วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 17, 2555

Oscar 2012: Best Supporting Actress


เบเรนิซ เบโจ (The Artist)

ถึงแม้จะเล่นหนังฝรั่งเศสมาแล้วมากมายหลายเรื่อง แต่สำหรับตลาดหนังกระแสหลัก ชื่อของ เบเรนิซ เบโจ อาจไม่คุ้นหูนักดูหนังมากนัก โดยบางคนอาจจำเธอได้จากบทสมทบในหนังฮอลลีวู้ดเรื่อง A Knight’s Tale เมื่อ 10 ปีก่อน แต่ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไปหลังการปรากฏตัวขึ้นของ The Artist หนังเล็กๆ จากฝรั่งเศสที่ทำลายกำแพงแห่งภาษาด้วยการใช้ภาพและดนตรีประกอบเล่าเรื่องเป็นหลัก และแน่นอน บทของเบโจในหนังเรื่องนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์เกินห้ามใจ และชวนฝันแบบเดียวกับซินเดอเรลลา

“เขา (ผู้กำกับ มิเชล ฮาซานาวิเชียส สามีของเบโจ) ได้แรงบันดาลใจทั้งหมดจากฉัน” เบโจเล่าพร้อมรอยยิ้มถึงที่มาของตัวละคร “เขาบอกว่า เปปปี้ มิลเลอร์ เป็นแฟนตาซีของฉันในหัวเขา แน่ล่ะ เพราะตัวจริงของฉันไม่ได้สมบูรณ์แบบ” ตามท้องเรื่องเปปปี้เป็นหญิงสาวสวย ร่าเริ่ง เปี่ยมชีวิตชีวา และมีทักษะการเต้นชนิดหาตัวจับยาก ที่สำคัญ คนดูจะไม่ได้ยินเสียงเธอพูดเลยสักคำ ทั้งนี้เพราะ The Artist ถ่ายทำในลักษณะเดียวกับหนังเงียบยุคก่อน... หรือว่านั่นเป็นการบอกใบ้บางอย่างของฮาซานาวิเชียสต่อภรรยา “ฌอง (ดูฌาร์แดง) ก็พูดแบบเดียวกัน” นักแสดงสาวชาวฝรั่งเศสหัวเราะ “เขาบอกว่ามิเชลคงอยากให้ฉันเป็นใบ้”

การที่หนังถ่ายทำแบบหนังเงียบโดยตลอดสร้างความกดดันไม่น้อยให้กับนักแสดงนำหญิง “ช่วงสองสามวันแรกหลังเปิดกล้อง ฉันประหม่าจนทำอะไรแทบไม่ถูก วันที่ต้องถ่ายฉากใหญ่ฉากแรก ฉันรู้สึกเหมือนเป็นวันทดสอบหน้ากล้อง เพราะการเป็นภรรยาผู้กำกับทำให้คุณตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า ในสายตาของทุกคน นั่นเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ฉันได้รับบทนี้ และพวกเขาอยากเห็นว่าคุณมีดีแค่ไหน ด้วยเหตุนี้ พอฉันเดินทางมาถึงกองถ่ายวันนั้น ความรู้สึกแรก คือ นี่เป็นเวลา ที่ฉันจะพิสูจน์กับทุกคนว่าฉันเป็นนักแสดง!”

ผลลัพธ์บนจอ คำชื่นชมที่ตามมา ตลอดจนการเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรกคงจะช่วยพิสูจน์แล้วว่าเบโจเหมาะกับบทแค่ไหน เธอเป็นธรรมชาติกับการแสดง “หนังเงียบ” อย่างมาก ไม่ว่าจะพิจารณาจากดวงตากลมโต บ่งบอกความรู้สึกหลากหลาย มือเท้าที่เคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่วเพื่อช่วยสื่อสารแทนบทสนทนา โดยฉากที่เรียกรอยยิ้มของคนดูได้ไม่ยาก เป็นตอนที่เธอสอดแขนเข้าไปในเสื้อสูทของ จอร์จ วาเลนทีน (ดูฌาร์แดง) แล้วทำเหมือนมันเป็นแขนของเขาที่โอบกอดเธออยู่ นอกจากนี้ เบโจยังเปิดเผยให้เห็นด้านที่อ่อนหวาน งดงามของเปปปี้ได้อย่างเป็นลื่นไหล ลุ่มลึก ชนิดที่นักแสดงหญิงด้อยประสบการณ์และขาดความมั่นใจไม่สามารถทำได้

เบโจย้ายจาก บัวโนส ไอเรส มายังปารีสพร้อมกับพ่อแม่ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เริ่มเข้าวงการเมื่ออายุ 17 ปี และพบรักกับฮาซานาวิเชียสเมื่อหกปีก่อนในกองถ่ายหนังล้อเลียน เจมส์ บอนด์ ของฝรั่งเศสเรื่อง OSS 117: Cairo, Nest of Spies (ซึ่งนำแสดงโดยดูฌาร์แดง) พวกเขามีลูกด้วยกันสองคน ในหนังเรื่อง The Artist เธออาจแสดงเป็นหญิงสาวที่อายุน้อยกว่าตัวจริงหลายปี แต่ภารกิจครอบครัว ตลอดจนการเดินสายโปรโมตหนัง ทำให้นักแสดงสาววัย 35 ปี เริ่มรู้สึกใกล้เคียงกับอายุจริงมากขึ้น “ฉันคงเล่นเป็นหญิงสาวสุดน่ารักได้อีกไม่นาน ซึ่งฉันก็โอเคกับมันนะ อันที่จริง ฉันแทบรอให้ตัวเองแก่ไม่ไหวแล้ว มิเชลจะได้เขียนบทให้ฉันเล่นเป็นคุณยายขี้บ่น” เธอยิ้ม “นั่นเป็นแฟนตาซีของฉัน และเขาก็รู้ดี”


เจสซิก้า แชสเทน (The Help)

คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่า 2011 คือ ปีแห่ง เจสซิก้า แชสเทน นักแสดงสาวโนเนมจากแวดวงโทรทัศน์ที่กลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง ซึ่งใครๆ ก็พูดถึงและอยากร่วมงานด้วย จากผลงานหนังที่เข้าฉายถึง 7 เรื่องภายในเวลา 6 เดือน ที่สำคัญ การแสดงของเธอแทบทุกชิ้นล้วนกวาดคำชมจากนักวิจารณ์อย่างล้นหลาม ถึงขนาดได้รับสมญานาม “เมอรีล สตรีพ คนใหม่” และ “เคท บลันเช็ตต์ เวอร์ชั่นอเมริกัน”

ในความเป็นจริง ชื่อของแชสเทนเริ่มอินเทรนด์ตั้งแต่สี่ปีก่อนหน้า เริ่มต้นจาก อัล ปาชิโน เลือกเธอมารับบทเด่นในหนังซึ่งยังไม่ออกฉาย เรื่อง Wilde Salome ดัดแปลงจากละครเรื่องเดียวกันที่เธอนำแสดง จากนั้นนักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์จาก Scent of a Woman ก็กล่าวชื่นชมเธอให้ เทอร์เรนซ์ มาลิก ฟัง ส่งผลให้ผู้กำกับระดับตำนานเลือกเธอมารับบทนำร่วมกับ แบรด พิทท์ ใน The Tree of Life (รวมถึงหนังเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ นำแสดงโดย เบน อัฟเฟล็ค และ ราเชล แม็คอดัมส์) จากนั้นมาลิกก็กระซิบเสียงชื่นชมต่อไปยัง สตีเวน สปีลเบิร์ก ซึ่งบริษัทของเขา (ดรีมส์เวิร์คส์) กำลังสร้างหนังเรื่อง The Help และผู้กำกับ เจฟฟ์ นิโคลส์ ที่กำลังควานหาดารานำให้กับ Take Shelter นอกจากนี้ แซม วอร์ธิงตัน ผู้ร่วมงานกับแชสเทนใน The Debt ยังเกลี้ยกล่อมผู้กำกับ อามี คานาน มาน ให้เลือกเธอมาเล่นประกบเขาใน Texas Killing Fields โดยบอกว่า “เชื่อผมสิ เธออ่อนหวาน นุ่มนวล และสามารถสวมบทเป็นอะไรก็ได้”

คำพูดดังกล่าวไม่ได้เกินจริงเลย หากคุณได้ชมหนังเรื่อง The Tree of Life และ The Help ซึ่งแชสเทนกลืนกับบทจนคนดูแทบจำไม่ได้ว่าตัวละครทั้งสองแสดงโดยดาราคนเดียวกัน ในกรณีของเรื่องหลัง ส่วนหนึ่งอาจเป็นพราะแชสแทนต้องลงทุนเพิ่มน้ำหนักถึง 15 ปอนด์ และย้อมผมเพื่อให้เหมาะกับบท ซีเลีย ฟุต สาวบลอนด์ที่มีรูปร่างสไตล์ มาริลีน มอนโร และบุคลิกแบบชนชั้นล่าง เธอจึงโดนบรรดาคุณนายเจ้ายศเจ้าอย่างในละแวกชนชั้นกลางรังเกียจเดียดฉันท์ แต่กลับผูกมิตรกับคนรับใช้ผิวดำได้อย่างรวดเร็ว (เพื่อเป็นการเตรียมตัว แชสเทนอ่านหนังสือชีวประวัติของมอนโร และดูหนังทุกเรื่องของเธอเรียงตามลำดับที่ออกฉาย)

สำหรับสาวรูปร่างผอมบางที่คลั่งไคล้โยคะและไม่ทานเนื้อสัตว์ การเพิ่มน้ำหนักไม่ใช่เรื่องง่ายเลย “ฉันอยากได้รูปร่างแบบผู้หญิงเซ็กซี่ เห็นส่วนเว้าส่วนโค้งชัดเจน ฉันเลยต้องทานถั่วเหลืองจำนวนมาก เพราะมันมีเอสโตรเจนผสมอยู่” เธอเล่า “วิธีการของฉัน คือ เหมาไอศกรีมถั่วเหลืองมาเป็นถัง เอาเข้าไมโครเวฟ แล้วดื่มแทนน้ำ มันขยะแขยงจะตาย แต่ได้ผล ไม่เชื่อก็ดูนมของฉันในหนังเรื่องนี้สิ” อารมณ์ขันเป็นสิ่งที่คนดูไม่คาดคิดว่าแชสเทนจะถนัด หลังจากเริ่มคุ้นเคยเธอกับบทหนักๆ เช่น แม่ที่สูญเสียลูก หรือเมียที่เฝ้ามองสามีกำลังสูญเสียสติ แต่บทซีเลียใน The Help พิสูจน์ให้เราเข้าใจว่าเธอสามารถสวมบทเป็นอะไรก็ได้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นดรามา หรือคอมเมดี้ และการแสดงที่เข้าขากันอย่างแนบเนียนระหว่างเธอกับ อ็อกเทเวีย สเปนเซอร์ มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ The Help สร้างความบันเทิงและความสะเทือนใจได้พร้อมๆ กัน


เมลิสสา แม็คคาร์ธีย์ (Bridesmaids)

ในฮอลลีวู้ด มีการโจรกรรมหลากหลายรูปแบบด้วยกัน มันอาจเกิดขึ้นกับแผนกบัญชีในลักษณะของการปลอมแปลงเอกสาร หรือกับแผนกเขียนบทผ่านการหยิบยืมพล็อต ตัวละครที่ถูกผลิตซ้ำไปมาจนเริ่มช้ำ หรือรูปแบบที่พบไม่บ่อย แต่ชวนให้รู้สึกตื่นเต้นไม่หาย นั่นคือ เมื่อนักแสดงที่ไม่ได้โด่งดัง หรือเป็นที่ยอมรับมากมาย ได้บทชั้นยอดที่เข้าทาง แล้วถ่ายทอดมันได้อย่างยอดเยี่ยมจนขโมยหนังทั้งเรื่องนั้นไปครอง การโจรกรรมดังกล่าวปรากฏให้เห็นในหนังตลกสุดฮิตแห่งปีเรื่อง Bridesmaids จากการแสดงของ เมลิสสา แม็คคาร์ธีย์ นักแสดงตลกมากประสบการณ์ ในบทเมแกน สาวร่างใหญ่ที่มั่นใจในตัวเอง และชื่นชอบเรื่องบนเตียงไม่แพ้สาวร่างเล็กคนไหน เธอเป็นผู้หญิงประเภทเดียวกับตัวละครใน Sex and the City ซึ่งรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และกล้าจะพูดออกมาตรงๆ โดยไม่หวั่นเกรงใคร

แม็คคาร์ธีย์เล่นสนุกกับภาพลักษณ์ของหญิงอ้วนคลั่งเซ็กซ์ ซึ่งโดยกรอบสังคมชายเป็นใหญ่แล้วคนดูควรจะรู้สึกขยะแขยง แต่เสน่ห์ และการขุดลึกถึงความจริงเบื้องหลังตัวละครทำให้เธอสามารถคว้าหัวใจคนดูมาครองในทุกฉาก ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เธอสารภาพประสบการณ์อันเลวร้ายในช่วงมัธยม หรือเมื่อเธอประกาศว่าสามารถยกขาขึ้นมาอยู่เหนือหัวได้ “เมลิสสาไม่มีอะไรเหมือนเมแกนเลยสักนิด” โรส เบิร์น หนึ่งในทีมนักแสดงของหนังกล่าว “นี่ไม่ใช่การเลือกคนมาเล่นเป็นตัวเอง แต่เป็นการแสดงที่แท้จริง เมลิสสามีความหวานแบบผู้หญิง แต่บุคลิกของเมแกนเกือบจะโผงผางเหมือนโค้ชนักกีฬา เสียงของเธอเต็มไปด้วยพลัง หนักแน่น สำหรับฉัน เสียงหัวเราะเกิดขึ้นจากความตึงเครียดระหว่างไอเดียร้ายกาจของเมแกน กับวิธีที่เธอพูดสิ่งเหล่านั้นออกมาด้วยความมั่นใจและรวดเร็ว”

หลายคนตั้งฉายาให้ Bridesmaids ว่าเป็นหนังตลกในแนว gross-out สำหรับผู้หญิง แม้ว่าความจริงแล้วหนังทั้งเรื่องจะมีฉากที่เข้าข่าย “เปรอะเปื้อน” แค่ฉากเดียว นั่นคือ ในร้านเช่าชุดเจ้าสาว เมื่อตัวละครต้องขับถ่ายบนอ่างล้างหน้า (หรือบนถนน ในกรณีของ มายา รูดอล์ฟ) เพราะอาหารเป็นพิษขั้นรุนแรง “ฉันไม่คิดว่าฉากนั้นเป็นฉากตลกสกปรกนะ” แม็คคาร์ธีย์กล่าว “สำหรับพวกเรามันเป็นฉากสยองขวัญ เมื่อสถานการณ์ดำเนินมาถึงจุดที่เลวร้ายที่สุด!”

ก่อนหน้านี้เครดิตที่สร้างชื่อเสียงให้ดาวตลกสาวมากที่สุด คือ บทในซีรีย์ชุด Gilmore Girls นาน 7 ปี ตามมาด้วยซีรีย์ชุด Samantha Who? อีก 2 ปี ประสบการณ์ดังกล่าวทำให้เธอไม่เกรงกลัวที่จะดั้นสด แล้วคิดมุกใหม่ๆ ระหว่างการถ่ายทำ เบน ฟัลโคน สามีของแม็คคาร์ธีย์ ซึ่งร่วมแสดงในหนัง เล่าว่า “บทเป็นแค่โครงร่างคร่าวๆ ฉากบนเครื่องบินนั้นเต็มไปด้วยการดั้นสดของนักแสดง ผมเผลอหลุดหัวเราะจนต้องถ่ายเทคใหม่นับครั้งไม่ถ้วนเลยทีเดียว ตอนหนึ่งในบทระบุให้เมแกนพูดแค่ว่า “เราไปห้องน้ำ แล้วไปปลดปล่อยของเหลวกันเถอะ” หลังจากนั้นเธอมีอิสระที่จะเพิ่มบทเองได้ตามสะดวก หลายครั้งที่ผมเผลอหลุดหัวเราะออกมา เช่น เมื่อเธอพูดว่า คุณชอบขาของฉันไหม ฉันมีอีกข้างเหมือนกันนี้เลย และฉันสามารถยกขาทั้งสองข้างขึ้นมาหวีผมเลยยังได้”

พอล ไฟก์ ผู้กำกับ ดูจะเห็นด้วยกับพรสวรรค์ของเมลิสสา “เลิกพูดได้แล้วว่าผู้หญิงไม่ตลก ผมยินดีจะร่วมงานกับเธอทุกเรื่อง เธอสามารถจะเล่นเป็นอะไรก็ได้ สิ่งที่แย่ที่สุด คือ การเลือก เมลิสสา แม็คคาร์ธีย์ มาแสดง แล้วบอกให้เธอพูดตามบทก็พอ คุณจะทำเสียของแบบนั้นไปทำไม”


เจเน็ท แม็คเทียร์ (Albert Nobbs)

ด้วยรูปร่างที่สูงใหญ่ (6 ฟุต 1 นิ้ว) ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลกที่ เจเน็ท แม็คเทียร์ จะกลมกลืนอย่างน่าทึ่งไปกับบทหญิงสาวชาวไอริชที่ปลอมตัวเป็นผู้ชายในช่วงศตวรรษที่ 19 แล้วทำงานเป็นช่างทาสีเพื่อความอยู่รอดโดยไม่มีใครสงสัย หรือระแคะระคายแม้เพียงนิด แต่ความแนบเนียนดังกล่าวหาได้อยู่ตรงรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น เพราะบุคลิก ท่าทาง ตลอดจนน้ำเสียงของเธอยังถูกปรับเปลี่ยนจนแทบจำไม่ได้ว่า นักแสดงหญิงคนนี้เคยเข้าชิงออสการ์มาแล้วจากบทคุณแม่เรือพ่วงที่โหยหาความรักจากเพศชายใน Tumbleweeds และถ้าการแสดงของเธอใน Albert Nobbs ได้ถูกกล่าวขวัญถึงอย่างมากมาย พร้อมกับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในสาขานักแสดงสมทบหญิง ฉากเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของ ฮูเบิร์ต เพจ คงสร้างความตะลึงให้คนดูมากพอๆ กับฉากชวนช็อกในหนังอย่าง The Crying Game แม้ปมดังกล่าวจะไม่ใช่ประเด็นหลัก และถูกเปิดเผยตั้งแต่ช่วงต้นเรื่องก็ตาม

“ฉันอยากให้ฮูเบิร์ตมีลักษณะแบบชนชั้นแรงงาน ดูเป็นคนไอริชมากๆ” แม็คเทียร์กล่าว “ประมาณไวกิ้งร่างใหญ่ อกผายไหล่ผึ่ง ฉะนั้นคนที่ฉันเลือกใช้เป็นต้นแบบจึงได้แก่ เบรนแดน กลีสัน ซึ่งร่วมแสดงในหนังเรื่องนี้ด้วย และ เลียม นีสัน โดยวิธีการยืนของเลียม เขาจะลงน้ำหนักตรงส้นเท้า ท่าทางการเคลื่อนไหวจะดูเรียบง่าย แต่เปี่ยมเสน่ห์แบบแมนๆ ขณะที่เบรนแดนมีบุคลิกเป็นคนตรงๆ และร่ำรวยอารมณ์ขัน ซึ่งฉันอยากใส่ไว้ในตัวละครอย่างฮูเบิร์ต ในเรื่องฉันจะใช้มือล้วงกระเป๋าอยู่บ่อยๆ เพราะมือของฉันดูเป็นผู้หญิง และฉันมักจะติดทำมือทำไม้เวลาพูด คุณไม่สามารถแก้ไขอะไรได้มากนักเรื่องมือ”

ก่อนหน้านี้แม็คเทียร์เคยแสดงบทบาทหญิงรักหญิงมาแล้วในมินิซีรีย์ชุด A Portrait of a Marriage เป็นนักเขียนไบเซ็กช่วลที่เคยสร้างสัมพันธ์รักกับ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ จากนั้นต่อมาเธอก็เคยรับบทเป็นนักแสดงละครเวที ซึ่งมีสายใยโรแมนติกกับนักเขียนชื่อก้อง ดาฟเน ดูโมริเย ในภาพยนตร์ของ BBC เรื่อง Daphne กระนั้น สำหรับแม็คเทียร์ เธอไม่เห็นว่าฮูเบิร์ตควรถูกจำกัดความให้เป็นเลสเบี้ยน “ฉันคิดว่าฮูเบิร์ตเป็นตัวละครที่อยู่นอกกรอบแห่งการจัดแบ่งกลุ่มไม่สามารถตีตราใดๆ ได้ จริงอยู่ เธอลงเอยด้วยการขโมยเสื้อผ้าสามีมาใส่ แล้วทำงานเพื่อความอยู่รอด แต่ฉันมั่นใจว่าเธอไม่ได้ทำลงไปเพราะเชื่อว่าตัวเองเป็นเลสเบี้ยน เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารักร่วมเพศคืออะไร ในยุคนั้นผู้คนจะไม่ถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ ฉันเดาว่าเธอทำลงไปเพราะรู้สึกปลอดภัย จากนั้นก็ค่อยๆ คุ้นเคยและสุขสบายกับตัวตนที่เป็นอยู่”

ชีวิตชีวาที่แม็คเทียร์ใส่ไว้ในตัวละครทำให้ฮูเบิร์ตกลายเป็นแสงสว่างท่ามกลางบรรยากาศสิ้นหวัง หดหู่ เขา/เธอเป็นคนที่คนดูอยากทำความรู้จัก อยากคบหา ซึ่งตรงกันข้ามกับตัวละครเอกของเรื่องอย่างอัลเบิร์ต (เกล็น โคลส) ซึ่งกำลังสับสน ไม่แน่ใจ หรืออาจถึงขั้นมืดบอดว่าตัวเองเป็นใครกันแน่ ทั้งในแง่สถานะทางเพศและการดำเนินชีวิต ฉากที่อัลเบิร์ตเสนอทางออกในการเปิดร้านขายยาสูบร่วมกันให้กับฮูเบิร์ต หลังฮูเบิร์ตเพิ่งสูญเสียภรรยาสุดที่รักไปด้วยโรคร้าย ในช่วงเวลาแค่ไม่วินาทีนั้น แววตาของแม็คเทียร์ ผสมผสานระหว่างความช็อกและความสงสาร บ่งบอกทุกอย่างเกี่ยวกับตัวละครที่เธอแสดง รวมถึงตัวละครอย่างอัลเบิร์ตด้วย


อ็อกเทเวีย สเปนเซอร์ (The Help)

จากทีมนักแสดงกลุ่มใหญ่ไม่ใช่เรื่องแปลก หากคนดูจะจดจำ อ็อกเทเวีย สเปนเซอร์ ได้มากที่สุด หลังจากชมภาพยนตร์เรื่อง The Help จบลง สาเหตุสำคัญอาจเป็นเพราะบท มินนี แจ๊คสัน ของเธอนอกจากจะเรียกเสียงฮาได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นบทที่เอื้อให้คนดูลุ้นเอาใจช่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเธอตัดสินใจที่จะลุกขึ้นประท้วงความอยุติธรรมอันเกิดจากน้ำมือของผู้หญิงผิวขาวหน้าสวย แต่ใจแคบและน่าตบพอๆ กับเหล่านางร้ายในละครหลังข่าวอย่าง ฮิลลี ฮอลบรู้ค (ไบรซ์ ดัลลัส โฮเวิร์ด) โดยอาศัยวิธีเอาคืนแบบจัดหนักชนิดที่คงไม่มีใครคาดคิด และอาจทำให้คนดูมอง “พายช็อกโกแลต” ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

สเปนเซอร์เองก็ไม่ต่างจากมินนี ตัวละครที่เธอสวมบทบาทเท่าไหร่นัก เธอเปี่ยมอารมณ์ขัน มีบุคลิกใหญ่โตไม่แพ้รูปร่าง และกล้าพูดตรงไปตรงมาโดยไม่เกรงกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม อันที่จริง นั่นเป็นเพราะมินนีถือกำเนิดโดยได้แรงบันดาลใจมาจากสเปนเซอร์นั่นเอง เมื่อมีคนแนะนำนักเขียนมือใหม่ แคทธีน สต็อคเก็ตต์ ให้รู้จักกับสเปนเซอร์ในปี 2002 ขณะคนแรกกำลังวางแผนจะเขียนนิยายเกี่ยวกับพี่เลี้ยงผิวดำในยุค 60 ส่วนคนหลังกำลังพยายามจะลดน้ำหนักลง 100 ปอนด์เพื่อแสดงหนัง ตัวตนอันโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ของสเปนเซอร์ดึงดูดความสนใจของสต็อคเก็ตต์ จนเธอนำไปสร้างเป็นตัวละครเอกในนิยาย ซึ่งต่อมาติดอันดับขายดีของนิวยอร์กไทม์นานถึง 103 สัปดาห์ “มินนีเป็นตัวละครที่ฉันเขียนได้อย่างง่ายดายที่สุดเนื่องจากอ็อกเทเวีย” สต็อคเก็ตต์เล่า “ตอนนั้นเราแค่รู้จักกัน ไม่ได้ถึงกับสนิทสนม แต่ฉันชอบสังเกตบุคลิกของเธอตามงานปาร์ตี้ อากัปกิริยา ตลอดจนท่าทางการพูด เธอเป็นคนตลกมากๆ”

หลังจากสร้างชื่อผ่านบทรับเชิญในซีรีย์ดรามาทางทีวีมาเป็นเวลานับ 10 ปี เช่น CSI: NY, Medium และ NYPD Blue ดวงชะตาของสเปนเซอร์เริ่มสุกสว่างจากการแสดงบทตลกในซีรีย์ Ugly Betty และหนังเรื่อง Bad Santa จนทำให้นิตยสาร เอนเตอร์เทนเมนต์ วีคลีย์ ยกย่องเธอเป็นหนึ่งใน 25 นักแสดงตลกหญิงแห่งปี และปีเดียวกันนั้นเองที่ดรีมส์เวิร์คส์กำลังเตรียมจะสร้างเวอร์ชั่นหนังของ The Help “เนื่องจากแคทธีนเขียนบุคลิกบางอย่างของมินนีโดยอ้างอิงจากอ็อกเทเวีย เราจึงรู้สึกว่าไม่มีใครเหมาะจะรับบทนี้มากเท่าเธอ” ผู้กำกับ เทท เทย์เลอร์ซึ่งรู้จักกับสต็อคเก็ตต์มาตั้งแต่วัยเด็ก และเคยแชร์ห้องร่วมกับสเปนเซอร์เป็นเวลา 4 ปี ตอนที่นักแสดงสาวผิวดำทำงานเป็นผู้ช่วยนักออกแบบงานสร้างให้กับกองถ่าย A Time to Kill ก่อนผู้กำกับจะเสนอบทเล็กๆ ในหนังให้เธอแสดง

เช่นเดียวกับ วีโอลา เดวิส ข้อควรระวังอันดับหนึ่งของสเปนเซอร์ในการรับบทมินนี คือ การใส่ทัศนคติร่วมสมัยไปตัดสินตัวละคร ซึ่งถูกสามีตบตี แต่เลือกจะไม่เดินหนีออกมา “ฉันจำเป็นต้องทำความเข้าใจภาวะทางจิตของผู้หญิงในยุคนั้น เธอรับมือกับการถูกกดขี่ในบ้านโดยพยายามรักษาเศษเสี้ยวแห่งศักดิ์ศรีเอาไว้เมื่อต้องออกมาทำงานกับคนผิวขาว เพราะมินนีอยากให้พวกเขารู้ว่า เธอไม่ได้ต่ำต้อยกว่าอย่างที่คนพวกนั้นคิด”

ไม่มีความคิดเห็น: