วันพุธ, กุมภาพันธ์ 15, 2555

Oscar 2012: Best Director


มิเชล ฮาซานาวิเชียส (The Artist)

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หนังเงียบขาวดำ ถ่ายทำด้วยอัตราความเร็ว 22 เฟรมต่อวินาที และสัดส่วนภาพ 1:33 แบบเดียวกับภาพยนตร์ในยุคแรกจะประสบปัญหาในการหาเงินทุน แม้ว่าผลงานก่อนหน้านี้ของผู้กำกับ มิเชล ฮาซานาวิเชียส ซึ่งเป็นหนังล้อเลียนสายลับเรื่อง OSS 117: Cairo, Nest of Spies และ OSS 117: Lost in Rio จะทำเงินในฝรั่งเศสอย่างเป็นกอบเป็นกำ “หลังจากหนังชุด OSS ผมรู้ว่าตัวเองอยากทำหนังเงียบ” ผู้กำกับวัย 44 ปีกล่าว “ผมรู้ว่าถ้าไม่ทำตอนนี้ คงไม่ได้ทำอีกเลย... ผมนัดคุยกับโปรดิวเซอร์สองสามคน แต่พวกเขาไม่ค่อยเห็นชอบกับความคิดนี้” หรือพูดง่ายๆ อีกอย่าง พวกเขาคิดว่าฮาซานาวิเชียสเป็นบ้าไปแล้ว... แต่ไม่ใช่ โธมัส แลงแมน โปรดิวเซอร์วัย 40 ปี ลูกชายอดีตผู้กำกับชื่อดัง คล็อด แบร์รี (Jean de Florette, Manon of the Spring)

“แต่โธมัสก็กังวลอยู่เหมือนกัน เราทำข้อตกลงกันตั้งแต่แรกว่าถ้าหนังขาดทุน เราจะทำหนังด้วยกันอีกเรื่องเพื่อหาเงินคืนมา เพราะบางทีเราอาจขาดทุนกับหนังเรื่องนี้ แต่อย่างน้อยเราก็ได้ทำหนังดีๆ ร่วมกัน หนังที่สามารถเอาไปฉายตามเทศกาลได้ คนชอบพูดว่าผมกล้าหาญที่ทำหนังเรื่องนี้ออกมา ความจริงต้องบอกว่าโปรดิวเซอร์ต่างหากที่กล้าลงทุนกับหนังเรื่องนี้” ฮาซานาวิเชียสกล่าว

แรกทีเดียวหนังมีชื่อว่า Beauty Spot แต่แลงแมนแนะนำให้เปลี่ยนเป็น The Artist พร้อมไฟเขียวให้ทีมงานเดินทางไปถ่ายทำกันที่ฮอลลีวู้ด เพรามันเล่าเรื่องราวของซูเปอร์สตาร์หนังเงียบในทศวรรษ 1920 ชื่อ จอร์จ วาเลนทีน (ฌอง ดูฌาร์แดง) ที่ชีวิตผกผันสู่จุดตกต่ำพร้อมๆ กับการมาถึงของยุคหนังเสียง แต่ในสไตล์เดียวกับพล็อต A Star Is Born นักแสดงหญิงหน้าใหม่อย่าง เปปปี้ มิลเลอร์ (เบเรนิซ เบโจ) กลับทะยานขึ้นเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ หนังจะติดตามเรื่องราวชีวิตของทั้งสองควบคู่กัน ผสมเมโลดรามา เข้ากับโรแมนซ์ อารมณ์ขันแบบใช้ท่าทาง และการอ้างอิงหนังคลาสสิกมากมาย ตั้งแต่ Sunrise (“ผมดูหนังเรื่องนี้ซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ” ฮาซานาวิเชียวกล่าว) ไปจนถึง Citizen Kane, Vertigo และ Sunset Boulevard

จุดมุ่งหมายของฮาซานาวิเชียสไม่ใช่การสร้างหนังเงียบ แต่เป็นความพยายามถ่ายทอดให้เห็นจิตวิญญาณของหนังเงียบ ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาแสดงความเคารพและเล่นสนุกกับบุคลิกของมันไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากหนังยุคนั้นจะให้วงออร์เคสตราเล่นเพลงประกอบคลอไปพร้อมกับหนัง ฮาซานาวิเชียสจึงจ้าง ลูโดวิก บูร์ มาแต่งสกอร์คารวะผลงานของ ชาร์ลี แชปลิน, แม็กซ์ สไตเนอร์ และเบอร์นาร์ด เฮอร์แมน โดยผสมผสานความทันสมัยเข้าไปด้วยการสร้างธีมเพลงให้กับตัวละครแต่ละคน “ไอเดียของผมคือการสร้างอารมณ์ บรรยากาศของหนังฮอลลีวู้ดคลาสสิก ไม่ใช่เฉพาะแต่ช่วงยุคหนังเงียบเท่านั้น” ฮาซานาวิเชียสกล่าว “คำชมที่ดีที่สุดที่ผมได้ยิน คือ หนังของคุณช่วยย้ำเตือนว่าทำไมผมถึงรักภาพยนตร์”

ขณะเดียวกันการได้ดู The Artist ก็ทำให้เราตระหนักว่าภาพยนตร์ได้สูญเสียอะไรไปจากพัฒนาการทางด้านเทคนิค และบางทีโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าอาจไม่ใช่เพียงชะตากรรมที่พลิกผันของตัวละครเท่านั้น แต่เป็นบางอย่างที่ลึกซึ้งกว่า ลองนึกดูว่า หนังเรื่องนี้แม้จะถ่ายทำในอเมริกา แต่ความจริงกลับเป็นหนังฝรั่งเศส ทีมนักแสดงสมทบหลายคนเป็นอเมริกัน แต่ดารานำสองคนเป็นคนฝรั่งเศส กระนั้นด้วยความที่มันใช้ภาพสื่อสารเรื่องราว ปราศจากกำแพงทางภาษา The Artist กลับกลายเป็นหนังที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ เข้าใจได้ ซาบซึ้งได้ และตลกไปกับมันได้


อเล็กซานเดอร์ เพย์น (The Descendants)

เรื่องราวทุกนาทีใน The Descendannts อาจดำเนินอยู่บนหมู่เกาะฮาวาย แต่คนดูจะไม่ได้เห็นการเล่นกระดานโต้คลื่น หรือสาวเต้นอะโลฮาจากการดัดแปลงนิยายของ คาอูดิ ฮาร์ท เฮมมิงส์ เกี่ยวกับ แม็ท คิงส์ (จอร์จ คลูนีย์) ทนายที่กำลังจะกลายเป็นพ่อม่ายเรือพ่วง หลังภรรยาตกอยู่ในอาการโคม่าจากอุบัติเหตุทางเรือ เช่นเดียวกับผลงานตลกเศร้าเคล้าน้ำตาเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าอย่าง About Schmidt และ Sideways ความสนใจของ อเล็กซานเดอร์ เพย์น พุ่งเป้าไปยังปัญหาสามัญของคนธรรมดาทั่วไป หาใช่การขายวิว หรือวัฒนธรรม exotic ของเกาะฮาวาย

วิกฤติครั้งนี้ไม่เพียงทำให้คิงส์มุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่พ่อให้ดีขึ้น แต่จะพยายามเป็นคนที่ดีขึ้นด้วย แม้กระทั่งหลังจากทราบว่าภรรยาเขากำลังคบชู้กับชายอื่น (รับบทโดย แม็ทธิว ลิลลาร์ด จากหนังชุด Scooby-Doo ซึ่งคว้าบทนี้มาครองเหนือนักแสดงหน้าหล่ออีกมากมาย เพราะเขาทดสอบหน้ากล้องได้ดีสุด และเพราะเพย์นเชื่อว่าภรรยาของคิงส์ไม่ได้ชอบตัวละครนี้เพราะเขาหล่อกว่าคลูนีย์ แต่เพราะเขาเอาใจใส่เธอแบบที่สามีไม่เคยทำต่างหาก “อีกอย่างผมไม่เคยดูหนังชุด Scooby-Doo หรอก” ผู้กำกับวัย 50 ปีกล่าว) หากเป็นหนังเรื่องอื่น คิงส์คงได้ลงไม้ลงมือแก้แค้นชายชู้ แล้วเดินจากมาพร้อมชัยชนะ แต่เพย์นบอกว่าสิ่งที่ดึงดูดใจให้เขาอยากทำหนังเรื่องนี้ คือ เหตุผลอันเปี่ยมเมตตาของคิงส์ในการตามหา ไบรอัน สเปียร์ เขาอยากให้สเปียร์ได้มีโอกาสกล่าวอำลาอดีตคนรักก่อนเธอจะจากไปตลอดกาล “แน่นอน เขาอยากฆ่าหมอนั่น แต่นี่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง มันเป็นการกระทำเพื่อความรักอย่างแท้จริง” เพย์นกล่าว

อารมณ์ขันขื่นแบบเพย์นยังพบเห็นได้ในฉากที่คิงเผชิญหน้ากับสเปียร์ ณ บังกาโลริมชายหาด โทนอารมณ์ในฉากนี้ปรับเปลี่ยนไปมาอย่างคาดไม่ถึง “มันเป็นเหมือนหนังแนว coming-of-age แต่คนที่เติบโตในเรื่อง คือ ชายอายุ 50 ปี” คลูนีย์ ซึ่งอยากร่วมงานกับเพย์นตั้งแต่ Sideways แต่ถูก โธมัส เฮเดน เชิร์ช แย่งบทไป กล่าว “เขาค้นพบความรักและการให้อภัยจากการยอมรับในความล้มเหลวของตัวเอง”

นับแต่ Sideways (2004) เพย์นก็หายหน้าหายตาไปพักใหญ่ เขากำกับตอนไพร็อทให้ซีรีย์ Hung ทำหนังสั้นใน Paris, Je T'Aime และเขียนบทให้ อดัม แซนด์เลอร์ เรื่อง I Pronounce You Chuck & Larry แต่กลับไม่มีผลงานหนังขนาดยาว เขากับ จิม เทย์เลอร์ ร่วมกันพัฒนาบทหนังตลกเสียดสีเรื่อง Downsizing เกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์ที่ย่อส่วนตัวเองจนเหลือขนาดสองนิ้ว แต่โครงการไม่อาจเป็นจริงได้ เพราะต้องใช้เทคนิคพิเศษเยอะและนำไปสู่ปัญหาเรื่องเงินทุน สุดท้ายโครงการที่ปลุกปล้ำกันมานานสามปีจึงถูกยุบไป

แรกทีเดียวเพย์นจะนั่งเก้าอี้โปรดิวเซอร์ให้ The Descendants แล้ววางตัวผู้กำกับเป็น สตีเฟน เฟียร์ส จากนั้นก็เปลี่ยนเป็น เจสัน ไรท์แมน แต่เมื่อ Downsizing ต้องพับโครงการไป เพย์นจึงตัดสินใจลงมาคุมงานเอง เพราะ “ตอนนั้นผมกำลังอยากถ่ายหนังใจจะขาด” (นี่เป็นหนังเรื่องแรกที่เขาไม่มีส่วนร่วมในการพัฒนาตั้งแต่แรก) อย่างไรก็ตาม เพย์นมีปัญหากับตัวนิยายและบทร่างแรก ที่ให้ความสำคัญกับลูกสาวสองคนของคิงส์ นั่นคือ สก็อตตี้ (อามารา มิลเลอร์) อายุ 11 ปีกับ อเล็กซานดรา (ไชลีน วู้ดลีย์) อายุ 19 ปี มากเท่าๆ กัน ส่งผลให้เขาตัดสินใจแก้บทเพื่อเทน้ำหนักมาทางเด็กสาววัยรุ่น “ผมคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างแม็ทกับลูกสาวคนโตน่าสนใจกว่า เธอเริ่มต้นด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว ชิงชัง ก่อนจะลงเอยด้วยการให้ความร่วมมือ” เพย์นกล่าว


มาร์ติน สกอร์เซซี (Hugo)

ลืมทุกอย่างที่คุณคุ้นเคยจากหนังของ มาร์ติน สกอร์เซซี ไปได้เลย ไม่ว่าจะเป็นภาพการฆ่าคนชนิดเลือดสาด ตัวละครสภาพจิตบกพร่องจนเริ่มถอยห่างจากความเป็นจริง หรือความรุนแรงระหว่างนักเลงข้างถนน โดยใช้อาวุธเป็นปืน มีด หรือกระทั่งกำปั้นเปล่าๆ ทั้งนี้เพราะใน Hugo ผู้กำกับระดับตำนาน เจ้าของผลงานคลาสสิกอย่าง Taxi Driver, Raging Bull และ Goodfellas ได้หันมาสร้างหนังเกี่ยวกับชีวิตเด็กกำพร้าที่พยายามจะหาครอบครัวใหม่ ดัดแปลงจากหนังสือขายดีเรื่อง The Invention of Hugo Cabret ของ ไบรอัน เซลส์นิค

หนังเล่าเรื่องราวสไตล์ ชาร์ลส์ ดิกเกน ของเด็กชายที่เปลี่ยวเหงา (อาซา บัตเตอร์ฟิลด์) และอาศัยอยู่ในสถานีรถไฟกลางกรุงปารีส หลังจากพ่อของเขาเสียชีวิต (จู๊ด ลอว์) ส่วนลุงขี้เมาก็จมน้ำตาย (เรย์ วินสโตน) เด็กชายไม่เพียงเผชิญกับความยากจนหิวโหยเท่านั้น แต่ยังต้องรับมือกับพนักงานประจำสถานีรถไฟจอมเผด็จการ (ซาชา บารอน โคเฮน) ที่ต้องการจะส่งเด็กชายไปบ้านเมตตา นอกจากจะเป็นผลงานดรามาบีบอารมณ์แล้ว Hugo ยังถือเป็นจดหมายรักของสกอร์เซซีต่อภาพยนตร์อีกด้วย ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างเด็กชายกับเจ้าของร้านขายของเล่น (เบน คิงส์ลีย์) ซึ่งปรากฏว่าเป็น จอร์จ เมลิเยส์ เจ้าของผลงานหนังชื่อดังอย่าง A Trip to the Moon (1902)

โปรดิวเซอร์ เกรแฮม คิง ซึ่งเคยร่วมงานกับสกอร์เซซีมาแล้วหลายครั้ง ได้อ่านร่างแรกของนิยายในปี 2007 และสนใจอยากนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ แต่เนื่องจากสกอร์เซซีในตอนนั้นยังติดถ่ายทำ Shutter Island อยู่ ผู้กำกับจึงถูกเปลี่ยนตัวมาเป็น คริส เวดจ์ (Ice Age) แต่การเตรียมงานสร้างกลับไม่ก้าวหน้าไปไหน สุดท้ายหลังจากได้อ่านบทร่างแรกของ จอห์น โลแกน สกอร์เซซีจึงตัดสินใจทำหนังเรท PG เป็นเรื่องที่สองในอาชีพผู้กำกับถัดจาก The Age of Innocence เมื่อ 18 ปีก่อน แต่การถ่ายทำด้วยระบบ 3-D นั้นสร้างความยุ่งยากไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นระหว่างถ่ายทำ ซึ่งต้องใช้การจัดแสงที่ซับซ้อน ขณะเดียวกันหลายครั้งสกอร์เซซี่มักเผลอบ่นว่าภาพโฟกัสไม่ชัด โดยลืมว่าเขาตรวจสอบฟุตเตจรายวันโดยไม่ได้ใส่แว่นสามมิติ

นับแต่ฉากเปิดเรื่อง คุณจะสังเกตเห็นว่าสกอร์เซซีเน้นใช้กล้องสามมิติเพื่อสร้างความลึกให้ภาพ สถานีรถไฟบ่อยครั้งจะเต็มไปด้วยควัน ไอน้ำ ทั้งจากหัวจักรรถไฟ ไปจนถึงครัวซองต์ร้อนๆ ซึ่งช่วยแยกโฟร์กราวด์ออกจากแบ็คกราวด์ ส่งผลให้ทางเดินภายในสถานีรถไฟ ช่องซื้อตั๋วของผู้โดยสาร และลานจอดรถไฟให้ความรู้สึกเหมือนเขาวงกต ขณะอูโกวิ่งผ่านไปตามจุดต่างๆ

ถึงแม้ว่าเทคนิคสามมิติจะถูกนำมาใช้เป็นจุดขายแบบผิดๆ หลายครั้ง แต่สกอร์เซซีเชื่อว่ามันเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกับหนังเรื่องนี้ หลังจากเขาได้ดู Avatar ของ เจมส์ คาเมรอน “ผมสะสมรูปภาพสามมิติมานานหลายปี ตอนเด็กๆ ผมจะมีโปสการ์ดสำหรับเอาไว้ใส่ดูในกล้องสามมิติ แล้วจ้องดูมันด้วยความตื่นตะลึง” ผู้กำกับรางวัลออสการ์จาก The Departed กล่าว “เมื่อคุณดู Hugo คุณจะรู้สึกเหมือนตัวเองอยู่ในเหตุการณ์ คุณสามารถมองเห็นโดยรอบตัวละคร สัมผัสได้ถึงละอองฝุ่น ราวกับกำลังอยู่ในสถานที่อีกแห่งซึ่งไม่ใช่โรงภาพยนตร์”

จอห์น โลแกน บอกว่า แม้หนังของสกอร์เซซีจะอลังการ เหนือจริง หรือรุนแรงมากแค่ไหน แต่พวกมันทุกเรื่องล้วนเชื่อมโยงด้วยแกนหลักเดียวกัน “ลึกๆ แล้วมาร์ตี้เป็นพวกมนุษยนิยม สิ่งที่เขาสนใจนอกเหนือจากความสำเร็จทางด้านเทคนิค คือ การเข้าถึงจิตวิญญาณของมนุษย์ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็น เทรวิส บิกเคิล ใน Taxi Driver หรือ อูโก กาเบรต์ ใน Hugo นั่นคือสิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุด”


วู้ดดี้ อัลเลน (Midnight in Paris)

อะไรเป็นสาเหตุให้ Midnight in Paris กลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดในรอบ 25 ปีของ วู้ดดี้ อัลเลน (เมื่อปรับตามอัตราเงินเฟ้อแล้ว มันยังถือว่าทำเงินได้น้อยกว่า Hannah and Her Sisters, Manhattan และ Annie Hall) หลายคนเชื่อว่าเพราะมนต์เสน่ห์ของปารีส ที่โรแมนติก ชวนให้ค้นหาได้ไม่รู้จบ (ซึ่งอัลเลนและผู้กำกับภาพ ดาริอุส คอนด์จิ พิสูจน์ให้เห็นตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง) ขณะบางคนยกเครดิตให้อารมณ์ถวิลหาอดีตของหนัง เมื่อนักเขียน (โอเวน วิลสัน) ในเรื่องมีโอกาสย้อนเวลากลับไปอดีต เพื่อพบกับศิลปินชื่อดังมากมาย อาทิ เออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์, เอฟ. สก็อต ฟิทซ์เจอรัลด์, ซัลวาดอร์ ดาลี และปาโบล ปิกัสโซ เป็นต้น

ถ้า Hugo เป็นจดหมายรักของสกอร์เซซีถึงภาพยนตร์ Midnight in Paris ก็เป็นจดหมายรักของอัลเลนต่อนครแห่งความรัก โดยชื่อหนังเป็นสิ่งที่อัลเลนคิดได้ก่อนจะเริ่มเขียนบทเสียอีก “ผมคิดว่าจะถ่ายหนังโรแมนติก เพราะเราทุกคนเติบโตมากับกรุงปารีสแบบที่เห็นในหนังโรแมนติกทั้งหลาย ผมคิดชื่อหนังได้ก่อน แต่ตลอดห้าหรือหกสัปดาห์ต่อจากนั้น ผมได้แต่นั่งคิดว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงเที่ยงคืนที่กรุงปารีส มีคนสองคนมาพบรักกัน? พวกเขาคบชู้กันอยู่? จนกระทั่งวันหนึ่งผมก็เกิดปิ๊งไอเดียให้ตัวละครเอกเดินเล่นบนถนนในกรุงปารีสยามค่ำคืน แล้วจู่ๆ ก็มีรถแวะมาจอด จากนั้นกลุ่มคนที่น่าสนใจก็ลงจากรถมาพาเขาออกไปผจญภัย” อัลเลนกล่าว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในความสำเร็จของหนังอยู่ตรงการคัดเลือกนักแสดงได้เหมาะกับบท โดยเฉพาะวิลสันที่สวมวิญญาณเป็นอัลเลนได้อย่างยอดเยี่ยม ดูน่าเห็นใจและเปี่ยมเสน่ห์ในเวลาเดียวกัน บางทีวิธีการกำกับแบบไม่เจ้ากี้เจ้าการและเปิดกว้างต่อความคิดเห็นของอัลเลนคงเป็นสาเหตุให้นักแสดงเกือบทุกคนอยากร่วมงานกับเขา “วู้ดดี้ให้อิสระผมอย่างเต็มที่ในการลองวิธีที่แตกต่าง โดยไม่จำเป็นต้องยึดคำพูดทุกคำตามบท ผมรู้สึกผ่อนคลายมาก และกล้าจะทดลองอย่างเต็มที่” วิลสันอธิบาย

การมอบความไว้วางใจดังกล่าวส่งผลให้นักแสดงกดดันตัวเองเพื่อมอบผลงานที่ดีที่สุด ดังจะเห็นได้ว่าดาราในหนังของเขามักเดินหน้าเข้าชิงออสการ์และคว้ารางวัลมาครองอย่างต่อเนื่อง “ทันทีที่ตกลงจ้างพวกเขา ผมจะบอกทันทีว่าพวกเขามีอิสระเต็มที่ ถ้าแก๊กตลก หรือบทพูดอะไรที่ผมเขียนมันไม่เป็นธรรมชาติ ทำให้พวกเขารู้สึกเขินที่จะพูดออกมา พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องพูดตามนั้น ผมไม่ได้เข้มงวดเรื่องนี้เลย พวกเขาจะเลือกเปลี่ยนประโยคอย่างไรก็ได้ ตราบเท่าที่สามารถทำให้คำพูดนั้นดูสมจริง น่าตื่นเต้น หรือตลกขบขัน และผมยินดีจะอ้างเครดิตแทนพวกเขา” อัลเลนกล่าว

โดยธีมแล้ว Midnight in Paris คล้ายคลึงกับผลงานชั้นเยี่ยมอีกเรื่องของอัลเลน นั่นคือ The Purple Rose of Cairo เกี่ยวกับแม่บ้านที่หนีจากชีวิตจำเจด้วยการไปดูหนังเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งวันหนึ่งตัวละครในหนังก็กระโดดออกมาทำความรู้จักเธอ กลิ่นอายแฟนตาซี และอารมณ์โรแมนติกอบอวลในหนังทั้งสองเรื่อง เช่นเดียวกับบทสรุปที่ว่าคนเราไม่อาจหลีกหนีจากความเป็นจริงในปัจจุบันได้ เพราะชีวิตเป็นเรื่องน่าผิดหวัง เราจึงคิดค้นแฟนตาซีขึ้นเพื่อปลอบประโลมใจ ดังจะเห็นได้ว่ากิลหลงใหลเสน่ห์ของปารีสในยุค 1920 จนไม่อยากกลับคืนสู่ปัจจุบัน ขณะที่เอเดรียนา (มาริยง โกติญาร์) ผู้หญิงที่เขาตกหลุมรักในยุคนั้นกลับเห็นว่ายุค Belle Epoque (ปลายศตวรรษที่ 19 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1) น่าหลงใหลกว่าปัจจุบันของเธอมากมายนัก... มนุษย์มักค้นหาหนทางที่จะไม่พอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่และเป็นไปได้เสมอ


เทอร์เรนซ์ มาลิก (The Tree of Life)

ตำนานที่สร้างความสยองไม่รู้ลืมเกี่ยวกับ เทอร์เรนซ์ มาลิก ซึ่งเหล่านักแสดงเก็บมาเล่าต่อกันเป็นทอดๆ คือ หายนะอันบังเกิดแก่ เอเดรียน โบรดี้ ที่ถูกจ้างมาเป็นดารานำของหนังเรื่อง The Thin Red Line แต่สุดท้ายกลับลงเอยกลายเป็นแค่ตัวประกอบโผล่หน้ามาสองสามฉาก เพราะทุกฉากเด่นของเขาถูกตัดทิ้งจนเหี้ยน เช่นเดียวกัน ฌอน เพนน์ ก็ออกมาบ่นว่า The Tree of Life ที่ปรากฏบนจอนั้นแตกต่างจากบทที่เขาได้อ่านเหมือนเป็นคนละเรื่อง (พอจะเข้าใจได้ว่าบทของเขาคงถูกตัดออกมากอยู่) นั่นเป็นวิธีการทำงานอันเป็นเอกลักษณ์ของมาลิก ซึ่งสร้างหนังในห้องตัดต่อ และนิยมเปลี่ยนบทพูด หรือแก้ไขบทไปเรื่อยๆ ระหว่างถ่ายทำ “โธ่ เจสสิก้า อย่าสนใจบทให้มากนักเลย” เจสสิก้า แชสเทน เล่าถึงคำตอบของมาลิกหลังจากเธอจำไม่ได้ว่าบทเขียนว่าอย่างไร

เนื่องจากมาลิกเองก็ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองต้องการอะไรจนกว่าเขาจะเห็นกับตา ทุกคนในทีมงานจึงต้องตื่นตัวและเตรียมพร้อมตลอดเวลา “กิจวัตรคือการตื่นแต่เช้าตรู่ พลางนึกสงสัยว่าตารางงานจะเป็นอย่างไร การทำงานในกองถ่ายของมาลิกต้องใช้ไหวพริบเหนือมนุษย์” แจ๊กกาลีน เวสต์ นักออกแบบเครื่องแต่งกายกล่าว

หนังถูกแบ่งออกเป็นสามช่วงใหญ่ๆ 1) การถ่ายทอดให้เห็นกำเนิดแห่งจักรวาล 2) ภาพชีวิตจากความทรงจำในช่วงวัยเด็ก 3) ภาพชีวิตปัจจุบันในวัยผู้ใหญ่ ตลอดจนจินตนาการเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย หรือจุดสิ้นสุดแห่งกาลเวลา ในช่วงแรกมาลิกได้ผสมผสานเทคนิคพิเศษเข้ากับฟุตเตจปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เขาถ่ายเก็บไว้ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา นับแต่เขาปิดกล้องหนังเรื่องแรก Badlands (1973) เช่น สุริยุปราคา ภูเขาไฟระเบิด ฯลฯ พร้อมกันนั้น ผู้เชี่ยวชาญจาก NASA ก็ถูกจ้างมาร่วมงานกับ ดั๊กลาส ทรัมบูล อัจฉริยภาพในสาขาเทคนิคพิเศษด้านภาพ จากผลงานอันน่าตะลึงใน 2001: A Space Odyssey และ Blade Runner เพื่อร่วมกันสรรค์สร้างให้ภาพจำลองของจักรวลถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์มากที่สุด

ขณะเดียวกัน ส่วนของเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวในเมืองเล็กๆ ช่วงทศวรรษ 1960 จะเป็นการถ่ายทำในโลเกชั่นจริงของรัฐเท็กซัส โดยใช้บ้านสามหลังที่หน้าตาเหมือนๆ กันเป็นบ้านของครอบครัวโอ’เบรียน อันประกอบไปด้วยคุณพ่อที่เข้มงวด (แบรด พิทท์) คุณแม่ที่เปี่ยมเมตตา (แชสเทน) และลูกชายสามคน โดยในช่วงต้นเรื่องหนังแสดงให้เห็นว่าคนหนึ่งเสียชีวิตขณะที่เขาอายุได้ 18 ปี สาเหตุที่จำเป็นต้องใช้บ้านถึงสามหลังเนื่องจากมาลิกยืนกรานที่จะใช้แสงธรรมชาติในการถ่ายหนังเป็นหลัก ทำให้ทีมงานต้องย้ายกองถ่ายไปตามพระอาทิตย์ พร้อมทั้งเจาะหน้าต่างเพิ่มเพื่อเปิดรับแสง นอกจากนี้ หากคุณเคยดูหนังของเขามาบ้างจะไม่แปลกใจว่าบ่อยครั้งมาลิกยังชอบเบนกล้องจากนักแสดงไปจับภาพท้องฟ้า ใบไม้ หรือกระทั่งผีเสื้อ ราวกับจะบอกว่ามนุษย์นั้นเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ เมื่อเทียบกับธรรมชาติรอบข้าง หรือจักรวาลอันกว้างใหญ่

เป็นที่รู้กันดีว่า The Tree of Life มีความเป็นส่วนตัวค่อนข้างสูง โดยเฉพาะชีวิตของตัวละครในเท็กซัสยุค 1960 ที่สะท้อนอดีตวัยเด็กของมาลิก ไม่ว่าจะเป็นความตายของคนในครอบครัว หรือคุณพ่อที่เข้มงวด “ตอนได้อ่านบทครั้งแรก ผมถึงกับช็อกเมื่อพบว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ” แจ๊ค ฟิสค์ นักออกแบบงานสร้างที่ร่วมงานกับมาลิกในหนังทุกเรื่องกล่าว “แต่พอได้ดูหนังผมกลับพบว่ามันมีความเป็นสากลมากๆ”

ไม่มีความคิดเห็น: