วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 02, 2553

Oscar 2010: เงินใครคิดว่าไม่สำคัญ


มุกตลกที่วนเวียนอยู่ในฮอลลีวู้ดมาช้านาน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลประกาศรางวัลต่างๆ มากมายหลายกระบุงก่อนสุดท้ายจะปิดฉากลงด้วยรางวัลออสการ์ คือ อาการกระเหี้ยนกระหือรือของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในการดึงดูดคนดังให้มาร่วมงาน ซึ่งย่อมจะส่งผลให้พิธีแจกรางวัลลูกโลกทองคำของพวกเขาดูน่าตื่นเต้น ชวนเร้าใจมากขึ้นสำหรับคนส่วนใหญ่ ซึ่งเดินเข้าโรงหนังเพียงเพื่อหาความบันเทิงฆ่าเวลา จนกลายเป็นที่มาของการสอดไส้รายนามผู้เข้าชิงที่ดู “น่ากังขา” ปรากฏให้เห็นแทบทุกปี เช่น เมื่อ จูเลีย โรเบิร์ตส์ เข้าชิงนักแสดงสมทบหญิงจาก Charlie Wilson’s War เมื่อสองปีก่อน เป็นต้น

ทว่าปีนี้สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศได้พัฒนามาตรฐานใหม่ของพฤติกรรม “คลั่งดารา” ขึ้นไปอีกขั้น สังเกตได้จากผลรางวัลที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะชัยชนะของซูเปอร์สตาร์ แซนดร้า บูลล็อค (The Blind Side) เหนือนักแสดงหญิงโนเนม แต่เป็นขวัญใจนักวิจารณ์ แครีย์ มัลลิแกน (An Education) ในสาขานักแสดงนำหญิง (ชีวิต) และชัยชนะของ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ (Sherlock Holmes) เหนือผู้เข้าชิงที่เหลืออีกสี่คนในสาขานักแสดงนำชาย (เพลง/ตลก) โอเค บางทีเราอาจตัด เดเนียล เดย์-ลูว์อีสต์ ออกไปคน เนื่องจากในหนังเรื่อง Nine เขาถูกเหล่านักแสดงสาวน้อยสาวใหญ่ สวยบ้างไม่สวยบ้างกลบรัศมีจนไม่เหลือราคาเจ้าของสองรางวัลออสการ์ จนอาจกล่าวได้ว่าการเข้าชิงของเดย์-ลูว์อีสต์เกิดจากระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ โดยนำเอาเครดิตในอดีตและความดังมาบวกแต้มเพิ่มมากพอๆ กับการเข้าชิงของดาวนีย์นั่นเอง

ผลรางวัลดังกล่าวดูจะสอดคล้องกันดีกับชัยชนะของ Avatar ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ชีวิต) The Hangover ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (เพลง/ตลก) และ Up ในสาขาภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยม... ราวกับสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศได้เพิ่มกติกาใหม่เข้าไปว่า “อย่าหวังจะได้รางวัลถ้าหนังของคุณทำเงินไม่เกิน 100 ล้าน!”

สงสารก็แต่ Up in the Air ที่ก่อนหน้าการประกาศรางวัลสามารถสร้างกระแสตีคู่มากับ Avatar หรืออาจจะนำหน้าอยู่เล็กน้อยด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายกลับได้รางวัลปลอบใจไปครองเพียงรางวัลเดียว นั่นคือ บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ส่วนอาการ “วืด” ของ The Hurt Locker หลังเดินหน้ากวาดรางวัลมาครองจนนับไม่ถ้วนนั้นถือว่าไม่น่าประหลาดใจ เพราะรสนิยมของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศมักแตกต่างจากรสนิยมของเหล่าสมาคมนักวิจารณ์มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นเรื่องชวนช็อกอยู่ดีที่ แคทธีน บิเกโลว์ พลาดรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม เพราะกระทั่ง เจมส์ คาเมรอน เองยังคาดว่าอดีตภรรยาของเขาจะคว้าชัยไปในที่สุด และเธอก็เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมมากด้วย (“ผมยังตกตะลึงไม่หาย ผมแน่ใจว่าแคทธีนต้องได้รางวัล ผมคิดว่าเนื่องจากกรรมการเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศ พวกเขาอาจชอบหนังของเรามากกว่า ฉะนั้นรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจึงพอจะเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม” คาเมรอนให้สัมภาษณ์ในงานเลี้ยงหลังพิธีมอบรางวัล) แม้กระแสข่าวลือก่อนหน้าจะปรากฏชัดเจนว่าคณะกรรมการไม่ค่อยชอบ The Hurt Locker สักเท่าไหร่ แต่หลงรัก Avatar หมดหัวใจ แต่หลายคนยังเชื่อว่าสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศน่าจะแบ่งรางวัลผู้กำกับให้บิเกโลว์ เนื่องจากเธอคู่ควรมากกว่าใคร แถมยังถูกมองข้ามมานานด้วย

คำถามที่ตามมา คือ ผลรางวัลลูกโลกทองคำมีอิทธิพลมากแค่ไหนต่อรางวัลออสการ์?

คำตอบ คือ ไม่มากนัก เช่นเดียวกับบรรดารางวัลของนักวิจารณ์ทั้งหลาย เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะคณะกรรมการออสการ์ไม่ใช่นักวิจารณ์ หรือนักข่าวต่างประเทศ และพวกเขาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นหลายต่อหลายครั้งแล้วว่า พวกเขา “ไม่แคร์สื่อ” ขนาดไหนในการเลือกผู้ชนะ หรือผู้เข้าชิง แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ารางวัลลูกโลกทองคำมีส่วนช่วยสร้างกระแส หรือลดความร้อนแรงให้แก่หนังบางเรื่อง ตลอดจนนักแสดงบางคน

แม้จะฟาดแห้วไปเต็มท้อง แต่สุดท้ายแล้ว แคทธีน บิเกโลว์ และ The Hurt Locker ยังถือเป็นคู่แข่งที่สูสีกับ เจมส์ คาเมรอน และ Avatar มากสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ Up in the Air เริ่มเสียหลัก (เข้าชิง 6 ได้มา 1 ซ้ำร้าย ตัวเก็งอย่าง จอร์จ คลูนีย์ ยังพลาดท่าให้แก่ เจฟฟ์ บริดเจส และต้องไม่ลืมว่าหนังชวดการเข้าชิงสาขานักแสดงกลุ่มยอดเยี่ยมบนเวที SAG อีกด้วย) อันที่จริง การคว้ารางวัลลูกโลกทองคำมาครองอาจถือเป็นลางร้ายสำหรับ Avatar ก็ได้ หากพิจารณาจากสถิติที่ว่าในรอบห้าปีที่ผ่านมา รางวัลสูงสุดบนเวทีลูกโลกทองคำสอดคล้องกับออสการ์เพียงครั้งเดียวเท่านั้น นั่นคือเมื่อปีก่อน (Slumdog Millionaire) ส่วนอีกสี่ปีที่เหลือลูกโลกทองคำเลือก Atonement, Babel, Brokeback Mountain และ The Aviator ขณะที่ออสการ์เลือก No Country for Old Men, The Departed, Crash และ Million Dollar Baby (สองสามวันก่อนหน้า The Hurt Locker เพิ่งคว้าชัยเหนือ Avatar บนเวที Critics’ Choice Award ซึ่งมีรสนิยม “ตลาด” กว่าสมาคมนักวิจารณ์ทั้งหลาย แม้ชื่อรางวัลจะชวนให้นึกถึงรางวัลนักวิจารณ์ก็ตาม ที่สำคัญ ตลอดสามปีที่ผ่านมาหนังเยี่ยมของพวกเขาสอดคล้องกับออสการ์ทั้งหมด)

จุดแข็งเดียว แต่ถือว่าใหญ่โตมากในโลกทุนนิยม ของ Avatar นอกเหนือจากอลังการงานสร้าง คือ เงินจำนวนมหาศาลที่หนังเรื่องนี้โกยเข้าสตูดิโอและอุตสาหกรรมหนังโดยรวม (ปัจจุบันกำลังจะทำลายสถิติของ Titanic เจ้าของ 11 รางวัลออสการ์อยู่รอมร่อ) และท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ กรรมการหลายคนจึงอาจเลือกโหวตให้ Avatar ในฐานะที่มันเป็นเหมืองทองซึ่งสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในวงการบันเทิงหลายพันหลายหมื่นคน (และแน่นอน เขาคงต้องชอบตัวหนังด้วย) ส่วนจุดแข็งเดียวของ The Hurt Locker คงอยู่ที่คุณภาพของเนื้องาน ซึ่งไม่ได้อาร์ตตัวแม่ แต่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบตามแนวทาง คล้ายคลึงกับ No Country for Old Men เมื่อสองปีก่อน

โดยสถิติแล้ว Avatar อาจเสียเปรียบคู่แข่งอยู่หน่อยตรงที่หนังตระกูลไซไฟไม่ค่อยป็อปปูล่าในหมู่กรรมการออสการ์มากนัก (มันเป็นหนังไซไฟเรื่องที่สองที่ได้รางวัลลูกโลกทองคำ ถ้าคุณนับ E.T.: The Extra Terrestrial เป็นหนังไซไฟ) แต่ชัยชนะของ No Country for Old Men, The Departed และ The Lord of the Rings: The Return of the King ดูจะพิสูจน์ให้เห็นว่ากรรมการออสการ์เริ่มเปิดกว้างให้กับหนังแนวต่างๆ มากขึ้น ขณะเดียวกัน การกวาดรางวัลหนังและผู้กำกับจากสามสถาบันนักวิจารณ์ชั้นนำ (สมาคมนักวิจารณ์นิวยอร์ก แอลเอ และ National Society of Film Critics) ของ The Hurt Locker ก็อาจกลายเป็นคำสาปแช่ง เพราะหนังเรื่องล่าสุดที่ทำได้แบบเดียวกัน คือ L.A. Confidential (1997) และเราทุกคนคงทราบกันดีแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับมาสเตอร์พีซของ เคอร์ติส แฮนสัน บนเวทีออสการ์ เมื่อมันวิ่งไปชนภูเขาน้ำแข็งของ เจมส์ คาเมรอน

กระนั้น มีคนตั้งข้อสังเกตว่าอะไรๆ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เนื่องจากปีนี้กฎการลงคะแนนรอบสุดท้ายถูกปรับเปลี่ยนใหม่ โดยแทนที่จะเลือกหนังยอดเยี่ยมเพียงเรื่องเดียวจากห้าเรื่อง กรรมการจะต้องเรียงลำดับหนังที่เข้ารอบทั้งสิบเรื่องจากหนึ่งถึงสิบ นั่นหมายความว่า หนังที่ถูกเลือกเป็นอันดับ 1 มากสุดอาจไม่ใช่ผู้ชนะ เพราะคะแนนรวมของมันอาจไม่มากเท่าหนังอีกเรื่อง ซึ่งถูกโหวตเป็นอันดับหนึ่งน้อยกว่า แต่ได้คะแนนจากการเป็นอันดับ 2, 3 หรือ 4 มากกว่า (กฎการเลือกผู้ชนะในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมถูกปรับเปลี่ยนเพื่อป้องกันไม่ให้หนังชนะรางวัลสูงสุดโดยได้รับเสียงโหวตต่ำกว่า 1000 เสียงจากกรรมการกว่า 6000 คน เพราะคะแนนถูกเฉลี่ยไปตามจำนวนผู้เข้าชิงที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว) ด้วยเหตุนี้เอง Up in the Air หรือกระทั่ง Inglourious Basterds ก็ยังมีโอกาสพลิกกลับมาชนะ หากพวกมันได้คะแนนโหวตในลำดับต้นๆ มากพอ

สองสาขาที่ดูเหมือนจะหมดสิทธิ์ลุ้นบนเวทีออสการ์ค่อนข้างแน่แล้ว คือ นักแสดงสมทบชายและหญิง หลัง คริสตอฟ วอลซ์ (Inglourious Basterds) และ โมนีก (Precious: Based on the Novel Push by Sapphire) เดินหน้าคว่ำคู่แข่งอย่างไม่หยุดหย่อน และรางวัลลูกโลกทองคำก็ถือเป็นอีกหนึ่งหมุดที่ช่วยตอกย้ำความมั่นใจ

ตรงกันข้าม สาขานักแสดงนำหญิงประจำปีนี้คงต้องลุ้นกันตัวโก่งหน่อย เพราะมีคู่แข่งสองคนที่เบียดตีคู่กันมาในช่วงโค้งสุดท้ายชนิดหายใจรดต้นคอเลยทีเดียว โดยนอกจากจะแบ่งลูกโลกทองคำกันไปคนละตัวแล้ว แซนดร้า บูลล็อค (The Blind Side) กับ เมอรีล สตรีพ (Julie & Julia) ยังแชร์รางวัลนักแสดงนำหญิงร่วมกันบนเวที Critics’ Choice Award อีกด้วย คนแรกอาจได้เปรียบตรงที่ยังไม่เคยได้ออสการ์... อันที่จริง เธอยังไม่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงเลยด้วยซ้ำ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาต่อการคว้ารางวัลมาครอง สังเกตได้จาก ฮิราลี สแวงค์ (Boys Don’t Cry) ฮัลลี เบอร์รี (Monster’s Ball) รีส วิทเธอร์สพูน (Walk the Line) และ มาริยง โกติญาร์ (La Vie En Rose) ส่วนคนหลังได้เปรียบตรงที่เธอมีชื่อว่า “เมอรีล สตรีพ” และครั้งหลังสุดที่เธอคว้ารางวัลออสการ์มาครอง คือ Sophie’s Choice เมื่อ 27 ปีก่อน โดยระหว่างช่วงเวลานั้นเธอถูกเสนอชื่อเข้าชิงอีก 11 ครั้ง แต่กลับชวดรางวัลทั้งหมด! สตรีพเพิ่งจะอายุครบ 60 ปีไปไม่นาน และนับจาก เจสซิก้า แทนดี้ (Driving Miss Daisy) เมื่อสองทศวรรษก่อน มีเพียง เฮเลน เมียร์เรน (The Queen) เท่านั้นที่ได้รางวัลออสการ์นักแสดงนำหญิงขณะอายุเกิน 60 ปี จนมีคนตั้งข้อสังเกตว่าออสการ์ชื่นชอบสาวน้อยมากกว่าสาวแก่ (จุดนี้อาจช่วยให้ แคร์รี มัลลิแกน มีความหวังขึ้นมาเล็กน้อย)

การถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์มาแล้ว 4 ครั้ง แต่ยังไม่เคยได้รางวัลเลยดูจะมีส่วนช่วย เจฟฟ์ บริดเจส (Crazy Heart) ให้ถือแต้มเหนือ จอร์จ คลูนีย์ (Up in the Air) คู่แข่งตัวฉกาจ นอกจากนี้ เขายังเป็นที่ชื่นชอบและเคารพนับถือในวงการมากไม่แพ้กัน แตกต่างจาก มิกกี้ รู้ก (The Wrestler) เมื่อปีก่อน ซึ่งน่าจะสร้างศัตรูในวงการไว้มากพอๆ กับมิตร จนเป็นเหตุให้เขาถูก ฌอน เพนน์ (Milk) เฉือนเอาชนะบนเวทีออสการ์ (และปีนี้เขาก็ยังไม่วายสร้างศัตรูเพิ่มด้วยการตีหน้าเหยขณะประกาศรางวัลนักแสดงนำหญิง ราวกับจะบอกว่าเขาไม่ค่อยเห็นด้วยกับตัวเลือกของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ) ภาพการลุกขึ้นยืนปรบมือของเหล่าผู้ร่วมงานเมื่อชื่อของบริดเจสถูกประกาศอาจปรากฏให้เห็นอีกครั้งในวันที่ 7 มีนาคม มันเป็นเครื่องรับประกันว่ารางวัลนักแสดงนำชาย (ชีวิต) น่าจะเป็นหนึ่งในรางวัลที่โดนวิพากษ์วิจารณ์น้อยสุดบนเวทีลูกโลกทองคำประจำปีนี้

ไม่มีความคิดเห็น: