชอบดูงานประกาศผลรางวัลออสการ์มาตั้งแต่สมัยเด็กๆ

เคท วินสเล็ท ก็เป็นแฟนรางวัลออสการ์มานานแล้วเช่นกัน “ฉันคงโกหก ถ้าบอกว่าไม่เคยฝึกพูดแบบนี้มาก่อนหน้ากระจกในห้องน้ำ ขณะนั้นฉันคงอายุประมาณแปดขวบได้ และใช้ขวดแชมพูแทนรางวัลออสการ์ แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ขวดแชมพูแล้ว!” จากนั้นเธอก็กล่าวขอบคุณ สตีเฟ่น ดัลดรี้ สองผู้อำนวยการสร้างที่ลาโลกไปแล้ว แอนโทนีย์ มินเกลลา กับ ซิดนีย์ พอลแล็ค ตลอดจนพ่อแม่ของเธอ (เธอขอให้พ่อผิวปาก จะได้รู้ว่าเขานั่งอยู่ตรงไหน ซึ่งเขาก็ทำตาม) ก่อนจะตบท้ายว่า “ฉันอยากขอบคุณนักแสดงนำหญิงทุกคนที่เข้าชิง ฉันคิดว่าพวกเราคงไม่อยากเชื่อว่าจะได้มาอยู่ร่วมสาขาเดียวกันกับ เมอรีล สตรีพ ขอโทษทีนะ เมอรีล แต่คุณต้องทนรับมันไป!”

วินสเล็ทคว้ารางวัลออสการ์มาครองในที่สุด หลังจากพลาดหวังมาแล้ว 5 ครั้ง ส่วน เมอรีล สตรีพ พลาดรางวัลจากการเข้าชิงเป็นครั้งที่ 11 ติดต่อกัน (เธอได้ออสการ์ตัวที่สองจาก Sophie’s Choice เมื่อปี 1983 จากการเข้าชิงครั้งที่ 4 และออสการ์ตัวแรกจาก Kramer vs. Kramer เมื่อปี 1980 จากการเข้าชิงครั้งที่สอง) เธอทำสถิติเป็นนักแสดงที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์มากครั้งที่สุดในประวัติศาสตร์ นั่นคือ 15 ครั้ง (สมทบ 3 นำ 12)

ยกเครื่องการจัดงาน

แม้ผลรางวัลจะปราศจากเซอร์ไพรซ์ แต่งานแจกรางวัลปีนี้กลับเต็มไปด้วยความแปลกใหม่ เริ่มตั้งแต่การออกแบบเวทีให้ใกล้ชิดคนดู... มาก การประดับตกแต่งเวทีด้วยม่านคริสตัลส่องประกายต้องแสงไฟระยิบระยับ (ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เมื่อพิจารณาว่ามันเป็นผลงานสร้างสรรค์ของ บิล คอนดอน) รวมไปถึงการมอบตำแหน่งพิธีกรให้แก่ ฮิวจ์ แจ๊คแมน ซึ่งไม่ใช่ดาวตลก หรือพิธีกรรายการทอล์คโชว์เหมือนพิธีกรคนก่อนๆ แต่เป็นนักแสดงมากฝีมือ ที่เคยผ่านประสบการณ์ทำนองนี้มาบ้างแล้ว (พิธีกรรายการแจกรางวัลโทนี่)

เมื่อผู้กำกับ Dreamgirls มาจับมือร่วมกับนักแสดงนำจาก The Boy from Oz เวทีออสการ์จึงแทบจะถูกเปลี่ยนเป็นเวทีบรอดเวย์ เริ่มต้นด้วยการแนะนำหนังเด่นๆ ของการประกวดเป็นเสียงเพลง (ไฮไลท์คือตอนที่แจ๊คแมนดึงเอา แอนน์ แฮทธาเวย์ จากที่นั่งแถวแรกมาร่วมแสดงในฉากจำลองของ Frost/Nixon โดยรับบทเป็น ริชาร์ด นิกสัน) ก่อนช่วงกลางรายการแจ๊คแมนจะประกบคู่ บียอนเซ่ ซึ่งกลายเป็นขาประจำงานออสการ์ไปแล้ว เพื่อสดุดีหนังเพลงในอดีต พร้อมด้วย อแมนด้า ซีย์ฟรายด์ ประกบ โดมินิค คูเปอร์ คู่พระนางจาก Mamma Mia! และ แซ็ค เอฟรอน ประกบ วาเนสสา ฮัดเจนส์ คู่พระนางจาก High School Musical 3 (ความพยายามล่าสุดของออสการ์ที่จะดึงดูดกลุ่มคนดูวัยรุ่น หลังจากเชิดใส่ The Dark Knight?) พวกเขาร้องเมดเลย์เพลงดังในสไตล์ Moulin Rouge! ภายใต้การออกแบบของ แบซ เลอห์มาน (เวอร์ๆ แบบนี้จะใครซะอีก)

โดยภาพรวม แจ๊คแมนทำหน้าที่ได้ค่อนข้างน่าพอใจ แม้จะหายหน้าหายตาไปเลยในช่วงกลางรายการ เขาอาจปล่อยมุกไม่มากเท่าพิธีกรคนก่อนๆ แต่หลายมุกได้ผลดี เช่น “ทุกอย่างถูกลดขนาดลงเพราะพิษเศรษฐกิจ ปีหน้าผมจะแสดงนำในหนังเรื่อง New Zealand” หรือตอนเขาตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีอะไรไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับการเข้าชิงมากถึง 15 ครั้งของ เมอรีล สตรีพ ก่อนจะสรุปว่า “สงสัยจะใช้สเตียรอยด์” จุดเด่นของแจ๊คแมนคงอยู่ตรงความเป็นธรรมชาติ ลื่นไหล และเป็นกันเอง (พิธีกรคนอื่นคงไม่กล้าลงไปนั่งตัก แฟรงค์ แลงเจลลา หรอก!) เขาร้องเพลงและหยอกล้อคนบันเทิงอย่างน่ารัก น่าชัง ไม่คุกคามความรู้สึกใคร จนทำให้คนดูพร้อมใจกันลุกขึ้นยืนปรบมือให้เขา

อีกไอเดียที่น่าสนใจ คือ การไล่ประกาศรางวัลตามขั้นตอนถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งให้ความรู้ไปในตัว เริ่มต้นจากขั้นตอนเขียนบทภาพยนตร์ ไปจนถึงขั้นตอนหลังการถ่ายทำ เช่น ลำดับภาพและดนตรีประกอบ ส่วนไอเดียใหม่ที่โดยวิพากษ์ว่าไม่เวิร์กสุดคงได้แก่การให้ ควีน ลาติฟาห์ มาร้องเพลงระหว่างช่วงรำลึกถึงผู้ที่จากไป เพราะเวทีถูกแบ่งความเด่นไปจากกลุ่มคนที่เราควรจะ “รำลึก” ถึง

ทว่าความเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดสุดเกิดขึ้นระหว่างช่วงประกาศรางวัลสาขาการแสดง โดยแทนที่จะตัดคลิปจากหนังมาเปิดโชว์เหมือนเคย ทีมงานได้เปลี่ยนเป็นการเชิญอดีตผู้ชนะในสาขานั้นๆ มากล่าวสรรเสริญผู้เข้าชิงแทน เทคนิคดังกล่าวได้ผลดีเยี่ยม หากคุณจับคู่ได้เหมาะเจาะ และหากคนพูดเตรียมตัวมาดี เช่น เมื่อ เชอร์ลีย์ แม็คเลน (Terms of Endearment) พูดถึง แอนน์ แฮทธาเวย์ เมื่อ คิวบา กูดดิ้ง จูเนียร์ (Jerry Maguire) พูดถึง โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ หรือเมื่อ โรเบิร์ต เดอ นีโร (Raging Bull) พูดถึง ฌอน เพนน์ แต่บางครั้งมันกลับให้อารมณ์น่าอับอายและประดักประเดิดเสียมากกว่า เช่น เมื่อ เอเดรียน โบรดี้ (The Pianist) พูดถึง ริชาร์ด เจนกินส์ หรือน่าหัวเราะ (ขื่นๆ) แบบไม่ตั้งใจ เช่น เมื่อ ไมเคิล ดั๊กลาส (Wall Street) ชื่นชม แฟรงค์ แลงเจลลา ว่า เขาทำให้นักแสดงคนก่อนๆ ที่เคยรับบท ริชาร์ด นิกสัน ดูไร้ความหมายไปเลย ขณะยืนอยู่ข้าง แอนโธนีย์ ฮ็อปกิ้นส์ ผู้เคยเข้าชิงออสการ์จาก Nixon

ถึงความยาวของงานจะยังคงเกินสามชั่วโมง (ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากจำนวนรางวัลค่อนข้างมาก) แต่ทีมงานก็ได้พยายามลดทอนขบวนการทุกอย่างลงเพื่อไม่ให้งานลากยาวถึงสี่ชั่วโมง เช่น ลดจำนวนผู้ประกาศรางวัล ตัดหนังสั้นของ เบนเน็ตต์ มิลเลอร์ (Capote) ออกในนาทีสุดท้าย ขณะที่ ซิด เกนิส ประธานสถาบัน ก็ได้มอบของขวัญให้ทุกคนเนื่องในโอกาสที่เขาจะดำรงตำแหน่งเป็นปีสุดท้ายด้วยการไม่ขึ้นพูดอะไรบนเวที ทั้งหมด ผนวกเข้ากับความเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ได้ช่วยให้โชว์โดยรวมดูกระชับ ฉับไว เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา จนผู้ร่วมงานหลายคนอดไม่ได้ที่จะออกปากชม ทั้งบนเวที อาทิ แดนนี่ บอยล์ (“มันเป็นโชว์ที่สวยงามมาก ผมไม่รู้ว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไรเวลาอยู่บนหน้าจอทีวี แต่ถ้าคุณอยู่ในงาน คุณจะเห็นว่ามันยอดเยี่ยมเหลือเกิน ขอปรบมือให้กับทีมงานทุกคน”) และหลังเวที อาทิ สตีเฟ่น ดัลดรี้ “เป็นโชว์ที่ยอดเยี่ยมมาก ดีกว่าปกติประมาณสิบเท่า และผมคิดว่า แบซ เลอห์มาน คือ อัจฉริยะ”

ไฮไลท์ชวนหัว

• การโต้ตอบกันระหว่าง ทีน่า เฟย์ กับ สตีฟ มาร์ติน ก่อนประกาศรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ใครอยากให้พวกเขามาจัดออสการ์ร่วมกันในปีหน้าบ้าง ยกมือขึ้น!)

เฟย์: กล่าวกันว่า การเขียนเปรียบเสมือนการมีชีวิตเป็นอมตะ
มาร์ติน: คนที่กล่าวคำนั้น... ตายไปแล้ว
เฟย์: เราทุกคนตระหนักดีถึงความสำคัญของงานเขียน เพราะหนังที่ดีทุกเรื่องล้วนเริ่มต้นจากบทที่ดี
มาร์ติน: หรือไอเดียเก๋ๆ สำหรับเขียนบนโปสเตอร์
เฟย์: นักเขียนทุกคนเริ่มต้นจากหน้ากระดาษเปล่า
มาร์ติน: และทุกหน้ากระดาษเปล่า... ครั้งหนึ่งเคยเป็นต้นไม้มาก่อน
เฟย์: ต้นไม้ทุกต้น ครั้งหนึ่งเคยเป็นแค่เมล็ดพืชเม็ดเล็กๆ
มาร์ติน: และทุกเมล็ดพืชเม็ดเล็กๆ ครั้งหนึ่งเคยถูกนำมายังโลกมนุษย์โดย เอเลี่ยน คิง รอนเดอเลย์...
เฟย์: สตีฟ ไม่มีใครอยากได้ยินเกี่ยวกับศาสนาที่เรากุขึ้นเองหรอก

• หนังสั้นฝีมือการกำกับของ จัดด์ อพาโทว (Knocked Up) นำแสดงโดย เซธ โลแกน กับ เจมส์ ฟรังโก้ คู่หูนักดูดกัญชาใน Pineapple Express พวกเขาเริ่มต้นด้วยการล้อเลียนกรรมการออสการ์ที่มักจะมองข้ามหนังตลก (ฟรังโก้: “เวลาดูหนัง ฉันชอบให้ระดับสติปัญญาถูกท้าทาย ฉันอยากดูเด็กหนุ่มร่วมเพศกับนาซี!”) จากนั้นก็หัวร่องอหายแบบหยุดไม่ได้ขณะดูฉากตัวละครโต้เถียงกันในหนังอย่าง Doubt และ The Reader ก่อนสุดท้ายจะปล่อยมุกเด็ดด้วยการให้ เจมส์ ฟรังโก้ นั่งดูหนังเรื่อง Milk ที่เขารับบทเป็นคู่รักเกย์ของ ฌอน เพนน์

• เมื่อ แจ๊ค แบล็ค ขึ้นมาประกาศรางวัลภาพยนตร์การ์ตูนยอดเยี่ยมกับ เจนนิเฟอร์ อนิสตัน (พึงสังเกตว่ากล้องตัดภาพไปยังแบรงเจลิน่าถึงสองครั้ง! ใครบอกออสการ์มีรสนิยมอันดี?)

แบล็ค: ผมทำเงินจากหนังการ์ตูนมากกว่าหนังคนแสดง
อนิสตัน: จริงเหรอ? ตอนฉันพากย์เสียงให้ The Iron Giants ไม่เห็นได้เงินเยอะเลย คุณพอจะมีคำแนะนำไหม
แบล็ค: แน่นอน ทุกปีผมจะพากย์เสียงให้การ์ตูนของดรีมเวิร์กส์ แล้วเอาเงินทั้งหมดที่ได้ไปพนันว่าการ์ตูนของพิกซาร์จะได้ออสการ์

• เบน สติลเลอร์ เลียนแบบภาพลักษณ์ของ วาควิน ฟีนิกซ์ ในรายการ เดวิด เลตเตอร์แมน (เคี้ยวหมากฝรั่ง สวมแว่นดำ หนวดเครารุงรัง และมีท่าทางเหม่อลอยเหมือนกำลังเมายา) ขณะออกมาประกาศรางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยมกับ นาตาลี พอร์ตแมน (ว่ากันว่าสภาพ “กึ่งเสียสติ” ของฟีนิกซ์ในวันนั้นทำให้คนดูอยากจะร้องว่า What the f***? ไม่ต่างจากตอน ทอม ครูซ ลุกขึ้นกระโดดบนโซฟาในรายการ โอปร้า วินฟรีย์ โดยก่อนหน้าเพียงหนึ่งวัน วาควินผู้เคยเข้าชิงออสการ์จาก Gladiator (สมทบชาย) Walk the Line (นำชาย) และล่าสุดเพิ่งประกาศอำลาวงการหนังเพื่อไปเป็นนักร้องเพลงแร็พ ก็ถูกล้อเลียนในงานแจกรางวัล Independent Spirit Awards เช่นกัน)

พอร์ตแมน: คุณเป็นอะไรของคุณ
สติลเลอร์: ไม่มีอะไร ผมแค่อยากเกษียณตัวเองจากการเป็นดาราตลก
พอร์ตแมน: คุณดูเหมือนคนงานในโรงงานผลิตยาของชาวยิว... แล้วคุณอยากทำอะไร
สติลเลอร์: ไม่รู้สิ... ผม... บางที... อาจจะ... (มองไปรอบๆ เวที) กำกับภาพ

รายชื่อผู้ชนะรางวัลออสการ์

ภาพยนตร์: Slumdog Millionaire (Fox Searchlight)
กำกับภาพยนตร์: แดนนี่ บอยล์ (Slumdog Millionaire)
นักแสดงนำชาย: ฌอน เพนน์ (Milk)
นักแสดงนำหญิง: เคท วินสเล็ท (The Reader)
นักแสดงสมทบชาย: ฮีธ เลดเจอร์ (The Dark Knight)
นักแสดงสมทบหญิง: เพเนโลปี้ ครูซ (Vicky Cristina Barcelona)
บทภาพยนตร์ดั้งเดิม: ดัสติน แลนซ์ แบล็ค (Milk)
บทภาพยนตร์ดัดแปลง: ไซมอน บาวฟอย (Slumdog Millionaire)
ภาพยนตร์ต่างประเทศ: Departures (ญี่ปุ่น)
ภาพยนตร์สารคดี: Man on Wire
ภาพยนตร์การ์ตูน: Wall-E
กำกับศิลป์: โดนัลด์ เกรแฮม เบิร์ท, วิคเตอร์ เจ. โซลโฟ (The Curious Case of Benjamin Button)
กำกับภาพ: แอนโธนีย์ ดอด แมนเทิล (Slumdog Millionaire)
ลำดับภาพ: คริส ดิกเคน (Slumdog Millionaire)
ออกแบบเครื่องแต่งกาย: ไมเคิล โอ’คอนเนอร์ (The Duchess)
ภาพยนตร์ขนาดสั้น: Spielzeugland (Toyland)
ภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้น: Smile Pinki
ภาพยนตร์การ์ตูนขนาดสั้น: La Maison en Petis Cubes
แต่งหน้า: เกร็ก แคนนอม (The Curious Case of Benjamin Button)
ดนตรีประกอบ: เอ.อาร์. ราห์แมน (Slumdog Millionaire)
เพลงประกอบ: Jai Ho (SLumdog Millionaire)
ตัดต่อเสียง: ริชาร์ด คิง (The Dark Knight)
บันทึกเสียง: เอียน แท็บ, ริชาร์ด ไพรค และ เรซัล พูคัตตี้ (Slumdog Millionaire)
เทคนิคพิเศษด้านภาพ: อีริค บาร์บา, สตีฟ พรีค, เบิร์ท ดัลตัน และ เคร็ค บาร์รอน (The Curious Case of Benjamin Button)

1 ความคิดเห็น:

NUNAGGIE กล่าวว่า...

5555 เห็นเว็บข่าวอื่นๆ ของอเมริกันก็ด่าเหมือนกันนะคะป๋า เรื่องตัดภาพไปหาแองจี้ตอนที่เจนพูดอ่ะ ด่าแบบว่าไร้จริยธรรม เอามาเกี่ยวกันไปได้ too red!!

รักนะคะป๋า