วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 17, 2555

Oscar 2012: Best Supporting Actor


เคนเน็ธ บรานาห์ (My Week with Marilyn)

คนแรกที่ตระหนักถึงอันตรายของการรับบทเป็น ลอว์เรนซ์ โอลิเวียร์ ใน My Week with Marilyn คือ ตัว เคนเน็ธ บรานาห์ เอง เขารู้ดีว่ามันเป็นการคัดเลือกนักแสดงแบบ “ชัดเจนเกินไป” ทั้งนี้เพราะบรานาห์เป็นนักแสดง/ผู้กำกับที่มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับโอลิเวียร์อยู่เสมอ นับแต่เขากำกับและนำแสดงในหนังซึ่งดัดแปลงจากบทละครเชคสเปียร์อย่าง Henry V และ Hamlet หรือข้อเท็จจริงที่ว่าเขา เช่นเดียวกับโอลิเวียร์ นิยมกำกับนักแสดงหญิงที่ตนกำลังคบหา หรือแต่งงานอยู่กินด้วยกัน

สำหรับบรานาห์ การได้รับเกียรติให้เข้าชิง หรือคว้ารางวัลใดๆ นั้นถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น แต่เขาก็ไม่ลืมที่จะมองภาพรวมไปพร้อมๆ กันด้วย “จะบอกให้ว่าการแสดงหนังซึ่งคนอยากดูนั้นเป็นความสุขอย่างยิ่ง นั่นคือขั้นแรก” บรานาห์กล่าว “คุณได้เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลจากบทนั้น มันน่าชื่นใจ นั่นเป็นขั้นที่สอง ส่วนอื่นๆ ที่เหลือต่อจากนั้นถือเป็นโบนัส โดยรางวัลใหญ่จริงๆ คือ การอยู่ในความสนใจ เพราะนั่นหมายความว่าหนังของคุณจะมีคนมาดูมากขึ้นอีก ซึ่งหมายความว่าในคราวต่อไป เมื่อคุณอยากทำงานที่ไม่ค่อยตลาดมากนัก คุณสามารถจะชี้ไปยังตัวอย่างนี้แล้วบอกกับเจ้าของเงินทุนว่า นี่ไง เห็นไหม เรื่องนี้ยังมีคนมาดูเลย”

ปีนี้ถือเป็นปีทองของบรานาห์ เพราะนอกจากจะได้เข้าชิงออสการ์สาขาการแสดงเป็นครั้งที่สองแล้ว เขายังกำกับหนังซัมเมอร์ฟอร์มใหญ่อย่าง Thor ซึ่งทำเงินได้น่าพอใจ และสามารถนำไปใช้เป็นตัวอย่างล่อหลอกผู้บริหารสตูดิโอ เวลาที่เขาอยากกำกับหนังที่อาจจะไม่ตลาดเท่าไหร่ได้ โดยชี้ไปยังความสำเร็จ Thor

อารมณ์ขันใน My Week with Marilyn ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างโอลิเวียร์กับ มาริลีน มอนโร (มิเชล วิลเลียมส์) ซึ่งเดินทางมาลอนดอนเพื่อถ่ายทำหนังเรื่อง The Prince and the Showgirl พร้อมแนวคิดแบบเมธ็อด ซึ่งนักแสดงที่ถูกฝึกมาด้วยวิธีการดั้งเดิมอย่างโอลิเวียร์ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจาก วิเวียน ลีห์ (จูเลีย ออร์มอนด์) ภรรยาของเขาเริ่มหันเหไปในทางเดียวกันหลังจากได้ร่วมงานกับ อีเลีย คาซาน ใน A Streetar Named Desire โอลิเวียร์หงุดหงิดที่มาริลีนยืนกรานว่าเธอจำเป็นต้อง “รู้สึก” ถึงความพร้อม จึงจะเริ่มทำงานได้ ซึ่งนั่นอาจหมายถึงสามวันหลังจากเขาเรียกเธอให้มาเข้ากล้อง

แต่ขณะเดียวกัน บรานาห์ก็แสดงให้เห็นความเจ็บปวดของตัวละคร ยามนั่งดูหนังแต่ละฉากที่ถ่ายทำไป แล้วพบว่ามาริลีน “เปล่งประกาย” เหนือนักแสดงทุกคน พลังดาราแบบนั้นเป็นสิ่งที่เขาโหยหา แต่ไม่เคยพบ ขณะอีกฝ่ายกลับต้องการจะพิสูจน์ว่าตนเองเป็นนักแสดงชั้นยอด ไปๆ มาๆ คนดูจึงได้เห็นแง่มุมที่เปราะบาง ปราศจากความมั่นใจของดาราชื่อก้องทั้งสองคน ต่างฝ่ายต่างต้องการในสิ่งที่อีกฝ่ายไม่สามารถมอบให้ได้ “ในฐานะศิลปิน เธออยากซึมซับความเก่งกาจจากเขา เธอคาดหวังว่าจะได้เรียนรู้จากปรามาจารย์ แต่เขากลับกลายเป็นได้แค่นักแสดงชั้นยอด ซึ่งไม่อาจอธิบายตัวเองได้ว่าทำไมเขาจึงเชี่ยวชาญในอาชีพนักแสดงอย่างที่เป็นอยู่” บรานาห์อธิบาย “และมันเป็นเรื่องน่าลำบากใจสำหรับเขาเช่นกันที่เธอคือหัวเรือใหญ่ของหนัง ที่สร้างขึ้นด้วยเงินเธอ และเธอมีอำนาจตัดสินใจ ดังนั้น พลังอัตตาแห่งเพศชายที่อยู่เบื้องหลังจึงถือเป็นแรงขับเคลื่อนเรื่องราวที่น่าสนใจ”


โจนาห์ ฮิล (Moneyball)

คงไม่มีใครสงสัยในพรสวรรค์ทางการแสดงของ โจนาห์ ฮิล อีกต่อไป หลังจากหนังเรื่อง Moneyball เข้าฉาย โดยเขารับบทเด่นเป็น ปีเตอร์ แบรนด์ นักเศรษฐศาสตร์สมองไวที่ บิลลี่ บีน (แบรด พิทท์) จ้างมาเป็นผู้ช่วยในการรื้อถอนฐานโครงสร้างการจัดการทีมเบสบอลเสียใหม่ และหันมาให้ความสำคัญกับนักกีฬาที่มักจะถูกประเมินค่าต่ำกว่าความเป็นจริง แม้ว่าบทของเขาใน Moneyball จะแฝงอารมณ์ขันไว้ไม่น้อย แต่มันตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับภาพลักษณ์ฝังหัวคนดูเกี่ยวกับนักแสดงหนุ่มคนนี้ นับแต่เขาโด่งดังขึ้นมาจากบทวัยรุ่นอารมณ์ร้อนในหนังตลกสุดฮาเรื่อง Superbad ที่ทำเงินในอเมริกามากถึง 121 ล้านเหรียญ

หลังจากนั้น ฮิลก็มักจะขลุกอยู่ตามกองถ่ายของ จัดด์ อพาโทว์ แล้วเล่นบทรับเชิญเล็กๆ ในหนังเรื่อง Forgetting Sarah Marshall และ Funny People เช่นเดียวกับนักแสดงหนุ่มคนอื่นๆ ที่เขาช่วยผลักดันให้เข้าสู่วงการ ฮิลตระหนักดีว่าเขาไม่สามารถรับบทวัยรุ่นไม่รู้จักโตตลอดไปได้ “วันหนึ่งหน้าต่างบานนั้นจะปิดลงอย่างรวดเร็ว” ผู้กำกับ Knocked Up และ The 40-Year-Old Virgin กล่าว

ในปี 2010 ฮิลเริ่มทดลองเส้นทางแปลกใหม่ในหนังตลกที่แตกต่างกันอย่าง Get Him to the Greek และ Cyrus แต่จุดผกผันจริงๆ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ เบนเน็ตต์ มิลเลอร์ ตัดสินใจเลือกฮิลมารับบท ปีเตอร์ แบรนด์ ไม่ใช่เพียงเพราะทั้งสองสนิทสนมกันมานานหลายปี แต่เพราะเขาสัมผัสได้ว่านักแสดงหนุ่มน่าจะรู้สึกเชื่อมโยงกับแรงปรารถนาและความทะเยอทะยานของตัวละครได้ไม่ยาก “มันเป็นเรื่องราวของกลุ่มคนที่มักจะถูกมองข้าม และข้อเท็จจริงที่ว่าหลายคนได้ประโยชน์จากอคติ ขณะที่อีกหลายคนต้องทนทุกข์เพราะอคติเดียวกัน” มิลเลอร์กล่าวถึงหนังเรื่อง Moneyball “โจนาห์มองเห็นแล้วว่าเส้นทางอาชีพนักแสดงของตัวเองกำลังมุ่งไปทางไหน และรู้ดีว่าเขาต้องการสิ่งอื่นที่แตกต่างออกไปเช่นกัน เขาไม่อยากให้อคติมาจำกัดหนทางในการเจริญเติบโต”

ความสำเร็จส่วนหนึ่งของ Moneyball อยู่ตรงการแสดงที่เข้าขากันของพิทท์กับฮิล โดยเฉพาะในฉากที่พวกเขาพบกันเป็นครั้งแรก ซึ่งต่างฝ่ายต่างยังศึกษากันและกันอยู่ และฉากที่พวกเขาจับมือร่วมกันต่อรองเพื่อซื้อขายนักกีฬาในทีม โดยต่างรับส่งบทสนทนา ตลอดจนลูกล่อลูกชนกันอย่างลื่นไหล จนไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดทั้งสองจึงได้เข้าชิงรางวัลออสการ์พร้อมกัน มันเป็นบทที่ต้องพึ่งพาเคมีระหว่างกันไม่ต่างจากบทคู่รักในหนังโรแมนติก

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในครั้งนี้ ตลอดจนความยอมรับและเสียงชื่นชมไม่ได้หมายความว่าฮิลจะหันมาเล่นหนังชีวิตเป็นการถาวร แล้วเชิดใส่หนังตลก ความจริง เขาตั้งใจว่าจะรอเวลาสักพัก เช่นเดียวกับช่วงเวลาหลังจาก Superbad เพื่อเฟ้นหาบทที่น่าสนใจจริงๆ “หนังตลกถูกประเมินค่าต่ำมาตลอด มันเป็นเรื่องบ้ามากๆ ถ้าใครสักคนจะพูดว่า Moneyball ทำให้อาชีพนักแสดงของผมมีคุณค่า หรือเป็นที่ยอมรับ” ฮิลกล่าว “ผมเล่นหนังอย่าง Moneyball เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าผมทำได้นะ อย่าคิดว่าผมไม่มีทักษะพอ แต่ผมไม่ได้ทำเพียงเพราะคนเชื่อว่าหนังตลกมันมีคุณค่าน้อยกว่า จะว่าไปแล้วผมมีเงินใช้จ่ายอยู่ได้ในปัจจุบันก็เพราะหนักตลกนี่แหละ”


นิค นอลตี้ (Warrior)

หลังจากเวียนว่ายอยู่ในวงการมานานกว่า 4 ทศวรรษ เล่นหนังมากกว่า 50 เรื่อง นิค นอลตี้ ในวัย 70 ปีกลับไม่คิดจะหยุดพักผ่อน หรือชิลๆ กับชีวิตแต่อย่างใด ตรงกันข้าม เขามีโครงการหนังในมือกว่า 7 เรื่อง แถมยังเดินสายเป็นดารารับเชิญให้หนังดังๆ อย่าง Tropic Thunder และ Zookeeper อีกด้วย โดยล่าสุดบทเด่น ซึ่งมีรายละเอียดบางอย่างใกล้เคียงกับชีวิตจริงของเขาในหนังเรื่อง Warrior ทำให้นอลตี้ได้หวนคืนเวทีออสการ์อีกเป็นครั้งที่สาม เขาแสดงเป็น แพ็ดดี้ คอนลอน คุณพ่อขี้เหล้าที่พยายามจะปรับปรุงตัว แล้วหาทางกลับมาคืนดีกับลูกชายสองคน ที่ต่อมาลงเอยกลายเป็นคู่แข่งบนเวทีประลองศิลปะการป้องกันตัว

จริงอยู่ นอลตี้อาจไม่เคยลงไม้ลงมือกับลูกๆ เพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์เหมือนแพ็ดดี้ แต่เขารู้สึกเชื่อมโยงกับตัวละครอย่างลึกซึ้งจนยินดีที่จะรอเวลาสามปีเพื่อรับบทนี้ ซึ่งผู้กำกับ เกวิน โอ’คอนเนอร์ เขียนขึ้นเพื่อเขาโดยเฉพาะ ด้วยความหวังว่ามันจะช่วยพลิกฟื้นอาชีพการแสดงของนอลตี้ได้เหมือน Pulp Fiction ทำกับ จอห์น ทราโวลต้า และ The Wrestler ทำกับ มิคกี้ รู้ค “ผมไม่เคยค้นพบความสุขสงบที่แท้จริง การแสดงก็เหมือนวิธีระบายออกอย่างหนึ่ง” นอลตี้กล่าว “เกวินกับผมจึงตัดสินใจที่จะสำรวจประเด็นปัญหาจริงๆ ในชีวิตของผม”

หนึ่งในปัญหาดังกล่าว คือ ผลกระทบจากโรคพิษสุราเรื้อรัง ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์จับกุมอันโด่งดังในปี 2002 ด้วยข้อหาขับรถขณะมึนเมา พร้อมกับภาพถ่ายหน้าตรงจากสถานีตำรวจของนอลตี้ในสภาพสุดโทรม ทรงผมเหมือนเพิ่งลุกจากเตียงและสวมเสื้อเชิ้ตลายฮาวายก็กลายเป็นภาพแชร์สุดฮิตทางอินเตอร์เน็ท

โอ’คอนเนอร์เป็นเพื่อนสนิทและเพื่อนบ้านของนอลตี้ พวกเขาเกือบจะได้ร่วมงานกันมาก่อนใน Pride and Glory แต่ฝ่ายหลังดันขอถอนตัวกะทันหันก่อนเปิดกล้องเพียงไม่กี่สัปดาห์ด้วยข้ออ้างว่าต้องผ่าตัดหัวเข่า... อย่างน้อยนั่นคือเหตุผลที่เขาประกาศกับสื่อมวลชน “โดยปกติ เหตุการณ์แบบนั้นคงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างนักแสดงกับผู้กำกับขาดสะบั้นไปแล้ว” นอลตี้กล่าว “แต่เกวินรู้จักผมดี เขารู้ว่าตอนนั้นผมยังเป็นคนที่... เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้”

การเคยร่วมแสดงในหนังฮิตอย่าง 48 Hours, The Prince of Tides และ Cape Fear ไม่ได้ทำให้นอลตี้หยิ่งยโสแบบดาราดัง แต่กระนั้นนักแสดงร่างสูง 6 ฟุต 1 นิ้ว เสียงแหบแห้ง กลับสร้างความรู้สึกหวั่นเกรงให้กับสองดาราหนุ่มในเรื่องไม่น้อย เขาจงใจหลบหน้า โจเอล เอ็ดเกอร์ตัน และ ทอม ฮาร์ดี้ ซึ่งรับบทเป็นลูกชาย เพื่อให้ความรู้สึกห่างเหินระหว่างตัวละครดูสมจริง “ผมได้ข่าวว่าเขาเป็นคนเคร่งเครียด เอาจริงเอาจังไม่แพ้ เดอ นีโร ผมเคยเห็นภาพถ่ายหน้าตรงตอนเขาโดนจับ แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็จำการแสดงระดับสุดยอดของเขาได้ด้วย” เอ็ดเกอร์ตันกล่าว “ในฉากอารมณ์หนักๆ นิคเปิดเผยให้เห็นจิตวิญญาณภายในของตัวละครอย่างหมดเปลือก จนผมกล้าพูดได้เลยว่าเขาเก่งไม่แพ้ เดอ นีโร” แน่นอน หนึ่งในฉากนั้น คือ การเผชิญหน้าครั้งแรกของเอ็ดเกอร์ตันกับนอลตี้ โดยคนหนึ่งพยายามอ้อนวอนขอความเห็นใจ ยืนกรานว่าเขาปรับปรุงตัวแล้ว ส่วนอีกคนกลับสวนกลับด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวอย่างไม่ใยดี น้ำเสียงสั่นเครือ จนบางครั้งพูดตะกุกตะกัก และแววตาของนอลตี้บ่งบอกความเศร้า ความรู้สึกผิด ขณะเดียวกันความพยายามอย่างสิ้นหวังที่จะแก้ไขปัจจุบันของเขาก็ทำให้คนดูอดนึกสงสารและเห็นใจไม่ได้


คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ (Beginners)

บทฮาล พ่อม่ายวัยชราที่รอจนกระทั่งภรรยาซึ่งอยู่กินร่วมกันมา 45 ปีเสียชีวิตลงถึงบอกความลับกับลูกชาย (ยวน แม็คเกรเกอร์) ว่าเขาเป็นเกย์ในหนังเรื่อง Beginners คือ บทพิสูจน์ให้เห็นว่าบางครั้งชีวิตก็เก็บช่วงเวลาที่ดีที่สุดไว้ตอนท้าย เพราะนับแต่นั้นเป็นต้นมา ฮาลกลายเป็นตัวละครที่มีความสุขที่สุดในเรื่อง กระทั่งการป่วยเป็นโรคมะเร็งขั้นสุดท้ายก็ไม่อาจทำลายคืนวันให้หมองหม่นได้ “นั่นเป็นเพราะเขาค้นพบตัวเอง และเป็นอิสระจากภาระของความพยายามจะเก็บกดอารมณ์รักร่วมเพศเอาไว้ภายใน นอกจากนี้ เขายังพบรักอีกด้วย” คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ ผู้รับบทดังกล่าวอธิบาย

หลังเกษียณจากงานดูแลพิพิธภัณฑ์ ฮาลใช้เวลาส่วนใหญ่จัดปาร์ตี้สังสรรค์กับเหล่าเพื่อนเกย์ อ่านหนังสือเกี่ยวกับเกย์ เพื่อให้เวลาที่เหลืออยู่น้อยนิดมีคุณค่ามากที่สุด เนื่องจากหนังเล่าถึงเรื่องราวความรักของตัวละครลูกชายควบคู่ไปด้วย บทของพลัมเมอร์จึงมีเวลาบนจอไม่มากนัก แต่เช่นเดียวกับฮาล เขาใช้มันอย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นฉากฮาลตื่นขึ้นมาบนเตียงในโรงพยาบาล แล้วสับสนว่าตัวเองแต่งงานกับนางพยาบาล หรือเมื่อเขารับรู้ข่าวร้ายจากหมอเป็นครั้งแรก ภาพโคลสอัพใบหน้าพลัมเมอร์สะท้อนให้เห็นอารมณ์หลากหลายหลั่งไหลอยู่ภายในแววตา แต่นอกเหนือจากฉากสะเทือนใจเหล่านั้นแล้ว ประกายความสุขมักปรากฏให้เห็น ทุกครั้งที่ฮาลมีโอกาสได้อยู่กับคนรักอายุน้อยกว่า (โกแรน วิสนิก) จนกระทั่งคนดูสามารถสัมผัสได้

ก่อนหน้านี้พลัมเมอร์เคยรับบทเป็นเกย์มาแล้วครั้งหนึ่งในหนังโทรทัศน์ปี 1980 เรื่อง The Shadow Box กำกับโดย พอล นิวแมน เขาบอกว่าบทรักร่วมเพศไม่ได้สร้างความกังวลใจให้เขาแต่อย่างใด “มันคือการรับบทเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เขาก็ไม่ต่างจากคนทั่วไป ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้” นักแสดงวัย 82 ปี ซึ่งเริ่มโด่งดังเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกจากบท กัปตัน ฟอน แทรป ในหนังเพลงคลาสสิกเรื่อง The Sound of Music กล่าว

น่าประหลาดที่อาชีพของพลัมเมอร์เริ่มกลับมารุ่งโรจน์อีกครั้งในช่วงบั้นปลาย จนเขาเองก็ยอมรับว่าไม่เคยรับงานแสดงมากเท่านี้มาก่อนในชีวิต โดยจุดพลิกผันน่าจะเริ่มต้นจากการรับบทเป็น ไมค์ วอลเลซ ในหนังเรื่อง The Insider ไม่นานหลังคว้ารางวัลโทนีจากละครเวทีเรื่อง Barrymore จากนั้น เขาก็ได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรกจากบท ลีโอ ตอลสตอยใน The Last Station และปีนี้นอกจาก Beginners แล้ว เขายังรับบทสมทบในหนังดังเรื่อง The Girl with the Dragon Tattoo อีกด้วย “การทำงานช่วยให้ผมรู้สึกเหมือนยังหนุ่มแน่น” เขากล่าว

ผู้กำกับ ไมค์ มิลส์ สร้างหนังเรื่องนี้โดยได้แรงบันดาลจากชีวิตของพ่อเขา ข้อเท็จจริงซึ่งพลัมเมอร์เพิ่งทราบหลังตกลงรับบทแล้ว “เขาชอบฟังผมเล่าเรื่องพ่อ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับหนังเลย” มิลส์กล่าว พร้อมยกเครดิตให้พลัมเมอร์ในการกำจัดความรู้สึกสงสารตัวเองออกจากบทฮาลอย่างหมดสิ้น คงไว้เพียงความสุขของชายที่ปลดแอกตัวเองจากพฤติกรรมหลบๆ ซ่อนๆ นอกจากนี้ เพื่อสร้างสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างพ่อลูก เขายังบอกให้พลัมเมอร์กับแม็คเกรเกอร์ออกไปช็อปปิ้งหาซื้อเสื้อผ้าให้คุณพ่อเกย์คนใหม่อีกด้วย “มันสนุกอย่าบอกใคร เราหัวเราะกันแทบไม่หยุด” พลัมเมอร์บอก


แม็กซ์ ฟอน ซีโดว์ (Extremely Loud & Incredibly Close)

น้ำเสียงของเขาทุ้มต่ำ ก้องกังวาน และเต็มไปด้วยพลังอันลุ่มลึก นักแสดงน้อยคนนักที่จะมีน้ำเสียงโดดเด่น น่าจดจำมากเท่ากับ แม็กซ์ ฟอน ซีโดว์ ดาราระดับตำนานชาวสวีเดนที่สร้างชื่อเสียงระดับนานาชาติเมื่อปี 1957 จากบทอัศวินผู้เล่นหมากรุกกับยมทูตในหนังคลาสสิกของ อิงมาร์ เบิร์กแมน เรื่อง The Seventh Seal นับแต่นั้น ฟอน ซีโดว์ ก็ได้ร่วมงานกับเบิร์กแมนในหนังอีก 10 เรื่อง (“ถ้าไม่มีเขา ผมคงไม่มีวันนี้อย่างแน่นอน” นักแสดงวัย 82 ปีกล่าว) พร้อมกับก้าวข้ามมาเล่นหนังฮอลลีวู้ด โดยรับบทมือสังหารใน Three Days of the Condor พระเยซูใน The Greatest Story Ever Told และบาทหลวงนักล่าปีศาจใน The Exorcist โดยเมื่อสองสามปีก่อน ฟอน ซีโดว์ เพิ่งกวาดคำชมอย่างท่วมท้นจากการรับบทคุณพ่อที่ขังตัวเองอยู่ในอพาร์ตเมนต์ในหนังเรื่อง The Diving Bell and the Butterfly

เหมือนชะตากรรมเล่นตลกตรงที่ ใน Extremely Loud & Incredibly Close ฟอน ซีโดว์ กลับไม่ต้องใช้เสียงอันทรงพลังนั้นเลยสักนิด โดยตัวละครของเขา ซึ่งรู้จักกันในนาม เดอะ เรนเทอร์ เป็นชายชราลึกลับที่ก้าวเข้ามาในชีวิตของเด็กชายคนหนึ่ง ซึ่งกำลังออกตามหาล็อกที่เข้าชุดกับกุญแจที่พ่อของเขาทิ้งไว้ให้ก่อนจะเสียชีวิตระหว่างเหตุการณ์ 9/11 ชายแปลกหน้าร่วมเดินทางไปกับเด็กชาย (โธมัส ฮอร์น) ตามชุมชนต่างๆ ในกรุงนิวยอร์ก โดยสื่อสารผ่านการเขียนลงบนสมุดโน้ตที่เขาพกติดตัวตลอดเวลา นี่ถือเป็นครั้งแรกในประสบการณ์การเล่นหนังมากว่า 140 เรื่องที่ แม็กซ์ ฟอน ซีโดว์ ไม่มีโอกาสเอื้อนเอ่ยคำพูดเลยสักคำ

“มันไม่ได้เป็นเรื่องท้าทายมากมายสำหรับผม” ฟอน ซีโดว์ กล่าว “ในแง่หนึ่งเขาก็เป็นตัวละครปกติธรรมดา แค่การเผชิญหน้ากับโศกนาฏกรรมอันเลวร้ายในช่วงวัยเด็ก ทำให้เขาตัดสินใจที่จะไม่พูดอีกเลยตลอดชีวิต แล้วก็ยืนกรานรักษาสัญญาดังกล่าว แต่นอกเหนือจากนั้น เขาเป็นคนปกติธรรมดา เขาพูดผ่านการเขียน ฉะนั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องของการถ่ายทอดตัวละครที่บุคลิก หรือสภาพจิตใจแตกต่างออกไป เขาแค่เลือกที่จะไม่พูดไม่จาเท่านั้น เขาเป็นตัวละครที่น่าสนใจ และผมก็ดีใจที่ได้ข้อเสนอให้เล่นบทนี้”

ฟอน ซีโดว์ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงปารีสนับแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1990 และถือสัญชาติฝรั่งเศสนับแต่ปี 2002 เขาพบรักกับภรรยา แคทเธอรีน เบรเลต์ ระหว่างถ่ายทำหนังเรื่อง Time Is Money กับ ชาร์ล็อตต์ แรมปลิง ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส “หลังจากหย่าร้าง ผมก็กลับมาเป็นโสดอีกครั้ง” ฟอน ซีโดว์ อธิบาย (ก่อนหน้านี้เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในลอส แองเจลิส) “พอเราแต่งงานกันได้สักพัก ก็ตัดสินใจย้ายมาอยู่ปารีส และมีความสุขมาก ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่วิเศษสุด”

แม้บทในหนังเรื่องนี้จะทำให้เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งที่สอง แต่ ฟอน ซีโดว์ ยังไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงชีวิตกึ่งเกษียณของเขาไปจากเดิม “ผมยินดีอ่านบทอย่างไม่ค่อยเต็มใจนัก จริงๆ ผมไม่ควรจะรับงานอะไรแล้ว ควรจะเกษียณตัวเองเป็นการถาวร แต่บางครั้งคุณมักจะถูกกิเลสล่อหลอก ถ้าเจอบทอะไรที่น่าสนใจ ผมก็จะตกลงรับเล่น ถ้าคิดว่าตัวเองทำได้ กุญแจสำคัญสำหรับผม คือ ตัวละครแบบที่ผมไม่เคยเล่นมาก่อน ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนที่อยู่ในวงการมานานอย่างผม พวกทีมคัดเลือกนักแสดงอยากให้คุณเล่นบทที่คุณเคยทำได้ในอดีต แต่ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องน่าเบื่อ ผมคิดว่าตัวเองโชคดีที่ได้ข้อเสนอให้เล่นหนังดีๆ หลายเรื่อง แต่ผมไม่อยากทำงานเพียงเพื่อเงิน หรือให้มีงานทำ เพราะชีวิตยังมีอะไรอื่นๆ อีกมากให้ทำ” ฟอน ซีโดว์ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: