วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 24, 2554

Oscar 2011: Best Director


ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ (Black Swan)

การแสดงเป็นศาสตร์ที่ ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ หลงใหลมาเนิ่นนาน “ตอนจบจาก American Film Institute ผมจดรายชื่อหนังที่ผมอยากสร้างจำนวนหนึ่งลงบนกระดาษ The Wrestler คืออันดับแรก ส่วนหนังเกี่ยวกับแวดวงบัลเลต์อยู่อันดับสอง” ผู้กำกับที่ชุบชีวิตทางการแสดงให้แก่ มิคกี้ รู้ก กล่าว “ผมชอบความเข้มข้นของบัลเลต์ การแสดงที่หลุดโลก บทที่เหนือจริง และบีบเค้นอารมณ์สุดโต่ง บัลเลต์ส่วนใหญ่ เช่น Swan Lake มักดัดแปลงมาจากนิทาน ฉะนั้น พวกมันจึงให้ความรู้สึกหลอนๆ สไตล์โกธิกและระทมทุกข์สไตล์โศกนาฏกรรมกรีก”

เนื่องจากบัลเลต์เป็นสื่อการเล่าเรื่องที่มีข้อจำกัดมากมาย เรื่องราวจึงต้องเรียบง่าย แบ่งแยกขาวดำชัดเจนแบบเดียวกับนิทาน และแน่นอนการแปลงกายไปเป็นบางอย่างที่ไม่ค่อยเหมือนมนุษย์ หรือคนละสายพันธุ์กับมนุษย์โดยสมบูรณ์แบบถือเป็นเรื่องชวนสะพรึงพอๆ กับน่าตื่นเต้น มองในมุมนี้ อาการเสียสติของ นีน่า (นาตาลี พอร์ตแมน) ซึ่งทะยานอยากจะเป็นดาวเด่นในวงการบัลเลต์คนใหม่ จึงเป็นเหมือนความเสี่ยงทางอาชีพที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง นักเต้นบัลเลต์จำเป็นต้องฝึกซ้อมเป็นเวลาหลายปี ปรับเปลี่ยนร่างกายตนเอง เพื่อจะได้ขึ้นไปวาดลวดลายบนเวทีให้คนดูเชื่อว่าพวกเขาเป็นใครบางคน หรืออะไรบางอย่างที่พวกเขาไม่ใช่ ความเกินจริงถือเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับบัลเลต์ ฉะนั้น การเต้นของนีน่าจึงค่อยๆ พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อเธอเริ่มเสียสติมากขึ้น ถอยห่างและแปลกแยกจากตัวเองไปเรื่อยๆ

Black Swan มีจุดเริ่มต้นจากบทหนังเรื่อง The Understudy ของ อังเดรส ไฮนส์ ซึ่งมีฉากหลังเป็นวงการละครนอกบรอดเวย์ โดยมีส่วนผสมระหว่างนิยายเรื่อง The Double ของ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ และหนังเรื่อง All About Eve แถมเจือกลิ่นอายของหนังเรื่อง Repulsion เอาไว้นิดๆ แต่หลังจากบทถูกแก้ไขอีกหลายสิบรอบ ผ่านมือนักเขียนหลายคน เริ่มจาก จอห์น แม็คลอห์ลิน ตามด้วย มาร์ค เฮย์แมน ในที่สุด อาร์โรนอฟสกี้ก็รู้สึกพอใจว่าเขามีหนัง ซึ่งคนดูกลุ่มใหญ่น่าจะสนใจ แม้ว่าฉากหลังจะห่างไกลจากคำว่า “ตลาด” ค่อนข้างมาก

“ผมคิดว่ามีหนังเกี่ยวกับบัลเลต์ที่น่าสนใจอยู่แค่ไม่กี่เรื่อง หนึ่งในนั้น คือ The Red Shoes ของ ไมเคิล พาเวลล์” อาร์โรนอฟสกี้กล่าว “บัลเลต์เป็นเหมือนอีกโลกหนึ่งที่เปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งเซ็กซี่ ทั้งปิดกั้น ผมคิดว่าหนึ่งในเหตุผลที่คนไปดูหนัง คือ เพื่อจะได้เดินทางไปยังสถานที่ที่พวกเขาไม่เคยพบเห็นมาก่อน”

บัลเลต์ถือเป็นฉากหลังที่เหมาะเจาะอย่างยิ่งสำหรับหนังสยองขวัญเกี่ยวกับเลือด หยาดเหงื่อแรงกาย และความคลุ้มคลั่งเพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ “มันเป็นกองถ่ายที่ตึงเครียดมาก” พอร์ตแมนกล่าว “ไม่ใช่กองถ่ายที่สนุกสนาน หรือครื้นเครงอย่างแน่นอน มันน่ากลัว ดุดัน และเข้มงวด ซึ่งมองในแง่หนึ่งดูเหมือนจะสะท้อนสภาพจิตใจของตัวละครได้อย่างดีเยี่ยม” ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พอร์ตแมนจะเข้าใจความรู้สึกของนีน่า เพราะการแสดงก็ไม่ต่างจากการเต้นบัลเลต์เท่าไหร่นัก เวลาคุณปล่อยตัวปล่อยใจแบบเต็มร้อย นั่นหมายถึงคุณกำลังก้าวข้ามจากโลกแห่งความจริงสู่โลกแห่งความฝัน หรือนิทาน ซึ่งคุณไม่เคยเห็นมาก่อน มันน่าตื่นเต้นที่ได้ปลดปล่อย และน่าหวาดกลัวว่าจะหลงทางอยู่ในโลกนั้นตลอดกาล


เดวิด โอ. รัสเซลล์ (The Fighter)

ครั้งสุดท้ายที่ เดวิด โอ. รัสเซลล์ สร้างชื่อเสียงในวงกว้าง คือ เมื่อคลิปเบื้องหลังกองถ่ายหนังเรื่อง I Heart Huckabees หลุดออกมาทางอินเตอร์เน็ต เป็นภาพเขาพังฉาก แล้วพ่นคำหยาบสารพัดใส่ ลิลี่ ทอมลิน และก่อนหน้านี้เขาก็เคยโด่งดังจากการรัดคอ จอร์จ คลูนีย์ ระหว่างถ่ายทำหนังเรื่อง Three Kings ซึ่งฝ่ายหลังให้สัมภาษณ์ว่ามันเป็น “ประสบการณ์เลวร้ายที่สุดในชีวิตผมอย่างไม่ต้องสงสัย”

ในระยะหลังภาพลักษณ์จอมเผด็จการของรัสเซลล์ดูจะผ่อนคลายลง เขาเป็นผู้ใหญ่ ถ่อมตน และกระทั่งอ่อนน้อมมากขึ้นระหว่างการเดินสายโปรโมตหนังเรื่อง The Fighter ผลงานกำกับเรื่องแรกที่เขาไม่ได้เขียนบทเอง “มันเป็นเหมือนพรจากพระเจ้า” รัสเซลล์กล่าว “ผมโชคดีมากที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับกลุ่มนักแสดงที่เปี่ยมพรสวรรค์ และได้ถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละครที่ทรงพลัง เต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา”

The Fighter เล่าถึงเรื่องจริงของ มิคกี้ วอร์ด นักชกที่พยายามจะกอบกู้ชื่อเสียง แต่พบว่ามันไม่ง่ายเมื่อเขามีเทรนเนอร์อย่าง ดิ๊กกี้ (คริสเตียน เบล) พี่ชายขี้ยา และผู้จัดการส่วนตัวอย่าง อลิซ (เมลิสสา ลีโอ) คุณแม่จอมบงการ มิคกี้เริ่มค้นพบความเข้มแข็ง จนกล้ายืดหยัดเพื่อตัวเองเมื่อเขาพบรักกับบาร์เทนเดอร์สาวแกร่ง ชาร์ลีน (เอมี อดัมส์)

รัสเซลล์ตอบตกลงกำกับหนัง หลังจาก ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ ถอนตัวไปสร้างหนังเรื่อง The Wrestler มันถือเป็นการตัดสินใจที่ทำให้หลายคนเซอร์ไพรซ์ เมื่อพิจารณาจากบุคลิกเฉพาะตัวแบบถึงลูกถึงคนของเขาในหนังเรื่องก่อนๆ The Fighter เป็นผลงานศึกษาตัวละครชนชั้นล่างที่ค่อนข้างเคร่งขรึม แต่ก็ไม่ได้ปราศจากสัมผัสอันเบาบางและความร่าเริง “เดวิดเพิ่มเติมบางอย่างเข้ามา และผมคิดว่าหลายคนอาจรู้สึกขัดขืนในตอนแรก” วอห์ลเบิร์ก ซึ่งควบตำแหน่งผู้อำนวยการสร้าง กล่าว “เขาใส่อารมณ์ขันเอาไว้ในสถานการณ์ที่หลายคนไม่คาดคิด”

แม้จะลดบุคลิกแข็งกร้าวลงบ้างแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่ขาดหายไปจากกองถ่ายของ เดวิด โอ. รัสเซลล์ คือ เสียงตวาด ต่างกันแค่คราวนี้ เขาเจอคู่ปรับที่สูสีอย่าง ดิ๊กกี้ เอ็คลันด์ ซึ่งไม่เคยยอมแพ้ใครเวลาถูกท้าทาย “มีอยู่สองสามครั้งที่เราต้องตรงไปลากดิ๊กกี้ออกมา ก่อนเขาจะเหวี่ยงหมัดชกเดวิด” เบลเล่าถึงเหตุการณ์ซ้อมอ่านบทครั้งหนึ่งที่บ้านของวอห์ลเบิร์ก “ดิ๊กกี้ไม่เข้าใจว่าบางครั้งการเล่าถึงชีวิตคนทั้งชีวิตในหนังเพียงสองชั่วโมงก็ต้องมีการดัดแปลงบ้าง”

การร่วมงานกันหลายครั้งอาจทำให้วอห์ลเบิร์กคุ้นเคยกับเทคนิคแปลกๆ ของรัสเซลล์ แต่สำหรับอดัมส์ เธอยังต้องใช้เวลาปรับตัวเล็กน้อย เช่น เมื่อเขาสั่งให้เธอจูบปากวอห์ลเบิร์ก (นอกบท) ขณะเข้าฉากร่วมกันในวันแรก พลางตะโกนกำชับว่า “ยิ่งกว่านั้น! ยิ่งกว่านั้น!” แต่สุดท้ายแล้วนักแสดงสาวก็ยอมรับขั้นตอนพลิกแพลงเหล่านั้น “เดวิดมีความคิดในหัวชัดเจนว่าเขาต้องการให้ชาร์ลีมีบุคลิกแบบไหน” อดัมส์กล่าว “มันเป็นงานที่ท้าทายมาก”... บางทีการที่นักแสดงถึงสามคนในหนังถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์พร้อมกันก็ช่วยพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ารัสเซลล์ไม่เพียงเข้าใจตัวละครเท่านั้น แต่ยังเข้าถึงนักแสดงจนพวกเขาค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายใน


ทอม ฮูเปอร์ (The King’s Speech)

ฉายา “รถถังโธมัส” ที่ เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ ตั้งให้กับ ทอม ฮูเปอร์ ไม่ได้หมายถึงความน่ารักน่าชังแบบเดียวกับของเล่นประเภทรถไฟจำลอง แต่หมายถึงบุคลิกแข็งแกร่งและมุ่งมั่นแบบไม่ยอมถอยของเขามากกว่า เช่น เมื่อเธอบอกเขาว่าเธอไม่สามารถมารับบทเป็น เดอะ ควีน มัม ในหนังเรื่อง The King’s Speech ได้ เพราะติดสัญญาต้องกลับมารับบทแม่มดจอมมารในหนัง Harry Potter ภาคสุดท้าย ซึ่งตารางการถ่ายทำซ้อนทับกันพอดี ฮูเปอร์กลับไม่สนใจ แล้วพยายามหาทางให้เธอมาร่วมงานจนได้ “โดยทางปฏิบัติแล้วมันผิดกฎหมาย” บอนแฮม คาร์เตอร์กล่าว “ฉันไม่เคยตอบตกลงรับเล่นหนังด้วยซ้ำ แต่กว่าจะรู้ตัวอีกที ฉันก็ต้องสวมชุดย้อนยุคเพื่อเข้าฉากทุกวันเสาร์ซะแล้ว”

ความดื้อรั้นช่วยผลักดันฮูเปอร์ให้กลายเป็นหนึ่งในนักทำหนังรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง หลังสร้างชื่อเสียงจากผลงานทางทีวีอย่าง Elizabeth I นำแสดงโดย เฮเลน เมียร์เรน และ Longford นำแสดงโดย จิม บรอดเบนท์ ตามมาด้วยหนังเล็กๆ เรื่อง The Damned United เกี่ยวกับโค้ชฟุตบอลอารมณ์ร้อนชาวอังกฤษ ผลงานทางโทรทัศน์ของฮูเปอร์ได้เสียงตอบรับอย่างยอดเยี่ยมจากนักวิจารณ์ โดยเฉพาะมินิซีรีย์ราคา 100 ล้านเหรียญของ HBO เรื่อง John Adams ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการคว้ารางวัลเอ็มมี่มาครองสูงสุดถึง 13 รางวัล และมียอดขายดีวีดีมากกว่าหนึ่งล้านแผ่น

แต่ชื่อเสียงเขาจะยิ่งขจรขจายมากขึ้นแน่นอนพร้อมกับการมาถึงของ The King’s Speech หนังเล็กๆ เกี่ยวกับพระเจ้าจอร์จที่ 6 (โคลิน เฟิร์ธ) ซึ่งเดินทางไปขอความช่วยเหลือจากนักบำบัดการพูดชาวออสเตรเลีย (เจฟฟรีย์ รัช) เพื่อรักษาอาการติดอ่าง มิตรภาพอันเหลือเชื่อระหว่างทั้งสองทำให้คนแรกเข้มแข็งพอจะรับบทบาทผู้นำประเทศ ซึ่งเขาไม่เคยอยากได้ ขณะอังกฤษประกาศทำสงครามกับนาซี

ผู้อำนวยการสร้างมองเห็นโอกาสทำเงินของ The King’s Speech แต่ฮูเปอร์กลับมองไปยังภาพรวมเกี่ยวกับทัศนคติเดิมๆ ว่ามีเพียงหนังป็อปคอร์นฟอร์มยักษ์เท่านั้นที่สามารถโกยเงินเป็นกอบเป็นกำ ส่วนพวกหนังฟอร์มจิ๋วที่ปราศจากเทคนิคพิเศษ หรือฉากระเบิดภูเขาเผากระท่อมก็สมควรจะถูกฉายแค่ตามเทศกาลหนัง หรือในวงจำกัด เป็นไปได้ไหม ถ้าหนังชีวิตสักเรื่องจะยืนอยู่ตรงกลาง ทั้งคมคาย หนักแน่น แต่ขณะเดียวกันก็แฝงความสนุกสนาน อิ่มเอิบ ที่เข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ “หนังดรามาส่วนใหญ่กลายเป็นยาขมทางการตลาดเพราะพวกมันหดหู่และมืดหม่น เคล็ดลับสำคัญอยู่ตรงอารมณ์ขัน” ฮูเปอร์เปิดเผย พร้อมแสดงตัวอย่างให้เห็นชัดเจนในหลายฉากของ The King’s Speech เช่น เมื่อนักบำบัดบอกให้คนไข้ผ่อนคลายลิ้นของตัวเองด้วยการรัวสบถคำหยาบแบบไม่ยั้ง

แม้จะไม่ใช่พวกชอบตะโกน และมีบุคลิกเรียบร้อยเหมือนหนอนหนังสือ แต่ฮูเปอร์ค่อนข้างเขี้ยวลากดินเวลาอยู่ในกองถ่าย “เขาไม่เสียเวลากับการให้กำลังใจไร้สาระ อันที่จริง ผมค่อนข้างชอบผู้กำกับที่เสียเวลาให้กำลังใจนักแสดง” เฟิร์ธกล่าว “แต่ทอมจะเมินหน้าหนี ถ้าเขาเบื่อ ขณะคุณกำลังพยายามเล่นสุดฝีมือ คุณจะเหลือบเห็นทางหางตาว่าเขาเริ่มมองไปรอบๆ ห้อง เขาไม่สามารถจ้องมองคุณได้ ถ้าเขาเห็นว่ามันไม่ดีพอ”

กลยุทธ์สำคัญเพื่อคั้นการแสดงระดับสุดยอดของฮูเปอร์ คือ ตั้งกล้องห่างจากนักแสดงแค่คืบ “ผมจะถอยห่างออกมาสัก 10 ฟุตก็ได้ แล้วใช้เลนส์ซูมเพื่อให้ได้ภาพโคลสอัพระดับเดียวกัน” ฮูเปอร์บอก “แต่โดยจิตวิทยาแล้ว การตั้งกล้องไว้ใกล้ๆ ช่วยกระตุ้นอารมณ์ได้มากกว่า”... ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมเฟิร์ธถึงถ่ายทอดความอึดอัดคับแค้น อาการเกร็ง และพูดไม่ออกของพระเจ้าจอร์จที่ 6 ได้สมจริงขนาดนั้น


เดวิด ฟินเชอร์ (The Social Network)

ในผลงานเรื่องก่อนหน้าอย่าง Seven และ Fight Club ผู้กำกับ เดวิด ฟินเชอร์ กลายเป็นที่ยอมรับจากความสามารถในการสร้างบรรยากาศมืดหม่นเหมือนกำลังตกอยู่ในฝันร้าย ความแตกต่างของ The Social Network อยู่ตรงที่ “สไตล์” ถูกลดน้ำหนักลงเพื่อเปิดทางให้กับ “เนื้อหา” กระนั้น คนดูก็ยังสามารถสัมผัสได้ถึงความขัดแย้งระหว่างโลกภายนอกกับโลกในรั้วมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (เน้นความสง่างามและการจัดแสงแบบโลวคีย์) ได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์สะท้อนความแตกต่างทางชนชั้น และยั่วล้อความพยายามของเด็กหนุ่มชาวยิวคนหนึ่งที่จะไต่เต้าสู่สถานะ “ผู้ชนะ” หลังจากตกอยู่ในหมวด “ไอ้ขี้แพ้” มาตลอดชีวิต

มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก (เจสซี ไอเซนเบิร์ก) ใน The Social Network ไม่ได้มีภาพลักษณ์ของวายร้ายหิวเงินเหมือนที่หลายคนคาดคิด ทั้งนี้เพราะฟินเชอร์ และคนเขียนบท แอรอน ซอร์กินส์ (ดัดแปลงจากหนังสือ The Accidental Billionaires) มีมุมมองที่แตกต่างเกี่ยวกับบุรุษผู้ก่อตั้ง Facebook โดยคนแรกมองซัคเกอร์เบิร์กในฐานะผู้สร้าง (“สิ่งที่มาร์คทำก็ไม่ต่างจากการกำกับหนัง งานของคุณ คือ บำรุงรักษามันให้เติบใหญ่... และถ้าในระหว่างทางคุณต้องทำร้ายความรู้สึกของบางคนเพื่อปกป้องสิ่งนั้นให้รอดชีวิต คุณก็จำเป็นต้องทำ” ฟินเชอร์ให้สัมภาษณ์) ส่วนคนหลัง แม้จะเห็นด้วย แต่ก็เสริมว่าเขาเป็นผู้ทำลายในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ซอร์กินส์ยังวิพากษ์แก่นของเว็บไซต์อย่าง Facebook ว่าแทนที่จะเชื่อมโยงคนเข้าหากันเหมือนดังคำโฆษณา ความจริงแล้วกลับผลักไสคนให้ห่างไกลกันต่างหาก

ปมขัดแย้งระหว่างสองเวอร์ชั่นของซัคเกอร์เบิร์ก (ด้านหนึ่งน่าเห็นใจ หรือกระทั่งน่าชื่นชม ส่วนอีกด้านหนึ่งกลับน่าสมเพช ชิงชัง หรือเหยียดหยัน) ถูกนำเสนอออกมาอย่างชัดเจนตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง ซึ่งจะกลายเป็นหนึ่งในฉากคลาสสิกแห่งโลกภาพยนตร์อย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อมาร์คโดนแฟนสาวบอกเลิก ความเจ็บแค้นขมขื่นทำให้เขาวิ่งกลับไปหอพัก แล้วระบายความโกรธด้วยการสร้างเว็บไซต์ขึ้น ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Facebook ความน่าขบขันของฉากเปิดเรื่องดังกล่าวอยู่ตรงข้อเท็จจริงที่ว่าระบบการสื่อสารของคนรุ่นใหม่ถูกปรับเปลี่ยน หรือ “ปฏิวัติ” โดยความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการสื่อสารแบบตัวต่อตัว จากนั้น หนังก็ตัดสลับเหตุการณ์ระหว่างมาร์คนั่งพิมพ์อัลกอริธึมกับงานปาร์ตี้ของเหล่านักศึกษาฮาร์วาร์ดในชมรมชนชั้นสูง

สองด้านที่ตรงข้ามกันของซัคเกอร์เบิร์กช่วยเพิ่มความเฉียบคมให้กับ The Social Network ซึ่งแก่นเรื่องค่อนข้างเก่าแก่และคลาสสิก (แม้ฉากหลังจะร่วมสมัย) เกี่ยวกับความทะเยอทะยานที่ไม่สิ้นสุด ความสำเร็จแบบคาดไม่ถึง และราคาที่ต้องจ่ายให้กับความสำเร็จ ถ่ายทอดผ่านฉากการสอบปากคำในอีกหลายปีต่อมา เมื่อมาร์คต้องเผชิญหน้ากับข้อกล่าวหาว่าหักหลังอดีตเพื่อนสนิทเพียงคนเดียวของเขา เอดัวร์โด เซเวอริน (แอนดรูว์ การ์ฟิลด์)

แม้เอดัวร์โดจะเป็นตัวละครที่น่าเห็นใจสูงสุด แต่หนังระมัดระวังอย่างมากที่จะไม่เลือกข้าง “ผมอยากให้คนดูนึกถามตัวเองว่า... ส่วนของผู้ทำลายเป็นจริงแค่ไหน หรือเป็นแค่การสร้างภาพโดยคนที่เชื่อว่าถูกเขาทำลาย” ซอร์กินกล่าว ดูเหมือนว่าสุดท้ายแล้ว สิ่งเดียวที่คนดูสามารถตอบได้อย่างมั่นใจ คือ The Social Network เป็นหนังที่ท้าทายความคิดและเสียดแทงอารมณ์ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งนั่นหาไม่ได้ง่ายๆ จากสตูดิโอฮอลลีวู้ดในปัจจุบัน


อีธาน โคน และ โจเอล โคน (True Grit)

สองพี่น้อง โจเอล และ อีธาน โคน พูดย้ำเสมอว่าพวกเขาตั้งใจสร้าง True Grit ไม่ใช่เพื่อรำลึกถึงหนังเวอร์ชั่นเก่าที่นำแสดงโดย จอห์น เวย์น แต่เพื่อถ่ายทอดนิยายที่พวกเขารักของ ชาร์ลส์ พอร์ติส ให้ออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวบนจอ โดยเล่าเรื่องผ่านมุมมองของ แม็ตตี้ รอส หญิงสาวโสดที่เมื่อหลายปีก่อนได้ออกเดินทางตามล่าหาตัวฆาตกรที่สังหารพ่อของเธอ

“เธอเป็นยายตัวแสบ” อีธานกล่าวถึงแม็ตตี้ “แต่มีบางอย่างน่าชื่นชมเกี่ยวกับเด็กสาวคนนี้ซึ่งดึงดูดความสนใจของพวกเรา” จากนั้นโจเอลก็รีบเสริมว่า “เราคิดว่าอย่าเปลี่ยนแปลงอะไรมากจะดีกว่าในเมื่อตัวละครและเรื่องราวมันชวนติดตามและน่าหลงใหลอยู่แล้ว” ในหนังเรื่อง True Grit สองพี่น้องโคนตอกย้ำอยู่เสมอว่า แม็ตตี้ (ไฮลี สไตน์เฟลด์) ยังเป็นแค่เด็กคนหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันพวกเขาไม่ได้ทำให้เธอดูน่ารัก ไร้เดียงสาแบบเด็กหญิงในหนังฮอลลีวู้ดทั่วไปเช่นกัน เธอใช้การข่มขู่ ติดสินบน และการเจรจาต่อรองเพื่อขอความช่วยเหลือจาก รูสเตอร์ ค็อกเบิร์น (เจฟฟ์ บริดเจส) รวมถึงเจ้าหน้าที่กฎหมายจากเท็กซัส (แม็ท เดมอน) และแม้ว่าในตอนแรกพวกเขาจะไม่คิดเอาจริงเอาจังอะไรกับเธอนัก แต่ไม่นานแม็ตตี้ก็พิสูจน์ตัวเองว่าเธอเด็ดเดี่ยว แข็งแกร่ง และห้าวหาญไม่แพ้ผู้ชายคนใด

แฟนหนังของสองพี่น้องโคน ซึ่งคุ้นเคยและชื่นชอบเหล่าตัวละครสุดพิลึก ความรุนแรงแบบถึงเลือดถึงเนื้อ รวมไปถึงอารมณ์ขันล้อเลียนสุดเจ็บแสบแบบที่เห็นในหนังอย่าง Fargo, The Big Lebowski หรือ No Country for Old Men อาจต้องใช้เวลาปรับตัวสักพักกว่าจะพลันตระหนักว่า True Grit เป็นงานคารวะหนังคาวบอยยุคเก่าขั้นสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นในแง่บรรยากาศโดยรวม (ใช้บริการของตากล้องคู่บุญ โรเจอร์ เดียกินส์ ซึ่งดูจะศึกษาผลงานคาวบอยของ จอห์น ฟอร์ด มาอย่างดี) หรือแก่นแห่งเรื่องราว

“มันเป็นหนังที่นำเสนออย่างตรงไปตรงมาและเป็นทางการ” โจเอลกล่าว “เราไม่ได้พยายามเพิ่มสไตล์ หรือความหวือหวาใดๆ ลงไป เวลาเราคิดว่าควรจะถ่ายแต่ละฉากอย่างไร เราจะนึกถึงวิธีแบบที่หนังคลาสสิกนิยมทำกัน”

นอกจากนี้ ตัวละครยังพูดจากันด้วยภาษาไพเราะ ยอกย้อนเช่นเดียวกับนิยาย (แน่นอน หลายประโยคเป็นการลอกมาจากต้นฉบับแบบทั้งดุ้น) ใน True Grit ความยุติธรรมเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ก็เหมาะสมและคู่ควร ที่สำคัญ ไม่มีใครต้องตายโดยปราศจากความผิด... มันเป็นหนังที่อัดแน่นด้วยอารมณ์และคุณค่าทางศีลธรรม

อย่างไรก็ตาม กลิ่นไอ “ความเป็นโคน” ยังพอมีให้สัมผัสได้บ้าง ดังจะเห็นได้จากฉากรูสเตอร์กับแม็ตตี้เผอิญเจอคนภูเขาที่เร่ร่อนตามป่ามาช้านาน (บางทีอาจจะนานเกินไป) และชื่นชอบพรมหนังหมีเป็นชีวิตจิตใจ โดยใช้มันสวมกันหนาวไปพร้อมๆ กับเป็นชุดแฟนซีในเวลาเดียวกัน ความขึ้นชื่อเรื่องนิยมความรุนแรงของรูสเตอรทำให้การเผชิญหน้าครั้งนี้เต็มไปด้วยความตึงเครียด แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครถูกจับใส่เครื่องสับไม้แบบใน Fargo ไม่น่าแปลกที่ True Grit กลายเป็นหนังเพียงไม่กี่เรื่องของสองพี่น้องโคนที่ได้เรท PG-13 และสุดท้ายความสากลของประเด็นหนัง ตลอดจนความสนุกสนานแบบหนังกระแสหลักก็ผันให้มันกลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดของพวกเขาไปโดยปริยาย

ไม่มีความคิดเห็น: