วันเสาร์, มกราคม 06, 2550

Crash: เนื้อแนบเหล็ก-มนุษย์กับเครื่องจักร


คงไม่มีใครโต้เถียงได้ว่า Crash คือ ภาพยนตร์อื้อฉาวที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติการณ์ เมื่อตอนเปิดตัวในปี 1996 มันได้ก่อให้เกิดกระแสความขัดแย้งระหว่างเสียงสรรเสริญกับเสียงประณามหยามเหยียด จนบางครั้งถึงขั้นด่าทอแบบไม่ให้ผุดให้เกิด อย่างมากมาย จนสามารถนำไปเขียนเป็นหนังสือสนุกๆ ได้เล่มหนึ่งเลยทีเดียว

เช่นเดียวกัน ตอนนิยายเรื่องนี้ของ เจ.จี.บัลลาร์ด ตีพิมพ์ออกสู่ท้องตลาดในปี 1973 ผู้อ่านหลายคนได้แสดงทัศนะต่อต้านมันอย่างกว้างขวางด้วยคำวิจารณ์ทำนองว่า “นักเขียนผู้นี้ไปไกลเกินกว่าจิตแพทย์จะช่วยเหลือได้” และเมื่อผู้กำกับ เดวิด โครเนนเบิร์ก ตัดสินใจจะนำมันไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เอเย่นต์ของเขาก็ร้องเตือนทันที “อย่าสร้างมันเด็ดขาด มันจะทำลายชื่อเสียงคุณในวงการ” พร้อมทั้งสนับสนุนให้เขารับงานกำกับ เดมี มัวร์ ในหนังฮอลลีวู้ดเรื่อง The Juror แทน โชคดีที่โครเนนเบิร์กเชื่อมั่นในสัญชาตญาณตัวเอง เขาไล่เอเย่นต์ออก แล้วเปิดกล้อง Crash ด้วยทีมดาราดังอย่าง เจมส์ สเปเดอร์, ฮอลลี ฮันเตอร์, แพ็ทริเซีย อาร์เคตต์ พร้อมดาราสมทบชาวแคนาดาอย่าง อีเลียส โคเทียส และ เดเบอร่าห์ อังเกอร์

ประวัติศาสตร์เริ่มต้นขึ้น เมื่อ Crash ได้รับทั้งเสียงปรบมือและเสียงโห่ในการฉายเปิดตัวที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ ก่อนจะกลับออกมาพร้อมรางวัลพิเศษ Special Jury Prize สำหรับความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ความกล้าหาญแห่งแรงสร้างสรรค์ และความมุทะลุ บ้าบิ่น แม้จะมีกรรมการบางคนขอถอนตัวจากผลการตัดสินดังกล่าวของประธาน คือ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา เพราะพวกเขาไม่ต้องการจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการยกย่องหนังแบบ Crash ก็ตาม ต่อมา หนังก็ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้อย่างสูงในฝรั่งเศสและแคนาดา แล้วคว้ารางวัลจีนี (ออสการ์ของแคนาดา) มาครองถึง 5 สาขาด้วยกัน รวมทั้งรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมและบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมของโครเนนเบิร์ก

อย่างไรก็ตาม หนังเรื่องนี้กลับโดนแบนในอังกฤษ และถูกผู้ชายหัวเอียงขวาจนตกขอบที่ชื่อ เท็ด เทอร์เนอร์ ประธาน นิวไลน์ ซีเนมา ซึ่งได้ลิขสิทธิ์จัดจำหน่าย Crash ในอเมริกา หมักดองเอาไว้เกือบหนึ่งปีเต็มกว่าจะเปิดตัวแบบเงียบๆ พร้อมเรท NC 17 ในปี 1997 โครเนนเบิร์กไม่ได้โต้แย้งต่อเรทหนังที่ได้ อีกทั้งเขายังไม่พยายามจะตัดหนังใหม่ให้เหลือแค่เรท R เพื่อขยายกลุ่มคนดูให้กว้างขึ้น หรือใช้มันเป็นจุดขายตื้นๆ เหมือนที่ พอล เวอร์โฮเวน ทำกับ Showgirls แต่อย่างใด เนื่องจากเขาเห็นว่านั่นเป็นคำตัดสินที่เหมาะสมดีแล้ว

เนื้อหาสาระของงานศิลปะบางชิ้นก็คู่ควรกับผู้ใหญ่ที่บรรลุนิติภาวะแล้วเท่านั้น

ศิลปะหรืออนาจาร?

ความแตกต่างสำคัญระหว่าง Crash กับหนังโป๊อยู่ตรงที่ฉากร่วมรักใน Crash ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศของผู้ชม ถึงแม้ตัวหนังจะเต็มไปด้วยฉากการร่วมรักตลอดทั้งเรื่องเหมือนกับหนังโป๊ก็ตาม ส่วนความแตกต่างระหว่างฉากร่วมรักใน Crash กับหนังฮอลลีวู้ดทั่วไป ซึ่งมักใช้มันเป็นยากระสายเพิ่มความชุ่มชื่นให้กับหนัง ก็คือ ฉากเซ็กซ์ใน Crash ทำหน้าที่ดำเนินเรื่อง บ่งบอกความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร จนทำให้คุณไม่สามารถตัดฉากพวกนี้ออกไปได้ เพราะมันอาจส่งผลกระทบต่อความเข้าใจเรื่องราวของผู้ชม ซึ่งนั่นแตกต่างจากฉากเซ็กซ์ในหนังฮอลลีวู้ดทั่วไปที่บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องมี

ตัวอย่างเด่นชัด คือ ฉากการร่วมรักติดๆ กัน 3 ฉากในช่วงเปิดเรื่อง เริ่มจากฉาก แคทเธอรีน บัลลาร์ด (เดเบอร่าห์ อังเกอร์) ร่วมรักกับชายแปลกหน้าในลานจอดเครื่องบิน ตามมาด้วยฉาก เจมส์ บัลลาร์ด (เจมส์ สเปเดอร์) ร่วมรักกับผู้ช่วยกล้องสาวในห้องเก็บอุปกรณ์ และฉากเจมส์ร่วมรักกับแคทเธอรีนบนระเบียงห้องพัก โดยทั้งหมดนอกจากจะอธิบายถึงภาวะความ (ไม่) สัมพันธ์ของสองสามีภรรยาบัลลาร์ดแล้ว พวกมันยังเป็นการร่วมรักจากด้านหลังอีกด้วย ซึ่งทำให้คู่ขาไม่สามารถมองเห็นสีหน้าของกันและกันได้ อันที่จริง ฉากรักส่วนใหญ่ใน Crash มักอยู่ในท่านี้ ซึ่งช่วยถ่ายทอดความหมายพิเศษ นั่นคือ พวกเขาไม่ได้กำลังร่วมรักกันตามความเข้าใจปรกติ มันไม่ใช่ปฏิสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างมนุษย์สองคนที่พึงพอใจกัน แต่เป็นการแสวงหาความสุขส่วนตัวโดยมีบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง มันใกล้เคียงกับการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองมากกว่าการร่วมรัก ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะเชื่อมโยงไปถึงหัวข้อเกี่ยวกับนัยแฝงแห่งโลกอนาคตของหนัง

แนวคิดดังกล่าวได้รับการตอกย้ำชัดเจนในฉากการร่วมรักจากข้างหลังระหว่างเจมส์กับแคทเธอรีน หลังฝ่ายหญิงเพิ่งถูกวอห์น (อีเลียส โคเทียส) ยั่วยวนบนถนนในฉากขับรถไล่ล่า พวกเขาทั้งสองได้นำเอาวอห์นมาเป็นหัวข้อสนทนาเพื่อการบรรลุถึงจุดสุดยอด วอห์นกลายเป็นบุคคลที่สามบนเตียงซึ่งปราศจากตัวตนเป็นรูปธรรม แต่ทรงอิทธิพลต่ออารมณ์กำหนัดของสองสามีภรรยา โดยตลอดทั้งฉาก แคทเธอรีนเอาแต่พร่ำพรรณาว่ามันจะเป็นเช่นไร หากเจมส์มีความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศกับวอห์น ซึ่งต่อมามันก็กลายเป็นจริง ถึงแม้เจมส์จะไม่ก้าวไปไกลถึงจุดที่ภรรยาของเขาจินตนาการไว้ก็ตาม

นัยแฝงแห่งโลกอนาคต

ถึงแม้งานเขียนที่ทำให้บัลลาร์ดโด่งดังจะเป็นหนังสือเชิงอัตชีวประวัติ (Empire of the Sun) เกี่ยวกับเด็กชายชาวอังกฤษที่เติบโตในเซี่ยงไฮ้ แล้วต้องใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในค่ายกักกันนักโทษของญี่ปุ่น หลังพลัดหลงกับพ่อแม่ขณะกำลังจะเดินทางออกนอกประเทศ แต่ทุกครั้งที่เอ่ยชื่อ เจ.จี.บัลลาร์ด คนอ่านมักจะถึงนึกหนังสือไซไฟอันเปี่ยมล้นจิตนาการมากกว่า ผลงานหลายเรื่องของเขาถูกนำไปเปรียบเทียบอยู่เนืองๆ กับผลงานของ วิลเลียม เอส. เบอร์โรห์ ซึ่งโครเนนเบิร์กเคยดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาแล้ว (Naked Lunch) ขณะเดียวกัน หนังหลายเรื่องของโครเนนเบิร์ก เช่น The Fly, Videodrome และ eXistenZ ก็นิยมวิพากษ์บทบาทของเทคโนโลยีล้ำสมัย

Crash ไม่ได้ระบุช่วงเวลาของฉากหลังเอาไว้ชัดเจน (เช่นเดียวกับงานในยุคแรกของโครเนนเบิร์กอย่าง Shivers และ Scanners) มันอาจเป็นยุคปัจจุบันหรือโลกอนาคตก็ได้ แต่เมื่อพิจารณาจากภาวะแวดล้อมข้างต้นแล้ว ความเป็นไปได้น่าจะอยู่ตรงข้อหลังมากกว่า

ขณะที่หนังไซไฟส่วนใหญ่ชอบเล่นสนุกกับจินตนาการไกลตัวประเภทรถเหาะได้ ยานอวกาศ มนุษย์ต่างดาว หรืออุปกรณ์ไฮเทคสารพัด หนังเรื่องนี้ของโครเนนเบิร์กกลับพยายามพาผู้ชมเข้ามาใกล้โลกแห่งความจริงมากขึ้น โดยอาศัยรถยนต์เป็นตัวแทนของโลกแห่งวิทยาการและเครื่องจักร เพราะจะว่าไปแล้ว รถยนต์อาจนับเป็น สิ่งประดิษฐ์ทันสมัย ที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และวิถีชีวิตมากที่สุดในศตวรรษที่ 20 เช่นเดียวกับภาพยนตร์ (นั่นคือเหตุผลที่เจมส์มีอาชีพเป็นนักทำหนังโฆษณา) แล้วเน้นโฟกัสยังปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ที่ถูกเปลี่ยนแปลงโดยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

รถยนต์ใน Crash เป็นตัวแทนของเทคโนโลยีที่ทรงอิทธิพลจนกระทั่งสร้างสรรค์มนุษย์พันธุ์ใหม่ขึ้น ทั้งในด้านร่างกาย สื่อผ่านมนุษย์ครึ่งเครื่องจักรแบบ กาเบรียลลา (แพ็ทริเซีย อาร์เคตต์) และจิตใจ สื่อผ่านวอห์นกับผองเพื่อนวิปริตของเขา คนเหล่านี้สร้างความสัมพันธ์ที่แปลกแตกต่าง พวกเขาไม่ได้ถูกดึงดูดโดยรูปร่างหน้าตา อุปนิสัย หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่ก่อร่างขึ้นมาเป็นมนุษย์ แต่กลับถูกดึงดูดโดยซากรถยนต์ รอยแผล (หนึ่งในฉากชวนช็อกของหนัง คือ ตอนที่เจมส์ร่วมรักกับรอยแผลบนต้นขาของกาเบรียลลาราวกับมันเป็นช่องคลอด!) และการขับรถชน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผลผลิตของเครื่องจักร ดังตอนหนึ่งที่เจมส์ยอมรับกับภรรยาว่า เขาสามารถถูกวอห์นกระตุ้นอารมณ์ได้ หากฝ่ายหลังอยู่ในรถคันเก่งของเขา เปรียบไปแล้ว พวกเขาไม่ได้กำลังร่วมรัก แต่กำลังสำเร็จความใคร่โดยมีคนช่วยต่างหาก

มนุษย์กลุ่มนี้ไม่ได้แตกต่างจากมนุษย์ปรกติคนอื่นๆ ตรงที่พวกเขาพยายามแสวงหาวิทยาการใหม่ๆ มาทดแทนสิ่งเดิมๆ แนวคิดใหม่ๆ มาล้มล้างแนวคิดเก่าๆ จากนั้นก็เริ่มซึมซับมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต พวกเขาพยายามสร้างรูปแบบใหม่ให้กับการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ หลังจากเคยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์กันมา แล้วพบว่ามันมีความเซ็กซี่ปะปนอยู่อย่างน่าประหลาด พวกเขาจึงสร้างโลกเฉพาะขึ้น เชื่อมประสานมันจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แล้วสุดท้ายก็ไม่อาจสลัดหลุดจากสภาพแวดล้อมที่ตนเองสร้างขึ้นได้

พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้อาจดูเกินเลยจนถึงขั้นน่าหัวเราะเยาะ แต่มันเป็นแค่จินตนาการวิตถารที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความเป็นจริงงั้นหรือ ลองนึกดูว่าเหตุใดคนส่วนใหญ่จึงชอบชะลอดูอุบัติเหตุบนท้องถนน ทำไมคนจำนวนมากจึงชอบร่วมรักในรถยนต์ (นอกเหนือจากเหตุผลว่าไม่มีสถานประกอบกิจ) แล้วไหนจะพวกที่ชอบเจาะห่วงตรงหัวนม อวัยวะเพศ การฝังหมุด หรือสักรูปภาพต่างๆ ตามลำตัวอีกล่ะ เช่นนี้แล้ว คุณอาจจะเริ่มมองเห็นว่าความเจ็บปวดกับอารมณ์ทางเพศนั้นหาได้ตั้งอยู่คนละขั้วไม่

มนุษย์อนาคตในสายตาของบัลลาร์ดจะนิยมพึ่งพิงเครื่องจักร แยกตนเป็นอิสระ สนองตอบความพึงพอใจของตนโดยไม่ยี่หระผู้อื่น แล้วก็ตายจากไป ดังเช่นกรณีวอห์นซึ่งมีเตียงนอนเป็นรถ (รถยนต์คือหนึ่งในเทคโนโลยีที่สนับสนุนให้คนเราสร้างโลกส่วนตัว เช่นเดียวกับประสบการณ์การชมภาพยนตร์ ผู้คนส่วนมากขวนขวายหาซื้อรถมาใช้ก็เพราะพวกเขาไม่ต้องการแออัดกับระบบขนส่วนมวลชน ในหนังเอง เจมส์ก็ได้ตั้งข้อสังเกตถึงปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นทุกวันเอาไว้) หรือไม่ก็พยายามหาความลงตัวในสัมพันธภาพปรกติ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันแปลกแยกของโลกเครื่องจักร แต่สุดท้ายกลับลงเอยด้วยความล้มเหลวดังเช่นกรณีของเจมส์และแคทเธอรีน พวกเขาหันไปพึ่งพิงคนแบบวอห์น โดยหารู้ไม่ว่านั่นจะยิ่งทำให้ทุกอย่างเลวร้าย พวกเขาโหยหาความชิดใกล้ ผ่านวิธีการที่ส่งเสริมให้คนเราเหินห่างกันมากขึ้น

นิยายรักยุคใหม่

“สิ่งที่ผมพยายามหลีกเลี่ยง คือ อารมณ์ความรู้สึกอันตื้นเขิน ผมคิดว่าการสร้างหนังในปัจจุบันก็คล้ายการกดปุ่ม หลังจากดูหนังฮอลลีวู้ดไปได้ 5 นาที คุณก็จะรู้ทันทีว่าใครเป็นคนดี คนร้าย ใครตลก ใครไม่ตลก คุณรู้ว่าควรจะเริ่มรู้สึกสะเทือนใจเมื่อใด และมีอารมณ์เช่นใดเมื่อดูหนังจบ สำหรับผม นั่นมันเป็นเครื่องจักรเกินไป ไม่น่าสนใจ ดังนั้นผมเลยพยายามต่อสู้กับการแสดงอารมณ์แบบตื้นเขิน ความรู้สึกที่ผมใส่ไว้ในหนังจึงล้วนแต่ยากที่จะเข้าใจ... ผมคิดว่าองค์ประกอบขั้นต้นของงานศิลปะ คือ การแหวกกฎที่ล้อมรอบเราอยู่”

ใครที่ได้ดูหนังเรื่อง Crash ย่อมไม่แปลกใจต่อคำพูดข้างต้นของ เดวิด โครเนนเบิร์ก เพราะผลงานชิ้นนี้ “ยากจะเข้าใจ” ไปเสียทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา หรือการนำเสนอ คนดูอาจรู้สึกตื้อในสมองราวกับโดนทุบด้วยของแข็งหลังดูจบ เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าควรจะรู้สึกอย่างไรต่อพฤติกรรมแปลกประหลาดของตัวละครทั้งหลาย เนื่องจากโครเนนเบิร์กไม่ “กดปุ่ม” ใดๆ ที่เราคุ้นเคยเพื่อดึงอารมณ์ผู้ชมเลย

ถ้าเช่นนั้น Crash เป็นหนังที่ปราศจากอารมณ์ล่ะหรือ แน่นอน คำตอบ คือ ไม่ใช่ และตรงนี้เองที่แสดงถึงความเก่งกาจของโครเนนเบิร์ก เขาสามารถสร้างอารมณ์สะเทือนใจได้ ทั้งที่หนังตลอดทั้งเรื่องเต็มไปด้วยความวิปริตอันชวนคลื่นเหียน ทั้งเลือด รอยแผล โลหะ และอารมณ์เย็นชาอันยากจะเข้าใจของตัวละครพิลึกพิลั่น

คนดูสามารถเข้าถึงหนังเรื่องนี้ได้หลายระดับด้วยกัน และระดับที่ง่ายที่สุด ได้แก่ ความเป็นหนังรักของ Crash เพราะหากพิจารณาเนื้อเรื่องแบบคร่าวๆ แล้ว จะพบว่า Crash มีพล็อตไม่แตกต่างจากหนังรักทั่วไปเกี่ยวกับความเหินห่างระหว่างสองสามีภรรยา ซึ่งพยายามจะทำทุกวิถีทางในการประกอบชิ้นส่วนอันแตกสลายให้กลับมาคืนรูปร่างอีกครั้ง พวกเขาแสวงหาความรักและความหมายใหม่ให้กับชีวิตคู่ หลังจากความรักและกามารมณ์แบบเดิมๆ ใช่ไม่ได้ผลอีกต่อไป

เพียงหนังดำเนินเรื่องไปแค่ 5 นาที คนดูก็สามารถตระหนักได้ทันทีว่าชีวิตคู่ของสองสามีภรรยาบัลลาร์ดกำลังง่อนแง่น กิจกรรมทางเพศของพวกเขาเริ่มจืดชืด และวิธีแก้ไขในขั้นแรก คือ การลักลอบมีเซ็กซ์กับคนแปลกหน้า ก่อนจะนำมาเล่าสู่กันฟังขณะร่วมรัก แต่พอวิธีดังกล่าวไม่ได้ผล พวกเขาก็เริ่มถลำลึกอย่างสิ้นคิดเข้าสู่โลกของวอห์น ด้วยหวังว่ามันอาจจะช่วยแก้ปัญหาได้

ฉากสุดท้ายของหนัง คือ บทสรุปอันชวนหดหู่ มันเป็นฉากสำคัญเพียงฉากเดียวที่แตกต่างจากนิยาย แต่ก็ได้รับความเห็นชอบจาก เจ.จี.บัลลาร์ด มันเป็นครั้งแรกที่คนดูสามารถรู้สึกได้ว่าเจมส์กับแคทเธอรีนรักกันมากแค่ไหน และเป็นฉากเดียวของหนังที่แสดงให้เห็นอารมณ์ห่วงหาอาทรระหว่างตัวละครก่อนจะลงมือร่วมรัก “โลกของวอห์น” เป็นเพียงอีกทางเลือกหนึ่ง เช่นเดียวกับการลักลอบมีเซ็กซ์กับคนแปลกหน้า พวกเขาไม่ได้ถลำลึกเข้าสู่สัญชาตญาณด้านมืดเหมือนวอห์นกับเพื่อนๆ เจมส์ไม่ได้มีโครงการจะบรรลุความฝันสูงสุดด้วยการขับรถคนดังที่ตายบนท้องถนน (เจเอฟเค, เจน แมนฟิลด์, เจมส์ ดีน) ไปสู่จุดจบเหมือนวอห์นกับเพื่อนๆ สาเหตุที่เขานำเอารถของวอห์นมาซ่อม แล้วขับมันไล่ล่าแคทเธอรีนในตอนท้าย ก็เพียงเพราะเขาหวังว่ามันจะเป็นทางออกสำหรับชีวิตคู่อันจืดชืด แห้งแล้ง แต่สุดท้ายความพยายามนั้นก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า (ประโยค “บางทีคราวหน้า ที่รัก บางทีคราวหน้า...” ถูกนำมาพูดย้ำอีกครั้งในตอนท้าย) และนั่นเป็นความเศร้าอันกรีดลึก เพราะหลังจากความพยายามอันหลากหลาย แม้กระทั่งเสี่ยงตายบนท้องถนน เจมส์กับแคทเธอรีนก็ยังคงไม่ประสบความสำเร็จในการชุบชีวิตคู่ให้สดใส การแสวงหาของพวกเขายังคงไม่สิ้นสุด และต้องลองผิดลองถูกกันต่อไป

อารมณ์โรแมนติกที่ถูกเคลือบด้วยภาพชวนสยองไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับใครที่เคยติดตามผลงานของโครเนนเบิร์กมาตลอด เพราะก่อนหน้านี้ The Fly ก็ประสบความสำเร็จแบบเดียวกันมาแล้ว

แต่เช่นเดียวกับหนังไซไฟหลายเรื่อง แก่นหลักของ Crash คือ การตักเตือนมนุษย์ว่ากำลังปรับตัวกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมอันเต็มไปด้วยเครื่องจักร คอนกรีต และแท่งเหล็กซึ่งเราสร้างขึ้นมากเกินไป จนเริ่มแปลกแยกจากธรรมชาติและวิถีดั้งเดิม ไม่เชื่อให้คุณลองสำรวจรอบๆ ตัวว่าเต็มไปด้วยทีวี คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ท ดีวีดี โทรศัพท์ ฯลฯ หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้มนุษย์ใกล้ชิดกันมากขึ้น (เหมือนในโฆษณาโทรศัพท์บางยี่ห้อ) หรือสนับสนุนให้เราสร้างโลกส่วนตัวมากขึ้นกันแน่ ปัจจุบันมนุษย์ (โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นใหม่) กำลังถูกส่งเสริมให้ใช้ชีวิตครบวงจรในบ้านแทนการออกไปพบปะสังสรรค์เพื่อนๆ พวกเขานิยมสื่อสาร (หรือกระทั่งทำกามกิจ) ผ่านใยแก้วนำแสง อินเตอร์เน็ท และจานดาวเทียมมากกว่าปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัว

ด้วยเหตุนี้ โศกนาฏกรรมแห่งความแปลกแยก โดดเดี่ยว และเหินห่างระหว่างเจมส์กับแคทเธอรีนจึงไม่ใช่ฝันร้ายที่ไกลเกินจริง บางทีปัจจุบันเราอาจกำลังแสดงบทโหมโรง ก่อนหนังเรื่อง Crash จะเริ่มต้นขึ้น กันอยู่ก็ได้ และตัวเอกก็คือสองสมาชิกจากหลายสิบล้านของเด็กยุคไซเบอร์!

7 ความคิดเห็น:

celinejulie กล่าวว่า...

คุณโอลิเวอร์โดนดิฉัน tag แล้วนะ

blog tag ในที่นี้คือการบอกอะไรเกี่ยวกับตัวเองมา 5 อย่างแล้วเอาไป tag คนอื่นต่อ เหมือนเป็นจดหมายลูกโซ่ประเภทหนึ่ง

อ่านของดิฉันได้ที่
http://celinejulie.blogspot.com/2007/01/technopolyclinic.html

ดูร่องรอยของ BLOG TAG ได้ที่
http://www.keng.ws/files/blog-tag_trace.html
(รู้สึกว่าเขาจะสะกดชื่อเว็บบล็อกเราผิด ฮ่าๆๆ)

Riverdale กล่าวว่า...

รู้สึกว่าทุกคนที่รู้จักจะโดน Tag ไปหมดแล้ว จะให้ไป Tag ฝรั่งบางคนก็ยังไงอยู่ แหะๆ ไม่ได้เข้าบล็อกแค่สองวัน ปรากฏว่าเกิดอะไรขึ้นมากมาย :(

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อยากดูหนังเรื่องนี้มากมาย แต่ด้วยความไม่ถนัด(เอาเสีเลย)ทางภาษา กลัวว่าจะแปลไปได้นอกเรื่องนอกราวเด๋วจะพาลให้กรอดูแต่ฉากอย่างว่าอ่ะครับ

ว่าแต่คุณพี่ riverdale มีให้ดูบ้างป่ะครับ

Riverdale กล่าวว่า...

ผมก็ไม่มีหนังเรื่องนี้เหมือนกันไม่ว่าจะในรูปวีดีโอ ดีวีดี หรือวีซีดี ไม่รู้ว่ามีการออกดีวีดีเรื่องนี้แล้วหรือยัง อยากได้มาครอบครองเหมือนกัน

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ไม่แน่ใจว่าเวอร์ชั่นที่ได้ดูนี่ถูกตัดไปบางหรือป่าว

(เพราะจ้องจนตาจะถลน ก็ยังไม่เห็นตอนเจมส์ร่วมรักทางบาดแผลเสียที อิอิ)

ดูจบตอนแรกมึนมาก เข้าใจอยู่เรื่องเดียว คือ"รักไม่ลงรอย" นอกนั้นก็ยังมึนๆอยู่ คิดว่าบรรยากาศดู"ล้ำ"แต่ไม่แน่ใจเท่าไหร่

สุดท้าย...พี่เก่งมากครับ คิดได้ไงอ่ะ

Riverdale กล่าวว่า...

โหง่ยจ๊ะ มันไม่ได้เห็นจะๆ กันขนาดนั้นหรอก อยากเห็นผู้ชายร่วมเพศกับบาดแผล ให้ไปหาหนังเรื่อง Otto; or Up with Dead People มาดูซะนะ อันนั้นน่ะ จะๆ เลย

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมาก ๆ นะครับ สำหรับบทความดีๆ