วันเสาร์, มกราคม 20, 2550

Russian Ark: อหังการ mise-en-scene


ท่ามกลางกระแสเอ็มทีวีกับวัฒนธรรม เจอร์รี่ บรัคไฮเมอร์ ที่นิยมซอยภาพยนตร์ออกเป็นช็อตย่อยๆจนเหลือความยาวในแต่ละช็อตไม่เกินหนึ่งนาที Russian Ark ผลงานมหัศจรรย์ที่ปราศจากการตัดต่อตลอดความยาว 90 นาทีของผู้กำกับชาวรัสเซีย อเล็กซานเดอร์ โซกูรอฟ จึงเปรียบเสมือนตัวแทนของโลกเก่า หรือวิญญาณที่ฟื้นคืนชีพขึ้นมาจากยุคสมัยซึ่ง mise-en-scene (1) ยังเจริญรุ่งเรือง นีโอเรียลริสซ์ (2)ยังเป็นเทรนด์แปลกใหม่ และ อังเดร บาแซง ยังเป็นหนึ่งในนักทฤษฎีที่สำคัญของวงการภาพยนตร์โลก

การตัดสินใจดังกล่าวดูจะแฝงนัยยะเสียดสีอยู่ในที เมื่อพิจารณาจากความจริงที่ว่า รัสเซีย คือ แหล่งกำเนิดของสองบิดาแห่งทฤษฎีการตัดต่อผู้ยิ่งใหญ่อย่าง เซอร์ไก ไอเซนสไตน์ (The Battleship Potemkin) และ เวโวล็อด ปูดอฟกิน (Mother)

นอกจากนั้น ความขัดแย้งอีกอย่างอยู่ตรงการที่ โซกูรอฟ ผู้นิยามตนเองว่าเป็นพวกอนุรักษ์นิยมและหัวโบราณ กลับเปิดใจอ้าแขนรับเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างไม่ลังเล เพื่อให้โครงการ ‘ย้อนอดีต’ ทั้งในแง่สไตล์และเนื้อหาของเขาสำเร็จลุล่วงไปได้ Russian Ark ถ่ายทำโดยใช้กล้องดิจิตอล Sony High Definition (SONY HDW-F900) ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาสามารถถ่ายช็อตได้นานเกินหนึ่งชั่วโมง บันทึกหน่วยความจำลงในฮาร์ดดิสค์ และสรรค์สร้างความงามด้านภาพได้ใกล้เคียงกับการถ่ายโดยใช้กล้อง 35 ม.ม.

หากมองโดยเปลือกนอก Russian Ark ย่อมไม่แคล้วต้องถูกยกย่องให้เป็น ‘การปฏิวัติ’ ครั้งสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ยังไม่เคยมีใครสร้างหนังความยาวปรกติโดยไม่ตัดภาพเลยสักครั้งเดียวมาก่อน มีเพียงแค่ความพยายามจะทำเช่นนั้น แต่ถูกข้อจำกัดเรื่องความยาวของฟิล์มมาขัดขวาง เช่น Rope (1948) ของ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อค ซึ่งกล้องต้องเคลื่อนเข้าไปหาความมืดทุกครั้งเพื่อเชื่อมรอยต่อระหว่างฉาก เมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยนม้วนฟิล์ม ดังนั้นความน่าตื่นตาในหะแรกของ Russian Ark จึงอยู่ตรงการตระหนักถึงความยากลำบากของเบื้องหลังงานถ่ายทำ ไม่ว่าจะเป็นการจัดแสง อุปกรณ์ประกอบฉาก ซักซ้อมนักแสดง เตรียมคิวตัวประกอบในเครื่องแต่งกายย้อนยุคซึ่งมีจำนวนนับพันคน ออกแบบมุมกล้อง หรือพูดง่ายๆก็คือการวางโครงสร้าง mise-en-scene ในหนังนั่นเอง ตากล้อง ทิลแมน บัตต์เนอร์ ต้องเดินถ่ายภาพไปตามห้องต่างๆของพิพิธภัณฑ์ เฮอร์มิเทจ (3)เป็นระยะทางทั้งสิ้นกว่าสองกิโลเมตร พร้อมกล้องดิจิตอลติดสเตดิแคม และที่สำคัญ หากเกิดความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย อาทิ นักแสดงลืมบทพูด หรือตากล้องเดินสะดุด ทุกอย่างจะต้องกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมงานไม่อาจทำได้บ่อยๆ เพราะทางพิพิธภัณฑ์อนุญาตให้พวกเขาเข้าไปถ่ายทำได้เพียงวันเดียวเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองให้ลึกลงไปแล้วจะพบว่า Russian Ark ไม่เพียงจะปฏิวัติวงการภาพยนตร์ด้วยการถ่ายทำแบบ one take wonder เท่านั้น แต่ยังละเมิดหลักเกณฑ์เบื้องต้นเกี่ยวกับทฤษฎี mise-en-scene และ long take ของ อังเดร บาแซง ในแง่ของเวลาอีกด้วย

ในหนังสือ What is Cinema? บาแซงได้เขียนบทความยกย่อง mise-en-scene เหนือการตัดต่อ พร้อมทั้งยกตัวอย่างเป็นหนังกลุ่มนีโอเรียลริสซ์ ว่าเต็มไปด้วยความจริงอันงดงาม สะเทือนใจ ที่ปราศจากการแต่งเติมด้วยเทคนิคทางภาพยนตร์ เนื่องจากการถ่ายทำแบบ long take เน้นโฟกัสชัดลึกนั้นสามารถบรรจุภาพมุมกว้างไปจนถึงโคลสอัพ ทั้งการกระทำและการตอบสนอง แบ็คกราวด์และโฟร์กราวด์ เอาไว้ให้ผู้ชมเลือกดูได้อย่างครบถ้วนในช็อตเดียว โดยไม่จำเป็นต้องแบ่งซอยออกเป็นช็อตย่อยๆจำนวนมาก สำหรับบาแซง long take และ mise-en-scene ช่วยสร้างความสมจริงให้แก่เรื่องราวได้มากกว่าการตัดต่อ ซึ่งย่นย่อพื้นที่ เวลา และบงการความคิด รวมไปถึงอารมณ์ของคนดูจนเกินไป

กล้องที่จับภาพเหตุการณ์ตามเวลาจริงโดยไม่ถูกขัดจังหวะย่อมก่อให้เกิดผลกระทบทางอารมณ์ ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหนังเพื่อความบันเทิงหลายเรื่อง ตัวอย่างได้แก่ ฉาก long take อันลือลั่นของ Touch of Evil (1958) ที่เริ่มต้นด้วยภาพโคลสอัพระเบิดเวลาซึ่งถูกนำไปใส่ไว้ในรถยนต์คันหนึ่ง จากนั้นกล้องก็คอยตามติดเหตุการณ์/รถคันนั้นโดยตลอดแบบไม่มีการตัดภาพ คนดูจึงรู้สึกได้ถึงระเบิดที่กำลังนับถอยหลังทุกวินาที ความตึงเครียดทวีสูงขึ้นตามลำดับ เพราะเวลาของหนังมีค่าเทียบเท่ากับเวลาจริง

ตรงกันข้าม long take ใน Russian Ark กลับไม่มีส่วนปลุกสำนึกเกี่ยวกับเวลาจริง หรือเร้าอารมณ์ทางดราม่าใดๆตามขนบดั้งเดิมเลย แถมมันยังละเมิดกฎสำคัญในเรื่องเวลาอีกต่างหาก ด้วยการพาผู้ชม ‘กระโดดข้ามยุค’ เข้าไปสัมผัสเหตุการณ์ต่างๆตามประวัติศาสตร์รัสเซียซึ่งกินระยะเวลากว่าสามร้อยปี ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ไปจนถึงยุคก่อนการปฏิวัติในช่วงศตวรรษที่ 20 โดยไม่ตัดภาพ (cut) ทำภาพจางซ้อน (dissolve) หรือใช้เทคนิค fade in/out เพื่อเชื่อมโยงเหตุการณ์ย้อนอดีต ดังนั้น อดีตกับปัจจุบันจึงปะปนกันยุ่งเหยิง เช่นเดียวกับตัวละครที่ตายไปแล้วกับตัวละครที่ยังมีชีวิตอยู่ และแฟนตาซีกับประวัติศาสตร์ ในห้องหนึ่งเราอาจเห็นพระนางเจ้าแคทเธอรีนนั่งชมโอเปร่าส่วนพระองค์ แต่เมื่อกล้องเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่องไปยังอีกห้องหนึ่ง เรากลับเห็นผู้คนในยุคปัจจุบันเดินชมภาพวาดศิลปะบนผนัง และเมื่อกล้องเคลื่อนไปยังห้องอีกห้องหนึ่ง เราก็ได้เห็นพระเจ้านิโคลัสที่หนึ่งระหว่างต้อนรับทูตสันตวไมตรีของเปอร์เซีย ซึ่งเดินทางมาขอขมาเกี่ยวกับเหตุลอบสังหารนักการทูตชาวรัสเซียในกรุงเตหะราน

จะเห็นได้ว่า โซกูรอฟไม่ได้กำลังไล่ล่าความสมจริงตามหลักทฤษฎีของบาแซง หากแต่เป็นภาวะนิรันดร อันไร้ซึ่งขอบเขตแห่งกาลเวลา คล้ายภาพฝัน หรือภวังค์หลังความตาย (เสียงพูดบนจอดำมืดในช่วงต้นเรื่องที่ว่า “ฉันลืมตาขึ้นมาและมองไม่เห็นสิ่งใด ฉันจำได้เพียงว่ามีอุบัติเหตุ ทุกคนวิ่งหนีกันจ้าละหวั่น ฉันจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับฉัน” สะท้อนความนัยดังกล่าว) ซึ่งน่าประหลาดตรงที่ เทคนิคการถ่ายเหตุการณ์แบบ long take โดยไม่สะดุดหรือหยุดชะงักด้วยการตัดต่อ ก็สามารถถ่ายทอดแนวคิดเหนือจริงดังกล่าวออกมาได้อย่างทรงพลังเช่นกัน ความคุ้นเคยของผู้ชมต่อเทคนิคตัดต่อในภาพยนตร์ ทำให้หนังปลุกเร้าความรู้สึกงุนงง สับสน จนกระทั่งค่อยๆแปรเปลี่ยนเป็นความตื่นตะลึงในที่สุด ไม่ต่างจากความรู้สึกของสองนักเดินทางข้ามกาลเวลาในเรื่อง

Russian Ark ประกอบไปด้วยตัวละครสำคัญสองคน คนหนึ่งเป็นนักการทูตชาวฝรั่งเศส แต่ไม่มีการระบุถึงชื่อจริงของเขาชัดเจน และเครดิตท้ายเรื่องก็บอกเพียงว่าเขาเป็น คนแปลกหน้า (the stranger) กระนั้น แหล่งข้อมูลหลายแห่งต่างตีความตรงกัน ว่าเขาน่าจะเป็น มาร์ควิส เดอ คุสติน (1750-1857) นักการทูตผู้ถือกำเนิดขึ้นมาในแวดวงขุนนางของฝรั่งเศส เคยไปท่องเที่ยวรัสเซียในปี 1839 และตีพิมพ์ประสบการณ์เป็นบันทึกเดินทาง ซึ่งต่อมาได้รับการยอมรับ ว่าเป็นหนึ่งในบทสำรวจ วิเคราะห์ วิจารณ์ วัฒนกรรม การเมือง สังคม ตลอดจนทัศนคติของชาวรัสเซียผ่านสายตาชาวต่างชาติ ที่แหลมคมที่สุด ส่วนตัวละครอีกคนนั้นกลับไม่ปรากฏให้เห็น (ตัวละครส่วนใหญ่ในเรื่องก็ไม่มีใครสังเกตเห็นเขาเช่นกัน นอกจากมาร์ควิส) มีแต่เสียงพูด (โดยโซกูรอฟ) ให้ได้ยิน เขาเป็นชาวรัสเซีย น่าจะมาจากยุคปัจจุบัน (เขารู้เรื่องสงครามโลก อีกทั้งในฉากหนึ่งยังแนะนำผู้อำนวยการ เดอะ เฮอร์มิเทจ ให้มาร์ควิสได้รู้จักด้วย) และการที่กล้องถูกใช้แทนสายตาของเขาโดยตลอดทำให้เขามีหน้าที่เปรียบเสมือนตัวแทนของคนดูอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

การคลุกเคล้าช่วงเวลา ยุคสมัย เข้าด้วยกันอาจทำให้คนดูรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปในโลกแห่งความฝัน โดยมี มาร์ควิส วิญญาณในอดีตที่ถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมา (ตัวละครคนหนึ่งอ้างว่าได้กลิ่นฟอร์มาลีนโชยมา) เป็นไกด์นำเราไปแนะนำให้รู้จักกับประวัติศาสตร์ของรัสเซีย พร้อมทั้งแสดงความเห็นเสียดสีอยู่เป็นระยะๆตามทัศนะแบบชาวยุโรปซึ่งมองรัสเซียว่าขาดเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดีแต่หยิบยืมคนอื่นเขามา ไม่ว่าจะเป็นภาพเขียนจากอิตาลี หรือดนตรีจากเยอรมัน แต่ขณะเดียวกัน การถ่ายทำแบบไม่ตัดภาพเลยแม้แต่ครั้งเดียวและใช้กล้องในลักษณะแทนสายตาโดยตลอด ก็ทำให้หนังของโซกูรอฟสามารถกระตุ้น ‘ความสมจริง’ ได้ในระดับหนึ่ง ได้แก่ ประสบการณ์ของการเดินชมพิพิธภัณฑ์ นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้จะปราศจาก ‘เรื่อง’ หรือ ‘พล็อต’ ตามธรรมเนียมปรกติ แต่ใช่ว่า Russian Ark จะไร้ซึ่งการกระตุ้นอารมณ์ทางดราม่าอย่างสิ้นเชิง ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงไคล์แม็กซ์สุดแสนอลังการ ณ งานเต้นรำครั้งสุดท้ายที่ถูกจัดขึ้นในพระราชวังฤดูหนาวเมื่อปี 1913 บรรดาแขกเหรื่อเต้นรำไปมาอย่างเริงร่า บรรยากาศอบอวลไปด้วยความหรูหรา ฟู่ฟ่า ของเหล่าบุรุษ สตรีแห่งสังคมชนชั้นสูง แสงสีภายในสุกสว่างด้วยโคมไฟระย้า เครื่องแต่งกายอันงดงาม และเสียงดนตรีออร์เคสตร้าจังหวะสนุกสนาน ฉากดังกล่าวรุกเร้าทุกโสตประสาทของผู้ชมให้ตื่นตัว ดังนั้นเมื่อทุกอย่างสิ้นสุดลง มันจึงให้ความรู้สึกเศร้าสร้อยอยู่ลึกๆ เหมือนการได้เข้าไปมีส่วนร่วมในงานเลี้ยงชั้นยอดซึ่งย่อมจะต้องมีวันเลิกลา ที่สำคัญ การตระหนักอยู่ในใจว่าบรรดาความสุขเหล่านั้นเป็นเพียงอดีตอันหอมหวาน ซึ่งต่อมาจะแปรเปลี่ยนเป็นสงครามโลก ความแร้นแค้น การปฏิวัติ การเข่นฆ่าล้างราชวงศ์ และระบบสังคมนิยมภายใต้การนำของจอมเผด็จการ มันจึงทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวเจือความทุกข์ระทมมากยิ่งขึ้นไปอีก

เช่นเดียวกับการได้เข้าไปเยี่ยมชมประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ในพิพิธภัณฑ์ Russian Ark ปลุกเร้าผู้ชมให้รู้สึกตื่นตะลึงไปกับอดีตอันยิ่งใหญ่และโหยไห้ต่อวัฒนธรรมที่ไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้… ความเจริญรุ่งเรืองที่สูญสลายไปตามสายลมและกระแสน้ำแห่งกาลเวลา

หมายเหตุ

[1] mise-en-scene เป็นคำศัพท์ภาษาฝรั่งเศสมีความหมายตามตัวว่า “ใส่เข้ามาในฉาก” แต่เดิมเป็นคำที่บรรดาผู้กำกับละครใช้อธิบายวิธีจัดทุกสิ่งทุกอย่างบนเวที ต่อมากลายเป็นคำศัพท์ที่ได้ใช้กันแพร่หลายในแวดวงภาพยนตร์ หมายถึง การจัดองค์ประกอบภาพในหนึ่งช็อต แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุ (อุปกรณ์ประกอบฉาก) กับผู้คน (ตัวละคร) ตลอดจนถึงแสงเงา แสงสี มุมกล้อง และการเคลื่อนกล้อง โดยทั่วไปแล้ว ผู้กำกับที่ให้ความสำคัญกับ mise-en-scene มักจะพึ่งพาการตัดต่อเพียงน้อยนิดและเน้นการถ่ายภาพแบบชัดลึกเช่น ผลงานส่วนใหญ่ของผู้กำกับ โหวเสี่ยวเฉียน, ยาสุจิโร่ โอสุ, อิงมาร์ เบิร์กแมน, อังเดร ทาร์คอฟสกี้ และ ไมเคิลแองเจโล่ แอนโตนีโอนี เป็นต้น

[2] neorealism เป็นกระแสการสร้างหนังที่ถือกำเนิดขึ้นในยุคที่อิตาลีตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลฟาสซิสต์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ยุคที่งานศิลปะถูกจำกัดความคิดสร้างสรรค์และสภาพสังคมเต็มไปด้วยความแร้นแค้น คุณสมบัติสำคัญของหนังประเภทนี้คือ ถ่ายทำในสถานที่จริง ไม่ใช้นักแสดงชื่อดัง เล่าเรื่องราวของคนธรรมดาเดินดิน เกี่ยวกับปัญหาในชีวิตประจำวันของพวกเขา และใช้งานด้านภาพ/การตัดต่ออันเรียบง่าย ไม่เรียกร้องความสนใจ ตัวอย่างของหนังในแนวทางนี้ได้แก่ Open City ของ โรเบอร์โต้ รอสเซลลินี, The Bicycle Thief ของ วิตตอริโอ เดอ ซิก้า และ Apu Trilogy ของ สัตยาจิต เรย์ เป็นต้น

[3] The Hermitage เป็นอดีตพระราชวังฤดูหนาวในกรุง เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ที่ได้รับคำสั่งให้โปรดสร้างขึ้นโดยสมเด็จพระนางเจ้าแคทเธอรีนที่สอง เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาคอลเล็กชั่นศิลปะของพระนาง ปัจจุบันมันถูกปรับปรุงให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์สาธารณะที่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมชมได้ และตามคำอ้างของ มิคาเอล บอริโซวิค ปิโอทรอฟสกี้ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ซึ่งร่วมแสดงเป็นตัวเองในหนังเรื่องนี้ด้วย เดอะ เฮอร์มิเทจ เปรียบดัง “สัญลักษณ์แทนประวัติศาสตร์รัสเซียในช่วงกษัตริย์เรืองอำนาจ”

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เห็นแผ่นเรื่องนี้บ่อยมากจากร้านวีดีโอที่หนึ่ง มันเหมือนอยากดูมากแต่พอเวลาผ่านไปกลีบเฉยๆทุกที?

celinejulie กล่าวว่า...

SHAWN LEVY ผู้กำกับหนังเรื่อง NIGHT AT THE MUSEUM (2006, B) บอกว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจในการกำกับหนังเรื่องนี้มาจาก RUSSIAN ARK

ฮ่าๆๆๆๆ ล้อเล่นค่ะ