วันจันทร์, มีนาคม 12, 2555

Oscar 2012: เจาะเวลาหาอดีต


หลังจากปีก่อนออสการ์พยายามอย่างสิ้นหวังที่จะดึงดูดกลุ่มคนดูวัยรุ่น ด้วยการเลือกพิธีกรเป็นดาวรุ่งไฟแรง แอนน์ แฮธาเวย์ กับ เจมส์ ฟรังโก้ และลงเอยด้วยหายนะครั้งใหญ่ มาปีนี้ออสการ์จึงเลือกเดินไปในทิศทางตรงกันข้าม ชนิดหักศอกแบบ 180 องศาเลยก็ว่าได้ ด้วยการพาคนดูย้อนอดีตไปอย่างน้อยสองทศวรรษผ่านพิธีกรขาประจำอย่าง บิลลี่ คริสตัล และเหล่าคน (เคย) ดังที่มาประกาศรางวัลอย่าง ทอม ครูซ, เจนนิเฟอร์ โลเปซ, คาเมรอน ดิแอซ และ ทอม แฮงค์ ส่วนใหญ่แทบจะกลายเป็น “บรรพบุรุษ” สำหรับนักดูหนังรุ่นใหม่ไปแล้ว ไม่มีการเทียบเชิญเหล่านักแสดงจาก Twilight หรือ Harry Potter รวมไปถึงบุคคลที่กลุ่มวัยรุ่นกำลังให้ความคลั่งไคล้ (ยกเว้นเพียงคลิปเปิดตัวของ บิลลี่ คริสตัล เมื่อเขาเลียนแบบฉากสำคัญใน Midnight in Paris ร่วมกับ จัสติน บีเบอร์)

ไม่มีมุกตลกเกี่ยวกับสังคมออนไลน์ ไม่มีการส่งทวิตเตอร์หลังเวที (แก๊กไม่ค่อยตลกเท่าที่ควรของ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ กับ กวิเน็ธ พัลโทรว โดยคนแรกเดินขึ้นเวทีพร้อมตากล้อง แล้วแสร้งทำท่าเหมือนกำลังถ่ายสารคดีเรื่อง The Presenter สำหรับฉายทาง Netflix ดูคล้ายมุกล้อพิธีกรชายปีก่อน) ตรงกันข้าม ก่อนพักโฆษณากลับมีสาวๆ แต่งกายย้อนยุค ดูคล้ายสาวขายบุหรี่ตามไนท์คลับ เดินแจกป็อปคอร์นให้ผู้ชม คลิปสัมภาษณ์เหล่านักแสดงว่าหนังเรื่องใดที่เปลี่ยนชีวิตเขา หรือสร้างแรงบันดาลใจสูงสุด การตกแต่งเวทีเพื่อด้วยฉากย้อนยุค เน้นสีแดง เพื่อเน้นความอลังการของโรงหนังในอดีต และการแสดงของ Cirque du Soleil ประกอบฉากแอ็กชั่นสุดคลาสสิกของ แครี แกรนท์ ในหนังเรื่อง North by Northwest ซึ่งโปรดิวเซอร์เลือกโคลสอัพการแสดงเป็นจุดๆ แทนภาพรวม ส่งผลให้คนดูทางบ้านไม่เห็นว่าการแสดงสอดคล้อง ต่อเนื่อง เชื่อมโยงกับฉากในหนังเพียงใด (ถ้าเพียงโปรดิวเซอร์จะเรียนรู้จากฉากจบของ The Artist ว่าทักษะที่ต้องฝึกฝนอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการเต้น กายกรรม หรือความสามารถพิเศษอื่นๆ จะยิ่งดูน่าตื่นเต้น ตื่นตา ถ้าถ่ายทำในระยะปานกลางหรือไกล และไม่เน้นการตัดต่อเพื่อโกงคนดู)

เอกลักษณ์การจัดงานสไตล์ บิลลี่ คริสตัล จากยุค 1990 ถูกนำกลับมาใช้แบบครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นหนังสั้นเปิดตัว ที่เปิดโอกาสให้คริสตัลได้เหมือนเข้าไปร่วมแสดงในหนังเด่นๆ หลายเรื่องของปี 2011 (ผสมระหว่างการใช้เทคนิคตัดต่อ กับการถ่ายทำฉากใหม่เลียนแบบหนังต้นฉบับ โดยได้รับความช่วยเหลือจากดาราดังอย่าง ทอม ครูซ และ จอร์จ คลูนีย์) เพลงเมดเลย์ล้อหนังยอดเยี่ยม 9 เรื่อง ไปจนถึงช่วง “พวกเขากำลังคิดอะไรอยู่” ซึ่งกล้องจะตัดไปยังภาพดาราที่มาร่วมงาน แล้วคริสตัลจะบอกความคิดในหัวพวกเขา ทั้งหมดนี้สร้างรอยยิ้มให้คนดูได้บ้างตามสมควร แต่ส่วนใหญ่ล้วนให้ความรู้สึก “เดจาวู” มากกว่าตลกโปกฮา

ที่สำคัญ มุกตลกบางแก๊กยังดูเหมือนขุดมาจากสมัย แฮ็ตตี้ แม็คเดเนียล เป็นนักแสดงผิวดำคนแรกที่ได้ออสการ์ เช่น หลังจาก ออกเทเวีย สเปนเซอร์ ได้รางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ผู้คนในงานพากันลุกขึ้นยืนปรบมือให้ ส่วนเธอก็กล่าวขอบคุณด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น ดีใจ จนถือเป็นไฮไลท์น่าประทับใจของงาน คริสตัลกลับตบท้ายด้วยมุกตลกว่า ทันทีที่ดู The Help จบ เขาอยากจะกอดผู้หญิงผิวดำคนแรกที่เห็น แต่ใน เบเวอร์ลีย์ ฮิลส์ นั่นหมายถึงคุณต้องขับรถนาน 45 นาที1?!... มันเป็นมุกตลกที่ชวนให้ขนลุกขนพองมากกว่าขบขัน ซึ่งดูจะเข้ากันดีกับการเห็นคริสตัลทาหน้าดำเลียนแบบ แซมมี เดวิส จูเนียร์ ในหนังสั้นเปิดตัว (ซึ่ง จอร์จ คลูนีย์ พยายามเกลี้ยกล่อมให้คริสตัลมารับหน้าที่พิธีกรงานออสการ์ โดยให้สัญญาว่าจะหา “นักเขียนรุ่นใหม่ไฟแรงที่สุดในเมืองมาให้” ก่อนภาพจะตัดไปยังเหล่าแมวมองนักกีฬารุ่นดึกใน Moneyball)

อารมณ์หวนรำลึกอดีตของงานสะท้อนภาพรวมของหนังที่ได้เข้าชิง (มีเพียง The Descendants และ Moneyball ที่เน้นความ “ร่วมสมัย”) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังเด่นที่กวาดรางวัลได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่ The Artist ไปจนถึง Hugo และ Midnight in Paris

ผลรางวัลส่วนใหญ่ล้วนเป็นไปตามโพย ยกเว้นเพียงบางสาขาที่พลิกล็อกบ้าง แต่ไม่ได้สร้างกระแสตื่นเต้นมากนัก จนกระทั่ง เมอรีล สตรีพ คว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาครอง เพราะก่อนหน้านี้ กระแสของ วีโอลา เดวิส (The Help) ถือว่านำหน้าอยู่หลายช่วงตัว (ผลดังกล่าวส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์ว่าออสการ์ยังเหยียดผิว และขณะเดียวกันก็ทำให้ ฮาลลี เบอร์รี จาก Monster’s Ball ยังคงรักษาสถิตินักแสดงหญิงผิวดำเพียงคนเดียวที่ได้รางวัลจากสาขานักแสดงนำหญิง) แต่เช่นเคย สตรีพช่วยลบล้างอารมณ์ขมขื่นของ “Team Viola” ได้ระดับหนึ่ง ด้วยมุกตลก ความจริงใจ และความนอบน้อม เธอกล่าวขอบคุณราวกับว่านี่คือรางวัลความสำเร็จแห่งอาชีพนักแสดง

“ก่อนอื่นฉันอยากขอบคุณ ดอน สามีของฉัน เพราะถ้าฉันเลือกพูดถึงเขาเป็นคนสุดท้ายก็จะโดนเสียงดนตรีกลบ ฉันอยากให้เขารู้ว่าทุกอย่างที่มีค่าที่สุดในชีวิต เขาเป็นคนมอบให้ฉัน ลำดับต่อมา ฉันอยากขอบคุณเพื่อนร่วมชีวิตอีกคน เมื่อ 37 ปีก่อน ฉันพบ เมคอัพ อาร์ติส รอย เฮลแลนด์ ตอนเล่นละครอยู่ในกรุงนิวยอร์ก และได้ทำงานร่วมกันนับจากนั้นเรื่อยมา หนังเรื่องแรกที่เขาแต่งหน้าให้ฉัน คือ Sophie’s Choice และตลอดเวลา 30 ปีต่อมา เราทำงานร่วมกันในหนังทุกเรื่องรวมถึง The Iron Lady ที่เขาได้รางวัลออสการ์สำหรับผลงานอันยอดเยี่ยม นอกจากนี้ เนื่องจากฉันคงไม่ได้มายืนตรงนี้อีกแล้ว ฉันอยากขอบคุณเพื่อนๆ และเพื่อนร่วมงานทุกคน เมื่อกวาดตามองไปรอบงาน ฉันแทบจะเห็นทุกเสี้ยวชีวิตที่ผ่านมา ทั้งจากเพื่อนเก่า และเพื่อนใหม่ ต้องยอมรับว่ารางวัลนี้ถือเป็นเกียรติอย่างสูง แต่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับฉัน คือ มิตรภาพ ความรัก และสุขที่เราแบ่งปันร่วมกันระหว่างถ่ายหนัง ฉันอยากขอบคุณเพื่อนๆ ทุกคน ทั้งที่ยังอยู่ตรงนี้ และที่จากไปแล้ว สำหรับอาชีพอันวิเศษสุด ขอบคุณมากๆ” สตรีพกล่าว

ภาพรวมของงานถือว่าเรียบง่าย รวบรัด และคาดเดาไม่ยาก ไฮไลท์ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากเรื่องไม่คาดฝัน เช่น ปรากฏการณ์ “Got Milk?” ของ เจนนิเฟอร์ โลเปซ (เจเน็ท แจ๊คสัน เธอมีเพื่อนแล้ว!) หรือไม่ก็อารมณ์ขันเฉพาะตัว เช่น ท่าโพสต์โชว์เรียวขาของ แองเจลินา โจลี่ (ซึ่งถูก จิม แรช หนึ่งในทีมเขียนบท The Descendants นำมาเลียนแบบทันที เมื่อเขาขึ้นรับรางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม) และพฤติกรรม “ลิงตีฉาบ” ของ วิล ฟาร์เรล กับ แซ็ค กาลิฟิอานาคิส ในชุดทักซิโด้สีขาวเข้าคู่กัน

แต่ไฮไลท์ความฮาอันเกิดจากการเตี๊ยมกันมาล่วงหน้า (ผนวกเข้ากับทักษะของนักแสดง) ก็พอจะมีอยู่บ้างเช่นกัน โดยเฉพาะหนัง mockumentary ของ คริสโตเฟอร์ เกสต์ กับทีมดาราขาประจำ บันทึกภาพการฉายหนัง The Wizard of Oz เมื่อหลายสิบปีก่อนให้คนดูรอบทดสอบ พร้อมรับข้อเสนอและข้อคิดเห็น (เจนนิเฟอร์ คูลิดจ์ ไม่ชอบหน้าตานักแสดงในเรื่อง ยูจีน เลวี่ อยากให้ตัดเพลงเกี่ยวกับสายรุ้งออก คริสโตเฟอร์ เกสต์ เสนอให้เริ่มต้นเรื่องด้วยภาพสี แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นขาวดำ) และการออกมาประกาศรางวัลคู่กันของขาประจำอย่าง เบน สติลเลอร์ กับหน้าใหม่อย่าง เอ็มมา สโตน คนแรกพยายามตีขรึม วางตัวเป็นมืออาชีพ ขณะคนหลังเนื้อเต้นและร่าเริงเกินเหตุกับประสบการณ์แปลกใหม่นี้ ถึงขนาดร้องเพลงเกี่ยวกับ Hugo และ Reel Steel พร้อมตะโกนเรียก โจนาห์ ฮิล ให้ขึ้นมาเต้นรำด้วย สติลเลอร์พยายามจะเตือนสติเธอไม่ให้ “พยายามมากไป” แต่กลับถูกฝ่ายหญิงตอกกลับทำนองว่า นี่คือคำเตือนจากคนที่เคยแต่งหน้าเลียนแบบชาวเนวี่ใน Avatar มาประกาศรางวัล?

ความหรรษาอันเกิดจากพรสวรรค์ของ เอ็มม่า สโตน รวมไปถึง ทีน่า เฟย์ และทีมนักแสดงจาก Bridesmaids ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า งานออสการ์อาจสนุก น่าตื่นเต้นกว่านี้ หากพวกเขาเรียกใช้งานผู้หญิงให้มากขึ้น


Dazed and Confused

* เปิดงานมาในการประกาศรางวัลแรก ออสการ์ก็หักปากกาเซียนทันทีจนก่อให้เกิดความหวังว่างานคืนนี้อาจมีลุ้น (แต่สุดท้ายก็ลงเอยว่ามันเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ) เมื่อ โรเบิร์ต ริชาร์ดสัน จาก Hugo คว้ารางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยมมาครองเป็นครั้งที่ 3 (หลังจาก JFK และ The Aviator) เบียด เอ็มมานูเอล ลูเบซกี้ ตัวเก็งจาก The Tree of Life ที่กวาดรางวัลของนักวิจารณ์และสมาพันธ์ผู้กำกับภาพมาครองอย่างครบถ้วน หลายคนคาดไว้ก่อนแล้วว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ เพราะลูเบซกี้ก็เคยเป็นตัวเก็งแบบนี้มาแล้วจาก Children of Men แต่ก็ต้องพ่ายให้กับ กีลเลอโม นาวาร์โร จาก Pan’s Labyrinth กระนั้นส่วนใหญ่มักคาดว่า คนที่จะล้มยักษ์ คือ กีลล์โยม ชิฟฟ์แมน จาก The Artist ดูจากรูปการณ์แล้ว เห็นท่าลูเบซกี้คงลงเอยไม่ต่างกับ โรเจอร์ เดียกินส์ ซึ่งเข้าชิงมาแล้ว 9 ครั้ง แต่ยังไม่เคยได้ออสการ์เลย (นี่เป็นการเข้าชิงครั้งที่ 5 ของเขา)

* คนจำนวนไม่น้อยงุนงงสงสัยว่าเหตุใดโรงภาพยนตร์ โกดัก เธียเตอร์ สถานที่จัดงานออสการ์มาเป็นเวลาหลายสิบปี จึงไม่ถูกเอ่ยนามตลอดช่วงเวลา 3 ชั่วโมง และเสียงเกริ่นนำก่อนเข้ารายการก็พูดว่า “ถ่ายทอดสดจาก ฮอลลีวู้ด แอนด์ ไฮแลนด์ เธียเตอร์...” สาเหตุหลักเนื่องมาจากบริษัท อีสต์แมน โกดัก เพิ่งถูกประกาศให้เป็นบริษัทล้มละลาย จึงยกเลิกสัญญา 20 ปีในการใช้ชื่อเป็นสถานที่จัดงานประกาศรางวัลออสการ์ (เซ็นสัญญาในปี 2000) ด้วยเหตุนี้ บิลลี่ คริสตัล จึงกล่าวเปิดงานว่า “เราอยู่ในโรงภาพยนตร์แสนสวยที่ล้มละลาย” (Chapter 11 หมายถึง ล้มละลาย) ก่อนต่อมาจะซ้ำอีกรอบว่า “ขอต้อนรับกลับสู่โรงภาพยนตร์ที่ยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ”

* อย่าแปลกใจถ้าคุณไม่เก็ทพฤติกรรมของสองสาวจาก Bridemaids ที่จู่ๆ ก็ควักขวดเหล้าในชุดเดรสขึ้นมาซัดอั้กๆ เมื่อได้ยินคำว่า “สกอร์เซซี่” (กระทั่งสกอร์เซซี่เองก็ยังทำหน้างง) เพราะมันเป็นมุกที่เริ่มต้นจากงานประกาศรางวัล SAG ซึ่งพวกเธอคิดค้น “เกมกระดกเหล้า” ขึ้น โดยมีกฎแค่ว่า “คุณจะต้องดื่มเหล้าทุกครั้งที่ได้ยินคำว่าสกอร์เซซี่” และดูเหมือนทุกคนก็ยินดีจะเล่นสนุกตามไปด้วย เช่น เมื่อ สตีฟ บูเชมี รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก Boardwalk Empire เขากล่าวขอบคุณ มาร์ติน สกอร์เซซี ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร ส่งผลให้ ทีน่า เฟย์ ซึ่งยืนอยู่ข้างๆ ต้องกระดกดื่มไวน์ในแก้วจนหมด

* หลายคนคาดเดาว่า Rise of the Planet of the Apes จะคว้าชัยในสาขาเทคนิคด้านภาพไปครองแบบไม่ต้องเหนื่อย แต่บางคนไม่คิดเช่นนั้น พร้อมยกสถิติว่า หนังที่เข้าชิงสาขาหนังยอดเยี่ยมยังไม่เคยพ่ายให้กับหนังที่ไม่ได้เข้าชิงเลย นับจาก Patton ปราชัยต่อ Tora! Tora! Tora! ในปี 1970 และสมมุติฐานดังกล่าวก็กลายเป็นจริง เมื่อ Hugo หนังเรื่องเดียวในสาขานี้ที่ได้เข้าชิงรางวัลสูงสุด พลิกคว้าชัยไปครอง... ดูเหมือนออสการ์คงไม่ปลื้ม motion capture จริงๆ (เมื่อผนวกเข้ากับการพลาดเข้าชิง ของ The Adventures of Tin Tin และ แอนดี้ เซอร์กิส)


Memorable Quotes

“ผมเกิดอาการคลั่งดาราตอนเจอ เคอร์มิท เดอะ ฟร็อก เช่นเดียวกับดาราดังอีกหลายคนในคืนนี้ ตัวจริงเขาเตี้ยกว่าที่ผมคิด” เบร็ท แม็คเคนซี (เพลงประกอบยอดเยี่ยม Man or Muppet จากหนังเรื่อง The Muppets)

“ตอนชื่อของฉันถูกประกาศ ในใจฉันได้ยินเสียงคนครึ่งประเทศอเมริกาพูดว่า ‘โอ๊ย ไม่นะ ทำไมต้องเป็นหล่อนอีกแล้ว’ แต่ก็ช่างปะไร” เมอรีล สตรีพ (นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก The Iron Lady)

“ไม่มีอะไรจะช่วยบรรเทาวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้เท่าการนั่งดูบรรดามหาเศรษฐีมอบตุ๊กตาทองให้กัน” บิลลี่ คริสตัล

“ในหนังการ์ตูนถ้าคุณเป็นผู้หญิงอ้วน คุณก็สามารถรับบทเป็นเจ้าหญิงรูปร่างสะโอดสะองได้ ถ้าคุณเป็นผู้ชายผิวขาว คุณก็สามารถรับบทเป็นเจ้าชายอาหรับได้ และถ้าคุณเป็นผู้ชายผิวดำ คุณก็สามารถรับบทเป็นลา หรือม้าลายได้” คริส ร็อค กล่าวก่อนประกาศรางวัลภาพยนตร์การ์ตูนยอดเยี่ยม (ร็อคพากย์เสียงเป็นม้าลายใน Madagascar ส่วน เอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์ พากย์เสียงเป็นลาใน Shrek)

“ที่รัก เธอแก่กว่าฉันแค่สองปี เธอหายไปไหนมาตลอดชีวิตฉัน” คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ (นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจาก Beginners) พูดกับรางวัลออสการ์ ซึ่งปีนี้ถือเป็นการจัดงานครั้งที่ 84

“ขอแสดงความยินดีกับ คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ ตอนนี้อายุเฉลี่ยของผู้ชนะรางวัลออสการ์ได้พุ่งขึ้นเป็น 67 ปีแล้ว” บิลลี่ คริสตัล


For the Record

* งานประกาศรางวัลออสการ์ในปีนี้มีความยาวทั้งสิ้น 3 ชั่วโมง 8 นาที ซึ่งถือว่าสั้นที่สุดในรอบหลายปี เรตติ้งกระเตื้องขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย (ผู้ชม 37.9 ล้าน เพิ่มขึ้นเป็น 39.3 ล้าน) แต่ยังถือว่าห่างไกลจากยุคทอง สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากบรรดาหนังเข้าชิงทั้งหลายทำเงินไม่น่าพอใจ หรือเป็นหนังอาร์ตสำหรับกลุ่มคนดูจำกัด คงมีเพียง The Help เรื่องเดียวเท่านั้น ที่สามารถทำเงินในอเมริกาได้เกิน 100 ล้านเหรียญ นอกจากนี้ นี่ยังถือเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ ที่เรตติ้งงานประกาศรางวัลออสการ์ต่ำกว่าแกรมมี่ ซึ่งปีนี้มีผู้ชมประมาณ 40 ล้าน อันเป็นผลจากความป็อปปูลาร์ของศิลปินตัวเก็งอย่าง Adele และความต้องการดูพิธีสดุดีแด่ วิทนีย์ ฮูสตัน ครั้งแรกที่ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น คือ ในปี 1984 เมื่อ ไมเคิล แจ๊คสัน กวาดรางวัลแกรมมี่ไปครอง (51.7 ล้าน) และออสการ์มอบรางวัลหนังยอดเยี่ยมให้กับ Terms of Endearment (42.1 ล้าน)

* ณ ขณะนี้ The Artist ถือเป็นหนังออสการ์ที่ทำเงินเกือบต่ำสุดในประวัติศาสตร์ เป็นรองก็แค่ The Hurt Locker เมื่อสองปีก่อน (สัปดาห์ของการประกาศผลรางวัลมันทำเงินรวมในอเมริกาไป 32 ล้านเหรียญ) แต่กุศลผลบุญจากการคว้ารางวัลสูงสุดมาครองจะทำให้มันโกยเงินแซงหน้า Crash แล้วหลุดพ้นจาก 5 อันดับแรกหรือไม่นั้นคงต้องรอลุ้นกันต่อไป ส่วนจะให้ถึงขั้นหลุดจาก 10 อันดับแรกนั้นคงเป็นเรื่องยาก โดยรายชื่อหนังออสการ์ทำเงินต่ำสุด (หลังจากปรับค่าเงินตามสภาวะเงินเฟ้อแล้ว) 10 อันดับแรก ได้แก่ The Hurt Locker (15 ล้าน) All the King’s Men (60 ล้าน) Hamlet (61 ล้าน) An American in Paris (67 ล้าน) Crash (67 ล้าน) Marty (67 ล้าน) No Country for Old Men (85 ล้าน) It Happened One Night (86 ล้าน) The Last Emperor (89 ล้าน) และ The Great Ziegfeld (95 ล้าน) ในทางตรงกันข้าม หนังออสการ์ทำเงินสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ Gone with the Wind (6,550 ล้าน) The Sound of Music (1,284 ล้าน) Ben-Hur (1,137 ล้าน) Titanic (1,040 ล้าน) The Sting (716 ล้าน) Around the World in 80 Days (667 ล้าน) The Godfather (631 ล้าน) Forrest Gump (627 ล้าน) My Fair Lady (615 ล้าน) และ The Greatest Show on Earth (540 ล้าน)

* คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ กลายเป็นนักแสดงที่อายุมากสุด (82 ปี) ที่ได้รับรางวัลออสการ์ เจ้าของสถิติเดิม คือ เจสซิก้า แทนดี้ เจ้าของนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก Driving Miss Daisy ขณะอายุได้ 80 ปี

* เมอรีล สตรีพ (2 นำหญิง 1 สมทบหญิง) กลายเป็นนักแสดงเจ้าของ 3 รางวัลออสการ์คนที่สี่ ตามหลัง วอลเตอร์ เบรนแนน (3 สมทบชาย) อินกริด เบิร์กแมน (2 นำหญิง 1 สมทบหญิง) และ แจ๊ค นิโคลสัน (2 นำชาย 1 สมทบชาย) โดยผู้ถือครองสถิติสูงสุดยังคงเป็น แฮทเธอรีน เฮปเบิร์น (4 นำหญิง)

* เกล็น โคลส กลายเป็นนักแสดงหญิงที่อกหักบนเวทีออสการ์มากครั้งที่สุด ทำสถิติเทียบเท่า เดเบอราห์ เคอร์ และ เธลมา ริตเตอร์ จากการเข้าชิง 6 ครั้ง และไม่เคยได้รางวัลเลย

* ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา The Artist (100 นาที) ถือเป็นหนังออสการ์ที่สั้นที่สุดเป็นอันดับสองรองจาก Driving Miss Daisy (99 นาที) เมื่อ 22 ปีก่อน โดยผู้ถือครองสถิติเดิมยังคงเป็น Marty (1955) ซึ่งมีความยาว 90 นาที รองลงมา ได้แก่ Annie Hall (1977) ซึ่งมีความยาว 93 นาที (ในบรรดาหนัง 9 เรื่องที่ได้เข้าชิงในปีนี้ The Artist มีความยาวเป็นอันดับรองบ๊วย นั่นคือ ยาวกว่า Midnight in Paris ประมาณ 6 นาที)

* The Artist เป็นหนังเงียบเรื่องที่สองที่คว้ารางวัลสูงสุดมาครอง เรื่องแรก ได้แก่ Wings (1927/1928) ซึ่งเป็นหนังออสการ์เรื่องแรก นอกจากนี้ มันยังเป็นหนังขาวดำ “ล้วนๆ” เรื่องแรกที่ได้รางวัลออสการ์นับจาก The Apartment (1960) ส่วน Schindler’s List (1993) ถ่ายทำบางฉากโดยใช้สี (เช่นเดียวกัน The Artist ก็ไม่ถือเป็นหนังเงียบ “ล้วนๆ” เนื่องจากบางฉากมีการใช้เสียงประกอบ)

* The Artist ถือเป็นหนังเรื่องที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่คว้ารางวัล Independent Spirit Award ในคืนก่อนหน้ามาครอง ก่อนจะเดินหน้าคว้ารางวัลสูงสุดในงานออสการ์ เรื่องแรก คือ Platoon เมื่อปี 1986 ซึ่งเป็นปีที่สองของการจัด Independent Spirit Award

* Hugo เป็นหนังเรื่องแรกนับจาก Star Wars (1977) ที่ได้ออสการ์มาครอง 5 รางวัลหรือมากกว่า แต่ไม่ใช่ในสาขาสำคัญอย่างบทภาพยนตร์, กำกับ, หนัง และการแสดง

* The Artist เป็นหนังเรื่องแรกที่ชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาขาหนังเพลง/ตลกจากเวทีลูกโลกทองคำ แล้วเดินหน้าคว้ารางวัลออสการ์ทั้งสาขาภาพยนตร์และผู้กำกับยอดเยี่ยม สามเรื่องก่อนหน้านี้ที่ได้ออสการ์ + ลูกโลกทองคำ สาขาหนังเพลง/ตลก (Driving Miss Daisy, Shakespeare in Love, Chicago) ล้วนพลาดออสการ์ในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม

* ก่อนหน้า The Girl with the Dragon Tattoo หนังเรื่องสุดท้ายที่คว้ารางวัลสาขาลำดับภาพมาครองแบบโดดๆ คือ Bullitt (1968) ขณะเดียวกัน เคิร์ค แบ็กซ์เตอร์ กับ แองกัส วอลล์ ที่เพิ่งได้ออสการ์เมื่อปีก่อนจากเรื่อง The Social Network ก็ทำสถิติคว้ารางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยมมาครองสองปีติดกันเป็นครั้งแรกนับจากปี 1935-1936 ที่ ราล์ฟ ดอว์สัน ได้รางวัลจาก A Midsummer’s Night Dream และ Anthony Adverse ตามลำดับ

รายชื่อผู้ชนะรางวัลออสการ์

Best Picture: The Artist
Best Director: Michel Hazanavicius, The Artist
Best Actress: Meryl Streep, The Iron Lady
Best Actor: Jean Dujardin, The Artist
Best Supporting Actress: Octavia Spencer, The Help
Best Supporting Actor: Christopher Plummer, Beginners
Best Original Screenplay: Woody Allen, Midnight in Paris
Best Adapted Screenplay: Alexander Payne & Nat Faxon & Jim Rash, The Descendants
Best Foreign Language Film: Iran, A Separation
Best Documentary Feature: TJ Martin, Dan Lindsay & Richard Middlemas, Undefeated
Best Animated Feature: Gore Verbinski, Rango
Best Cinematography: Robert Richardson, Hugo
Best Film Editing: Kirk Baxter & Angus Wall, The Girl with the Dragon Tattoo
Best Art Direction: Dante Ferretti & Francesca Lo Schiavo, Hugo
Best Costume Design: Mark Bridges, The Artist
Best Original Score: Ludovic Bource, The Artist
Best Sound Editing: Philip Stockton & Eugene Gearty, Hugo
Best Sound Mixing: Tom Fleischman & John Midgley, Hugo
Best Visual Effects: Rob Legato, Joss Williams, Ben Grossman & Alex Henning, Hugo
Best Makeup: Mark Coulier & J. Roy Helland, The Iron Lady
Best Documentary Short: Daniel Junge & Sharmeen Obaid-Chinoy, Saving Face
Best Animated Short: William Joyce & Brandon Oldenburg, The Fantastic Flying Books of Mr. Morris Lessmore
Best Live Action Short: Terry George & Oorlagh George, The Shore
Best Original Song: Bret McKenzie, Man or Muppet

ไม่มีความคิดเห็น: