วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 05, 2555

100 Innovations That Change Cinema (2)


Crane: อุปกรณ์การถ่ายทำที่เหมือนรถเข็น แต่มีแขนยกที่ยืดยาวออกไปพร้อมเก้าอี้ตรงปลายสำหรับให้ตากล้องนั่ง เครนขยับไปข้างหน้าและข้างหลังได้ ส่วนแขนก็ยกสูงได้ถึง 20 ฟุตหรือมากกว่า เครนเคลื่อนไหวได้อย่างนุ่มนวล ไม่ส่งเสียงดัง และมอบความยืดหยุ่นให้กับการเคลื่อนกล้องเพื่อเก็บภาพโดยรวมของช็อตในมุมสูง เครนขนาดพกพา ซึ่งเรียกว่า tulip เหมาะสำหรับการถ่ายทำนอกสถานที่ ซึ่งอาจไม่สามารถติดตั้งเครนขนาดใหญ่ได้ เครนตัวแรกถูกผลิตขึ้นในปี 1929 เพื่อถ่ายทำหนังเรื่อง Broadway

Cross-cutting: การตัดภาพสลับไปมาระหว่างสองเหตุการณ์ (หรือมากกว่า) ต่างสถานที่ แต่ในเวลาเดียวกันเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ โดยตัวอย่างแรกๆ ของ cross-cutting ปรากฏให้เห็นใน The Great Train Robbery (1903) แต่ธรรมเนียมของการใช้เทคนิค cross-cutting เพื่อกระตุ้นอารมณ์ระทึกขวัญ (ซึ่งปัจจุบันหนังแอ็กชั่นส่วนใหญ่ก็ยังคงนิยมทำกัน) เริ่มต้นจาก The Lonedale Operator (1911) เมื่อ ดี. ดับเบิลยู. กริฟฟิธ ตัดสลับระหว่างสามเหตุการณ์ คือ 1) หญิงสาวที่ขังตัวเองอยู่ในห้องส่งโทรเลข 2) กลุ่มโจรที่พยายามจะบุกเข้ามา และ 3) กองกำลังติดอาวุธที่กำลังเร่งเดินทางมาช่วยเหลือ

บางครั้ง cross-cutting อาจล่อหลอกคนดูให้หลงทาง ดังจะเห็นได้จากฉากไคล์แม็กซ์ของ The Silence of the Lambs หรือใช้สะท้อนความย้อนแย้งบางอย่าง เช่น ไคล์แม็กซ์ของ The Godfather เมื่อฉาก ไมเคิล คอร์ลีโอเน (อัล ปาชิโน) เข้าพิธีศีลจุ่มของลูกทูนหัวถูกตัดสลับกับฉากเหล่ามือสังหาร (ภายใต้คำสั่งของไมเคิล) ลงมือกวาดล้างบรรดาศัตรูของครอบครัวอย่างโหดเหี้ยม

เทคนิค cross-cutting อาจเรียกได้อีกอย่างว่า parallel cutting แต่ทั้งสองมีความต่างกันเล็กน้อยตรงที่คำแรกนิยมใช้กับการตัดสลับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ส่วนคำหลังหมายรวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างเวลาและสถานที่ เช่น การตัดสลับเรื่องราวชีวิตของไมเคิลที่อเมริกากับเรื่องราวชีวิต (ย้อนอดีต) ของพ่อเขา (โรเบิร์ต เดอ นีโร) ที่ซิซีลีในหนังเรื่อง The Godfather: Part II


Day for night: เทคนิคการถ่ายทำซึ่งมีความหมายตามชื่อ นั่นคือ ถ่ายฉากกลางวันให้ดูเหมือนกลางคืน โดยใช้ฟิลเตอร์พิเศษสีน้ำเงินสวมหน้าเลนส์ แล้วเปิดรับแสงน้อยกว่าปกติ (underexposure) หรือเลือกใช้ฟิล์มทังสเตน (ซึ่งเมื่อถ่ายกับแสงแดดจะให้ภาพที่ออกโทนสีฟ้า) แทนฟิล์มเดย์ไลท์ แล้วเปิดรับแสงน้อยกว่าปกติ เทคนิคนี้ถือกำเนิดขึ้น เมื่อการถ่ายทำในเวลากลางคืนตามจริงเป็นเรื่องยุ่งยาก (การจัดไฟ) หรือสิ้นเปลือง ตัวอย่างล่าสุดของการถ่ายทำแบบ day for night คือ ฉากเปิดเรื่องของ ลุงบุญมีระลึกชาติ


Deep focus: สไตล์การถ่ายภาพที่ทุกส่วนในกรอบภาพ (โฟร์กราวด์, มิดเดิลกราวด์, แบ็คกราวด์) ล้วนชัดเจน ซึ่งตรงข้ามกับสไตล์การถ่ายภาพแบบดั้งเดิมที่เน้นความชัดเจนเพียงจุดเดียว (shallow focus) แบบแรกเปิดโอกาสให้คนดูสามารถจ้องมองไปยังจุดใดบนภาพก็ได้ ขณะที่แบบหลังผู้กำกับจะเป็นคน “คัดเลือก” ให้คนดูเห็นเฉพาะสิ่งที่เขาต้องการ

นักวิจารณ์ภาพยนตร์ อังเดร บาแซง กล่าวชื่นชมสไตล์การถ่ายภาพแบบชัดลึกด้วยเหตุผลหลักๆ สามข้อ คือ 1) ช่วยให้คนดูเข้าใกล้กับเหตุการณ์ได้มากกว่า เพราะสายตามนุษย์สามารถโฟกัสจุดสนใจได้เป็นจุดๆ เท่านั้น 2) กระตุ้นคนดูให้ตั้งสมาธิกับภาพบนจอมากขึ้น และ 3) เปิดโอกาสต่อการตีความ เนื่องจากคนดูไม่ถูกจำกัดให้ต้องมองไปยังจุดใดจุดหนึ่ง

ตามประวัติศาสตร์ การถ่ายภาพแบบชัดลึกถูกพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงปลายทศวรรษ 1930 เมื่อเลนส์ชนิดใหม่ ผนวกเข้ากับฟิล์มไวแสงสูงและการจัดแสง เปิดโอกาสให้ผู้กำกับภาพสามารถสร้างความคมชัดให้กับทั้งโฟร์กราวด์ มิดเดิลกราวด์ และแบ็คกราวด์ในคราวเดียวกัน ถึงแม้ จอห์น ฟอร์ด จะเคยทดลองใช้เทคนิคดังกล่าวใน The Long Voyage Home สองสามปีก่อนหน้า รวมถึง ฌอง เรอนัวร์ กับหนังคลาสสิกอย่าง Grand Illusion และ The Rules of the Game แต่กลับเป็น Citizen Kane (1941) ที่เริ่มสร้างชื่อเสียงกระฉ่อนให้การถ่ายภาพแบบชัดลึก ทั้งนี้เนื่องจากผู้กำกับระดับตำนานอย่าง ออร์สัน เวลส์ และตากล้องผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดในยุคนั้นอย่าง เกร็ก โทแลนด์ ต่างพยายาม “ทุกวิถีทาง” ที่จะสร้างความชัดลึกให้กับภาพในแทบ “ทุกช็อต” สำหรับนักดูหนังรุ่นใหม่ๆ คุณสามารถศึกษาการถ่ายภาพแบบชัดลึกได้จากหนังอย่าง Unforgiven, Eyes Wide Shut และ Se7en

Digital camera: คงไม่ผิดนักหากจะพูดว่ากล้องดิจิตอล คือ นวัตกรรมแห่งศตวรรษที่พลิกโฉมวงการภาพยนตร์จากหน้ามือเป็นหลังมือในหลากหลายแง่มุม ทั้งในแง่การก่อให้เกิดกระแส “ใครก็ทำหนังได้” ไปจนถึงในแง่คุณภาพ ซึ่งถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนภาพมีความคมชัด สวยงามในระดับใกล้เคียงกับฟิล์ม 35 ม.ม.

วิวัฒนาการเริ่มต้นในช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อโซนีเปิดตัวแคมเปญ “กล้องอิเล็กทรอนิกส์” ก่อนจะถูกดัดแปลง พัฒนา และปรับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นกล้องดิจิตอลในปี 1998 พร้อมกับการเปิดตัว HDCAM ซึ่งบันทึกภาพได้ละเอียด 1920x1080 พิกเซล ต่อมาในปี 2002 Star Wars Episode II: Attack of the Clones ก็กลายเป็นหนังฮอลลีวู้ดทุนสูงเรื่องแรกที่ใช้กล้องดิจิตอลถ่ายทำ (Sony HDW-F900) หลังจากบรรดานักสร้างหนังอิสระทั้งหลายเริ่มต้นทดลองถ่ายหนังด้วยกล้องดิจิตอลมาตลอดช่วงทศวรรษ 1990 จากนั้นไม่นานการปฏิวัติก็แพร่กระจายไปทั่วโลก กล้องดิจิตอลเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โครงการสร้างหนัง “หนึ่งเรื่องหนึ่งช็อต” อย่าง Russian Ark ประสบความสำเร็จ ล่าสุด Slumdog Millionaire ถือเป็นหนังที่ถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอลเรื่องแรกที่คว้ารางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์มาครอง ส่วนหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลอย่าง Avatar ก็ไม่เพียงจะใช้กล้องดิจิตอลในการถ่ายทำเท่านั้น แต่ยังฉายในระบบดิจิตอลอีกด้วย

Digital cinema: เทคโนโลยีการฉายและจัดจำหน่ายภาพยนตร์โดยใช้เครื่องฉายดิจิตอลอ่านข้อมูลจากฮาร์ดไดรฟแทนเครื่องฉายหนังฟิล์ม 35 ม.ม. แบบดั้งเดิม โดยผลงานเรื่องแรกที่เปิดฉาย (และถ่ายทำ) ด้วยระบบดิจิตอลในวงกว้าง คือ Star Wars: Episode II - Attack of the Clones (2002)

ข้อดีของการฉายด้วยระบบดิจิตอล คือ ให้ภาพคมชัด ปราศจากรอยขีดข่วน ประหยัดค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ฟิล์มเพื่อจัดจำหน่าย ช่วยลดผลกระทบของการละเมิดลิขสิทธิ์ ทำให้หนังฟอร์มใหญ่ทั้งหลายสามารถเปิดฉายพร้อมกันทั่วโลกได้ง่ายขึ้น เพราะการจัดส่งภาพยนตร์ในระบบดิจิตอลง่ายและใช้เวลาน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ข้อเสียเด่นชัดอยู่ตรงความไม่ยืนยาวของสื่อดิจิตอล ตรงกันข้ามกับฟิล์มที่หากเก็บรักษาอย่างถูกต้องสามารถคงสภาพเดิมได้นานนับร้อยๆ ปี ขณะเดียวกันการจะเปลี่ยนโรงหนังให้กลายเป็นระบบดิจิตอลก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง




Dissolve: เทคนิคการเชื่อมต่อระหว่างฉากสองฉาก โดยขณะที่ช็อตแรกกำลังจางหาย ช็อตต่อไปก็เริ่มซ้อนเข้ามาแทนที่ในเวลาเดียวกัน โดยปกติแล้ว dissolve สามารถทำได้ในเครื่อง optical printer (ในยุคหนังเงียบต้องทำในกล้องซึ่งยุ่งยาก มันจึงไม่ค่อยได้รับความนิยม) การจางซ้อนมักใช้เชื่อมโยงสองเหตุการณ์ที่สัมพันธ์กัน หรือลดความฉับพลันของการเปลี่ยนฉาก แต่ทุกวันนี้อาจไม่ค่อยได้รับความนิยมมากเท่าในอดีต

การเลือกใช้ dissolve อย่างเหมาะสมจะช่วยเพิ่มความหมายเชิงสัญลักษณ์ได้ เช่น ในฉากจบของ Psycho เมื่อใบหน้า นอร์แมน เบทส์ (ซึ่งถูกซ้อนเข้ากับศพของแม่เขาอีกที) ค่อยๆ จางซ้อนไปยังภาพรถ มาเรียน เครน (เจเน็ท ลีห์) ถูกดึงขึ้นมาจากบึง ฉากดังกล่าวนอกจากจะเฉลยปมคาใจคนดูในแง่การเล่าเรื่องแล้ว รูปโซ่ลากรถที่ซ้อนเข้ากับลำตัวของนอร์แมนยังสะท้อนภาวะจิตใจ (ซึ่งผูกติดกับแม่ที่ตายไปแล้ว) ของเขาอีกด้วย

การจางซ้อนสองช็อตที่คล้ายคลึงกันในแง่รูปทรง หรือการกระทำ เราเรียกว่า match dissolve บางครั้งนักสร้างหนังอาจจางซ้อนภาพหนึ่งไปยังอีกภาพหนึ่งสองสามครั้งติดกันเพื่อแสดงให้เห็นเวลาที่ผันผ่าน หรืออายุขัยที่เพิ่มขึ้นของตัวละคร หรือความเปลี่ยนแปลง เช่น หนังสยองขวัญในยุค 1930 ถึง 1940 นิยมใช้เทคนิค match dissolve เพื่อถ่ายทอดฉากคนแปลงร่างเป็นมนุษย์หมาป่า หรือฉากดร.แจ็คกิล กลายสภาพเป็นมิสเตอร์ไฮด์

Dolby Digital: เทคโนโลยีในการบีบอัดเสียงที่พัฒนาขึ้นโดย ดอลบี้ แลบอเรทอรีส์ แรกเริ่มใช้ชื่อว่า Dolby Stereo Digital จนกระทั่งปี 1994 จึงได้ตัดคำว่า Stereo ออก มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างระบบเสียงดิจิตอลให้กับโรงภาพยนตร์ที่ฉายหนัง 35 ม.ม. แต่ต่อมาก็ถูกนำไปใช้กับโทรทัศน์และแผ่น DVD ด้วย ระบบเสียงนี้จะประกอบด้วยสัญญาณเสียงดิจิตอลทั้งหมด 6 ช่องทางแยกขาดจากกัน โดยมี 5 ช่องทางสำหรับลำโพง 5 ตัว และช่องที่ 6 สำหรับสัญญาณเสียงต่ำ เราเรียกช่องเสียงนี้ว่า 5.1 Channel ข้อดีของระบบเสียงแบบดิจิตอล คือ ใช้เนื้อที่ในการบันทึกน้อยกว่าระบบอื่นๆ ทำให้สามารถเพิ่มช่องเสียงได้มากขึ้น ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ใช้เทคโนโลยีนี้ คือ Batman Returns (1992)


Dolly: อุปกรณ์คล้ายรถเข็นที่สามารถรองรับน้ำหนักของกล้อง ตากล้อง และผู้ช่วยตากล้อง (รุ่นกะทัดรัดจะรองรับเฉพาะตัวกล้อง ส่วนตากล้องต้องเดินขนาบไป) เปิดโอกาสให้กล้องสามารถเคลื่อนไหวแนวราบได้อย่างอิสระ ไม่สั่นไหว และปราศจากเสียงในบริเวณที่ค่อนข้างจำกัด ดอลลีต้องอาศัยคนคอยเข็น (dolly grip) และสามารถติดตั้งบนรางได้เพื่อความลื่นไหลของภาพ กล้องจะเชื่อมโยงกับแขนที่สามารถยกสูง ลดต่ำ หมุน และก้มเงยได้ตามต้องการ ภาพที่ถ่ายทำโดยใช้ดอลลีจะเรียกว่า tracking shot หรือ dolly shot หนังดังเรื่องแรกๆ ที่ทดลองใช้เทคนิคนี้ คือ Cabiria (1917) ของ จิโอวานนี พาสโทรน




Dolly zoom: เทคนิคการถ่ายภาพที่คิดค้นขึ้นโดยตากล้อง เออร์มิน โรเบิร์ตส์ เพื่อถ่ายทอดมุมมองตัวละครเอกที่เป็นโรคกลัวความสูงในหนังเขย่าขวัญเรื่อง Vertigo (1958) หลักการพื้นฐาน คือ เลนส์จะซูมเข้าหานักแสดงไปพร้อมๆ กับการเคลื่อนกล้องถอยห่างออกมา (Dolly) หรืออาจทำสลับกันก็ได้ (กล้องเคลื่อนเข้าหานักแสดง พร้อมๆ กับซูมภาพออก) ส่งผลให้นักแสดงในเฟรมภาพมีขนาดเท่าเดิม แต่มุมมองของแบ็คกราวด์กลับเปลี่ยนแปลงไป

เนื่องจากระบบการมองเห็นของมนุษย์ต้องอาศัยเบาะแสทั้งด้านขนาดและมุมมอง การเห็นความเปลี่ยนแปลงทางด้านมุมมองโดยขนาดกลับเท่าเดิม ย่อมสร้างความรู้สึกงุนงง สับสน ด้วยเหตุนี้เอง dolly zoom จึงมักถูกใช้เพื่อสะท้อนอาการวิงเวียน เหมือนโลกหมุน (เช่น ใน Vertigo) หรือเพื่อแสดงการตระหนักข้อเท็จจริงสำคัญบางอย่างของตัวละคร จนส่งผลให้เขาหรือเธอต้องปรับความเชื่อดั้งเดิมทั้งหมด (เช่น ใน Marnie) แต่สำหรับนักดูหนังรุ่นใหม่ เทคนิคนี้เริ่มได้รับความนิยมแพร่หลายหลังจาก สตีเวน สปีลเบิร์ก นำมาใช้ถ่ายทอดอาการช็อกของตัวละคร (รอย ไชเดอร์) ขณะเผชิญการโจมตีของฉลามยักษ์ในหนังเรื่อง Jaws และเช่นเดียวกัน ในหนังเรื่อง The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring เทคนิค dolly zoom ถูกใช้เพื่อเน้นย้ำความหวาดกลัวของโฟรโด (เอไลจาห์ วู้ด) ขณะนาซกูลเคลื่อนเข้ามาใกล้


Drive-in theater: โรงหนังกลางแปลงแบบขับรถเข้าไปดูเกิดจากการคิดค้นของ ริชาร์ด เอ็ม. ฮอลลิงส์เฮด จูเนียร์ เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 1933 สามารถจุรถได้ 500 คัน และคิดค่าเข้าชม 25 เซนต์ต่อรถ 1 คัน และ 25 เซนต์ต่อคน โรงหนังแบบ drive-in พุ่งสู่ความนิยมสูงสุด (ส่วนใหญ่มักตั้งอยู่ย่านชานเมือง หรือชนบท) ในช่วงปลายทศวรรษ 1950 ถึงต้นทศวรรษ 1960 เมื่อปรากฏว่ามีโรงหนัง drive-in ทั่วอเมริกามากถึง 4000 แห่ง จุดเด่นของโรงหนังประเภทนี้ คือ คุณสามารถพาลูกเด็กเล็กแดงมาดูได้ทั้งครอบครัว ขณะเดียวกันมันยังเป็นแหล่งนัดพบและออกเดทสุดฮิตของหนุ่มสาวยุคนั้นอีกด้วย

โดยปกติภายในโรงหนังจะประกอบด้วยจอกลางแจ้งขนาดยักษ์ ซึ่งอาจเป็นผืนผ้าสีขาวขึงโครงเหล็ก หรือแค่กำแพงทาสีขาว ห้องฉายหนัง ร้านขายขนมขบเคี้ยว และลานจอดขนาดใหญ่ ส่วนระบบเสียงนั้น แรกทีเดียวใช้ลำโพงจากจอหนังเป็นหลัก แต่เกิดปัญหาเสียงเดินทางช้าสำหรับคนที่จอดอยู่ด้านหลัง ต่อมาจึงเปลี่ยนไปใช้ลำโพงขนาดเล็กแยกต่างหากสำหรับรถแต่ละคันโดยต่อผ่านสายไฟ แต่วิธีดังกล่าวค่อนข้างสิ้นเปลืองและวุ่นวายโดยเฉพาะเวลาฝนตก สุดท้ายระบบที่เข้ามาแทนที่ คือ ถ่ายทอดเสียงตามคลื่นความถี่ไปยังเครื่องรับวิทยุในรถ

หนังที่ได้รับความนิยมใน drive-in theater ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสยองขวัญกับหนังไซไฟ (ตอนที่ Psycho ของ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก เข้าฉาย โรงหนัง drive-in บางแห่งมีรถจอดต่อคิวยาวเหยียดถึงสามไมล์) ผู้กำกับที่เรียกได้ว่า “แจ้งเกิด” จากโรงหนัง drive-in คือ โรเจอร์ คอร์แมน ราชาหนังเกรดบี ซึ่งนิยมผลิตหนังป้อนตลาดกลุ่มนี้โดยเฉพาะ อาทิ Attack of the Crab Monsters, Not of This Earth, The Wasp Woman และ A Bucket of Blood

ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้การบริหารโรงหนัง drive-in กลายเป็นภาระหนักหน่วง เพราะมันใช้พื้นที่กว้าง แต่สามารถฉายหนังได้แค่ไม่กี่รอบต่อวันและไม่กี่เดือนต่อปี การถือกำเนิดขึ้นของโทรทัศน์และวิดีโอก็มีส่วนทำให้โรงหนัง drive-in เสื่อมความนิยมลง ก่อนจะเริ่มกลับมาฮิตอีกครั้งหลังปี 2001 จากการคิดค้น “Do-It-Yourself” Drive-In ซึ่งใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์สมัยใหม่และลานจอดรถที่ว่างเปล่าตามย่านดาวน์ทาวน์ หนังส่วนใหญ่ที่นำมาฉายจะเป็นหนังทดลอง หนังอินดี้ และหนังคัลท์


Dutch angle: มุมกล้องที่ทำให้เส้นแนวดิ่งและแนวนอนบิดเบือนจากความเป็นจริง ปกติภาพมุมเอียงมีจุดประสงค์เพื่อสะท้อนอัตวิสัยของตัวละคร หรือสร้างความรู้สึกอึดอัด เสียสมดุลให้กับคนดู โดยอาจใช้ในฉากอุบัติเหตุ (รถคว่ำ) ฉากความรุนแรง หรือเพื่อถ่ายทอดสภาพอากาศอันเลวร้าย (พายุเฮอร์ริเคน)

ซิกกา เวอร์ตอฟ ทดลองใช้ dutch angle เป็นครั้งแรกในหนังสารคดีเรื่อง Man With a Movie Camera (1929) แต่มันเริ่มแพร่หลายในช่วง German Expressionism รุ่งเรือง เนื่องจากมุมกล้องประเภทนี้สะท้อนความบ้าคลั่งและปั่นป่วนได้อย่างดีเยี่ยม (ล่าสุดในหนังเรื่อง Thor ก็มีการใช้ dutch angle อยู่หลายครั้ง) หนังอีกเรื่องที่ “ขึ้นชื่อ” จากการใช้ dutch angle คือ The Third Man ของ คารอล รีด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสะท้อนความแปลกแยกของตัวละครต่อสภาพแวดล้อมรอบข้าง ใน The Evil Dead แซม ไรมี ใช้การเอียงมุมกล้องกระตุ้นคนดูให้ตระหนักว่าตัวละครกำลังถูกเข้าสิงโดยปีศาจชั่วร้าย

DVD: แรกเริ่มเดิมทีเป็นตัวย่อของ digital video disc แม้ปัจจุบันเจ้าแผ่นดิสค์ดังกล่าวจะสามารถใช้บรรจุไฟล์ได้หลากหลายชนิด ไม่ใช่เฉพาะไฟล์วิดีโอเท่านั้น เช่นเดียวกับแผ่นซีดีเพลง DVD อ่านข้อมูลรหัสตัวเลขโดยใช้เลเซอร์ แต่สามารถเก็บข้อมูลได้มากกว่าหลายเท่า คิดค้นและพัฒนาจากการจับมือร่วมกันของสี่บริษัทชั้นนำอย่าง ฟิลิปส์, โซนี, โตชิบา และพานาโซนิกในปี 1995 ภายใต้การผลักดันของ IBM คุณภาพที่เหนือกว่าในแทบทุกด้านทำให้ DVD เข้ามาแทนที่วิดีโอเทป (VHS) ภายในเวลาอันรวดเร็ว


Expressionism: ในช่วงระหว่างปี 1919 ถึง 1933 ได้เกิดกระแสการสร้างหนังแบบใหม่ขึ้นที่ประเทศเยอรมัน หนังซึ่งใช้รูปธรรมบนจอถ่ายทอดนามธรรมในจิตใจของตัวละคร ผ่านฉากบิดเบี้ยว ผิดรูปร่าง การจัดแสงแบบเน้นเงาดำ มุมกล้องแปลกตา ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนกำลังหลงทางอยู่ในฝันร้าย ผลงานภาพยนตร์แนว expressionism ที่โดดเด่นสุดสองเรื่อง คือ The Cabinet of Dr. Caligari (1919) และ Nosferatu (1922) แม้ว่าในเวลาต่อมาการสร้างหนังแนวนี้จะหยุดชะงักหลังนาซีเรืองอำนาจ แต่มันก็ส่งอิทธิพลต่อพัฒนาการของหนังสยองขวัญค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดแสง การวางมุมกล้อง หรือการจัดฉาก


Fade: เทคนิคสำหรับใช้เปิดหรือปิดฉาก และบ่อยครั้งใช้เชื่อมต่อระหว่างฉาก เมื่อช็อตหนึ่งค่อยๆ จางหายไปจนกระทั่งจอดำสนิท (fade out) จากนั้นอีกช็อตก็ค่อยๆ สว่างชัดขึ้น (fade in) พอนำเอา fade in และ fade out มาต่อกัน คนดูจะตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงในแง่เวลา เหตุการณ์ หรือสถานที่ (จอที่มืดลงชั่วครู่เปรียบเสมือนจุดแบ่งแยก) บางครั้งหนังอาจใช้ fade in เพื่อเปิดเรื่อง และ fade out เพื่อปิดเรื่อง ซึ่งสามารถทำได้ในกล้องด้วยการค่อยๆ หมุนรูรับแสงให้กว้างขึ้น หรือเล็กลง แต่โดยส่วนมากนิยมทำในเครื่อง optical printer ผ่านการเพิ่ม/ลดปริมาณแสง

เทคนิค fade-to-black (ภาพบนจอค่อยๆ มืดลง) นิยมใช้บ่งบอกถึงเวลาที่ผ่านไป และในแง่หนึ่งบ่งบอกความรู้สึกหดหู่ มืดหม่น และสิ้นหวัง ส่วน fade-to-white (ภาพบนจอค่อยๆ จางหายไปจนกระทั่งกลายเป็นจอขาว) นิยมใช้บ่งบอกถึงอาการหมดสติของตัวละคร


Fast motion: การเคลื่อนไหวบนจอถูกบิดเบือนให้เร็วขึ้น เป็นผลจากการถ่ายทำด้วยอัตราความเร็วที่ต่ำกว่า 24 เฟรมต่อวินาที แล้วนำมาฉายด้วยอัตราความเร็วปกติ ผลลัพธ์ที่ออกมาทำให้ภาพดูเหมือนเวลาเรากดปุ่ม fast forward ดูไม่เป็นธรรมชาติ ทำให้ตัวละครลดทอนความเป็นมนุษย์และคล้ายเครื่องจักร หรือของเล่นมากกว่า โดยมากนิยมใช้เรียกเสียงหัวเราะเป็นหลัก เช่น ในหนังเรื่อง Tom Jones, A Clockwork Orange และ A Hard Day’s Night

อย่างไรก็ตาม เทคนิค fast motion อาจนำมาใช้ในรูปแบบที่จริงจังได้ เช่น เร่งความเร็วให้การเคลื่อนไหวปกติ (รถยนต์วิ่งผ่านหน้า) เพื่อสร้างอารมณ์ตื่นเต้น ระทึกใจ ในหนังคลาสสิกเรื่อง Nosferatu พลังเหนือธรรมชาติของผีดูดเลือดถูกถ่ายทอดผ่านเทคนิค fast motion และเช่นเดียวกัน ผู้กำกับ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า ซึ่งต้องการให้แวมไพร์ใน Bram Stoker’s Dracula ร่อนเข้าหาเหยื่อของมันด้วยความเร็วเหนือมนุษย์ ได้เลือกใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับควบคุมความไวชัตเตอร์ เพื่อให้ตากล้อง ไมเคิล บอลเฮาส์ สามารถปรับเปลี่ยนสปีดภาพระหว่างถ่ายทำได้อย่างราบรื่นและฉับพลันจาก 24 เฟรม/วินาทีไปเป็น 8 เฟรม/วินาที


Freeze frame: การหยุดภาพนิ่ง หรือ freeze frame เกิดจากการพิมพ์เฟรมภาพนั้นซ้ำๆ กันหลายครั้ง เพื่อให้ช็อตดังกล่าวไม่เคลื่อนไหวเหมือนเป็นภาพถ่าย เทคนิคนี้สามารถสืบประวัติย้อนไปไกลถึงยุคหนังเงียบอย่าง Hollywood (1923) ของ เจมส์ ครูซ และ Paris qui dort (1924) ของ เรเน แคลร์ แต่หนังกระแสหลักเรื่องแรกที่ทำให้คนดูทั่วไปรู้จัก freeze frame คือ It’s a Wonderful Life ของ แฟรงค์ คาปรา

เทคนิคนี้กลับมาโด่งดังอีกครั้งจากความช่วยเหลือของ ฟรังซัวส์ ทรุฟโฟต์ ซึ่งจบผลงานกำกับชิ้นแรกของเขาเรื่อง The 400 Blows ได้อย่างสะเทือนอารมณ์ ด้วยการหยุดภาพตัวละครเอกไว้ที่ชายหาด หลังเขาหลบหนีออกมาจากสถานดัดสันดาน มันเป็นฉากจบแบบปลายเปิด กรุ่นอารมณ์หม่นเศร้าเนื่องจากภาวะสิ้นไร้ทางออกของตัวละครเอก หลังจากนั้น หนังอีกหลายเรื่องก็เลือกจบด้วยการ freeze frame เช่น ความตาย (ที่คนดูไม่มีโอกาสได้เห็น) ของคู่หูคาวบอยใน Butch Cassidy and the Sundance Kid และสองเพื่อนสาวใน Thelma & Louise

นอกจากนี้ เทคนิค freeze frame ยังถูกนำมาใช้ เมื่อผู้กำกับต้องการ “หยุด” ช่วงเวลาอันน่าจดจำ หรือภาพแห่งความประทับใจเอาไว้ เช่น ใน Jules and Jim และ Out of Sight หรือหยุดภาพไว้สักสองสามวินาที เพื่อเปิดโอกาสให้คนเล่าเรื่องได้อธิบายเหตุการณ์บางอย่าง หรือแนะนำตัวละคร เช่น ใน Goodfellas และ Snatch ผู้กำกับอย่าง จอห์น วู ก็นิยมใช้ freeze frame สำหรับเน้นย้ำสีหน้า อารมณ์ของตัวละครในช่วงเวลาสำคัญ หรือจุดหักเหของเรื่องราว


Front projection: เทคนิคการซ้อนภาพนักแสดงเข้ากับฟุตเตจแบ็คกราวด์ที่ถ่ายไว้ก่อนหน้า คิดค้นขึ้นโดย ฟิลิป วี. ปาล์มควิสต์ และถูกนำมาทดลองใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1963 กับหนังญี่ปุ่นเรื่อง Matango ส่วนหนังดังเรื่องแรกที่ใช้เทคนิค front projection อย่างแพร่หลาย คือ 2001: A Space Odyssey โดยเฉพาะช่วงต้นเรื่อง (นักแสดงสวมชุดลิงในสตูดิโอถูกผสมผสานเข้ากับภาพแบ็คกราวด์ของทวีปแอฟริกา) อย่างไรก็ตาม พัฒนาการทางดิจิตอลในปัจจุบันทำให้เทคนิคนี้ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง โดยหนังระดับบล็อกบัสเตอร์เรื่องสุดท้ายที่ใช้ front projection ในการถ่ายทำ คือ Cliffhanger

หลักการพื้นฐาน คือ เครื่องฉายจะถูกนำมาวางด้านข้างกล้องภาพยนตร์ทำมุม 90 องศา แล้วฉายภาพแบ็คกราวด์ไปยังกระจกสองด้าน ซึ่งตั้งอยู่หน้ากล้องทำมุม 45 องศา ภาพจะสะท้อนกระจกไปตกบนจอรับภาพด้านหลัง เมื่อนักแสดงยืนอยู่ระหว่างจอรับภาพกับกระจก ร่างกายของเขาจะบดบังเงาตัวเองบนจอรับภาพพอดี (ภาพแบ็คกราวด์เจือจางเกินกว่าจะปรากฏบนตัวนักแสดง แต่กลับเห็นชัดบนจอรับภาพซึ่งทำจากผ้าฝังลูกปัดแก้วขนาดเล็ก) ส่งผลให้นักแสดงและแบ็คกราวด์กลมกลืนเข้าด้วยกันเมื่อมองจากเลนส์กล้อง

ข้อได้เปรียบของ front projection เหนือเทคนิคการซ้อนภาพอื่นๆ ในยุคนั้นอย่าง rear projection และ traveling- matte คือ ให้ความคมชัดของภาพมากกว่า แบ็คกราวด์มีมิติความลึกมากกว่า ถูกกว่า ประหยัดเวลากว่า ใช้พื้นที่ในการถ่ายทำน้อยกว่า ปราศจากเส้นสีฟ้ารอบตัวนักแสดง และเปิดโอกาสให้ผู้กำกับสามารถเห็นผลลัพธ์ของการซ้อนภาพได้ทันทีระหว่างถ่ายทำ แต่ ข้อเสียเด่นชัดอยู่ตรงนักแสดงไม่สามารถขยับตัวได้มากนัก ส่วนกล้องก็ห้ามเคลื่อนไหวออกจากตำแหน่งเช่นกันเพื่อหลีกเลี่ยงเงาของนักแสดงบนจอรับภาพ


Glass shot: การเพิ่มฉาก หรือแบ็คกราวด์ให้กับโฟร์กราวด์โดยถ่ายผ่านกระจกที่วาดภาพไว้บางส่วน เทคนิคพิเศษนี้คิดค้นและนำมาใช้เป็นครั้งแรกโดย นอร์แมน โอ. ดอว์น กับหนังสั้นเรื่อง Missing in California (1907) ก่อนจะกลายเป็นเทคนิคยอดนิยมระหว่างช่วงทศวรรษ 1920 ถึง 1930 โดยผลงานเด่นๆ คือ King Kong (1933) เมื่อแบบจำลองถูกถ่ายผ่านภาพวาดบนกระจก เพื่อเพิ่มแบ็คกราวด์แปลกตาและสร้างมิติความลึก

glass shot ช่วยให้นักทำหนังไม่ต้องสร้างฉากขึ้นใหม่ทั้งหมด เนื่องจากส่วนที่เหลือของฉากสามารถเพิ่มเติมได้ด้วยการวาดภาพบนกระจก เช่น ใส่เพดานให้กับห้อง หรือใส่ท้องฟ้าและก้อนเมฆเหนือหลังคาบ้าน มันเป็นเทคนิคราคาถูก ได้ผลดี และไม่ซับซ้อน กล้องสามารถแพนและทิลท์ แต่ไม่อาจขยับออกจากตำแหน่งได้ เช่นเดียวกับตัวละครซึ่งถูกจำกัดการเคลื่อนไหว ปัจจุบันยังมีการใช้เทคนิค glass shot อยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก หลังมันถูกแทนที่ด้วยเทคนิคอื่นซึ่งมีประสิทธิภาพและประหยัดกว่า หนังดังยุคหลังๆ ที่ใช้เทคนิคนี้ คือ Close Encounters of the Third Kind


Handheld camera: เทคนิคการแบกกล้องถ่ายหนังเริ่มใช้ครั้งแรกในช่วงปลายยุคหนังเงียบ แต่ยังไม่ค่อยแพร่หลายเพราะรูปทรงของกล้องสมัยก่อนค่อนข้างใหญ่ ไม่เหมาะจะแบกไว้บนบ่าโดยปราศจากเครื่องช่วยพยุง ที่สำคัญมันยังเป็นกล้องแบบใช้มือหมุน ทำให้ยากต่อการถ่ายทำยิ่งขึ้น handheld camera เริ่มได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางช่วงทศวรรษ 1950 เมื่อบริษัทอีแคลร์ผลิตกล้องน้ำหนักเบาขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับถ่ายทำหนังสารคดี โดยตัวอย่างที่โดดเด่นในยุคแรกๆ คือ สารคดีเรื่อง Primary เมื่อตากล้องติดตาม จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ เดินฝ่าฝูงชนรอบข้างในระหว่างช่วงที่เขากำลังแคมเปญหาเสียงแข่งกับ ฮูเบิร์ต ฮัมฟรีย์ เพื่อเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตในการลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี การเคลื่อนกล้องแบบนี้ส่วนใหญ่จะไม่นุ่มนวล กระตุกขึ้นลง และสั่นส่ายไปมา เนื่องจากตากล้องต้องแบกน้ำหนักกล้องไว้บนบ่าแทนการวางบนขาตั้งกล้อง

หลังจากนั้น handheld camera ก็กลายเป็นเรื่องปกติและอาจถึงขั้นจำเป็นในการถ่ายหนังสารคดี หรือรายงานข่าวทางโทรทัศน์ เนื่องจากการตระเตรียมพื้นที่สำหรับตั้งกล้องถือเป็นเรื่องยากในสถานการณ์ที่ปราศจากการวางแผน หรือต้องตอบโต้กับเหตุการณ์อย่างฉับพลันทันที

กลุ่มผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ของฝรั่งเศส ซึ่งถือกำเนิดช่วงปลายทศวรรษ 1950 ได้นำเอาเทคนิคนี้มาใช้กับภาพยนตร์เพื่อความบันเทิง (fiction film) อย่างกว้างขวาง เนื่องจากต้องการความคล่องตัวในการถ่ายทำนอกสตูดิโอโดยอาศัยแสงธรรมชาติเป็นหลัก ความรู้สึกเหมือนจริง และความมีชีวิตชีวา ในหนังเรื่อง The 400 Blows ของ ฟรังซัวส์ ทรุฟโฟต์ กล้องแบบมือถือถ่ายได้พาคนดูไปสำรวจอพาร์ตเมนต์รังหนูและร่วมสนุกบนเครื่องเล่นไปกับตัวละครอย่างใกล้ชิด

ด้วยเหตุที่เทคนิคดังกล่าวถือกำเนิดจากวงการหนังสารคดี มันจึงสามารถสร้างบรรยากาศน่าเชื่อถือ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ “เหมือนจริง” ได้มากโข นักทำหนังหลายคนจึงนำ handheld camera มาใช้สร้างบรรยากาศแบบสารคดี เช่น ในหนังเรื่อง United 93, The Blair Witch Project, Cloverfield และ Children of Men

ไม่มีความคิดเห็น: