วันศุกร์, ธันวาคม 29, 2549

Cast Away: การเดินทางสู่การเติมเต็มทางจิตวิญญาณ


ในนิยายขนาดสั้นเรื่อง The Metamorphosis ผลงานคลาสสิกที่ถ่ายทอดแนวคิดปรัชญาเชิง existentialism (1) เอาไว้อย่างเด่นชัด ผู้แต่ง ฟรานซ์ คาฟค่า ได้เล่าถึงวิบากกรรมของตัวเอก เกรกอร์ แซมซา เซลส์แมนหนุ่มผู้กลายร่างเป็นแมลงยักษ์ เพื่อตีแผ่ประเด็นเกี่ยวกับความยากลำบากแห่งการดำรงชีวิต วิธีของเขาคือการกำหนดให้ตัวเอกต้องเผชิญหน้ากับความโดดเดี่ยว (ถูกขังอยู่ในห้อง) ปรับตัวเองให้เข้ากับร่างกายแบบใหม่ (หัดเดินด้วยขาหลายข้าง) และตระหนักถึงความแปลกแยกจากสังคม (ถูกครอบครัวรังเกียจจากรูปลักษณ์ภายนอกอันชวนให้ขยะแขยง) ก่อนสุดท้าย เกรกอร์ แซมซา จะจบชีวิตลงอย่างอนาถด้วยโรคติดเชื้อ แถมยังถูกแม่บ้านโยนศพลงถังขยะอย่างไม่แยแสอีกด้วย

Cast Away ผลงานกำกับของ โรเบิร์ต เซเมคิส พยายามสะท้อนแนวคิดเชิง existentialism เอาไว้ด้วยเช่นกันผ่านโครงเรื่องซึ่งไม่แตกต่างจากงานเขียนของคาฟค่าสักเท่าไหร่ เกี่ยวกับชายที่ติดเกาะร้างอยู่ตามลำพัง เขาต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในสภาพแวดล้อมแปลกใหม่ แปรสภาพทั้งโดยรูปลักษณ์ภายนอก (น้ำหนักที่ลดลง หนวดเคราที่เพิ่มขึ้น) และจิตวิญญาณภายใน ก่อนจะกลับคืนสู่โลกศิวิไลซ์อีกครั้งเพื่อเผชิญหน้ากับความจริงอันสะเทือนใจ

ถึงแม้สุดท้ายแล้วเซเมคิสจะไม่ได้ให้คำตอบแก่ปัญหาชีวิตเช่นเดียวกับคาฟค่า แต่จุดจบของตัวเอกใน Cast Away กลับเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังมากกว่า The Metamorphosis อย่างเห็นได้ชัด

Cast Away ก่อร่างขึ้นด้วยการลงโทษมนุษย์อย่างปราศจากสาเหตุ เพื่อโยนเขาเข้าสู่สถานการณ์ที่จะนำมาซึ่งการตรวจสอบตัวตนและค้นหาความหมายแห่งการดำรงชีวิต นอกจากนั้นบทลงโทษ ชัค โนแลนด์ (ทอม แฮงค์) ยังเจือปนอารมณ์เยาะหยันอยู่ในที เนื่องจากเขาทำงานเป็นลูกจ้างบริษัทเฟ็ดเอ็กซ์ผู้เทิดทูนความสำคัญของเวลาในทุกนาที ดังนั้นเมื่อเขาต้องมาติดเกาะอยู่ตามลำพัง สถานที่ซึ่งเวลา ‘หยุดอยู่กับที่’ ผู้กำกับเซเมคิสจึงถือโอกาสล้อเลียนความไร้ประโยชน์ของนาฬิกาและเพจเจอร์ที่ชัคพกติดตัวไปทุกหนแห่งแบบทันควัน ต่อมาขณะกำลังวางแผนหนีออกจากเกาะ ชัคได้กล่าวซ้ำประโยคที่ตนเองเคยพูดเอาไว้เกี่ยวกับความสำคัญของเวลา แล้วก็นึกขำตนเอง… ตลอดสี่ปีแห่งความโดดเดี่ยวบนเกาะร้าง ชัคได้ค้นพบความจริงว่า เวลาไม่ได้มีความหมายในตัวเอง หากแต่เกิดขึ้นจากการนิยามของผู้คน สังคม การงาน ตลอดจนปัจจัยรอบข้างอื่นๆต่างหาก

จังหวะหนังก็สะท้อนสำนึกอันแปรเปลี่ยนไปของชัคในเรื่องเวลาเอาไว้อย่างชัดเจน ด้วยสไตล์การเล่าเรื่องอันแตกต่าง จากวิธีตัดภาพแบบฉับไว เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวในช่วงแรกของหนัง เช่น ฉากที่กล้องตามติดพัสดุชิ้นหนึ่งจากอเมริกาไปรัสเซีย เสริมส่งเข้ากับดนตรีร็อคแอนด์โรลด์แสนเร้าใจ ไปสู่การทอดอารมณ์อ้อยอิ่งในช่วงติดเกาะและการกลับคืนสู่โลกศิวิไลซ์ ซึ่งโดดเด่นด้วยวิธีตั้งกล้องนิ่ง การแพนกล้องอย่างมั่นคงแทนการใช้สเตดิแคม แต่ละช็อตจะมีความยาวมากขึ้น ผนวกเข้ากับดนตรีประกอบไหลเอื่อย อ่อนหวานตามจังหวะเครื่องสายเพื่อสะท้อนให้เห็นความด้อยค่าลงของเวลา จากการแข่งขันกับทุกจังหวะนาที (ฉากแยกสินค้าในรัสเซีย) ไปสู่การนับเวลาตามวัน เดือน ปี (คำบรรยายและรอยสลักบนหินที่เกาะร้าง)

ไม่เพียงชัคจะเริ่มตั้งคำถามต่อความหมายของเวลา รวมถึงชีวิตที่ต้องวิ่งแข่งกับเวลา เท่านั้น แต่ขณะติดเกาะอยู่ตามลำพัง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีนิยามในตัวเองอยู่แล้ว เช่น รองเท้าสเก๊ตน้ำแข็ง วีดีโอเทป และชุดราตรี ก็ล้วนถูกชัคนำมาดัดแปลงและตั้ง ‘นิยาม’ ให้พวกมันใหม่จนกลายเป็น มีด/ขวาน เชือก และแหจับปลาตามลำดับ โดยในช่วงแรกๆชัคทุ่มเทความพยายามทั้งหมดเพียงเพื่อเอาชีวิตรอดท่ามกลางปัญหาเรื่องน้ำดื่ม อาหาร และที่พักอาศัย แต่เมื่อทุกอุปสรรคถูกสะสางลงได้ในที่สุด ชัคก็เริ่มรู้สึกถึงความโดดเดี่ยว เปลี่ยวเหงา จนทำให้เขาต้องสร้างเพื่อนในจินตนาการขึ้นมาจากลูกวอลเลย์บอลเพื่อพูดคุยด้วย

หลังจากนั้นคำถามซึ่งผู้ชมเริ่มสงสัยจึงไม่ได้อยู่ที่ชัคจะมีน้ำกินเพียงพอหรือเขาจะก่อไฟได้หรือไม่ แต่อยู่ที่เขาจะทนใช้ชีวิตบนเกาะร้างได้นานแค่ไหนโดยปราศจากปฏิสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

ตามแนวคิดเชิง existentialism ความโดดเดี่ยวสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทด้วยกัน คือ ความโดดเดี่ยวระหว่างบุคคล ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาในอันที่จะรักและเป็นที่รักของบุคคลอื่น ความอ้างว้างระหว่างบุคคลอาจเกิดขึ้นเมื่อเราสูญเสียคนที่เรารักไป หรือเมื่อเราต้องอยู่คนเดียวตามลำพัง มันเป็นปฏิกิริยาโหยหาปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง ซึ่ง ‘ช่องว่าง’ ชั่วคราวดังกล่าวสามารถเติมเต็มได้ด้วยการหาคู่ครอง หรือเพื่อนสนิทมิตรสหาย

ดังนั้นเพื่อตอกย้ำความเปล่าเปลี่ยวระหว่างบุคคลของชัคบนเกาะร้าง ตลอดครึ่งชั่วโมงแรกของ Cast Away คนดูจึงได้เห็นชัคถูกล้อมรอบไปด้วยเพื่อนร่วมงาน หญิงคนรักชื่อ เคลลี่ (เฮเลน ฮันท์) และครอบครัว โดยเฉพาะในฉากงานเลี้ยงคริสต์มาส จนทำให้ดูราวกับว่าชีวิตของชัคครบถ้วนสมบูรณ์พร้อมแล้ว แต่นั่นเป็นความสุขที่แท้จริงหรือ? ข้อกังขาดังกล่าวนำเราไปสู่ ความโดดเดี่ยวทางจิตวิญญาณ หรือความรู้สึกว่างเปล่าที่ไม่อาจเติมเต็มได้โดยบุคคลอื่น แต่จะต้องเกิดขึ้นจากการค้นพบภายในเท่านั้น เนื่องจากนักทฤษฎี existentialism มีความเชื่อว่าร่างกายของมนุษย์มีความสมบูรณ์พร้อมจากภายในแล้ว ทั้งในด้านจิตวิทยาและสรีรศาสตร์ การอาศัยอยู่ในร่างกายดังกล่าวจึงทำให้มนุษย์แต่ละคนแปลกแยกและแตกต่างจากคนอื่นๆ

ความโดดเดี่ยวทางจิตวิญญาณไม่สามารถรักษาได้ด้วยความรัก ไม่ว่ารักนั้นจะสมบูรณ์พร้อมแค่ไหนก็ตาม มันทำให้เรารู้สึกอ้างว้าง แม้จะถูกห้อมล้อมไปด้วยคนรักและญาติสนิทมิตรสหาย แต่เมื่อใดก็ตามที่ช่องว่างดังกล่าวถูกเติมเต็ม ความรู้สึกว่างเปล่า ขาดแคลน ไม่เพียงพอ ไม่สมบูรณ์ หรือเปลี่ยวเหงาก็จะมลายหายไป และถูกแทนที่ด้วยความรู้สึกพอใจ อิ่มเอิบ และเติมเต็ม ประสบการณ์ดังกล่าวจะทำให้เรามองความรักในแง่มุมที่แตกต่าง เลิกที่จะไขว่คว้าหาคู่ครองมาเติมเต็มช่องว่างทางจิตวิญญาณของตนเอง และสามารถรักบุคคลอื่นได้โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ นอกจากนั้นการสูญเสียคนรักไปก็ไม่สามารถทำให้เราหวนกลับสู่ความโดดเดี่ยวทางจิตวิญญาณได้อีก (2)

บทเรียนที่ชัคได้รับจากการติดเกาะเป็นเวลาสี่ปี คือ การเอาชีวิตรอดนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่การมีชีวิตอยู่ต่างหากที่ยากเย็นแสนเข็ญและเต็มไปด้วยความซับซ้อน แรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ชัคตัดสินใจหนีออกจากเกาะ คือ เพื่อเติมเต็มช่องว่างในความโดดเดี่ยวระหว่างบุคคล แต่ขณะเดียวกันประสบการณ์ติดเกาะดังกล่าวก็ทำให้เขาได้สำรวจลึกถึงตัวตนภายใน นำไปสู่การเติมเต็มทางจิตวิญญาณ… วิธีที่ชัคเฝ้ามองดูรูปเคลลี่อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันบ่งบอกถึงอาการโหยหาความรักที่หลุดลอยไป ส่วนความหวังว่าได้กลับไปหาเธออีกครั้งก็ทำให้ชัคมีกำลังใจยืนหยัดต่อสู้ต่อไป อาจกล่าวได้ว่าชัคกำลังใช้ (ภาพ) เคลลี่เพื่อเติมเต็ม ‘ช่องว่าง’ ให้กับชีวิตของเขาบนเกาะ เช่นเดียวกับการตัดสินใจเก็บห่อพัสดุเฟ็ดเอ็กซ์กล่องหนึ่งเอาไว้เป็นปริศนาโดยไม่เปิดออกดูเพื่อมอบความหวังให้แก่อนาคต เปิดกว้างสำหรับโอกาสที่จะได้นำพัสดุดังกล่าวกลับไปส่งคืนในโลกศิวิไลซ์อีกครั้ง สัญลักษณ์ปีกนกบนกล่องเทียบได้กับอิสรภาพซึ่งชัคปรารถนา การถูก ‘ขังเดี่ยว’ ของชัค มองเผินๆอาจเปรียบเสมือนบทลงโทษ แต่สุดท้ายแล้วมันกลับทำให้เขาได้ค้นพบบทเรียนชีวิตครั้งยิ่งใหญ่

ชัคสร้างวิลสันขึ้นมานอกจากจะเพื่อเป็นเพื่อนคุยแล้ว ยังเพื่อยืนยันตัวตนของเขาบนโลกใบนี้ เพื่อสร้างนิยามให้แก่ตัวเอง และที่สำคัญความสัมพันธ์ระหว่างเขากับลูกวอลเลย์บอลยังกลายมาเป็นสัญลักษณ์แทนการเปิดใจเข้าเรียนรู้ตัวตนจากภายในของชัคอีกด้วย เนื่องจากวิลสันถือกำเนิดขึ้นมาจากเลือดของชัค ก่อนจะค่อยๆแปรเปลี่ยนสภาพไปตามผู้ให้กำเนิดเมื่อกาลเวลาผ่านไป (กิ่งไม้ที่ถูกเสียบเพิ่มขึ้นมาเทียบได้กับหนวดเคราและผมเผ้ารุงรังของชัค) มันเปรียบได้กับขั้นตอนการเติมเต็มทางจิตวิญญาณของชัคเพื่อเตรียมเขาให้พร้อมสำหรับการเดินทางกลับสู่สังคมอีกครั้งในรูปลักษณ์ใหม่ทั้งรูปธรรมและนามธรรม การตัดสินใจขั้นสุดท้ายของชัคที่จะ ‘ปล่อย’ วิลสันให้ล่องลอยไปในมหาสมุทรโดยเขา ‘เลือก’ ที่จะคว้าเส้นเชือกเพื่อดึงตัวเองกลับไปยังแพพิสูจน์ถึงความพร้อมของชัค… ความเศร้าโศกของชัคเกิดจากการสูญเสียวิลสันในฐานะเพื่อน (ความโดดเดี่ยวระหว่างบุคคล) ไม่ใช่ในฐานะส่วนหนึ่งของตัวตนเขา อีกไม่กี่ซีนต่อมาชัคก็แสดงถึงความโดดเดี่ยวระหว่างบุคคลดังกล่าวด้วยการยื่นมือไปยังเรือบรรทุกสินค้าและพูดชื่อเคลลี่ขึ้นมาอย่างแผ่วเบา

ฉากการหวนคืนสู่อ้อมกอดทางสังคมของชัคถูกนำเสนอให้แตกต่างจากช่วงครึ่งชั่วโมงแรก ชัคไม่ได้ถูกห้อมล้อมด้วยเพื่อนฝูง ครอบครัว หรือ คนรัก ฉากพิธีต้อนรับการกลับมาของเขาถูกฉายผ่านจอทีวี ผู้ชมจะได้เห็นฝูงชนเป็นเพียงแบ็คกราวด์ผ่านกระจก ขณะชัคเดินเข้ามาในห้องซึ่งว่างเปล่าตามลำพังเพื่อพบเคลลี่ตามนัด แต่สุดท้ายเขากลับได้แต่มองดูเธอผ่านกระจก เช่นเดียวกัน ในฉากงานเลี้ยงต้อนรับของกลุ่มเพื่อนฝูง คนดูจะไม่ได้สัมผัสบรรยากาศในงานเลี้ยง เหมือนงานวันคริสต์มาสช่วงต้นเรื่อง แต่มันกลับเริ่มต้นเมื่อแขกเหรื่อเริ่มทยอยกันออกจากงาน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสะท้อนให้เห็นความแปลกแยกของชัคในฐานะมนุษย์ที่สมบูรณ์จากภายใน ผู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ท่ามกลางฝูงชนเพื่อสัมผัสถึงความรู้สึกเติมเต็มอีกต่อไป ก่อนอารมณ์โหยหาความรักจะนำเขาไปหาเคลลี่ แต่ความผิดหวังที่ได้รับในเวลาต่อมาก็ไม่ได้ทำให้เขาสูญเสียกำลังใจในการดำรงชีวิต เนื่องจากความรักไม่ว่าจะแท้จริงเพียงใด ดังเช่นที่เคลลี่กับชัคมีให้แก่กัน ไม่ได้ทำให้มนุษย์สมบูรณ์แบบ แต่เป็นการเติมเต็มทางจิตวิญญาณต่างหาก

ไม่มีใครบอกว่าการใช้ชีวิตจะเรียบง่าย ปราศจากอุปสรรค ขวากหนาม และความผิดหวัง สิ่งสำคัญ คือ มนุษย์จำต้องตระหนักในตัวตนโดยไม่หันไปพึ่งพาจากบุคคลอื่น ความสูญเสียสามารถเรียกกลับคืน หรือ ทดแทนกันได้ ตราบเท่าที่เรายังมีลมหายใจอยู่ เพราะใครจะรู้ วันรุ่งขึ้น “กระแสลมอาจจะเปลี่ยนทิศทาง” ก็ได้

เช่นเดียวกับทฤษฎี existentialism ซึ่งมุ่งเน้นการโยนคำถามให้ปัจเจกชนมากกว่าจะยื่นคำตอบให้อย่างตรงไปตรงมา เพราะมันเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการมีอยู่มากกว่าการล่วงรู้ ผู้กำกับ โรเบิร์ต เซเมคิส ไม่ได้สรุปชะตาชีวิตข้างหน้าของ ชัค โนแลนด์ ให้แน่ชัดลงไป คนดูที่เชื่อมั่นในแนวทางโรแมนติกอาจเดินออกจากโรงหนังอย่างเบิกบานใจ ด้วยการอนุมานฉากจบว่าชัคได้มองไปยังทิศทางบ้านของเบททิน่า (ลารี่ ไวท์) หญิงสาวผู้กำลังจะกลายเป็นรักใหม่ของเขา (หนังแสดงให้เห็นตอนต้นเรื่องว่าสามีของเธอแอบมีสัมพันธ์ลับอยู่กับผู้หญิงอีกคนหนึ่งในรัสเซีย) เขาจะขับรถกลับไปบ้านเธอ พูดคุย ทำความรู้จัก และตกหลุมรักกันในที่สุด แต่ Cast Away ไม่ได้ทำให้การตีความดังกล่าวเด่นชัดจนเกินไป นอกจากรอยยิ้มเล็กๆที่ผุดขึ้นบนใบหน้าของชัคก่อนที่จอหนังจะค่อยๆเฟดออกแล้วกลายเป็นเครดิตท้ายเรื่อง

ภาพสี่แยกกลายมาเป็นภาพสุดท้ายของหนังก็เพื่อเน้นย้ำแนวคิด existentialism ว่ามนุษย์มีอิสระเสรีในการเลือกทางเดิน ทุกสิ่งที่ (จะ) เกิดขึ้นในชีวิต และตัวตนของเขาล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากการตัดสินใจ หรือการกระทำของเขาอย่างแท้จริง โดยพระเจ้า คำที่ไม่ถูกเอ่ยอ้างถึงเท่าใดนัก หรือในที่นี้ คือ เบททิน่า ตัวแทนของนางฟ้าจากสัญลักษณ์ปีกนกสองข้างซึ่งปรากฏอยู่บนกล่องพัสดุ ท้ายรถกระบะ และเป็นต้นแบบของอนุสาวรีย์เล็กๆที่บ้านไร่ ได้เพียงแต่แสดงตัวเลือกทั้งหลายให้แก่มนุษย์เท่านั้น ดุจดังเบททิน่าผู้อธิบายให้ชัคฟังว่าถนนแต่ละเส้นจะนำเขาไปพบเจอกับสิ่งใดบ้าง จากนั้นจึงปล่อยให้การตัดสินใจขั้นสุดท้ายตกอยู่ที่ปัจเจกชน

ด้วยเหตุนี้รอยยิ้มเล็กๆบนใบหน้าของชัคในฉากสุดท้ายอาจไม่ได้หมายถึงโอกาสสำหรับการพบรับใหม่ แต่เป็นความอิ่มเอิบใจในการเรียนรู้ว่าชีวิตของเขาไม่จำเป็นต้องจบสิ้นลงหลังสูญเสียเคลลี่ การเดินทางด้านจิตวิญญาณของชัคจากความว่างเปล่า โดดเดี่ยว ไปสู่ความสงบสุขจากภายใน และการ ‘เติมเต็ม’ ทางจิตวิญญาณ ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ครบวงจรแล้ว ถึงแม้อนาคตข้างหน้าอาจดูไม่แน่นอน ไร้จุดหมาย แต่ก็เปิดกว้างสำหรับทางเลือกอันหลายหลาก… บางทีนี่เองที่ทำให้ชีวิตคุ้มค่ากับการดำรงอยู่

หมายเหตุ

1.Existentialism เป็นกลุ่มแนวคิดทางทฤษฎีเกี่ยวกับธรรมชาติแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์ ซึ่งยากที่จะจำกัดความหมายลงไปแบบจำเพาะเจาะจง เนื่องจากแต่ละแนวคิดต่างก็คาบเกี่ยวและขัดแย้งกันอยู่ในตัวเอง โดยทั่วๆไปแล้วเราสามารถแบ่งแยก existentialism ออกได้เป็นสามแนวทางด้วยกัน คือ เชิงปรัชญา ศาสนา และศิลปะ กลุ่มแรกเชื่อในการมีตัวตนอยู่ของมนุษย์ตลอดจนทุกสิ่งรอบข้าง ซึ่งใกล้เคียงกับความคิดเห็นของบุคคลทั่วไป เพียงแต่นักทฤษฎี existentialism แยกแยะตัวเองออกมาด้วยคำอธิบายเพิ่มเติมว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านั้นล้วนไร้ซึ่ง ‘ความหมาย’ ในตัวเอง เพราะมนุษย์เป็นคนตั้งนิยามให้แก่สิ่งต่างๆ การตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมนำมาซึ่งความเจ็บปวดทางจิตใจ ขณะเดียวกันการประพฤติตนตามแนวทางชีวิตอันไร้ซึ่งความหมายต่อไปก็ยิ่งจะทำให้เราต้องทนทุกข์ทรมาน แต่ท่ามกลางคำนิยามอันหดหู่ หม่นหมองนี้ นักทฤษฎีได้เสนอทางออกเอาไว้ว่า existentialism คือ จุดเริ่มต้นในการช่วยมนุษย์ให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยพัฒนาการดังกล่าวต้องเกิดขึ้นจากภายในเท่านั้น สำหรับกลุ่มคริสเตียนเองก็ยอมรับว่าแนวคิด existentialism อาจทำให้ศรัทธาในพระเจ้าสั่นคลอน แต่กระนั้นมันก็ยังไม่ใช่ทางออกที่แท้จริงอยู่ดี ก่อนจะสรุปไปในทางเดียวกันว่า คำตอบของมนุษย์ต่อปัญหาทั้งหลายควรพัฒนามาจากภายใน (หรือศรัทธานั่นเอง) ทฤษฎี existentialism ถูกกลุ่มผู้นิยมศิลปะหรือวรรณกรรมนำไปตีความในเชิงต่อต้านพระเจ้า เด่นชัดสูงสุดจากงานเขียนของ ฌอง-พอล ซาร์ตร์ ซึ่งยกย่องปัจเจกชนในฐานะผู้มีอิสระเสรีที่จะลิขิตชีวิตตามสามัญสำนึกหรือความมุ่งมั่น ผ่านการกระทำซึ่งปราศจากแรงควบคุมของสิ่งที่มองไม่เห็นเป็นตัวตน ซาร์ตร์เชื่อว่าพระเจ้าตายแล้วและระบบศีลธรรมทั้งหลายควรก่อร่างขึ้นมาจากแนวคิดดังกล่าว (อ้างอิงจากหนังสือ The Handbook to Literature โดย วิลเลี่ยม ฮาร์มอน และ ซี. ฮิวจ์ ฮอลแมน)

2. แนวคิดเกี่ยวกับความโดดเดี่ยวอ้างอิงจากหนังสือ Opening to Grace: Transcending Our Spiritual Malaise โดย เจมส์ พาร์ค

15 ความคิดเห็น:

Hi-Fi Lover กล่าวว่า...

ผมพลัดหลงเข้ามาเจอ Blog ที่น่าพิศวงนี้ได้อย่างไร??? ผมกำลังค้นหาคำว่า ชีวิตคือการเดินทาง และการเดินทางของผมยังคงเดินต่อไป แม้ว่าจะไม่ได้หวือหวา หรือสวยหรูอย่างใครๆ แต่ผมก็มีความสุขกับการเดินทางในแบบที่เป็นอยู่

ขอบคุณที่ทำให้ผมได้อ่านบทความดี ทำให้ผมนึกถึงสิ่งที่ผมรักมากที่สุดสิ่งหนึ่ง คือการชมภาพยนต์

ขอบคุณครับ

หมายเหตุ - ดู Before the sunset แล้วชื่นชมทุกคนๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้กำกับ นักแสดง (จำบทได้เก่งจริงๆ) จังหวะ และการเคลื่อนไหวของหนัง ทำได้อย่างแนบเนียน จนทำให้คิดถึงตัวเองว่า คุณเจอคนที่คุณรักเมื่อ 10 ปีก่อน คุณจะพูดอะไรกับเค้าบ้าง (ฮา) และที่สำคัญจะพูดออกหรือไม่ต่างหาก (ฮารอบ 2)หรือจะมีแต่เพียงเสียงลมหายใจ (แห่งความคิดถึง)และบรรยากาศแห่งความอึดอัดเข้ามายึดครอง ตลอดเวลา 1 ชม. อย่างไรก็ตามผมก็ยังเชื่อว่า 1 ชม.แห่งความทรมาน ยังคงมีความสุข และความอิ่มใจระคนอยู่เช่นกัน

รออ่านวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องนี้ครับ

Riverdale กล่าวว่า...

ขอบคุณที่แวะมาอ่านครับ หวังว่าเราคงได้เสวนาเรื่องหนังกันอยู่เนืองๆ ผ่านทางบล็อกนี้นะครับ ผมเองก็จะขยันอัพเดทบล็อกให้มากขึ้น ปัจจุบันยังขี้เกียจเหมือนเช่นเคย แม้จะขึ้นปีใหม่แล้วก็ตาม

เรื่อง Before Sunset ทำเอาผมเพ้อไปหลายวัน นั่นสิ ถ้าผมได้เจอกับคนรักเก่า เวลาผ่านไปขนาดนี้แล้ว เราจะคุยอะไรกัน ผมว่าสิ่งที่น่าอิจฉาสำหรับซีลีนกับเจสซี่ คือ พวกเขายังคง click กันได้ แม้เวลาจะผ่านไปนานขนาดนี้แล้ว

tontoon กล่าวว่า...

ขอบคุณนะคะ *-*
มีความสุขมากเลยค่ะที่ได้อ่านเรื่องนี้

noikelly กล่าวว่า...

you are so good ka .pls keep on yr work .:))

Wining SynchroNize กล่าวว่า...

ผมดูหนังแล้ว ยังไม่เข้าใจเท่าไหร่ แล้ว มาอ่านบทความนี้ ผมต้องขอขอบคุณผู้เขียนมากๆครับ

yu กล่าวว่า...

มันคงนานละเรื่องนี้ ผมเคยดูแต่ไม่จบ
ผ่านมาเกือบ 10 ปี ถึงมาดูอีกครั้ง

สงสัยตอนจบ ไม่ซิผมอาจจะตามหาตอนจบ
ที่ผมยอมรับคำตอบของหนังเรื่องนี้ หรือ
ที่หนังต้องการสื่อ ในมุมมองที่ผมต้องการ

ผมเข้าไปอ่านใน pantip มันก็ยังไม่ใช่
อธิบายตอนจบ ได้เยี่ยมครับ
ขอบคุณ

Riverdale กล่าวว่า...

ขอบคุณแวะมาอ่านครับ :)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เคยดูหนังเรื่องนี้เมื่อ10ปีก่อน วันนี้มีโอกาสหยิบมาดูอีกทีแต่ก็ยังสงสัยในบางจุด เปิดผ่านมาอ่านบล็อคนี้กระจ่างเลย ขอบคุณ

Riverdale กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับคอมเมนต์นะครับ มันเป็นเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงให้บล็อกนี้ยังอยู่ต่อไปครับ :)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

พอดีหลงเข้ามา อยากจะบอกว่าทุกซีนที่มีอิทธิพลในหนังเรื่องนี้ คุณบรรยายได้ละเอียดและมองเห็นภาพเลย จะติดตามผลงานนะครับ

Riverdale กล่าวว่า...

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ หลังๆ อาจจะนานๆ มาอัพเดทที 555

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เป็นบทความที่ดีมาก เป็นแนวคิดในการดำเนินชีวิตของผมต่อจากนี้

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เขียนดีมากค่ะ ทำให้ได้คิดเพิ่มเติมหลายๆ เรื่อง ขอบคุณมากนะคะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เขียนดีมากเลยค่ะ สรุปแนวคิดได้น่าสนใจมากเลย ขอบคุณนะคะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สวัสดีครับ ได้ชมอีกครั้งเมื่อคืน และมาอ่านบทความชิ้นนี้ ประทับใจมากทั้งตัวหนังและบทความ เฉียบคมแม้จะเป็นงานในยุคแรกๆของคุณ/ fc. เราเจอกันครั้งแรกเมื่อปี 2545