วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 17, 2554

Oscar 2011: Best Supporting Actor


คริสเตียน เบล (The Fighter)

คุณอาจตกใจเล็กน้อย ทันทีที่ได้เห็น คริสเตียน เบล เป็นครั้งแรกในหนังเรื่อง The Fighter เขารับบทเป็นอดีตนักมวยที่ชีวิตล่มสลายและกลายเป็นชายหนุ่มติดยา ดิ๊กกี้ เอคลันด์ ซึ่งวันๆ ยังคงเฝ้าฝันถึงคืนวันอันหอมหวาน เมื่อเขาก้าวขึ้นชกชิงแชมป์โลกกับ ชูการ์ เรย์ เลียวนาร์ด ในปี 1978 หลังที่โก่งงอ ดวงตาที่ลึกโบ๋ และร่างกายที่ผอมโซปราศจากไขมัน ขณะนั่งอยู่บนโซฟาซอมซ่อ ทำให้เขาดูเหมือนซากสัตว์ที่ถูกโบยตีจนสิ้นเรี่ยวแรง หรือเหนื่อยล้าเกินกว่าจะขยับเขยื้อน แต่แล้วเมื่อเขาเริ่มพูดถึงอดีตอันรุ่งโรจน์ ทุกอณูในร่างกายก็พลันกระปรี้กระเปร่าขึ้นอีกครั้ง

ความทุ่มเทของเบลในการแปลงร่างเป็นตัวละครที่เขารับเล่นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ก่อนหน้านี้เขาเคยลดน้ำหนักมากถึง 63 ปอนด์ด้วยการกินแค่แอปเปิ้ลวันละลูกกับกาแฟหนึ่งแก้ว เพื่อแสดงเป็นตัวละครที่ป่วยเป็นโรคนอนไม่หลับในหนังเรื่อง The Machinist แต่การแสดงอันน่าตื่นตะลึงของเบลใน The Fighter หาได้อยู่แค่การเลียนแบบท่าทาง วิธีพูด หรือรูปลักษณ์ภายนอกของดิ๊กกี้เท่านั้น (ถ้าคุณได้เห็นดิ๊กกี้ตัวจริงตอนช่วงเครดิตท้ายเรื่อง คุณจะพบว่าเบลจับบุคลิกในทุกรายละเอียดได้แม่นยำแค่ไหน) หากยังรวมไปถึงความกล้าหาญที่จะถ่ายทอดตัวละครออกมาในลักษณะร่าเริง เปี่ยมอารมณ์ขัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อพิจารณาจากความมืดหม่นที่ล้อมรอบชีวิตเขา

กระทั่ง มิคกี้ น้องชายแท้ๆ ของดิ๊กกี้ (ในหนังรับบทโดย มาร์ค วอห์ลเบิร์ก) ยังยอมรับในความสามารถของเบล “พวกเขามีภูมิหลังแตกต่างกัน แต่ถ้าคุณเห็นดิ๊กกี้กับคริสเตียนจากด้านหลังระหว่างถ่ายทำ คุณจะดูไม่ออกว่าใครเป็นใคร เขาเก่งขนาดนั้นเลย” อดีตนักมวยแชมป์โลกกล่าว

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างอยู่ตรงที่ดิ๊กกี้เป็นพวกชอบเข้าสังคม และมักจะนำทุกปัญหามาลงกับตัวเอง (เขาเสพยาและถูกจับในข้อหาปล้นชิงทรัพย์) ขณะที่เบลหวงแหนความเป็นส่วนตัวอย่างยิ่ง และดูเหมือนจะชอบระบายอารมณ์เอากับคนรอบข้าง เห็นได้จากความสัมพันธ์อันลุ่มๆ ดอนๆ (และค่อนข้างอื้อฉาวตามหน้าหนังสือพิมพ์) ของเขากับครอบครัว หรือเหตุการณ์คลิปเสียงหลุดทางอินเตอร์เน็ต เมื่อเบลตะโกนด่าตากล้องกลางกองถ่าย Terminator Salvation แต่ดูเหมือนการถ่ายทำหนังเรื่อง The Fighter จะช่วยเปลี่ยนตัวตนอันเต็มไปด้วยความโกรธขึ้งของเบล มิตรภาพและการได้รู้จักกับคนอย่าง ดิ๊กกี้ ทำให้เบลเริ่มเปิดเผยมากขึ้น “เวลาคุณไปไหนมาไหนกับดิ๊กกี้ เรื่องบ้าๆ กลับกลายเป็นสิ่งปกติ เขาเป็นคนร่าเริงและชอบหัวเราะกลบเกลื่อนเวลาทำอะไรที่เกินกว่าเหตุ” นักแสดงจาก The Dark Knight และ Batman Begins กล่าว

The Fighter อาจเล่าถึงเรื่องราวชีวิตของ มิคกี้ วอร์ด ก็จริง แต่ตัวละครที่คนดูจะจดจำไม่ลืมกลับกลายเป็นดิ๊กกี้ ชายหนุ่มที่ต้องต่อสู้กับอดีตและเอาชนะห้วงเวลาแห่งปัจจุบัน เขาอาจเป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่อง แต่ในเวลาเดียวกันก็เปี่ยมสีสัน ความขัดแย้งเฉกเช่นมนุษย์ปุถุชนทั่วไป และเบลก็ถ่ายทอดทุกแง่มุมเหล่านั้นออกมาชนิดไร้ที่ติ จนคนดูไม่อาจละสายตาจากเขาได้ทุกครั้งที่เขาปรากฏตัวบนจอ


จอห์น ฮอว์คส์ (Winter’s Bone)

อย่าประหลาดใจถ้าคุณเห็นหน้า จอห์น ฮอว์คส์ ในหนังเรื่อง Winter’s Bone แล้วจำไม่ได้ว่าเขาเคยรับบทเป็นเซลแมนขายรองเท้าในหนังเรื่อง Me and You and Everyone We Know หรือเจ้าของร้านขายเครื่องมือในซีรีย์ของ HBO เรื่อง Deadwood ทั้งนี้เพราะฮอว์คส์เป็นนักแสดงประเภทที่สามารถเปลี่ยนรูปลักษณ์ไปตามบทได้ราวกับกิ้งก่าเปลี่ยนสี และถ้าคุณถามเขาตรงๆ ฮอว์คส์จะยอมรับว่าเขาเองก็รู้สึกยินดีที่คนดูจำเขาไม่ได้ เพราะเขาเชื่อว่านักแสดงไม่ควรปล่อยให้ชีวิตส่วนตัวโดดเด่นเกินหน้าตัวละครในหนัง

“ผมรู้สึกว่าจุดแข็งของผมในฐานะนักแสดงอยู่ตรงที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักผมเท่าไหร่” ฮอว์คส์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเล่นประกบ จอร์จ คลูนีย์ ในหนังสตูดิโอฟอร์มใหญ่อย่าง The Perfect Storm กล่าว “ผมไม่ได้พยายามจะทำตัวลึกลับ หรือเย่อหยิ่งอะไร แต่มันเป็นเรื่องง่ายกว่าที่จะสวมวิญญาณตัวละครให้ดูน่าเชื่อถือ เมื่อคนดูไม่รู้ว่าตัวตนจริงๆ ของคุณเป็นอย่างไร”

แน่นอน ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป หลังจากบท เทียร์ดร็อบ คุณอาชวนสะพรึงของ รี ดอลลี (เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์) ในหนังอินดี้สุดฮ็อตเรื่อง Winter’s Bone ส่งผลให้เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งแรก เทียร์ดร็อบมีบทบาทสำคัญต่อปฏิบัติการผลิตยาบ้าที่พ่อของรีพัวพันก่อนจะหายสาบสูญไป เขาเป็นคนแรกที่เด็กสาวเดินทางมาขอความช่วยเหลือ เมื่อเธอต้องการตามหาพ่อ และเขาก็เป็นคนแรกที่เตือนให้เธอ (ทั้งการข่มขู่ด้วยคำพูดและลงมือใช้กำลัง) ถอยห่างจากเรื่องนี้ก่อนจะตกที่นั่งลำบาก หรือกลายเป็นศพ ความยอดเยี่ยมทางการแสดงของฮอว์คส์ไม่ได้อยู่เพียงแค่ “มาด” อันชั่วร้ายและแข็งกระด้างจนทำให้คนดูเชื่อว่า โลกอันมืดหม่นแบบที่เห็นอยู่ในหนังนั้นมีอยู่จริง แต่อยู่ตรงความแนบเนียน กลมกลืนของเขา เมื่อตัวละครเริ่มเผยให้เห็นด้านที่อ่อนโยนจนคนดูอดเอาใจช่วยไม่ได้

ชุมชนที่แร้นแค้น ตัดขาดจากโลกภายนอกแบบใน Winter’s Bone อาจดูห่างไกลจากความคุ้นเคยของเหล่านักดูหนังชนชั้นกลางชาวเมืองราวกับอีกโลกหนึ่ง แต่สำหรับฮอว์คส์ ซึ่งเติบโตมาในย่านชนบทของรัฐมินนิโซตา เขาคิดว่ามันสะท้อนภาพลักษณ์ความเป็นอเมริกันได้ดีกว่านิวยอร์ก หรือลองแองเจลิส ด้วยซ้ำ “พวกเขาใช้ชีวิตแบบปากกัดตีนถีบ แต่มีความผูกพันทางครอบครัวที่เหนียวแน่น” ฮอว์คส์กล่าวถึงชาวโอซาร์คที่เขาพบ

เพื่อเตรียมตัวรับบท ฮอว์คส์ต้องศึกษาหาข้อมูลรอบด้านเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในแถบนั้น อุตสาหกรรมยาบ้า และรากเหง้าแห่งอาชญากรรมที่สืบทอดผ่านทางสายเลือด นอกจากนี้ เขายังพยายามหลีกเลี่ยงความสะดวกสบายบางอย่างระหว่างการถ่ายทำอีกด้วย เช่น หนังสือดีๆ สักเล่ม หรือเสื้อผ้ากันหนาว เพื่อให้อินไปกับคาแร็กเตอร์ “ผมอยากให้คนดูตระหนักชัดว่าเทียร์ดร็อบไม่พึงพอใจกับสภาพรอบข้าง” ฮอว์คส์กล่าว ก่อนจะเสริมว่าเขาจงใจรักษาระยะห่างจากลอว์เรนซ์ด้วยเหตุผลเดียวกัน “เราไม่ได้สนิทสนมกันมากนัก ผมคิดว่าความรู้สึกไม่คุ้นเคยช่วยให้เรารับบทเป็นตัวละครได้สะดวกขึ้น”

ถึงแม้ฮอว์คส์จะค่อนข้างเก็บตัว แต่นั่นไม่ได้ทำให้เหล่าเพื่อนร่วมงานหยุดสรรเสริญพรสวรรค์ รวมถึงความเป็นมิตรของเขาแต่อย่างใด “เขายอดเยี่ยมมากในหนังเรื่องนี้ ทั้งน่าหวาดหวั่นและคุกคาม” ลอว์เรนซ์กล่าว “แต่พอคุณเจอตัวจริง เขากลับน่ารัก อ่อนหวาน และฉลาดเป็นกรด” การได้ทำความรู้จักกับตัวจริงของฮอว์คส์ยิ่งทำให้คุณพลันตระหนักว่าเทียร์ดร็อบเป็นตัวละครที่แตกต่างจากเขาโดยสิ้นเชิง และบุคลิกแข็งกร้าว หยาบกระด้าง ตลอดจนความอบอุ่นที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน ซึ่งปรากฏให้เห็นชัดเจนบนจอ ทั้งหมดล้วนเป็นแค่การแสดงเท่านั้น... บางทีนี่ต่างหากที่น่าสะพรึงกลัว


เจเรมี เรนเนอร์ (The Town)

การถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก The Hurt Locker เมื่อปีก่อนเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า เจเรมี เรนเนอร์ เล่นหนังเป็น แต่ประสบการณ์อันโชกโชนในวงการบันเทิงมากกว่า 10 ปีทำให้เรนเนอร์ตระหนักดีว่า ถึงแม้คุณจะคิดว่าตัวเองมีพรสวรรค์ทางการแสดงมากแค่ไหนก็ตาม คุณจำเป็นต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจอย่างเต็มร้อยเสมอกับหนังทุกเรื่องที่คุณตอบตกลง ใน The Town หนังแอ็กชั่นดรามาตามขนบเดียวกับ Heat ของ ไมเคิล มาน สิ่งหนึ่งที่เรนเนอร์ต้องทุ่มเทแรงกายเป็นพิเศษ คือ การฝึกฝนสำเนียงบอสตันให้คล่องแคล่วและแม่นยำ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับชายหนุ่มที่เติบโตมาในรัฐแคลิฟอร์เนีย

“ในหนังเรื่อง The Town สำเนียงการพูดมีบทบาทสำคัญยิ่งกับฉากหลังและตัวละคร มันทำให้ผมหวาดกลัวในตอนแรก” เรนเนอร์กล่าว “เพราะไม่ว่าบทจะดีแค่ไหน ผู้กำกับจะเก่งแค่ไหน หรือนักแสดงจะยอดเยี่ยมแค่ไหน แต่ถ้าสำเนียงการพูดของตัวละครผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง คนดูจะไม่เชื่อหนังทันที”

โชคดีสำหรับเรนเนอร์ที่ทีมงาน The Town ไม่เพียงเดินทางไปถ่ายทำตามโลเกชั่นจริงของย่านชุมชนชาร์ลส์ทาวน์ในเขตเมืองบอสตันเท่านั้น แต่หนังยังเป็นผลงานกำกับเรื่องที่สองของ เบน อัฟเฟล็ก (Gone Baby Gone) นักแสดงหนุ่มที่คุ้นเคยกับเมืองบอสตัน และเลือกใช้คนในท้องถิ่นมาร่วมงาน รวมถึงรับบทตัวประกอบในหนังเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้เอง เรนเนอร์จึงมีแหล่งข้อมูลดีๆ สำหรับฝึกฝนสำเนียงอยู่รอบกาย พร้อมกันนั้น อัฟเฟล็กยังส่งเทปสัมภาษณ์อดีตนักโทษมาให้เขาฟังเพื่อศึกษาบุคลิก ตลอดจนลักษณะการพูดอีกด้วย

The Town เล่าถึงวังวนแห่งอาชญากรรม ซึ่งเป็นเหมือนมรดกตกทอดจากพ่อสู่ลูกในชาร์ลส์ทาวน์ ย่านชุมชนที่มีสถิติการปล้นธนาคารและรถขนเงินมากกว่าเมืองไหนๆ ในอเมริกา (ประมาณ 300 ครั้งต่อปี) เรนเนอร์รับบทเป็น เจม สมาชิกบ้าดีเดือดในทีมปล้นธนาคารภายใต้การนำของ ดั๊ก (อัฟเฟล็ก) ผู้เป็นเหมือนมันสมองของกลุ่ม ทั้งสองสนิทสนมกันราวพี่น้องร่วมสายเลือด แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวเริ่มสั่นคลอนเมื่อดั๊กต้องการถอนตัวออกจากวงการ ขณะที่เจมไม่ต้องการและมองไม่เห็นว่าตัวเองจะสามารถทำอย่างอื่นได้นอกจากปล้นธนาคาร

ถึงแม้หนังแอ็กชั่น-ดราม่า และตัวละครที่เสพติดความรุนแรงจนกลายเป็นเหมือนระเบิดเวลาจะสร้างชื่อเสียงให้เรนเนอร์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่นักแสดงหนุ่มที่กำลังจะโด่งดังยิ่งขึ้นไปอีกจากการร่วมงานในหนังฟอร์มยักษ์ถึงสองเรื่องอย่าง Mission: Impossible IV และ The Avengers ยอมรับว่าเขายินดีเปิดรับบทในแนวทางที่แตกต่างจากผลงานสุดตึงเครียดแบบใน The Town และ The Hurt Locker “ผมเริ่มต้นอาชีพนักแสดงด้วยการเล่นหนังตลก (ประกบ ทอมมี่ ชอง ในหนังเรื่อง Senior Trip เมื่อปี 1995) ถ้ามีบทดีๆ และมีเพื่อนที่ผมรู้จักและอยากร่วมงานด้วย ผมก็จะรับไว้พิจารณา แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น ผมขอตั้งสมาธิกับโครงการตรงหน้า เพราะแค่ได้มีงานทำผมก็ดีใจแล้ว”... อย่าห่วงไปเลย เจเรมี ด้วยฝีไม้ลายมือขนาดนี้ รับรองว่างานต้องไหลมาเทมาแบบไม่ขาดสายแน่นอน


มาร์ค รัฟฟาโล (The Kids Are All Right)

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ใครต่อใครใน The Kids Are All Right จะพากันหลงใหล พอล หนุ่มโสดเจ้าของร้านอาหารและแปลงผักสวนครัวแบบปลอดสารพิษ เริ่มตั้งแต่ โจนี (มีอา วาซิโควสกา) เด็กสาวที่ถือกำเนิดจากน้ำเชื้อของเขา ไปจนถึงจูลส์ (จูลีแอนน์ มัวร์) คุณแม่เลสเบี้ยนของเธอ และทันยา (ยายา ดาคอสตา) หญิงสาวสวยผิวดำ ซึ่งรับหน้าที่เป็นทั้งเพื่อนและคู่นอนคลายเหงา ทั้งนี้เพราะพอลเปี่ยมเสน่ห์แบบเด็กหนุ่มไม่รู้จักโต ส่วนน้ำเสียงทุ้มลึก รอยยิ้มแหยๆ และแววตาอ่อนโยนของเขาก็บ่งบอกความจริงใจ มากพอๆ กับความเปราะบางที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ภาพลักษณ์เพลย์บอยฮิปปี้

อาจกล่าวได้ว่าพอลเปรียบเสมือนภาคผู้ใหญ่ที่ดูมั่นใจขึ้นและเป็นผู้เป็นคนมากขึ้นของ เทอร์รี่ ตัวละครซึ่ง มาร์ค รัฟฟาโล เคยสวมบทบาทได้อย่างยอดเยี่ยมใน You Can Count On Me เมื่อ 10 ปีก่อน

อันที่จริง บุคลิกของรัฟฟาโลเองก็ไม่ต่างจากพอลเท่าไหร่ ราวกับว่าบทนี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อเขาโดยเฉพาะ ตั้งแต่ความชื่นชอบมอเตอร์ไซค์ (“มันเป็นพาหนะคู่ใจของผมตอนหนุ่มๆ แต่ความโรแมนติกของการขี่มอเตอร์ไซค์เริ่มจืดจางลงทันทีที่คุณเจออากาศหนาว พายุฝน หรือถูกรถชน ซึ่งผมเคยผ่านมาหมดแล้ว”) ประสบการณ์การทำงานในร้านอาหาร (เป็นเด็กเสิร์ฟขณะพยายามไต่เต้าเข้าวงการ) จนถึงการเลือกปลูกผักทำสวนแทนการไปสังสรรค์ตามผับบาร์แบบเหล่าคนดังในฮอลลีวู้ด (เขาเริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตหลังจากผ่านวิกฤติเนื้องอกในสมองและการตายของน้องชาย)

ที่สำคัญ การตัดสินใจลงหลักปักฐานกับนักแสดงสาว ซันไรซ์ โคอิกนี ในปี 2000 ทำให้รัฟฟาโลเข้าใจความรู้สึกของพอลว่าทำไมเขาถึงอยากเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว “คนอื่น” จนนำไปสู่ความร้าวฉานบ้านแตก “พอลใช้ชีวิตเพื่อความสุขของตัวเองมาตลอด แต่พอเด็กทั้งสองก้าวเข้ามา ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป” คุณพ่อลูกสามวัย 42 ปีกล่าว

แม้ว่าบทจะเหมาะกับเขามาก แต่รัฟฟาโลเกือบไม่ได้เล่นหนังเรื่องนี้เพราะตารางงานอันยุ่งเหยิง จากการร่วมนำแสดงใน Shutter Island เล่นบทรับเชิญเล็กๆ ใน Date Night และกำกับหนังเรื่องแรกชื่อ Sympathy for Delicious เขาตอบปฏิเสธไปหลายครั้ง แต่ทีมงานก็ตามตื๊อจนสำเร็จก่อนหนังจะเปิดกล้องเพียงไม่นาน ความพยายามดังกล่าวให้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมทั้งสองฝ่าย (แม้จะกวาดคำชมมามากมายจากงานแสดงในหนังอย่าง You Can Count On Me และ Zodiac แต่นี่เป็นการเข้าชิงออสการ์ครั้งแรกของรัฟฟาโล) “มันเหลือเชื่อมากที่เขาทำให้ตัวละครดูน่าเห็นใจ” ซีลีน แรทเทรย์ ผู้อำนวยการสร้าง The Kids Are All Right กล่าว “พอลเป็นคนนอก ซึ่งคนดูไม่ควรจะเอาใจช่วย แต่สุดท้ายเรากลับอดไม่ได้ที่จะเห็นใจเขา” ที่สำคัญ เขาทำทั้งหมดนั้นโดยคนดูไม่รู้สึกถึงความพยายามแม้แต่น้อย ราวกับเขาไม่ได้กำลังแสดง แต่ “เป็น” ตัวละครตัวนั้น


เจฟฟรีย์ รัช (The King’s Speech)

ก่อนจะมาร่วมงานกันอย่างเต็มตัวใน The King’s Speech เจฟฟรีย์ รัช และ โคลิน เฟิร์ธ เคยแสดงหนังเรื่องเดียวกันมาแล้ว นั่นคือ Shakespeare’s in Love (ซึ่งรัชลงเอยด้วยการถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งที่สอง) ความแตกต่างอยู่ตรงที่คราวนี้พวกเขามีเวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้นทั้งบนจอและนอกจอ จนสุดท้ายนำไปสู่ความสนิทสนมระหว่างเพศชายแบบเดียวกับหนังหลายเรื่องของ จัดด์ อพาโทว

“เวลาโคลินกับเจฟฟรีย์อยู่ร่วมห้องเดียวกันเมื่อไหร่ ทอม (ฮูเปอร์) มักถูกบังคับให้ต้องหุบปากเงียบไปโดยปริยาย” เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ เล่า “เวลาใครเริ่มพูดถึงเกร็ดประวัติ หรือสถิติอะไรบางอย่างขึ้นมา อีกคนจะรีบเสริมต่อทันที แล้วก็ลากยาวไปเรื่อย มันเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่หนังเรื่องนี้สามารถปิดกล้องลงได้”

รัช รับบทเป็น ไลโอเนล โล้ก นักบำบัดการพูดชาวออสเตรเลีย ที่เชื่อว่าอาการติดอ่างไม่ได้เกิดจากความผิดปกติทางร่างกาย แต่เป็นผลมาจากบาดแผลทางจิตใจ ด้วยเหตุนี้ วิธีรักษาของเขาจึงไม่ค่อยเหมือนใคร เช่น สนับสนุนให้คนไข้ร้องเพลงแทนการพูด หรือสบถคำหยาบเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ ขั้นตอนดังกล่าวยิ่งดูพิสดารมากขึ้น เมื่อคนไข้ของโล้กไม่ใช่สามัญชนทั่วไป หากแต่เป็นพระเจ้าจอร์จที่ 6 “ผมคิดว่าเรื่องราวในหนังน่าหลงใหลตรงที่มันพูดถึงความสัมพันธ์ของคนสองคนที่ไม่น่าจะมาพบกันได้ คนหนึ่งเป็นกษัตริย์ อีกคนเป็นสามัญชน แต่พวกเขาค้นพบบางอย่างที่เชื่อมโยงพวกเขาเข้าหากัน” นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์จากหนังเรื่อง Shine กล่าว

ต้องบอกว่าโชคชะตาชักนำให้รัชมาแสดงหนังเรื่องนี้ หลังจากคนเขียนบท เดวิด ซิดเลอร์ พยายามติดต่อนักแสดงชาวออสเตรเลียผ่านทางเอเยนต์ แต่ไม่ได้รับการติดต่อใดๆ กลับมา ด้วยเหตุนี้ โจน เลน ผู้อำนวยการสร้าง ซึ่งเห็นว่ารัชเหมาะกับบทมากที่สุด จึงตัดสินใจทำทุกวิถีทางให้เขาได้อ่านบท (ซึ่งในตอนนั้นยังเป็นบทละคร) “ผมเจอบทหนังเรื่องนี้ที่หน้าประตูบ้านในซองกระดาษสีน้ำตาล ราวกับมันเป็นเด็กกำพร้าที่ถูกทอดทิ้งและคาดหวังว่าผมจะรับไปเลี้ยงดู” นักแสดงวัย 59 ปี ทวนความจำ เขาอ่านบท แล้วโทรไปบอกเอเยนต์ในลอสแองเจลิสว่า เขาไม่อยากเล่น (และไม่มีเวลามากพอ) หากมันถูกสร้างเป็นละครเวที แต่ถ้ามันถูกพัฒนาเป็นบทหนัง เขาสนใจจะรับบทโล้กมาก การก้าวเข้ามาโอบอุ้มบทหนังเรื่องนี้ทำให้รัชได้เครดิตเป็นหนึ่งในผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของเขาในวงการบันเทิง

หลังจากคว้าออสการ์มาครองตั้งแต่ตอนยังเป็นแค่นักแสดงโนเนม หลายคนคาดว่ารัชอาจเป็นแค่นักแสดงมากฝีมือที่เผอิญมาอยู่ในหนังถูกเรื่องและถูกเวลา แล้วไม่นานเขาก็จะถูกลืม หรือห่างหายไปจากวงการเฉกเช่นนักแสดงออสการ์หลายคนอย่างเช่น หลุยส์ เฟลทเชอร์ หรือ เอฟ. เมอร์เรย์ อับราฮัม ตรงกันข้าม รัชผสมผสานผลงานคุณภาพ (Quills) เข้ากับผลงานกระแสหลัก (Pirates of the Caribbean) ได้อย่างลงตัว จนกลายเป็นหนึ่งในนักแสดงที่ทุกคนยอมรับนับถือ หากคุณได้ชม The King’s Speech คุณก็จะไม่แปลกใจว่าทำไม เขาถ่ายทอดอารมณ์ตัวละครได้ละเอียด ละเมียดละไม และรับส่งมุกตลกได้อย่างยอดเยี่ยม เคมีที่ลงตัวระหว่างเขากับเฟิร์ธทำให้หนังทั้งเรื่องได้ผลเกินความคาดหมาย

ไม่มีความคิดเห็น: