วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 24, 2554

Oscar 2011: Best Actress


แอนเน็ต เบนนิง (The Kids Are All Right)

ถึงแม้ตลอดชีวิตนักแสดง แอนเน็ต เบนนิง จะรับบทมาแล้วหลากหลายประเภท ตั้งแต่บทแม่ม่ายเจ้าเล่ห์ (Valmont) สาวนักตุ๋นสุดเซ็กซี่ (The Grifters) นักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม (The American President) หญิงคนรักของมาเฟีย (Bugsy) แม่บ้านแอบคบชู้ (American Beauty) ไปจนถึงดาวเด่นในวงการละครเวทีที่ใกล้ดับแสง (Being Julia) แต่บทคุณแม่เลสเบียนจอมเจ้ากี้เจ้าการในหนังดรามาเปื้อนอารมณ์ขันเรื่อง The Kids Are All Right อาจเป็นบทที่ผลักดันให้เธอคว้ารางวัลออสการ์มาครองเป็นครั้งแรกหลังจากพลาดหวังมาแล้วสามครั้ง

เนื่องจากต้องแบกรับภาระหาเลี้ยงครอบครัว นิคจึงมีบุคลิกแข็งกร้าว หยิ่งทะนง และบางครั้งก็อาจจะตัดสินคนอยู่บ้าง โดยเฉพาะกับ “ภรรยา” ที่ค่อนข้างอ่อนปวกเปียกและเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่ออย่างจูลส์ (จูลีแอนน์ มัวร์) แง่มุมดังกล่าวหาได้ทำให้เบนนิงหวาดกลัว ในทางตรงกันข้ามเธอกลับเห็นว่ามันเสน่ห์หลักของตัวละคร

“ฉันรู้สึกว่าตัวเองเข้าใจปัญหาของนิค และเห็นว่าเธอเป็นคนที่น่าสนใจ ฉันประหลาดใจทุกครั้งเวลาได้ยินใครแสดงความเห็นว่า ‘แต่เธอมีนิสัยชอบบงการชีวิตคนอื่น’ สำหรับฉัน ตัวละครที่เพียบพร้อมสมบูรณ์แบบมันน่าเบื่อจะตาย การคลุกคลีกับบทละครคลาสสิกระหว่างช่วงเข้าวงการใหม่ๆ ทำให้ฉันได้รับบทเป็นตัวละครในอุดมคติหลายครั้ง ฉะนั้น การมีโอกาสได้เล่นเป็นตัวละครที่มีจุดอ่อน ข้อบกพร่องมากพอๆ กับข้อดีจึงถือเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม” เบนนิงกล่าว

หากคุณรู้จัก หรือเคยพูดคุยกับตัวจริงของนักแสดงสาววัย 52 ปีผู้นี้ คุณจะพบว่าเธอแตกต่างจากนิคใน The Kids Are All Right ราวฟ้ากับเหว ด้วยความช่วยเหลือของสไตลิสต์และช่างแต่งหน้า เบนนิงสลัดทิ้งภาพลักษณ์ของดาราออกจนหมด ไม่หลงเหลือคราบของหญิงสาวที่ต้อนอดีตเสือผู้หญิงมือหนึ่งอย่าง วอร์เรน เบ็ตตี้ ได้อยู่หมัด (พวกเขามีลูกด้วยกันสี่คน) เรียกได้ว่าไม่เสียแรงที่ผู้กำกับ ลิซา โชโลเดนโก อุตส่าห์นั่งจินตนาการถึงเบนนิงขณะเขียนฉากที่น่าจดจำสูงสุดฉากหนึ่งในหนัง เมื่อนิคปล่อยอารมณ์ไปกับการร้องเพลง All I Want ของ โจนี มิทเชล กลางโต๊ะอาหารเย็น

“แอนเน็ตเป็นคนเดียวที่ฉันต้องการให้มารับบทนี้” โชโลเดนโกเล่า “เธอเป็นนักแสดงเพียงไม่กี่คนที่สามารถถ่ายทอดส่วนผสมระหว่างอารมณ์ขันกับโศกนาฏกรรมได้อย่างลื่นไหล ทำให้คนดูหัวเราะร่าในฉากหนึ่ง ก่อนจะแปรเปลี่ยนเสียงหัวเราะเป็นคราบน้ำตาในฉากต่อมา”

คำกล่าวอ้างข้างต้นถูกพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนผ่านฉากชวนหัว เมื่อนิคกับจูลส์คิดว่าลูกชายของพวกเธอ (จอช ฮัทเชอร์สัน) เป็นเกย์ ตามมาด้วยฉากที่ชวนให้หัวใจสลาย เมื่อนิคจับได้ว่าภรรยาแอบมีสัมพันธ์เกินเลยกับพอล (มาร์ค รัฟฟาโล) ซึ่งเป็นพ่อ (จากการบริจาคสเปิร์ม) ของลูกๆ พวกเธอ... และแน่นอน เบนนิงพลิกผันไปกับความสุขและทุกข์ของตัวละครได้อย่างแนบเนียนจนคนดูไม่ทันสังเกตว่ามันเป็นการแสดง


นิโคล คิดแมน (Rabbit Hole)

Rabbit Hole เป็นโครงการในฝันที่ นิโคล คิดแมน เฝ้าปลุกปั้นมาตั้งแต่แบเบาะ เริ่มต้นจากการซื้อลิขสิทธิ์บทละครชนะรางวัลพูลิทเซอร์ของ เดวิด ลินด์ซีย์-อาแบร์ ตามมาด้วยการโทรศัพท์หา จอห์น คาเมรอน มิทเชลล์ (Hedwig and the Angry Inch) เพื่อติดต่อขอให้เขามากำกับหนัง ชวน แอรอน เอ็คฮาร์ท มาร่วมนำแสดง และเข้าไปมีบทบาทในแทบทุกขั้นตอนการผลิตโดยควบตำแหน่งผู้อำนวยการสร้าง เธอรู้ดีว่าการขอลิขสิทธิ์เพลงของ อัล กรีน มาใช้ในหนังเป็นค่าใช้จ่ายก้อนโต และเนื่องจากทุนสร้างอันจำกัดจำเขี่ย (10 ล้านเหรียญ) เธอจึงพยายามมอบความสุขสบายเล็กๆ น้อยๆ ให้ทีมงาน เช่น ควักกระเป๋าตัวเองจ่ายค่ากาแฟชั้นดีและอาหารเลิศรสไว้บริการในกองถ่าย

“เราแยกย้ายกันพักตามห้องต่างๆ ในบ้าน ซึ่งเป็นฉากหลังของหนัง แล้วใช้ที่นอนเป่าลมเป็นเตียงเสริม มันทำให้เราไม่ต้องอาศัยบริการรถเทรลเลอร์ ฉันนอนในห้องเด็กห้องหนึ่ง ส่วนแอรอนก็นอนในห้องเด็กอีกห้อง วิธีนี้ช่วยประหยัดเงินได้มากโข” คิดแมนเล่า

อย่างไรก็ตาม การรับบท เบ็กก้า หญิงสาวที่ต้องสูญเสียลูกชายวัย 4 ขวบจากอุบัติเหตุรถชนหาใช่ประสบการณ์ “ชิลๆ” ตรงกันข้าม มันเป็นงานมหาโหดสำหรับคุณแม่คนใหม่ (ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา คิดแมนลดงานแสดงลงเพื่อจะได้มีเวลาอยู่กับลูกสาววัย 2 ขวบให้มากขึ้น) ซึ่งเล่าให้ฟังว่า “ระหว่างถ่ายทำฉันฝันร้ายบ่อยครั้ง ฉันรู้ดีว่าการแสดงบทนี้ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อจิตใต้สำนึกของฉัน บางครั้งฉันถึงขนาดสะดุ้งตื่นมากลางดึก และร้องไห้ แต่ในชีวิตจริงมีคนมากมายที่ก้าวผ่านวิกฤติการณ์แบบเดียวกันนี้ไปได้ ฉันแค่ต้องการถ่ายทอดมันออกมาให้สมจริงและน่าเชื่อถือ”

และปราศจากการเสแสร้ง หรือบีบคั้นเกินจำเป็น นักแสดงบางคนอาจพยายามกลั่นน้ำตาในทุกฉากอารมณ์ เพื่อหวังผลกระทบทางดรามาขั้นสูงสุด แต่ไม่ใช่คิดแมน “เธอค้นพบหนทางที่จะแสดงออกถึงความเป็นขบถของตัวละคร แต่ในเวลาเดียวกันก็สามารถโน้มน้าวให้คนดูรู้สึกเห็นใจได้อย่างสุดซึ้ง” มิทเชลล์กล่าว “เบ็กก้าต้องการรับมือกับความโศกเศร้าเพียงลำพัง ด้วยวิธีของเธอเอง และนิโคลก็ถ่ายทอดทุกแง่มุมของตัวละครออกมาอย่างลุ่มลึก ไม่หนักจนมือเกินไป เธอเต็มไปด้วยความสง่างามดุจราชินี”

ความกล้าหาญของคิดแมนที่จะดำดิ่งสู่ห้วงลึกทางอารมณ์ของตัวละคร จนกระทั่งนำตัวเองไปสู่สถานการณ์อันตรายทั้งทางร่างกายและจิตใจ ยังคงฝังแน่นอยู่ในความประทับใจของผู้กำกับ สตีเฟน ดัลดรี ซึ่งร่วมงานกับนักแสดงสาวชาวออสเตรเลียในหนังเรื่อง The Hours ที่ส่งผลให้เธอคว้ารางวัลออสการ์มาครอง “ตอนเราถ่ายทำฉาก เวอร์จิเนีย วูล์ฟ เดินลงแม่น้ำที่เชี่ยวกรากเพื่อฆ่าตัวตาย นิโคลไม่ยอมให้เราใช้สแตนด์อิน เธอเป็นนักแสดงที่ใครก็อยากได้มาร่วมงาน นอกเหนือจากนั้น เธอยังน่ารัก ทรงเสน่ห์ เปี่ยมอารมณ์ขัน และถ่อมตนอย่างมาก” ดัลดรีกล่าว

หากพิจารณาจากบทบาทที่ค่อนข้าง “มืดหม่น” ใน The Hours และ Rabbit Hole คุณจะพบว่าเสน่ห์และความน่ารักหาใช่เหตุผลสำคัญที่ทำให้คิดแมนถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ แต่เป็น “ความจริง” ของตัวละครที่เธอสะท้อนผ่านพรสวรรค์และทักษะอันช่ำชองต่างหาก


เจนนิเฟอร์ ลอวเรนซ์ (Winter’s Bone)

แทบทุกปีวงการหนังอินดี้จะผลิตนักแสดงหญิงอย่างน้อยหนึ่งคน ที่ใครๆ พากันจับตามองเนื่องจากการแสดงระดับสุดยอด ผสมผสานเสน่ห์เฉพาะตัวเข้ากับทักษะ ความแข็งแกร่ง รวมทั้งความอ่อนหวานได้อย่างลงตัว แล้วโน้มนำคนดูให้ลุ้นเอาใจช่วยตัวละครได้ตลอดการเดินทางอันหนักหนาสาหัส มันเป็นการแสดงที่โดดเด่นจนส่งผลให้เธอกลายเป็น “ดารา” ในชั่วข้ามคืน ตามมาด้วยการถูกเสนอเชื่อเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก โดยตัวอย่างในอดีตได้แก่ เอลเลน เพจ ( Juno) และ แครี มัลลิแกน (An Education) ส่วนปีนี้ตำแหน่งดังกล่าวคงตกเป็นของ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ อย่างไม่ต้องสงสัย

ในหนังทริลเลอร์-ดรามาเรื่อง Winter’s Bone ลอว์เรนซ์ รับบทเป็น รี ดอลลี เด็กสาววัย 17 ปีที่ถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องออกตามหาพ่อ หลังจากเขาใช้บ้านเป็นทรัพย์สินเพื่อประกันตัวจากข้อหาผลิตยาบ้า แต่ต่อมากลับหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจึงเดินทางมาแจ้งรีให้ทราบว่า หากพ่อของเธอยังไม่ปรากฏตัว (ไม่ว่าจะแบบยังมีลมหายใจ หรือในสภาพซากศพ) เธอกับแม่ที่สติไม่ดี และน้องๆ อีกสองคนจะไร้ที่ซุกหัวนอน นั่นเองกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่โลกแห่งมาเฟีย สลัมบ้านนอก การคอร์รัปชัน และความหนาวเหน็บแห่งย่านหุบเขาโอซาร์ค

“ฉันนึกชื่นชมเธอ” นักแสดงสาวที่เริ่มสร้างชื่อเสียงจากบทหม่นๆ ในหนังเรื่อง The Burning Plain กล่าวถึงบุคลิกของตัวเอกใน Winter’s Bone “เธอแข็งแกร่งในแบบที่ฉันไม่มีวันเป็นได้ เธอไม่ยอมรับฟังคำปฏิเสธใดๆ ฉันรู้สึกหลงใหลชีวิตและทัศนคติของเธอ ความมุ่งมั่นแบบนั้นคงไม่ต่างจากการวิ่งเข้าอุโมงค์แล้วเห็นเพียงจุดหมายเบื้องหน้า ตลอดจนสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย แต่มืดบอดต่อสิ่งอื่น หรืออันตรายรอบข้าง แม่ฉันอ่านนิยายเรื่องนี้ (เขียนโดย เดเนียล วูดเรลล์) เมื่อห้าปีก่อน และบอกว่าฉันเหมาะจะรับบท รี ดอลลี มาก ถ้ามีใครดัดแปลงมันเป็นหนัง”

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่แม่เธอจะคิดเช่นนั้น เพราะลอว์เรนซ์เป็นเด็กสาวที่มุ่งมั่นในจุดหมาย และไม่หวาดกลัวการตัดสินใจเช่นกัน เธอเริ่มต้นสร้างอาชีพในวงการบันเทิงตั้งแต่อายุยังน้อย (14 ปี) หลังเดินทางมาเที่ยวแมนฮัตตันในช่วงปิดเทอม ด้วยแรงสนับสนุนจากทุกคนในครอบครัว เธอใช้เวลาสองสามเดือนตลอดฤดูร้อนเดินสายทดสอบบท และก่อนฤดูร้อนจะสิ้นสุดลง เธอก็มีโอกาสเดินทางไปยังลอสแองเจลิสเพื่อรับบทเล็กๆ ในละครทีวี

การใช้ชีวิตวัยเด็กเติบโตมาในฟาร์มช่วยให้เธอคุ้นเคยกับวัฒนธรรมชนบท โดยก่อนจะเริ่มเปิดกล้อง ลอว์เรนซ์ได้ย้ายจากนิวยอร์กกลับไปอยู่เคนทักกีเพื่อ “ซึมซับ” วิถีพื้นบ้าน เธอช่วยล้างคอกม้า เรียนรู้วิธีผ่าฟืน และฝึกยิงปืน นอกจากนี้ เธอยังมีอีกหนึ่งบุคลิกที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อกับรับบท รี ดอลลี นั่นคือ เธอไม่หวาดกลัวอะไรง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นเลือด แผลสด หรือการถลกหนังกระรอก แล้วต้มเป็นสตู “ไม่มีอะไรทำให้ฉันช็อกได้” เธอกล่าว โดยยกเครดิตให้กับความชื่นชอบเหล่าซีรีย์ดรามาที่มีฉากหลังเป็นโรงพยาบาล และประสบการณ์การเป็นผู้ช่วยพยาบาลในค่ายฤดูร้อนของพ่อแม่เธอ... แต่การจะได้เดินพรมแดงในคืนวันออสการ์คงสร้างความรู้สึกตื่นเต้นให้เธอได้ไม่น้อย


นาตาลี พอร์ตแมน (Black Swan)

ศักยภาพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของ นาตาลี พอร์ตแมน ถูกทดสอบจนถึงขีดสุดในหนังเรื่อง Black Swan ขณะเดียวกับที่ นีนา เซเยอร์ส ตัวละครซึ่งเธอรับเล่น ค่อยๆ พาตัวเองไปสู่ด้านมืดเพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าเธอสามารถเต้นเป็นทั้งหงส์ขาวแสนบริสุทธิ์และหงส์ดำสุดเซ็กซี่ได้อย่างสมบูรณ์แบบในบัลเลต์ Swan Lake เวอร์ชั่นล่าสุด คนดูที่คุ้นเคยกับภาพลักษณ์ของพอร์ตแมนจากบทราชินีอามีดาลาในหนังชุด Star Wars หรือบทสาวน้อยทรงเสน่ห์ในหนังเรื่อง Garden State หรือกระทั่งบทนักเต้นระบำเปลื้องผ้าที่เปราะบางในหนังเรื่อง Closer ซึ่งทำให้เธอได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก จะต้องตกใจกับหลากหลายวิบากกรรมที่เธอไม่อาจหลีกเลี่ยงในผลงานสยองขวัญสำหรับคอหนังอาร์ตเรื่องนี้

นอกจากการแบกรับหนังทั้งเรื่องและปรากฏตัวในแทบทุกเฟรมภาพแล้ว พอร์ตแมนยังต้องอาเจียน เห็นภาพหลอน เข้าฉากเซ็กซ์ร้อนแรงกับ มิลา คูนิส นักแสดงสาวที่รับบทนักเต้น “คู่แข่ง” โดนลวนลาม/เย้ายวนทางเพศโดยผู้กำกับละครเวทีหนุ่มใหญ่ (วินเซนต์ แคสเซล) และเต้นบัลเลต์โดยไม่ใช้ตัวแสดงแทนเกือบทั้งหมด

พอร์ตแมนไม่ได้จงใจจะช็อกคนดู หรือพิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กหญิงจาก Leon ได้เติบใหญ่เป็นหญิงสาวเต็มตัวแล้ว เธอแค่ไม่ต้องการหยุดอยู่กับที่ในฐานะนักแสดง และพยายามผลักดันตัวเองไปข้างหน้าด้วยบทที่ท้าทายความสามารถ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเธอถึงเฝ้ารออย่างอดทนมานานเกือบ 10 ปี หลังได้พูดคุยกับ ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ เป็นครั้งแรกตอนที่บทหนังยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง และโครงการปราศจากเงินทุนสนับสนุน

แม้ว่าความฝันของเธอจะกลายเป็นจริงตอนอายุ 29 ปี ซึ่งถือว่าล่าช้าไปนิดสำหรับการรับบทเป็นนักเต้นบัลเลต์ในช่วงรุ่งโรจน์ แต่พอร์ตแมนกลับดีใจที่โครงการใช้เวลานานฟักตัวนานกว่าที่คิด “ในแง่สภาพร่างกาย ทุกอย่างคงง่ายขึ้นหากฉันอายุน้อยกว่านี้ แต่ในแง่ของอารมณ์ เวลาช่วยให้แนวคิดและความรู้สึกของฉันเกี่ยวกับหนังและตัวละครตกผลึก” เธอกล่าว

เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับบท พอร์ตแมนต้องลดน้ำหนักลง 20 ปอนด์ เข้าคลาสเรียนเต้นบัลเลต์เป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม แต่ถึงจะฝึกซ้อมมาอย่างดี เธอก็ยังไม่วายได้รับบาดเจ็บระหว่างเข้าฉาก (กล้ามเนื้อซี่โครงเขียวช้ำ และล้มหัวกระแทกพื้นจนต้องเข้ารับการสแกนสมอง) แต่ประสบการณ์หวานชื่นที่น่าจะช่วยลดทอนความเจ็บปวดลงได้บ้าง คือ การพบรักกับนักออกแบบท่าเต้นชาวฝรั่งเศส เบนจามิน มิลล์พายด์ ซึ่งรับบทเป็นคู่เต้นของนีนา

อาโรนอฟสกี้กล่าวชื่นชมนักแสดงนำหญิงของเขาที่รับบทแรงๆ และยากมหาโหดได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ขณะเดียวกันก็เติบใหญ่พอจะไม่ปล่อยให้สภาพจิตอันขาดวิ่นของนีนาก้าวเข้ามามีบทบาทกับชีวิตจริง “เธอทำงานหนักทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ แต่ก็มีความเป็นมืออาชีพอย่างเหลือเชื่อ ผมเคยเห็นคุณสมบัติแบบเดียวกันนี้ในตัว เอลเลน เบิร์นสตีน โดยทันทีหลังจากผมสั่งคัทฉากอารมณ์รุนแรงที่สาหัสสากรรจ์ฉากหนึ่งใน Requiem for a Dream เอลเลนจะพูดแค่ว่า โอเค แล้วก็เดินกลับไปนั่งพัก ผมไม่เคยเห็นนักแสดงรุ่นเยาว์คนไหนมีศักยภาพในระดับเดียวกัน ฉะนั้น แม้ว่ามันจะเป็นบทที่หนัก แต่นาตาลีกลับควบคุมตัวเองได้อย่างเหลือเชื่อ”... คงต้องมาพิสูจน์กันดูว่าในคืนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พอร์ตแมนจะควบคุมตัวเองได้ดีแค่ไหน หากชื่อของเธอถูกประกาศให้เป็นผู้ชนะรางวัลออสการ์


มิเชลล์ วิลเลียมส์ (Blue Valentine)

ตลอดช่วงสองสามเดือนก่อนหน้านี้เวลามีใครพูดถึงหนังอินดี้เล็กๆ เรื่อง Blue Valentine สิ่งแรกที่พวกเขาจะนึกถึง คือ ข่าวดังเกี่ยวกับฉากรักร้อนแรงในหนัง ซึ่งคงจะช็อกคณะกรรมการ MPAA จนตัดสินใจมอบเรต NC-17 ให้เป็นรางวัล (ต่อมาในขั้นตอนการยื่นอุทธรณ์ คณะกรรมการได้เปลี่ยนคำตัดสิน แล้วมอบเรต R ให้กับหนังแทน) แต่ทุกอย่างพลันเปลี่ยนแปลงในชั่วข้ามคืนพร้อมกับการมาถึงของรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ เมื่อปรากฏว่าผลงานแสดงอันยอดเยี่ยมของ มิเชลล์ วิลเลียมส์ หาได้ถูกมองข้ามดังที่หลายคนคาดหมายแต่อย่างใด

หากมองข้ามฉากเซ็กซ์อันร้อนแรงซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่ฉากไป คุณจะพบว่า Blue Valentine พูดถึงประเด็นสากลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ทุกคนที่ครั้งหนึ่งในชีวิตเคยตกหลุมรัก ก่อนจะตามมาด้วยความจืดจางลงของอารมณ์ดังกล่าว “คนสองคนถูกดึงดูดเข้าหากันด้วยความรัก แต่สุดท้ายชีวิตคู่มันเป็นเรื่องของสิ่งเล็กๆ น้อยๆ” วิลเลียมส์กล่าว “รายละเอียดต่างๆ เริ่มทับถม ทั้งภาระหน้าที่ ความคาดหวัง ความฝัน มันเป็นหนังรักที่ไม่ได้สวยงามนัก และแน่นอนว่าปราศจากทางออก แต่ชีวิตเราก็เป็นแบบนี้ไม่ใช่หรือ มันยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่คลี่คลาย”

ซินดี้ ตัวละครที่วิลเลียมส์แสดงในหนัง ตกหลุมรักชายหนุ่มที่อ่อนหวาน ปรารถนาดี (ไรอัน กอสลิง) แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อาจก้าวข้ามข้อด้อยของตนไปได้ สุดท้ายชีวิตแต่งงานของทั้งสองจึงมุ่งหน้าสู่หุบเหว เมื่อฝ่ายหญิงเริ่มมองหาความก้าวหน้า มั่นคง ส่วนฝ่ายชายกลับจมปลักอยู่กับความเคยชิน... และขวดเหล้า

วิลเลียมส์ได้อ่านบทหนังเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อ 7 ปีก่อน หลังจากเพิ่งโบกมือลาซีรีย์วัยรุ่นสุดฮิต Dawson’s Creek และก็ตกหลุมรักมันในทันที “บทหนังโดนใจเธอมาก เราคุยกันถึงเรื่องความรักและการเลิกราอยู่นานสองนาน” ดีเร็ค เชียนแฟรนซ์ ผู้กำกับ Blue Valentine กล่าว และในความคิดเขา ไม่มีใครเหมาะจะรับบทเป็นตัวละครที่ยากต่อการคาดเดาอย่างซินดี้มากไปกว่าวิลเลียมส์อีกแล้ว “มิเชลล์เหมือนมีโลกอีกใบอยู่ภายในตัว เวลาผมเห็นเธอบนจอ มันรู้สึกเหมือนมีพายุกำลังก่อตัวอยู่ภายในร่างเธอ แต่ภายนอกของเธอกลับแน่นิ่ง ดูลึกลับและชวนให้ค้นหา”

แม้จะรับบทเป็นผู้หญิงเปราะบางมาหลายครั้ง ตั้งแต่บทภรรยาที่ค้นพบว่าสามีแอบคบชู้กับผู้ชายอีกคนใน Brokeback Mountain ซึ่งทำให้เธอได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก ไปจนถึงบทหญิงสาวผู้เปลี่ยวเหงาใน Wendy and Lucy และบทคุณแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้าใน Shutter Island แต่ตัวจริงของวิลเลียมส์กลับแตกต่างจากบทบาทบนจอภาพยนตร์ค่อนข้างมาก “คนชอบคิดว่าเธอเป็นพวกอ่อนไหว แต่ลึกๆ แล้ว เธอเข้มแข็งและเฮฮามาก” เจค จิลเลนฮาล ซึ่งเคยร่วมงานกันใน Brokeback Mountain กล่าว “มิเชลล์ไม่เคยหลงใหลแสงสีแห่งวงการบันเทิง เธอชอบชีวิตของเธอมากกว่างาน ซึ่งส่งผลให้เธอสร้างสรรค์ผลงานได้น่าพอใจกว่านักแสดงส่วนใหญ่”... ไม่เชื่อก็ลองตีตั๋วเข้าไปเข้าชม Blue Valentine เพราะในหนังเรื่องนี้นอกจากเธอจะเต้นแท๊ปและท่องชื่อประธานาธิบดีทุกคนจนครบแล้ว วิลเลียมส์ยังทำให้คนดูหัวใจสลายได้อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: