วันจันทร์, เมษายน 16, 2555

100 Innovations That Change Cinema (5)


Steadicam

ในอดีตผู้กำกับภาพยนตร์มีแค่สองทางถ้าต้องการจะเคลื่อนกล้อง หนึ่ง ตั้งบนรางดอลลี (dolly) ซึ่งใช้เวลาและไม่สามารถกระทำได้ในหลายสถานการณ์ หรือแบกไว้บนบ่า (handheld) ซึ่งง่ายและคล่องตัว แต่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการสั่นไหวของภาพได้ แม้ว่าตากล้องคนนั้นจะเชี่ยวชาญขนาดไหนก็ตาม steadicam ผนวกข้อดีของ dolly กับ handheld เข้าไว้ด้วยกัน กล่าวคือ มันให้ภาพที่ค่อนข้างนิ่งและลื่นไหล แต่ขณะเดียวกันก็สะดวกสบายเพราะกล้องผูกติดกับลำตัวของตากล้อง ซึ่งสามารถกำหนดเฟรมภาพได้โดยใช้การเคลื่อนไหวของมือเพียงเล็กน้อย ขณะมองเหตุการณ์ผ่านจอมอนิเตอร์ ส่วนผู้ช่วยตากล้องจะทำหน้าที่ในการปรับโฟกัสโดยใช้รีโมท

steadicam ถือกำเนิดขึ้นในปี 1976 โดยตากล้อง/นักประดิษฐ์ การ์เร็ตต์ บราวน์ ก่อนจะถูกนำมาใช้ถ่ายทำภาพยนตร์เป็นครั้งแรกใน Bound for Glory (1976) อย่างไรก็ตาม คนเริ่มหันมาสนใจสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้อย่างจริงจัง หลังจากหนังเรื่อง The Shining ใช้ประโยชน์จาก steadicam ได้อย่างยอดเยี่ยม นอกจากนี้ steadicam (และกล้องดิจิตอล) ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไอเดียการสร้างหนังที่ปราศจากการตัดภาพตลอดเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง (แต่กล้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาและเปลี่ยนฉากอย่างต่อเนื่อง) แบบ Russian Ark กลายเป็นจริงได้



Stop motion

เทคนิคการหลอกให้คนดูมองเห็นสิ่งของ (โมเดล) เคลื่อนไหวได้ โดยถ่ายภาพทีละเฟรมพร้อมกับขยับโมเดลให้ต่างจากตำแหน่งเดิมทีละนิด ฉะนั้นเมื่อนำฟิล์มมาฉายแบบต่อเนื่องกัน โมเดลดังกล่าวจึงดูเหมือนมีชีวิต โดยส่วนมากโมเดลดังกล่าวมักทำจากดินน้ำมัน หลายคนจึงเรียกหนังการ์ตูนที่สร้างจากเทคนิคข้างต้นว่า claymation หรือ clay animation โดยผลงานเด่นๆ ในกลุ่มนี้ที่นักดูหนังรุ่นใหม่รู้จักกันดี ได้แก่ The Nightmare Before Christmas, Wallace & Gromit: The Curse of the Were-Rabbit และ Fantastic Mr. Fox

นอกจากนี้ stop motion ยังถูกนำมาใช้สร้างเทคนิคพิเศษด้านภาพอีกด้วย เริ่มต้นตั้งแต่ตัวอย่างแรกของการใช้เทคนิคนี้ในหนังเรื่อง The Humpty Dumpty Circus (1897) เมื่อเหล่าของเล่นพากันขยับเคลื่อนไหวได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่ครั้งแรกที่ทำให้นักดูหนังส่วนใหญ่จดจำ stop motion ได้คงจะเป็นผลงานอันน่าทึ่งของ วิลลิส โอ’เบรียน ใน The Lost World (1925) และ King Kong (1933) ซึ่งส่งอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อนักสร้างหนังรุ่นหลังก่อนการมาถึงของคอมพิวเตอร์กราฟฟิก หนังชุด Star Wars สามภาคแรกก็ใช้เทคนิค stop motion เพื่อช่วยสร้างความสมจริงในหลายฉาก


Storyboard

ชุดภาพวาด หรือบางครั้งอาจเป็นภาพถ่ายเรียงตามลำดับก่อนหลัง โดยแต่ละช่อง/ภาพจะเป็นตัวแทนของหนึ่งช็อตในขั้นตอนการถ่ายทำ storyboard เป็นเหมือนพิมพ์เขียวของหนังทั้งเรื่อง (หรือฉากบางฉาก) โดยบทพูด เสียงประกอบ ดนตรี และการเคลื่อนกล้องจะถูกระบุเป็นรายละเอียดไว้ด้วย ขั้นตอนการทำ storyboard เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของ วอลท์ ดิสนีย์ ก่อนสร้างหนังการ์ตูนสั้นเรื่อง Three Little Pigs (1933) และภายในเวลาไม่กี่ปี แนวคิดดังกล่าวก็แพร่กระจายไปยังสตูดิโออื่นๆ อย่างรวดเร็ว กินความรวมถึงหนังคนแสดงอย่าง Gone with the Wind ไม่นาน storyboard ก็กลายเป็น “มาตรฐาน” สำหรับวางแผนงานสร้างนับแต่ช่วงทศวรรษ 1940 เป็นต้นมา

ผู้กำกับอย่างสองพี่น้อง โจเอล และ อีธาน โคน มักสร้าง storyboard ขึ้นเพื่อให้เหล่านายทุนมองเห็นภาพคร่าวๆ ว่าเงินที่พวกเขาลงไปนั้นจะถูกนำไปใช้อย่างไร หนังหลายเรื่องของ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก มีการวาด storyboard อย่างละเอียดก่อนการถ่ายทำ โดยเฉพาะฉากสำคัญ เช่น ฉากฆาตกรรมอันลือลั่นของ Psycho อากิระ คุโรซาวา ก็เป็นอีกคนที่ขึ้นชื่อเรื่องความละเอียดในแทบทุกช็อต และ storyboard ของหนังเรื่อง Ran ก็ถูกมองว่าเป็นผลงานศิลปะไม่ต่างจากผลลัพธ์ที่ปรากฏบนจอ โดยส่วนมากแล้ว ผู้กำกับจะ storyboard ขึ้นเฉพาะฉากสำคัญ ที่อาจมีการลงทุนสูง หรือมีความซับซ้อนในการถ่ายทำ แต่สำหรับหนังการ์ตูน storyboard ถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง

Studio system
ขบวนการสร้างและจัดจำหน่ายหนังของสตูดิโอในฮอลลีวู้ดระหว่างช่วงทศวรรษ 1920 ถึง 1950 ริเริ่มวางระบบโดย โธมัส เอช. อินซ์ เมื่อปี 1912 ขณะยังทำงานให้กับบริษัท นิวยอร์ค โมชัน พิคเจอร์ เขากำกับหนังหลายเรื่อง พร้อมทั้งควบตำแหน่งโปรดิวเซอร์และซูเปอร์ไวเซอร์ให้กับหนังอีกหลายเรื่อง ซึ่งแม้จะไม่ได้ลงไปกำกับเอง แต่ก็มีอำนาจควบคุมเต็มที่ อินซ์จะจ้างผู้กำกับมาทำงานให้ หลังอนุมัติบทภาพยนตร์พร้อมทั้งวางโครงสร้างคร่าวๆ ของหนังทั้งเรื่องแล้ว ขั้นตอนการถ่ายทำถูกวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ บางครั้งอาจถ่ายแบบไม่เรียงตามลำดับเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ อินซ์ยังมีอำนาจตัดสินใจขั้นสุดท้ายในช่วงของการตัดต่อด้วย หนังส่วนใหญ่ที่ผลิตออกมาจะเป็นหนังสูตรสำเร็จเพื่อรับประกันว่าจะมีตลาดรองรับแน่นอน

ในช่วงกลางทศวรรษ 1930 สตูดิโอยักษ์ใหญ่ของฮอลลีวู้ดที่ดำเนินงานภายใต้รูปแบบนี้ประกอบไปด้วย MGM, Fox, Warner Brothers, Columbia, Universal, RKO และ United Artists แต่ละแห่งผลิตหนังมากกว่า 50 เรื่องต่อปี มีดารา ผู้กำกับ และช่างเทคนิคในสังกัดมากมาย แม้ระบบสตูดิโอจะก่อให้เกิดผลงานตลาดคุณภาพกลางๆ หลายร้อยเรื่อง แต่ในเวลาเดียวกันหนังคลาสสิกจำนวนไม่น้อยก็เป็นไปได้เพราะระบบสตูดิโอ จนกระทั่งยุคถดถอยเริ่มมาเยือนในช่วงทศวรรษ 1950 ด้วยเหตุผลหลากหลาย เช่น การคุกคามของสื่อโทรทัศน์ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นในการผลิตภาพยนตร์โดยเฉพาะค่าแรง ทำให้สตูดิโอหลายแห่งต้องย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังต่างแดน

Subjective camera

เทคนิคการถ่ายภาพแทนสายตาตัวละคร โดยกล้องจะเคลื่อนไหวตามการเคลื่อนไหวของตัวละคร เช่น กล้องอาจแพนเพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวละครกำลังกวาดสายตามองไปรอบห้อง หรือใช้กล้องแบบ handheld แทนความรู้สึกว่าตัวละครกำลังวิ่ง หรือเดิน โดยส่วนมากหนังมักตัดสลับกับภาพโคลสอัพใบหน้าตัวละครเพื่อบอกนัยยะว่าคนดูกำลังจะห็นเหตุการณ์ผ่านสายตาของเขา/เธอ หนังสยองขวัญนิยมใช้ subjective camera แทนสายตาฆาตกร หรือสัตว์ประหลาด ขณะลอบมอง หรือไล่ล่าเหยื่อ โดยไม่เปิดเผยให้เห็นใบหน้าที่แท้จริง

ตัวอย่างแรกๆ ของการใช้เทคนิคนี้ปรากฏให้เห็นในหนังเรื่อง Dr. Jekyll and Mr. Hyde (1931) จากการถ่ายภาพแทนสายตาดร.แจ็คกิล ขณะเขาเดินทางออกจากบ้านเพื่อไปสอนหนังสือ และเมื่อเขาเริ่มเอ่ยปากพูด คนดูก็มีโอกาสได้เห็นใบหน้าของแจ็คกิลเป็นครั้งแรก อีกฉาก เมื่อดร.แจ็คกิลกลายร่างเป็นไฮด์ครั้งแรก ผู้กำกับ รูเบน มาเมาเลียน ใช้มุมกล้องแทนสายตาของแจ็คกิลอีกครั้งเพื่อบันทึกปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นหลังดื่มน้ำยา

หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า subjective camera เหมือนกับ point-of-view shot (POV) ทั้งที่ความจริงแล้วมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ข้อสังเกตง่ายๆ กรณี subjective camera ตัวละครจะมีปฏิสัมพันธ์กับกล้อง (คนดู) โดยตรงเหมือนเป็นตัวละครตัวหนึ่ง กล่าวคือ พวกเขาจะมองตรงมาที่กล้อง ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ หนังเรื่อง Cloverfield ของ เจ.เจ. อับราฮัมส์ ซึ่งถ่ายทำ “ทั้งเรื่อง” โดยใช้ subjective camera

Sundance Film Festival

เทศกาลหนังที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเดือนมกราคมที่มลรัฐยูทาห์ ภายใต้การควบคุมดูแลของ โรเบิร์ต เรดฟอร์ด (ชื่อเทศกาลถือเป็นการคารวะหนังดังของเรดฟอร์ดเรื่อง Butch Cassidy and the Sundance Kid) ซันแดนซ์จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1991 (ก่อนหน้านี้เป็นที่รู้จักในนาม Utah/US Film Festival) ขึ้นชื่อในฐานะเวทีสำหรับโชว์ผลงานของผู้สร้างหนังอิสระทั้งในอเมริกาและจากทั่วโลก นอกจากนี้มันยังเป็นตลาดและเวทีประกวดของหนังสารคดีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งอีกด้วย ผู้กำกับอิสระหลายคนเริ่มต้นสร้างชื่อเสียงจากซันแดนซ์ ก่อนต่อมาจะเติบโตไปสู่ตลาดวงกว้าง อาทิ เควนติน ตารันติโน, สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก, ดาร์เรน อาโรนอฟสกี, โรเบิร์ต โรดริเกซ, พอล โธมัส แอนเดอร์สัน, ท็อด เฮย์นส์, จิม จาร์มุช และ เควิน สมิธ

Surround sound


การแยกแทร็คเสียงดนตรีและเสียงเทคนิคพิเศษออกจากกัน แล้วถ่ายทอดผ่านลำโพงด้านข้างและด้านหลังของโรงภาพยนตร์ ระบบ surround sound ช่วยมอบความรู้สึกเหมือนจริง ทำให้ดนตรีและเสียงประกอบสร้างผลกระทบต่อคนดูมากยิ่งขึ้น ราวกับกำลังนั่งอยู่ตรงกลางเหตุการณ์บนจอ หนังเรื่องแรกที่ใช้ระบบเสียงแบบนี้ คือ Fantasia (1940) หลังจาก วอล์ท ดิสนีย์ ได้แรงบันดาลใจขณะนั่งฟังผลงานเพลง Flight of the Bumblebee ของ ริมสกี้ คอร์ซาคอฟ และอยากให้คนดูได้ยินเสียงผึ้งบินวนไปรอบๆ โรงหนัง

Synthesizer

เครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ชนิดนี้ถูกนำมาใช้สร้างสรรค์เสียงดนตรี หรือเสียงประกอบที่แตกต่างให้กับภาพยนตร์มานานแล้ว มักพบเห็นในหนังแนวไซไฟ แต่บางครั้ง synthesizer อาจถูกนำมาใช้สร้างดนตรีประกอบให้กับหนังดรามาร่วมสมัยได้เช่นกัน จิออร์จิโอ โมโรเดอร์ เป็นนักทำดนตรีประกอบที่นิยมใช้ synthesizer ซึ่งถือว่าขัดแย้งกับธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิม ซึ่งใช้บริการของวงออร์เคสตราเป็นหลัก แต่ความกล้าจะแตกต่างของเขาทำให้ดนตรีประกอบของ Midnight Express กลายเป็นที่จดจำ และทรงอิทธิพลต่อนักทำดนตรีรุ่นหลัง (และแน่นอนคว้ารางวัลออสการ์มาครอง) แวงเจลิส เป็นอีกคนที่ชื่นชอบ synthesizer และการใช้เครื่องดนตรีสมัยใหม่ของเขาในหนังพีเรียดเกี่ยวกับนักวิ่งโอลิมปิกปี 1924 เรื่อง Chariots of Fire ก็ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในดนตรีประกอบที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล ล่าสุดหนังที่คว้ารางวัลออสการ์ดนตรีประกอบยอดเยี่ยมมาครองอย่าง The Social Network ก็ใช้ synthesizer เป็นส่วนใหญ่ในการสร้างสรรค์ท่วงทำนอง

Test screening

การฉายหนังรอบพิเศษก่อนจะเปิดตัวในวงกว้างเพื่อสำรวจปฏิกิริยาตอบรับของผู้ชม ซึ่งถูกคัดเลือกจากกลุ่มคนทั่วไปผ่านคำถาม เช่น คุณทำงานหรือมีญาติทำงานอยู่ในวงการบันเทิงหรือไม่ (ถ้าอยากถูกเลือกต้องตอบว่า ไม่มี) และคุณดูหนังเรื่องอะไรบ้างในรอบหกเดือนที่ผ่านมา (คำตอบที่ถูกต้องย่อมขึ้นอยู่กับหนังที่ต้องการทดสอบ) จากนั้นหลังภาพยนตร์จบลง พวกเขาจะได้รับแบบสำรวจความคิดเห็น (คุณชอบตอนจบไหม คุณจะให้เกรดหนังโดยรวมเท่าไหร่ หนังอืดเอื่อยไปไหม มีความรุนแรงมากไปหรือเปล่า ฯลฯ) โดย test screening เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของ ฮาโรลด์ ลอยด์ และเริ่มต้นใช้มาตั้งแต่ปี 1928

คำตอบจากรอบฉายทดลองอาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ชื่อภาพยนตร์ (Licence Revoked ถูกเปลี่ยนเป็น Licence to Kill เพราะชื่อแรกทำให้หลายคนนึกถึงการถูกยึดใบขับขี่มากกว่าจะเป็นอะไรที่เกี่ยวกับสปายสายลับ) ไปจนกระทั่งหั่นบางฉากให้สั้นลง (ฉากร้องเพลง The Mamushka ใน The Addams Family) ตัดฉากบางฉากออก (ฉากจูบระหว่าง จูเลีย โรเบิร์ตส์ กับ เดนเซล วอชิงตัน ใน The Pelican Brief) และเปลี่ยนตอบจบของหนัง ดังกรณีสุดอื้อฉาวของหนังเรื่อง Fatal Attraction เมื่อ “ตัวร้าย” ของเรื่องถูก “พระเอก” ยิงตายคาอ่างน้ำ แทนที่จะฆ่าตัวตายแล้วโยนความผิดให้เขาเหมือนในเวอร์ชั่นออริจินัล หนังอีกเรื่องที่ตอนจบถูกเปลี่ยนแปลงจากเดิมหลังการทำ test screening คือ Field of Dreams โดยเพิ่มฉากพระเอกได้เล่นเบสบอลกับพ่อที่ตายไปแล้วเข้ามา

Three-act structure

รูปแบบการเขียนบทและเล่าเรื่องที่ทรงอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน องก์แรกเป็นการแนะนำตัวละครหลักๆ ความสัมพันธ์ของพวกเขา และสภาพแวดล้อม ในองก์แรกตัวเอกจะเผชิญเหตุการณ์บางอย่างที่เขาต้องหาทางรับมือ นำไปสู่จุดพลิกผันแรก ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเรื่องราวในองก์แรกกำลังดำเนินมาถึงจุดจบ และชีวิตของตัวละครจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป พร้อมทั้งตั้งคำถามให้คนดูติดตาม (ซึ่งจะถูกเฉลยในช่วงไคล์แม็กซ์) เช่น นาย A จะตามหาเพชรเจอหรือไม่ นาย B จะได้แต่งงานกับนางสาว C ไหม หรือ นาย D จะจับฆาตกรได้หรือไม่

องก์สองจะแสดงให้เห็นความพยายามแก้ปัญหาของตัวละคร แต่กลับต้องเผชิญสถานการณ์ที่เลวร้ายลงไปอีก สาเหตุเพราะเขาปราศจากทักษะในการรับมือกับปัญหา หรือศัตรู อย่างไรก็ตาม เขาไม่เพียงจะต้องเรียนรู้ทักษะใหม่เท่านั้น แต่ยังต้องตระหนักในตัวตนและศักยภาพภายในให้ได้อีกด้วยเพื่อก้าวให้พ้นอุปสรรคขวากหนาม ภารกิจดังกล่าวจะสำเร็จเสร็จสิ้นได้ ตัวละครต้องได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อน หรือผู้รู้ จากนั้นในองก์ที่สาม คือ การค่อยๆ คลี่คลายปมปัญหา จุดพลิกผันที่สองขององก์นี้ คือ ไคล์แม็กซ์ เมื่อความตึงเครียดของเรื่องราวเดินทางมาถึงจุดสูงสุด การเขียนบทในรูปแบบนี้ปรากฏให้เห็นมาเนิ่นนานและในหนังแทบทุกประเภทตั้งแต่ Chinatown จนถึง Dances with Wolves, The Silence of the Lambs และ The Matrix


Time lapse

การถ่ายภาพทีละเฟรมโดยครอบคลุมช่วงระยะเวลาตามความต้องการ และเมื่อนำมาฉายด้วยอัตราความเร็วปกติ ภาพที่ปรากฏจะดูเหมือนถูกร่นระยะเวลาให้เร็วขึ้น ส่งผลให้คนดูสามารถเห็นดอกไม้เบ่งบานภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาที หรือท้องฟ้าเปลี่ยนจากกลางวันเป็นกลางคืนในชั่วพริบตา เทคนิคนี้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง Carrefour De L’Opera (1879) ของ จอร์จส์ เมลิแอส์ ส่วนหนังเรื่องแรกที่ใช้เทคนิค time lapse อย่างต่อเนื่องและเปี่ยมประสิทธิภาพ คือ Koyaanisqatsi (1983) ซึ่งปราศจากพล็อตเรื่อง หรือตัวละคร แต่เป็นเหมือนสารคดีภาพชุดพร้อมดนตรีประกอบ ประพันธ์โดย ฟิลลิป กลาส เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นพัฒนาการของโลกมนุษย์ โดยในฉากช่วงต้นเรื่องคนดูจะได้เห็นทัศนียภาพอันกว้างใหญ่ งดงามของธรรมชาติ ซึ่งห่างไกลจากความ “ศิวิไลซ์” ทั้งหลาย จากนั้นในเวลาต่อมา หนังก็ค่อยๆ แสดงให้เห็นภาพชีวิตชาวเมืองอันแออัด เร่งรีบ และเต็มไปด้วยมลพิษ ซึ่งถูกเน้นย้ำให้เห็นเด่นชัดผ่านเทคนิค time lapse เมื่อรถยนต์พร่าเลือนจนกลายเป็นเพียงแสงไฟบนถนน และฝูงชนพลุกพล่านจนมองแทบไม่เห็นเป็นรูปร่าง

Trailer

หนังตัวอย่างเรื่องแรกถือกำเนิดขึ้นในปี 1913 เมื่อ นิลส์ แกรนลันด์ ผู้จัดการฝ่ายโฆษณาของเครือข่ายโรงหนัง มาร์คัส โลว์ สร้างหนังสั้นเพื่อโปรโมตภาพยนตร์เพลงเรื่อง The Pleasure Seekers นับจากนั้น การผลิตและฉายหนังตัวอย่างก็กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบมา โดยแรกทีเดียวนิยมฉายหลังภาพยนตร์จบลงแล้ว (เป็นที่มาของคำว่า trailer) แต่ไม่นานก็เปลี่ยนมาฉายก่อนหนังเริ่ม เมื่อปรากฏว่าคนดูส่วนใหญ่มักลุกเดินออกจากโรงหลังหนังจบ

สมัยนั้นหนังตัวอย่างส่วนใหญ่จะมีรูปแบบหลักๆ คือ ตัดฉากเด่นในหนังมาใช้พร้อมเสียงเล่าเรื่อง หรือบางครั้งอาจใช้ตัวหนังสือขนาดใหญ่ จุดเปลี่ยนเริ่มต้นในช่วงต้นทศวรรษ 1960 ภายใต้การนำของ สแตนลีย์ คูบริค ซึ่งใช้เทคนิคการตัดภาพฉับไวและไม่มีตัวหนังสือบอกเล่าเรื่องสำหรับ trailer หนังอย่าง Lolita, Dr. Strangelove or: How I Learned to Stop Worrying and Love the Bomb และ 2001: A Space Odyssey

เนื่องจากจุดมุ่งหมายหลัก คือ เพื่อโน้มน้าวให้คนอยากดูหนังเรื่องนั้นๆ ช็อตส่วนใหญ่ที่นำมารวมไว้ในหนังตัวอย่างจึงมักจะเป็นไฮไลท์โดยย่อของหนังแบบไม่เรียงตามลำดับและมีความยาวโดยรวมไม่เกินสองนาทีครึ่ง ปกติแล้วหนังตัวอย่างจะสร้างขึ้นก่อนหนังจริงจะเสร็จสมบูรณ์ ฉะนั้นบางช็อตในหนังตัวอย่างจึงอาจไม่ปรากฏให้เห็นในหนังจริงก็ได้ (เพราะถูกหั่นทิ้งระหว่างขั้นตอนตัดต่อ) หรือบางทีหนังตัวอย่างอาจถูกสร้างขึ้นใหม่หมดโดยไม่ใช้ฟุตเตจของหนังเลย เช่น Psycho ซึ่งเป็นภาพผู้กำกับ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก พาคนดูไปเดินชมจุดสำคัญๆ ของโรงแรมเบทส์ (ฉากหลัง) ก่อนสุดท้ายจะมาลงเอยยังห้องน้ำ ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุฆาตกรรมอันลือลั่น (ผู้หญิงที่หวีดร้องในหนังตัวอย่าง คือ เวรา ไมส์ ไม่ใช่ เจเน็ท ลีห์ เพราะคนหลังไม่มีคิวว่างมาถ่ายหนังตัวอย่าง แต่ไม่มีใครทันสังเกตเห็นเนื่องจากใบหน้าเธอถูกชื่อเรื่องบดบังเกือบหมด)

Traveling-matte process

ขั้นตอนการทำเทคนิคพิเศษโดยซ้อนภาพสองภาพเข้าด้วยกัน (เช่น โฟร์กราวด์อาจเป็นนักแสดง หรือยานอวกาศ ส่วนแบ็คกราวด์อาจเป็นฉากวาดขนาดใหญ่ หรือท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาว หรือดาวเคราะห์สักดวง) ผ่านวิธีบังบางส่วนของภาพไว้ระหว่างขั้นตอนการพิมพ์ เช่น ถ้าเราอยากได้ภาพยานอวกาศเหนือท้องฟ้ายามค่ำคืน เราจำเป็นต้องใช้หน้ากากบังภาพสองชิ้น ชิ้นหนึ่งสำหรับบังทุกอย่างนอกจากยานอวกาศ อีกชิ้นสำหรับบังเฉพาะยานอวกาศ จากนั้นค่อยซ้อนภาพทั้งสองเข้าด้วยกันก็จะได้เป็นภาพตามที่เราต้องการ แต่ความซับซ้อนย่อมเพิ่มขึ้น เมื่อหน้ากากที่ใช้บังภาพต้องเคลื่อนไหวไปตามเฟรมแต่ละเฟรม (เป็นที่มาของคำว่า traveling) เพื่อใส่ความเคลื่อนไหวเข้าไว้ในฉาก เช่น ยานอวกาศเคลื่อนตัวผ่านดาวเคราะห์ขนาดใหญ่

ขั้นตอน traveling-matte จะช่วยให้นักทำหนังสามารถผนวกฟุตเตจ live-action ที่ถ่ายทำในสตูดิโอเข้ากับแบ็คกราวด์ ซึ่งอาจเป็นภาพวาดขนาดใหญ่ หรือแบบจำลองได้อย่างแนบเนียนและไม่เกิดการซ้อนกันของภาพ โดยเทคนิคที่โด่งดังและได้รับความนิยมสูงสุด คือ blue-screen process

THX

ระบบที่คิดค้นขึ้นโดย ทอม โฮลแมน ในปี 1983 ซึ่งขณะนั้นกำลังทำงานให้กับหนังเรื่อง Star Wars Episode VI: Return of the Jedi (ชื่อ THX ถือเป็นการคารวะหนังสั้นของ จอร์จ ลูคัส เรื่อง THX 1138) และต้องการให้ทุกโรงภาพยนตร์สามารถฉายหนังได้ด้วยระบบเสียงรอบทิศทางเหมือนๆ กัน THX ไม่ใช่ระบบบันทึกเสียง และทุกรูปแบบการบันทึกเสียง ไม่ว่าจะเป็นดิจิตอล (Dolby Digital, SDDS) หรืออนาล็อก (Dolby Stereo, Ultra-Stereo) สามารถฉายด้วยระบบ THX ได้หมด เพราะ THX เป็นเพียงระบบรับรองคุณภาพว่าหนังที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ที่ตีตรา THX ผู้ชมจะได้ยินเสียงใกล้เคียงกับความตั้งใจของผู้สร้างมากที่สุด

Viral marketing

การตลาดแบบไวรัส หรือเทคนิคการตลาดแบบปากต่อปากผ่านสื่ออินเตอร์เน็ท เพื่อกระจายข่าวสาว สร้างความตระหนักรู้ รวมไปถึงความกระตือรือร้นต่อสินค้าในหมู่กลุ่มเป้าหมาย ตัวอย่างแรกๆ ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของ viral marketing คือ การโปรโมตหนังเรื่อง The Blair Witch Project โดยสร้างเว็บไซท์ขึ้นมาหลอกคนดูให้เชื่อว่าเหตุการณ์ในหนังเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง “กระแส” ฮือฮาที่เกิดขึ้นตามมาส่งผลให้หนัง ซึ่งลงทุนต่ำและปราศจากงบโฆษณาก้อนโตเหมือนหนังสตูดิโอยักษ์ใหญ่ สามารถทำเงินในอเมริกาได้มากถึง 160 ล้านเหรียญ (และ 248 ล้านเหรียญ ในตลาดโลก) ส่งผลให้หนังสือกินเนสบุ๊กลงบันทึกว่ามันเป็นหนังที่มีอัตราส่วนในการทำกำไรสูงสุด กล่าวคือ ทุกๆ ทุนสร้าง 1 ดอลลาร์ หนังจะได้เงินตอบแทนกลับมา 10,000 ดอลลาร์

ข้อดีของการตลาดแบบนี้ คือ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทั่วโลก นอกจากสร้าง official website แล้ว การตลาดแบบไวรัสยังรวมถึงกลยุทธ์อื่นๆ อีกด้วย เช่น ทีมโฆษณาหนังเรื่อง Cloverfield ได้สร้างเว็บเพจ My Space ขึ้นสำหรับตัวละครในเรื่อง ส่วนทีมการตลาดของ The Dark Knight ก็ผสมผสานสังคมออนไลน์เข้ากับโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างลงตัว เช่น จัดการนัดพบกลุ่มแฟนพันธุ์แท้ของตัวะคร โจ๊กเกอร์ หรือจัดให้มีการโหวตนายกเทศมนตรีแห่งเมือง ก็อดแธม ซิตี้ พร้อมสร้างลิงก์มากมายเกี่ยวกับเมือง ก็อดแธม ซิตี้

Voice-over

เสียงพูดที่ดังขึ้นในฉาก แต่ไม่ใช่จากปากของตัวละครคนใดคนหนึ่งในฉากนั้น โดยความเป็นไปได้ คือ 1) เสียงคนบรรยายแบบในหนังสารคดี 2) เสียงของคนเล่าเรื่อง ซึ่งจะพาคนดูก้าวกระโดดข้ามกาลเวลา เตรียมคนดูต่อเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิด หรือแสดงความเห็นต่อสิ่งที่ปรากฏบนจอ เช่น ในหนังเรื่อง (500) days of Summer และ Jules and Jim 3) เสียงเล่าของตัวละครที่มีบทบาทในหนัง เพื่อส่งผ่านมุมมองของเขา/เธอต่อฉากที่เขา/เธออยู่ร่วม หรือทำหน้าที่แบบข้อ 2 สำหรับฉากที่เขา/เธอไม่ได้มีส่วนร่วม 4) เสียงความคิดของตัวละคร 5) เสียงของตัวละครในเรื่องที่ดังมาจากจินตนาการของตัวละครอีกคนหนึ่ง เช่น ในฉากอ่านจดหมาย 6) เสียงพูดคุยภายในรถ หรืออาคาร ขณะภาพบนจอเป็นฉากภายนอกรถ หรืออาคารนั้น 7) เสียงบทสนทนาของตัวละครที่ “ล้น” มาจากฉากก่อนหน้า หรือดังขึ้นล่วงหน้าเพื่อเตรียมคนดูสู่ฉากต่อไป

voice-over แบบในข้อ 2-5 มีรากฐานมาจากวรรณกรรม และมักถูกค่อนขอดว่าไม่เหมาะกับสื่ออย่างภาพยนตร์ ซึ่งควรพึ่งพาภาพ ตลอดจนการคลี่คลายเรื่องราวผ่านเหตุการณ์ที่ดำเนินไป มากกว่าการให้ใครสักคนมาคอยอธิบาย แต่บางครั้ง voice-over หาได้มีจุดประสงค์เพื่อบอกข้อมูลเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างอารมณ์และบรรยากาศโดยรวม เช่น ในหนังหลายเรื่องของ เทอร์เรนซ์ มาลิก (Days of Heaven, The Thin Red Line, Badlands) หรือสร้างอารมณ์ขันจากการล้อเลียนตัวเอง เช่น ในหนังเรื่อง The Opposite of Sex


Western

หนังคาวบอยถือเป็นตระกูลที่เก่าแก่พอๆ กับภาพยนตร์เลยทีเดียว เริ่มตั้งแต่หนังเรื่อง The Great Train Robbery (1903) ซึ่งแสดงให้เห็นประกายแห่งสูตรสำเร็จบางอย่าง เช่น ฉากการขี่ม้าไล่ล่า และการปล้นขบวนรถไฟ หนังคาวบอยนอกจากจะสะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมของอเมริกาแล้ว มันยังมีส่วนในการสร้างภาพลักษณ์ของอเมริกาอีกด้วย ผ่านฉากหลังที่แสดงให้เห็นภูมิประเทศอันกว้างใหญ่ไพศาล บ่งบอกถึงอิสรภาพและความหวัง ส่วนกฎแห่งตะวันตกที่เกิดขึ้นเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางความแร้นแค้นและอาชญากรรมก็ช่วยตอกย้ำภาวะไม่ขึ้นตรงต่อใคร ปัจเจกภาพ และความหยิ่งทะนงแห่งตน หนังคาวบอยพุ่งถึงจุดสูงสุดทั้งในแง่เนื้อหาและสไตล์ด้วยฝีมือของ จอห์น ฟอร์ด เจ้าของผลงานคลาสสิกอย่าง The Searchers และ Stagecoach ความนิยมของหนังคาวบอยเริ่มเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา โดยในยุคหลังๆ พวกมันนิยมที่จะวิพากษ์ภาพลักษณ์เดิมๆ เกี่ยวกับวีรกรรมและศักดิ์ศรีแห่งโลกตะวันตก ดังจะเห็นได้จากหนังอย่าง The Wild Bunch, McCabe and Mrs. Miller และ Unforgiven




Wipe

เรียกง่ายๆ ว่าเทคนิคการกวาดภาพ ใช้เชื่อมต่อฉากสองฉากเข้าด้วยกันผ่านเส้นแบ่ง ซึ่งทำหน้าที่คล้ายก้านปัดน้ำฝนหน้ารถ ค่อยๆ ผลักช็อตเดิมให้หายไปจากจอพร้อมกับนำเสนอช็อตใหม่ไปพร้อมๆ กัน เส้นแบ่งนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นแนวตั้งเสมอไป การกวาดภาพอาจเกิดขึ้นในแนวราบจากบนลงล่าง หรือล่างขึ้นบนก็ได้ หรืออาจใช้รูปทรงอื่นนอกจากเส้นตรง เช่น ขนมเปียกปูน วงกลม ขดหอย หัวใจ ฯลฯ เทคนิค wipe สามารถสร้างได้ในเครื่อง optical printer แต่จะเป็นแค่เส้นแบ่งตรงๆ เท่านั้น สำหรับรูปทรงพิเศษต้องใช้ traveling-matte process เข้าช่วย

เทคนิค wipe ได้รับความนิยมอย่างสูงระหว่างทศวรรษ 1930 ถึง 1940 ก่อนจะพบเห็นน้อยลงเรื่อยๆ แต่นักทำหนังรุ่นใหม่ยังคงนำมันมาใช้บ้างเป็นครั้งคราว ดังจะเห็นได้จากหนังเรื่อง The Sting หนังชุด Star Wars สามภาคแรก และ The Hidden Fortress ของ อากิระ คุโรซาวา


Zoptic

เทคนิค front projection ถูกเลือกใช้เป็นเทคนิคหลักเพื่อถ่ายทำฉาก คริสโตเฟอร์ รีฟ เหาะเหินเดินอากาศในหนังเรื่อง Superman (1978) แต่ปัญหาที่ทีมงานประสบ คือ ทำอย่างไรให้คนดูเชื่อว่าซูเปอร์แมนกำลังบินอยู่หน้ากล้องภาพยนตร์ โซแรน เพอริซิกได้พัฒนาเทคนิคที่เรียกว่า Zoptic ขึ้นเพื่อสร้างภาพลวงว่าตัวละครกำลังเคลื่อนไหวไปตามความลึกของฉาก ทั้งที่จริงๆ แล้ว เขาอยู่กับที่ในระยะห่างเท่าเดิมระหว่างกล้องและอุปกรณ์ front projection

ภาพลวงดังกล่าวเกิดจากการติดเลนส์ซูมที่เครื่องฉายซึ่งส่งภาพแบ็คกราวด์ไปยังจอรับภาพ และกล้องถ่ายหนัง ควบคุมโดยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้พวกมันทำงานสอดประสานกัน เช่น ตัวละครจะดูเหมือนเคลื่อนไหวออกห่างจากกล้องไปยังแบ็คกราวด์ เมื่อเลนส์บนเครื่องฉายซูมออกสู่ภาพมุมกว้าง พร้อมๆ กับการซูมออกของเลนส์กล้องเพื่อเก็บภาพฉากหลังให้ครบถ้วน ส่งผลให้แบ็คกราวด์ดูเหมือนเดิม แต่ตัวละครกลับดูเล็กลง เทคนิค Zoptic ถูกนำมาใช้ในหนังซูเปอร์แมนสามภาคแรก รวมถึงหนังอย่าง Return to Oz, Radio Flyer และ Thief of Baghdad




Zoom

การเปลี่ยนขนาดภาพโดยกล้องไม่จำเป็นต้องเคลื่อนออกจากตำแหน่งสามารถทำได้โดยการใช้เลนส์ซูม ไม่ว่าจะเป็น zoom in (จากภาพมุมกว้างเป็นภาพโคลสอัพ) หรือ zoom out (จากภาพโคลสอัพเป็นภาพมุมกว้าง) ช็อตแบบนี้ช่วยให้ชีวิตตากล้องสะดวกสบายขึ้น เพราะไม่ต้องติดตั้ง dolly เพราะระยะห่างระหว่างกล้องกับนักแสดงยังคงเท่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของภาพย่อมแตกต่าง ช็อตที่มีการเคลื่อนกล้องเข้าหานักแสดง มุมมองคนดูจะเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพราะขนาดโฟร์กราวด์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับแบ็คกราวด์ ส่วน zoom shot มุมมองคนดูยังคงเหมือนเดิม เพราะกล้องไม่ได้ขยับออกจากตำแหน่ง ฉากหลังจะค่อยๆ แบนราบเป็นสองมิติขณะมันเพิ่มขนาดขึ้นอย่างรวดเร็ว zoom shot เหมาะสำหรับการดึงความสนใจคนดูไปยังสิ่งหนึ่งสิ่งใดแบบกะทันหัน หรือใช้สำหรับติดตามความเคลื่อนไหวตัวละคร และพาหนะ หรือพาคนดูออกจากฉากเพื่อให้เห็นภาพรวมแวดล้อม เช่น ฉากขบวนพาเหรดใน Barry Lyndon ของ สแตนลีย์ คูบริค ซึ่งเริ่มต้นด้วยภาพระยะใกล้ของขบวนพาเหรด ก่อนจะค่อยๆ ถอยห่างออกมาจนเห็นว่าเป็นมุมมองของคนที่ยืนดูขบวนพาเหรดอยู่ไกลๆ

ไม่มีความคิดเห็น: