วันอาทิตย์, มีนาคม 04, 2555

100 Innovations That Change Cinema (3)


IMAX: ต้นกำเนิดของชื่อมาจากคำว่า “image maximization” หรือ “maximum image” กินความถึงระบบกล้องและเครื่องฉาย ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี 1970 และให้เฟรมภาพใหญ่กว่าหนังมาตรฐาน 35 ม.ม. โดยทั่วไปถึง 10 เท่า ขณะเดียวกันการฉายหนังก็ต้องอาศัยจอที่ใหญ่กว่าจอปกติ 10 เท่าเช่นกัน ความสูงเฉลี่ยเท่ากับตึก 8 ชั้น ส่วน OMNIMAX (หรือ IMAX DOME) ก็ใช้ระบบเดียวกัน แต่เพิ่มเลนส์ฟิชอายเข้าไปในเครื่องฉายเพื่อสร้างภาพ 165 องศาสำหรับฉายบนจอทรงโดมขนาดใหญ่ ส่งผลให้คนดูจมดิ่งไปกับภาพบนจอมากยิ่งขึ้น

โรงหนัง IMAX แห่งแรกเปิดให้บริการปี 1971 ที่เมืองโตรอนโต ก่อนความนิยมจะค่อยๆ แพร่หลายอย่างต่อเนื่อง โดยหนังสารคดีขนาดสั้นเรื่อง Everest ความยาว 40 นาทีสามารถทำเงินจากการฉายเฉพาะในโรง IMAX ของอเมริกามากถึง 89 ล้านเหรียญ ปัจจุบันยังไม่มีหนังกระแสหลักเรื่องใดถ่ายทำโดยใช้กล้อง IMAX ตลอดทั้งเรื่อง แต่หนังอย่าง The Dark Knight และ Transformers: Revenge of the Fallen เลือกจะถ่ายทำบางฉากด้วยกล้อง IMAX


Intertitle: เทคนิคการบอกเล่าเรื่องราว ถ่ายทอดบทสนทนา หรือระบุข้อมูลของสถานที่เกิดเหตุสำหรับหนังเงียบ (ตัดภาพไปยังตัวหนังสือบนจอ) เทคนิคนี้สูญสลายไปพร้อมกับการมาถึงของยุคหนังเสียง แต่นักทำหนังรุ่นหลังหลายคน อาจย้อนกลับมาใช้เทคนิคนี้เพื่อรำลึก หรือคารวะยุคหนังเงียบ ดังจะเห็นได้จากฉากแฟลชแบ็คในหนังเรื่อง หัวใจทรนง ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล


IntroVision: อีกหนึ่งรูปแบบของเทคนิค front projection ซึ่งคราวนี้เพิ่มความซับซ้อนขึ้นด้วยการใช้จอรับภาพสองจอ เครื่องฉายสองเครื่อง และกระจกสะท้อนภาพสามชิ้น เพื่อ “แซนด์วิช” นักแสดงเอาไว้ตรงกลางระหว่างโฟร์กราวด์และแบ็คกราวด์ หนังเรื่องแรกที่นำเทคนิค IntroVision มาใช้ คือ Outland (1981) แต่ฉากที่นักดูหนังส่วนใหญ่น่าจะรู้จักและจดจำได้ ซึ่งถ่ายทำด้วยเทคนิคนี้ คือ ฉากที่ แฮร์ริสัน ฟอร์ด หนีออกจากรถเมล์ขนนักโทษ ซึ่งล้มคว่ำและกำลังจะถูกรถไฟวิ่งมาชนในหนังเรื่อง The Fugitive และฉากเด็กๆ วิ่งหลบรถไฟบนสะพานในหนังเรื่อง Stand By Me


Iris: เทคนิคการถ่ายภาพโดยบังช็อตเป็นรูปวงกลม สี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม หรือรูปทรงอื่นๆ ได้รับความนิยมในยุคหนังเงียบ ดังจะเห็นได้จากผลงานคลาสสิกของผู้กำกับ ดี. ดับเบิลยู. กริฟฟิธ เรื่อง The Birth of a Nation แต่ปัจจุบันกลับไม่ค่อยพบเห็นมากนักบางทีอาจเป็นเพราะมันดูเชย โบราณ และประดิษฐ์ แต่สำหรับหนังย้อนยุคอย่าง The Age of Innocence ของ มาร์ติน สกอร์เซซี iris กลับเป็นตัวเลือกที่เหมาะเจาะในฉาก เมย์ (วิโนนา ไรเดอร์) อวดแหวนหมั้นกลางงานเลี้ยง

ปกติแล้ว iris จะถูกใช้เพื่อ 1) เปิดฉาก โดยเริ่มต้นจากวงกลมตรงกลางจอ ก่อนวงกลมนั้นจะค่อยๆ ขยายขึ้นจนคนดูเห็นภาพทั้งหมด หรือในทางตรงข้ามอาจใช้สำหรับปิดฉาก โดยค่อยๆ บังภาพเป็นวงกลมจนกระทั่งทั้งจอมืดสนิท ขั้นตอนแรกเรียกอีกอย่างว่า iris in (เช่น ใน The Age of Innocence) ส่วนขั้นตอนหลังเรียกว่า iris out 2) ชี้นำคนดูไปยังตัวละคร เหตุการณ์ หรือวัตถุสำคัญที่ต้องการเน้นย้ำ 3) สร้างผลกระทบทางอารมณ์ หรือสถานการณ์พลิกผัน โดยเริ่มต้นโฟกัสไปยังตัวละคร หรือสิ่งของ จากนั้นก็ค่อยๆ เปิดเผยให้เห็นภาพรวมของฉากทั้งฉาก ส่งผลให้คนดูมองตัวละคร หรือสิ่งของนั้นในอีกแง่มุม 4) สร้างความรู้สึกเหมือนกำลังมองผ่านช่องเล็กๆ เช่น รูกุญแจ



Jump cut: การตัดภาพสองช็อตของสิ่งเดียวกันจากตำแหน่งมุมกล้องที่เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ส่งผลให้สิ่งของ หรือตัวละครในช็อตนั้นดูเหมือน “กระโดด” จากตำแหน่งหนึ่งไปยังอีกตำแหน่งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เอง jump cut จึงถือเป็นข้อห้ามสำหรับการตัดต่อหากต้องการคงไว้ซึ่งความลื่นไหลในสไตล์การเล่าเรื่องแบบคลาสสิกของฮอลลีวู้ด นอกจากนี้ jump cut ยังกระชากความสนใจจากคนดู ทำให้พวกเขาตระหนักว่ากำลังชมภาพยนตร์อยู่อีกด้วย

เพื่อหลีกเลี่ยง jump cut คุณต้องเคารพ “กฎ 30 องศา” กล่าวคือ ช็อตที่ต่อเนื่องกันจะดู “ราบรื่น” ก็ต่อเมื่อกล้องเปลี่ยนตำแหน่งจากเดิมอย่างน้อย 30 องศา (หรืออาจใช้การเปลี่ยนขนาดภาพช่วยได้ เช่น จาก medium shot ไปยัง close up) เพราะหากน้อยกว่านั้น ความแตกต่างระหว่างสองช็อตจะน้อยเกินไป ส่งผลให้คนดูตระหนักถึงการกระโดดข้ามตำแหน่งของตัวละคร บิดาแห่งเทคนิค jump cut คือ จอร์จ เมลิแอส์ ซึ่งค้นพบโดยบังเอิญ และนำมาใช้เพื่อปิดบังภาพลวงตา แต่สำหรับนักดูหนังร่วมสมัย บิดาตัวจริงน่าจะได้แก่ ฌอง-ลุค โกดาร์ด และเหล่าผู้กำกับกลุ่ม French New Wave ช่วงปลายทศวรรษ 1950 ถึงทศวรรษ 1960 โดยในหนังที่พลิกโฉมการเล่าเรื่องอย่าง Breathless โกดาร์ดจงใจตัดภาพ จีน ซีเบิร์ก ในรถเปิดประทุน แบบแหกกฎ 30 องศา ทำให้ความไม่ต่อเนื่องระหว่างช็อตถูกเน้นย้ำและสร้างผลกระทบรุนแรง จนนำไปสู่การตีความต่างๆ ทั้งในแง่เนื้อหา (สัญลักษณ์แทนคุณสมบัติทางด้านศีลธรรมของตัวละคร) และสไตล์ (สร้างรูปแบบใหม่ให้ภาพยนตร์) ในหนังยุคใหม่อย่าง Moon และ District 9 เทคนิค jump cut ถูกนำมาใช้เพื่อขับเน้นความตึงเครียดของสถานการณ์


Macguffin: คำศัพท์ที่คิดค้นของโดย อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก เพื่ออธิบายเครื่องมือในการสร้างพล็อต เป็นสิ่งของที่จะช่วยให้เหตุการณ์ดำเนินต่อไป มีความสำคัญยิ่งในสายตาของตัวละคร ถึงขนาดพยายามทุกวิถีทางที่จะไขว่คว้ามันมาครอบครอง แต่กลับไม่มีค่าในตัวของมันเอง หรือกระทั่งในสายตาคนดู Macguffin เป็นเหมือนข้ออ้างเพื่อจะนำคนดูไปสู่ฉากแอ็กชั่น หรือบีบเค้นอารมณ์ และสุดท้ายแล้ว ธรรมชาติของมันอาจไม่ถูกเปิดเผย หรือเปิดกว้างต่อการตีความ

Macguffin มักพบเห็นในหนังลึกลับ เขย่าขวัญ แต่ก็ไม่เสมอไป และอาจอยู่ในรูปของตัวละคร หรือสิ่งที่เป็นนามธรรม ความสำคัญของมันจะถูกแนะนำในช่วงองก์แรกของหนัง ก่อนจะค่อยๆ ลดบทบาทลง จากนั้นมันอาจกลับมาปรากฏตัวอีกครั้งในช่วงไคล์แม็กซ์ หรือถูกละทิ้งไปเลยก็ได้ ฮิทช์ค็อกอธิบายเกี่ยวกับ Macguffin ไว้ในปี 1939 ว่า “ในหนังโจรกรรม Macguffin มักจะเป็นสร้อยคอราคาแพง ส่วนในหนังสายลับก็มักจะเป็นพวกเอกสารสำคัญ” ตัวอย่างของ Macguffin ที่โด่งดังได้แก่ โรสบัด ใน Citizen Kane กระเป๋าเอกสารใน Pulp Fiction หีบศักดิ์สิทธิ์ใน Raiders of the Lost Ark และพลทหารไรอันใน Saving Private Ryan


Match cut: อาจเรียกได้ว่าเป็นด้านตรงข้ามของ jump cut เพราะ match cut คือ การเชื่อมช็อตสองช็อตเข้าด้วยกันโดยคำนึงถึงความต่อเนื่อง ลื่นไหลเป็นหลัก โดยความต่อเนื่องนั้นอาจเป็นในแง่รูปทรง เช่น การตัดภาพกระดูกที่มนุษย์วานรใช้เป็นเครื่องมือและอาวุธในยุคโบราณไปยังภาพยานอวกาศ (เครื่องมือแห่งโลกอนาคต) จากหนังเรื่อง 2001: A Space Odyssey หรือในแง่แอ็กชั่น เช่น การตัดภาพตัวละครเอกเป่าไฟบนก้านไม้ขีดให้ดับไปยังภาพดวงอาทิตย์ค่อยๆ ลอยสูงขึ้นกลางทะเลทรายใน Lawrence of Arabia และฉากจบของ North by Northwest เมื่อภาพ แครี แกรนท์ ค่อยๆ ดึง อีวา มารี เซนต์ ขึ้นจากภูเขารัชมอร์ถูกตัดไปยังภาพเขากำลังฉุดเธอขึ้นมายังเตียงชั้นสองบนขบวนรถไฟ

เทคนิค match cut ถูกนำมาใช้อย่างยอดเยี่ยมและมากกว่าหนึ่งครั้งในหนังเรื่อง Short Cuts ของ โรเบิร์ต อัลท์แมน ซึ่งดัดแปลงจากเรื่องสั้นเก้าชิ้นของ เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ เพื่อเชื่อมโยงหลากหลายตัวละครและหลากหลายเรื่องราวเข้าด้วยกัน เช่น ภาพแก้วนมบนหัวเตียงในฉากหนึ่งถูกตัดมาต่อกับภาพแก้วน้ำในโทรทัศน์ของฉากต่อมา อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างแรกๆ ของการตัดภาพแบบ match cut พบเห็นได้ในหนังเงียบเรื่อง Dr. Mabuse: The Gambler (1922) ของ ฟริทซ์ ลัง ซึ่งติดใจเทคนิคดังกล่าวและนำมาใช้อีกครั้งในหนังคลาสสิกเรื่อง M (1931)


Melodrama: ภาพยนตร์แนวนี้มีรากฐานมาจากละครเวที ส่วนใหญ่เน้นบอกเล่าเรื่องราวการปะทะกันระหว่างความดีงามและความชั่วร้าย ผ่านตัวละครที่แบ่งแยกขาวดำชัดเจน ความซับซ้อนของประเด็นทางศีลธรรมจะถูกนำเสนอแบบเรียบง่ายตรงไปตรงมา เช่นเดียวกับการบีบคั้นอารมณ์คนดู หนังเมโลดรามาสามารถสืบย้อนประวัติไปได้ไกลถึงยุคหนังเงียบ เช่น ผลงานเรื่อง Way Down East (1920) ของ ดี. ดับเบิลยู. กริฟฟิธ

กระนั้นยุครุ่งเรืองที่แท้จริงของหนังเมโลดรามา คือ ทศวรรษ 1950 อันเป็นผลจากการจับมือร่วมกันของผู้กำกับ ดั๊กลาส เซิร์ค และซูเปอร์สตาร์ ร็อค ฮัดสัน ผ่านหนังเด่นสองเรื่อง คือ Written on the Wind และ All That Heaven Allows ซึ่งกลายเป็นผลงานที่ส่งอิทธิพลต่อนักทำหนังรุ่นต่อๆ มาไม่น้อย ภาพยนตร์เรื่อง Far from Heaven ของ ท็อด เฮย์นส์ ถือเป็นการคารวะหนังเมโลดรามาในยุคนั้น ทั้งในแง่สไตล์และพล็อตเรื่อง


Motion capture: ขั้นตอนบันทึกการเคลื่อนไหวของนักแสดงเป็นดิจิตอล แล้วนำข้อมูลนั้นมาแปลงให้กลายเป็นตัวละคร 2-D หรือ 3-D โดยใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิก หากการเคลื่อนไหวนั้นลงรายละเอียดไปถึงสีหน้า ท่าทางเล็กๆ น้อยๆ หรือกระทั่งแววตา เราอาจเรียกว่า performance capture เทคนิคนี้จะตรวจจับเฉพาะการเคลื่อนไหว ไม่รวมถึงรูปลักษณ์ภายนอกของนักแสดง เพื่อให้ภาพคอมพิวเตอร์กราฟฟิกสามารถเคลื่อนไหวได้เหมือนนักแสดงเหล่านั้น จะว่าไปแล้ว motion capture มีรากฐานมาจากเทคนิค rotoscoping โดยหนังเรื่องแรกที่เริ่มต้นการปฏิวัติ คือ Final Fantasy: The Spirits Within (2001) แต่ผลงานที่ทำให้ motion capture เป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างแท้จริง คือ The Lord of the Rings: The Two Towers เมื่อตัวละครกอลลัมดูมีเลือดเนื้อ เคลื่อนไหว และแสดงออกทางอารมณ์ได้เหมือนคนจริงๆ จน แอนดี้ เซอร์กิส ซึ่งรับบทกอลลัมในขั้นตอนการถ่ายทำ motion capture ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมของหลายสถาบัน

Movie rating system: ระบบการจัดเรทภาพยนตร์ว่าเหมาะกับผู้ชมวัยใด โดยพิจารณาจากเนื้อหาและการนำเสนอ เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในปี 1968 เพื่อแทนรูปแบบการเซ็นเซอร์ที่มีมาตั้งแต่ปี 1934 นักทำหนังอาจไม่ส่งผลงานเข้าพิจารณาเรทก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ก็นิยมทำกัน เพราะระบบจัดเรทเปิดอิสระให้กับผู้สร้าง ตราบเท่าที่คนดูได้รับข้อมูลเพียงพอว่าหนังเรื่องนั้นๆ เหมาะสมกับคนวัยใดเพื่อปกป้องเหล่าเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ปัจจุบันเรทในอเมริกาประกอบไปด้วย G, PG, PG-13, R และ NC-17 ซึ่งเรทหลังสุดถูกเปลี่ยนจากเรท X เพื่อกำจัดภาพลักษณ์และความสับสนกับหนังโป๊ (pornographic) แต่ยังเป็นของแสลงสำหรับเหล่าสตูดิโออยู่ดี เนื่องจากโรงภาพยนตร์หลายแห่งไม่มีนโยบายฉายหนังเรทนี้ ล่าสุดผลงานที่โดนตรีตรา NC-17 คือ Blue Valentine แต่ทางสตูดิโอได้ขอยื่นอุทธรณ์ และกรรมการกก็ตัดสินใจเปลี่ยนเรทเป็น R แทน


Multi-image: การจัดวางภาพโดยแบ่งเฟรมเป็นหลายๆ ช่อง ซึ่งทั้งหมดอาจถ่ายทอดเหตุการณ์เดียวแต่ต่างมุมมอง หรือหลายเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงกันก็ได้ ขั้นตอนการสร้าง multi-image อาจใช้เครื่อง optical printer หรือใช้เลนส์ชนิดพิเศษระหว่างถ่ายทำ (เทคโนโลยีดิจิตอลในปัจจุบันส่งผลให้ขั้นตอนการทำ multi-image ไม่ยุ่งยากเหมือนสมัยก่อน) นอกจากนี้ คุณยังสามารถขยับภาพเหล่านั้นไปมาบนจอได้ เช่น ภาพในวงนอกอาจเคลื่อนที่เป็นวงกลมรอบภาพตรงกลาง หรือภาพทางขวาอาจเลื่อนมาทางซ้าย เพื่อเปิดพื้นที่ให้ภาพใหม่แทรกเข้ามา

เทคนิค multi-image (บางคนเหมารวมไว้ในกลุ่มเดียวกับ split screen แต่หากจะระบุให้เฉพาะเจาะจงลงไปแล้ว split screen มักจำกัดอยู่แค่การแบ่งจอภาพเป็นสองส่วนเท่านั้น) เริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่สมัยหนังเงียบเรื่อง The Birth of a Nation (1915) แต่โดดเด่นเป็นที่จดจำอย่างแท้จริงจาก Napolean vu par Abel Gance (1927) ในยุคหนังเสียง เทคนิคนี้นิยมใช้ในฉากตัวละครพูดคุยโทรศัพท์ หรือแสดงให้เห็นภาพกลุ่มคนแสดงปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์เดียวกัน ปัจจุบัน multi-image อาจพบเห็นไม่บ่อยนัก สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะผู้กำกับส่วนใหญ่รู้สึกว่ามันอาจดูจงใจเกินไป หรือชวนให้สับสน งุนงง เพราะคนดูต้องตั้งสมาธิไปกับหลากหลายความเคลื่อนไหวบนจอ

กระนั้นตัวอย่างการใช้ multi-screen ได้เปี่ยมประสิทธิภาพยังคงปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ เช่น ฉากไคล์แม็กซ์งานพรอมของหนังเรื่อง Carrie ซึ่งผู้กำกับ ไบรอัน เดอ พัลมา จับภาพนิ่งไปยังตัวละครเอก แล้วใช้ multi-image เคลื่อนไหวเหตุการณ์ย่อยไปตามส่วนต่างๆ บนจอ สะท้อนให้เห็น ความโกลาหลและวุ่นวาย ใน Hulk ผู้กำกับ อั้งลี ใช้การแบ่งจอภาพเพื่อสร้างความรู้สึกของหนังสือการ์ตูน โดยแต่ละเหตุการณ์ในจอภาพต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน แต่ก็มีความเหลื่อมทางเวลาและรูปแบบซ้ำซ้อนอยู่ในตัวด้วย ส่วน Time Code ของ ไมค์ ฟิกกิส ได้ก้าวไปไกลยิ่งขึ้นด้วยการถ่ายทำสี่เหตุการณ์ตามเวลาจริงแบบปราศจากการตัดภาพ และฉายให้คนดูเห็นพร้อมๆ กันผ่านการแบ่งจอภาพเป็นสี่จอ “ตลอดทั้งเรื่อง”


Multiplex: ก่อนหน้าทศวรรษ 1960 มีโรงหนังเพียงไม่กี่แห่งที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า จนกระทั่ง สแตนลีย์ เอช. เดอร์วู้ด สร้าง “โรงหนังแฝด” แห่งแรกขึ้นกลางห้างสรรพสินค้าย่านชานเมืองในมลรัฐมิสซูรีเมื่อปี 1963 มัลติเพล็กซ์ของเดอร์วู้ดใช้เครื่องฉายและแผงขายของกินเล่นเดียวกัน (โรงหนึ่งจุคนได้สามร้อยที่นั่ง อีกโรงสี่ร้อยที่นั่ง) แนวคิดดังกล่าวสร้างกำไรได้เป็นกอบเป็นกำและกลายเป็นจุดกำเนิดของบริษัท America Multi-Cinema (AMC) ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นหนึ่งในเครือข่ายโรงหนังระดับแนวหน้าของอเมริกา

ปัจจุบันมัลติเพล็กซ์มักจะหมายความถึงโรงหนังที่ตั้งอยู่รวมกันระหว่าง 12-20 โรง แต่หากมีจำนวนมากกว่า 20 โรงขึ้นไป เรามักจะเรียกว่า เมกาเพล็กซ์ (Megaplex) โดยเมกาเพล็กซ์ที่ใหญ่สุดในโลกตั้งอยู่ในเมืองมาดริด ประเทศสเปน มีจำนวนโรงมากถึง 25 โรง และสามารถจุคนทั้งหมดได้ 9200 ที่นั่ง การถือกำเนิดขึ้นของมัลติเพล็กซ์ทำให้ธุรกิจโรงหนังขนาดเล็กต้องปิดกิจการเป็นทิวแถว นอกจากนี้มันยังถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระยะเวลาการฉายของหนังสั้นลง และจำกัดที่ทางของหนังฟอร์มเล็ก หนังอาร์ต หรือหนังอินดี้ทั้งหลาย


Musical: แนวทางภาพยนตร์ที่เกิดและเติบโตในฮอลลีวู้ด เน้นฉากร้องเพลงและเต้นรำเป็นหัวใจสำคัญของการเล่าเรื่อง ทันทีที่เข้าสู่ยุคซาวด์ออนฟิล์ม หนังเพลงก็พุ่งสู่ความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยสามแนวทางเด่นในยุคแรก คือ 1) หนังเพลงที่ดัดแปลงจากละครเพลงบรอดเวย์ เช่น Show Boat 2) หนังเพลงที่นำฉากร้องเพลงมาต่อๆ กันโดยอาศัยนักร้อง นักเต้น หรือนักแสดงตลกชื่อดังเป็นจุดดึงดูดคนดู เช่น Paramount on Parade และสุดท้าย 3) หนังเพลงที่แสดงให้เห็นเบื้องหลังชีวิตคนในวงการบันเทิง เช่น Broadway Melody

หลังสงครามโลก MGM กลายเป็นสตูดิโอที่เชี่ยวชาญหนังเพลงจนผลิตผลงานคลาสสิกมากมาย อาทิ Meet Me in St. Louis และ An American in Paris ส่วนยุคทองสุดท้ายของหนังเพลง คือ ทศวรรษ 1960 ซึ่งเต็มไปด้วยผลงานน่าจดจำอย่าง West Side Story, The Sound of Music, My Fair Lady และ Mary Poppins ว่ากันว่าความเสื่อมถอยของหนังเพลงส่วนหนึ่งเป็นผลจากความรู้สึกว่ามันเชยและขัดแย้งกับโลกแห่งความจริง พร้อมกันนั้นตลาดเพลงร็อกและมิวสิกวีดีโอก็เข้ามามีบทบาทแก่งแย่งส่วนแบ่งการตลาด ด้วยเหตุนี้หนังเพลงในยุคถัดมาจึงมักจำกัดฉากร้องเพลงและเต้นรำเอาไว้บนเวที หรือในจินตนาการ แยกขาดจากช่วงเล่าเรื่องอย่างเด็ดขาด เช่น Cabaret ของ บ็อบ ฟอสซี... สำหรับผู้ชมรุ่นใหม่ หนังเพลงเริ่มฟื้นคืนชีพอีกครั้งจากความสำเร็จของหนังเรื่อง Chicago และ Moulin Rouge!


Neorealism: กระแสเคลื่อนไหวของหนังแนวทางนี้เกิดขึ้นในประเทศอิตาลี อันเป็นผลจากข้อจำกัดในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะภายใต้การปกครองของรัฐบาลฟาสซิสต์และสภาพสังคมช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ภาพยนตร์แนว neorealism เปิดตัวด้วย Open City (1945) ของ โรเบอร์โต รอสเซลลินี ซึ่งสะท้อนเอกลักษณ์ของหนังในแนวนี้ให้เห็นชัดเจน นั่นคือ เน้นความเหมือนจริง ถ่ายทำในโลเคชั่นจริง ใช้ชาวบ้านจริงๆ แทนนักแสดง ถ่ายทอดให้เห็นปัญหาในชีวิตประจำวันโดยไม่มีการผูกปมซับซ้อน และใช้เทคนิคถ่ายภาพ/ตัดต่อที่เรียบง่าย ไม่เรียกร้องความสนใจจากคนดู นอกจากนี้รอสเซลลินียังได้ความสมจริงเพิ่มจากฟิล์มที่เขาเลือกใช้ ซึ่งให้ภาพเป็นเกรนแตกราวกับหนังสารคดี และเพื่อให้ได้ความรู้สึกของเหตุการณ์ที่สดใหม่ ฉับพลัน ปราศจากการเตรียมการ รอสเซลลินีก็เลือกจะไม่ถ่ายทำด้วยระบบซาวด์ออนฟิล์ม แล้วใช้วิธีการพากย์ทับ หนังประสบความสำเร็จอย่างสูง และทำให้กระแสหนัง neorealism กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก โดยหนังดังอีกเรื่องในกลุ่มนี้ คือ The Bicycle Thief ของ วิททอริโอ เดอ ซิกา ซึ่งออกฉายสามปีถัดมา

สภาพสังคมที่พัฒนาไปสู่ทางที่ดีขึ้นและความต้องการของเหล่าผู้กำกับที่จะหันไปสร้างผลงานแนวทางอื่นทำให้กระแส neorealism สิ้นสุดลงอย่างรวดเร็วในทศวรรษ 1950 แต่อิทธิพลของมันกลับส่งต่อมายังคนรุ่นหลังมากมาย ไม่ว่าจะเป็นต่อผลงานของกลุ่ม French New Wave ไปจนถึงผลงานไตรภาคชุด Apu ของ สัตยาจิต เรย์


Optical printer: อุปกรณ์ที่ใช้ถ่ายภาพไม่ว่าจะเป็นเนกาทีฟ หรือโพซิทีฟลงบนแผ่นฟิล์ม ภายในจะประกอบด้วยกล้องและเครื่องฉายหันหน้าเข้าหากัน โดยแหล่งแสงจากในเครื่องฉายจะส่งภาพมายังเลนส์ แล้วอัดลงบนแผ่นฟิล์มในกล้อง ทั้งเครื่องฉายและกล้องจะถูกล็อกให้ทำงานสอดคล้องกัน

โดยทั่วไป optical printer ใช้สำหรับสร้างเทคนิคพิเศษด้านภาพอันหลากหลาย เช่น fade out เกิดจากการค่อยๆ ปิดชัตเตอร์กล้อง ส่วน fade in เกิดจากการค่อยๆ เปิดชัตเตอร์กล้อง ขณะเฟรมภาพมาสเตอร์ ส่วนเทคนิคอื่นๆ ก็เช่น wipe, traveling-matte และ split screen

อีกหนึ่งคุณประโยชน์ของ optical printer คือ สามารถแก้สีและแสง รวมทั้งปรับเปลี่ยนฉากที่ถ่ายทำผิดพลาดด้วยการเปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนตำแหน่ง หรือการเคลื่อนไหวของกล้อง นอกจากนี้มันยังเป็นเครื่องแปลงรูปแบบฟิล์ม เช่น ขยายฟิล์ม 16 ม.ม. ให้กลายเป็น 35 ม.ม. หรือลดฟิล์มไซส์ใหญ่ให้กลายเป็นฟิล์มขนาด 35 ม.ม. อีกด้วย ในอดีต optical printer เปรียบเสมือนเครื่องมือสารพัดประโยชน์ที่ขาดไม่ได้ในขั้นตอนการผลิตภาพยนตร์ แต่ปัจจุบันมันถูกลดบทบาทลง เพราะการสร้างเทคนิคพิเศษในรูปแบบดิจิตอลทำได้ง่ายกว่า และให้ผลลัพธ์ดีกว่า แม้ว่าขั้นตอนแบบดั้งเดิมจะราคาถูกกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่าสำหรับฟิล์มขนาดใหญ่

Overlap dialogue: บทสนทนาที่พูดขึ้นซ้อนทับกันของสองตัวละครหรือมากกว่า เป็นเทคนิคในการสร้างความสมจริงและเป็นธรรมชาติให้กับหนังเพราะในชีวิตจริง เราไม่ได้รอให้อีกคนพูดจบก่อนเสมอไป สองผู้กำกับที่นิยมใช้เทคนิคนี้ คือ โรเบิร์ต อัลท์แมน และ วู้ดดี้ อัลเลน นอกจากนี้ มันยังอาจหมายถึงบทสนทนาที่ “ล้น” ไปยังฉากถัดไป ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงระหว่างฉากที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

Pan: การเคลื่อนกล้องในแนวระนาบโดยตัวกล้องไม่ได้ขยับออกจากตำแหน่งเดิม การแพนอาจทำได้ทั้งบนขาตั้งกล้อง และบนบ่าของตากล้อง (handheld) มีพื้นฐานมาจากคำว่า panorama จุดมุ่งหมายหลักๆ ก็เพื่อ 1) ทำให้คนดูเห็นภาพรวมของฉากอย่างครอบคลุม 2) ชี้นำความสนใจของคนดูไปยังเหตุการณ์สำคัญ หรือจุดควรสังเกต และตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ ในฉาก ซึ่งการตัดภาพไม่สามารถทำได้ 3) ติดตามการเคลื่อนไหวของนักแสดง หรือยานพาหนะในแนวราบ 4) แทนสายตาตัวละครขณะสำรวจบริเวณโดยรอบ

การแพนกล้องแบบ 360 องศา เรียกว่า circular pan ในหนังเรื่อง Hour of the Wolf ผู้กำกับ อิงมาร์ เบิร์กแมน ตั้งกล้องไว้ตรงกลางโต๊ะอาหารทรงกลม แล้วค่อยๆ แพนไปยังใบหน้าของแขกแต่ละคน ส่วนการแพนกล้องอย่างรวดเร็วจนมองไม่เห็นภาพ “ระหว่างทาง” เราเรียกว่า swish pan ในฉากคลาสสิกฉากหนึ่งของหนังเรื่อง Citizen Kane เทคนิค swish pan ถูกนำมาใช้หลายครั้งเพื่อบ่งบอกถึงกาลเวลาที่ผันผ่าน พร้อมกับความสัมพันธ์ที่เริ่มร่วงโรย เหินห่างของสองสามีภรรยา โดยในช่วงต้น ทั้งสองยังคงหวานชื่น นั่งใกล้ชิดกันที่โต๊ะอาหารและสนทนากันอย่างสนุกสนาน ก่อนบทสนทนาจะเริ่มห้วนลง ส่วนพื้นที่ว่างระหว่างพวกเขาก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งในช็อตสุดท้าย พวกเขาลงเอยด้วยการนั่งอยู่คนละฟากของโต๊ะอาหาร ต่างฝ่ายต่างทำกิจกรรมของตนโดยไม่พูดจากันเลยสักคำ

Panavision: ระบบการถ่ายทำและฉายภาพยนตร์ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท พานาวิชั่น ในแคลิฟอร์เนีย แต่เดิมระบบ Panavision จะใช้ anamorphic lens บีบภาพลงบนฟิล์ม 35 ม.ม. ก่อนจะนำมาฉายโดยใช้เลนส์แบบเดิมเพื่อให้ได้ภาพมุมกว้าง ส่วนกล้อง Super Panavision จะถ่ายทำโดยไม่บีบภาพลงบนฟิล์ม 65 ม.ม. แล้วนำมาฉาย (ในรูปแบบของฟิล์ม 70 ม.ม.) เป็นระบบจอกว้าง


Parody: เรียกง่ายๆ ได้ว่าหนังตลกล้อเลียน เน้นการนำเอาหนัง (ซีเรียส) เรื่องดังๆ มาล้อเลียน ผ่านมุกตลกหลากหลายประเภท ตั้งแต่การเล่นคำ มุกตลกเจ็บตัว ฯลฯ ตัวอย่างแรกๆ ของ parody คือ Help! Help! (1912) ของ แม็ค เซนเนท ที่ล้อเลียนหนังเรื่อง The Lonely Villa ของ ดี. ดับเบิลยู. กริฟฟิธ และ The Three Ages (1923) ของ บัสเตอร์ คีตัน ซึ่งล้อเลียน Intolerance ของกริฟฟิธ ก่อนหน้าจะมาสร้างหนังตลกโรแมนติก วู้ดดี้ อัลเลน ขึ้นชื่อว่าเป็นนักทำหนังล้อเลียนระดับแนวหน้า เช่น Take the Money and Run ซึ่งล้อเลียนหนังแก๊งสเตอร์ ส่วน Bananas กลับพุ่งเป้าไปยังบรรดาหนังที่พูดถึงการเมืองของอเมริกาใต้ นักทำหนังแนวล้อเลียนอีกคนที่โดดเด่น คือ เมล บรู้กส์ กับหนังดังอย่าง Blazing Saddles และ Young Frankenstein อย่างไรก็ตาม ทั้งบรู้กและอัลเลนมักเน้นล้อเลียนรูปแบบของหนังมากกว่าที่จะล้อเลียนตัวหนังโดยตรง ซึ่งตรงกันข้ามกับหนังแนว parody ยุคใหม่ (อย่าง Scary Movie) ซึ่งน่าจะได้อิทธิพลจากผลงานของกลุ่ม ZAZ อย่าง Airplane! มากกว่า


Point-of-view shot: ในหนังสือ The Five C’s of Cinematography ตากล้อง โจเซฟ วี. มาสเซลลี อธิบายไว้ว่า “point-of view shot หรือเรียกสั้นๆ ว่า POV จะบันทึกภาพจากมุมมองของตัวละคร แต่เนื่องจาก POV อยู่ตรงกลางระหว่างมุมกล้องแบบภววิสัยและอัตวิสัย มันจึงควรถูกแยกออกมาพิจารณาเป็นพิเศษ POV เป็นมุมกล้องภววิสัยที่ใกล้เคียงกับการเป็นมุมกล้องอัตวิสัยมากที่สุด กล้องจะตั้งอยู่เคียงข้างตัวละคร ซึ่งเป็นเจ้าของมุมมอง ทำให้คนดูรู้สึกเหมือนกำลังยืนชิดกับตัวละคร แต่ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ผ่านสายตาของตัวละครเหมือน subjective camera ซึ่งกล้องถูกเปลี่ยนมาแทนที่ตัวละคร ดังนั้น POV จึงยังคงความเป็นภววิสัย เนื่องจากกล้องเป็นเหมือนนักสังเกตการณ์ที่ไม่มีใครเห็นและไม่มีปฏิสัมพันธ์กับตัวละครอื่นๆ”

คนดูจะเห็นการใช้มุมกล้องแบบ point-of-view shot และ subjective camera หลายครั้งในหนังเรื่อง The Silence of the Lambs บางทีในฉากเดียวกันด้วยซ้ำ เพื่อให้เรา “อยู่ข้าง” ตัวละครเอก (โจดี้ ฟอสเตอร์) เอาใจช่วยเธอให้ประสบความสำเร็จ โดยมุมกล้องแบบ subjective camera จะถูกนำมาใช้หลักๆ ในตอนฆาตกรออกล่าเหยื่อและตอนที่ตัวละครเอกรำลึกถึงพ่อที่เสียชีวิตไปแล้ว ส่วน POV จะเป็นเหมือนช็อตถ่ายข้ามหัวไหล่ เพียงแค่คนดูจะไม่ได้เห็นหัวไหล่ และที่สำคัญ ตัวละครจะไม่มองตรงมายังกล้องเหมือน subjective camera

ไม่มีความคิดเห็น: