วันอาทิตย์, มีนาคม 13, 2554

Oscar 2011: ก็ใจมันเรียกร้อง


ทันทีที่เปิดงาน เจมส์ ฟรังโก้ ก็เริ่มต้นด้วยการแซวพิธีกรคู่ขวัญของเขาว่า “คุณดูเป็นสาวสมัยใหม่มากเลย” ซึ่ง แอนน์ แฮทธาเวย์ ก็ตอบกลับว่า “คุณก็ดูจะเป็นที่ชื่นชอบของเด็กแนวไม่ใช่น้อยเช่นกัน” น่าตลกตรงที่ ท่ามกลางความพยายามอย่างสุดเดชของออสการ์ที่จะดึงดูดกลุ่มคนดูวัยรุ่นและหนุ่มสาว ผลรางวัลกลับให้ความรู้สึกหวนคืนสู่อดีตอันหอมหวาน เมื่อหนังพีเรียดเรื่อง The King’s Speech กวาดรางวัลสำคัญๆ มาครอง ขณะ “เด็กแนว” อย่าง The Social Network ต้องปลอบใจตัวเองกับรางวัลในสาขารองๆ ลงไปอย่างลำดับภาพและดนตรีประกอบ

เรียกได้ว่าผลรางวัลในปีนี้เป็นไปตามโผทุกประการ หลายคนอาจฝันกลางวันว่า เดวิด ฟินเชอร์ จะสามารถแย่งรางวัลในสาขาผู้กำกับมาครองจากหลักตรรกะทำนองว่า DGA เต็มไปด้วยสมาชิกแวดวงโทรทัศน์ ซึ่งอาจเอนเอียงเข้าหา ทอม ฮูเปอร์ เพราะเขาทำมินิซีรีย์ชั้นเยี่ยมอย่าง John Adams ขณะที่คณะกรรมการออสการ์ย่อมต้องให้เครดิตคนในวงการหนังอย่างฟินเชอร์มากกว่ามือใหม่อย่างฮูเปอร์ แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาอาจลืมคิดไป คือ ตามสถิติแล้วปรากฏการณ์แบ่งรางวัลหนังและผู้กำกับนั้นเกิดขึ้นน้อยมาก (4 ครั้งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา) ฉะนั้น พิจารณาจากความเป็นไปได้ หากคุณมั่นใจว่า The King’s Speech จะได้รางวัลสูงสุด โอกาสที่ ทอม ฮูเปอร์ จะได้รางวัลผู้กำกับย่อมต้องสูงขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ ปัจจัยรอบข้างอื่นๆ ก็มีอิทธิพลไม่แพ้กัน เดวิด ฟินเชอร์ ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้กำกับที่นิยมความสมบูรณ์แบบ และทำงานด้วยยาก จนไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนเริ่มนำเขาไปเปรียบเทียบกับ สแตนลีย์ คูบริก (ซึ่งเคยเข้าชิงออสการ์สาขาผู้กำกับ 4 ครั้งและชวดหมดทุกครั้ง) ขณะเดียวกัน บุคลิกส่วนตัวของเขาก็ห่างไกลจากคำว่าอบอุ่น เป็นมิตร หรือน่ารัก โดยบางคนยอมรับว่าฟินเชอร์ค่อนข้างเย็นชาไม่ต่างจากหนังที่เขาทำสักเท่าไหร่ ซ้ำร้าย ตลอดช่วงเทศกาลรางวัล เขายังออกเดินสายโปรโมตน้อยมาก (ติดถ่ายหนังใหม่เรื่อง The Girl with the Dragon Tattoo) แล้วปล่อยภารกิจยิ่งใหญ่ไว้บนบ่าอันไร้ประสบการณ์ของ เจสซี ไอเซนเบิร์ก และ แอนดรูว์ การ์ฟิลด์

ในทางตรงข้าม ทีมงาน The King’s Speech ภายใต้การนำของเจ้าพ่อแห่งการล็อบบี้ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ ทุ่มเทเวลาให้สื่อมวลชนเต็มที่ โดยเฉพาะฮูเปอร์และ โคลิน เฟิร์ธ ซึ่งโปรยเสน่ห์อย่างถ้วนทั่วโดยไม่ลืมถ่อมตนและเจือปนอารมณ์ขัน พวกเขาดูจะ “แคร์” กับการได้รางวัลมาครองมากกว่า... และนั่นคือสิ่งที่สร้างความแตกต่าง เพราะออสการ์ (ด้วยกรรมการที่พุ่งเกินหลัก 5000 คน) ก็ไม่ต่างจากรางวัลขวัญใจมหาชน คุณภาพของผลงานเป็นแค่ครึ่งหนึ่งของความสำเร็จ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งขึ้นอยู่กับความกว้างขวางและเป็นที่รักใคร่ของคุณในวงการ

แน่นอน ยังมีอีกหนึ่งคำอธิบายที่เรียบง่ายและชัดเจนสุดต่อความสำเร็จของ The King’s Speech บนเวทีออสการ์ (รวมไปถึงเวที SAG, DGA และ PGA) นั่นคือ คณะกรรมการชอบหนังเรื่องนี้มากกว่า และเช่นเดียวกับปีที่ Crash ได้รางวัลสูงสุดมาครอง พวกเขาพิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งว่านักวิจารณ์ไม่สามารถชี้นำรางวัลออสการ์

ภาพรวมของงานออสการ์ในปีนี้ถือว่าค่อนข้างย่ำแย่ เพราะนอกจากผลรางวัลจะปราศจากเซอร์ไพรซ์อย่างสิ้นเชิงแล้ว (ถ้าคุณไม่นับการคว้ารางวัลมาครองเพียง 4 จากการเข้าชิง 12 สาขาของ The King’s Speech) สองพิธีกรรุ่นใหม่ยังทำหน้าที่ได้น่าผิดหวังอีกด้วย (คำวิจารณ์ที่พวกเขาได้รับในเช้าวันรุ่งขึ้นถือว่าหนักหนาสาหัสระดับเดียวกับ The Last Airbender ซึ่งกวาดรางวัลราซซี่มาครองในคืนก่อนหน้า) เจมส์ ฟรังโก้ รับก้อนอิฐไปมากหน่อยจากมาดมึนๆ เบลอๆ เหมือนคนเมายา โดยเวลาส่วนใหญ่ของเขาหมดไปกับการยิ้มกริ่ม ยืนแข็งทื่อ และปล่อยมุกฝืดเป็นครั้งคราว ขณะคู่หูของเขาพยายาม (จนอาจเรียกได้ว่ามากไป?) จะปลุกชีวิตชีวาแขกเหรื่อด้วยเสียงโห่ร้องราวกับเป็นพวกแฟนบอย

ความกร่อยแทรกซึมอยู่ทุกอณูอากาศ จนไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนดูถึงพากันลุกขึ้นยืนปรบมือต้อนรับ บิลลี่ คริสตัล กันอย่างพร้อมเพรียง... ส่วนหนึ่งเพื่อตอบแทนผลงานอันยอดเยี่ยมในอดีตของเขา อีกส่วนหนึ่งเพื่อหวังว่าเขาจะอยู่เป็นพิธีกรต่อในงานนี้

อันที่จริงจะโทษ แอน แฮทธาเวย์ และ เจมส์ ฟรังโก้ ทั้งหมดคงไม่ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าพวกเขาเป็นนักแสดง ไม่ใช่ดาวตลก (บางทีการเรียก บิลลี่ คริสตัล มาเป็นแขกรับเชิญ หรือการโชว์คลิปของ บ็อบ โฮป อาจไม่ใช่ความคิดที่ดี เพราะมันยิ่งทำให้คนดูเห็นว่างานในปีนี้ห่างไกลจากมาตรฐานในอดีตมากแค่ไหน) ความผิดส่วนหนึ่งคงต้องยกให้กับทีมเขียนบท ซึ่งเรียกได้ว่าอ่อนปวกเปียก โดยเฉพาะในช่วงเปิดงาน เมื่อสองพิธีกรต้องพึ่งพาทักษะของคุณยาย เจมส์ ฟรังโก้ (“ยายเห็น มาร์คกี้ มาร์ค ด้วยแหละ”) เพื่อเรียกเสียงหัวเราะจากคนดู โดยส่วนผสมอันลงตัวของการขาดมุกตลกคมๆ พิธีกรที่เชี่ยวชาญ และผลรางวัลที่ผิดจากความคาดหมายส่งผลให้งานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 83 กลายเป็นความยืดยาวและน่าเบื่อ ทั้งที่จริงๆ แล้วมันกินเวลาไม่ถึง 4 ชั่วโมง (เฉกเช่นปกติ) ด้วยซ้ำ


เกร็ดสถิติ

• True Grit กลายเป็นหนังซดแห้วสูงสุดอันดับสองในประวัติศาสตร์ออสการ์จากการเข้าชิง 10 รางวัลและต้องกลับบ้านมือเปล่า มีเพียง The Color Purple (1985) และ The Turning Point (1977) เท่านั้นที่ล้มเหลวมากกว่าจากการเข้าชิง 11 รางวัล แล้วไม่ได้อะไรเลย

• ผู้กำกับภาพ โรเจอร์ ดีกินส์ จาก True Grit ยังคงต้องร้องเพลงรอออสการ์ตัวแรกต่อไป (บางทีครั้งที่ 10 อาจโชคดีกว่านี้?) แต่อย่างน้อยเขาก็มีเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกสามคนอย่าง แอนเน็ต เบนนิง จาก The Kids Are All Right (เข้าชิง 4 ได้ 0) เกร็ก พี. รัสเซลล์ จาก Salt (เข้าชิง 14 ได้ 0) และ อเล็กซานเดอร์ เดสแพลท จาก The King’s Speech (เข้าชิง 4 ได้ 0)

• ในมุมกลับกัน ริค เบเกอร์ คว้าออสการ์ตัวที่ 7 มาครองได้สำเร็จจากหนังเรื่อง The Wolfman และนี่ถือเป็นครั้งที่สองที่เขาได้รางวัลออสการ์จากการแต่งหน้ามนุษย์หมาป่า หลังคว้าออสการ์ตัวแรกจาก An American Werewolf in London (1981)

• เมลิสสา ลีโอ กับ คริสเตียน เบล กลายเป็นแม่-ลูกชาย (ในหนัง) คู่แรกนับจาก เดเนียล เดย์-ลูว์อีส และ เบรนดา ฟริกเกอร์ ที่คว้าออสการ์มาครองได้สำเร็จ โดยคู่หลังกวาดรางวัลในสาขานักแสดงนำชายและนักแสดงสมทบหญิงจาก My Left Foot (1989)

• The Social Network เป็นหนังเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ที่กวาดรางวัลสาขาหนัง + ผู้กำกับ + บทจาก NBR, NYFCC, LAFCA และลูกโลกทองคำ แล้วชวดรางวัล DGA รวมถึงออสการ์ ขณะที่ The King’s Speech กลายเป็นหนังออสการ์ที่ได้รางวัลน้อยสุด คือ 4 รางวัลจากการเข้าชิง 12 รางวัล (หนัง, บท, นำชาย และผู้กำกับ) ทำลายสถิติเดิมของ Gladiator ซึ่งคว้ามาได้ 5 รางวัลจากการเข้าชิง 12 รางวัล (หนัง, นำชาย, บันทึกเสียง, ออกแบบเครื่องแต่งกาย, เทคนิคพิเศษด้านภาพ)


เป็นอะไรมากมั้ย

•ฮอลลีวู้ดคงมีปูชนียบุคคลอยู่แค่หยิบมือ คนที่ได้รับเชิญให้มาประกาศผลรางวัลในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจึงวนเวียนอยู่กับหน้าเดิมๆ อย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก, แจ๊ค นิโคลสัน, บาบรา สตรัยแซนด์ และ ทอม แฮงค์... ใครก็ได้ช่วยลาก วู้ดดี้ อัลเลน มาที (เหมือนตอนสดุดีเหตุการณ์ 9/11) หรือ มาร์ติน สกอร์เซซี่ ก็ได้ หรือ คลินท์ อีสต์วู้ด หรือกระทั่ง ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (แม้เขาจะเลิกทำหนังดีๆ มานานแล้วก็ตาม) หรือถ้าอยากดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่ขึ้นมาหน่อยก็ ปีเตอร์ แจ๊คสัน เป็นไง... ใครก็ได้ที่ไม่ใช่ผู้กำกับ Jurassic Park เลือกใช้จินตนาการได้ตามสบาย

• แม้จะไม่มีอะไรเหวอๆ เหมือนปีก่อน (สดุดี จอห์น ฮิวจ์? สดุดีหนังสยองขวัญ?) แต่นาทีแห่งความฉงนก็เกิดขึ้นจนได้ ตั้งแต่ช่วงแรกของรายการเลยทีเดียว เมื่อมีการเชื่อมโยงสมการแปลกพิลึกอย่าง กำกับภาพ + กำกับศิลป์ = หนังเยี่ยม ทั้งหมดนี้เพื่อจะโชว์คลิปหนังเรื่อง Gone with the Wind และ Titanic บนฉากสุดอลังการ? บางทีโปรดิวเซอร์งานอาจคิดว่า The King’s Speech จะกวาดรางวัลมาครองแบบเดียวกับหนังมหากาพย์สองเรื่องข้างต้น แต่แล้วสุดท้ายมันกลับพลาดท่าให้ Inception และ Alice in Wonderland ตามลำดับ

• กลยุทธ์ชี้นำ (หรือจะเรียกว่าเกทับดี?) ยังไม่สิ้นสุด... ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โปรดิวเซอร์ได้ตัดภาพจากหนังเรื่องต่างๆ ที่เข้าชิงพร้อมเสียงพูดของพระเจ้าจอร์จที่ 6 ในฉากไคล์แม็กซ์ของ The King’s Speech... เอางั้นกันเลยนะ ดูแล้วก็อดน้อยใจแทนหนังอีก 9 เรื่องไม่ได้ ซ้ำร้ายคำ “ปลอบใจ” ของสปีลเบิร์กว่าหนังที่พลาดรางวัลจะได้อยู่ร่วมเรียงเคียงบ่ากับ Citizen Kane และ Raging Bull (รวมถึง The Blind Side และ Ghost นี่คือสิ่งที่สปีลเบิร์กเลือกจะไม่เอ่ยถึง) ยังให้ความรู้สึกเหมือนการ “ออกตัว” มากกว่า... คุณอยากรัก The King’s Speech ก็รักไปสิ แต่มันจำเป็นต้องข่มเหงน้ำใจกันขนาดนี้เลยหรือ

• เมลิสสา ลีโอ กับการหลุดพูดคำต้องห้ามออกอากาศ (“ตอนเคท (วินสเล็ท) ยืนอยู่ตรงนี้เมื่อสองปีก่อน เธอทำเหมือนมันเป็นเรื่อง***ง่าย... อุ๊บส์”) พูดจาไม่ปะติดปะต่อ หยุดเงียบเพราะพูดอะไรไม่ออก โบกมือให้คนบนชั้นสอง และขโมยไม้เท้าของ เคิร์ก ดักลาส มาใช้พยุงตัวเอง มองในแง่หนึ่งก็ดูน่ารักและรั่วดี แต่ในทางกลับกัน เธอเป็นตัวเก็งอันดับหนึ่งที่เดินสายรับรางวัลมาแล้วแทบทุกสถาบัน แถมยังโปรโมตตัวเองเพื่อรางวัลนี้ขนาดลงทุนซื้อโฆษณาใน Variety เธอยังช็อกและตื่นเต้นได้ขนาดนั้นอีกเหรอ... เป็นอะไรมากมั้ย!


ไฮไลท์ความฮา

• “น่าขยะแขยงชะมัด” คือ คำพูดแรกของ เคท บลันเช็ตต์ หลังจบคลิปแนะนำผู้เข้าชิงในสาขาแต่งหน้ายอดเยี่ยมจากหนังเรื่อง The Wolfman… เธอแค่แสดงความเห็นต่อภาพบนจอ หรือกล่าวเป็นนัยถึงการที่หนังเรื่องนี้ได้เข้าชิง (และสุดท้ายได้รางวัลไปครอง) กันแน่

• คลิปเปิดงานอาจจะดู MTV และ Saturday Night Live ไปนิด (ที่สำคัญ 127 Hours, Winter’s Bone และ The Kids Are All Right ยังถูกมองข้ามแบบหน้าตาเฉย) แต่หลายแก๊กสามารถเรียกรอยยิ้มและเสียงฮาได้ไม่น้อย เช่น เมื่อ เจมส์ ฟรังโก้ บอก รูสเตอร์ ค็อกเบิร์น แห่ง True Grit ว่า “ผมชอบคุณใน Tron” หรือ เมื่อ แอนน์ แฮทธาเวย์ เต้นระบำเป็ดโชว์ นีนา เซเยอร์ส แห่ง Black Swan (แม้เธอจะไม่ฮาเท่า จิม แคร์รี่ ใน Saturday Night Live ก็ตาม) หรือ เมื่อ มอร์แกน ฟรีแมน โผล่มาเป็นแขกรับเชิญเพื่อเล่าการผจญภัยของแอนน์กับเจมส์ (“อเล็กอยากให้ผมเล่าความฝันของเขา เขาบอกว่าเสียงของผมฟังแล้วรื่นหูดี”)

• “รู้งี้น่าจะไปตัดผมก่อน” ลุค แมทธีนีย์ กล่าวขณะขึ้นรับรางวัลภาพยนตร์ขนาดสั้นยอดเยี่ยมจากเรื่อง God of Love

• ก่อนการประกาศรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม รัสเซลล์ แบรนด์ ทำหน้าที่ “ล่ามวิบัติ” ให้กับ เฮเลน เมียร์เรน ซึ่งพูดภาษาฝรั่งเศสด้วยสำเนียงสุดเพอร์เฟ็กต์ ได้อย่างสนุกสนาน

• หลังจากถูก โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ ขัดจังหวะหลายครั้งก่อนการประกาศรางวัลเทคนิคพิเศษด้านภาพยอดเยี่ยม สุดท้ายจู๊ด ลอว์ จึงตอกกลับคู่หู Sherlock Holmes ว่า “หุบปาก ถ้าไม่ใช่เพราะเหล่าช่างเทคนิคพิเศษเหล่านี้ละก็ ครั้งเดียวที่นายจะได้ใกล้ชิดกับซูเปอร์ฮีโร่คงเป็นปี 2001 ตอนนายถูกจับในโรงแรมจิ้งหรีดพร้อมกับผู้หญิงที่แต่งตัวเป็นแบทเกิร์ล” นักแสดงหนุ่มจาก Iron Man โต้ตอบข้อกล่าวหาดังกล่าวว่า “ก่อนอื่นเลย โรงแรมจิ้งหรีดนั้นราคาคืนละ 1250 เหรียญเชียวนะ ข้อสอง นั่นมันปี 2000 ต่างหาก ไม่ใช่ 2001 และที่สำคัญที่สุด หล่อนแต่งตัวเป็นวันเดอร์วูเมนโว้ย!”

• แซนดร้า บูลล็อก ยังคงยิงมุกตลกได้อย่างเฉียบคมเสมอ ตอนขึ้นมากล่าวแนะนำนักแสดงชายแต่ละคน เริ่มจาก เจฟฟ์ บริดเจส ซึ่งเพิ่งคว้าออสการ์สาขานำชายมาครองเมื่อปีก่อนจากเรื่อง Crazy Heart (“เท่าไหร่ถึงจะพอเหรอ เจฟฟ์”) ตามด้วย ฮาเวียร์ บาเด็ม เจ้าของรางวัลออสการ์จาก No Country for Old Men (“คุณทำให้พวกเราหวาดผวา... ด้วยทรงผม”) โคลิน เฟิร์ธ (“ฉันได้ข่าวว่าพระราชินีชอบหนังของคุณ ดีใจด้วยนะ เพราะฉันเชื่อว่าคุณคงวางแผนจะกลับบ้านกับเขาสักที”) และตบท้ายด้วย เจมส์ ฟรังโก้ (“คุณเป็นเหตุผลอันดับหนึ่งที่ทำให้เด็กติดแหง็กอยู่โรงเรียนจนเย็นย่ำ เพราะพวกแม่ๆ พากันนั่งดู General Hospital จนลืมไปรับลูก”)

• “เมลิสสา... ผมจะไม่หลุดพูดคำหยาบแบบเธอหรอก ผมเคยทำมาเยอะแล้วก่อนหน้านี้” คริสเตียน เบล กล่าวขณะขึ้นรับรางวัลนักแสดงสมทบชาย (อ้างอิงถึงเหตุอื้อฉาวกลางกองถ่าย Terminator: Salvation)


เก็บตก

• อาร์มี แฮมเมอร์ ซึ่งรับบทเป็นฝาแฝดวิงเคิลวอสใน The Social Network ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินพรมแดงเข้างานว่า เดวิด ฟินเชอร์ เป็นเหมือน “จักรพรรดิในกองถ่าย” ส่วนการร่วมงานกับ คลินท์ อีสต์วู้ด ใน J. Edgar (นำแสดงโดย ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และ นาโอมิ วัตส์) ถือเป็นความแตกต่างชนิดหักศอก... แน่ล่ะ จากการถ่ายทำแบบ 100 เทคมาสู่การถ่ายทำแบบเทคเดียวผ่าน!

• บทคุณแม่สยองอาจครองเวทีออสการ์ (จาก เมลิสสา ลีโอ ใน The Fighter ถึง แจ๊คกี้ วีเวอร์ ใน Animal Kingdom) แต่ภายในงานประกาศผลกลับเต็มไปด้วยการสดุดีความดีงามของคนเป็นแม่ ไม่ว่าจะเป็นมุกตลกของ แอนน์ แฮทธาเวย์ กับแม่ของเธอ หรือคำกล่าวขอบคุณสามีของ นาตาลี พอร์ตแมน ที่ “มอบบทบาทสำคัญที่สุดในชีวิต” ให้เธอ ไปจนถึงคำกล่าวขอบคุณแม่ของ ทอม ฮูเปอร์ ซึ่งเป็นคนแนะนำเขาให้อ่านบทละครเวทีเรื่อง The King’s Speech สำหรับใช้เป็นโครงการหนังเรื่องต่อไป “นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า จงเชื่อฟังแม่” เขาพูดตบท้าย

• งานออสการ์ปีนี้กินเวลาเพียง 3 ชั่วโมง 15 นาที ซึ่งถือว่าสั้นที่สุดเป็นอันดับสองในรอบ 20 ปีรองจากงานออสการ์เมื่อปี 2005 ที่ คริส ร็อค เป็นพิธีกร (ความแตกต่างเพียง 1 นาทีเท่านั้น!) ส่วนในแง่เรตติ้ง มันตกลงจากปีก่อน 10% ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะออสการ์ปีนี้ขาดขวัญใจมหาชนแบบ Avatar แต่อย่างน้อยก็ยังดีกว่าปี 2008 และ 2009 โดยปี 2008 เมื่อ No Country for Old Men คว้าออสการ์มาครองถือเป็นปีที่ออสการ์เรตติ้งตกต่ำสุดนับจากปี 1974 ส่วนปีที่ออสการ์ทำสถิติเรตติ้งสูงสุดยังคงเป็นปี 1998 เมื่อ Titanic กวาดรางวัลมาครอง