วันจันทร์, มิถุนายน 22, 2552

ทำความเข้าใจ The Reader (2)


ถ้า The Reader ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสังหารหมู่ชาวยิว งั้นเนื้อหาจริงๆ ของมันต้องการพูดถึงอะไร

สิ่งที่เหมือนจะปรากฏเพียงนัยยะจางๆ ในหนังสือของ เบิร์นฮาร์ด ชลิงค์ ถูกแสดงออกเป็นรูปธรรมชัดเจนในเวอร์ชั่นหนังของ สตีเฟน ดัลดรี้ นั่นคือ ความพยายามจะเล่าเรื่องราวของคนสองคน ต่างยุคต่างสมัย ต่างเพศต่างวัย ต่างระดับการศึกษา การเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อม แต่สุดท้ายต้องมาลงเอยด้วยชะตากรรมสุดแสนระทมทุกข์แบบเดียวกัน (ในฉากหนึ่งหนังได้ตัดสลับภาพของสองตัวละครเอกขณะกำลังแต่งตัวเพื่อเตรียมไปรับฟังคำพิพากษาที่ศาล) ชะตากรรมซึ่งถูกกำหนดโดยความอ่อนแอ ขลาดเขลา และเย่อหยิ่งแห่งมนุษย์

ฉากสำคัญฉากหนึ่งในหนังสือเป็นบทสนทนาระหว่างไมเคิลกับพ่อ หลังจากคนแรกล่วงรู้ความลับของฮันนาและไม่แน่ใจว่าเขาควรจะทำเช่นไร คนหลัง (เช่นเดียวกับศาสตราจารย์ในเวอร์ชั่นหนัง) แนะนำให้ไมเคิลไปพูดคุยกับ “เพื่อนคนนั้น” โดยตรง แทนที่จะนำข้อมูลไปบอกผู้พิพากษาลับหลัง เมื่อเห็นได้ชัดว่าคนๆ นั้นต้องการปกปิดข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับสุดยอด ทั้งนี้เนื่องจากเขา (พ่อของไมเคิล) เชื่อในเรื่องเสรีภาพและศักดิ์ศรีของมนุษย์ ผู้มีอำนาจตัดสินใจในฐานะปัจเจกชน เขาไม่เห็นด้วยที่ใครจะไปเจ้ากี้เจ้าการบอกว่าอะไรดีสำหรับคนๆ หนึ่ง โดยไม่ปล่อยให้คนๆ นั้นเลือกเองว่าอะไรเป็นสิ่งดีสำหรับตัวเขา

ในเมื่อมนุษย์มีสิทธิ์เสรีภาพที่จะตัดสินใจ เขาก็จำเป็นต้องทนรับผลลัพธ์ที่ตามมา และบ่อยครั้งเราจะพบว่ามนุษย์ไม่ได้ตัดสินใจถูกเสมอไป

ความไม่รู้หนังสือของฮันนาทำให้เธอถลำลึกสู่ความผิดพลาดมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากสลัดทิ้งโอกาสก้าวหน้าในอาชีพการงาน ตามมาด้วยการเข้าร่วมกับกองทัพนาซี จนต่อมาต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่สามารถสร้างสัมพันธ์ลึกซึ้งกับใครได้ เพราะทั้งอับอายเรื่องที่ตัวเองไม่รู้หนังสือและเป็นอดีตนาซี ก่อนสุดท้ายจะลงเอยด้วยการ “จำยอม” ติดคุกไปตลอดชีวิต โดยบางทีชะตากรรมหลังสุดอาจเป็นความจงใจของเธอที่จะลงโทษตัวเอง ดังจะเห็นได้ว่าฮันนานั้นยังจำปม “ไฟไหม้โบสถ์” ได้ไม่ลืม ผ่านนัยยะของฉากหนึ่งที่ปรากฏในหนัง แต่ไม่ใช่ในหนังสือ ขณะเธอถีบจักรยานไปเที่ยวชนบทกับไมเคิล

กระนั้นก็ตามหนัง (และหนังสือ) ไม่ได้วาดภาพให้เธอ “สำนึกบาป” หรือพยายามจะหาทางไถ่โทษให้เธออย่างชัดเจนนัก ซึ่งนั่นถือเป็นความกล้าหาญอย่างหนึ่งของ The Reader คนดูอาจนึกสงสารเธอ (ซึ่งจุดนี้เองนำไปสู่เสียงก่นด่าจากทั่วสารทิศ ส่วนใหญ่คงเนื่องมาจากคนเหล่านั้นไม่ต้องการให้นาซีได้รับความเห็นอกเห็นใจใดๆ) แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อาจลืมได้เช่นกันว่าเธอก่ออาชญากรรมอันเลวร้ายไว้ ฮันนาในช่วงท้ายเรื่องไม่ได้กลายสภาพเป็นแม่พระ หรือถ้าจะให้ใกล้เคียงก็องคุลิมาน เมื่อไมเคิลถามเธอว่าคิดถึงอดีต (ที่ก่อกรรมไว้กับชาวยิว) บ้างไหม คำตอบของฮันนา คือ “คนตายก็ยังคงตายอยู่” ซึ่งนั่นเป็นสัจธรรม แต่แน่นอนว่ามันไม่ได้ช่วยให้คนดูรัก หรือเห็นใจเธอมากขึ้น เช่นเดียวกับปฏิกิริยาอันเย็นชาของเหยื่อที่รอดชีวิตอย่าง ลานา มาเธอร์ (รับบทโดย ลีน่า โอลิน) ในช่วงท้ายเรื่อง ซึ่งเหมือนจะเป็นการตอกย้ำคนดูไม่ให้ลืมว่าฮันนาเคยกระทำอะไรไว้ และลำพังแค่ความตายของเธอ หรือเงินสะสมในกระป๋องชาย่อมไม่อาจลบล้างทุกสิ่งได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะพยายามหาคนผิดมาลงโทษมากแค่ไหน คนตายก็ยังคงตายอยู่... หรือมิใช่

วิกฤติของไมเคิลเริ่มต้นเมื่อเขาทราบว่าฮันนาก่ออาชญากรรมร้ายแรงเอาไว้ ความอับอายทำให้เขาไม่กล้าเผชิญหน้าเธอ (ปมดังกล่าวสร้างอารมณ์ร่วมให้ชาวเยอรมันรุ่นหลังจำนวนไม่น้อย เมื่อพวกเขาต้องรับมือกับข้อเท็จจริงว่าพ่อแม่ของตนมีส่วนร่วมในการสังหารหมู่ชาวยิว) แล้วช่วยเหลือเธอจาก “ความมืดบอด” การตัดสินใจไม่กระทำใดๆ ของไมเคิลส่งผลให้ฮันนาต้องจำคุกตลอดชีวิต และความรู้สึกผิดบาปดังกล่าวก็กัดกร่อนเขามาตลอด ทำลายความสัมพันธ์ของเขากับทุกคนรอบข้าง

เธอทำร้ายเขาด้วยการปิดกั้น เขาทำร้ายเธอด้วยการนิ่งเงียบ เธอเข้าร่วมพรรคนาซีเพราะตอนนั้นมันเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ เขาไม่กล้าแสดงความเห็นใจต่อนาซีเพราะตอนนั้นนาซีเปรียบเหมือนปีศาจร้าย หรือกลุ่มแม่มดที่ถูกตามล่าเพื่อนำมาเผาประจานทั้งเป็น พวกเขาเสียสละความเป็นปัจเจก (ความรักระหว่างคนสองคน) เพียงเพื่อจะสามารถลื่นไหลไปตามสังคมโดยไม่ขัดแย้ง มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่อ่อนแอ เพราะแม้จะตระหนักว่าอะไรเป็นความถูกต้อง บางครั้งพวกเขาก็ไม่หาญกล้าพอจะลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้ หรือเปลี่ยนแปลง

กระนั้นคนเขียนบท เดวิด แฮร์ ก็ยังหลงเหลือความหวังต่อมนุษย์อยู่ ด้วยเหตุนี้ในฉากจบที่เขียนขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ คนดูจึงได้เห็นไมเคิลเรียนรู้จากฮันนา ผู้ลุกขึ้นมาเอาชนะความไม่รู้หนังสือของตน แล้วเปิดเผยความลับบางอย่างที่เขาปกปิดไว้ตลอดเวลาหลายปีให้ลูกสาวฟัง สำหรับฮันนา การเรียนรู้อาจมาถึงช้าเกินไป (เมื่อเธอตระหนักว่าไมเคิลไม่สามารถให้อภัยเธอ แล้วมองเห็นเธอเป็นแค่ ฮันนา ชมิดท์ เหมือนในอดีตได้ ความตายจึงกลายเป็นทางเลือกเดียว) แต่สำหรับไมเคิล บางทีการเรียนรู้อาจทำให้เขาค้นพบความสงบสุขในช่วงบั้นปลายชีวิต

1 ความคิดเห็น:

ehling กล่าวว่า...

เพิ่งแวะเข้ามาอ่านค่ะ ชอบมากมาย จะตามอ่านไปเรื่อยๆชอบมากค่ะ นานๆจะได้อ่านคนเขียนแนวนี้~ ขอบคุณค่ะ