วันพฤหัสบดี, มกราคม 11, 2550

What Time Is It There?: สองจักรวาล หนึ่งความโดดเดี่ยว


บางทีฉากที่สามารถอธิบายธีมสำคัญในผลงานล่าสุดของผู้กำกับ ไฉ่หมิงเลี่ยง เรื่อง What Time Is It There? ได้ดีที่สุดคือ ฉากเปิดเรื่องของ The River (1997) ผลงานกำกับชิ้นที่ 3 ของเขา ซึ่งเป็นภาพบันไดเลื่อนขึ้นลงที่ว่างเปล่าปราศจากผู้คน จากนั้นชายหญิงคู่หนึ่งก็บังเอิญพบกันตรงกึ่งกลางขณะสวนทางกันบนบันไดเลื่อน ฝ่ายหนึ่งวิ่งไปหาอีกฝ่ายหนึ่ง ผลปรากฏว่าทั้งสองเคยเป็นเพื่อนสนิท (หรืออาจจะเป็นแฟน) กันมาก่อน ผู้หญิงปัจจุบันทำงานในกองถ่าย ส่วนผู้ชายไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่ง หลังจากไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกันสั้นๆพอหอมปากหอมคอ เธอก็พาเขาไปเยี่ยมชมงานที่เธอทำในกองถ่าย เขาลงท้ายกลายเป็นตัวประกอบรับบทศพลอยน้ำเนื่องจากผู้กำกับเห็นว่าหุ่นจำลองดูไม่เหมือนจริงพอ หลังถ่ายทำเสร็จหญิงสาวก็พาชายหนุ่มไปอาบน้ำล้างตัวที่โรงแรมเล็กๆแห่งหนึ่ง ทั้งสองมีเซ็กซ์กัน จากนั้นก็ไม่ได้เจอกันอีกเลยตลอดทั้งเรื่อง

ขณะที่ The River ทิ้งตัวละครผู้หญิงไปโฟกัสยังเรื่องของผู้ชายกับครอบครัวของเขา What Time Is It There? เลือกที่จะตัดสลับเรื่องราวระหว่างชายหญิงคู่หนึ่งซึ่งเส้นทางชีวิตบังเอิญมา ‘บรรจบ’ กันในช่วงสั้นๆตอนต้นเรื่อง นำเสนอจุดร่วมทางอารมณ์ของพวกเขา (ความแปลกแยก โดดเดี่ยว) แม้ว่าโดยกายภาพแล้วทั้งสองจะอยู่กันคนละซีกโลก แต่แน่นอนว่าสุดท้ายแล้วชีวิตของคนทั้งสองก็เปรียบดังบันไดเลื่อนสองทาง ขึ้นกับลง ซึ่งไม่มีวันจะมาบรรจบกันอย่างแท้จริงได้

ตัวละครในหนังส่วนใหญ่ของไฉ่หมิงเลี่ยงล้วนเป็นคนเมืองผู้เปลี่ยวเหงา แปลกแยกจากสภาพแวดล้อมรอบข้าง พวกเขาไม่อาจสื่อสารถึงกันได้ราวกับอาศัยอยู่คนละจักรวาล ไม่เว้นแม้แต่สมาชิกซึ่งอาศัยอยู่ใต้ชายคาเดียวกัน สถาบันครอบครัวในหนังของไฉ่มักเต็มไปด้วยความพิศดาร ปราศจากสมดุล และบิดเบี้ยว (The River ถึงขนาดแสดงภาพคุณพ่อสำเร็จความใคร่ให้ลูกชายท่ามกลางความมืดในซาวน่าของชาวเกย์) พ่อแม่ลูกเหินห่างกันขนาดที่พวกเขาไม่ยอมพูดจากัน ฝ่ายหนึ่งถามคำถามแต่อีกฝ่ายกลับไม่ยอมตอบ บางครั้งวิถีชีวิตของตัวละครแปลกหน้าอาจพาดผ่าน เชื่อมโยงกันอย่างน่าประหลาดโดยอาศัยเหตุบังเอิญหรือชะตาลิขิต แต่การประสานหรือพบปะกันเหล่านั้นเป็นเพียงเรื่องชั่วครู่ ประเดี๋ยวประด๋าว ก่อนที่สุดท้ายแต่ละคนจะหันไปดำเนินชีวิตตามทางของตนอีกครั้ง เซ็กซ์อาจมอบความอบอุ่นและสัมผัสแห่งมนุษย์ให้พวกเขาทางด้านร่างกาย แต่สุดท้ายมันกลับผลักไสจิตวิญญาณให้ดำดิ่งลงลึกสู่หุบเหวแห่งความโดดเดี่ยวยิ่งขึ้นอีก ส่วนความรักนั้นเปรียบดังอุดมคติอันสวยงาม และเป็นสิ่งซึ่งตัวละครในหนังของไฉ่พยายามไขว่คว้าอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่มีวันได้มาครอบครอง ความจริงอันเจ็บปวดดังกล่าวถูกตีแผ่ให้เห็นชัดในฉากสุดท้ายอันเปี่ยมด้วยพลังสะเทือนใจของ Vive l’Amour

เทียบกับผู้กำกับคลื่นลูกใหม่กลุ่มแรกอย่าง เอ็ดเวิร์ด หยาง (YiYi, Majong, A Brighter Summer Day) และ หัวเสี่ยวเฉียน (City of Sadness, The Puppetmaster, Flowers of Shanghai) ซึ่งกรุยทางสร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติไปก่อนหน้าแล้ว ผู้กำกับคลื่นลูกที่สองอย่างไฉ่หมิงเลี่ยงดูเหมือนจะไม่แสดงท่าทีสนใจที่จะขุดคุ้ยประวัติศาสตร์ของไต้หวันเท่าใดนัก นอกจากนั้นอารมณ์ถวิลหาอดีตอันเป็นผลมาจากความไม่พอใจต่อการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทางด้านวัตถุแห่งสังคมยุคบริโภคนิยมในหนังของเขาก็ยังไม่ชัดเจนเท่าหนังของหยางหรือหัวอีกด้วย ตรงกันข้ามหนังของไฉ่มักมุ่งเน้นสะท้อนผลพวงแห่งประวัติศาสตร์มากกว่าจะมองย้อนประวัติศาสตร์ ตลอดจนตีแผ่อิทธิพลตะวันตก การปะทะกันระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ ช่องว่างระหว่างรุ่น และวิกฤติชีวิตของคนหนุ่มสาวร่วมสมัยในกรุงไทเป

ไฉ่หมิงเลี่ยงเกิดเมื่อปี 1957 ในประเทศมาเลเซีย เขามีพ่อแม่เป็นชาวจีน เป็นลูกคนที่สามในบรรดาพี่น้องทั้งหมดเจ็ดคน พ่อของเขาทำงานเป็นคนขายก๋วยเตี๋ยวและไม่เห็นด้วยกับความฝันที่จะผันตัวเป็นศิลปินของลูกชาย ดังนั้นไฉ่จึงตัดสินใจเดินทางไปเรียนต่อที่ไต้หวันในมหาวิทยาลัยประจำกรุงไทเป เขากำกับละครและภาพยนตร์นักศึกษาจำนวนหลายเรื่องซึ่งส่วนใหญ่ล้วนได้รับเสียงตอบรับอย่างดี เมื่อจบการศึกษาออกมา เขาก็เริ่มอาชีพในวงการด้วยตำแหน่งคนเขียนบทละครโทรทัศน์ ก่อนต่อมาจะค่อยๆผันตัวเป็นผู้กำกับหนังสำหรับฉายทางทีวี โดยหนึ่งในนั้นคือ Boys (1991) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้กำกับกับดาราหนุ่ม หลี่คังเส็ง ผู้ต่อมานำแสดงในหนังของเขาทุกเรื่อง

ภายนตร์เรื่องแรกของไฉ่ Rebels of the Neon God ออกฉายในปี 1992 แต่ผลงานที่ทำให้ชื่อเขาเริ่มเป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกได้แก่ Vive l’Amour (1994) ซึ่งไปคว้ารางวัลสิงโตทองคำได้จากเทศกาลหนังเมืองเวนิซ นับแต่นั้นผลงานทุกเรื่องของเขาล้วนได้รับความสนใจ จนถูกเชิญไปฉายตามเทศกาลหนังต่างๆทั่วโลกเสมอมา What Time Is It There? เป็นผลงานกำกับชิ้นที่ห้าตามหลัง The River และ The Hole

บุคลิกสำคัญของหนังไฉ่หมิงเลี่ยงได้แก่ การเคลื่อนกล้องให้น้อยที่สุด ไม่ใช้เครน หรือซูม อาจจะมีการแพนบ้างเป็นครั้งคราว (ซึ่งมักเป็นไปอย่างเชื่องช้า ไม่ใช่ swish pan) แต่ส่วนใหญ่เขามักตั้งกล้องเอาไว้เฉยๆในระยะปานกลางถึงไกลเพื่อจับภาพตัวละครกระทำกิจวัตรของตนเช่น กินข้าว เข้าห้องน้ำ นอน จัดบ้าน ซ่อมบ้าน ฯลฯ เขาตัดหนังด้วยวิธีคัทธรรมดา (ไม่ใช้ dissolve หรือ fade) ช็อตส่วนใหญ่จะเป็น long take กินเวลานานหลายนาที แต่ละฉากจะมีบทสนทนาเพียงเล็กน้อย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Vive l’Amour กับ The Hole) บางครั้งตัวละครอาจอยู่ในครอบครัวเดียวกันแต่กลับไม่กลับไม่พูดจาสื่อสารกัน แต่หลายครั้งหนังของเขามักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคนแปลกหน้าที่มีวิถีชีวิตบางช่วงตอนซ้อนทับกันอยู่ ตัวละครหลักมักมีไม่เกินสามคน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักแสดงหน้าเดิมๆอย่าง หลี่คังเส็ง เช่นเดียวกับ เหมาเทียน กับ หลู่ยี่ชิง ซึ่งต่างก็กลับมารับบทพ่อแม่อีกครั้งใน What Time Is It There? หลังจาก The River และ Rebels of the Neon God หนังของไฉ่ไม่มีดนตรีประกอบ (ยกเว้นเพียง The Hole ที่มีฉากร้องเพลงแยกเป็นอิสระ) ความเงียบถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างบรรยากาศอันน่าอึดอัด แปลกแยก และโดดเดี่ยว ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ตัวละครในหนังของเขาแทบทุกคนกำลังเผชิญอยู่

ด้วยเหตุนี้เองความงามแห่งภาพยนตร์ของไฉ่หมิงเลี่ยง (ทั้งนี้อาจรวมเลยไปถึงผลงานของผู้กำกับไต้หวันที่เอ่ยชื่อมาแล้วอีกสองคนด้วย) จึงยากที่จะซึมซับได้ครบถ้วนจากการชมทางจอโทรทัศน์ สไตล์การดำเนินเรื่องอันเนิบนาบ ไหลเอื่อยอาจทำให้คนดูวีดีโอหลายคนรู้สึกเหมือนต้องอดทน ข่มตาไม่ให้หลับ แต่หากได้ชมบนจอหนังขนาดใหญ่ในโรงภาพยนตร์ที่มืดสนิท ศิลปะแห่งการจัดองค์ประกอบภาพอันประณีต (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พื้นที่ว่างเพื่อสื่อความหมายอย่างแนบเนียน) จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจ ตื่นตา และเปิดกว้างต่อจิตนาการอันหลากหลาย ขณะเดียวกันพล็อตเรื่องซึ่งไม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจมากมายในอันที่จะปะติดปะต่อเรื่องราว ก็ช่วยให้เราสามารถหยุดนิ่ง ครุ่นคิดถึงสิ่งที่ปรากฏต่อสายตาได้อย่างถี่ถ้วน กล่าวคือ หนังของไฉ่หมิงเลี่ยงไม่ได้เรียกร้องขั้นพื้นฐาน (ดังเช่นภาพยนตร์ที่เน้นการเล่าเรื่องเป็นหลักส่วนใหญ่) ให้คนดูเพียง ‘จับต้นชนปลาย’ เหตุการณ์ต่างๆ แต่กลับให้ค้นหาเหตุผลว่าทำไมเหตุการณ์เหล่านั้นจึงมีความสัมพันธ์กัน และพวกมันเชื่อมโยงกันไปสู่ภาพรวมของอะไรต่างหาก

What Time Is It There? เปิดเรื่องด้วยฉากที่คุณพ่อ (เหมาเทียน) ตะโกนเรียกลูกชายจากโต๊ะกินข้าวแต่ไม่ได้รับเสียงตอบรับใดๆ จากนั้นเขาจึงหยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบ ตัดไปฉากต่อมาคุณพ่อก็กลายเป็นอัฐิที่ลูกชาย เสี่ยวกัง (หลี่คังเส็ง) จะต้องนำไปประกอบพิธีทางศาสนา คุณแม่ (หลู่ยี่ชิง) ดูเหมือนจะรับมือกับการสูญเสียครั้งใหญ่นี้ได้ไม่ดีเท่าลูกชาย เธอเชื่อมั่นว่าวิญญาณของสามีจะต้องกลับมาวนเวียนอยู่ในบ้านอย่างแน่นอน หรือไม่แน่เขาอาจจะกลับมาเกิดใหม่เป็นแมลงสาบตัวที่เสี่ยวกังเพิ่งฆ่าตายแล้วเอาไปเลี้ยงปลาตัวโตในตู้ก็ได้

เสี่ยวกังทำงานเป็นพ่อค้าแผงลอยขายนาฬิกา เขาดูเหมือนจะใช้ชีวิตไปวันๆโดยไร้จุดหมาย จนกระทั่งวันหนึ่งเชียงยี่ (เช็นเชียงยี่) หญิงสาวสวยผู้กำลังจะเดินทางไปปารีสได้แวะผ่านมาดูนาฬิกาที่แผงของเขา นาฬิกาที่เธอติดอกติดใจอยากจะซื้อไม่ใช่เรือนที่วางขายบนแผง แต่กลับเป็นเรือนที่ชายหนุ่มกำลังสวมอยู่ ตอนแรกเสี่ยวกังปฏิเสธไม่ยอมขายโดยอ้างว่านาฬิกาเรือนดังกล่าวเชื่อมโยงไปยังการเสียชีวิตของพ่อเขา ก่อนต่อมาจะใจอ่อนยอมจำนนต่ออาการกระตือรือร้นของหญิงสาวในที่สุด วันที่เธอเดินทางมารับนาฬิกา เชียงยี่ซื้อเค้กกล่องเล็กๆมาฝากเขาเป็นการขอบคุณ หลังจากนั้นคนทั้งสองก็แยกทางกันไป แต่ปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวสร้างความประทับใจแก่เสี่ยวกังถึงขนาดทำให้เขาเริ่มหมกมุ่นกับการตั้งนาฬิกาทุกเรือนให้ตรงกับเวลาในกรุงปารีส ทั้งที่บ้าน นาฬิกาที่เขาขาย จนถึงนาฬิกาสาธารณะตามตึกต่างๆ และเพื่อเชื่อมโยงตนเองให้รู้สึกใกล้ชิดกับเชียงยี่มากขึ้น เขาลงทุนซื้อวีดีโอหนังเรื่อง The 400 Blows มาเปิดดูซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ทางด้านแม่ของเขาเองก็กำลังมีอาการหมกมุ่นไม่แพ้กันกับการทำทุกอย่างราวกับว่าวิญญาณของสามีจะต้องกลับมาบ้านสักวันหนึ่ง เธอพูดกับปลาซึ่งเธอเชื่อว่าอาจมีวิญญาณของสามีสิงอยู่ เธอเสิร์ฟน้ำและทำอาหารเผื่อเขาทุกมื้อ เธอเชื่อว่าเวลาอันผกผันของนาฬิกาในบ้าน (ซึ่งถูกลูกชายตั้งเสียใหม่ตามเวลาในปารีส) เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าวิญญาณสามีได้กลับมาที่บ้านแล้ว และพยายามดำเนินกิจวัตรตามเวลานั้น (กินข้าวเย็นตอนเที่ยงคืน) พฤติกรรมพิลึกพิลั่นของเธอเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆถึงขนาดปิดไฟและช่องหน้าต่างทุกทางไม่ให้แสงเล็ดลอดเข้ามาในบ้านโดยอ้างว่าเขาชื่นชอบความมืด

ส่วนเช็งยี่นั้นเองก็กำลังประสบปัญหาใหญ่หลวงในประเทศฝรั่งเศสเช่นกัน ทุกคนในปารีสดูเหมือนจะรีบเร่งกันเหลือเกินยกเว้นเพียงเธอ พวกเขาไม่พูดภาษาอังกฤษ ส่วนภาษาฝรั่งเศสของเธอนั้นก็ย่ำแย่เต็มที ความสวยของเธอเป็นที่ต้องตาชายฝรั่งเศสสองสามคน แต่เธอกลับไม่สนใจพวกเขา การเดินทางครั้งนี้ช่างปราศจากความรื่นเริ่งอย่างสิ้นเชิงจนกระทั่งเช็งยี่ได้พบกับหญิงสาวชาวฮ่องกงซึ่งเธอรู้สึกถูกชะตาด้วยในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ทั้งสองพูดภาษาเดียวกัน ไปช็อปปิ้งซื้อของด้วยกัน ความสนิทสนมดังกล่าวนำไปสู่ฉากโอ้โลมกันบนเตียงในคืนวันหนึ่ง ซึ่งถูกตัดเข้ากับกิจกรรมทางเพศของอีกสองตัวละครในไทเปคือ เสี่ยวกัง (นอนกับหญิงโสเภณีในรถ) และแม่ของเขา (ช่วยตัวเองบนเตียงโดยมีรูปของสามีตั้งอยู่บนโต๊ะ) ก่อนสุดท้ายหนังจะไปจบลงตรงเหตุการณ์ต่อมาในเช้าวันรุ่งขึ้น… ความท้อแท้สิ้นหวังที่จบลงด้วยการใช้เซ็กซ์เป็นเครื่องระบายออกไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในหนังของไฉ่ (Vive l’Amour กับ The River เองก็ลงเอยในลักษณะใกล้เคียงกัน) เช่นเดียวกับผลลัพธ์ตามมาอันชวนให้รู้สึกหดหู่

ไม่ว่าจะเป็นปารีส หรือ ไทเป เมืองเหล่านี้ล้วนเป็นเพียงฉากหลังที่สะท้อนความรู้สึกภายในของตัวละครในหนังของไฉ่ผ่านการจัดองค์ประกอบภาพที่ตีกรอบล้อมรอบตัวละคร เช็งยี่อาจเดินทางไปปารีสในฐานะนักท่องเที่ยว แต่เรากลับไม่ได้เห็นเธอตามสถานที่ท่องเที่ยวใดๆเลย ตรงกันข้ามหลายครั้งเธอต้องไปติดแหง็กอยู่ในร้านอาหารอันคับคั่ง ห้องพักราคาถูกๆ สุสาน และรถไฟใต้ดินที่แน่นขนัด ความรู้สึกแปลกแยกต่อเมืองต่างถิ่นทำให้เธอพยายามยื่นมือไขว่คว้าหาตัวแทนเพื่อเชื่อมโยงเธอกับบ้านเกิด เริ่มจากการลอบมองชายเอเชียคนหนึ่งในสถานีรถไฟใต้ดิน ไปจนถึงความพยายามสานสัมพันธ์ทางเพศกับสาวชาวฮ่องกงซึ่งลงเอยด้วยความผิดหวัง ขมขื่น โดยอีกสองชีวิตในไทเปก็ไม่ได้แตกต่างจากกันเท่าใดนัก ฉากแรกๆเราจะได้เห็นเสี่ยวกังทำพิธีเก็บอัฐิบิดาในสุสานภายในอาคาร ขนาบหน้าหลังเขาเป็นกำแพงคล้ายตู้เอกสารขนาดใหญ่แบ่งเป็นช่องเล็กๆจำนวนมาก ภาพดังกล่าวนอกจากจะสะท้อนความคับแคบ ขาดแคลนพื้นที่ของไต้หวันแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์แทนโลกส่วนตัวซึ่งตัวละครสร้างขึ้นมากีดกั้นพวกเขาจากการสื่อสาร ติดต่อ กับคนอื่นๆรอบข้างอีกด้วย เสี่ยวกังมักขังตัวเองอยู่ในห้องนอนตอนกลางคืน และเมื่อปวดท้องฉี่ เขาก็เลือกที่จะปลดทุกข์ใส่ขวดน้ำแทน ทั้งที่ห้องน้ำตั้งอยู่ห่างออกไปเพียงไม่กี่ฟุตเท่านั้น ส่วนแม่ของเขาเองก็ขังตัวเองอยู่ในบ้านอันมืดมิด ทั้งสองเจอหน้ากันทุกวัน แต่จะพูดจากันก็ต่อเมื่อจำเป็น พวกเขาอาจอยู่ใกล้ชิดกัน ภายใต้หลังคาเดียวกัน แต่ลึกๆภายในแล้วต่างก็เลือกจะจมปลักอยู่ในโลกของตนซึ่งกำลังล่องลอย ถอยห่างออกจากกันอย่างต่อเนื่อง

ตรงกันข้าม What Time Is It There? แสดงถึงการเล่นตลกของชะตาชีวิตในความพยายามเชื่อมโยงเช็งยี่กับเสี่ยวกังเข้าหากันอย่างแปลกประหลาดขณะทั้งสองอาศัยอยู่ห่างไกลกันคนละซีกโลก ในไทเปเสี่ยวกังซื้อไวน์ขวดหนึ่งมานั่งดื่มคนเดียวตามลำพัง แต่พอหนังตัดไปยังปารีสคนดูก็จะได้เห็นเช็งยี่อาเจียนอย่างรุนแรงในห้องน้ำราวกับเธอเพิ่งจะกินไวน์ไปทั้งขวด เสี่ยวกังนั่งดู The 400 Blows ในห้องนอนของเขา ส่วนเช็งยี่กลับได้พบ ฌอง ปิแอร์ เลโอลด์ (ดารานำในหนังเรื่อง The 400 Blows) ที่สุสานแห่งหนึ่งของนครปารีส (1) เขาพยายามจะจีบเธอพร้อมกับมอบเบอร์โทรศัพท์ให้ ซึ่งฉากดังกล่าวเกิดขึ้นทันทีหลังจากเสี่ยวกังถูกชายแปลกหน้ารูปร่างอ้วนคนหนึ่งหลอกให้เข้าไปมีเซ็กซ์กับเขาในห้องน้ำ และในฉากสุดท้าย (วิญญาณ) พ่อของเสี่ยวกังก็ไปปรากฏตัวอย่างชวนให้น่าพิศวง งงงวยที่กรุงปารีสในสวนสาธารณะซึ่งเช็งยี่นอนหลับอยู่ ก่อนเขาจะเดินตรงเข้าไปยังชิงช้าสวรรค์…

บางทีมันอาจสื่อถึงหน้าปัดนาฬิกา วัตถุซึ่งเชื่อมโยงเช็งยี่/เสี่ยวกัง/พ่อเข้าหากัน ตัวแทนแห่งแรงปรารถนาที่จะลิ้มรสความรักและสัมผัสแห่งมนุษยชาติ หรือบางทีวงล้อขนาดใหญ่ที่หมุนไปมาอาจบ่งบอกถึงวังวนแห่งชะตากรรมอันไม่อาจหลีกเลี่ยงของเหล่าตัวละครผู้พยายามดิ้นรน ไขว่คว้าในสิ่งที่พวกเขาเอื้อมเท่าไหร่ก็ไม่มีวันถึง มันเป็นมุมมองอันมืดหม่นของไฉ่หมิงเลี่ยงต่อกรุงไทเปและชีวิตในสังคมเมืองซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาอันสั้นซึ่งผู้ชมที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ทั้งหลายทั่วโลกสามารถมีอารมณ์ร่วมได้ถึงแก่น และกินใจไม่แพ้กัน

หมายเหตุ

1.การเอ่ยอ้างถึง The 400 Blows ก็หาใช่ความบังเอิญไม่ เพราะนอกจากจะเป็นหนังเรื่องโปรดของไฉ่แล้ว (เขาใช้นักแสดงนำชายคนเดิมเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ต่างกับ ฟรังซัวส์ ทรุฟโฟต์ ซึ่งเลือกให้ ฌอง ปิแอร์ เลโอลด์ มาแสดงในหนังหลายเรื่อง) มันยังพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กชายผู้รู้สึกแปลกแยกจากโลกรอบๆตัวเขาเช่นเดียวกับตัวละครในหนังของไฉ่อีกด้วย และฉากหนึ่งซึ่งเขาเลือกเอามาใช้ (เป็นตอนที่อังตวนเล่นเครื่องหมุนท่ามกลางสายตาของผู้ชมโดยรอบ) ก็ดูเหมือนจะสะท้อนคุณลักษณะดังกล่าวออกมาอย่างชัดเจน

5 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ชอบผู้กำกับคนนี้มาก
ชอบ "What Time Is It There? มากที่สุดในบรรดาหนังทุกเรื่องของเค้า...เหงา เศร้า โดดเดี่ยว มากๆ

Riverdale กล่าวว่า...

ผมได้ดูหนังเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ เป็นหนังเรื่องที่สองของผู้กำกับคนนี้ที่ผมได้ดูในโรงภาพยนตร์ (ต่อจาก The Hole ซึ่งผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่)หลังจากดูจบแล้วก็สรุปได้ว่า หนังของไฉ่ควรชมบนจอภาพยนตร์เท่านั้น มันงดงามและสนุกเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ได้เห็นการจัดองค์ประกอบภาพที่ประณีตอย่างละเอียดใกล้ชิด ได้ปล่อยอารมณ์ ความคิดระหว่างการแช่กล้อง ซึ่งหากเป็นการชมทางจอทีวี เราอาจรู้สึกเบื่อได้ง่ายๆ

สำหรับหนังของไฉ่ที่ผมชอบที่สุดยังคงเป็น Vive l'Amour ฉากตอนจบของหนังถือเป็นการระเบิดพลังและอารมณ์ของหนัง ของตัวละคร และของนักแสดงที่ยอดเยี่ยมมากๆ

What Time Is It There? น่าจะเป็นอันดับสอง แต่ผมพลาดหนังสองเรื่องล่าสุดของเขาไป และหนังเรื่องแรกสุดของเขา

black forest กล่าวว่า...

ได้ดู What Time Is It There? ในโรงเช่นกัน โดยพี่ไฉ้มา Q & A ในวันนั้นด้วย ยังเสนอหน้าไปขอถ่ายรูปกับเขาเลย แต่ตอนนี้ดันจำไม่ได้แล้วเหมือนกันว่าเอารูปไปเก็บไว้ที่ไหน (เวรกรรม) เหลือเก็บไว้แค่ลายเซ็นต์

ชอบมุข "Clock" ใน What Time Is It There? มาก ๆ หัวร่อจนกรามแทบค้าง ไม่รู้คิดได้ไง

เคยอ่านบทสัมภาษณ์ของพี่ไฉ้ เขาบอกว่าตอนจบของ Vive L'Amour ในตอนแรกมันจะเจือไปด้วยความหวังความศรัทธาในชีวิตมากกว่านี้ แต่พอไปดูสถานที่ถ่ายทำ (สวนสาธารณะในฉากจบ) แล้วมันห่อเหี่ยวใจมาก ๆ เพราะยังสร้างไม่เสร็จและก็ไม่สวยเหมือนที่คิดเอาไว้ ก็เลยเปลี่ยนฉากจบใหม่ให้มันหดหู่เสียเลย

คิดว่าพี่ Riverdale น่าจะชอบ I Don't Want to Sleep Alone นะจ๊ะ เพราะแค่ชื่อ...ก็โดนแล้ว

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

I Don't Want to Sleep Alone
เออลืมไปยังไม่ได้ดูเรื่องนี้เหมือนกัน...ชื่อเข้าตัวมากเรย...อยากดูๆ

รู้สึกเห็นแว๊บๆเหมือนจะเข้าที่ House น่ะเรื่องนี้ หลังจากพลาด WolrdFilm มา...ไม่ทราบว่าตอนนี้ออกเป็น dvd หรือยัง

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากๆๆค่ะ