วันจันทร์, มีนาคม 02, 2552

Happy-Go-Lucky: ความสุขตามมุมมอง


ผมไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นคนมองโลกแง่ร้ายโดยสันดาน หรือเริ่มคุ้นเคยกับหนังฮอลลีวู้ดมากเกินไป เพราะหลายครั้งหลายคราระหว่างนั่งชม Happy-Go-Lucky ผมเอาแต่คาดเดาถึงชะตากรรมอันเลวร้ายต่างๆ นานาอันจะเกิดแก่ผู้หญิงอารมณ์ดีและร่าเริงเกินเหตุอย่างป๊อปปี้ (แซลลี่ ฮอว์กินส์) ไม่ว่าจะเป็นตอนเธอไปหาหมอเพื่อรักษาอาการปวดหลัง (พิการ! อัมพาต!) ตอนเธอเรียนขับรถ (อุบัติเหตุ!) หรือตอนเธอเดินเข้าไปในย่านเสื่อมโทรมแล้วพูดคุยกับชายจรจัดสติไม่ดี (ฆ่า! ข่มขืน!)

แต่สุดท้ายป๊อปปี้ก็รอดพ้นจากแรงปรารถนาใฝ่ต่ำของผมได้หมด (เอ๊ะ นี่ถือเป็นการสปอยล์หนังหรือเปล่า) อันที่จริง ผลลัพธ์ดังกล่าวไม่น่าแปลกใจ ถ้าคุณไม่เผลอหลงลืมไปว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานกำกับของ ไมค์ ลีห์ ซึ่งนิยมถ่ายทอดเรื่องราวในสไตล์ “เสี้ยวชีวิต” ของคนอังกฤษระดับล่าง เน้นความสมจริง เป็นธรรมชาติผ่านขบวนการ “ด้นสด” ส่งผลให้ตลอดทั้งเรื่องคนดูจะได้เฝ้าสังเกตการณ์กิจกรรมประจำวันของป๊อปปี้ (ไปสอนหนังสือเด็ก เรียนขับรถ เที่ยวผับ เรียนเต้นฟลามิงโก้ ออกเดท ฯลฯ) โดยปราศจากการสร้างปมขัดแย้ง จุดพลิกผัน หรือพัฒนาการในเชิงเรื่องราวที่เด่นชัด ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คล้ายๆ ชีวิตของเราทุกคนนั่นแหละ (คงยากหน่อย หากจะต้องแบ่งหนังออกเป็น 3 องก์ตามโครงสร้างการเขียนบทแบบคลาสสิกของ ซิด ฟิลด์)

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางลักษณะ “เล่าไปเรื่อย” และชุดเหตุการณ์ที่เหมือนจะไร้ความสัมพันธ์กัน คนดูกลับมีโอกาสได้รู้จักตัวละครอย่างรอบด้าน นั่นถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เมื่อคุณต้องการนำเสนอตัวละครอย่างป๊อปปี้ ซึ่งมีบุคลิกคล้ายเด็กๆ ดังจะเห็นได้จากการยืนกรานให้ทุกคนเรียกชื่อเล่นแทนชื่อจริง (พอลีน) หรือวิธีที่เธอสวมถุงกระดาษคลุมหัว แล้วกระพือแขนร่วมกับเด็กอนุบาลในชั้นเรียนอย่างสนุกสนาน หรือการเลือกเล่นแทรมโพลีนเป็นงานอดิเรก หรือกระทั่งเสื้อผ้าที่เธอสวมใส่ นอกจากนี้ ขณะเรียนเต้นฟลามิงโก้ ป๊อปปี้ยังขยับแข้งขาอย่างประดักประเดิด ราวกับเธอไม่อาจควบคุมมันให้เป็นระเบียบ หรือดูสง่างามได้เฉกเช่นวัยรุ่นที่กำลังรับมือกับพัฒนาการทางกาย

ที่สำคัญ ทัศนคติมองโลกแง่ดีของเธอ ตลอดจนความมุ่งมั่นที่จะไม่ยอมให้เมฆฝนใดๆ มาบดบังแสงแดดอันสดใส (เมื่อจักรยานของเธอถูกขโมยในตอนต้นเรื่อง แทนที่จะโกรธแค้นต่อชะตากรรม หรือความอยุติธรรม เธอกลับสรุปตบท้ายง่ายๆ แค่ “เรายังไม่มีโอกาสได้บอกลากันเลย” จากนั้นก็พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วยการเริ่มต้นเรียนขับรถ!?!) ได้สะท้อนให้เห็นมุมมองแบบผ้าขาว ซึ่งปราศจากท่าทีเย้ยหยัน หรือบาดแผลบอบช้ำจากการผ่านโลกมามากเฉกเช่นผู้ใหญ่ทั่วไป ความน่าอัศจรรย์ของตัวละครอย่างป๊อปปี้อยู่ตรงที่ ไมค์ ลีห์ หาได้ประคบประหงมเธอเหมือนไข่ในหิน ปกป้องเธอจากโลกแห่งความจริงอันโหดร้าย ตรงกันข้าม ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน (หรือไม่กี่นาทีบนจอหนัง) ความเฮงซวยนานัปการถูกโยนเข้าใส่เธอจนรับแทบไม่ทัน ตั้งแต่ถูกขโมยรถจักรยาน ถูกบิดกระดูกสันหลัง ไปจนถึงถูกครูสอนขับรถโรคจิตดุด่า ก่อนต่อมาจะแอบสะกดรอยตาม ทั้งหมดนี้ยิ่งส่งผลให้ความเด็ดเดี่ยวของเธอที่จะยิ้มรับทุกปัญหาช่างดูน่าทึ่งมากขึ้นไปอีก

ป๊อปปี้คงกลายเป็นตัวละครที่ไร้เดียงสา น่ารำคาญ เป็นเด็กไม่รู้จักโต หรือกระทั่งพวกหลอกตัวเอง หากลีห์และฮอว์กินส์ไม่เผยให้เห็นอีกแง่มุมของหญิงสาวว่าเธอ “ตระหนัก” ถึงความโหดร้ายของโลกแห่งความจริงเป็นอย่างดีจากแววตาที่เธอเฝ้ามอง นิค (แจ๊ค แม็คเกรียชิน) รังแกเพื่อนร่วมชั้นเพื่อระบายความโกรธขึ้งภายใน ตลอดจนวิธีที่เธอรับมือกับปัญหาอย่างอ่อนโยน นุ่มนวล จนกระทั่งค้นพบรากเหง้าในที่สุด

อีกฉากหนึ่งซึ่งถ่ายทอดข้อความเดียวกัน แต่ให้อารมณ์เชิงสัญลักษณ์มากกว่า เป็นตอนที่ป๊อปปี้เดินดุ่มเข้าไปในย่านเสื่อมโทรมตามลำพัง หลังจากได้ยินเสียงพร่ำบ่นของใครบางคนดังแว่วมา มันเป็นสถานที่ซึ่งผู้หญิงสติดีๆ คงไม่กล้าย่างกรายเข้าไป ข้อเท็จจริงดังกล่าวดังก้องในหัวป๊อปปี้ แต่หาได้หยุดยั้งเธอไม่ ปรากฏว่าเสียงพร่ำบ่นนั้นเป็นของชายจรจัด (สแตนลีย์ ทาวน์เซนด์) ร่างใหญ่ ท่าทางน่าเกรงขาม แววตาของป๊อปปี้ส่ออาการหวาดกลัว ไม่แน่ใจ และสับสน (เธอถึงขนาดพูดกับตัวเองว่าเธอมาทำบ้าอะไรที่นี่) แต่ในเวลาเดียวกันเธอก็ไม่อาจละสายตาจากเขาได้ ชายจรจัดพร่ำพูดไม่ได้สรรพ เธอพยายามโต้ตอบเท่าที่ทำได้ และทุกครั้งที่เขาพูดว่า “รู้ใช่ไหม” เธอจะตอบกลับว่า “ค่ะ ฉันรู้” ด้วยน้ำเสียงจริงจังและจริงใจ

ฉากชวนพิศวงดังกล่าวทำให้คนดูตระหนักว่า ป๊อปปี้เข้าใจ รวมทั้งรับรู้ถึงความเลวร้ายอย่างที่สุดบนโลกใบนี้ (เราคงทึกทักได้ว่าชายจรจัดน่าจะผ่านเคราะห์กรรมแห่งชีวิตมามากมายกว่าจะมายืนอยู่ตรงนี้ ในสภาพกึ่งเสียสติ ไร้บ้าน ไร้คนห่วงใย) ฉะนั้น ความสุขและความร่าเริงของเธอจึงหาใช่เกราะป้องกันตัวเองจาก “ความเป็นจริง” หากแต่เป็นธรรมชาติในเบื้องลึกต่างหาก นอกจากนี้ เธอเองก็เด็ดเดี่ยวพอจะไม่ยอมปล่อยให้ความหมองหม่นรอบตัวมาบ่อนทำลายสปิริตนั้น พร้อมทั้งยังใส่ใจเฝ้าสังเกตและรับฟังความเจ็บปวดจากทุกคนรอบข้าง แล้วพยายามแบ่งปันแสงสว่างบางส่วนให้พวกเขาด้วย

นักมองโลกด้วยแววตาเยาะหยันแสดงท่าทีชิงชิงตัวละครอย่างป๊อปปี้ พร้อมทั้งกล่าวหาว่าเธอเป็น “เผด็จการทางอารมณ์” ซึ่งในความเห็นของผมคิดว่าไม่ค่อยยุติธรรมต่อป๊อปปี้นัก เนื่องจากหนัง Happy-Go-Lucky ได้แสดงให้เห็นเด่นชัดว่าเราทุกคนล้วนพยายามยัดเยียด “มุมมอง” ของตนกับคนรอบข้างทั้งนั้น หากป๊อปปี้มีความผิดที่พยายามจะทำให้คนอื่นร่าเริงเหมือนตัวเอง เฮเลน (คาโรไลน์ มาร์ติน) ก็ควรโดนตัดสินโทษในลักษณะเดียวกัน เมื่อเธอพยายามสั่งสอนน้องสาวให้รู้จักโต หาซื้อบ้านเป็นหลักแหล่ง (แทนที่จะเช่าเขาอยู่) แล้วลงหลักปักฐานกับผู้ชายสักคนเพื่อสร้างครอบครัว (เหมือนเธอ)

เฮเลน: ฉันแค่อยากให้เธอมีความสุข
ป๊อปปี้: แต่ฉันก็มีความสุขอยู่แล้ว!
เฮเลน: ไม่ต้องมาเกทับกันได้ไหม!

อารมณ์ขันร้ายๆ ของลีห์ในฉากดังกล่าวอยู่ตรง เฮเลนต่างหากที่พยายาม “เกทับ” ทุกคนด้วยการพาเดินชมบ้านหลังใหม่ สวนดอกไม้ รวมไปถึงลูกในท้อง และสามี ซึ่งเธอพยายามควบคุมให้อยู่ในโอวาท ทั้งหมดเหล่านี้น่าจะช่วยให้เธอค้นพบความสุขที่ค้นหา แต่ก็ไม่เสมอไป ความหงุดหงิดใจของเธอ คือ ป๊อปปี้ผู้เหมือนจะไม่มีอะไร (ที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าจะนำมาซึ่งความสุข) เลย วันๆ เอาแต่เที่ยวสนุกตามผับ ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีบ้าน ไม่มีแฟนเป็นตัวเป็นตน กลับค้นพบความสุขของชีวิต

การปะทะกันของสองขั้วตรงข้าม โดยต่างฝ่ายก็พยายามโน้มน้าวอีกฝ่ายให้หันมาอยู่ฝ่ายเดียวกับตนปรากฏชัดในทุกฉากที่ป๊อปปี้ต้องเรียนขับรถกับ สก๊อตต์ (เอ็ดดี้ มาร์แซน) ชายหนุ่มที่ถูกชีวิตโบยตีจนไม่เหลือที่ว่างสำหรับรอยยิ้ม หรือการมองโลกแง่ดี บทเรียนแรกของเขาในการขับรถ คือ จงคาดหวังความเลวร้ายอย่างที่สุดเสมอ เพราะมีความเป็นไปได้ว่าคุณอาจถูกบดขยี้โดยรถบรรทุก 18 ล้อในทุกขณะจิต! อันที่จริง การเตือนผู้ขับไม่ให้ประมาทและระแวดระวังตลอดเวลาถือเป็นบทเรียนที่เหมาะสม แต่ขณะเดียวกัน (ด้วยน้ำเสียง การเลือกใช้คำและตัวอย่าง) มันก็สะท้อนให้เห็นทัศนคติต่อโลกของสก็อตต์จนหมดเปลือก หากเป็นมนุษย์ปกติ เขาหรือเธอคงเผ่นหนีตั้งแต่วันแรกที่ได้นั่งร่วมรถคันเดียวกับสก็อตต์ แล้วเฝ้าฟังเขาก่นด่าระบบการศึกษา ดูถูกคนดำ สบถคำหยาบใส่ทุกอย่างรอบข้าง และสาธยายทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ นานา ทว่าสำหรับป๊อปปี้ สก็อตต์เปรียบเสมือนความท้าทายขั้นสูงสุด เป็นบททดสอบความมุ่งมั่นของเธอ ด้วยเหตุนี้ เธอจึงตอบโต้เสียงตะคอกของเขาด้วยเสียงหัวเราะ คำหยอกล้อ และการดื้อดึงไม่ยอมหลวมตัวเข้าสู่โลกมืด

ความแตกต่างระหว่างทั้งสอง คือ ฝ่ายหนึ่งเลือกจะจมจ่อมอยู่ในโลกส่วนตัว ส่วนอีกฝ่ายกลับใส่ใจคนอื่นๆ รอบข้าง รวมทั้งพยายามเข้าใจพวกเขา โดยหลังจากค้นพบว่านิคระบายความโกรธแค้นที่โรงเรียน เพราะเขาถูกกระทำรุนแรงที่บ้าน ป๊อปปี้จึงเอ่ยปากถามสก็อตต์ในฉากหนึ่งว่าเขาเคยถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียนหรือเปล่า ท่าทีนิ่งเงียบของฝ่ายชายเหมือนจะเป็นคำตอบอยู่กรายๆ อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า ไมค์ ลีห์ จะโทษสภาพแวดล้อมเพียงอย่างเดียว เนื่องจากธรรมชาติของเราเองย่อมมีส่วนในการ “ปลุกปั้น” ตัวตนเช่นกัน มิเช่นนั้นแล้ว ป๊อปปี้จะต่างจากพี่สาวและน้องสาวของเธอถึงเพียงนี้ได้อย่างไร

นั่นเองนำไปสู่ประเด็นเกี่ยวกับความสำคัญของมุมมอง ซึ่งลีห์เคยนำเสนอมาแล้วใน All or Nothing (แต่ภาพรวมทางอารมณ์ของหนังทั้งสองถือว่าสวนทางกันอย่างยิ่ง) โดยหากป๊อปปี้เป็นตัวแทนของ “น้ำเหลืออยู่อีกครึ่งแก้ว” สก็อตต์ก็คงเป็นตัวแทนของ “น้ำหมดไปแล้วครึ่งแก้ว” พวกเขาล้วนแสดงปฏิกิริยาไปตาม “โลกแห่งความจริง” หรือธรรมชาติของตนเอง เธอหยอกล้อเขาเพื่อหวังให้เขาลดทอนความเครียดลงบ้าง เขา (ซึ่งคงไม่คุ้นเคยกับความเป็นมิตร) มองว่าเธอกำลังให้ท่า เมื่อจับได้ว่าเขาอาจจะเหยียดรักร่วมเพศมากพอๆ กับคนผิวสี เธอจึงแกล้งพูดเล่นราวกับว่าเธอเป็นคู่รักของเพื่อนหญิงร่วมห้อง เขา (ซึ่งคงไม่คุ้นเคยกับอารมณ์ขัน) ตีความว่าเธอเป็นเลสเบี้ยน จึงรู้สึกโกรธแค้น เสียใจ เมื่อเธอปรากฏตัวในวันหนึ่งพร้อมแฟนหนุ่ม จนนำไปสู่การระเบิดอารมณ์และจุดแตกหัก

ป๊อปปี้: ฉันแค่อยากทำให้คุณมีความสุข
สก็อตต์: ก่อนหน้านี้ผมก็มีความสุขอยู่แล้ว!

จากประสบการณ์เกี่ยวกับสก็อตต์ ป๊อปปี้พลันตระหนักว่า แม้จะพยายามสักเพียงใด เธอก็ไม่สามารถทำให้ทุกคนมีความสุขได้ พร้อมกันนั้น มันยังทำให้คนดูเริ่มตั้งคำถามต่อคำว่า “ความสุข” ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของสก็อตต์ ซึ่งคุ้นเคยกับความเลวร้าย ด้านมืด และความโดดเดี่ยว จนเขาตีความเจตนารมณ์ของป๊อปปี้ มนุษย์ที่อยู่คนละโลกแห่งความจริง ผิดไปหลายร้อยโยชน์ บางทีสำหรับสก็อตต์ ความสุขคือการเวียนว่ายอยู่ในโลกอันหยาบกระด้าง เต็มไปด้วยความหมองหม่นแบบที่เขาคุ้นเคย เพราะอย่างน้อยเขาก็ไม่ต้องรับมือกับความเปราะบางทางอารมณ์จากการตกหลุมรัก หรือความเจ็บปวดจากความผิดหวัง ช้ำใจ

ในฉากสุดท้ายของหนัง โซอี้ (อเล็กซิส เซเกอร์แมน) ได้แนะนำให้เพื่อนของเธอเลิกทำตัว “ดีเกินไป” เสียทีเพราะเธอไม่สามารถจะทำให้ทุกคนมีความสุขได้ “แต่มันไม่ได้ทำอันตรายใครไม่ใช่เหรอ ถ้าเราจะลองพยายามดู” คือ คำตอบของป๊อปปี้ สำหรับผ้าที่ยังค่อนข้างขาวอย่างนิค การยื่นมือเข้าไปช่วยของเธออาจเป็นประโยชน์อย่างเห็นได้ชัด แต่สำหรับดวงวิญญาณที่ดำมืดเกินเยียวยาอย่างสก็อตต์ บางทีมันอาจให้โทษมากกว่าคุณ เพราะคนบางคนก็มีความสุขอยู่กับด้านมืด การเยาะหยัน และไม่ชอบให้ใคร “เกทับ” ด้วยใบหน้าระรื่น

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

วิจาร์ณได้ สุดยอดมากค่ะ


คำว่าเพี้ยน เกิดจากเราเอาไม้บรรทัดตัวเอง ไปวัดเปลือกของคนอื่นหรือเปล่านะ

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆค่ะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ตอนดูเราค่อนข้างรำคาญป๊อปปี้มากๆเลย
เข้าใจว่าเป็นคนดี แต่ฉากที่ล้อเล่นตอนขับรถ แกล้งหักพวงมาลัย นี่รับไม่ได้จริงๆ รู้สึกว่ามันไม่ถูกกาลเทศะ
พลอยทำเอามีอคติกับเธอไปทั้งเรื่อง

แต่อ่านบทวิจารณ์นี้แล้วทำให้มองเห็นอะไรๆชัดขึ้นมากจากตอนดูหนังที่ความรำคาญเข้าครอบงำจิตใจมากเลยค่ะ เขียนดีมากๆ