วันจันทร์, เมษายน 16, 2555

100 Innovations That Change Cinema (4)


Product placement

รูปแบบหนึ่งของการโฆษณา เมื่อยี่ห้อสินค้าถูกใส่เข้ามาในภาพยนตร์เพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ของผู้บริโภคหรือกระทั่งสร้างทัศนคติที่ดีต่อสินค้านั้นๆ หนังทุนสูง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง หรือมีดาราระดับซูเปอร์สตาร์นำแสดงย่อมดึงดูดบริษัทผู้ผลิตได้มากกว่า แต่ขณะเดียวกันทางสตูดิโอก็ต้องพิจารณาด้วยว่าสินค้าเหล่านั้นเหมาะสมกับภาพลักษณ์โดยรวมของหนังหรือไม่

product placement เริ่มต้นถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุคหนังเงียบ ดังจะเห็นได้จาก Wings (1927) กับช็อกโกแลต เฮอร์ชีย์ ไล่เรื่อยมาถึง It’s a Wonderful Life กับนิตยสาร เนชันแนล จีโอกราฟฟิก แรกทีเดียว การแฝงโฆษณาในหนังยังเป็นเรื่อหมกเม็ด และไม่มีการเปิดเผยตัวเลขแน่นอน หรือยอมรับแบบตรงไปตรงมา แต่หลังจากทศวรรษ 1980 product placement ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ และหลายครั้งค่อนข้างโจ่งแจ้ง ไม่กระมิดกระเมี้ยนอีกต่อไป ดังจะเห็นได้จากแคมเปญโปรโมตรถ BMW รุ่นใหม่กับหนังเรื่อง Golden Eye เมื่อปี 1995

อย่างไรก็ตาม หนังบางเรื่องดูเหมือนจะก้าวล้ำเส้นความพอดี เช่น I, Robot ซึ่งถูกคัดเลือกจากเว็บไซต์ของอังกฤษให้เป็นหนังยอดแย่อันดับหนึ่งสำหรับกลยุทธ์ product placement เนื่องจากในช่วงสิบนาทีแรกของหนัง ขบวนสินค้าจำนวนมาก (ออดี้, เฟ็ดเอ็กซ์, โอวัลติน, คอนเวิร์ส, เจวีซี ฯลฯ) ต่างพากันตบเท้ามาเสนอหน้าบนจอกันอย่างถ้วนทั่ว รวมถึงแทรกตัวเข้ามาในบทพูดของตัวละครอีกต่างหาก ความพยายามจะสอดแทรกโฆษณาเอาไว้ในสื่อบันเทิงถูกนำมาล้อเลียนอย่างสนุกสนานในหนังเรื่อง The Truman Show


Prosthetic makeup

เทคนิคการแต่งหน้าที่ริเริ่มและพัฒนาโดย ดิ๊ก สมิธ ผ่านผลงานน่าตื่นตามากมาย อาทิ Little Big Man (1970) และ The Exorcist (1973) โดยขั้นตอนคร่าวๆ คือ หล่อแบบสามมิติของร่างกายมนุษย์ โดยมากคือใบหน้า เพื่อใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐาน จากนั้นส่วนของเมคอัพจะถูกสร้างขึ้นจากเจลาติน หรือซิลิโคนที่ไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง กุญแจสำคัญอยู่ตรงที่ขอบของเมคอัพจะต้องบางที่สุด (ในระดับเดียวกับกระดาษทิชชู) เพื่อมันจะได้สามารถกลมกลืนไปกับผิวหนังนักแสดงและใช้เครื่องสำอางกลบทับได้อย่างแนบเนียน

แน่นอนว่า prosthetic makeup มักปรากฏให้เห็นในหนังสยองขวัญ เมื่อความบูดเบี้ยวของอวัยวะ ความฟอนเฟะของใบหน้า และรูปร่างที่ผิดปกติกลายเป็นเหมือนกฎข้อบังคับ อย่างไรก็ตาม นอกจากหนังสยองขวัญอย่าง The Thing แล้ว เรายังพบเห็นเทคนิค prosthetic makeup ได้ในหนังแนวอื่นๆ ด้วย อาทิ จมูกใหม่ของ นิโคล คิดแมน ใน The Hours และ “ไอ้ก้านยาว” ของ มาร์ค วอห์ลเบิร์ก ใน Boogie Nights เป็นต้น


Rack focus

การเปลี่ยนโฟกัสในช็อตเดียวกันจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง (เช่น จากโฟร์กราวด์ไปยังแบ็คกราวด์ หรือในทางกลับกัน) เพื่อชี้นำสายตาคนดูไปยังจุดสนใจใหม่ แล้วปล่อยให้จุดสนใจเดิมกลายเป็นภาพเบลอ ช็อตดังกล่าวจะยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางด้านพื้นที่ของฉากไว้เช่นเดิมขณะปรับเปลี่ยนความสนใจของคนดู มันเป็นเทคนิคที่เหมาะสำหรับฉากบทสนทนา โดยการสลับสับเปลี่ยนโฟกัสตามตัวละครที่มีบทพูด หรือแสดงให้เห็นปฏิกิริยาของตัวละครต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เทคนิคนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคหนังเสียงช่วงแรกๆ เช่น ในหนังเรื่อง Applause (1929)



Rear projection

การสร้างเทคนิคพิเศษแบบที่มองเห็นได้ทันทีในกล้องโดยใช้เครื่องฉายยิงภาพนิ่ง หรือภาพเคลื่อนไหวไปยังจอรับด้านหลังนักแสดง เพื่อให้กล้องสามารถจับภาพนักแสดงและแบ็คกราวด์ด้านหลังที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว แรกเริ่มเดิมทีเป็นเทคนิคของการถ่ายภาพนิ่ง ก่อนจะถูกดัดแปลงมาใช้ในภาพยนตร์โดย นอร์แมน โอ. ดอว์น กับหนังคาวบอยเรื่อง The Drifter (1913) อย่างไรก็ตาม rear projection ไม่เริ่มแพร่หลายจนกระทั่งการกำเนิดของยุคหนังเสียง ซึ่งทำให้การถ่ายทำในสตูดิโอกลายเป็นความจำเป็น

rear projection เปิดโอกาสให้ฉากจากสถานที่จริงถูกนำมาใช้เป็นแบ็คกราวด์ให้กับฉากการถ่ายทำนักแสดงในสตูดิโอ นอกจากนี้มันยังช่วยให้ทีมงานสามารถนำหนังการ์ตูนที่ถ่ายทำด้วยเทคนิค stop-motion มาใช้เป็นฉากหลังให้ฉาก live action ได้ด้วย แต่ส่วนใหญ่เรามักคุ้นเคยกับเทคนิค rear projection ในฉากที่ตัวละครนั่งคุยกันในรถ แล้วแบ็คกราวด์ของกระจกหลังเป็นภาพเคลื่อนไหวซึ่งถ่ายทำจากสถานที่จริง (สำหรับแบ็คกราวด์ที่เป็นภาพเคลื่อนไหว กล้องและเครื่องฉายต้องถูกล็อกให้ทำงานสอดคล้องกันเพื่อความกลมกลืนของแอ็กชั่น) อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของเทคนิคนี้ คือ ภาพแบ็คกราวด์มักจะดูซีดและขาดความคมชัดเมื่อเทียบกับโฟร์กราวด์ ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งของนักแสดงกับแบ็คกราวด์อาจยิ่งปรากฏชัด หาก “จังหวะ” ของแอ็กชั่นไม่ตรงกันพอดี

ตัวอย่างที่โดดเด่นของ rear projection คือ ฉาก แครี่ แกรนท์ โดนเครื่องบินโปรยยาฆ่าแมลงตามไล่ล่าใน North by Northwest ปัจจุบัน rear projection ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากการเข้ามาแทนที่ของเทคนิคใหม่ๆ อย่าง front projection, blue-screen process และการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ แม้จะปรากฏให้เห็นเป็นครั้งคราวกับฉากคาราวะหนังเก่า หรือสร้างอารมณ์แบบย้อนยุค เช่น ใน Pulp Fiction และหนังชุด Austin Powers


Rembrandt lighting

เทคนิคการจัดแสงที่เน้นไฮไลท์และแสงเงาในลักษณะเดียวกับภาพวาดของเรมบลังต์ ถึงแม้ ดี. ดับเบิลยู. กริฟฟิธ จะเคยใช้การจัดแสงสไตล์นี้อยู่บ้าง แต่เป็น เซซิล บี. เดอมิลล์ ต่างหากที่พัฒนาสไตล์จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ด้วยความร่วมมือจาก วิลเฟร็ด บัคแลนด์ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยทำงานออกแบบฉากและจัดแสงให้ละครเวที การจัดแสงสไตล์นี้เกิดจากการที่เดอมิลล์ต้องการเอาชนะความแบนราบของแสงจากดวงอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นแหล่งแสงสำคัญของการสร้างหนังยุคนั้น โดยใช้รีเฟล็กซ์และไฟแขวน หนังเรื่อง The Warrens of Virginia (1915) ของเดอมิลล์กลายเป็นเหมือนหลักไมล์สำคัญของการจัดแสงในภาพยนตร์ เมื่อ แซมมวล โกลด์วิน หุ้นส่วนทางธุรกิจของเขา ได้ดูหนัง ก็รีบโทรเลขจากนิวยอร์กมาโวยวายว่า “ใครจะอยากดูหนังที่พวกเขามองไม่เห็น” คำตอบของเดอมิลล์ คือ “มันเป็นการจัดแสงแบบเรมบลังต์” ปัจจุบันการจัดแสงสไตล์นี้ยังคงได้รับความนิยม โดยเฉพาะในการถ่ายภาพแบบพอร์เทรทเนื่องจากใช้อุปกรณ์แค่ไม่กี่ชิ้น (ไฟหนึ่งหรือสองดวงกับรีเฟล็กซ์) แต่ให้ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติและสวยงามในเวลาเดียวกัน

Reverse motion

การเคลื่อนไหวที่ย้อนไปในทิศทางตรงกันข้ามกับตอนถ่ายทำ เกิดจาก 1) การป้อนฟิล์มเข้ากล้องแบบถอยหลัง แล้วนำมาฉายแบบปกติ 2) พิมพ์ฟิล์มถอยหลัง และ 3) การกลับหัวกล้องแล้วถ่ายทำตามปกติ จากนั้นหลังขั้นตอนการพิมพ์ ก็กลับหัวฟิล์มอีกครั้ง วิธีนี้ใช้ได้กับกล้อง 35 ม.ม. และ 16 ม.ม. เท่านั้น ส่วนใหญ่ reverse motion นิยมใช้เพื่อเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะในหนังตลก หรือบางครั้งเพื่อเนรมิตฉาก “ฟื้นคืนชีพ” หรือใช้สร้างเทคนิคพิเศษด้านภาพ เช่น ถ่ายฉากรถพุ่งเข้าหากล้องโดยการถ่ายย้อนหลังรถที่กำลังวิ่งถอยหลัง หนังคลาสสิกเรื่อง Beauty and the Beast (1946) ของ ฌอง ค็อกโต เลือกใช้ reverse motion เพื่อรองรับเรื่องราวอย่างชาญฉลาดในหลายฉาก เช่น การถ่ายทำฉากนักแสดงเผากระดาษในกองเพลิงและเดินถอยหลังออกมาด้วยเทคนิค reverse motion ดังนั้นเมื่อนำมาฉายบนจอ คนดูจึงเห็นภาพตัวละครเดินตรงมาหยิบกระดาษออกจากกองเพลิง หรือการใช้ reverse motion เพื่อแสดงให้เห็นภาพกลีบดอกไม้ที่ร่วงโรยค่อยๆ หวนกลับมาติดกับตัวดอกไม้อีกครั้ง


Romantic comedy

หนังที่เล่าถึงความสัมพันธ์โรแมนติกระหว่างตัวละครสองคน ซึ่งแรกทีเดียวอาจประสบอุปสรรคขวากหนาม ความเข้าใจผิดสารพัด แต่สุดท้ายก็ลงเอยกันอย่างมีความสุข พล็อตของหนังอาจมีรายละเอียดแตกต่างออกไปบ้างในแต่ละเรื่อง แต่หัวใจหลักที่เหมือนกัน คือ ความรัก ความผูกพันที่สองตัวละครเอกมีให้กันนั้นเด่นชัด ลึกซึ้ง และเหล่าปัญหาที่เกิดขึ้นมักถูกถ่ายทอดในลักษณะเปี่ยมอารมณ์ขัน

It Happened One Night (1934) เปิดศักราชให้กับผลงานในแนวนี้ ตามมาด้วยยุคทองของ ดอริส เดย์ กับ ร็อค ฮัดสัน ผ่านผลงานเด่นอย่าง Pillow Talk วู้ดดี้ อัลเลน เพิ่มความซับซ้อนให้กับแนวทาง romantic comedy โดยผสมแง่มุมคมคายของสังคมเมือง การวิเคราะห์ทางจิตวิทยา รวมถึงมุกตลกแบบปัญญาชนคนชั้นกลางเข้าไป เช่น ในหนังดังอย่าง Annie Hall และ Manhattan ซึ่งกวาดคำชมจากนักวิจารณ์ได้อย่างท่วมท้น ส่วนตัวแทนของหนังตลกโรแมนติกยุคใหม่ ได้แก่ When Harry Mets Sally, Sleepless in Seattle และ Notting Hill


Rotoscoping

เทคนิคการสร้างภาพยนตร์การ์ตูนโดยวาดภาพทับฟุตเตจ live-action ทีละเฟรม แรกเริ่มเดิมทีด้วยวิธีฉายภาพไปบนแผงกระจกผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า โรโทสโคป แต่ปัจจุบันขบวนการนี้ถูกแทนที่ด้วยคอมพิวเตอร์ (ดังจะเห็นได้จากหนังเรื่อง Waking Life และ A Scanner Darkly ของ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์) เทคนิค rotoscoping คิดค้นขึ้นโดย แม็กซ์ ไฟลเชอร์ และนำมาใช้เป็นครั้งแรกกับหนังการ์ตูนชุด Out of the Inkwell ในปี 1915 ส่วนการ์ตูนเรื่องเด่นๆ ที่ใช้เทคนิคนี้ก็เช่น Snow White and the Seven Dwarfs ของ วอลท์ ดิสนีย์ และ The Lord of the Rings นอกจากนี้ เทคนิค rotoscoping ยังถูกนำมาใช้สร้างเทคนิคพิเศษด้านภาพให้กับหนัง live-action ด้วย เช่น ทำให้ดาบเลเซอร์ของตัวละครในหนังชุด Star Wars สามภาคแรกดูเรืองแสง


Sci-fi

ความแตกต่างของหนังไซไฟกับหนังแฟนตาซี คือ กลุ่มแรกให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์เพื่อขยายขอบเขตความเป็นไปได้ของเรื่องราว ฉากหลัง และตัวละคร โดยพล็อตสุดฮิตของหนังไซไฟในยุคแรก คือ พล็อตมนุษย์ต่างดาวบุกโลก เช่น The War of the Worlds และ The Day Mars Invaded the Earth ซึ่งยังคงกลับมาได้รับความนิยมในยุคหลังๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังความสำเร็จอันล้นหลามของ Independence Day อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนแปลงสำคัญของกระแสหนังแนวไซไฟเกิดขึ้นเมื่อหนังเรื่อง 2001: A Space Odyssey ของ สแตนลีย์ คูบริค เข้าฉาย เพราะมันไม่เพียงแต่ช่วยขยายขอบเขตในแง่เทคนิคพิเศษของการสร้างภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังทำให้นิยายวิทยาศาสตร์ไม่เป็นเพียงแค่แฟนตาซีเพ้อเจ้อ และสามารถผสมผสานเข้ากับหลักปรัชญาได้อย่างกลมกลืน

Sensurround

ระบบการสร้างเทคนิคพิเศษ นำมาใช้ครั้งแรกกับหนังเรื่อง Earthquake (1974) ของยูนิเวอร์แซล เพื่อให้คนดูรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนในฉากแผ่นดินไหว ทำได้โดยการใส่ แอร์ ไวเบรชัน เข้าไว้ในซาวด์แทร็กระหว่างขั้นตอนการบันทึกเสียง ซึ่งสัญญาณดังกล่าวจะถูกตรวจจับโดยอุปกรณ์พิเศษในโรงหนัง แล้วนำไปขยายผ่านลำโพงขนาดใหญ่จำนวนสิบถึงยี่สิบตัวรอบๆ โรงภาพยนตร์ เทคนิคดังกล่าวถูกนำมาใช้กับหนังอีกแค่สามเรื่องถัดมา คือ Midway (1976), Rollercoaster (1977) และ Saga of a Star World (1978) ข้อเสียของระบบ sensurround คือ ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งลำโพงค่อนข้างสูง และในโรงมัลติเพล็กซ์ส่วนใหญ่ แรงสั่นสะเทือนจะส่งผลกระทบกับผู้ชมในโรงภาพยนตร์ติดกัน บางแห่งคลื่นความถี่ต่ำยังสร้างความเสียหายให้กับพื้นกระเบื้องและปูนพลาสเตอร์อีกด้วย

Series

กลุ่มหนังที่มีพล็อตใกล้เคียงกันและใช้ตัวละครหลักๆ เดียวกัน ซึ่งต้องเผชิญหน้าสถานการณ์และปมปัญหาเหมือนๆ เดิม หนังประเภทนี้เริ่มต้นถือกำเนิดตั้งแต่ยุคหนังเงียบ เช่น หนังตะวันตกชุด Bronco Billy (1910-1916) ของ จี. เอ็ม. แอนเดอร์สัน แต่รุ่งเรืองถึงขีดสุดนับแต่ทศวรรษ 1930 เป็นต้นมา เพราะระบบสตูดิโอเปิดโอกาสให้เหล่าผู้กำกับสามารถผลิตหนังได้อย่างรวดเร็วและใช้งบประมาณไม่มาก หนังคาวบอยชุดมักได้รับความนิยมอย่างสูง เช่น ซีรีส์ Hopalong Cassidy ของพาราเมาท์ ซึ่งผลิตรวมกันทั้งสิ้น 60 กว่าตอน

เมื่อระบบสตูดิโอเริ่มก้าวสู่จุดตกต่ำระหว่างปลายทศวรรษ 1950 เมื่อค่าใช้จ่ายในการสร้างหนังเพิ่มสูงขึ้น ซีรีส์ก็ค่อยๆ ร้างราห่างหายไป (ยกเว้นเพียงหนังชุด เจมส์ บอนด์ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นด้วย Dr. No ในปี 1962) ก่อนจะกลับมาฮ็อตฮิตอีกครั้งนับแต่หลายทศวรรษ 1980 เป็นต้นมาในรูปแบบของหนังภาคต่อ ซึ่งพบเห็นบ่อยๆ กับหมวดหนังสยองขวัญ เช่น Scream, Friday the 13th, A Nightmare on Elm Street และ Halloween เป็นต้น รวมถึงหนังในหมวดอื่นๆ เช่น หนังกีฬา (Rocky) หนังแอ็กชั่น (The Fast and the Furious) หนังไซไฟ (Star Wars) และหนังแฟนตาซี (Harry Potter)


Shallow focus

สไตล์การถ่ายภาพที่มุ่งเน้นโฟกัสไปยังจุดใดจุดหนึ่งบนภาพ ส่งผลให้ทุกสิ่งรอบข้างหลุดโฟกัส หรือเป็นภาพเบลอ shallow focus เปิดโอกาสให้นักทำหนังชี้นำความสนใจของคนดูไปยังตัวละคร สิ่งของ หรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งโดยไม่มีอะไรอื่นมาดึงดูดสายตา สไตล์การถ่ายภาพแบบชัดตื้นจะเพิกเฉยต่อความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครกับสภาพแวดล้อม การเปลี่ยนจากฟิล์มออร์โธโครเมติกมาเป็นฟิล์มแพนโครเมติก (ซึ่งไวต่อแสงน้อยกว่า แต่ให้ภาพที่สวยคมชัดกว่า) ในปี 1926 ส่งผลให้ตากล้องต้องเปิดรูรับแสงให้กว้างขึ้น และภาพแบบชัดตื้นก็เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้น

โดยทางจิตวิทยา ภาพชัดตื้นสะท้อนความเป็นอัตวิสัย เนื่องจากตัวละครดูเหมือนไม่รับรู้ต่อสิ่งต่างๆ รอบข้าง ความคิด อารมณ์ และความรู้สึกของปัจเจกชนมักมีชัยเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง (ถ้าคุณต้องการถ่ายฉากตัวละครนั่งอ่านจดหมาย/หนังสือ แล้ว “อิน” ไปกับตัวอักษรบนหน้ากระดาษ ภาพแบบชัดตื้นย่อมเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม) ด้วยเหตุนี้ มันจึงได้รับความนิยมเป็นพิเศษในหนังเมโลดรามาและหนังโรแมนติก เช่น ผลงานส่วนใหญ่ของ หว่องกาไว หรือหากต้องการเห็นตัวอย่างแบบ “สุดโต่ง” ของการถ่ายภาพแบบ shallow focus ก็ลองศึกษาได้จากหนังเรื่อง In the Cut


Slasher film

หนึ่งในไม่กี่ตระกูลย่อยของหนังสยองขวัญที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน พล็อตส่วนใหญ่มักวนเวียนอยู่กับการฆ่าเด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวของฆาตกรโรคจิตด้วยวิธีการอันโหดเหี้ยมสารพัด หนังที่เป็นต้นแบบให้เกิดการลอกเลียนตามมาจำนวนนับไม่ถ้วน คือ Psycho ของ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก และ Peeping Tom ของ ไมเคิล พาเวลล์ ซึ่งออกฉายในปี 1960 ทั้งคู่ ส่วนแม่แบบร่วมสมัยของหนังแนวนี้ได้แก่ Halloween ของ จอห์น คาร์เพนเตอร์ และ The Texas Chainsaw Massacre ของ โทบี้ ฮูเปอร์


Slow motion

เทคนิคที่ทำให้การเคลื่อนไหวบนจอเชื่องช้ากว่าปกติ เป็นผลจากการถ่ายทำฉากดังกล่าวด้วยความเร็วมากกว่า 24 เฟรมต่อวินาที แต่นำมาฉายด้วยความเร็วปกติ เช่น 48 เฟรมต่อวินาที ฉะนั้นเมื่อนำมาฉาย ภาพบนจอจะเคลื่อนไหวช้ากว่าปกติหนึ่งเท่าตัว เทคนิคนี้คิดค้นขึ้นโดยศาสตราจารย์ชาวออสเตรีย ออกัสต์ มัสเกอร์ ในปี 1904

slow motion ใช้ในภาพยนตร์หลากหลายแนวเพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป หนึ่งในจุดหมายหลักของ slow motion คือ การยืดห้วงเวลาแห่งความตึงเครียดหรือเขม็งเกลียวทางอารมณ์ให้ยาวนานออกไป ส่งผลให้พลังดรามาของหนังพุ่งทะยานถึงขีดสุด เนื่องจากภาพลักษณะนี้จะดึงความสนใจของผู้ชมให้จับจ้องอยู่กับเหตุการณ์สั้นๆ ชั่วขณะหนึ่ง ไม่ว่ามันจะเป็นความสุขแห่งชัยชนะ หรือความเจ็บปวดของการสูญเสีย เช่น เวโวล็อด ปูดอฟกิน ใช้เทคนิค slow motion กับฉากตัวละครกระโดดลงจากสะพานเพื่อฆ่าตัวตายในหนังเรื่อง The Deserter

ความสง่า สวยงามในท่วงท่าแห่งการเคลื่อนไหวของมนุษย์หรือสัตว์อาจถูกเน้นย้ำให้โดดเด่นด้วยภาพ slow motion ซึ่งย่อมส่งผลให้ฉากโดยรวมได้อารมณ์เหมือนฝัน เหนือจริง ในภาพยนตร์เพลงเรื่อง Hair ฉากเต้นถูกนำเสนอด้วยภาพ slow motion เพื่อสะท้อนเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเหล่าตัวละคร การออกแบบท่าเต้นอันไร้ระเบียบ ขาดเอกภาพ แต่เปี่ยมชีวิตชีวาของ ไทลา ธาร์ป สอดคล้องกับเรื่องราวในหนังอย่างเหมาะเจาะ เพราะมันพูดถึงไลฟ์สไตล์ของบรรดาฮิปปี้ยุคบุปผาชน นอกจากนี้ ผู้กำกับหลายคนยังนิยมใช้ภาพ slow motion กับฉากแอ็กชั่นด้วย ไม่ว่าจะเป็น อากิระ คูโรซาวา, จอห์น วู หรือ แซม เพ็คกินพาห์ ซึ่งบางครั้งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำให้ความรุนแรงกลายเป็นเรื่องโรแมนติก


SnorriCam

อุปกรณ์ในการถ่ายทำภาพยนตร์ที่เชื่อมต่อกล้องเข้ากับลำตัวนักแสดง ส่งผลให้กล้องอยู่ระยะประชิดกับใบหน้าของนักแสดงจนคนดูมองไม่เห็นการเคลื่อนไหวของเขา หรือเธอขณะเดิน แต่ทุกสิ่งด้านหลัง (แบ็คกราวด์) กลับเคลื่อนไหวไปมา snorriCam ตั้งชื่อตามสองช่างภาพ/ผู้กำกับ ไอนาร์ สนอร์ริ และ ไออาวร์ สนอร์ริ ซึ่งไม่ได้มีสายเลือดเดียวกัน แต่ทำงานร่วมกันภายใต้ชื่อ “สองพี่น้องสนอร์ริ”

ไอเดียการถ่ายภาพในลักษณะนี้ปรากฏให้เห็นนานแล้ว และสามารถสืบย้อนประวัติไปได้ถึงหนังเรื่อง Seconds (1966) อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดอันเด่นชัด คือ กล้อง 35 ม.ม. ส่วนใหญ่หนักเกินกว่าจะแบกรับได้อย่างสะดวกสบาย ส่งผลให้เทคนิคการถ่ายทำดังกล่าวไม่ได้รับความนิยมมากนักจนกระทั่งสเตดิแคม (Steadicam) ถูกพัฒนาขึ้น เช่นเดียวกับกล้องน้ำหนักเบาที่มีขนาดเล็กและเก็บเสียงได้ดี ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา snorriCam กลายเป็นของเล่นสุดฮิตในหมู่ผู้กำกับรุ่นใหม่ สังเกตได้จากหนังดังอย่าง Slumdog Millionaire, The Hangover, District 9 และ The Lovely Bones

เนื่องจาก snorriCam “เรียกร้องความสนใจ” จากคนดูอย่างเด่นชัด มันจึงมักจะถูกใช้เพียงแค่ไม่กี่ฉาก และมักจะกินเวลาไม่นาน ลักษณะภาพที่ดูแปลกตา ชวนวิงเวียน ทำให้เหมาะกับการสะท้อนภาวะ “หลุดจากโลก” ของตัวละคร โดยมากเป็นฉากที่พวกเขารู้สึกโกรธแค้นจนถึงจุดระเบิด (เช่น ใน Inside Man) ตื่นตระหนก (เช่น ใน ลัดดาแลนด์) หรือกำลังเมายา (เช่น ใน Requiem for a Dream)


Soft focus

เทคนิคพิเศษที่ทำให้ภาพดูฟุ้ง นุ่มนวล และไม่คมชัด อันเป็นผลจากการปรับเลนส์ให้หลุดโฟกัสเล็กน้อย หรือใช้เลนส์พิเศษ หรือติดฟิลเตอร์ หรือผ้าก๊อซหน้าเลนส์ หรือใช้ปิโตรเลียมเจลทา เทคนิค soft focus เริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่ยุคหนังเงียบ นิยมใช้เพื่อสร้างบรรยากาศโรแมนติก เช่น ใน Sunrise ของ เอฟ. ดับเบิลยู. เมอร์เนา สร้างอารมณ์ถวิลหาและความเป็นอุดมคติ เช่น ฉากปิกนิกใน Bonnie and Clyde ของ อาร์เธอร์ เพนน์ นอกจากนี้ soft focus ยังนิยมใช้กับฉากย้อนอดีต ฉากความฝัน หรือภาพหลอน และใช้เพื่อช่วยลดอายุให้กับนักแสดงอีกด้วย (พบเห็นได้บ่อยๆ ในยุคสตูดิโอรุ่งเรือง)

Sound


การทดลองที่จะซิงก์เสียงเข้ากับภาพแทบจะถือกำเนิดขึ้นพร้อมๆ กับภาพยนตร์เลยด้วยซ้ำ แต่ความฝันเริ่มจับต้องได้อย่างแท้จริงในปี 1927 เมื่อ The Jazz Singer ถูกขนานนามให้เป็นหนังเสียงเรื่องแรก แม้ว่ามันจะมีฉากซิงก์เสียงเพลงและเสียงพูดของตัวละครกับภาพเพียงไม่กี่ฉาก ขณะที่บทสนทนาส่วนใหญ่ยังคงใช้เทคนิค intertitle แบบเดียวกับหนังเงียบทั่วไป อย่างไรก็ตาม นั่นถือเป็นนาทีแห่งประวัติศาสตร์ ซึ่งทำให้โลกบนจอภาพยนตร์ขยับเข้าใกล้โลกแห่งความเป็นจริงขึ้นไปอีกหนึ่งขั้น

ยุคหนังเสียงก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์โดยรวม ดาราหนังเงียบหลายคนต้องจบอาชีพการแสดงลง เพราะเสียงของเขา/เธออาจไม่ค่อยเสนาะหู หรือขัดแย้งกับภาพลักษณ์ก่อนหน้า ส่วนนักแสดงละครเวทีที่เชี่ยวชาญการใช้เสียง มือเขียนบทที่เก่งกาจเรื่องการเขียนบทสนทนา และละครบรอดเวย์กลับกลายเป็นสินค้านำเข้ายอดฮิตของฮอลลีวู้ด


Split screen

เทคนิคการแบ่งจอภาพเป็นสองฝั่ง ซึ่งเกิดจากการบังบางส่วนของฟิล์ม แล้วถ่ายใหม่อีกครั้งโดยบังส่วนก่อนหน้าที่ถ่ายไปแล้ว ปกตินิยมใช้ในฉากตัวละครกำลังคุยโทรศัพท์ ดังจะเห็นได้จากหนังอย่าง Pillow Talk (1959) แต่หลังจากทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา เทคนิคนี้ก็ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นในหนังกระแสหลักมากนัก ยกเว้นเพียงผลงานกำกับของ ไบรอัน เดอ พัลมา (Blow Up, The Bonfires of the Vanities)

ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของเทคนิค split screen ในยุคกลางทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาอาจมีสาเหตุจากพัฒนาการทางด้านเครื่องมือยุคดิจิตอล ซึ่งช่วยให้ขั้นตอนแบ่งจอภาพไม่ยุ่งยากเหมือนก่อน และบางครั้งก็สามารถสร้างสรรค์ความแปลกแตกต่างได้มากกว่าแค่ฉากคุยโทรศัพท์ เช่น ในหนังเรื่อง (500) Days of Summer ผู้กำกับ มาร์ค เว็บบ์ ใช้การแบ่งจอภาพเป็นสองข้าง เพื่อสะท้อนความแตกต่างอันเด่นชัดระหว่างความคาดหวังของตัวเอกกับความจริงที่เกิดขึ้น


Star system

กลยุทธ์การใช้นักแสดงเป็นจุดขาย โดยสร้างบุคลิกลักษณะอันโดดเด่น และมนต์เสน่ห์ชวนให้หลงใหลผ่านทั้งผลงานบนจอและชีวิตส่วนตัว ระบบดาราจะใช้เครื่องมือประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร สร้างคุณสมบัติที่นักดูหนังส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนภาพฝันสวยงามเกินเอื้อมที่ช่วยให้พวกเขาหลบหนีจากความเป็นจริงและข้อจำกัดต่างๆ

ในอดีตบริษัทภาพยนตร์จะปกปิดชื่อจริงของนักแสดงเพื่อกดราคาค่าตัว ส่วนใหญ่พวกเขาจะเป็นที่รู้จักในชื่อตัวละคร หรือสมญานามจากคนดู คาร์ล ลาเอมเมล คือ บุคคลแรกที่ตระหนักถึงกระแสสนใจต่อเหล่านักแสดง ซึ่งมีพลังดึงดูดคนดูให้เข้ามาชมภาพยนตร์ เขาจึงจ้าง ฟลอเรนซ์ ลอว์เรนซ์ เจ้าของสมญานาม “เด็กสาวของไบโอกราฟ” มาเป็นดาราในสังกัดเมื่อปี 1910 แล้วประกาศชื่อจริงของเธอในหนัง ไม่นานบริษัทผลิตภาพยนตร์อีกหลายแห่งก็เริ่มทำตาม จนกระทั่งปี 1919 ระบบดาราก็ถือกำเนิดอย่างเต็มตัว พร้อมกับ แมรี พิคฟอร์ด ซูเปอร์สตาร์คนแรกของอเมริกา

นอกจากพิคฟอร์ดแล้ว ดั๊กลาส แฟร์แบงค์, ชาร์ลี แชปลิน, เจมส์ สจ๊วต, ฮัมฟรีย์ โบการ์ท, มาร์ลีน ดีทริช, เกรตา การ์โบ, มาริลีน มอนโร และ เจมส์ ดีน ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ชั้นนำของระบบดารา ก่อนมันจะล่มสลายในช่วงทศวรรษ 1950 จำนวนดาราเริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ ขณะผู้กำกับเริ่มกลายเป็นจุดขายใหม่

Static camera shot


หมายถึงช็อตที่ปราศจากการเคลื่อนกล้อง ซึ่งหลายครั้งคนดูอาจไม่ทันสังเกตว่าหนังตั้งกล้องนิ่ง เมื่อมีการตัดต่อเข้ามาช่วยเพิ่มมุมกล้องที่แตกต่าง หรือมุมมองที่เปลี่ยนไป แต่สำหรับช็อตที่กินเวลานาน การถ่ายภาพแบบชัดลึกจะเข้ามามีส่วนช่วยให้คนดูสามารถกวาดตามองส่วนต่างๆ ภายในภาพได้อย่างถ้วนทั่ว หรือกล้องอาจปรับเปลี่ยนโฟกัสเพื่อชี้นำคนดู (rack focus) การตั้งกล้องนิ่งเป็นเวลานาน โดยที่เหตุการณ์บนจอไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก อาจช่วยเสริมอารมณ์ดรามาให้กับหนัง หรือเป็นวิธีสื่อสารเรื่องราวอย่างลุ่มลึก ในหนังเรื่อง Tokyo Story ผู้กำกับ ยาสุจิโร โอสุ จะตั้งกล้องนิ่งในระดับสามสี่ฟุตจากพื้นเพื่อแทนระดับสายตาของคนญี่ปุ่นที่นั่งบนเสื่อ

การแช่กล้องนิ่งจะทำให้คนดูหันไปให้ความสำคัญกับการจัดองค์ประกอบภาพ (mise-en-scene) และบางทีก็ช่วยสร้างบรรยากาศ หรือผ่อนปรนจังหวะของหนัง ผู้กำกับที่ไม่ค่อยนิยมการเคลื่อนกล้อง หรือการตัดภาพ ได้แก่ ไฉ่หมิงเลี่ยง, เบลา ทาร์, อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล และ โหวเสี่ยวเฉียน

ไม่มีความคิดเห็น: