วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 17, 2554

Oscar 2011: Best Supporting Actress


เอมี อดัมส์ (The Fighter)

แม้กระทั่งหลังจากผ่านขั้นตอนการคัดเลือกแล้ว ผู้กำกับ เดวิด โอ’รัสเซลล์ ก็ยังเชื่อว่า เอมี อดัมส์ ดูไม่ค่อยเหมาะกับบทชาร์ลีน บาร์เทนเดอร์สาวสุดแกร่งที่หาญยืนหยัดอยู่ตรงกลางระหว่าง มิคกี้ วอร์ด (มาร์ค วอห์ลเบิร์ก) กับครอบครัวตัวแสบของเขา ปฏิกิริยาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อพิจารณาจากผลงานในอดีตของอดัมส์ ซึ่งโดดเด่นในแง่ความแสนดี อ่อนหวาน มองโลกในแง่ดี และไร้เดียงสา ไม่ว่าจะเป็นบทคุณแม่ชนบท (Junebug) ซึ่งทำให้เธอเข้าชิงออสการ์ครั้งแรก บทเจ้าหญิงในนิทานที่หลุดมาอยู่ในโลกแห่งความจริง (Enchanted) หรือบทแม่ชีมือใหม่ (Doubt) ซึ่งทำให้เธอเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งที่สอง ผลงานเหล่านี้ (หรือพูดให้ชัด คือ งานแสดงอันน่าเชื่อถือและทรงพลังเหล่านี้) ทำให้เราเข้าใจว่านักแสดงสาววัย 36 ปีจะฆ่ามดสักตัวยังไม่กล้า อย่าว่าแต่ต้องตบตีกับใครสักคน (หรือหกเจ็ดคน) เลย

“ตอนฉันได้รับเลือก เดวิดบอกว่าฉันดูเหมือนผู้หญิงที่ชกใครไม่เป็น นั่นทำให้ฉันอยากจะชกหน้าเขาชะมัด” อดัมส์เล่า “ฉันเลยตัดสินใจไปเข้าคลาสชกมวยกับเทรนเนอร์ของมาร์ค มันสนุกมาก เราช่วยกันออกแบบฉากการต่อสู้ด้วย ประเด็นสำคัญ คือ ฉันต้องเลิกกลัวว่าจะทำให้ใครเจ็บตัว นั่นเป็นเรื่องที่ฉันหนักใจมาก ฉันไม่อยากทำร้ายพวกผู้หญิงคนอื่นๆ ในฉากตะลุมบอน แต่ฉันไม่กลัวว่าตัวเองจะเจ็บตัวหรอก”

ทันทีที่รู้ว่าหลายฉากในหนัง ชาร์ลีนต้องโชว์เนื้อหนังมังสาไม่น้อยในชุดกางเกงขาสั้นและเสื้อสายเดี่ยว อดัมส์ ซึ่งเพิ่งคลอดลูกและรูปร่างยังไม่กลับคืนสู่สภาพปกติ จึงคิดจะเข้าฟิตเนสเพื่อลดหุ่น แต่ปรากฏว่าโอ. รัสเซลล์กลับชอบรูปร่างปัจจุบันของเธอมากกว่าโดยให้เหตุผลว่าเธอดูเหมือน “ผู้หญิงกินเบียร์” ซึ่งตรงตามบท นอกจากนี้ แม้เธอจะไม่มีมาดแบบหญิงห้าว แต่โอ.รัสเซลล์มั่นใจว่าเขาสามารถหวังพึ่งทักษะทางการแสดงของอดัมส์ได้แน่ “ผมรู้ว่าเธอกระตือรือร้นอยากรับบทที่แตกต่างจากเดิม และผมรู้ว่าเธอจะทำได้ชนิดไร้ที่ติ ชาร์ลีนเป็นหญิงแกร่ง เอมี่ก็เช่นกัน เธอถ่ายทอดอารมณ์ผ่านทางดวงตาได้อย่างยอดเยี่ยม” โอ. รัสเซลล์กล่าว

“ในสายตาฉัน จุดเด่นของชาร์ลีนอยู่ตรงเธอถูกห้อมล้อมด้วยตัวละครแรงๆ แต่กลับไม่เคยเรียกร้องให้ใครหันมาสนใจ เธอพอใจกับการนั่งอยู่ในฉากหลัง พยายามไม่ทำตัวให้โดดเด่น เธอมีความสุขที่เห็นมิคกี้ประสบความสำเร็จ เธอสนับสนุนเขาอย่างหมดใจ” อดัมส์กล่าว

ฉากการเผชิญหน้าเพื่อขอ “สงบศึก” ระหว่างชาร์ลีนกับ ดิ๊กกี้ (คริสเตียน เบล) ในช่วงท้ายเรื่องช่วยพิสูจน์ให้เห็นว่าหญิงสาวไม่เคยร้องขอสปอตไลท์ และความสุขของเธอ คือ การได้เห็นคนรักทำฝันให้เป็นจริง ดวงตาของอดัมส์ส่งผ่านความเจ็บปวดออกมาชัดเจน เมื่อถูกดิ๊กกี้จี้ปมว่าชีวิตเธอเองก็เต็มไปด้วยความล้มเหลวไม่ต่างจากเขา แม้ปากเธอจะพูดย้ำว่า “ชอบ” ชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งความจริงหมายถึงชีวิตในปัจจุบันของ “เธอกับมิคกี้” หากมันไม่ถูกแม่กับพี่ชายเขาทำลายลงเสียก่อน การแสดงอันทรงพลังของอดัมส์ทำให้ชาร์ลีนกลายเป็นตัวละครที่คนดูสงสารและเอาใจช่วย


เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ (The King’s Speech)

หลังใช้เวลาอยู่หลายปี พยายามสลัดทิ้งภาพลักษณ์ “ราชินีหนังพีเรียด” ซึ่งได้มาจากการแสดงหนังย้อนยุคระดับรางวัลอย่าง A Room with a View, Howards End และ The Wings of the Dove โดยเรื่องหลังสุดทำให้เธอเข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งแรกในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (การลงหลักปักฐานกับ ทิม เบอร์ตัน ช่วยให้เธอได้สวมบทบาทที่แตกต่างออกไปอย่างใน Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street และ Alice in Wonderland) ในที่สุด เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ ก็หวนคืนสู่รากเหง้าอีกครั้งกับ The King’s Speech เพื่อรับบทเป็นภรรยาที่เข้าอกเข้าใจ และยืนหยัดเคียงข้างสามี (พระเจ้าจอร์จที่ 6 ผู้มีปัญหาการพูดติดอ่าง) อย่างอดทนและไม่ย่อท้อ (คนยุคปัจจุบันมักรู้จักพระองค์ในนาม เดอะ ควีน มัม)

ถึงแม้สไตล์การแต่งตัวของเธอจะห่างไกลจากคำว่า “อนุรักษ์นิยม” หรือกระทั่ง “เป็นผู้เป็นคน” (ถ้าคุณจินตนาการไม่ออก ให้ลองนึกถึงสไตล์การแต่งตัวของมาดอนน่ายุค Lucky Star) แต่บอนแฮม คาร์เตอร์กลับเปี่ยมอารมณ์ขันและไหวพริบเฉียบคมไม่ต่างจากตัวละครที่เธอแสดง “ตอนได้อ่านบท The King’s Speech ฉันนึกในใจว่า ‘โอ๊ย ไม่นะ ต้องแต่งชุดย้อนยุคอีกแล้วแบบเดียวกับเมื่อ 15 ปีก่อน’ มันเหมือนฉันกำลังเดินถอยหลัง ฉันตอบตกลงส่วนหนึ่งเพราะหนังใช้ทีมออกแบบเสื้อผ้าเดียวกับหนังเรื่อง A Room with a View ฉันเลยรู้สึกเหมือนได้เจอเพื่อนเก่า มันไม่ใช่ว่าพออ่านบทแล้วฉันอยากเล่นเป็น เดอะ ควีน มัม ซะเมื่อไหร่ ความจริง พออ่านบทแล้ว ฉันอยากเล่นเป็นพระเจ้าจอร์จที่ 6 ต่างหาก แต่ทอมบอกว่าโคลินตกลงรับบทนั้นแล้ว” นักแสดงสาววัย 44 ปีกล่าว

บอนแฮม คาร์เตอร์เล่าว่าเธอได้แรงบันดาลใจในการถ่ายทอดบุคลิกตัวละครจากประสบการณ์ส่วนตัว เมื่อพ่อของเธอป่วยหนักเป็นเวลาหลายปี ส่งผลให้แม่เธอต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อช่วยให้เขากลับมามีสุขภาพแข็งแรงเหมือนเดิม นอกจากนี้ เธอยังนั่งดูเทปบันทึกภาพประวัติศาสตร์ร่วมกับ โคลิน เฟิร์ธ เพื่อสังเกตลักษณะท่าทาง ตลอดจนแก่นความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสอง “ฉันมั่นใจว่าเธอให้กำลังใจเขาแบบเดียวกับแม่ให้กำลังใจลูก ทำให้เขาสัมผัสได้ว่าเธอมั่นใจและเชื่อมั่นในตัวเขา เธอไม่เคยตื่นตระหนกเหมือนเขา ซึ่งจะพยายามรีบพูดต่อให้จบ แต่กลับนิ่งสงบ แล้วมองเขาด้วยแววตาทำนองว่า ‘ไม่เป็นไร คุณต้องทำได้’ มันน่าสนใจว่าเขาต้องขอแต่งงานถึงสามครั้งกว่าเธอจะตอบตกลง มันไม่ใช่รักแรกพบ แต่ฉันคิดว่ามันพัฒนาไปสู่ความรักที่ยิ่งใหญ่และความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์แบบ”

ความยุ่งเหยิงของตารางงานจากการถ่ายทำ Harry Potter ภาคสุดท้ายส่งผลให้บอนแฮม คาร์เตอร์ต้องเจียดเวลาเฉพาะช่วงเสาร์อาทิตย์ไปถ่ายทำ The King’s Speech ซึ่งนั่นก่อให้เกิดความสับสนไม่น้อยที่บ้าน “ลูกๆ ชอบถามฉันว่า ‘วันนี้แม่แสดงเป็นราชินี หรือแม่มด’ ใน Harry Potter ฉันต้องกรีดร้องและตะโกนบ่อยครั้ง ส่วนช่วงสุดสัปดาห์ ฉันจะได้บทที่ลุ่มลึกขึ้น โดยเน้นการแสดงออกมาจากข้างใน มันเป็นแบบฝึกหัดชั้นยอด แม่มดในวันธรรมดา ราชินีในวันหยุด”... และแน่นอน เธอถ่ายทอดทั้งสองด้านที่ต่างกันสุดขั้วได้อย่างไร้ที่ติ


เมลิสสา ลีโอ (The Fighter)

คำถามแรกของ เมลิสสา ลีโอ ต่อผู้กำกับ เดวิด โอ. รัสเซลล์ ก่อนเธอจะตอบตกลงรับบท อลิซ วอร์ด ใน The Fighter คือ “ฉันไม่เด็กเกินกว่าจะเล่นเป็นแม่ของมาร์คกับคริสเตียนเหรอ” นักแสดงสาวใหญ่ ซึ่งโด่งดังจากบทนำในซีรีย์ชุด Homicide Life on the Street และหนังอินดี้เรื่อง Frozen River ที่ทำให้เธอเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรกเมื่อสองปีก่อน ยอมรับว่าค่อนข้างเกร็งเล็กน้อยกับการแสดงเป็นตัวละครที่อายุมากกว่าตัวจริง (ลีโอแก่กว่าสองนักแสดงหนุ่มในบทลูกชายประมาณสิบปี) “แต่พอถึงจุดหนึ่ง ฉันก็เลิกกังวล แล้วเชื่อว่าตัวเองเป็นแม่ของพวกเขาจริงๆ บางทีนั่นอาจเป็นความลับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการแสดง ถ้านักแสดงเชื่อ พวกเขาก็ทำให้คนดูเชื่อตามได้” ลีโอกล่าว

นอกจากนี้ ลีโอยังดูไม่เหมือน อลิซ วอร์ด ตัวจริงเลย แต่ด้วยความช่วยเหลือของเสื้อผ้ายุค 80 เมคอัพ ทรงผมอันเป็นเอกลักษณ์ และการค้นคว้าหาข้อมูล รวมถึงการนัดพูดคุยกับอลิซตัวจริง ลีโอก็สามารถแปลงโฉมแล้วจมหายไปกับบทได้อย่างเหลือเชื่อ “ฉันไม่เคยเล่นเป็นคนที่มีชีวิตอยู่จริงมาก่อน มันไม่ง่ายเลย” ลีโอบอก “นาทีที่ทำให้รู้ว่าฉันสามารถทำได้และเชื่อว่าทำได้ คือ ตอนเดินออกจากรถเทรลเลอร์ แล้วชาวเมืองโลเวลล์ต่างเชื่อว่าฉันเป็นอลิซ”

ความเป็นนักแสดงแบบ “เมธอด” ทำให้ลีโอเลือกจะ “อยู่ในคาแร็กเตอร์” ตลอดการถ่ายทำ เธอบอกว่า“มันไม่ใช่เรื่องวิปริต หรือแปลกประหลาดอะไร ประเด็น คือ ฉันอยากจะอยู่ในจุดที่ใกล้เคียงกับคาแร็กเตอร์ตัวละครให้มากที่สุด เมื่อผู้กำกับสั่งเดินกล้อง ซึ่งอาจจะกินเวลาแค่ห้านาที หรือห้าชั่วโมงก็ตาม ฉันไม่ได้มากองถ่ายเพื่อหาเพื่อน หรือเพื่อให้ตัวเองดูดี ฉันจริงจังกับงานที่ทำมาก สำหรับฉันการแสดงคือศิลปะ”

หลายคนกล่าวโจมตีอลิซในหนังว่านำเสนอภาพลักษณ์แบบเหมารวมของชนชั้นล่าง หรือคุณแม่จากขุมนรก แต่ลีโอออกโรงปกป้องว่า “ฉันไม่เคยคิดว่าเธอเป็นแม่ที่เลวร้าย ตรงกันข้าม เธอสร้างอาชีพให้ลูกชายสองคน ดิกกี้ไม่มีวันได้ชกกับ ชูการ์ เรย์ ถ้าไม่ใช่เพราะเธอ มันเป็นเรื่องง่ายที่จะวาดภาพเธอเป็นวายร้าย แต่ฉันรู้ว่า อลิซ วอร์ด มีจิตใจดีงาม เธอไม่ได้เห็นแก่ตัว เธอเข้าใจดีกว่าใครว่าทำไมลูกชายถึงหันไปหายาบ้า เธอแค่ไม่พอใจที่เขาเก็บมันเป็นความลับ ครอบครัวคงไม่มีวันอยู่รอดถ้าลูกๆ พากันทำทุกอย่างลับหลังเธอ ฉันคิดว่ามันสวยงามมากที่เดวิดถ่ายทอดปัญหาติดยาของดิ๊กกี้โดยไม่ตัดสิน เพราะถึงที่สุดแล้วมีใครบ้างในโลกนี้ที่ไม่ได้เสพติดอะไรเลย”

ความรัก (และความรู้สึกผิด) ฉายชัดในแววตาของอลิซ เมื่อเธอจับได้ว่าดิ๊กกี้ (คริสเตียน เบล) ลอบมาเสพยา หรือเมื่อมิคกี้ (มาร์ค วอห์ลเบิร์ก) กล่าวหาเธอว่ารักลูกไม่เท่ากัน ลีโอทำให้คนดูเข้าใจว่าทุกพฤติกรรมชวนกังขาทั้งหลายของอลิซล้วนมีรากฐานมาจากความปรารถนาดี และเธอก็เป็นคนหนึ่งที่ควรค่าจะได้รับความเห็นใจไม่แพ้กัน


ไฮลี สไตน์เฟลด์ (True Grit)

ระหว่างการถ่ายทำหนังเรื่อง True Grit ไฮลี สไตน์เฟลด์ ได้คิดค้นแผนหาเงินขึ้นจากการเป็นเด็กหญิงวัย 13 ปีที่โดนล้อมรอบด้วยทีมงานและนักแสดงวัยผู้ใหญ่ด้วยการจัดตั้ง “โหลค่าปรับ” สำหรับเก็บเงินใครก็ตามที่เผลอพูดคำหยาบออกมา 5ดอลลาร์สำหรับคำด่า และ 3 ดอลลาร์สำหรับคำสบถ พอหนังปิดกล้อง เธอสามารถเก็บเงินได้มากถึง 350 ดอลลาร์ แต่แทนที่จะนำไปซื้อเสื้อผ้า ไอพ็อด หรือลิปกลอสดีๆ สักแท่งตามห้างสรรพสินค้าเฉกเช่นเด็กวัยรุ่นทั่วไป สไตน์เฟลด์กลับนำเงินไปบริจาคให้กองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์

การเชื่อในสัญชาตญาณและบุคลิกมุ่งมั่นบนรากฐานแห่งศีลธรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่คุณสามารถคาดหวังได้จาก แม็ตตี้ รอส เด็กสาวผู้จุดประกายเรื่องราวทั้งหมดใน True Grit เมื่อเธอตัดสินใจจ้างมือกฎหมายออกตามล่าคนร้ายที่ฆ่าพ่อของเธอมาลงโทษ ขณะเดียวกันมันยังช่วยอธิบายได้ด้วยว่าเหตุใดสไตน์เฟลด์จึงเอาชนะเด็กหญิงกว่า 15000 คนที่มาทดสอบบท ทั้งที่ไม่เคยแสดงหนังมาก่อน

แม้จะเป็นมือใหม่ แต่สไตน์เฟลด์กลับปราศจากอาการเกร็ง หรือประหม่าเวลาต้องเข้าฉากสำคัญกับเหล่านักแสดงรุ่นใหญ่ ที่สำคัญ เธอประชันฝีมือกับพวกเขาได้แบบไม่เกรงกลัวบารมีด้วยซ้ำ ซึ่งนั่นสร้างความประหลาดใจไม่น้อยให้ แม็ท เดมอน ผู้รับบทเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจากรัฐเท็กซัสที่กำลังตามล่าฆาตกรคนเดียวกับแมตตี้

“เธอนิ่งและมั่นใจเต็มเปี่ยมในแบบที่คุณไม่คาดว่าจะได้เห็นจากเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน” เขากล่าว “ผมยังคิดไม่ออกเลยว่าเธอทำได้ยังไง ปกติแล้วเวลาคุณเห็นการแสดงชั้นยอดของดาราเด็กในหนัง ส่วนใหญ่มักเป็นเพราะพวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากสภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลาย แล้วได้แสดงเป็นตัวละครซึ่งใกล้เคียงกับตัวตนจริง แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับไฮลี ภาษาที่เธอต้องพูดในหนังแตกต่างจากภาษาที่เธอพูดในชีวิตจริงมาก”

เดมอนรู้ดีว่าตนกำลังพูดถึงอะไร เพราะเขาเคยมีประสบการณ์ในการเล่นหนังกับดาราเด็กมาก่อน ล่าสุด คือ หนังเรื่อง Hearafter ของผู้กำกับ คลินท์ อีสต์วู้ด “สำหรับเด็กชายทั้งสองคนในเรื่อง เมื่อกล้องเริ่มถ่าย คลินท์กับผมจะต้องช่วยกันพูดป้อนข้อมูลหลายๆ อย่างเพื่อสร้างอารมณ์ให้พวกเขาแสดงปฏิกิริยาที่น่าเชื่อ สมจริง” เดมอนเล่า “แต่เราไม่ต้องใช้เทคนิคใดๆ แบบนั้นเลยกับไฮลี”

แม้บุคลิกภายนอก การพูดจา และการวางตัวของสไตน์เฟลด์จะดูเป็นผู้ใหญ่เกินวัย แต่ลึกๆ ข้างในเธอยังมีจิตวิญญาณไม่ต่างจากเด็กสาววัยรุ่นทั่วไป และบางครั้งก็อาจปรากฏให้เห็นระหว่างการสัมภาษณ์พูดคุย เธอยอมรับว่าคลั่งไคล้ดาราหลายคน และแทบรอไม่ไหวที่จะได้เจอ จอห์นนี่ เด็บบ์ กับ นาตาลี พอร์ตแมน ตัวเป็นๆ แต่แน่นอน เธอไม่ได้คิดจะขอแค่ลายเซ็นจากคนเหล่านั้น “ฉันเทิดทูน โจดี้ ฟอสเตอร์ และ นาตาลี พอร์ตแมน เป็นแม่แบบ พวกเธอเริ่มต้นอาชีพการแสดงตั้งแต่อายุยังน้อย และสามารถรักษาระดับคุณภาพงานมาได้จนถึงปัจจุบัน” เธอกล่าว “นั่นคือเป้าหมายของฉัน พวกเขาอาจมีคำแนะนำดีๆ ก็ได้”... และบางทีสไตน์เฟลด์อาจก้าวล้ำนำหน้าแม่แบบทั้งสองคนไปอีกขั้นในคืนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ด้วยการคว้ารางวัลออสการ์มาครองขณะอายุเพียง 14 ปี


แจ๊คกี้ วีเวอร์ (Animal Kingdom)

นักแสดงสาวใหญ่ผมบลอนด์ชาวออสเตรเลีย แจ๊คกี้ วีเวอร์ สร้างชื่อเสียงตลอดเวลาสี่ทศวรรษโดยการรับบทเป็น “คนดี” ทั้งในละครเวทีและภาพยนตร์ บท เจนีน “สเมิร์ฟ” โคดี้ ในหนังดรามา-อาชญากรรมเรื่อง Animal Kingdom ดูจะสอดคล้องกับนิยามดังกล่าวอย่างเหมาะเจาะ (อย่างน้อยก็ในแวบแรก) เธอเป็นแม่ของลูกชายสี่คน ซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงเมลเบิร์นและหาเลี้ยงชีพด้วยการปล้นธนาคาร เธอดูจะมอบความรักและความเป็นห่วงเป็นใยให้พวกเขาทุกคน แต่เมื่อถูกบังคับให้ต้องเลือกระหว่างลูกชายกับหลานชาย (เจมส์ เฟรนช์วิลล์) ซึ่งเดินทางมาอยู่กับเธอหลังแม่ของเขาเสียชีวิต ตัวตนที่แท้จริงของสเมิร์ฟก็เริ่มปรากฏให้เห็น... และมันไม่ใช่ภาพที่สวยงามนัก

ผู้กำกับ เดวิด มิคอด บอกว่าเขาเขียนบทนี้โดยมีภาพของวีเวอร์อยู่ในหัว “ผมอยากให้สเมิร์ฟเป็นตัวละครที่ซับซ้อนและมืดหม่น แต่ภายใต้ภาพลักษณ์ที่ดูเป็นมิตร” เขากล่าว “คุณสมบัติดังกล่าวทำให้ตัวละครน่าสนใจขึ้น แจ๊คกี้เป็นนักแสดงที่มากด้วยประสบการณ์ เธอสามารถเล่นเป็นใครก็ได้ ผมคิดไม่ออกว่าจะมีใครรับบทนี้ได้ดีไปกว่าเธอ”

วีเวอร์กล่าวถึงตัวละครว่า “ลูกๆ ของเธอทั้งสี่คนล้วนเกิดจากพ่อคนละคน พวกเขาเป็นอาชญากรที่นิยมความรุนแรง เธอคบหาสมาคมกับอาชญากรมาตลอดชีวิต และหาเลี้ยงชีพจากพฤติกรรมผิดกฎหมาย นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเธอถึงสนับสนุนให้ลูกๆ กระทำผิด ฉันคิดว่าเธอเป็นผู้หญิงที่ปราศจากจิตสำนึก หรือศีลธรรม”

นอกจากนี้ มิคอดกับวีเวอร์ยังชอบปรึกษาหารือเกี่ยวกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของตัวละครด้วย เช่น เป็นความคิดของมิคอดที่ต้องการให้สเมิร์ฟจูบปากลูกๆ ทุกคน ในความคิดของวีเวอร์ การกระทำดังกล่าวสะท้อนให้เห็นระดับอิทธิพลของเธอเหนือพวกเขา “ฉันไม่คิดว่ามันส่อไปถึงเรื่องเพศ แต่มันเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแน่นอน” วีเวอร์กล่าว “ฉันคิดว่าสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะเธอไม่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้ชายคนใด ฉะนั้น ความใกล้ชิดผูกพันกับเหล่าลูกชายทั้งสี่จึงเป็นเหมือนสิ่งที่เข้ามาทดแทนช่องว่างนั้น”

อย่างไรก็ตาม ด้านมืดของสเมิร์ฟไม่ได้ปรากฏชัดตั้งแต่ฉากแรก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนดูจะรู้สึกช็อก เมื่อความจริงถูกเปิดเผย มิคอดเชื่อว่าสเมิร์ฟจิตไม่ปกติ แต่เธอไม่ใช่ปีศาจร้าย เธออยากเป็นแม่ที่รักและเอาใจใส่ของลูกๆ เธออยากให้ทุกคนมีความสุข แต่เมื่อถูกบังคับให้จนมุม เธอก็สามารถกระทำบางอย่างที่เลวร้ายอย่างคาดไม่ถึงได้เช่นกัน “เขาอยากให้คนดูค่อยๆ ตระหนักถึงธรรมชาติที่แท้จริงของเธอ” วีเวอร์กล่าว “ในฐานะนักแสดง มันเป็นบทที่ยั่วยวนให้คุณกระโจนเข้าใส่ แล้วเล่นร้ายตั้งแต่เริ่มแรก แต่เดวิดอยากให้มันเป็นหนังเกี่ยวกับชีวิตอาชญากรที่จริงจัง ฉันคิดว่าการค่อยๆ เปิดเผยความจริงเป็นตัวเลือกที่ดี มันน่าสนใจมากกว่า”

แล้วลูกชายแท้ๆ ของวีเวอร์ล่ะ มีโอกาสได้เห็นฝีไม้ลายมือของแม่ตัวเองใน Animal Kingdom บ้างไหม วีเวอร์เล่าว่าหลังจากดูหนังจบ ลูกชายของเธอส่งข้อความว่า “แม่เล่นได้โรคจิตมาก” มายังโทรศัพท์มือถือเธอ... เชื่อเถอะ ไม่ใช่เขาคนเดียวหรอกที่คิดแบบนั้น

ไม่มีความคิดเห็น: