วันจันทร์, มกราคม 17, 2554

หนังแห่งความประทับใจ


The Ghost Writer: ทักษะในการเล่าเรื่องและสร้างบรรยากาศแห่งความชั่วร้าย ไม่ชอบมาพากลของ โรมัน โปลันสกี้ หาได้เจือจางไปตามอายุขัยที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับทัศนคติอันมืดหม่นว่ามนุษย์เป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ไร้พลังที่จะงัดข้อกับความฟอนเฟะ คอร์รัปชั่นของสังคม หรือองค์กรอำนาจขนาดใหญ่ และคงด้วยเหตุนี้กระมัง สงครามโลกครั้งที่สองของโปลันสกี้จึงถูกถ่ายทอดผ่านสายตาของนักเปียโนเชื้อสายยิวที่ต้องกัดฟันดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด แต่ไม่อาจช่วยเหลือใครในครอบครัวได้ (The Pianist) แทนที่จะเป็นนักธุรกิจผู้เสี่ยงชีวิตลักลอบขนย้ายชาวยิวออกจากค่ายกักกัน (Schindler’s List) หรือนักศึกษาชาวเยอรมันผู้ยอมสละชีพเพื่อแลกกับอุดมการณ์แห่งความถูกต้อง (Sophie Scholl)... สำหรับโปลันสกี้ โลกทั้งใบก็ไม่ต่างจากไชนาทาวน์!

The Hurt Locker: แม้จะไม่ได้แสดงท่าทีโดยตรงในการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทอันน่ากังขาของสหรัฐในตะวันออกกลาง แต่หนังก็สะท้อนเป็นนัยยะผ่านสถานการณ์ “ข้าศึกรอบด้าน” และ “ศัตรูที่มองไม่เห็น” (สงครามต่อต้านการก่อการร้ายก็ไม่ต่างจากการยิงปืนในความมืด) ขณะเดียวกัน ความพยายามจะเล่นบทวีรบุรุษโดยไม่มีใครร้องขอของอเมริกายังปรากฏให้เห็นผ่านปมปัญหาของตัวละครเอกที่มุ่งมั่นจะแก้แค้นให้กับเด็กชายคนหนึ่ง (ซึ่งสุดท้ายปรากฏว่าเป็นแค่ภาพลวงตา)... แน่นอน เหยื่อแห่งสงครามในสายตาของ แคทธีน บิกเกโลว์ หาใช่เพียงคนที่ต้องสิ้นลมหายใจจากกระสุนและระเบิดเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงคนที่กำลังจะสูญสิ้นจิตวิญญาณจากการเสพติดความรุนแรงและอะดรินาลินอีกด้วย

A Serious Man: ชีวิตไม่ใช่สูตรคณิตศาสตร์ และทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักเหตุและผลเสมอไป การดิ้นรนค้นหาคำตอบอย่างจริงจังจึงรังแต่จะนำไปสู่ทางตัน ตลอดจนความว้าวุ่นใจไม่สิ้นสุด ตรงข้ามกับการก้มหน้ายอมรับและก้าวเดินต่อไปอย่างกล้าหาญ ข้อคิดดังกล่าวถูกนำเสนอในสไตล์ทีเล่นทีจริงตามสูตรของสองพี่น้องโคน (กล่าวคือ หลายครั้งคนดูไม่รู้ว่าควรจะหัวเราะหรือขนหัวลุกดี) ผ่านนิทานประหลาดที่ปะหัวหนัง เรื่องสุดพิสดารเกี่ยวกับหมอฟัน และชะตากรรมแสนรันทดของ แลร์รี ก็อบนิค ที่สำคัญ พวกเขายังบอกใบ้อีกด้วยว่าศาสนาก็มืดบอดต่อปริศนาแห่งชีวิตไม่แพ้กัน จนต้องหันไปพึ่งพาเพลงป็อปให้ช่วยชี้ทางสว่าง!?!

The Social Network: ชีวิตของ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นภาพสะท้อนของสังคมยุคใหม่ได้อย่างแนบเนียน เมื่อแต่ละคนวิ่งแข่งกันเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย เพื่อแยกตัวเองให้โดดเด่นจากคนอื่นๆ เมื่อเงินล้านไม่ใช่เรื่องน่าทึ่งอีกต่อไป (ต้องเป็นพันล้านต่างหาก) เมื่อปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์จำกัดอยู่ในห้องมืดๆ หน้าจอคอมพิวเตอร์เพียงลำพัง แล้วแสวงหาการยอมรับจากกลุ่มคนแปลกหน้าในโลกเสมือน หนังจบลงอย่างมีความหวังตรงที่ (ตัวละคร) มาร์คตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิต ราคาที่เขายอมจ่ายเพื่อให้กลายเป็นเศรษฐีพันล้านอายุน้อยที่สุด แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง เมื่อเงินเข้ามาแทนที่พระเจ้าและใช้ซื้อทุกสิ่งทุกอย่างได้ บางทีมาร์ค (ตัวจริง) คงไม่แคร์เท่าไหร่นัก

Toy Story 3: ท่ามกลางมุกตลกล้อเลียนและอารมณ์ขันคมคายซึ่งอาจจะมากกว่าสองภาคแรกด้วยซ้ำ (ฉาก “แหกค่ายมฤตยู” ถือเป็นไฮไลท์ที่เรียกเสียงฮาได้มากพอๆ กับอารมณ์ลุ้นระทึก) หนังสอดแทรกประเด็นจริงจังเอาไว้อย่างกลมกลืนเกี่ยวกับความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง ตั้งแต่สังขารที่ย่อมแตกหัก เก่าแก่ และผุพังไปตามกาลเวลา จนถึงความสัมพันธ์ที่วันหนึ่งย่อมผันแปรและไม่อาจยั่งยืนไปตลอดชั่วฟ้าดินสลาย แม้กระทั่งความสัมพันธ์อันลึกซึ้งยาวนานอย่างความผูกพันระหว่างแอนดี้กับเหล่าของเล่นตัวโปรด ฉะนั้นทางรอดเดียว หากเราต้องการใช้ชีวิตให้มีความสุขโดยไม่รู้สึกขมขื่นจากการยึดติดกับอดีตที่หวานชื่นแบบเดียวกับเจ้าหมีสตรอเบอร์รี่ คือจงทำใจยอมรับและยืดหยุ่นไปตามความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

นักแสดงชาย

ลีโอนาโด ดิคาปริโอ (Shutter Island): เล่นดีตามมาตรฐานที่นับวันจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เจสซี ไอเซนเบิร์ก (The Social Network): ถ่ายทอดบทพูดรัวเป็นไฟของ แอรอน ซอร์กินส์ ได้ลื่นไหลและทรงพลังในหลายฉาก เช่นเดียวกับการถ่ายทอดบุคลิกยโส หยิ่งทะนงพร้อมๆ กับด้าน “ไอ้ขี้แพ้” ของตัวละครผ่านการแสดงอันลุ่มลึกในสไตล์เล่นน้อยแต่ได้มาก

แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ (The Social Network): ในฉากไคล์แม็กซ์ เมื่อเอดัวร์โดค้นพบว่าเพื่อนรัก (หักเหลี่ยมโหด) พยายามจะเขี่ยเขาออกจากบริษัทที่ทั้งสองช่วยกันก่อตั้งขึ้นมากับมือ นักแสดงหนุ่มคนนี้ก็ระเบิดอารมณ์แบบไม่ยั้ง เริ่มจากอาการช็อก สับสน ไปจนถึงโกรธแค้น และท้ายที่สุด (เมื่อเขาพูดกับเพื่อนรักว่า “นายหลอกฉัน มันเหมือนกับฉันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเฟซบุ๊ก”) หัวใจสลาย...

จอร์จ คลูนีย์ (The American): ปลดเสน่ห์ตามสไตล์หนุ่มหล่อเจ้าคารมแบบที่เราคุ้นเคยออกจนหมด แล้วเติมเสน่ห์แห่งความลึกลับ เก็บกดเข้ามาแทน โดยไม่ลืมที่จะเปิดโอกาสให้คนดูสัมผัสถึงด้านที่อ่อนแอ เปราะบางภายในของตัวละคร

มิเนียน (Despicable Me): น่ารักน่าชัง ว่านอนสอนง่าย แถมยังสารพัดประโยชน์

นักแสดงหญิง

โคลอี้ มอเร็ทซ์ (Kick-Ass): เธอผสมความไร้เดียงสาแบบเด็กๆ กับความแข็งแกร่ง โหดเหี้ยมแบบนักฆ่ามืออาชีพได้อย่างลงตัว

นูมิ ราเฟซ (The Girl with the Dragon Tattoo): มองแวบแรกดูเหมือนเด็กสาวโรคจิต แต่พอหนังดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ ราเฟซก็ค่อยๆ ปอกเปลือกตัวละครให้เห็นด้านที่เจ็บปวด คับแค้น และความอ่อนโยนภายใต้เปลือกนอกที่แข็งกระด้าง เห็นแล้วก็หนักใจแทน รูนีย์ มารา ในเวอร์ชั่นรีเมคของ เดวิด ฟินเชอร์

โอลิเวียร์ วิลเลียมส์ (The Ghost Writer): ดูเหมือนเมียอมทุกข์ที่ฉลาด แต่สิ้นหวังขนาดทนยอมเห็นสามีคบชู้แบบไม่ปิดบัง กระนั้นแววตาของวิลเลียมส์ส่อให้เห็นว่ามีบางอย่างซ่อนลึกอยู่กว่านั้น สอดคล้องไปกับบรรยากาศโดยรวมของหนังอย่างเหมาะเจาะ

เวรา ฟาร์มิกา (Up in the Air): เซ็กซี่ มั่นใจ และเป็นผู้หญิงแบบที่คุณพบเห็นไม่บ่อยนักในหนังตลก-โรแมนติก ภายนอกอาจดูอ่อนหวาน แต่ภายในกลับแกร่งและโหดกว่าที่คิด เธอไม่ได้ล้อเล่นตอนบอกกับ จอร์จ คลูนีย์ ว่า “คิดซะว่าฉันก็เหมือนคุณนั่นแหละ เพียงแค่มีช่องคลอด!”

แองเจลินา โจลี (Salt): ปิดท้ายทำเนียบหญิงแกร่งได้พอดี

ความคิดเห็น

ช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาข่าวดีสุดในแวดวงหนังไทยคงหนีไม่พ้นการคว้ารางวัลปาล์มทองของ ลุงบุญมีระลึกชาติ ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ ซึ่งหากจะพูดกันตามตรงแล้วไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกประหลาดใจแต่อย่างใด เพราะผลงานทุกเรื่องของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้เสียงตอบรับอย่างอบอุ่นที่คานส์เสมอมา ส่วนข่าวร้ายสุดก็คงหนีไม่พ้นการโดนเรทห้ามฉายของ Insects in the Backyard ซึ่งในแง่หนึ่งก็ไม่ได้ทำให้ผมรู้สึกประหลาดใจเช่นกัน เพราะรากเหง้าแห่งปัญหานั้นไม่ได้อยู่ตรงกฎหมาย (กฎหมายก็เป็นแค่กระดาษที่คนกลุ่มหนึ่งเขียนขึ้น แม้ว่าหลายคนจะชอบอ้างว่ากฎหมายเขียนไว้แบบนั้นแบบนี้ ต้องว่าไปตามกฎหมายราวกับว่ามันถูกจารึกโดยพระเจ้าตั้งแต่สมัยสร้างโลก) หากแต่อยู่ตรงทัศนคติและการมองโลกของกลุ่มคนที่กุมอำนาจเอาไว้ในมือต่างหาก คนพวกนี้ชอบอ้างว่าพวกเขาเรียกร้องแทนคนอื่น แต่กลับไม่เคยคิดจะเข้าใจใคร พวกเขาเอามาตรฐานของตนเป็นที่ตั้ง แล้วกวาดทุกสิ่งที่ไม่ตรงตามมาตรฐานนั้นออกจากกระดานโดยใช้ข้ออ้างประเภท “เพื่อศีลธรรมอันดี” หรือ “เพื่อความสงบเรียบร้อย” โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าทัศนคติประเภทนี้ต่างหากที่เป็นอันตราย ไม่เฉพาะต่อประเทศชาติเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงมวลมนุษยชาติโดยรวมอีกด้วย

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผ่านมาจะเดือนหนึ่งแล้วอ่ะ ยังไม่ได้กลับไปดูไปนับเลยอ่ะ ว่าปีที่แล้วดูหนังกี่เรื่อง หนังประทับใจอะไรบ้าง แต่ที่แน่ๆ มีบางเรื่องชอบเหมือนคุณริเวอร์เดลเลยครับ อิอิ ไปเขียนมั่งดีกว่า
ปล.แล้วใครจะอ่านหว่า 555
ปล2.ทำไมไม่ลิงค์ไปเฟสอ่ะ ได้รุว่าอัพอะไรเพิ่มไง