วันพฤหัสบดี, กันยายน 08, 2554

Rise of the Planet of the Apes: สู่เสรีภาพ


โดยเปลือกนอกแล้ว หนังเรื่อง Planet of the Apes (1968) ถือเป็นบทวิพากษ์สัญชาตญาณมนุษย์ในการทำลายล้างและนิยมความรุนแรงจนนำไปสู่จุดจบแห่งอารยธรรม ซึ่งไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย หากมองผ่านบริบททางสังคมในยุคสงครามเย็น เมื่อวิกฤติอาวุธนิวเคลียร์กำลังร้อนระอุ แต่หากมองให้ลึกลงไป คุณจะเห็นความนัยที่ซ่อนอยู่ เกี่ยวกับสันดานอีกประเภทของมนุษย์ นั่นคือ ความหยิ่งทะนง ถือตนว่ามีสติปัญญาเหนือสิ่งมีชีวิตทั้งหลายบนโลก และหวาดกลัว “ความเป็นอื่น” ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด

หนังเป็นเหมือนภาพสะท้อนมุมกลับของภาวะเหยียดสีผิว เมื่อมนุษย์ (ชนผิวขาว) ตกเป็นทาสที่ถูกล่ามโซ่ จับเข้ากรง และถูกมองว่าต่ำต้อย ล้าหลังกว่าพวกลิง (ชนผิวดำ) หนังตั้งใจประณามการกดขี่โดยพลิกตลบให้เหล่า “อภิสิทธิ์ชน” มารับบทเบี้ยล่าง เพื่อรับรู้ถึงรสชาติของการถูกมองด้วยแววตาเหยียดหยาม แต่ในเวลาเดียวกัน การวาดภาพ “มนุษย์” ผ่านตัวละครผิวขาวเป็นหลัก (หนึ่งในทีมนักบินอวกาศเป็นแอฟริกัน-อเมริกัน แต่เขาถูกฆ่าตายตั้งแต่ต้นเรื่อง) ทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดเหล่าผู้รอดชีวิตจากสงครามนิวเคลียร์ถึงมีแค่คนผิวขาว ปราศจากคนผิวดำ คนเอเชีย หรือคนละติน ความเป็นไปได้ดังกล่าวมีโอกาสมากน้อยแค่ไหน ในเมื่อฉากหลังของหนังเป็นมหานครอย่างนิวยอร์กซึ่งคราคร่ำไปด้วยผู้คนหลากเชื้อชาติ

ด้วยเหตุนี้ เสียงคร่ำครวญอย่างเกรี้ยวกราดของ ชาร์ลตัน เฮสตัน ในฉากจบอันลือลั่น เมื่อเขาค้นพบว่าดาวที่ถูกปกครองโดยลิงนั้น แท้จริงแล้วเป็นโลกมนุษย์ (“เราทำลายมันจนได้ ไอ้พวกสารเลว! ขอให้พวกแกตกนรกหมกไหม้!”) จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะถูกตีความว่าเป็นเสียงก่นด่ามนุษย์ผิวขาว ที่ทำลายโลก (แพ้ภัยตัวเอง?) ส่งผลให้เหล่าสายพันธุ์และอารยธรรมที่ด้อยกว่าทั้งในเชิงสรีระและเทคโนโลยี กลายมาเป็นผู้นำ (นัยยะดังกล่าวสอดคล้องไปกับการแบ่งชนชั้นในหมู่ลิง เมื่ออุรังอุตัง ซึ่งมีผมสีบลอนด์เป็นกลุ่มผู้ปกครอง ชิมแปนซี ซึ่งมีผมสีน้ำตาลและผิวสีอ่อน เป็นชนชั้นกลาง หรือมันสมองของสังคม และท้ายสุดกอริลลา ซึ่งมีผมสีดำและผิวสีเข้ม เป็นทหารที่ต้องคลุกคลีกับความรุนแรง ป่าเถื่อน)

43 ปีต่อมา สงครามนิวเคลียร์ไม่ได้อยู่ในความกังวลของคนส่วนใหญ่อีกต่อไป (ยกเว้นคุณจะอาศัยอยู่บนคาบสมุทรเกาหลี) ส่วนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิความเทียมกันทางสีผิวก็เดินหน้ามาไกลแล้ว จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าเหตุใด การล่มสลายของเผ่าพันธุ์มนุษย์ใน Rise of the Planet of the Apes ถึงถูกเปลี่ยนแปลงจากอาวุธนิวเคลียร์มาเป็นเชื้อไวรัสมรณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากความวิตกกังวลร่วมสมัยเกี่ยวกับกระแสโรคร้ายสารพัดที่คร่าชีวิตผู้คนนับล้านตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาอย่าง อีโบลา ไข้หวัดนก และเอดส์ แต่สิ่งหนึ่งที่หนังยังคงรักษาไว้อย่างเหนียวแน่น คือ ความยโสแห่งมนุษย์ ซึ่งกลายเป็นต้นเหตุแห่งความฉิบหายวายป่วงทั้งมวล

วิล ร็อดแมน (เจมส์ ฟรังโก้) ก็ไม่ต่างจาก ดร. แฟรงเกนสไตน์ ที่พยายามจะเอาชนะธรรมชาติ เขาพัฒนาไวรัสขึ้นเพื่อหวังจะใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ และช่วยเหลือพ่อ (จอห์น ลิธโกว) ให้หายจากอาการสมองเสื่อม ไวรัสตัวแรกดูเหมือนจะได้ผลดีในระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายกลับถูกระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ทำลายลง ส่งผลให้เขาพัฒนาไวรัสอีกตัวขึ้น ซึ่งรุนแรงกว่า และแน่นอนว่าย่อมนำไปสู่หายนะ ความอหังการและทะเยอทะยาน แม้ว่าจะถือกำเนิดจากความปรารถนาดี โดยไม่ฟังคำเตือนของแฟนสาว (ฟรีดา พินโต) ว่า “บางสิ่งบางอย่างก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้” ทำให้วิลลงเอยด้วยการผลิตอาวุธคร่าชีวิตมนุษย์ แทนที่จะเป็นยารักษาโรค

อย่างไรก็ตาม ไวรัสกลับใช้ได้ผลดีเยี่ยมในลิง ช่วยให้มันพัฒนาสมองขึ้นมาเกือบจะเทียบเท่ามนุษย์ แถมยังสืบทอดผ่านทางกรรมพันธุ์อีกด้วย ทว่าผลกระทบกลับทำให้ลิงชิมแปนซีอย่าง ซีซาร์ (แอนดี้ เซอร์กิส) มีสภาพไม่แตกต่างจากสัตว์ประหลาดของ ดร. แฟรงเกนสไตน์ มันฉลาดเกินหน้าลิงทั่วไป จนรู้สึกแปลกแยกเมื่อถูกจับมารวมกับลิงจรจัดอื่นๆ แต่ขณะเดียวกัน รูปลักษณ์ภายนอกก็ทำให้มันไม่สามารถกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับสังคมมนุษย์ได้ ซีซาร์พลันตระหนักถึงตัวตนที่แท้จริงจนนำไปสู่การยอมรับในที่สุด เมื่อมันถูกลิงนักเลงเจ้าถิ่นปลดเปลื้องเสื้อผ้าออก และได้รับการปฏิบัติจากเด็กเกรียนประจำศูนย์กักกันสัตว์ (ทอม เฟลตัน) ไม่แตกต่างจากลิงตัวอื่นๆ

สำหรับมนุษย์ทั่วไปแล้ว ไม่ว่าซีซาร์จะฉลาด หรือเปี่ยมไหวพริบเพียงใด สุดท้ายมันก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการถูกตีตราให้เป็นลิงอยู่วันยังค่ำ

ในเวลาเดียวกัน วิลก็ต้องเรียนรู้ว่าแม้ไวรัสจะทำให้ลิงชิมแปนซีฉลาดแค่ไหน สุดท้ายมันก็ยังไม่ใช่มนุษย์อยู่วันยังค่ำ พร้อมกันนั้นระดับสติปัญญาที่เพิ่มขึ้นกลับทำให้มันเริ่มสังเกตเห็นความขัดแย้ง แปลกแยก ตลอดจนความไม่เป็นธรรมอันเกิดจากน้ำมือมนุษย์ และไม่ว่าวิลจะพยายามมอบความรัก ความเอาใจใส่ต่อซีซาร์มากเพียงใด สุดท้ายเขาก็ต้องพ่ายแพ้ต่อธรรมชาติอยู่วันยังค่ำ เมื่อซีซาร์ตัดสินใจเลือกจะอยู่ในป่าอย่างอิสระกับพวกพ้องเดียวกัน แทนการถูกล่ามโซ่เป็นเหมือนสัตว์เลี้ยง ทุกครั้งที่ “พ่อ” ของเขาพาไปเดินเล่น

เนื้อหาของหนังอาจสะท้อนให้เห็นดาบสองคมของวิทยาการและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ รวมเลยไปถึงระบบทุนนิยม ซึ่งคำนึงถึงผลกำไรเหนือสิ่งอื่นใด แต่ขณะเดียวกัน ตัวหนังก็โอบกอดความก้าวหน้าของเทคโนโลยี motion captureอย่างเต็มที่ และผลลัพธ์ที่ออกมาก็ถือว่าน่าตื่นตะลึง เนื่องจากตัวละครที่สร้างจากคอมพิวเตอร์กราฟฟิกอย่างซีซาร์ ไม่เพียงจะเคลื่อนไหวเหมือนจริงท่ามกลางแสงธรรมชาติในตอนกลางวัน พร้อมทั้งมีปฏิสัมพันธ์กับนักแสดงได้แนบเนียน กลมกลืนเท่านั้น แต่มันยังถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกได้หลากหลาย ลุ่มลึก จนไม่น่าแปลกใจหากบรรดาดาราทั้งหลายจะรู้สึกหวาดหวั่นต่ออนาคตทางด้านอาชีพการงาน

น่าสังเกตว่า Rise of the Planet of the Apes ไม่ปิดบังที่จะดึงดูดคนดูให้เข้าข้างฝูงลิงมากกว่าเหล่ามนุษย์โลก ซึ่งแตกต่างจาก Planet of the Apes เพราะลิงในหนังเรื่องนี้ไม่ใช่ตัวแทนของภาพมุมกลับแห่งปัญหาเหยียดสีผิว พวกมันไม่ได้มองมนุษย์ว่าต่ำต้อยกว่า ไม่ได้แสดงท่าทีรังเกียจมนุษย์โดยรวม ยกเว้นเพียงมนุษย์บางคนที่เห็นแก่ตัว และโหดเหี้ยม ซีซาร์เองเมื่อเริ่มเปิด “สงคราม” เต็มรูปแบบก็พยายามหลีกเลี่ยงและหยุดยั้งไม่ให้ฝูงลิงของเขาฆ่ามนุษย์โดยไม่จำเป็น คนดูจะไม่เห็นคนถูกลิงฆ่าตายแบบจะๆ นอกจากกรณีของด็อดจ์ (ซึ่งก็ไม่ได้ดูร้ายกาจอะไรเพราะแฝงลักษณะของการป้องกันตัวมากกว่า) และผู้บริหารของบริษัทยา (ซึ่งเป็นตัวละครที่ไม่ได้เรียกร้องความน่าเห็นใจพอๆ กับคนแรก) ตรงกันข้าม เรากลับเห็นภาพมนุษย์พรากลิงจากบ้านเกิด จากเผ่าพันธุ์ เพื่อมาเป็นหนูทดลองยาในตอนต้นเรื่อง ถูกทำร้าย ทารุณด้วยเครื่องมือสารพัดตั้งแต่ไม้กระบองไปจนถึงเครื่องช็อตไฟฟ้าในช่วงกลางเรื่อง และถูกสังหารอย่างเลือดเย็นในฉากไคล์แม็กซ์บนสะพาน

ลิงในหนังเรื่องนี้จึงเปรียบเสมือนตัวแทนการเรียกร้องสิทธิของเหล่าสิงสาราสัตว์ ซึ่งถูกกระทำสารพัดรูปแบบ ตั้งแต่เป็นเหยื่อทดลองและถูกกำจัดทิ้งเมื่อไร้ประโยชน์ ไปจนถึงโดนกักขัง หน่วงเหนี่ยวให้อยู่ในกรงอันคับแคบแออัด ส่วนมนุษย์ในหนัง แม้กระทั่งพวกที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี นอกจากจะคิดว่าตนสามารถเอาชนะกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติได้แล้ว ยังไม่เข้าใจอีกด้วยว่าธรรมชาติย่อมค้นพบหนทางในท้ายที่สุด ดังจะเห็นได้จากพฤติกรรมของซีซาร์ ซึ่งแม้จะเติบโตมาในสังคมมนุษย์ ในห้องใต้หลังคา และถูกอัพเกรดมันสมองด้วยไวรัสที่คิดค้นขึ้นใหม่ แต่มันยังคงยินดีปรีดาทุกครั้งเมื่อได้มาเที่ยวป่า และสามารถปีนป่ายต้นไม้ไปสู่ยอดสูงได้อย่างคล่องแคล่วโดยปราศจากความลังเล หรือหวาดกลัว เพราะธรรมชาติสร้างมันให้เป็นเยี่ยงนั้น และเมื่อวิลพยายามโน้มน้าวให้ซีซาร์กลับไปอยู่บ้านกับเขาในตอนท้ายเรื่อง ลิงชิมแปนซีจึงตอบกลับอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “ที่นี่คือบ้านของซีซาร์”

เช่นนี้แล้ว ก็ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมหนังถึงกวาดเสียงสรรเสริญจากองค์กรต่อต้านการทารุณสัตว์ (PETA) อย่างเป็นเอกฉันท์ เพราะนอกจากเนื้อหาของหนังจะสอดคล้องกับทัศนคติขององค์กรแล้ว หนังเรื่องนี้ยังสามารถกล่าวอ้างได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า “ไม่มีสัตว์ได้รับอันตรายระหว่างการถ่ายทำ” เพราะลิงทุกๆ ตัวที่เห็นในหนัง ไม่ว่าจะลิงเด็ก หรือลิงผู้ใหญ่ ล้วนถือกำเนิดจากคอมพิวเตอร์กราฟฟิกทั้งสิ้น

กระนั้นเมื่อมองให้ลึกลงไปอีกชั้นจะพบว่า Rise of the Planet of the Apes ซุกซ่อนแง่มุมการเมืองเอาไว้เช่นกัน เกี่ยวกับการลุกฮือขึ้นของชนชั้นล่าง หลังจากเหลืออดต่อพฤติกรรมกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และความไม่เท่าเทียมกัน หนึ่งในฉากไฮไลท์ของหนัง เป็นตอนที่ซีซาร์เอ่ยคำพูดแรกเป็นภาษามนุษย์ และคำๆ นั้น คือ “ไม่” ซึ่งบ่งบอกความนัยของการกบฎ การลุกขึ้นมาปฏิเสธกฎเกณฑ์ที่สังคมยัดเยียดให้และการก้มหน้ายอมรับชะตากรรมอย่างไร้ทางสู้

การที่หนังวางตัวว่าเป็นเสมือนบทเกริ่นนำของ Planet of the Apes บ่งชี้ชัดเจนว่าอารยธรรมของลิงกำลังจะเดินทางสู่จุดรุ่งเรือง เฟื่องฟู บางทีอาจไม่แตกต่างจากจุดเริ่มต้นของอารยธรรมมนุษย์เมื่อหลายพันปีก่อน หวังแต่เพียงว่าด้วยรูปลักษณ์ที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ และระดับสติปัญญาที่พัฒนาจนมาถึงจุดใกล้เคียงกับมนุษย์ จะไม่ทำให้พวกมันเดินทางผิดพลาดแบบเดียวกัน

ส่วนอนาคตอันมืดหม่นที่รอคอยมวลมนุษย์อยู่เบื้องหน้านั้น พวกเขาก็ไม่อาจจะโทษใครได้ เพราะมันล้วนเกิดจากการกระทำของตนเองล้วนๆ

1 ความคิดเห็น:

Jessika กล่าวว่า...

แวะเข้ามาอ่านทีไร ไม่ผิดหวังจริงๆ ขอบคุณสำหรับบทความที่น่าสนใจค่ะ