วันพุธ, กุมภาพันธ์ 22, 2555

Oscar 2012: Best Actress


เกล็น โคลส (Albert Nobbs)

ความผูกพันของ เกล็น โคลส ต่อ Albert Nobbs เริ่มต้นขึ้นเมื่อเกือบสามสิบปีก่อน ตอนเธอไปทดสอบบทละครนอกบรอดเวย์เรื่อง The Singular Life of Albert Nobbs เกี่ยวกับผู้หญิงไอริชคนหนึ่งในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่ปลอมตัวเป็นผู้ชายไปทำงานในโรงแรมเพื่อความอยู่รอด ตอนนั้นโคลสพอจะมีชื่อเสียงในแวดวงละครอยู่บ้าง แต่หนังเรื่อง The World According to Garp ซึ่งทำให้เธอได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรกยังไม่ได้เข้าฉาย “ฉันอยากแสดงเป็นอัลเบิร์ต เพราะบทเรียกร้องให้คุณต้องนำทุกสิ่งทุกอย่างที่เรียนรู้จากการเป็นนักแสดงมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นท่าทางการเคลื่อนไหว น้ำเสียง หรือกระทั่งเครื่องแต่งกาย เพื่อสะท้อนให้คนดูสามารถสัมผัสถึงสภาวะภายในของตัวละครที่ไม่สุงสิงกับใคร เธอเป็นเหมือนบุคคลที่ไม่สมบูรณ์” นักแสดงสาวใหญ่ที่เคยเข้าชิงออสการ์มาแล้ว 5 ครั้งกล่าว

นับแต่นั้นเป็นต้นมา โคลสก็พยายามจะดัดแปลงละครให้กลายเป็นภาพยนตร์ แต่ประสบปัญหาเรื่องเงินทุนจนต้องเปลี่ยนตัวผู้กำกับจาก อิสต์วาน ซาโบ ซึ่งเธอเคยร่วมงานใน Meeting Venus มาเป็น โรดริโก การ์เซีย ซึ่งเธอเคยร่วมงานใน Things You Can Tell Just By Looking at Her และ Nine Lives เช่นเดียวกับบทที่ถูกปรับเปลี่ยนให้มีกลิ่นอายของความเป็นไอริชมากขึ้น คงไม่ผิดนักหากจะเรียกหนังเรื่องนี้ว่าเป็นโครงการในฝันของโคลส และเธอก็มีส่วนร่วมในการผลิตหลายส่วน ตั้งแต่การควบเก้าอี้ผู้อำนวยการสร้าง ร่วมเขียนบท นำแสดง ไปจนถึงการแต่งเพลง Lay Your Head Down ซึ่งถูกนำมาใส่ไว้ในช่วงเครดิตท้ายเรื่อง ขับร้องโดย ชาเนด โอ’คอนเนอร์

ความแตกต่างระหว่างฮูเบิร์ต (เจเน็ท แม็คเทียร์) กับอัลเบิร์ตอยู่ตรงที่ฝ่ายหลังใช้ชีวิตท่ามกลางความหวาดกลัวว่าคนจะจับได้ ความเจ็บปวดจากประสบการณ์อันเลวร้ายในอดีต แล้วซ่อนตัวอยู่หลังเครื่องแบบบริกรนานถึง 17 ปี “อัลเบิร์ตไม่เคยใช้ชีวิตแบบหญิงสาว” การ์เซียกล่าว “สภาพจิตใจภายในของเธอจึงเหมือนเด็กหญิงที่เก็บกดความรู้สึกไว้ คิดเพียงว่าต้องหลบซ่อน ต้องเอาตัวให้รอด ทำตัวไม่ให้เป็นที่สะดุดตาใครราวกับมนุษย์ล่องหน เธอต่างกับฮูเบิร์ต ซึ่งรู้ว่าตัวเองเป็นใครและต้องการอะไร”

เนื่องจากบุคลิกเก็บกดของตัวละคร เกล็น โคลส จึงเน้นการแสดงออกเพียงน้อยนิด ผ่านบุคลิกที่เกร็งฝืน ดูไม่เป็นธรรมชาติ และริมฝีปากที่ขบแน่นตลอดเวลา แต่ในบางฉากหนังก็เปิดโอกาสให้เธอปลดปล่อยตัวตนที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน ซึ่งโคลสก็ถ่ายทอดเสี้ยวเวลานั้นออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม เช่น ตอนอัลเบิร์ตแต่งกายด้วยชุดกระโปรงไปเดินชายหาด ท่าทางที่เก้งก้างบ่งบอกว่าเธอไม่คุ้นชินกับเครื่องแต่งกายของผู้หญิง ก่อนใบหน้าจะเริ่มผ่อนคลายความตึงเครียด เมื่อเธอตระหนักว่าไม่จำเป็นต้องกลัวคนจับได้อีกต่อไป มันเป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งที่คนดูได้เห็นตัวละครแย้มยิ้มอย่างปลดปล่อย “กลเม็ดในการแสดงบทนี้ คือ คุณจำเป็นต้องผสมความเบาสมองลงไปด้วย” โคลสกล่าว พร้อมกับเปิดเผยว่าได้แรงบันดาลใจจากตัวละคร เดอะ แทรมป์ ของ ชาร์ลี แชปลิน และตลกคณะละครสัตว์ เอ็มเม็ตต์ เคลลี โดยเฉพาะสไตล์การสวมกางเกงตัวโคร่ง รองเท้าใหญ่ยาว และท่าเดินแบะเท้าออกเล็กน้อย “ฉันคิดว่าตัวละครอย่างอัลเบิร์ตมีทั้งด้านตลกและโศกเศร้า เธอไม่เคยรู้สึกคุ้นเคยกับร่างกาย หรือเสื้อผ้าที่สวมใส่ เพราะพวกมันไม่อาจสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของเธอได้”


วีโอลา เดวิส (The Help)

หลายคนอาจมองเห็นปัญหาจุกจิกในหนังเรื่อง The Help ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดลักลั่นทางประวัติศาสตร์ที่อาจทำลายความน่าเชื่อถือของหนัง หรือตัวละครบางตัวที่ค่อนข้างแบนราบ และหนักมือในการนำเสนอ กระนั้นสิ่งหนึ่งที่ทุกคนดูเหมือนจะเห็นพ้องต้องกัน คือ การแสดงอันแสนวิเศษของ วีโอลา เดวิส ในบทพี่เลี้ยงเด็กผิวดำทางตอนใต้ของสหรัฐระหว่างช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งช่วยมอบน้ำหนัก ความสมจริง ตลอดจนอารมณ์สะเทือนใจให้กับหนังทั้งเรื่อง... และนั่นเป็นสิ่งที่ The Help ต้องการอย่างมาก

ตลอดช่วงเวลาหลายปี ไม่ว่าจะเป็นบทคนรับใช้ใน Far From Heaven คุณแม่ใน Doubt หรือภรรยาในละครเวทีบรอดเวย์เรื่อง Fences เดวิสได้สร้างชุดตัวละคร ที่พยายามจะยึดมั่นในหลักเหตุผลและความภาคภูมิใจ แม้ว่าสภาพแวดล้อมจะกดดันเธอให้เสียศูนย์มากแค่ไหนก็ตาม เช่นเดียวกัน เอบิลีน คลาก ใน The Help เป็นตัวละครซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยความเศร้า และความเหนื่อยล้า ทั้งจากภาวะกดขี่ทางสังคมในยุคที่การเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำกำลังเข้มข้น และจากข้อเท็จจริงที่ว่าเธอต้องหารายได้ด้วยการเลี้ยงดูเด็กชายหญิงผิวขาว จนไม่มีเวลาอยู่ดูแล หรือเฝ้ามองลูกๆ ของเธอเองเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เวลาเธอเดิน คนดูแทบจะสังเกตเห็นสนิมเกาะกรังอยู่บนแผ่นหลัง หรือหัวเข่าเธอ เมื่อเธอขึ้นรถเมล์ไม่ทัน เพราะสกีทเทอร์ (เอ็มมา สโตน) ต้องการจะขอคุยด้วย ดวงตาและหัวไหล่ของเธอบอกให้เรารับรู้ว่าเอบิลีนต้องจ่ายราคาสำหรับเวลาที่สูญเสียไปนั้น การควบคุมร่างกาย น้ำเสียงที่ทุ้มต่ำ และความมุ่งมั่นในการค้นหาความจริงจากก้นบึ้งตัวละครของเดวิส ช่วยเพิ่มความหนักแน่นและ “ความจริง” ให้กับหนัง

เดวิสค้นคว้าเพื่อเข้าถึงตัวละครตั้งแต่ก่อนเปิดกล้องด้วยการนั่งดูสารคดีเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันทางสีผิวเรื่อง Eyes on the Prize และอ่านหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับยุคสมัยนั้น “ฉันอ่านทุกอย่างที่พอจะหาได้เพื่อช่วยวาดภาพในหัวว่าการใช้ชีวิตในยุคนั้นเป็นอย่างไร” เธอกล่าว “เพราะฉันไม่อยากให้ทัศนะแบบศตวรรษที่ 21 ของตัวเองหลุดไปอยู่ในตัวเอบิลีน แล้วเปลี่ยนเธอให้กลายเป็นตัวละครที่ฉันอยากให้เป็น แทนตัวตนจริงๆ ของเธอตามท้องเรื่อง”

แน่นอน The Help ถูกกดดันจากหลายฝ่าย ทั้งจากสังคมคนผิวสี ทั้งจากแฟนหนังสือ ทั้งจากคนจริงที่เคยใช้ชีวิตแบบตัวละครในเรื่อง แต่เดวิส เช่นเดียวกับเอบิลีน เลือกจะยืนเคียงข้างตัวหนังอย่างเหนียวแน่น “ฉันรู้ว่าเราต้องโดนวิพากษ์ และเชื่อเถอะว่าฉันเข้าใจดี พวกเขาเบื่อที่จะเห็นภาพคนผิวดำในบทคนรับใช้ที่ไร้การศึกษา และพูดจาผิดหลักไวยากรณ์ แต่อย่าลืมว่าผู้หญิงเหล่านั้นมีตัวตนอยู่จริง พวกเธอคือแม่ คือยายของเรา คือคนที่ต้องจ่ายราคาให้กับอิสรภาพที่เรากำลังดื่มด่ำอยู่ในปัจจุบัน” นักแสดงผิวสีวัย 46 ปีกล่าว “คุณต้องมองข้ามภาพลักษณ์ภายนอก เพราะฉันคิดว่าเอบิลีนเป็นตัวละครที่กล้าหาญมาก ฉันหลงใหลบุคลิกเรียบง่ายและนิ่งเงียบของเธอ รู้สึกเหมือนเธอเป็นคนที่ฉันเคยรู้จัก หาใช่แค่ส่วนหนึ่งของพล็อต และถ้าฉันทำสำเร็จ ฉันหวังว่าคนดูจะสะเทือนใจเมื่อได้เห็นชีวิตของเธอโลดแล่นอยู่บนจอ” การถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งที่สองของเดวิสคงช่วยพิสูจน์แล้วว่าเธอประสบความสำเร็จในภารกิจดังกล่าวมากแค่ไหน


รูนีย์ มารา (The Girl with the Dragon Tattoo)

ต้องใช้เวลานานสองเดือนครึ่ง ผ่านการทดสอบหน้ากล้องทั้งหมดห้าครั้ง กว่า รูนีย์ มารา จะได้บทนำในหนังเรื่อง The Girl with the Dragon Tattoo มาครอง ท่ามกลางการแข่งขันอันเข้มข้น เพราะมันเป็นบทที่ใครก็อยากได้ แต่ทุกคนล้วนมีข้อจำกัดที่ผู้กำกับ เดวิด ฟินเชอร์ ไม่ให้ผ่าน เช่น นาตาลี พอร์ตแมน เพิ่งปิดหนังกล้องหนังสามเรื่องติดต่อกัน เธอดูเหนื่อยอ่อนเกินไป สการ์เล็ตต์ โจฮันสัน ดูเซ็กซี่เกินไปเหมือน “มาริลีนขี่รถมอเตอร์ไซค์” ส่วนดาวรุ่งจาก Winter’s Bone เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ก็ตัวสูงเกินไป

“พวกเขาเรียกฉันไปทดสอบหน้า ต่อมาอีกสัปดาห์ ฉันต้องไป แอล.เอ. เพื่อลองทำผม แต่งหน้า และขี่มอเตอร์ไซค์ ทุกวันพวกเขาจะมีคำขอใหม่ๆ ให้ฉันต้องทำอยู่เรื่อย พอถึงตอนเช้าวันจันทร์ เดวิดโทรมา ตอนนั้นฉันเกือบจะทนไม่ไหวอยู่แล้ว เลยถามไปว่า คุณอยากให้ฉันทำผมแบบไหนอีกเหรอ แต่เขากลับบอกว่าฉันได้บท ทั้งๆ ที่ฉันยังไม่ได้อ่านบทเลยด้วยซ้ำ ” มาราเล่า พลางเสริมว่า เธออ่านนิยายทั้งสามภาคก่อนไปทดสอบหน้ากล้อง พยายามลดน้ำหนัก และค้นคว้าหาข้อมูลอย่างหนัก แต่คิดว่าตัวเองคงไม่มีโอกาส อันที่จริง เธอไม่แปลกใจกับความจุกจิกดังกล่าวมากนัก เพราะเธอเคยร่วมงานกับนักนิยมความสมบูรณ์แบบอย่างฟินเชอร์มาก่อนใน The Social Network และเคยถ่ายทำฉากเปิด ซึ่งเธอต้องยิงรัวบทสนทนากับ เจสซี ไอเซนเบิร์ก ซ้ำไปซ้ำมามากถึง 99 เทค!

ห้าวันหลังทราบข่าวดี มาราก็เดินทางไปกรุงสต๊อคโฮล์ม แล้วเริ่มต้นฝึกซิ่งมอเตอร์ไซค์ เข้าคลาสฝึกสำเนียง และเรียนมวยไทย เพื่อสวมวิญญาณ ลิสเบ็ธ ซาลานเดอร์ เธอต้องย้อมคิ้ว สักลายมังกร (ชั่วคราว) ที่หลัง ย้อมผมดำ และเจาะปาก จมูก คิ้ว และหัวนม “ฉันไม่เคยกระทั่งเจาะหูด้วยซ้ำ” นักแสดงสาววัย 26 ปีกล่าวด้วยน้ำเสียงที่เหมือนยังช็อกไม่หาย แต่การแสดงเป็นขบถสาวไบเซ็กช่วล หาได้อยู่แค่รูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น เพราะมารายังถ่ายทอดบุคลิกแข็งแกร่ง ไม่ยอมคนของตัวละครได้อย่างชัดเจน โดยฉากเด่นคงหนีไม้พ้นตอนที่เธอเดินทางไปล้างแค้นนักข่มขืนอย่างเจ็บแสบด้วยวิธีเกลือจิ้มเกลือ กระนั้นในช่วงท้ายเรื่อง คนดูสามารถสัมผัสได้ว่าทัศนคติไม่แคร์ หรือเกรงกลัวใครหน้าไหนของเธอนั้นเป็นเหมือนกำแพงสำหรับปกคลุมบาดแผลและความโหดร้ายของชีวิต ซึ่งค่อยๆ เปิดเผยให้เห็นทีละน้อย เมื่อลิสเบ็ธค้นพบว่า ไมเคิล (เดเนียล เคร็ก) เป็นหนึ่งในผู้ชายไม่กี่คนที่เธอสามารถไว้วางใจได้

มอบในแวบแรก คุณอาจไม่คิดว่ามาราเหมาะกับบทนี้ เพราะเธอเติบโตมาในครอบครัวเศรษฐี (ชื่อของเธอได้มาจากคุณปู่กับคุณตา ซึ่งต่างก็เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการอเมริกันฟุตบอล อาร์ต รูนีย์ ผู้ก่อตั้งทีม พิทส์เบิร์ก สตีลเลอร์ และ ทิม มารา ผู้ก่อตั้งทีม นิวยอร์ก ไจแอนท์) และมีบุคลิกสุภาพเรียบร้อย แต่สำหรับมารา เธอกลับคิดว่าบทนักศึกษาสาวที่ฉลาด สุขุม และพูดจาตรงไปตรงมาใน The Social Network “ห่างไกล” จากตัวเธอมากกว่าบทสาวพังค์ที่ไม่ชอบสุงสิงกับผู้คน “สิ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจเลือกเธอ คือ ทัศนคติแบบกัดไม่ปล่อย ซึ่งนั่นถือเป็นคุณสมบัติสำคัญของลิสเบ็ธ ลืมน้ำหนัก 98 ปอนด์ ผมดำ รอยสัก และห่วงต่างๆ ตามร่างกายไปได้เลย ผมต้องการคนที่เบรกไม่อยู่ แล้วเดินหน้าเข้าชนลูกเดียว” ฟินเชอร์กล่าว “รูนีย์อาจเป็นลูกคุณหนู แต่เธอไม่ยั่นงานหนัก ในการทดสอบหน้ากล้อง เรากดดันเธอสารพัด แต่ไม่มีอะไรห้ามปรามเธอได้ นั่นทำให้เธอกลายเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่ง”


เมอรีล สตรีพ (The Iron Lady)

คุณจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรหลังจากสวมวิญญาณเป็น จูเลีย ไชลด์ แม่ครัวที่เด็ดเดี่ยวและลุกขึ้นมาเปลี่ยนความคิดของทุกคนเกี่ยวกับการทำอาหาร สำหรับ เมอรีล สตรีพ ทางเลือกของเธอ คือ การรับบทเป็น มาร์กาเร็ท แธทเชอร์ ผู้หญิงที่เด็ดเดี่ยวยิ่งกว่า จอมบงการยิ่งกว่า และลุกขึ้นมาเปลี่ยนความคิดของทุกคนเกี่ยวกับประเทศอังกฤษ แน่นอน เมื่อเราพูดถึง เมอรีล สตรีพ นักแสดงที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ สุดท้ายบทสรุปที่เหมือนกัน ได้แก่ การเลียนแบบทุกรายละเอียดได้เหมือนจริงจนน่าขนลุก ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ รอยยิ้ม หรือท่าทางการเดิน จนอาจกล่าวได้ว่าเธอเหมือนแธตเชอร์ยิ่งกว่าตัวแธตเชอร์เองเสียอีก

สตรีพทำการบ้านอย่างหนักก่อนหนังจะเปิดกล้อง เธอถึงขนาดรู้ว่าแธตเชอร์ใส่อะไรไว้ในกระเป๋าถือบ้าง และจากการค้นคว้าหาข้อมูลทำให้เธอได้ข้อสรุปว่าแธตเชอร์เป็นนักเลียนแบบเช่นเดียวกัน จากการที่เธอเปิดโอกาสให้ตัวเองถูกแปลงโฉมและเปลี่ยนวิธีการพูดเพื่อให้เหมาะสมกับการรับบทผู้นำประเทศ กล่าวอีกอย่างได้ว่า สตรีพรับบทเป็นผู้หญิงที่พยายามจะสวมบทเป็นผู้นำท่ามกลางสังคมชายเป็นใหญ่อีกทอดหนึ่ง ซึ่งความซับซ้อนดังกล่าวหาได้คณามือช่างเทคนิคอย่างสตรีพแต่อย่างใด เธอเลียนแบบโทนเสียงที่ถูกขัดเกลาให้ฉะฉาน แข็งกร้าวได้อย่างเป็นธรรมชาติ ราวกับปราศจากความพยายามใดๆ “เมอรีลมีหูที่จับรายละเอียดได้ดีเยี่ยม” ผู้กำกับ ฟิลลิเดีย ลอยด์ กล่าวถึงดารานำของเธอ “กะเทยชาวอังกฤษชอบเลียนแบบเสียงของแธตเชอร์ในการแสดง แต่ไม่เคยมีใครทำได้เป๊ะเท่าเมอรีลมาก่อน”

นอกจากนี้ เธอยังเลียนแบบท่าทางเยือกเย็นดุจนางพญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงบั้นปลายอาชีพผู้นำ เมื่อแธตเชอร์สนุกกับการฉีกหน้าเหล่ารัฐมนตรี (ซึ่งเป็นผู้ชายล้วน) ให้อับอาย รวมถึงกลิ่นอายแห่งความเซ็กซี่ได้อย่างหมดจด ที่สำคัญ การที่หนังเริ่มต้นขึ้นในยุคปัจจุบัน (ก่อนจะตัดแฟลชแบ็คเป็นช่วงๆ ไปยังนาทีสำคัญทางประวัติศาสตร์) ขณะแธตเชอร์อายุมาก และเริ่มฟั่นเฟือนจนเห็นภาพหลอนของอดีตสามีที่เสียชีวิตไปแล้ว (จิม บรอดเบนท์) ทำให้ The Iron Lady เป็นหนังที่เล่าถึงการขึ้นสู่อำนาจมากพอๆ กับความตำต่ำ และทำให้สตรีพได้เผยอีกด้านของตัวละครที่เปราะบาง อ่อนแอ ตลอดจนความรู้สึกว่าตัวเองไร้ความสำคัญ

“ฉันนึกถามตัวเองว่า มันจะเป็นอย่างไร ถ้าผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเคยยืนแกร่งอยู่บนเวทีโลก มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ของประเทศ วันหนึ่งกลับกลายเป็นเหมือนมนุษย์ล่องหนที่ไม่มีใครสนใจ” อาบี มอร์แกน มือเขียนบทกล่าวถึงแรงบันดาลใจหลังจากได้อ่านบทความที่เขียนโดย คาโรล ลูกสาวของแธตเชอร์ (ในหนังรับบทโดย โอลิเวียร์ โคลแมน) ตีพิมพ์ในนิตยสารฉบับหนึ่ง เกี่ยวกับนาทีที่เธอตระหนักว่าความทรงจำของแม่เริ่มจะหลุดลอย “ฉันคิดว่าเราทุกคนต้องเผชิญความตายขณะทำเรื่องสามัญธรรมดาอย่างล้างถ้วยชา ไม่ว่าจะเป็นโอบามา หรือชายจรจัดข้างถนน เราจากไปอย่างเงียบๆ โดยไม่อาจเอาอะไรติดตัวไปได้” ฉากที่สะท้อนสัจธรรมอันเจ็บปวดดังกล่าวได้ชัดเจน คือ ฉากเปิดเรื่อง เมื่อแธตเชอร์เดินออกไปซื้อของในร้านชำแห่งหนึ่งโดยไม่มีใครจดจำได้ สุดท้ายแล้วอดีตผู้นำประเทศนานกว่าหนึ่งทศวรรษก็กลายเป็นแค่หญิงชราธรรมดาๆ คนหนึ่ง


มิเชลล์ วิลเลียมส์ (My Week with Marilyn)

หลายคนนึกตั้งข้อกังขา เมื่อครั้งได้ข่าวว่า มิเชลล์ วิลเลียมส์ จะมารับบทเป็น มาริลีน มอนโร ใน My Week with Marilyn หนังที่เล่าถึงเหตุการณ์เบื้องหลังการถ่ายทำหนังเรื่อง The Prince and the Showgirl ซึ่งมอนโรต้องประกบนักแสดงเจ้าบทบาทชาวอังกฤษ ลอว์เรนซ์ โอลิเวียร์ เนื่องจากโดยรูปกายภายนอกแล้ว วิลเลียมส์ไม่ได้คล้ายคลึงกับมอนโรเท่าใดนัก และที่สำคัญ เธอโด่งดังขึ้นมาจากบทหญิงสาวบ้านๆ ที่อมทุกข์กับชีวิตน่าผิดหวัง ตั้งแต่ Brokeback Mountain ซึ่งทำให้เธอได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก จนถึง Wendy and Lucy และ Blue Valentine ซึ่งทำให้เธอเข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงเมื่อปีก่อน จะเหมาะหรือในการเลือกเธอมารับบทซูเปอร์สตาร์ระดับโลก ที่ตรึงคนดูด้วยเสน่ห์ เอกลักษณ์โดดเด่น และส่วนผสมอันลงตัวระหว่างความไร้เดียงสากับความเซ็กซี่

แต่ทันทีที่หนังเข้าฉาย คำครหาก็จางหายไปอย่างรวดเร็ว เพราะไม่เพียงวิลเลียมส์จะตีโจทย์ “ความเป็นมาริลีน” ที่ทำให้คนดูหนังทั่วโลกตกหลุมรักได้ชนิดแตกกระจุยเท่านั้น (ฉากงานแถลงข่าวเป็นข้อพิสูจน์ชั้นดี) เธอยังล้วงลึกถึงแง่มุมที่หลายคนอาจไม่ตระหนักอีกด้วย นั่นคือ ด้านที่เปราะบาง ขาดความมั่นใจ และโหยหาความรักของ นอร์มา จีน เบเกอร์ (มอนโรเดินทางมาถ่ายหนังพร้อมครูการแสดง พอลลา สตราสเบิร์ก ซึ่งทำหน้าที่เหมือนพี่เลี้ยงกึ่งนักพูดเสริมสร้างกำลังใจ ) การแสดงของเธอไม่ใช่ความพยายามจะเลียนแบบมาริลีน (ยอมรับเถอะว่าไม่มีใครสามารถทำได้หรอก) แต่เป็นการตีความให้เห็นเสน่ห์ของมาริลีนซึ่งตราตรึงใจคนดูทุกยุคทุกสมัย นี่จึงถือเป็นหนังเรื่องแรกที่วิลเลียมส์ต้องอาศัยทักษะการแสดงมากพอๆ กับพลังดารา และเธอก็ทำสำเร็จอย่างงดงาม เปล่งประกายทุกคราเมื่ออยู่บนจอจนคนดูไม่อาจละสายตาได้ เช่นเดียวกับ มาริลีน มอนโร... แม้จะต้องเล่นท่ายาก แต่งานนี้เรียกได้ว่าวิลเลียมส์ “เอาอยู่” จริงๆ

น่าแปลกที่ตัวจริงของนักแสดงสาวร่างเล็กวัย 31 ปีผู้นี้กลับแตกต่างจากบทที่เธอมักจะรับเล่นค่อนข้างมาก บุคลิกหัวแข็ง และความมั่นใจในตัวเองทำให้เธอประกาศปลดแอกจากพ่อแม่ตั้งแต่อายุ 15 เพราะ “ฉันไม่อยากให้ใครมาคอยบอกว่าต้องทำอะไร” เธอดูเหมือนจะรู้แน่ชัดว่าต้องการอะไร และมั่นใจว่าสามารถดูแลตัวเองได้ นั่นเป็นเหตุผลให้เธอเริ่มต้นเข้าวงการบันเทิง แล้วสร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักตั้งแต่อายุ 18 จากซีรีย์ Dawson’s Creek (1998) รวมไปถึงการสร้างสัมพันธ์กับ ฮีธ เลดเจอร์ และมีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคน (เลดเจอร์เสียชีวิตในปี 2008 หลังจากทั้งสองแยกทางกัน)

อย่างไรก็ตาม อิสรภาพที่ได้มาย่อมต้องแลกกับการสูญเสียบางอย่าง เช่น การศึกษาตามระบบ “ทุกวันนี้ความสุขในชีวิตอย่างหนึ่งของฉันคือการได้ร่วมงานกับ เจมส์ ฟรังโก้ (เธอกำลังถ่ายหนังเรื่อง Oz: The Great and Powerful ภาคก่อนหน้าของ The Wonderful Wizard of Oz ร่วมกับฟรังโก้) ผู้ไม่เคยสูญเสียอะไรเลย” วิลเลียมส์กล่าว “เขาขวนขวายที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา และกำลังจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ฉันชอบถามโน่นถามนี่เขาทั้งวัน เช่น มันหมายความว่าอย่างไร หรือคุณตีความบทกวีชิ้นนี้อย่างไร ฉันได้รับการศึกษาจากประสบการณ์และการอ่านหนังสือ”

ไม่มีความคิดเห็น: