วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 15, 2554

Oscar 2011: The British Are Coming!


ช่วงเวลาเพียงสองสัปดาห์สามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างมากมายบนเส้นทางสู่ออสการ์ ในบทความชิ้นก่อนผมเคยเขียนไว้ว่า หากคู่แข่งสำคัญๆ อย่าง The King’s Speech หรือกระทั่ง The Fighter ต้องการแซงหน้า The Social Network ซึ่งกำลังวิ่งนำแบบม้วนเดียวจบจากการกวาดรางวัลนักวิจารณ์มาแทบทุกสถาบันละก็ พวกมันจะต้องแย่งรางวัลสำคัญๆ ของเหล่าสมาพันธ์มาครองให้ได้ อย่างน้อยก็หนึ่งรางวัล (และโอกาสสูงสุดน่าจะเป็น SAG สาขานักแสดงกลุ่ม)... และนั่นก็เป็นสิ่งที่ The King’s Speech ทำสำเร็จ แถมยังก้าวไปไกลชนิดเหนือความคาดหมายของทุกคนด้วยซ้ำ

การคว้ารางวัลจาก PGA หรือสมาพันธ์ผู้อำนวยการสร้างมาครองอาจถูกมองได้ว่าเป็นเรื่องโชคช่วย และที่สำคัญ PGA ก็มีสถิติ “ตรงใจออสการ์” ไม่ค่อยเริดหรูนัก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับ DGA) หลังจากเคยมอบรางวัลสูงสุดให้หนังอย่าง Little Miss Sunshine, The Aviator, Moulin Rouge!, Apollo 13 และ The Crying Game แต่การเดินหน้าคว้า DGA มาครองแบบ “ล็อกถล่ม” และตบท้ายด้วย SAG แบบตามโผ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ากรรมการออสการ์ (ซึ่งไม่ใช่นักวิจารณ์) ชื่นชอบ The King’s Speech มากกว่า The Social Network

อาจกล่าวได้ว่า รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปิดฉากลงแล้ว และผู้ชนะได้แก่ The King’s Speech เพราะหากเทียบตามสถิติ มีหนังเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นที่คว้ารางวัล SAG, DGA และ PGA มาครองแบบครบถ้วนแล้วพลาดออสการ์ นั่นคือ Apollo 13 (Braveheart เป็นผู้ชนะในปีนั้น) ความแตกต่างสำคัญอยู่ตรงที่ รอน โฮเวิร์ด ชวดการเข้าชิงออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง นอกจากนี้ Apollo 13 ยังเข้าชิงเพียง 9 สาขาในปีนั้น ซึ่งน้อยกว่าผู้ชนะอย่าง Braveheart (10 สาขา และถือเป็นการเข้าชิงสูงสุด)

หากสังเกตให้ดีจะพบว่า The King’s Speech ไม่เพียงเข้าชิงในสาขาใหญ่ๆ ตามคาดเท่านั้น (นำชาย, สมทบชาย, สมทบหญิง, หนัง, บท, ผู้กำกับ) แต่ยังเลยเถิดไปถึงสาขาเล็กๆ ที่เหนือความคาดหมายอย่าง บันทึกเสียง อีกด้วย ตรงกันข้ามกับ The Social Network ซึ่งพลาดการเข้าชิงสาขาที่ “พอมีแวว” อย่าง สมทบชาย (แอนดรูว์ การ์ฟิลด์) นั่นถือเป็นลางหายนะที่บ่งบอกว่ากรรมการไม่ได้ชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากนัก (บางทีการที่ เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ ได้เข้าชิงสมทบหญิง แล้วการ์ฟิลด์หลุดจากสาขาสมทบชายก็สามารถบอกอะไรบางอย่างได้ เพราะผลงานการแสดงของทั้งสองไม่ได้โดดเด่นมากมาย การที่ใครจะได้เข้าชิงหรือไม่ได้เข้าชิงจึงอยู่ตรงความ “แข็งแกร่ง” ของหนังเป็นสำคัญ)

The Social Network อาจถูกน็อกลงไปนอนหมดสติคาเวทีก็จริง แต่อย่าเพิ่งโยนผ้าขาวให้ เดวิด ฟินเชอร์ ทั้งนี้เพราะกรรมการออสการ์ ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า DGA หลายเท่า และเน้นความเป็น exclusivity (พูดง่ายๆ ได้ว่า กรรมการออสการ์ส่วนใหญ่เป็นสมาชิก DGA แต่สมาชิก DGA ส่วนใหญ่ไม่ใช่กรรมการออสการ์) อาจให้เครดิตเจ้าของผลงานเด่นๆ ในอดีตอย่าง Se7ven, Fight Club, Zodiac และ The Curious Case of Benjamin Button เหนือผู้กำกับมือใหม่อย่าง ทอม ฮูเปอร์ ซึ่งเพิ่งกำกับหนังเป็นเรื่องที่สอง อย่าลืมว่า ไอ้เจ้า “สิทธิพิเศษสำหรับคนพิเศษ” นี่เองที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญให้ออสการ์ตัดสินใจเลือก โรมัน โปลันสกี้ (The Pianist) แทน ร็อบ มาร์แชล (Chicago) ซึ่งคว้า DGA มาครอง และขณะเดียวกันมันก็อาจส่งอิทธิพลให้สองพี่น้อง โจเอล และ อีธาน โคน (True Grit) เบียดแทรก คริสโตเฟอร์ โนแลน (Inception) ในช่วงโค้งสุดท้าย จนโนแลนต้องกลายเป็นม่ายขันหมากสามครั้งซ้อน (เข้าชิง DGA จาก Memento, The Dark Knight และ Inception) ทำสถิติเทียบเท่า ร็อบ ไรเนอร์ (Stand by Me, When Harry Met Sally และ A Few Good Men)

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ของฟินเชอร์ไม่สู้ดีนัก ความพ่ายแพ้บนเวที DGA ทำให้เขาตกลงมาเป็นมวยรองทันที หลังจากชกทำคะแนนนำมาตลอด

ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม โคลิน เฟิร์ธ ถือได้ว่าปิดประตูแพ้แบบเดียวกับ เจฟฟ์ บริดเจส เมื่อปีก่อน โดยรางวัลนี้หาได้มอบแด่ผลงานอันทรงคุณค่าของเขาในหนังเรื่อง The King’s Speech เท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงผลงานเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าจากการคร่ำหวอดอยู่ในวงการมาเป็นเวลานาน แต่ยังไม่เคยได้รับรางวัลออสการ์มาก่อน การแข่งขันอาจลุ้นสนุกกว่านี้ ถ้า เจฟฟ์ บริดเจส ไม่ได้เพิ่งคว้าออสการ์มาครองจาก Crazy Heart

แล้ว เจสซี ไอเซนเบิร์ก หรือกระทั่ง เจมส์ ฟรังโก้ มีโอกาสแค่ไหนที่จะกลายเป็น เอเดรียน โบรดี้ แห่งปี 2011 คำตอบ คือ ไม่มากนัก (ในกรณีของฝ่ายแรก หากเขาได้ออสการ์ ก็จะทำลายสถิติที่โบรดี้สร้างไว้ด้วยการเป็นนักแสดงชายอายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์ที่คว้าออสการ์สาขานำชายมาครอง) ความสำเร็จของโบรดี้ (The Pianist) เป็นผลโดยตรงมาจากข้อเท็จจริงว่า แจ๊ค นิโคลสัน (About Schmidt) และ เดเนียล เดย์-ลูว์อิส (Gangs of New York) ในปีนั้นล้วนเคยได้ออสการ์มาแล้วทั้งสิ้น แต่อย่างที่เราทราบๆ กันดี โคลิน เฟิร์ธ ยังไม่เคยได้ออสการ์มาก่อน และเขาก็นำแสดงในหนังซึ่งกรรมการออสการ์หลงรักชนิดหัวปักหัวปำเสียด้วย

สาขานักแสดงนำหญิงเรียกได้ว่ายังมีให้ลุ้น เพราะถึงแม้ นาตาลี พอร์ตแมน จะวิ่งนำมาหลายช่วงตัวแล้วจากการกวาดรางวัลนักวิจารณ์หลายสถาบัน ลูกโลกทองคำ และ SAG มาครอง แต่คู่แข่งสำคัญของเธออย่าง แอนเน็ต เบนนิง ก็ไม่ได้ทิ้งห่างนัก โดยคว้ารางวัลจาก NYFCC และ ลูกโลกทองคำ (สาขาหนังเพลง/ตลก) มาครอง แถมยังได้เปรียบตรงที่เธออยู่ในวงการมานาน เล่นหนังดีๆ มาเยอะ เข้าชิงออสการ์มาก็หลายครั้ง (นี่เป็นครั้งที่สี่) แต่ยังไม่เคยเป็นผู้ชนะ!

ความพ่ายแพ้บนเวที SAG อาจถือเป็นลางดี เพราะเบนนิงเคยได้ SAG นำหญิงจาก American Beauty แต่กลับต้องมาอกหักบนเวทีออสการ์ (ฮิลารี สแวงค์ จาก Boys Don’t Cry ได้รางวัลไป) บางทีคราวนี้วงล้อแห่งโชคลาภอาจหมุนวนมาทางเธอบ้าง ขณะเดียวกัน การได้แต่งงานกับ วอร์เรน บีตตี้ ก็ช่วยเหลือในแง่อิทธิพลกว้างขวาง ส่วนตัวเบนนิงเองก็ได้ชื่อว่าเป็นมิตรและมีเพื่อนฝูงมากมาย... ฟังดูเผินๆ เหมือนการประกวดนางงามมิตรภาพ แต่ต้องยอมรับความจริงว่า ปัจจัยย่อยเหล่านี้ถือว่ามีผลอย่างยิ่งบนเวทีออสการ์ ซึ่งอาศัยเสียงโหวตของกรรมการนับพันคน (ในสาขาการแสดง) ไม่เชื่อก็ลองเหลือบไปมองผู้ชนะในสาขานี้เมื่อปีก่อนได้ จังหวะเวลาและบารมีถือเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้าม น้อยครั้งนักที่รางวัลออสการ์ตัดสินกันด้วยคุณภาพผลงานเป็นหลัก ตัวอย่างเท่าที่พอจะนึกออกในตอนนี้ก็เช่น ชาร์ลีซ เธรอน จาก Monster เป็นต้น

สถานะของ คริสเตียน เบล และ เมลิสสา ลีโอ ในสาขานักแสดงสมทบชายและหญิง ถือว่าค่อนข้างมั่นคง คอนเฟิร์ม (นั่นหมายความว่านี่อาจเป็นปีที่สองติดต่อกันที่ออสการ์ลอกรายชื่อผู้ชนะจาก SAG) แต่กระนั้นก็อย่าประมาท เจฟฟรีย์ รัช และ เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ อย่างเด็ดขาด เพราะความรักไม่สิ้นสุดของกรรมการต่อหนังเรื่อง The King’s Speech อาจส่งอานิสงส์ต่อไปยังนักแสดงคนอื่นนอกจากเฟิร์ธ สถานการณ์คล้ายคลึงกันเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ จูดี้ เดนช์ จาก Shakespeare in Love (ซึ่งเข้าชิงทั้งหมด 13 รางวัล และฉกรางวัลหนังยอดเยี่ยมไปจาก Saving Private Ryan แบบต่อหน้าต่อตา ที่สำคัญ ทั้งสองเป็นผลงานภายใต้แรงผลักดันของ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์)

เทียบกันแล้ว ความได้เปรียบของลีโอน่าจะน้อยกว่าของเบลเล็กน้อย เมื่อพิจารณาจากเหล่าคู่แข่งของเธอที่ดู “ลุ้นขึ้น” มากกว่า โดยนอกจากคาร์เตอร์ ซึ่งได้ประโยชน์จากปัจจัยย่อย นั่นคือ ความแข็งแกร่งของหนังและบารมีส่วนตัว (เธออยู่กินกับ ทิม เบอร์ตัน เล่นหนังชั้นดีมามาก และเคยเข้าชิงออสการ์สาขานำหญิงจาก The Wings of the Dove) แล้ว ไฮลี สไตน์เฟลด์ ยังมีโอกาสพลิกล็อกได้เช่นกัน เนื่องจากบทของเธอค่อนข้างโดดเด่น (ในระดับดารานำ แต่ถูกผลักมาชิงสมทบแบบเดียวกับ ตาตัม โอ’นีล จาก Paper Moon ที่คว้าออสการ์มาครอง) หรือแม้กระทั่ง แจ๊คกี้ วีเวอร์ ซึ่งขโมยหนังทั้งเรื่องมาครอง นอกจากนี้ สิ่งที่อาจทำให้ลีโอร้อนๆ หนาวๆ มากสุดอยู่ตรงสถิติที่ว่า สมทบหญิงเป็นสาขาสุดฮิตของปรากฏการณ์ “ล็อกถล่ม” ไม่เชื่อก็ลองดูรายชื่อผู้ชนะในอดีตอาทิ มาริสา โทเม (My Cousin Vinny) แอนนา พาควิน (The Piano) มาร์เซีย เกย์ ฮาร์เดน (Pollock) เป็นตัวอย่าง นี่เป็นสาขาที่ไม่คำนึงถึงบารมีมากเท่าสาขานักแสดงนำ ใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นดาราโนเนม หรือดาราเด็กดาวรุ่ง ก็มีโอกาสคว้าชัยมาครองมากพอๆ กับกลุ่มตัวเก็ง


คำสารภาพของผู้เข้าชิง

“การมีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ร่วมกับเหล่านักแสดงระดับสุดยอดที่ผมชื่นชมและให้ความเคารพถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในโอกาสนี้ผมอยากจะขอบคุณนักแสดงร่วมในหนัง และขอแบ่งปันความภาคภูมิใจกับ จูลีแอนน์ มัวร์, แอนเน็ต เบนนิง, จอช ฮัทเชอร์สัน, มีอา วาซิโควสกา และแน่นอนผู้กำกับ ลิซา โชโลเดนโก ขอบคุณคณะกรรมการทุกคน นี่ถือเป็นชัยชนะสำหรับสิทธิในการแต่งงานของรักร่วมเพศ ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะกลายเป็นจริง” มาร์ค รัฟฟาโล (นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจาก The Kids Are All Right)

“มันช่างวิเศษสุดจริงๆ ฉันอุตส่าห์นั่งรอดูการประกาศรายชื่อ แต่ดันเผลอหลับไป แต่ฉันก็ได้รับโทรศัพท์ทันที พร้อมด้วยข้อความแสดงความยินดีอีกมากมายจากอดีตสามี เพื่อนๆ และคนในครอบครัว ฉันรู้ว่าหนังของเราไม่เลวทีเดียว แต่ไม่คิดว่ามันจะเป็นที่ชื่นชอบมากขนาดนี้” แจ๊คกี้ วีเวอร์ (นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก Animal Kingdom)

“10 รางวัลถือว่ามากโข เราไม่อยากไปแย่งที่ใคร” โจเอล โคน และ อีธาน โคน (ผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก True Grit)

“วัยทองและการเข้าชิงออสการ์ช่วยให้ฮอร์โมนพลุ่งพล่านดีแท้” เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ (สมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก The King’s Speech)

“ผมตื่นเพราะเสียงหมาเห่า หมาของผมมีสัมผัสที่หก ผู้รู้ว่าต้องได้รับข่าวดีถ้าเสียงโทรศัพท์ดัง แต่คงเป็นข่าวร้ายถ้าไม่มีใครโทรมา เสียงโทรศัพท์ดังหลังจากหมาของผมเริ่มต้นเห่า” เดวิด โอ. รัสเซลล์ (ผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก The Fighter)

“ผมคิดว่าหนังสามารถเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่เพราะมันเล่าเรื่องที่ไม่ได้จำกัดแค่ยุคสมัยใดยุคสมัยหนึ่ง แก่นหลักของหนังปรากฏให้เห็นมานานนับแต่เริ่มมีการเล่าเรื่องเลยทีเดียว เรื่องราวของมิตรภาพ ความจงรักภักดี การทรยศหักหลัง อำนาจ ชนชั้น และความอิจฉาริษยา เหล่านี้เป็นประเด็นที่เอสกิลุสชอบเขียนถึง เช่นเดียวกับเชคสเปียร์ โชคดีสำหรับผมที่พวกเขาไม่ว่าง ผมจึงมีโอกาสได้เขียนบทหนังเรื่องนี้” แอรอน ซอร์กิน (บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมจาก The Social Network)

“ผมกำลังร่วมฉลองแบบเท้าไม่ติดพื้นกับเพื่อนร่วมงาน ผมไม่เคยดีใจและดื่มแชมเปญเยอะขนาดนี้มาก่อนในตอนเช้าตรู่” โคลิน เฟิร์ธ (นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก The King’s Speech)

“ผมกำลังเล่นต่อเลโก้กับลูกชายจนลืมเวลา พอเสียงโทรศัพท์ดัง ผมจึงรู้ว่าต้องเป็นข่าวดีแน่นอน ผมรู้สึกซาบซึ้งและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ผมนั่งดูการมอบรางวัลออสการ์มาตั้งแต่เด็ก และไม่เคยคาดฝันว่าวันนี้จะมาถึง ผมดีใจกับนาตาลีมากๆ เธอฝึกซ้อมอย่างหนักเป็นปี แล้วมอบความไว้วางใจให้ผมอย่างเต็มที่” ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ (ผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก Black Swan)

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง บอกตามตรง เมื่อคืนผมนอนไม่หลับเพราะความตื่นเต้น ตอนเป็นเด็กผมกับคุณยายจะนั่งดูงานประกาศรางวัลออสการ์เป็นประจำทุกปี การเติบโตมาในรัฐโคโลราโดทำให้ผมไม่เคยนึกฝันว่าวันหนึ่งจะได้มีส่วนร่วมกับพิธีการอันยิ่งใหญ่นี้ ผมอยากขอบคุณดรีมเวิร์คส์ที่มอบโอกาสให้เราสร้างสรรค์ผลงานอย่างอิสระและผลักดันให้เราพัฒนาไปถึงจุดสูงสุด” คริส แซนเดอร์ส (ภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยมจาก How to Train Your Dragon)


สถิติและเกร็ดน่ารู้

ในบรรดานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจำนวน 83 คนที่ผ่านมา มากกว่า 50% มีอายุระหว่าง 25-34 ปี โดยอายุ 29 ถือเป็นตัวเลขที่พบเห็นมากสุด ทีนี้ลองมาทายดูสิว่าใครในห้าคนที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมปีล่าสุดมีอายุตรงตามเกณฑ์พอดี ใช่แล้ว คำตอบ คือ นาตาลี พอร์ตแมน ตัวเก็งอันดับหนึ่งจากหนังเรื่อง Black Swan โดยหากเธอคว้าชัยชนะมาครองจริงในคืนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ เธอจะกลายเป็นนักแสดงคนที่ 8 ที่ได้ออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงเมื่ออายุครบ 29 ปีตามหลัง จิงเจอร์ โรเจอร์ส (Kitty Foyle: The Natural History of Woman) อิงกริด เบิร์กแมน (Gaslight) จูดี้ ฮอลลิเดย์ (Born Yesterday) อลิซาเบ็ธ เทย์เลอร์ (BUtterfield 8) โจดี้ ฟอสเตอร์ (The Accused) และ รีส วิทเธอร์สปูน (Walk the Line)

จากทั้งหมด 20 คนที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ในสาขาการแสดง นักแสดงที่อายุมากสุดและน้อยสุดล้วนมาจากหนังเรื่อง True Grit โดย ไฮลี สไตน์เฟลด์ (สมทบหญิง) เพิ่งอายุครบ 15 ปีไปเมื่อเดือนก่อน ส่วน เจฟฟ์ บริดเจส (นำชาย) อายุ 62 ปี

เจมส์ ฟรังโก้ ไม่ใช่นักแสดงคนแรกที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ในปีที่เขาควบตำแหน่งพิธีกรรางวัลออสการ์ (คู่กับ แอนน์ แฮทธาเวน์) ปรากฏการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วเจ็ดครั้ง ตัวอย่างเช่น เดวิด นีเวน ได้ออสการ์นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก Separate Tables ตอนเขาเป็นพิธีกรเมื่อปี 1958 ไมเคิล เคน เป็นพิธีกรในปี 1973 และถูกเสนอชื่อเข้าชิงสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก Sleuth เช่นเดียวกับ วอลเตอร์ แมทเธา ในปี 1972 ซึ่งถูกเสนอเข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก Kotch

เช่นเดียวกับ ไฮลี สไตน์เฟลด์ นักแสดงหลายคนที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ในปีนี้เริ่มต้นอาชีพท่ามกลางแสงไฟตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็น นาตาลี พอร์ตแมน, ฮาเวียร์ บาเด็ม, มิเชลล์ วิลเลียมส์, เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์, คริสเตียน เบล, นิโคล คิดแมน, เจสซี ไอเซนเบิร์ก, เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ และ เจฟฟ์ บริดเจส

สองขั้วตรงข้ามของกลุ่มผู้เข้าชิงในปีนี้ คือ อลัน เมนเคน ซึ่งได้ออสการ์มาแล้ว 8 ตัวสาขาเพลงและดนตรีประกอบในหนังการ์ตูนของดิสนีย์เรื่อง The Little Mermaid, Beauty and the Beast, Aladdin และ Pocahontas ตรงข้ามกับ โรเจอร์ เดียกินส์ ซึ่งชวดออสการ์มาแล้ว 8 ครั้งในสาขากำกับภาพจากหนังเรื่อง The Shawshank Redemption, Fargo, Kundun, The Man Who Wasn’t There, No Country for Old Men, The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford, The Reader และ O Brother, Where Art Thou?

สก็อตต์ รูดิน ผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่อง The Social Network และ True Grit กลายเป็นผู้อำนวยการสร้างคนแรกนับจาก ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา เมื่อปี 1974 ที่สามารถพาหนังสองเรื่องเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้ในปีเดียวกัน นั่นคือ The Godfather Part II และ The Conversation

อาจกล่าวได้ว่าออสการ์ชอบ True Grit เวอร์ชั่นรีเมคของสองพี่น้องโคนมากกว่า เนื่องจากมันถูกเสนอชื่อเข้าชิงมากถึง 10 สาขา ในขณะที่เวอร์ชั่นดั้งเดิม (1969) ถูกเสนอชื่อเข้าชิงเพียง 2 สาขา นั่นคือ นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (จอห์น เวย์น คว้ารางวัลมาครอง) และเพลงประกอบยอดเยี่ยม (พ่ายให้กับเพลง Raindrops Keep Fallin’ on My Head จากหนังเรื่อง Butch Cassidy and the Sundance Kid)

นับแต่ปี 2000 เป็นต้นมา มีหนังแค่ 4 เรื่องถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ 12 รางวัลหรือมากกว่า นั่นคือ The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring, Chicago, Gladiator และ The Curious Case of Benjamin Button ข่าวดีสำหรับ The King’s Speech คือ มีเพียง The Curious Case of Benjamin Button และ The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring เท่านั้นที่ชวดรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่ข่าวร้ายสำหรับผู้กำกับ ทอม ฮูเปอร์ คือ ไม่มีใครได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมเลย (ปีเตอร์ แจ๊คสัน พ่ายให้กับ รอน โฮเวิร์ด จาก A Beautiful Mind ร็อบ มาร์แชล พ่ายให้กับ โรมัน โปลันสกี้ จาก The Pianist ริดลีย์ สก็อตต์ พ่ายให้กับ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก จาก Traffic และ เดวิด ฟินเชอร์ พ่ายให้กับ แดนนี บอยล์ จาก Slumdog Millionaire)

เจฟฟรีย์ รัช (The King’s Speech) เป็นหนึ่งในนักแสดงเพียง 19 คนที่สามารถคว้ารางวัลทางการแสดงสำคัญๆ มาครองได้ครบถ้วน นั่นคือ ออสการ์ (นำชายจาก Shine) เอ็มมี่ (นำชายจาก The Life and Death of Peter Sellers) และโทนี่ (นำชายจาก Exit the King) นักแสดงคนก่อนๆ ที่ประสบความสำเร็จในระดับเดียวกันก็เช่น อัล ปาชิโน, พอล สกอฟิลด์, เฮเลน เฮย์ส, เอลเลน เบิร์นสตีน, แอนน์ แบนครอฟท์, อินกริด เบิร์กแมน, เจเรมี ไอรอนส์, วาเนสซา เรดเกรฟ และ เจสซิกา แทนดี้

สองพี่น้อง โจเอล และ อีธาน โคน กลายเป็นเพื่อนร่วมก๊วนกับ วอร์เรน บีตตี้, ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา, โอลิเวอร์ สโตน และ ปีเตอร์ แจ๊คสัน จากสถิติเข้าชิงรางวัลออสการ์สามสาขาสำคัญ (กำกับ,หนัง,บท) ภายในปีเดียวกันได้ถึงสองครั้ง โดยก่อนหน้า True Grit พวกเขาเคยทำสำเร็จมาแล้วกับ No Country for Old Men และกวาดรางวัลมาครองครบทั้งสามสาขา (ส่วนใน Fargo อีธานได้เครดิตผู้อำนวยการสร้าง โจเอลได้เครดิตผู้กำกับ และทั้งสองคว้ารางวัลมาครองร่วมกันจากสาขาบทภาพยนตร์) อย่างไรก็ตาม คนที่ถือครองสถิติสูงสุดยังคงเป็น สแตนลีย์ คูบริค ซึ่งเข้าชิงในฐานะผู้อำนวยการสร้าง, ผู้กำกับ และคนเขียนบทพร้อมกันสามครั้งจากหนังเรื่อง Dr. Strangelove or: How I Learn to Stop Worrying and Love the Bomb (1964), A Clockwork Orange (1971) และ Barry Lyndon (1975)

ไม่มีความคิดเห็น: