วันจันทร์, สิงหาคม 11, 2557

Enemy: ชีวิตคู่ขนาน


มีสมมุติฐานที่เป็นไปได้อยู่สองข้อใหญ่ๆ ในการถอดรหัสหนังสุดพิศวงเรื่อง Enemy ข้อแรกคือหนัง เช่นเดียวกับนิยายต้นแบบที่ประพันธ์โดยนักเขียนรางวัลโนเบลชาวโปรตุเกส โจเซ ซารามาโก เรื่อง The Double เป็นบทสำรวจวิกฤติแห่งตัวตนและปัจเจกภาพซึ่งถูกสั่นคลอนหรือกระทั่งพังทลาย เมื่อปรากฏว่าคุณไม่ใช่ หนึ่งเดียวบนโลกใบนี้ แต่ยังมีอีกคนที่กำลังใช้ชีวิตเป็นคู่ขนานไปพร้อมๆ กัน โดยเขาคนนั้นไม่เพียงจะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนคุณทุกประการเท่านั้น แต่ยังโคลนนิ่งน้ำเสียงและรอยไฝฝ้าแผลเป็นทั้งหลายมาอย่างครบถ้วนอีกด้วย  ในนิยายต้นฉบับตัวละครเอกทั้งสองได้ตัดสินใจถอดเสื้อผ้าเพื่อเปรียบเทียบความเหมือนกันทางด้านร่างกายอย่างละเอียด พร้อมทั้งค้นพบว่าพวกเขาเกิดวัน/เดือน/ปีเดียวกัน แตกต่างเพียงแค่คนที่เป็นนักแสดงถือกำเนิดก่อนคนที่เป็นครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ราวครึ่งชั่วโมง และภาคภูมิใจว่าตัวเองคือเวอร์ชั่น ออริจินัลส่วนอีกคนนั้นเป็นแค่สำเนา (O Homem Duplicado เป็นชื่อนิยายภาษาโปรตุเกส ซึ่งหากแปลตรงตัวจะเท่ากับ The Duplicated Man)

เวอร์ชั่นหนังของ เดอนีส์ วิลล์เนิฟ ที่เปลี่ยนชื่อเป็น Enemy ยังคงดำเนินเรื่องตามพล็อตหลักของหนังสือเกี่ยวกับ อดัม (เจค จิลเลนฮาล) อาจารย์สอนประวัติศาสตร์ผู้ใช้ชีวิตซังกะตายไปวันๆ ด้วยการสอนหนังสือในหัวข้อเดิมๆ เสร็จแล้วก็กลับบ้านไปตรวจรายงาน กินข้าวเย็นท่ามกลางความมืดสลัว และร่วมรักกับแฟนสาว แมรี (เมลานี ลอเรนท์) พวกเขาไม่ค่อยได้สื่อสารหรือพูดคุยอะไรกันมาก นอกจากทักทายถามไถ่กันตามมารยาท หนังปูพื้นให้เห็นรูปแบบซ้ำสองที่ซ้อนทับกันตั้งแต่แรกเริ่ม ไม่ว่าจะเป็นคำสอนของอดัมเกี่ยวกับระบอบเผด็จการ (ซึ่งใช้หลักการเดิมๆ ในการควบคุมประชากรไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด เช่น จำกัดการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ และเซ็นเซอร์การแสดงออกทางความคิด) หรือภาพชุดกิจวัตรของเขากับแฟนสาวซึ่งวนเวียนในรูปแบบเดิมๆ และซ้อนทับกับเสียงบรรยายในห้องเรียน

เมื่ออดัมค้นพบว่านักแสดงตัวประกอบในหนังเรื่อง Where There’s a Will, There’s a Way ซึ่งเพื่อนร่วมงานเขาแนะนำให้ลองเช่ามาดู มีหน้าตาเหมือนเขายังกับแกะ ความอยากรู้อยากเห็นก็เริ่มก้าวเข้าครอบงำ เขาสืบหาข้อมูลจนพบว่านักแสดงคนดังกล่าวชื่อแอนโธนีย์ (จิลเลนฮาล) และพยายามจะโทรนัดเขาให้ออกมาเจอ แต่แล้วไม่นานความอยากรู้อยากเห็นค่อยๆ กลับกลายเป็นความตื่นตระหนก หลังปรากฏว่าแอนโธนีย์ไม่ได้แค่หน้าตาเหมือนเขาเท่านั้น แต่ยังมีน้ำเสียงและรอยแผลเป็นยาวตรงหน้าท้องแบบเดียวกันด้วย

ตัวตนแห่งมนุษย์กำลังถูกตั้งคำถามและทดสอบ กล่าวคือ รูปลักษณ์ภายนอกมีส่วนกำหนดความเป็นปัจเจกและเอกลักษณ์ของเรามากน้อยแค่ไหน ตัวตนจริงๆ ของเราหมายถึงเฉพาะสิ่งที่เราตระหนักรับรู้ หรือกินความรวมถึงสิ่งที่คนอื่นมองเราด้วย? ในฉากหนึ่งอดัมสวมแว่นกันแดดเพื่อหวังอำพรางตัวเองไม่ให้ใครจำได้ แต่พอเดินเข้าไปในสำนักงานเอเจนซีของแอนโธนีย์ ยามที่นั่นกลับทักทายเขาอย่างเป็นกันเองเพราะคิดว่าเขาคือแอนโธนีย์ ความขัดแย้งระหว่างสองสิ่งดังกล่าว (ตัวตนภายใน vs. ตัวตนภายนอกในสายตาของคนรอบข้าง) เริ่มทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น เมื่ออดัมกับแอนโธนีย์สลับบทบาทกันจนนำไปสู่ผลลัพธ์อันรุนแรง

แม้ว่านิยายของซารามาโกจะระบุค่อนข้างชัดเจนว่าครูสอนประวัติศาสตร์และนักแสดงนั้นเป็นตัวละครสองคน แต่หนังของวิลล์เนิฟกลับจงใจหลอกล่อคนดูให้สับสนมากขึ้น จนนำไปสู่สมมุติฐานข้อสองว่าบางทีอดัมกับแอนโธนีย์อาจเป็นคนๆ เดียวกัน ดังจะเห็นได้จากเบาะแสที่ซ้อนทับกันหลายอย่าง อาทิ อดัมมีรูปถ่ายรูปเดียวกันกับแอนโธนีย์ เพียงแต่เวอร์ชั่นของเขาภาพเฮเลน (ซาราห์ กาดอน) ที่มุมขวามือถูกฉีกทิ้ง หรือในฉากที่อดัมเดินทางไปเยี่ยมแม่ (อิซาเบลลา รอสเซลลินี) แล้วเธอพูดถึงความฝันลมๆ แล้งๆ ของอดัมที่จะเป็นนักแสดง พร้อมกับยืนกรานว่าบลูเบอร์รีเป็นผลไม้สุดโปรดของเขา (ในฉากก่อนหน้าคนดูจะเห็นแอนโธนีย์โวยวายที่เฮเลนไม่ได้ซื้อบลูเบอร์รีมาให้เขา)

นอกจากนี้วิลล์เนิฟยังสร้างคลุมเครือผ่านการเซ็ทฉากบางฉากอีกด้วย เช่น ตอนที่อดัมพูดคุยทางโทรศัพท์ครั้งแรกกับแอนโธนีย์ กล้องเลือกจับภาพอยู่ที่เหตุการณ์ฟากของอดัมก่อน โดยคนดูจะได้ยินเสียงตอบโต้ของแอนโธนีย์ดังมาตามสาย จากนั้นเมื่ออดัมเดินเข้าไปคุยในห้องน้ำ หนังก็ตัดไปยังเหตุการณ์อีกฟากหนึ่งเป็นภาพประตูห้องน้ำที่เปิดแง้มอยู่ ขณะเฮเลนได้ยินสามีของเธอพูดใส่โทรศัพท์แค่ว่า ฟังให้ดีนะ อย่าโทรมาที่นี่อีกจนเป็นเหตุให้เธอคิดว่าเขากำลังคิดจะนอกใจเธออีกครั้ง ความจงใจล่อลวงในลักษณะเดียวกันยิ่งปรากฏชัดขึ้นในฉากต่อๆ มา เมื่อเฮเลนเดินทางไปหาอดัมที่มหาวิทยาลัย เธอตกตะลึงหลังพบว่าเขาหน้าตาเหมือนสามีเธอทุกกระเบียดนิ้ว อันที่จริง เธอเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเขา (เช่นเดียวกับตอนที่เธอรับสายอดัมเป็นครั้งแรก) ด้วยซ้ำและพยายามจะพิสูจน์ความจริงด้วยการโทรศัพท์หาแอนโธนีย์ แต่กว่าแอนโธนีย์จะรับสาย อดัมก็เดินหลบเข้าไปในตึก พ้นจากสายตาของเฮเลนและคนดูแล้ว

ที่สำคัญ บทบาทของแมงมุมในเชิงสัญลักษณ์คือสิ่งที่ถูกเพิ่มเข้ามาโดยผู้กำกับ/คนเขียนบท และไม่ปรากฏให้เห็นในนิยายต้นฉบับ มีความเป็นไปได้สูงว่าแนวคิดดังกล่าวได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานประติมากรรมอันโด่งดังของ หลุยส์ บูร์ชัวส์ ชื่อว่า Maman (ภาษาฝรั่งเศสหมายถึงแม่) ซึ่งเป็นรูปปั้นแมงมุมขนาดยักษ์ สูง 30 ฟุต ทำจากทองแดง เหล็กกล้าไร้สนิม และหินอ่อน จัดแสดงโชว์อยู่ตามสถานที่ต่างๆ หลายแห่งทั่วโลก และหนึ่งในนั้น คือ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติของประเทศแคนาดาอันเป็นฉากหลังของหนังเรื่อง Enemy บูร์ชัวส์กล่าวว่าเธอสร้างรูปปั้นแมงมุมขึ้นเพื่อสดุดีแด่แม่ของเธอผู้เชี่ยวชาญการทอผ้าและเสียชีวิตไปตั้งแต่ตอนที่บูร์ชัวส์อายุได้เพียง 21 ปี

บูร์ชัวส์มองแมงมุมว่าเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งและการพิทักษ์รักษาในลักษณะของแม่ที่คอยปกป้องลูก ทัศนคติของเธอต่อเพศชายไม่ค่อยสวยงามนัก หลังจากเธอเริ่มตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่าพ่อของเธอแอบคบชู้กับหญิงอื่น ขณะที่แม่ของเธอป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ในทางตรงกันข้าม เมื่อแมงมุมมาอยู่ในหนังที่สร้างขึ้นโดยเพศชาย นำแสดงโดยเพศชาย เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับปมปัญหาของเพศชายเกี่ยวกับความสัมพันธ์และการลงหลักปักฐาน จึงไม่น่าแปลกใจที่มันจะกลับกลายเป็นสัญลักษณ์แทนการคุกคาม ควบคุม และเฝ้าจับตามอง แมงมุมหาใช่ตัวแทนของเพศหญิงเท่านั้น แต่จำเพาะเจาะจงชัดเจนกว่านั้น นั่นคือ ตัวแทนของเพศแม่ โดยหนังได้ตัดภาพเชื่อมโยงระหว่างสองสิ่งนี้ไว้ตลอด ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง ซึ่งคนดูจะได้ยินเสียงข้อความที่แม่ของอดัมฝากไว้ในเครื่องตอบรับ ก่อนจะตัดไปยังภาพเฮเลนที่กำลังตั้งท้อง จากนั้นก็ตามมาด้วยฉากแอนโธนีย์เดินเข้าไปในเซ็กซ์คลับ ซึ่งจัดแสดงโชว์สุดประหลาดด้วยการให้หญิงสาวในสภาพเปลือยเปล่า สวมใส่เพียงรองเท้าส้นสูงเหยียบย่ำไปบนแมงมุม อีกตอนหนึ่งที่โดดเด่น ได้แก่ หลังจากอดัมเดินทางไปเยี่ยมแม่ผู้ยืนกรานว่าเธอมีลูกแค่คนเดียว ช็อตถัดมา คือ ภาพแมงมุมยักษ์กำลังเดินเยื้องย่างคร่อมบรรดาตึกสูงระฟ้าในตัวเมือง แต่ทั้งหมดนั้นคงไม่เห็นภาพเป็นรูปธรรมชัดเจนมากเท่าฉากจบอันลือลั่น

ถ้านิยายของซารามาโกเป็นการมองวิกฤติตัวตนจากภายนอก เมื่อมีบุคคลอีกคนหนึ่งมาทำลายความเป็นปัจเจกของเรา มนุษย์ย่อมดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อจะดำรงเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของตนเอาไว้ (ในฉากจบของหนังสือหลังจากคุณครูได้สวมบทบาทแทนนักแสดงแบบเต็มตัวแล้ว เรื่องก็เวียนมาบรรจบกับตอนต้นอีกครั้ง เมื่อวันหนึ่งเขาได้รับโทรศัพท์จากชายแปลกหน้าที่อ้างว่าตนมีหน้าตาเหมือนเขาและขอนัดเจอ คุณครูตอบตกลงพร้อมกับโหลดกระสุนใส่ปืนเพื่อเตรียมไปพบกับชายผู้นั้น) หนังของวิลล์เนิฟก็เป็นการมองวิกฤติตัวตนจากภายใน ผ่านการวาดภาพให้สองตัวละครซ้อนทับและบรรจบกัน อดัมเปรียบดังจินตนาการในหัวแอนโธนีย์ นั่นคือ การใช้ชีวิตโดยปราศจากโซ่ตรวนของครอบครัวและการผูกมัด แรงปรารถนาดังกล่าวสะท้อนผ่านฉาก เหยียบแมงมุมกับข้อเท็จจริงที่ว่าแอนโธนีย์เคยลักลอบคบชู้กับผู้หญิงอื่น ซึ่งสื่อนัยยะผ่านทางบทพูดของเฮเลน (“แอบกลับไปคบหาหล่อนอีกใช่มั้ย”) และถ้าเราเชื่อว่าอดัมไม่มีตัวตนอยู่จริง หล่อนในความหมายของเฮเลนก็อาจหมายถึงแมรี (อดัมฉีกภาพของเฮเลนทิ้งไป)

อิทธิพลของแม่แผ่ขยายอยู่ทุกอณูในหนังผ่านรูปแบบของใยแมงมุมที่ปรากฏให้เห็นทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสายไฟรถรางที่ระโยงระยางไปมา หรือเส้นชอล์กบนกระดานดำ หรือรอยแตกในกระจกรถที่พลิกคว่ำ หรือกระทั่งภาพมุมสูงของตึกรูปร่างคล้ายคลึงกันที่วางเรียงอย่างเป็นระบบ เธอไม่ต่างจากเผด็จการที่คอยควบคุมบงการและจำกัดการแสดงออกทางปัจเจก การที่เธอแสดงท่าทีคัดค้านไลฟ์สไตล์ของลูกชายที่ไม่คบหาใครจริงจัง ไม่คิดจะลงหลักปักฐานกับใครสักที ส่งผลให้ชีวิตของอดัม (หรือภาพจินตนาการของแอนโธนีย์) เต็มไปด้วยความว่างเปล่า หดหู่ และดูจืดชืด ขณะเดียวกันการที่เธอกดดันให้เขาเลือกอาชีพที่มั่นคงแทนการเล่นเป็นตัวประกอบในหนังที่ไม่น่าจดจำก็เป็นเหตุให้อดัมเลือกมีอาชีพเป็นครูสอนประวัติศาสตร์ ส่วนประวัติผลงานการแสดงของแอนโธนีย์ก็หยุดอยู่แค่ปี 2006 (ตอนอดัม/แอนโธนีย์ไปเยี่ยมแม่ เธอแสดงท่าทีเห็นชอบที่เขาตัดสินใจล้มเลิกความฝันลมๆ แล้งๆ ของการเป็นนักแสดงเสียที)

ความขัดแย้งและงัดข้อกันระหว่างตัวตนจริงๆ ภายในของปัจเจกกับตัวตนที่สังคม หรือคนรอบข้างคาดหวังจากเขาสะท้อนผ่านความแตกต่างระหว่างอดัมกับแอนโธนีย์ คนแรกเปรียบได้กับการใช้ชีวิตตามต้องการของตน ส่วนคนหลังเปรียบได้กับการใช้ชีวิตตามที่สังคมคาดหวัง และเมื่อใดก็ตามที่แอนโธนีย์เริ่มก้าวเข้าใกล้อดัมมากขึ้น ซึ่งต่อมาจะนำไปสู่การสลับบทบาท หรือการยอมแพ้ต่อตัวตนที่แท้จริงภายใน พลังบางอย่างเหมือนจะพยายามล้อมกรอบเขาให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบ เช่น เมื่อแม่ของอดัมโทรเข้ามือถือ ขณะที่เขากำลังค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับแอนโธนีย์ หรือหลังจากเขาตกลงนัดพบกับแอนโธนีย์แล้ว เฮเลนในสภาพท้องแก่ก็เดินทางมาตามหาอดัมที่มหาวิทยาลัย แต่ทั้งหมดนั่นก็ไม่อาจยับยั้งสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้

เช่นเดียวกับนิยาย  Enemy จบลงด้วยการเดินซ้ำรอยของประวัติศาสตร์ และเรื่องราวก็เวียนมาบรรจบกับตอนต้นอีกครั้ง เมื่ออดัมได้รับกุญแจสำหรับเข้าเยี่ยมชมเซ็กซ์คลับ (สถานที่เดียวกับที่แอนโธนีย์แวะไปนั่งดูโชว์ เหยียบแมงมุม ในฉากเปิด) และเขาก็วางแผนจะเดินทางไปในคืนนั้น... แม้จะถูก กดทับ หรือจำกัดหนทาง สุดท้ายปัจเจกภาพย่อมหาทางออกสู่อิสรภาพจนได้ และถ้าแมงมุมเปรียบเสมือนตัวแทนของการคุกคาม บีบบังคับ ก็ไม่แปลกที่มันจะแสดงท่าทีหวาดกลัวในฉากสุดท้าย

ไม่มีความคิดเห็น: