วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 12, 2553

Oscar 2010: Nine out of 10


การประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงออสการ์ในปีนี้ดูเหมือนจะขาดเซอร์ไพรซ์แบบเดียวกับปีก่อน เมื่อ The Reader ช็อกนักข่าวและหักปากกาเซียนด้วยการหลุดเข้าชิงสาขาสำคัญอย่างครบถ้วน (หนัง-ผู้กำกับ) แถม เคท วินสเล็ท ยังถูกอัพเกรดเป็นนักแสดงนำหญิงอีกต่างหาก หลังจากเดินสายเข้าชิงสาขานักแสดงสมทบมาตลอด โดย 90% ของผู้เข้าชิงล้วนเป็นตัวเก็ง ที่เดินหน้ากวาดรางวัล หรือถูกเสนอชื่อเข้าชิงตามเวทีต่างๆ มานับไม่ถ้วน ส่วนอีก 10% ก็ถือเป็นเซอร์ไพรซ์ที่ไม่ได้ชวนเหวอสักเท่าไหร่ หากแต่อยู่ในกลุ่ม “พอมีหวัง” เพื่อรอทีเผลอของกลุ่มผู้นำ

คงไม่ผิดนักถ้าจะพูดว่า 2010 เป็นปีหายนะของ “หนังเต็งออสการ์” หลังจาก Invictus, Nine และ The Lovely Bones พลาดท่าตกรถด่วนขบวนสุดท้ายกันถ้วนหน้า แม้สาขาหนังยอดเยี่ยมจะถูกเพิ่มจาก 5 เป็น 10 เรื่องแล้วก็ตาม อันที่จริง เราอาจแบ่งภาวะฝันสลายของหนังทั้งสามเรื่องเป็นสามช่วงเวลาได้พอดิบพอดี เริ่มจาก The Lovely Bones ซึ่งถูกสอยร่วงเป็นรายแรกโดยเหล่านักวิจารณ์ทั้งหลาย ตามมาด้วย Nine ซึ่งแม้จะไม่โดนสับเละเท่า แต่ก็ดับสนิทบนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ เสียชื่อบรรดาซูเปอร์สตาร์น้อยใหญ่ที่ขนกันมาคับจอ จริงอยู่ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตล์ กับพลังดาราระดับหมื่นโวลท์อาจช่วยหล่อเลี้ยงความหวังของ Nine บนเวทีลูกโลกทองคำและ SAG ได้บ้าง แต่เมื่อปรากฏว่ามันถูก The Hangover ขโมยซีน ส่วน PGA (ซึ่งเปลี่ยนมาเสนอชื่อผู้เข้าชิงเป็น 10 เรื่องตามออสการ์) และ DGA ก็พากันเหยียบย่ำซ้ำเติม เหล่าเซียนออสการ์จึงพร้อมใจกันเขียนป้ายหลุมฝังศพให้ Nine ในทันที ตรงกันข้าม ณ เช้าวันประกาศรายชื่อ หลายคนยังคาดหมายว่า Invictus น่าจะหลุดเข้าชิงสาขาใหญ่ได้สำเร็จเพราะออสการ์ชื่นชอบ คลินท์ อีสต์วู้ด และตัวหนังเองก็กวาดคำชมมาไม่น้อย การหลุดโผ SAG, DGA และ PGA แบบครบถ้วนไม่ใช่ปัญหา เพราะ Letters From Iwo Jima เคยทำสำเร็จมาแล้ว ทว่า 2010 (เช่นเดียวกับ 2009 จากกรณี Gran Torino และ Changeling) คงไม่ใช่ปีของ คลินท์ อีสต์วู้ด

หนังที่พุ่งเข้ามาเสียบแทนที่ Invictus ถือว่าอยู่ในความคาดหมาย แม้หลายคนจะแปลกใจ (และคงถูกอกถูกใจไม่น้อย สังเกตจากเสียงเชียร์ดังสนั่นในห้องส่งระหว่างการประกาศผล) แต่อีกหลายคนกลับเห็น “แวว” มาแต่ไกล เนื่องจาก The Blind Side เป็นหนังสุดฮิตที่มหาชนชื่นชอบ แม้เสียงตอบรับจากนักวิจารณ์จะไม่ค่อยสู้ดี (น่าจะอยู่ระดับใกล้เคียงกับ Nine) แต่อย่างที่บอกไว้หลายๆ ครั้ง “กรรมการออสการ์ไม่ใช่นักวิจารณ์” พวกเขา เช่นเดียวกับนักดูหนังทั่วๆ ไป ชื่นชอบเรื่องราวที่สร้างกำลังใจ ความหวัง และอารมณ์ซาบซึ้งประทับใจ (ยิ่งถ้าเรียกน้ำตาได้ยิ่งดี)

ภาพรวมของการดับเบิลผู้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก 5 เป็น 10 ถือว่าค่อนข้างน่าพอใจ เนื่องจากความหลากทางสไตล์ของเหล่า “ตัวแถม” ไม่ว่าจะเป็นหนังตลกร้ายขวัญใจนักวิจารณ์อย่าง A Serious Man หนังขวัญใจมหาชนอย่าง Up (กลายเป็นการ์ตูนเรื่องแรกที่ได้เข้าชิงสาขานี้นับแต่มีการแยกสาขาเฉพาะให้หนังการ์ตูน และเรื่องที่สอง นับแต่ Beauty and the Beast ติด 1 ใน 5 หนังยอดเยี่ยมประจำปี 1991) กับ The Blind Side หนังไซไฟซึ่งทำเงินน่าพอใจ แต่ซ่อนความเข้มข้นทางด้านเนื้อหาเอาไว้อย่าง District 9 (การที่คณะกรรมการเลือกหนังเรื่องนี้แทนผลงานเอาใจตลาดอย่าง Star Trek หรือ The Hangover เผยให้เห็นว่าพวกเขายังไม่พร้อมจะแปลงโฉมออสการ์เป็น People’s Choice Award) หรือหนังดรามาจากเกาะอังกฤษอย่าง An Education

ความสำเร็จของ The Hurt Locker บนเวที PGA และ แคธรีน บิเกโลว บนเวที DGA ผลักดันให้ทั้งสองกลายเป็นตัวเก็งอันดับหนึ่งบนเวทีออสการ์ แต่ขณะเดียวกัน Avatar ของ เจมส์ คาเมรอน ก็เพิ่งทำลายสถิติ บ็อกซ์ ออฟฟิศ ของ Titanic ลงอย่างราบคาบ สำหรับภาพยนตร์ในแง่อุตสาหกรรม ความสำเร็จดังกล่าวอาจ “ยิ่งใหญ่” เกินกว่าจะมองข้ามและส่งอิทธิพลโดยตรงต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการ เรื่องน่าประหลาดอย่างหนึ่ง ก็คือ The Hurt Locker ทำสถิติเข้าชิงสูงสุด 9 สาขาเท่ากับ Avatar เป๊ะ ซึ่งสำหรับเรื่องแรกถือว่ามากเกินคาด แต่น้อยเกินคาดสำหรับเรื่องหลัง มันช่วยตอกย้ำการขับเคี่ยวอันเข้มข้นของหนังทั้งสองเรื่อง (โดยมากแล้วหนังที่เข้าชิงเยอะสุดมักจะคว้ารางวัลสูงสุดไปครอง) และเมื่อกวาดสายตาไปยังแต่ละสาขา เราจะพบว่า The Hurt Locker ได้เปรียบตรงเสียงสนับสนุนจากกลุ่มนักเขียนและนักแสดง (ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่สุด) ส่วน Avatar ได้เปรียบตรงเสียงสนับสนุนจากกลุ่มช่างเทคนิคทั้งหลาย

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ Avatar พลาดการเข้าชิงสาขาบทภาพยนตร์ (สิ่งหนึ่งที่ทุกคนยอมรับคือบทไม่ใช่จุดแข็งของหนัง) เพราะ Titanic ก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน ความแตกต่างสำคัญอยู่ตรงที่ Titanic ได้เสียงสนับสนุนจากกลุ่มนักแสดง สังเกตจากการเข้าชิงของ เคท วินสเล็ท (นำหญิง) และ กลอเรีย สจ๊วต (สมทบหญิง) ส่วน Avatar กลับต้องมานั่งทำความเข้าใจกับทุกคนรอบข้างเกี่ยวกับเทคนิค motion capture รวมถึงระดับทักษะทางการแสดงที่จำเป็นต้องใช้ระหว่างการถ่ายทำ เช่น เมื่อ เมอรีล สตรีพ บอกว่างานของนักแสดงใน Avatar ก็ไม่ต่างจากการพากย์เสียงการ์ตูนแบบที่เธอทำใน Fantastic Mr. Fox หรือ เมื่อ มอร์แกน ฟรีแมน บอกว่า Avatar ก็ไม่ต่างจากหนังการ์ตูน

บางคนตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุหนึ่งที่ Avatar ได้เสียงตอบรับค่อนข้างเย็นชาจากกลุ่มนักแสดงอาจเป็นเพราะพวกเขากำลังเป็นห่วงอนาคตทางด้านอาชีพการงานของตน!

ถึงแม้ แคธรีน บิเกโลว จะวิ่งนำในสาขาผู้กำกับอยู่หลายช่วงตัว แต่หนังของเธอ (ซึ่งหากได้รางวัลจะกลายเป็นหนึ่งในหนังออสการ์ที่ทำเงินต่ำสุดในประวัติศาสตร์) กลับทิ้งระยะห่างจากกลุ่มผู้ตามไม่มากนัก ที่สำคัญ นอกเหนือจาก Avatar แล้ว เรายังไม่อาจมองข้าม Inglourious Basterds และ Precious: Based on the Novel ‘Push’ by Sapphire อีกด้วย หรือกระทั่ง Up in the Air (ราศีของหนังพลันมืดหม่นไปไม่น้อยเมื่อหนังชวดการเข้าชิงในสาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าหนังชนะรางวัลออสการ์เรื่องสุดท้ายที่ไม่ได้เข้าชิงสาขานี้ คือ Ordinary People เมื่อ 30 ปีก่อน) เนื่องจากระบบการโหวตผู้ชนะถูกปรับเปลี่ยนเป็นแบบเรียงลำดับความชอบ

ไม่เพียง 90% ของผู้เข้าชิงจะเป็นไปตามคาดเท่านั้น ณ เวลานี้โอกาสที่วันประกาศผลจะแร้นแค้นเซอร์ไพรซ์ก็ค่อนข้างสูงพอๆ กันอีกด้วย โดยหลายสาขาแทบจะเรียกได้ว่าหมดสิทธิ์พลิกล็อกกันเลยทีเดียว เช่น ผู้กำกับ สมทบชาย (คริสตอฟ วอลซ์) สมทบหญิง (โมนีก) นำชาย (เจฟฟ์ บริดเจส) และบางทีอาจนับรวมนำหญิงไปด้วยก็ได้ เพราะการแทรกตัวมาเป็น 1 ใน 10 ของ The Blind Side ยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสให้ แซนดร้า บูลล็อค มากขึ้น ขณะที่ Julie & Julia ของ เมอรีล สตรีพ คู่แข่งสำคัญ พลาดการเข้าชิงในทุกสาขา และตามสถิติแล้ว การคว้ารางวัลนี้มาครองโดยที่ตัวหนังไม่ได้เข้าชิงสาขาอื่นๆ เลยนั้นถือเป็นเรื่องยาก... แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ชาร์ลีซ เธรอน (Monster) และ เจสซิก้า แลงจ์ (Blue Sky) เคยทำสำเร็จมาแล้ว ปัญหาสำคัญน่าจะอยู่ตรงการที่สตรีพเคยได้ออสการ์มาแล้วสองตัว ส่วนบูลล็อคยังไม่เคยได้ นอกจากนี้ คนหลังยังเป็นที่ชื่นชอบของคนส่วนใหญ่ในวงการอีกด้วย

ในกลุ่มสาขาการแสดง แม็กกี้ จิลเลนฮาล (Crazy Heart) ถือเป็นคนเดียวที่พอจะเรียกได้ว่า “เซอร์ไพรซ์” หลังจากเธอหลุดโผมาตลอดทั้งลูกโลกและ SAG แต่ความจริงมันไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจมากนัก เพราะหนังเรื่องนี้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ The Wrestler อยู่หลายครั้ง (หัวใจหลักของหนังอยู่ตรงตัวละครชายที่กำลังด่ำดิ่งลงสู่หุบเหว) และสุดท้าย มิคกี้ รู้ค ก็จับมือกับ มาริสา โทเม เข้าชิงออสการ์พร้อมกันได้สำเร็จ (โทเมได้เปรียบอยู่หน่อยตรงที่ปีก่อนเธอติดโผลูกโลกทองคำ แต่ถูกแทนที่โดย เคท วินสเล็ท จาก The Reader บนเวที SAG) แต่ดูจะสถานการณ์แล้ว เจฟฟ์ บริดเจส น่าจะลงเอยในรูปแบบที่แตกต่างจาก มิคกี้ รู้ค บนเวทีออสการ์

หลักการนับคะแนน

ดังที่เคยกล่าวไปแล้วว่าปีนี้หลักการลงคะแนนคัดเลือกผู้ชนะในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจะถูกเปลี่ยนแปลงไปตามจำนวนผู้เข้าชิงที่เพิ่มขึ้นมาเท่าตัว เมื่อก่อนคณะกรรมการก็แค่ติ๊กเลือกหนังเพียง 1 เรื่องเท่านั้น (จาก 5 เรื่อง) หนังเรื่องใดได้คะแนนสูงสุดก็คว้ารางวัลไปครอง แต่ปีนี้พวกเขาต้องเรียงลำดับหนังทั้ง 10 เรื่องตามความชื่นชอบ จากนั้นขั้นตอนการนับคะแนนเพื่อหาผู้ชนะคือ

1. เริ่มแรกใบลงคะแนนจะถูกแบ่งออกเป็น 10 กองตามจำนวนเสียงโหวต “อันดับ 1” ของหนังแต่ละเรื่อง แต่ถ้าหนังเรื่องใดได้เสียงโหวตเกิน 50% หรืออย่างน้อย 3001 ใบ หนังเรื่องนั้นก็จะคว้าชัยไปโดยอัตโนมัติ


2. กรณีที่ไม่มีหนังเรื่องใดได้รับเสียงโหวตเกินครึ่ง หนังที่ถูกเลือกเป็นอันดับ 1 น้อยสุดจะถูกคัดออกก่อน จากนั้นใบลงคะแนนทั้ง 125 ใบ (ตามตัวอย่าง) จะถูกนำมาจัดเรียงใหม่ตามตัวเลือกอันดับ 2


3. ถ้ายังไม่ปรากฏผู้ชนะ หนังที่ถูกเลือกเป็นอันดับ 1 น้อยสุดลำดับถัดมาจะถูกคัดออก จากนั้นใบลงคะแนนทั้ง 150 ใบ (ตามตัวอย่าง) จะถูกนำมาจัดเรียงใหม่ตามตัวเลือกอันดับ 2


4. ทำซ้ำขั้นตอนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีหนังที่ได้เสียงโหวตเกินครึ่ง จากตัวอย่างจะพบว่าหลังขั้นตอนผ่านไป 8 รอบ ผู้ชนะกลับเป็นหนังที่ในรอบแรกได้เสียงโหวตอันดับ 1 ในลำดับที่ 2 แต่ในรอบต่อๆ มาได้เสียงโหวตอันดับ 2 มากกว่า จึงทำคะแนนแซงหน้าหนังที่ได้เสียงโหวตอันดับ 1 สูงสุดในรอบแรกไป


เก็บตกสถิติ

เข้าชิงบ่อยสุด: เมอรีล สตรีพ (Julie & Julia) เข้าชิงเป็นครั้งที่ 16 (สูงสุดในประวัติศาสตร์) หากคำนวณตามจำนวนผลงานหนังทั้งหมด โอกาสเข้าชิงของเธอโดยเฉลี่ยประมาณ 37%

เข้าชิงน้อยสุด: คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ (The Last Station) เพิ่งได้เข้าชิงเป็นครั้งแรกหลังคร่ำหวอดอยู่ในวงการมานานกว่า 50 ปีหากคำนวณตามจำนวนผลงานหนังทั้งหมด โอกาสเข้าชิงของเขาโดยเฉลี่ยประมาณ 0.8%

ระยะการเข้าชิงกว้างสุด: เจฟฟ์ บริดเจส (Crazy Heart) เข้าชิงครั้งแรกเมื่อปี 1971 จาก The Last Picture Show ซึ่งถือว่านานกว่าอันดับสอง นั่นคือ เมอรีล สตรีพ ที่เข้าชิงครั้งแรกจาก The Deer Hunter (1978) มากถึง 7 ปี

อายุน้อยสุด: แอนนา เคนดริค (Up in the Air) อายุ 24 ปี อ่อนกว่า แครี มัลลิแกน (An Education) สองเดือนครึ่ง

อายุมากสุด: คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ เพิ่งอายุครบ 80 ปีเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

ปฏิกิริยาผู้เข้าชิง

“ฉันภูมิใจกับหนังเรื่องนี้มาก แต่เนื่องจากฉันไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลใดๆ มาก่อน ฉันเลยไม่คิดว่าตัวเองจะมีชื่อติดหนึ่งในห้า แต่พอได้ยินเสียงโทรศัพท์ตอนเช้ามืด ฉันจึงฉุกคิด ‘เอ๊ะ หรือบางที...!’ ฉันพักอยู่บ้านน้องชายในแอลเอ. เขาบอกว่า ‘เตรียมรับโทรศัพท์ทั้งวันได้เลย’ ก่อนจะเดินไปชงกาแฟ แล้วเราสองคนก็นั่งมองพระอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าด้วยกัน มันสวยงามมาก แต่ทั้งหมดนี้คงไม่มีทางเกิดขึ้นกับฉัน หรือ เจฟฟ์ บริดเจส หากปราศจาก สก็อตต์ คูเปอร์” แม็กกี้ จิลเลนฮาล – เข้าชิงสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก Crazy Heart

“พระเจ้า ผมรู้สึกเหมือนจะเป็นลม การต้องมาอยู่หน้ากล้องในรายการถ่ายทอดสดยิ่งทำให้ทุกอย่างลุ้นระทึกขึ้นไปอีกขั้น ผมไม่คิดว่าจะมีโอกาสสัมผัสความรู้สึกแบบนี้อีกนับแต่เช้าวันคริสต์มาสตอนผมอายุได้หกขวบ มันเป็นประสบการณ์ที่ผมจะไม่มีวันลืม การถูกเอ่ยชื่อเคียงข้างกลุ่มคนที่เป็นแรงบันดาลใจทางด้านการแสดงให้ผมตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาถือเป็นเกียรติขั้นสูงสุด พวกเขาทั้งสี่คือตัวแทนของความเป็นเลิศ” เจเรมี เรนเนอร์ – เข้าชิงสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก The Hurt Locker (เขามาร่วมรายการ The Today Show ระหว่างการประกาศรายชื่อผู้เข้าชิง)

“ฉันอยากขอบคุณคณะกรรมการสำหรับเกียรติอันยิ่งใหญ่ สำหรับดีไซเนอร์ การสร้างหนังเกี่ยวกับชาแนลก็เหมือนการสร้างหนังจากบทละครของเชคสเปียร์สำหรับนักแสดง ฉันขอแบ่งปันความสุขใจในครั้งนี้กับผู้กำกับ แอนน์ ฟอนเทน และโคโค่ของเรา ออเดรย์ ตาตู รวมไปถึงทีมงานชั้นยอดทุกคนในแผนกออกแบบเครื่องแต่งกาย” แคทเธอรีน เลอเทอร์เรียร์ – เข้าชิงสาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมจาก Coco before Chanel

“นักทำหนังทุกคนฝันอยากจะเข้าชิงรางวัลออสการ์ แต่ขณะถ่ายทำหนังเรื่อง District 9 เราทุกคนไม่กล้าแม้แต่จะคิดว่าผลงานเล็กๆ เรื่องนี้ ซึ่งถ่ายทำในแอฟริกาใต้และนำแสดงโดยดาราโนเนม จะถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ แต่พูดกันตามตรงเราคงไม่ได้มายืนอยู่ตรงนี้ ถ้าปราศจากความเชื่อมั่นของ ปีเตอร์ แจ๊คสัน ผมรู้สึกซาบซึ้ง ตื่นเต้น และนึกขอบคุณคณะกรรมการที่มองเห็นคุณค่าของทีมงานทุกคนที่ช่วยกันทำให้หนังเรื่องนี้เป็นรูปเป็นร่าง” นีล บลอมแคมป์ – เข้าชิงสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมจาก District 9

“ผมกำลังนอนอยู่บนเตียง มันเป็นคืนที่ผมนอนกระสับกระส่ายที่สุดในชีวิต ผมได้แต่ย้ำกับตัวเองว่าจะไม่ตื่นเต้น แต่สุดท้ายกลับไม่สามารถข่มตาหลับสนิทได้ มันเป็นเซอร์ไพรซ์ชั้นยอดและรางวัลที่น่ายินดี ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้สร้างหนังสารคดี คุณได้ออกไปผจญโลก แล้วนำเรื่องราวที่น่าสนใจกลับมา ผมไม่เคยมองตัวเป็นเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง ผมสร้างหนังเรื่องนี้เพื่อให้ผู้คนตระหนักว่าพวกเขามีสิทธิ์ที่จะคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เรากินลงไปในท้อง” โรเบิร์ต เคนเนอร์ – เข้าชิงสาขาหนังสารคดียอดเยี่ยมจาก Food, Inc.

“ฉันนึกมาตลอดว่าเส้นทางสู่ออสการ์ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า ฉันคิดว่าหลายคนเลือกแสดงหนังบางเรื่องเพราะมัน ‘เข้าทางออสการ์’ แต่ไม่มีใครอยากสร้าง The Blind Side ฉันเองยังไม่อยากเล่นหนังเรื่องนี้เลยในตอนแรก ทุกคนพากันคาดไม่ถึง ฉันเองก็เช่นกัน” แซนดร้า บูลล็อค – เข้าชิงสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก The Blind Side

“ฉันกำลังคุยโทรศัพท์บ้านกับเพื่อนคนหนึ่ง คุยมือถือกับเพื่อนอีกคน และในเวลาเดียวกันอีเมลก็หลั่งไหลมาไม่หยุด เพื่อนบ้านคงได้ยินเสียงกรีดร้องของฉันเป็นแน่ ฉันตกใจ ตื่นเต้น และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงร่วมกับนักทำหนังชั้นยอดอีกมากมาย มันวิเศษสุดๆ” อนาสเตเชีย มัสซาโร – เข้าชิงสาขากำกับศิลป์ยอดเยี่ยมจาก The Imaginarium of Doctor Parnassus

“ผมหวั่นวิตกว่าหลายคนจะไม่ยอมรับเทคโนโลยีใหม่ แต่ในความเห็นของผมการสร้างฉากจะไม่หายไปไหน นี่เป็นแค่เครื่องมืออีกชิ้นที่คุณสามารถหยิบฉวยมาใช้ประโยชน์ เพื่อเลื่อนกำแพงของสตูดิโอออกไปให้กว้างไกลขึ้น ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องดีที่กรรมการออสการ์ตระหนักข้อเท็จจริงนี้ ผมดีใจที่พวกเขาอ้าแขนต้อนรับอนาคต เพราะอนาคตยืนอยู่เบื้องหน้าคุณแล้ว” โรเบิร์ต สตรอมเบิร์ก – เข้าชิงสาขาออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยมจาก Avatar

“Fantastic Mr. Fox ของ โรอัลด์ ดาห์ล เป็นหนังสือที่ผมชื่นชอบที่สุดนับแต่เริ่มหัดอ่านหนังสือ การมีโอกาสดัดแปลงมันเป็นผลงาน stop-motion กับเหล่าเพื่อนร่วมงานที่เปี่ยมทักษะถือเป็นประสบการณ์ที่สุดแสนวิเศษ ผมอยากจะแสดงความยินดีกับ อเล็กซานเดอร์ เดสแพลท ซึ่งเป็นคนแต่งดนตรีประกอบและถูกเสนอชื่อเข้าชิงเช่นกัน” เวส แอนเดอร์สัน – เข้าชิงสาขาหนังการ์ตูนยอดเยี่ยมจาก Fantastic Mr. Fox

“การได้ร่วมงานกับ คลินท์ อีสต์วู้ด ทุกวันและนั่งมอง มอร์แกน ฟรีแมน ทำงานของเขาคือความฝันที่กลายเป็นจริง ผมรู้สึกซาบซึ้งที่มีโอกาสได้แสดงในหนังเรื่องนี้” แม็ท เดมอน – เข้าชิงสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจาก Invictus

“ผมตื่นเต้นและภูมิใจที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิง การที่หนังเล็กๆ เรื่องหนึ่งสามารถดึงดูดความสนใจของกรรมการออสการ์ได้ถือเป็นเรื่องน่ายินดียิ่ง ผมหวังว่ามันจะช่วยเป็นกำลังใจให้เหล่านักทำหนังอิสระทั่วโลก” นิค ฮอร์นบี้ – เข้าชิงสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมจาก An Education

“ผมดีใจที่หนังตลกไม่ถูกมองข้าม ผมกำลังทานอาหารกลางวันกับเพื่อน ตอนที่ผู้อำนวยการสร้างของเราโทรมาบอกว่า ‘คุณถูกเสนอชื่อเข้าชิง!’ ผมวางแผนทำโน่นทำนี่ตลอดทั้งวันเพื่อจะได้ไม่มานั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์ และผมก็ยุ่งจนลืมสนิท หลังรับโทรศัพท์ ผมรีบวิ่งออกไปข้างนอกเพื่อโทรหาครอบครัว กว่าจะรู้ตัวอีกที หนึ่งชั่วโมงก็ผ่านไป และพนักงานได้เก็บอาหารกลางวันของผมไปแล้ว เทศกาลออสการ์ล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย” อาร์แมนโด เอียนนุกชี – เข้าชิงสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมจาก In the Loop

“ผมคิดว่าตัวเองทำใจที่จะไม่คาดหวังอะไรทั้งสิ้นได้แล้ว แต่พอทราบข่าว ผมกลับพบว่าตัวเองมีโทนเสียงใหม่ที่ฟังดูแปร่งหูและไม่คุ้นเคย บางทีผมน่าจะหันไปเล่นหนังเพลงอีกสักที” โคลิน เฟิร์ธ – เข้าชิงสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก A Single Man

ไม่มีความคิดเห็น: