วันพุธ, กุมภาพันธ์ 22, 2555

Oscar 2012: Best Actor


เดเมียน บิเชียร์ (A Better Life)

ถึงแม้จะโด่งดังในเม็กซิโกมานานกว่าสองทศวรรษ แต่ชื่อของ เดเมียน บิเชียร์ ยังไม่ค่อยคุ้นหูนักดูหนังทั่วโลกมากนัก จนกระทั่งเขารับบทเป็น ฟิเดล คาสโตร ใน Che จากนั้นก็สร้างชื่อเสียงต่อเนื่องกับบทเด่นในซีรีย์แสนสนุกเรื่อง Weeds ดาราเม็กซิกันวัย 48 ปี เล่าถึงจุดผกผันในอาชีพการแสดงของเขาว่า “ระหว่างทำหน้าที่เป็นกรรมการตัดสินอยู่ในเทศกาลหนังอิบิซา ผมได้รับโทรศัพท์ตอนตีห้าจาก สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก ถามว่าสนใจอยากรับบท ฟิเดล คาสโตร ในหนังเกี่ยวกับ เช เกวารา ไหม นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้น นับแต่นั้นทุกอย่างก็เปลี่ยนไป”

หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนิวยอร์กตั้งแต่อายุ 22 ปีเพื่อเรียนภาษา แล้วรับทำงานทุกชนิด ตั้งแต่ขับแท็กซี่จนถึงพนักงานเสิร์ฟ บิเชียร์ก็ตัดสินใจย้ายไปลอสแองเจลิส เขาใช้เวลาสี่ปีเดินสายทดสอบหน้ากล้อง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น เมื่อได้รับข้อเสนอให้กลับไปเล่นหนังที่เม็กซิโก บิเชียร์จึงรีบคว้าไว้ และเขาก็สร้างชื่อเสียงในประเทศบ้านเกิดอย่างรวดเร็ว “แต่แล้ววันหนึ่งตอนอายุ 41 ปี ผมนึกวาดภาพความสุขสบายในบ้านที่มีสระว่ายน้ำ กำลังนั่งจิบค็อกเทล พลางคิดไปว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรถ้าผมพยายามให้หนักขึ้น กล้าได้กล้าเสียมากขึ้น” เข่าเล่าถึงสาเหตุที่ตัดสินใจเดินทางกลับมาแอล.เอ.อีกครั้ง หลังชีวิตแต่งงานล้มเหลว “บางอย่างลึกๆ ภายในของผมเปลี่ยนไป”

บิเชียร์เป็นลูกชายคนกลางของพ่อผู้กำกับละครเวทีและแม่นักแสดง โอดิซิโอกับบรูโน พี่ชายกับน้องชายของเขา ก็เป็นนักแสดงชื่อดังเช่นกัน จนเป็นเหตุให้รางวัล MTV ในเม็กซิโกจัดสาขาขึ้นใหม่ว่า “นักแสดงชายนามสกุลบิเชียร์ยอดเยี่ยม” โดยคนที่คว้ารางวัลไป คือ เดเมียน แต่ทั้งหมดคงไม่อาจสร้างชื่อเสียงให้เขาได้มากเท่ากับการเข้าชิงรางวัลออสการ์นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก A Better Life ในบทคุณพ่อแสนดีชาวเม็กซิกันที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และทำงานคนสวนให้กับเหล่าผู้มีอันจะกินในแอล.เอ. โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อให้ลูกชายได้มีโอกาสหลุดพ้นจากสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยแก๊งอันธพาลและยาเสพติด

ความวิบัติบังเกิด เมื่อเขาไปยืมเงินมาซื้อรถกระบะ และมันดันถูกขโมยไปต่อหน้าต่อตาในวันถัดมา ฉากที่คนดูอยากเบือนหน้าหนีด้วยความรู้สึกหดหู่ สิ้นหวัง เป็นตอนที่คาร์ลอสกำลังยืนอยู่บนฟุตบาทที่คราคร่ำไปด้วยผู้คน เสื้อเชิ้ตเปียกชื้นจากเหงื่อไคล เขากวาดตามองโดยรอบเพื่อค้นหารถกระบะอย่างไร้ผล จนกระทั่งเหลือบไปเห็นตำรวจ แต่ไม่อาจร้องขอความช่วยเหลือได้ เพราะกลัวว่าจะถูกส่งกลับประเทศ ใบหน้าของบิเชียร์บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า คาร์ลอสตระหนักถึงความจนตรอก ไร้ทางออกของสถานการณ์ดีแค่ไหน... กระนั้น ทีเด็ดจริงๆ กลับอยู่ในช่วงท้ายเรื่อง เมื่อคาร์ลอสพยายามอธิบายให้ลูกชายฟังว่าทำไมเขาจึงตัดสินใจมีลูก และลูกมีความหมายต่อคนเป็นพ่อมากแค่ไหน พลังในการแสดงของบิเชียร์ทำให้คนดูหลั่งน้ำตา และหัวใจสลายได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยดนตรีโหมกระหน่ำให้มากมาย

ทักษะการแสดงแบบเมดธ็อดทำให้บิเชียร์ตัดสินใจซื้อรถกระบะแบบเดียวกับที่พวกคนสวนชอบใช้มาขับระหว่างช่วงถ่ายทำ เขาสวมเสื้อตัวเดิมซ้ำหลายวันโดยไม่ซัก นอนหลับแค่วันละสี่ชั่วโมง เพื่อเข้าถึงสภาพที่แท้จริงของตัวละคร วันหนึ่งโปรดิวเซอร์หนังเล่าให้ว่ามีชายเม็กซิกันสองคนเห็นบิเชียร์ในรถบรรทุก พวกเขาถึงกับส่ายหน้าแล้วพูดว่า “ดูสิ! นั่น เดเมียน บิเชียร์ นี่ ให้ตายเถอะ ท่าทางเขาคงกำลังตกอับ”


จอร์จ คลูนีย์ (The Descendants)

อย่าแปลกใจที่ช่วงหลังๆ จอร์จ คลูนีย์ มักจะถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์บ่อยครั้ง จาก Michale Clayton จนถึง Up in the Air และล่าสุดกับ The Descendants ทั้งนี้เพราะเขาวางนโยบายว่าจะเลือกเล่นหนังให้เฉพาะผู้กำกับระดับแนวหน้า หรือผู้กำกับที่เขาชื่นชอบผลงานเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก หรือสองพี่น้องโคน “ตราบใดที่คุณอยากมีส่วนร่วมในหนังซึ่งคงอยู่ในใจคนดูนานเกินกว่าแค่ช่วงสุดสัปดาห์ที่หนังเปิดตัว คุณควรเลือกทำงานกับผู้กำกับที่คุณนับถือและชื่นชม” คลูนีย์เผย “อเล็กซานเดอร์เป็นชื่อแรกในลิสต์ของผม เราเกือบจะได้ร่วมงานกันใน Sideways แต่เขาไม่จ้างผม ซึ่งผมก็ไม่ได้คิดแค้นอะไรหรอกนะ”

สำหรับคลูนีย์ หลักพื้นฐานในการเข้าถึงตัวละครคุณพ่อ ที่จิตใจดี แต่มีข้อบกพร่อง ซึ่งเขารับเล่นในหนังเรื่อง The Descendants อยู่ตรงเสื้อผ้า “เริ่มต้นจากกางเกงผ้ากากีเอวสูงและเสื้อเชิ้ตฮาวายยัดใส่ในกางเกง” เขากล่าว “ราวกับจะบอกว่าไม่มีใครอยากขึ้นเตียงกับฉันหรอก”

อย่าแน่ใจไป คลูนีย์

อาการไม่ห่วงหล่อ ไม่กลัวเสียภาพลักษณ์ และไม่อายที่จะทำตลก หมดคราบซูเปอร์สตาร์เพื่อสวมวิญญาณทนายอสังหาริมทรัพย์และคุณพ่อ “สำรอง” นาม แม็ท คิง ถือเป็นจุดเด่นประการหนึ่งที่ทำให้หลายคนยกย่องว่ามันเป็นการแสดงที่ดีที่สุดในชีวิตเขา และอาจกรุยทางไปสู่ออสการ์ตัวที่สอง หลังคว้าตัวแรกมาครองในสาขานักแสดงสมทบชายจากหนังเรื่อง Syriana เมื่อ 6 ปีก่อน

เนื่องจากแม็ทต้องเผชิญวิกฤติหลากหลายภายในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วัน เริ่มจากภรรยาของเขาต้องกลายเป็นเจ้าหญิงนิทราหลังประสบอุบัติเหตุ ซ้ำร้าย มันทำให้เขาทราบว่าเธอแอบคบชู้กับชายอีกคน และกำลังวางแผนจะขอหย่า แต่ดันมาประสบอุบัติเหตุเสียก่อน ในขณะเดียวกัน เหล่านายทุนก็กำลังจ้องจะขอซื้อที่ดินและผืนป่าขนาดใหญ่ของครอบครัวเขาเพื่อนำไปสร้างเป็นรีสอร์ทสนามกอล์ฟ แม้ว่าชาวบ้านหลายคนจะไม่ค่อยเห็นด้วยสักเท่าไหร่ คลูนีย์ต้องเดินอยู่บนเส้นด้ายแห่งความขัดแย้ง ระหว่างอาการลังเลกับหุนหันพลันแล่น ระหว่างความอ่อนโยนกับน่าสังเวช ซึ่งนั่นถือเป็นความท้าทายที่เขาชื่นชอบเหนืออื่นใด“บางครั้งผมจะได้แสดงเป็นตัวละครที่ดูเหมือนมั่นใจ เข้าใจทุกอย่าง ก่อนจะพลันตระหนักว่าตัวเองไม่รู้อะไรเลย” คลูนีย์กล่าว “แต่แม็ทเป็นตัวละครที่ไม่รู้อะไรเลยตั้งแต่ต้น และการถ่ายทอดให้เห็นภาวะสูญเสียการควบคุมนั้นมันสนุกอย่าบอกใคร”

ตัวอย่างเช่น ฉากที่แม็ทค้นพบความลับของภรรยา เลยตัดสินใจสวมรองเท้าหนังกลับ แล้ววิ่งไปยังบ้านน้องสะใภ้เพื่อล้วงความจริงจากปากเธอ แรกเริ่มเดินที ในบทระบุว่าเขาจะต้องขับรถไป แต่ผู้กำกับ อเล็กซานเดอร์ เพย์น คิดว่าทำแบบนั้นคงจืดน่าดู เขาจึงเปลี่ยนบทให้คลูนีย์ใส่สองเท้าที่ดูไม่เหมาะกับสถานการณ์ แล้ววิ่งด้วยท่าตลกๆ แทน “เราถ่ายทำฉากนี้เจ็ดหรือแปดเทคนี่แหละ ผมต้องวิ่งลงเขาและพยายามทำท่าให้ดูไม่กระฉับกระเฉงที่สุด” นักแสดงขวัญใจฮอลลีวู้ดนิ่งเงียบไปครู่หนึ่ง “ผมคิดว่าเราประสบความสำเร็จดีทีเดียว” ไม่เพียงฉากขำๆ เท่านั้นที่คลูนีย์ลื่นไหลอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะเมื่อถึงเวลาที่ต้องเปิดเผยตัวตนที่อ่อนโยน เปราะบางสุดของตัวละคร เช่น ในฉากที่แม็ทจูบลาภรรยาเป็นครั้งสุดท้าย คลูนีย์ก็ทำให้คนดูตระหนักถึงความรัก ความผูกพัน และความเจ็บปวดของแม็ทได้อย่างสุดซึ้ง


ฌอง ดูฌาร์แดง (The Artist)

ทุกคนพากันประหลาดใจ เมื่อผลประกาศว่า ฌอง ดูฌาร์แดง ได้รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ซึ่งเป็นแหล่งปล่อยของผลงานอาร์ตจ๋าจำพวก The Tree of Life และ Melancholia ทั้งนี้เพราะนักแสดงหนุ่มหล่อชาวฝรั่งเศสคนนี้โด่งดังมาจากบทล้อเลียน เจมส์ บอนด์ การเป็นหนึ่งในสมาชิกวงบอยแบนด์ และสถานะซูเปอร์สตาร์ค่าตัวแพง มันเป็นเรื่องปกติที่ดาวตลก ซึ่งชอบการเลียนแบบ แล้วทำท่าบ้าๆ บอๆ แม้ว่าจะทำได้ยอดเยี่ยมน่าจดจำแค่ไหนก็ตาม มักไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับของกรรมการตัดสินรางวัลตามเทศกาลต่างๆ ซึ่งมักให้ราคาหนังสะท้อนสังคม หรือโศกนาฏกรรมแห่งมนุษย์มากกว่าหนังตลกล้อเลียน

บท จอร์จ วาเลนทีน ใน The Artist เป็นบทที่ไม่อาจจัดแยกเข้าประเภทใดๆ ได้อย่างเช่นจัด เช่นเดียวกับตัวหนังซึ่งถ่ายทำเลียนแบบหนังเงียบขาวดำ และเข้าฉายด้วยสัดส่วนจอภาพ 1:33 ไม่ใช่ widescreen แบบที่นิยมในปัจจุบัน วาเลนทีนเป็นดาวเด่นในยุคหนังเงียบฮอลลีวู้ด แต่กลับเริ่มตกอับเมื่อเขาปฏิเสธที่จะปรับตัวเข้าหาหนังเสียง การแสดงของดูฌาร์แดงเน้นท่าทางและร่างกายคล้ายคลึงกับดาราหนังเงียบทั้งหลาย (ฉากที่น่ารักมาก เป็นตอนที่วาเลนทีนพยายามจะงอนง้อภรรยาให้หายโกรธด้วยการเลียนแบบท่าทางของสุนัขคู่ใจ) เสน่ห์และบุคลิกสบายๆ เป็นกันเอง รวมถึงทักษะการเคลื่อนไหวแขนขาที่คล่องแคล่วทำให้หลายคนนึกถึง ดักลาส แฟร์แบงส์ แต่ขณะเดียวกัน เมื่อบทเริ่มหันเหสู่ช่วงกดดัน ดูฌาร์แดงก็ไม่พลาดที่จะดึงคนดูให้เข้าข้าง เห็นใจตัวละครโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไคล์แม็กซ์บีบหัวใจ

“การแสดงออกทางใบหน้าและภาษาท่าทางของฌองเหมาะสำหรับช็อตโคลสอัพ มากพอๆ กับช็อตระยะไกล มีนักแสดงแค่ไม่กี่คนหรอกที่จะเก่งทั้งสองอย่าง” มิเชล ฮาซานาวิเชียส ผู้กำกับที่เคยร่วมงานกับดูฌาร์แดงมาแล้วจากหนังล้อเลียนสายลับเรื่อง OSS 117: Cairo, Nest of Spies และภาคต่อ OSS 117: Lost in Rio กล่าว

เพื่อรับบทนี้ ดูฌาร์แดง ซึ่งพูดภาษาอังกฤษได้ไม่มาก และเคยเดินทางมาอเมริกาแค่สองสามครั้ง ต้องอาศัยอยู่ในฮอลลีวู้ดเป็นเวลานานสามเดือน (หนังถ่ายทำกันในโรงถ่ายของ เวอร์เนอร์ บราเธอร์ส ที่เบอร์แบงค์) ไว้หนวดเรียวบางแบบเดียวกับ คลาค เกเบิล และเรียนท่าเต้น shuffle steps จนคล่องแคล่ว นอกจากนี้ เขายังขวนขวายหาหนังเงียบเก่าๆ มาดูอีกด้วย แน่นอน หลายเรื่องในนั้นนำแสดงโดย ดักลาส แฟร์แบงส์ “ผมพลันตระหนักว่าบทสนทนากลับกลายเป็นภาระ” เขากล่าว “ร่างกายสามารถสื่อสารได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดสักคำ”

ดูฌาร์แดงถือกำเนิดในกรุงปารีส และเริ่มต้นเข้าวงการจากการเล่นตลกตามไนท์คลับและทางโทรทัศน์ ก่อนจะพบแจ๊คพ็อตก้อนโตตอนแสดงเป็นนักเล่นกระดานโต้คลื่นในหนังฮิตเรื่อง Brice de Nice ซึ่งดึงดูดคนดูได้มากถึง 4.5 ล้านคน นอกจากบทตลกที่ทำให้เขากลายเป็นดาราค่าตัวสูงสุดของฝรั่งเศสแล้ว นักแสดงวัย 39 ปียังท้าทายตัวเองอยู่เสมอด้วยการรับบทดรามาหนักๆ เช่น บทตำรวจที่ลูกสาวถูกฆาตกรรมใน Counter-Investigation และบทนักเขียนขี้เหล้าใน The Clink of Ice จริงอยู่ว่าความสำเร็จของ The Artist ย่อมเปิดประตูแห่งโอกาสอีกหลายบานให้กับดูฌาร์แดง แต่สำหรับเจ้าตัวเขาดูจะมีความสุขดีอยู่แล้วกับการเล่นหนังตลกอย่าง OSS 117 ซึ่งไม่น่าจะเวิร์คนอกประเทศเพราะ “มันเป็นมุกตลกแบบที่คนฝรั่งเศสเท่านั้นถึงจะเก็ทและหัวเราะสนุกสนานไปกับมันได้” ดูฌาร์แดงอธิบาย


แกรี โอลด์แมน (Tinker Tailor Soldier Spy)

เมื่อทราบข่าวว่าเขาได้รับเลือกให้เล่นเป็น จอร์จ สไมลีย์ ในหนังที่ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อดังเมื่อปี 1974 ของ จอห์น เลอ คาร์เร เรื่อง Tinker Tailor Soldier Spy แกรี โอลด์แมน หลีกเลี่ยงที่จะไม่หาเวอร์ชั่นมินิซีรีย์อันโด่งดังของช่อง BBC มาดูซ้ำ หลังจากเคยชมไปแล้วตอนมันออกอากาศครั้งแรกในปี 1979 “ผมกลัวว่าจะได้รับอิทธิพลมากเกินไป” โอลด์แมนบอก “และผมก็ไม่สนใจอยากจะแสดงเลียนแบบใคร”

หากคุณมีโอกาสได้ชมมินิซีรีย์ของ BBC จะเห็นว่าสไมลีย์เวอร์ชั่น อเล็ก กินเนส นั้นพูดจาคล่องแคล่ว มีบุคลิกเหมือนครูใหญ่ที่เข้มงวด และแสดงออกทางสีหน้าไม่มาก แถมแต่ละอาการที่แสดงออกยังแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยอีกด้วย ส่วนสไมลีย์ของโอลด์แมนนั้นเป็นตัวละครที่อ่านความรู้สึก “ยากยิ่งขึ้น” ไปอีก การแสดงออกทางสีหน้าที่มากสุดของเขา คือ แค่ขมวดคิ้วเล็กน้อยระหว่างเพ่งสมาธิ หรืองุนงง เช่น เมื่อคอนโทรว (จอห์น เฮิร์ธ) บอกลูกน้องทุกคนว่าเขาจะเกษียณตัวเองเพื่อรับผิดชอบต่อหายนะที่เกิดขึ้นในบูดาเปสไปพร้อมกับสไมลีย์ หรือบางทีอาจจะอ้าปากเล็กน้อย และขยับแว่นตาดังจะเห็นได้จากฉากที่สไมลีย์ค้นพบความจริงเกี่ยวกับภรรยา

“ใบหน้าเหมือนกำลังเล่นไพ่โป๊กเกอร์” ถือเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อคุณต้องรับบทสายลับชั้นยอด “เขารับฟัง มองเห็น และได้ยินทุกสิ่งอย่าง เขาเป็นคนที่เก็บอารมณ์มากๆ” โอลด์แมนกล่าวถึงตัวละคร ซึ่งในแง่หนึ่งถือว่ายืนอยู่คนละฝั่งกับ เจมส์ บอนด์ “เขาแฝงตัวกลมกลืนกับฝูงชน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาถึงอันตราย เขาไม่ใช่สายลับประเภทที่จะสวมชุดทักซิโด้สีขาว แล้วก้าวลงจากรถ แอสตัน มาร์ติน”

สไมลีย์เป็นบทที่แตกต่างออกไปจากภาพลักษณ์ที่คนดูคุ้นเคยโอลด์แมน ไม่ว่าจะเป็นศิลปินพังค์ร็อค ซิด วิเชียส หรือผีดิบดูดเดือด หรือพ่อทูนหัวของ แฮร์รี่ พ็อตเตอร์ หรือบทตัวร้ายในหนังหลากหลายเรื่องที่เขาแทบจะหลับตาเล่นได้ เช่น ใน True Romance, The Fifth Element, Air Force One และ Leon แม้ว่าโอลด์แมนจะพยายามเลือกรับบทให้แตกต่างกันเพื่อขยายขอบเขตของทักษะการแสดง แต่ก็มีบางบทเหมือนกันที่เขาลังเลไม่อยากเล่น “มีบางอย่างที่ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถรับมือไหว คุณจำเป็นต้องรู้ว่าข้อจำกัดของคุณคืออะไร” เขากล่าว “ยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อ 10 ปีก่อนผมแสดงหนังร่วมกับ โจน อัลเลน และ เจฟฟ์ บริดเจส เรื่อง The Contender รับบทเป็นสมาชิกรัฐสภา ผมสบายใจที่ได้เล่นบทนั้น และไม่แน่ใจว่าตัวเองจะสามารถแสดงเป็นประธานาธิบดีได้ ผมรู้สึกว่ามันเรียกร้องบางสิ่งบางอย่าง”

ในหนังเรื่องนี้ สไมลีย์ได้รับมอบหมายให้ค้นหาสปายจากรัสเซียที่แฝงตัวมาเข้ามาล้วงข้อมูลในหน่วยสืบราชการลับ โดยผู้ต้องสงสัยล้วนเป็นบุคคลรอบข้างเขาทั้งสิ้น สำหรับโอลด์แมน สิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างบุคลิกอันสมบูรณ์ให้กับตัวละครนี้ คือ แว่นตา ซึ่งเขาใช้เวลาควานหาอยู่นานกว่าจะเจอที่ถูกใจ “แว่นตาของสไมลีย์เปรียบเหมือนรถ แอสตัน มาร์ติน มันจะต้องโดดเด่นในเชิงสัญญะ ผมมองว่าสไมลีย์เป็นเหมือนนกฮูกชราที่ไหวพริบเฉียบคม เขาสามารถมองเห็นทุกอย่างและได้ยินทุกอย่าง ผมวาดภาพแว่นที่อยากได้ไว้ในหัว และพวกมันจะต้องตรงกับยุคสมัยในเรื่องด้วย ไม่เก่ากว่าปี 1969 และไม่ใหม่เกินปี 1973 ซึ่งถือว่าเป็นกรอบเวลาที่แคบมาก ผมลองแว่นอยู่ประมาณ 200 คู่ ทำเอาผู้กำกับแทบจะเสียสติ แต่สุดท้ายผมก็พบแว่นตาที่เหมาะสมในพาซาเดนา” นักแสดงวัย 53 ปีกล่าว


แบรด พิทท์ (Moneyball)

บท บิลลี่ บีน ผู้จัดการทีมเบสบอลที่ปรับเปลี่ยนวิธีฟอร์มทีมใหม่ โดยหันมาใช้หลักสถิติเพื่อคัดเลือกนักกีฬา แทนการพึ่งพาสัญชาตญาณแมวมอง ด้วยความหวังว่าจะได้นักกีฬาคุณภาพที่ถูกมองข้าม หรือประเมินต่ำกว่าจริงเพราะบุคลิกไม่น่ารักบางอย่าง และสร้างทีมระดับแนวหน้าได้ในราคาถูก ถือเป็นบทที่แตกต่างจากบทอื่นๆ ก่อนหน้านี้ของ แบรด พิทท์ ค่อนข้างมาก เพราะแทนที่จะขี่ม้า หลบกระสุน หรือตะบันหน้าคู่ต่อสู้ แบบบทแมนๆ ในหนังที่เน้นใช้ร่างกายอย่าง Troy, Mr. and Mrs. Smith และ Fight Club คราวนี้คนดูกลับเห็นพิทท์ใช้เวลาส่วนใหญ่ นั่งทำงานในห้องเล็กๆ โทรศัพท์ต่อรองราคาค่าตัวนักกีฬา หรือไม่ก็พาลูกสาวไปช็อปปิ้งซื้อกีตาร์

พูดถึงการประเมินต่ำกว่าจริง ดาราหนุ่มหล่อวัย 47 ปี อดีตขวัญใจสาวน้อยสาวใหญ่นับแต่ปรากฏตัวในหนังเรื่อง Thelma and Louise ถือเป็นหนึ่งในนักแสดงมากฝีมือที่มักจะถูกมองข้าม เพราะหน้าตา และสถานะซูเปอร์สตาร์ระดับโลก ตลอดเวลาหลายปี ผู้คนมักประหลาดใจเวลาเห็นเขาสวมวิญญาณเป็นตัวละครได้อย่างยอดเยี่ยม ราวกับมีความเชื่อฝังหัวว่าพิทท์มีดีแค่หน้าตา แต่ความเชื่อเหล่านั้นกำลังเปลี่ยนไปในช่วงสองสามปีหลัง เมื่อพิทท์เลือกใช้ชื่อเสียงเป็นเครื่องมือต่อรองกับสตูดิโอในการผลักดันสร้างหนังที่เขาอยากแสดง ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ Moneyball และ The Tree of Life ซึ่งล้วนตอกย้ำว่าเขาเป็นนักแสดงที่น่าสนใจที่สุดคนหนึ่ง

หากคุณติดตามข่าวในแวดวงอยู่บ้าง คงจะทราบดีว่า Moneyball เป็นโครงการในฝันของพิทท์นับแต่เขาได้อ่านหนังสือเรื่อง Moneyball: The Art of Winning an Unfair Game ของ ไมเคิล ลูว์อิส แต่สุดท้ายต้องพับโครงการกะทันหันเมื่อสองปีก่อน หลังจากโซนี่ไม่อนุมัติทุนก้อนโตสำหรับนำไปสร้างหนังเวอร์ชั่น “กึ่งสารคดี” ของผู้กำกับ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก (ตัดสลับเรื่องราวกับบทสัมภาษณ์นักเบสบอลตัวจริง) ต่อมาเมื่อบทถูกขัดเกลาโดย แอรอน ซอร์กิน พร้อมลดเพดานเงินทุนให้ต่ำลง สตูดิโอจึงอนุมัติให้เดินหน้าโดยเปลี่ยนผู้กำกับมาเป็น เบนเน็ทท์ มิลเลอร์ (Capote)

การแสดงของพิทท์ในหนังเรื่องนี้จะเน้นความลุ่มลึก ไม่หนักมือ แล้วถ่ายทอดบุคลิก บิลลี บีน ในภาพของผู้ชายน้ำนิ่งไหลลึก มีความรักต่อกีฬาเบสบอลอย่างสุดซึ้ง แต่บ่อยครั้งไม่ค่อยแสดงออกทางอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเขาอยู่ต่อหน้านักกีฬา โดยให้เหตุผลว่าการตีสนิทกับคนที่คุณอาจจะต้องไล่ออกเมื่อไหร่ก็ได้นั้นจะทำให้ทุกอย่างซับซ้อน ลำบากใจยิ่งกว่าเดิม เขาเป็นคนที่ชอบครุ่นคิด ขี้กังวล และบางครั้งจะโยนข้าวของเพื่อระบายอารมณ์ ซึ่งหนังก็ถ่ายทอดออกมาในรูปของอารมณ์ขันเล็กๆ มากกว่าจะเป็นฉากโชว์พลัง อย่างไรก็ตาม คนดูสามารถเข้าถึงก้นบึ้งของตัวละครได้จากการสังเกต แววตาของพิทท์ ซึ่งเปิดเผยทุกอย่าง เช่น ในฉากที่เขาพาลูกสาวไปเลือกซื้อกีตาร์ ทั้งอารมณ์แปลกใจ เพราะเห็นเธอเล่นกีตาร์และร้องเพลงได้อย่างคล่องแคล่ว ไพเราะ และเศร้าใจเพราะไม่มีโอกาสได้รับรู้ถึงความเป็นไปเกี่ยวกับเธอได้มากเท่าที่เขาต้องการ (บิลลีหย่าร้างกับภรรยา ซึ่งได้สิทธิในการเลี้ยงดู) นั่นเองกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจครั้งใหญ่ของบิลลีในตอนท้ายเรื่อง... ลองเปรียบเทียบบท บิลลี บีน ใน Moneyball กับผลงานใน The Tree of Life แล้วคุณจะตระหนักว่าพิทท์เป็นนักแสดงที่ขอบเขตพรสวรรค์กว้างไกลแค่ไหน

ไม่มีความคิดเห็น: