วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 24, 2554

Oscar 2011: Best Actor


ฮาเวียร์ บาเด็ม (Biutiful)

จริงอยู่ ฮาเวียร์ บาเด็ม อาจคุ้นเคยกับวงการบันเทิงมาตั้งแต่อายุ 9 ขวบ เมื่อต้องช่วยแม่ ซึ่งเป็นนักแสดง (เช่นเดียวกับคุณตาและคุณยาย) ซ้อมอ่านบทเป็นประจำ ส่วนลุงของเขาก็เป็นผู้กำกับชาวสเปนที่โด่งดัง แต่หนูน้อยบาเด็มไม่เคยหลงใหลในศาสตร์แห่งการแสดง และทุ่มเทสมาธิในช่วงวัยรุ่นไปกับการฝึกฝนรักบี้ ก่อนต่อมาจะเลือกเข้าเรียนศิลปะเพราะหวังจะยึดอาชีพเป็นจิตกร แต่ขณะเดียวกันก็ตกลงรับงานแสดงเล็กๆ น้อยๆ เพื่อหารายได้พิเศษ

ราวชะตากรรมเล่นตลก ปัจจุบันขณะอายุได้ 41 ปี ฮาเวียร์ บาเด็ม กลับกลายเป็นนักแสดงสเปนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในประวัติศาสตร์ เหล่าเพื่อนร่วมงานต่างพากันเคารพนับถือ มีโอกาสรับบทท้าทายในหนังของผู้กำกับชื่อกระฉ่อนระดับโลกอย่าง วู้ดดี้ อัลเลน, เปโดร อัลโมโดวาร์, มิลอส ฟอร์แมน และล่าสุดเพิ่งตกลงเซ็นสัญญาเล่นหนังเรื่องใหม่ของ เทอร์เรนซ์ มาลิก นอกจากนี้ เขายังเคยคว้ารางวัลออสการ์มาครองในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากผลงานมาสเตอร์พีซของสองพี่น้องโคนเรื่อง No Country for Old Men

“ผมคิดว่านักแสดงที่ดีที่สุดไม่เพียงอาศัยพรสวรรค์เท่านั้น แต่ยังต้องทำงานหนักกว่าคนอื่นๆ ด้วย และฮาร์วีย์คือหนึ่งในนั้น” จูเลียน ชนาเบล ซึ่งเคยกำกับบาเด็มจนเขาได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรกจาก Before Night Fallls กล่าว “เขาจมดิ่งไปกับบทด้วยสมาธิระดับสุดยอด เขาเดินทางผ่านหลากหลายความรู้สึก จากอารมณ์ขันสู่ความสิ้นหวัง ได้อย่างน่าเชื่อถือจนดูเหมือนเขาไม่ได้แสดง”

แต่สำหรับบาเด็ม ยังไม่มีบทใดทดสอบเขาทั้งทางร่างกายและจิตใจ หรือเรียกร้องความมุ่งมั่นตั้งใจของเขามากเท่ากับบทชายที่กำลังจะตายด้วยโรคมะเร็งในหนังเรื่อง Biutiful บทซึ่งทำให้เขาคว้ารางวัลนักแสดงนำชายจากคานส์มาครอง และบทที่ผู้กำกับ อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินอาร์ริตู เขียนขึ้นเพื่อเขาโดยเฉพาะ “ฮาเวียร์เป็นนักแสดงที่เปี่ยมเสน่ห์ดึงดูดมาก ในแง่หนึ่งเขาอัดแน่นไปด้วยพลังดิบและความเข้มแข็งแบบวัวกระทิง รวมเลยไปถึงใบหน้าตามแบบฉบับของผู้ชายโรมัน แต่ขณะเดียวกันเขาก็เปี่ยมอารมณ์อ่อนไหวดุจกวี โอบอุ้มอารมณ์อันลึกซึ้งและซับซ้อนเอาไว้ภายใน คุณสมบัติทั้งสองด้านทำให้เขาเหมาะจะรับบทนำในหนังเรื่องนี้” อินอาร์ริตูกล่าว

ความเหนื่อยล้าในระหว่างการถ่ายทำ Biutiful ไม่ได้เป็นผลจากบุคลิก “นิยมความสมบูรณ์แบบ” ของอินอาร์ริตู (ซึ่งมักจะเรียกร้องให้นักแสดงเล่นแต่ละฉากมากกว่า 50 เทค) หรือเพราะเขาได้รับบาดเจ็บกล้ามเนื้อบริเวณแผ่นหลังขณะเข้าฉากที่ต้องอุ้มตัวละครคนหนึ่ง และต้องทนเจ็บหลังไปตลอดช่วงสองเดือนสุดท้ายของการถ่ายทำ แต่เกิดจากการที่หนังถ่ายทำแบบเรียงตามลำดับเหตุการณ์ ส่งผลให้บาเด็มต้องรักษาระดับความกดดันทางอารมณ์ของตัวละครเอาไว้ตลอด ซึ่ง ณ จุดหนึ่งสามารถทำใจยอมรับจุดจบที่กำลังจะมาถึงได้แล้ว แต่จำเป็นต้องกล้ำกลืนเก็บกดเอาไว้ภายในเพื่อเห็นแก่ลูกๆ มันเป็นการแสดงที่จริงใจ และทรงพลังจนคุณไม่อาจละสายตาจากจอได้ แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความรู้สึกเจ็บปวด รวดร้าว และสิ้นหวังไปพร้อมๆ กันจนอยากจะเบือนหน้าหนี


เจฟฟ์ บริดเจส (True Grit)

การนั่งมอง เจฟฟ์ บริดเจส รับบท รูสเตอร์ ค็อกเบิร์น ในหนังเรื่อง True Grit ไม่เพียงจะทำให้คนดูนึกถึง “เดอะ ดุค”จอห์น เวย์น ซึ่งเคยเล่นบทเดียวกันนี้จนได้รางวัลออสการ์มาแล้วเมื่อปี 1969 แต่ลักษณะอารมณ์ขัน ตลอดจนบุคลิกไม่แยแสต่อสิ่งใดในโลกของค็อกเบิร์นยังอาจพาลทำให้คนดูหวนนึกถึง “เดอะ ดู๊ด” ตัวละครเอกในหนังคัลท์สุดฮิตเรื่อง The Big Lebowski ซึ่งรับบทโดยบริดเจส และถือเป็นการร่วมงานกันครั้งเดียวก่อนหน้านี้ระหว่างนักแสดงชายกับสองผู้กำกับรางวัลออสการ์ โจเอล และ อีธาน โคน (อันที่จริง บุคลิกขี้เมาของรูสเตอร์ก็อาจทำให้หลายคนนึกถึง แบด เบลค ใน Crazy Heart เพียงแต่คราวนี้มันถูกนำมาใช้เรียกเสียงหัวเราะมากกว่าพลังดรามา)

“ผมไม่รู้ว่าเราเปลี่ยนไปมากแค่ไหน แต่ทั้งหมดมันเป็นอดีตที่ห่างไกลเหลือเกิน” บริดเจสกล่าวถึงการกลับมาร่วมงานกับสองพี่น้องโคนอีกครั้งหลังจากเวลาผ่านไป 12 ปี

สิ่งแรกที่สองพี่น้องโคนบอกกับดารานำของพวกเขา คือ อย่าไปคิดถึงหนังของ จอห์น เวย์น แต่ให้มองหาแรงบันดาลใจจากนิยายต้นฉบับของ ชาร์ลส์ พอร์ติส “พล็อตคร่าวๆ เป็นเรื่องของเด็กหญิงคนหนึ่งที่ต้องการออกตามล่าคนร้ายที่ฆ่าพ่อของเธอ” บริดเจสกล่าว “เธอถามชาวเมืองว่าใครเป็นนักล่าค่าหัวที่เก่งสุด คำตอบ คือ คนเก่งนั้นมีหลายคน แต่รูสเตอร์เป็นคนเดียวที่ไร้เมตตาและโหดสุด ไม่มีใครอยากไปมีเรื่องกับเขา” เท่านี้คุณอาจพอเดาได้ว่าค็อกเบิร์นเวอร์ชั่นบริดเจสจะ “มืดหม่น” กว่าเวอร์ชั่นเวย์นมากแค่ไหน

ทุกอย่างที่สร้างความรู้สึก “ดีๆ” ในหนังเวอร์ชั่นแรกถูกกำจัดทิ้งไปแทบทั้งหมด True Grit ของพี่น้องโคนสะท้อนให้เห็นโลกตะวันตกที่แท้จริง เต็มไปด้วยฝุ่นคลุ้งตลบ ความรุนแรง และคาวเลือด แต่ในเวลาเดียวกันหนังก็ให้น้ำหนักมากขึ้นกับสัมพันธภาพอันซับซ้อนระหว่างค็อกเบิร์นกับเด็กหญิง แล้วค่อยๆ พัฒนามันไปสู่ความผูกพันที่แนบแน่นทางจิตวิญญาณ

“ผมคิดว่าเราทั้งสองต่างเป็นตัวละครที่มีมิติหลากหลาย” บริดเจสกล่าวถึงรูสเตอร์ และ แม็ตตี้ รอส (ไฮลี สไตน์เฟลด์) “เด็กหญิงอาจดูไร้เดียงสา แต่เธอฉลาดและค่อนข้างรอบรู้ในหลายเรื่อง ส่วนความไร้เดียงสาและอ่อนต่อโลกของรูสเตอร์กลับค่อยๆ ถูกปอกเปลือกผ่านเกราะภายนอกที่หยาบกระด้างและผ่านโลกมามาก”

ความยอดเยี่ยมของบริดเจสในหนังเรื่องนี้อยู่ตรงที่เขาไม่ได้พยายามทำให้ค็อกเบิร์นน่าคบหา หรืออบอุ่น อ่อนโยน แต่ท่ามกลางบุคลิกน่ารังเกียจ ความหยาบคาย และอาการเมาหัวราน้ำ คนดูกลับอดจะเอาใจช่วยเขาไม่ได้ และค้นพบอารมณ์ขันในพฤติกรรมห่ามๆ และบ้าดีเดือด เขาเป็นฆาตกรเลือดเย็นที่สามารถยิงคนจากข้างหลังได้โดยไม่ลังเล แต่กระนั้น ประกายความดีงามบางอย่างในตัวเขาก็ทำให้เราลุ้นให้เขาประสบความสำเร็จ


เจสซี ไอเซนเบิร์ก (The Social Network)

ตอนที่ เจสซี ไอเซนเบิร์ก ได้อ่านบทหนังเรื่อง The Social Network ของ แอรอน ซอร์กิน เป็นครั้งแรก เขาไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับ Facebook เขาไม่ได้สมัครเป็นสมาชิก และไม่รู้จักว่า มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก เป็นใคร ฉะนั้น หลังจากได้รับเลือกให้มารับบทนำในหนัง ไอเซนเบิร์กจึงพยายามขอพบเจ้าของ Facebook ตัวจริง แต่ไม่สำเร็จ เมื่อเหลือเวลาเตรียมตัวอีกแค่เดือนเดียว เขาจึงเดินหน้าตามแผนสำรองด้วยการค้นหารูปภาพและคลิปให้สัมภาษณ์ของซัคเกอร์เบิร์กมาศึกษาระบบความคิดของเศรษฐีพันล้านที่อายุน้อยที่สุดผู้นี้

พอรู้ว่าซัคเกอร์เบิร์กเชี่ยวชาญกีฬาฟันดาบ ทั้งยังติดนิสัยนั่งและยืน “หลังตรง” ตลอดเวลา ไอเซนเบิร์กจึงตัดสินใจเข้าคลาสเรียนฟันดาบเพื่อปรับปรุงร่างกายช่วงบนให้พร้อมสำหรับบท แม้ตัวหนังจะห่างไกลจากความเป็น “หนังชีวประวัติ” มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก และทั้งซอร์กิน รวมถึงผู้กำกับ เดวิด ฟินเชอร์ เองต่างยืนกรานเช่นเดียวกันว่า ไม่ต้องการ หรือไม่สนใจว่าเขาจะเลียนแบบท่าทางของซัคเกอร์เบิร์กตัวจริงได้เหมือนแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดพิสูจน์ถึงความทุ่มเทและอุทิศตนให้กับงานของไอเซนเบิร์ก

“คนที่น่าสนใจที่สุดที่ผมเคยร่วมงานด้วย คือ คนที่ใส่ใจในสิ่งที่ตนเองทำอยู่ถึงขนาดยินดีทำบางอย่างที่อาจไม่ส่งผลโดยตรงกับงาน แต่มีส่วนช่วยในขั้นตอนการพัฒนา” นักแสดงหนุ่มวัย 27 ปี ที่นักวิจารณ์เริ่มจับตามองจากหนังอินดี้เรื่อง The Squid and the Whale จนต่อมากลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากหนังฮิตเรื่อง Zombieland กล่าวชื่นชมผู้กำกับที่ขึ้นชื่อเรื่องความทุ่มเทและพิถีพิถันอย่างฟินเชอร์ (ในฉากเปิดเรื่องขณะมาร์คกำลังวิ่งกลับไปยังหอพักหลังถูกแฟนสาวบอกเลิก ฟินเชอร์ตัดสินใจหนึ่งเดือนก่อนเปิดกล้องว่าจะถ่ายทำโดยให้ตัวละครวิ่งจากซ้ายไปขวาของเฟรมภาพ แทนการวิ่งจากขวาไปซ้ายตามมาตรฐานปกติ ส่งผลให้คนออกแบบเครื่องแต่งกายต้องสลับตัวอักษรยี่ห้อ Gap บนแจ๊กเก็ตของมาร์คเพื่อให้สามารถกลับเฟรมภาพได้ในขั้นตอนหลังการถ่ายทำ)

แต่คำพูดดังกล่าวดูเหมือนจะสามารถใช้อธิบายลักษณะการทำงานของไอเซนเบิร์กได้เช่นกัน

“เจสซีชอบถามว่า ‘ผมเล่นโอเคไหม ผมเล่นโอเคไหม’ ซึ่งผมจะตอบกลับไปว่า ‘ไปถามคนอื่นเถอะ เพราะถ้าฉันเห็นว่านายเล่นไม่โอเค ฉันไม่หุบปากเงียบแน่’ ” ฟินเชอร์เล่าพร้อมเสียงหัวเราะ “เขาเป็นนักแสดงชั้นยอดเพราะเขาเอาจริงเอาจังมาก ผมได้แต่หวังว่าเขาจะสนุกกับงานไปพร้อมๆ กันด้วย... เราเคยพูดคุยกันหลายครั้งว่าต้องการให้มาร์คเป็นตัวละครที่ดูลึกลับ ยากต่อการอ่านความรู้สึก และเจสซีก็ทำได้สำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย”

นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมฉากจบของหนังจึงทรงพลังอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะคนดูไม่อาจแน่ใจได้ว่ามาร์ครู้สึกอย่างไร เขาเศร้า? โหยหา? เปลี่ยวเหงา? หรือแค่สงสัยใคร่รู้? การแสดงอันลุ่มลึกและแยบยลของไอเซนเบิร์กทำให้คนดูไม่รู้ว่าควรจะรังเกียจ หรือสงสาร มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ดี แต่ที่แน่ๆ เขาได้ทำให้มาร์คกลายเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ มีข้อบกพร่อง... และหนึ่งในตัวละครที่น่าจดจำของโลกภาพยนตร์


โคลิน เฟิร์ธ (The King’s Speech)

นับตั้งแต่ภาพของมิสเตอร์ดาร์ซีย์แห่งมินิซีรีย์สุดฮิต Pride and Prejudice ก้าวขึ้นจากสระในชุดเสื้อเชิ้ตเปียกแนบเนื้อ ส่งอิทธิพลให้หญิงสาวนับล้านทั่วโลกพากันถอนหายใจด้วยความโหยหา โคลิน เฟิร์ธ ก็ดูเหมือนจะถูกบีบบังคับให้ต้องเปียกปอนในผลงานแทบทุกเรื่องต่อมา ไม่ว่าจะเป็น Bridget Jones: The Edge of Reason, Love Actually, Mamma Mia! หรือกระทั่ง A Single Man หนังที่ทำให้เขาได้เข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเมื่อปีก่อน

แต่ไม่ใช่ใน The King’s Speech หนังที่กำลังจะทำให้เขา “คว้า” รางวัลออสการ์มาครองเป็นครั้งแรก ทั้งนี้เพราะมันปราศจากอารมณ์โรแมนติกระหว่างชายหญิง (หรือชายชาย) แต่กลับอบอวลไปด้วยมิตรภาพระหว่างเพื่อนสองคนที่แตกต่างกันทางฐานะอย่างสุดโต่ง นั่นคือ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 (หรือที่ทุกคนในครอบครัวเรียกว่าเบอร์ตี้) และ ไลโอเนล โล้ก (เจฟฟรีย์ รัช) นักบำบัดการพูดที่คอยช่วยเหลืออาการติดอ่างให้เบอร์ตี้ ขณะอังกฤษกำลังจะเข้าสู่สงครามกับนาซี และการกระจายเสียงวิทยุทำให้ราชวงศ์ต้องทำตัวเป็นนักแสดงมากขึ้นเรื่อยๆ

ความท้าทายหลักของเฟิร์ธไม่ได้อยู่แค่การเลียนแบบพฤติกรรมติดอ่างของเบอร์ตี้ แต่เขาต้องเลียนแบบโดยไม่ทำให้คนดูรู้สึกขบขันอีกด้วย อย่าลืมว่าการพูดติดอ่างถูกนำมาล้อเลียนเพื่อเรียกเสียงหัวเราะจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว ผ่านตัวละครในหนังอย่าง A Fish Called Wanda และตัวการ์ตูนชื่อดังของวอร์เนอร์อย่าง พอร์กี้ พิก กระนั้น เฟิร์ธยังจำได้ว่า One Flew over the Cuckoo’s Nest เคยนำเสนอตัวละครที่พูดติดอ่างด้วยแง่มุมเห็นอกเห็นใจ

กุญแจสำคัญน่ะหรือ อย่าพยายามพูดติดอ่าง แต่ให้พยายามที่จะไม่พูดติดอ่าง “คนดูไม่อยากเห็นคุณพยายามเป็นอะไรทั้งนั้น” นักแสดงหนุ่มใหญ่ชาวอังกฤษกล่าว “สิ่งที่ควรปรากฏชัดบนจอ คือ ความพยายามของตัวละครที่จะเอาชนะข้อด้อยของตนเอง คนดูต้องรู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดของตัวละคร แต่ไม่มากเกินไปจนอยากจะลุกหนีออกจากโรงหนัง คุณต้องทำให้คนดูทราบว่ามันใช้เวลาเป็นชั่วโมงสำหรับชายคนนี้กว่าจะพูดคำสักคำออกมาได้ แต่หนังของคุณมีความยาวแค่ 90 นาที ฉะนั้น คุณต้องบอกเล่าข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพและรวบรัด”

การแสดงอันละเอียดอ่อนของเฟิร์ธค่อยๆ ปอกเปลือกให้เห็นความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาของเบอร์ตี้ ซึ่งหวาดหวั่นการขึ้นครองราชย์เนื่องจากเขาไม่อยากถูกจารึกในตำราประวัติศาสตร์ว่าเป็นพระเจ้าจอร์จติดอ่าง จากสายตาของคนนอกใบหน้าบูดบึ้งและตึงเครียดของเขาอาจสะท้อนบุคลิกเย็นชา หรือเย่อหยิ่ง แต่ความจริงแล้ว มันเป็นเพียงเกราะที่คอยปกป้องความไม่มั่นใจภายใน ขณะเดียวกัน ในฉากที่อบอุ่นที่สุดฉากหนึ่ง เฟิร์ธได้แสดงให้เห็นด้านที่อ่อนโยนของเบอร์ตี้ เมื่อเขาคุกเข่าแล้วแกล้งทำตัวเป็นนกเพนกวินเพื่อเรียกรอยยิ้มของลูกๆ มันทำให้คนดูพลันตระหนักว่าเขาไม่ใช่แค่พระราชาที่มุ่งมั่นเท่านั้น แต่ยังเป็นพ่อที่น่ารักอีกด้วย


เจมส์ ฟรังโก (127 Hours)

หากคุณติดตามอาชีพในวงการบันเทิงของ เจมส์ ฟรังโก้ อย่างใกล้ชิด คุณจะพบว่ามันขึ้นๆ ลงๆ ไม่ต่างจากรถไฟเหาะ ยากต่อการคาดเดา และบางครั้งอาจถึงขั้นเบี่ยงเบนออกนอกเส้นทาง เช่น การตัดสินใจหันไปเรียนต่อปริญญาเอก หรือจัดแสดงภาพถ่าย หรือเขียนหนังสือรวมเรื่องสั้น คนดูคุ้นเคยเขาจากการรับเล่นบทหลากหลายแนว ตั้งแต่หนังตลกเกี่ยวกับสองเพื่อนซี้ที่ชอบพี้กัญชาอย่าง Pineapple Express หนังแอ็กชั่นบล็อกบัสเตอร์อย่าง Spider-Man หนังชีวประวัตินักการเมืองรักร่วมเพศอย่าง Milk ไปจนถึงละครน้ำเน่าภาคกลางวันอย่าง General Hospital

แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า 127 Hours คือ ผลงานการแสดงที่หนักหนาสาหัส ซับซ้อน และแน่นอนว่าน่าประทับใจที่สุดของฟรังโก้ หนังดัดแปลงจากเรื่องจริงของ แอรอน ราลสตัน ชายหนุ่มที่ออกเดินทางไปท่องเที่ยวปีนเขาในมลรัฐยูตาห์ แล้วเกิดพลัดตกลงไปติดในซอกหินจนไม่อาจขยับเขยื้อนไปไหนได้เป็นเวลาเกือบสัปดาห์ (ดูชื่อหนัง) เขาต้องดื่มน้ำปัสสาวะเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ก่อนสุดท้ายจะตัดสินใจตัดแขนท่อนล่างของตัวเองด้วยมีดพกเพื่อรักษาชีวิตรอด ฉากดังกล่าวถูกจำลองออกมาอย่างซื่อสัตย์และสมจริงจนผู้ชมหลายคนถึงแก่เป็นลมคาโรงหนัง

“แอรอนเล่าว่ามันเหมือนการหั่นสเต๊ก” ฟรังโก้พูดถึงฉากไคลแม็กซ์ของหนัง “สำหรับเขา กล้ามเนื้อไม่ใช่เรื่องยากที่จะตัด แม้ว่ามีดพกจะไม่ค่อยคมก็ตาม แต่ปัญหาอยู่ตรงเส้นประสาทและการหักกระดูกออกเป็นสองท่อน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ชวนตะลึงสุด คือ แอรอนบอกว่าขณะลงมือตัดแขนตัวเองนั้น เขารู้สึกเปี่ยมสุขและกระปรี้กระเปร่า เพราะหลังจากรู้สึกหดหู่และหงุดหงิดอยู่นานห้าหรือหกวัน คิดไม่ตกว่าจะเอาตัวรอดจากสถานการณ์ครั้งนี้อย่างไร ในที่สุดเขาก็ค้นพบทางออก แอรอนเล่าว่าเขาหั่นแขนตัวเองพร้อมทั้งรอยยิ้ม ข้อมูลดังกล่าวบอกผมทุกอย่างที่ควรจะรู้เกี่ยวกับตัวละคร”

บุคลิกที่ร่าเริง อัธยาศัยดี ตลอดจนรอยยิ้มกริ่มตรงมุมปากของฟรังโก้มักล่อลวงให้หลายคนเข้าใจผิดว่าเขาเป็นเหมือนตัวละครใน Pineapple Express และอาจไม่เหมาะกับหนังดรามาหนักๆ ที่เรียกร้องการบีบคั้นและเปลือยอารมณ์แบบหมดเปลือก แต่โชคดีที่ผู้กำกับ แดนนี บอยล์ มองทะลุไปถึงศักยภาพซึ่งซุกซ่อนอยู่ภายใน

“ท่าทางภายนอกของเขาอาจดูเหมือนคนเมายาตลอดเวลา แต่นั่นเป็นแค่หน้ากาก เพื่อป้องกันไม่ให้ฮอลลีวู้ดกลืนกินเขา” บอยล์กล่าว “ใน 127 Hours เจมส์ต้องแบกหนังทั้งเรื่องไว้บนบ่า มันเป็นบทที่เรียกร้องความทุ่มเททั้งทางร่างกายและจิตใจ ฉากหลังจำกัดอยู่แค่สถานที่เดียว แต่อัดแน่นด้วยความพลิกผันทางอารมณ์ซึ่งตัวเอกต้องดึงคนดูให้ร่วมเดินทางไปพร้อมๆ กัน เจมส์ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์แบบ! ปกติแล้วผมค่อนข้างจุกจิกกับนักแสดง แต่สำหรับเจมส์ ผมมอบความไว้วางใจให้เขาเต็มที่ และเขาก็ตอบแทนศรัทธาของผมได้มากกว่าที่คาดคิดไว้เสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากลองเทค” การแสดงของฟรังโก้อัดแน่นไปด้วยอารมณ์หลากหลาย และพลังไฟแห่งความมุ่งมั่นที่จะมีชีวิตรอดจนหนังไม่จำเป็นต้องใช้สไตล์ภาพ หรือการตัดต่อที่หวือหวาในการดึงความสนใจของคนดูตลอดเวลาสองชั่วโมง

ไม่มีความคิดเห็น: