วันเสาร์, ธันวาคม 22, 2550

ออสการ์ 2008: การเมืองไม่ใช่เรื่องของเรา


และแล้วภาพยนตร์การเมืองเรื่องสุดท้าย ซึ่งหลายคนคาดว่าอาจจะมีโอกาสครองเวทีออสการ์ ก็ถูกนักวิจารณ์สอยร่วงตาม In the Valley of Elah, Rendition, Redacted และ Lions for Lambs ไปติดๆ หลังจากมันเปิดฉายรอบพิเศษสำหรับสื่อมวลชนตามเมืองใหญ่ๆ ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน Charlie Wilson’s War อาจไม่ถึงกับมีคุณภาพย่ำแย่ แต่ภาพรวมของมันค่อนข้างเบาโหวงไปหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้าย หลายคนเชื่อว่าหนังคงสามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะอย่างน้อยมันก็ “สนุก” และมีดาราดังระดับแม่เหล็กนำแสดง แต่ความฝันของการถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมคงอยู่ไกลเกินเอื้อม เหลือเพียงสองสาขาที่น่าจะหวังพึ่งพาได้ คือ นักแสดงสมทบชาย (ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน) และบทภาพยนตร์ดัดแปลง (แอรอน ซอร์กิน)

ในทางตรงกันข้าม Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street ของ ทิม เบอร์ตัน ซึ่งเปิดฉายให้นักวิจารณ์ดูในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน กลับได้เสียงตอบรับอย่างอบอุ่น (บางคนบอกว่ามันเป็นผลงานกำกับที่เยี่ยมที่สุดของเบอร์ตันนับจาก Ed Wood) จนส่งผลให้มันคว้าตำแหน่งตัวเก็ง (ร่วมกับ Atonement และ No Country for Old Men) ที่จะได้เข้าชิงในสาขาสำคัญๆ อย่างครบถ้วน มองในมุมของออสการ์ ข้อด้อยเพียงอย่างเดียวของหนังคงอยู่ตรงปริมาณเลือดหลายแกลลอน รวมถึงความรุนแรงแบบไม่ยั้ง ซึ่งอาจทำให้กรรมการบางคน (โดยเฉพาะพวกคนแก่หัวโบราณ) ตีหน้าเหยเก แต่ชัยชนะของ The Departed เมื่อปีก่อนคงสร้างความอุ่นใจให้เบอร์ตันได้บ้าง มันพิสูจน์ให้เห็นว่ารางวัลออสการ์ไม่ได้กลัวเลือดและความรุนแรงจนหัวหดอย่างที่ใครๆ กล่าวอ้าง... หรือบางที “บารมี” ของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ อาจทำให้กรรมการยินดีจะมองข้ามพวกมันไป

เมื่อเรื่องหนึ่งมีฆาตกรปืนลมเป็นตัวเอก ส่วนอีกเรื่องเป็นฆาตกรใบมีดโกน ผู้เชี่ยวชาญหลายคน (และอาจจะหมายรวมถึงกรรมการออสการ์) จึงเริ่มมองหาตัวเลือกที่แตกต่าง หรือหนัง feel good แบบมองโลกในแง่ดี ที่มีศักยภาพพอจะเบียดเข้าชิงรางวัลใหญ่ควบคู่กับ Atonement (ซึ่งแม้จะพูดถึงความรัก แต่ก็เต็มไปด้วยอารมณ์มืดหม่น หดหู่) No Country for Old Men และ Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street

พวกเขาเชื่อว่า Juno หรือ Little Miss Sunshine แห่ง 2007 คือ หนังเรื่องนั้น

Juno เป็นผลงานกำกับของ เจสัน ไรท์แมน ซึ่งเคยกวาดคำชมของนักวิจารณ์มาแล้วจากหนังตลกเสียดสีเรื่อง Thank You for Smoking ผลงานของไรท์แมนเปิดตัว ณ เทศกาลหนังเมืองโตรอนโตช่วงปลายปี และกลายเป็นขวัญใจคนดู รวมถึงนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ภายในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากฝีมือการเขียนบทอันเฉียบคม ขบขัน และซาบซึ้งของ ไดอาโบล โคดี้ (ตัวเก็งออสการ์ในสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ซึ่งปราศจากคู่แข่งหินๆ อย่าง Atonement และ No Country for Old Men) ผนวกกับฝีมือการแสดงสุดเพอร์เฟ็กต์ของ เอลเลน เพจ (Hard Candy) ซึ่งนักวิจารณ์ระดับแนวหน้าอย่าง โรเจอร์ อีเบิร์ต กล่าวชื่นชมว่าเป็นการแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดในรอบปี... จูลี่ คริสตี้ และ มาเรียน โคทิลลาร์ด จงระวังหลังให้ดี

จูโน (เพจ) เป็นเด็กสาวมัธยมปลายที่วันหนึ่งตัดสินใจมีเซ็กซ์กับ บลีกเกอร์ (ไมเคิล เซรา) เพื่อนหนุ่มร่วมทีมกรีฑาในโรงเรียน ซึ่งเธอชอบพอประมาณแต่ไม่ได้หลงรัก เนื่องด้วยความรู้สึกเบื่อหน่ายชีวิตและอยากรู้อยากเห็น ผลที่ตามมา คือ การตั้งครรภ์อย่างคาดไม่ถึง ด้วยเหตุนี้ จูโนกับเพื่อนซี้ ลีอาห์ (โอลิเวีย เธอร์บี้) จึงพยายามแก้ไขวิกฤติด้วยการมองหาพ่อแม่บุญธรรมให้กับเด็กในท้อง ก่อนจะมาลงเอยยังสองสามีภรรยาที่ดูน่ารักอย่าง มาร์ค (เจสัน เบทแมน) กับ วาเนสซา (เจนนิเฟอร์ การ์ดเนอร์)

เช่นเดียวกับ Little Miss Sunshine หนังเล็กๆ อย่าง Juno อาจไม่สูงส่งในแง่ศิลปะภาพยนตร์ แต่ข้อได้เปรียบสำคัญอยู่ตรงที่มันเป็นหนังซึ่งคนดู “ตกหลุมรัก” ได้ไม่ยาก และเราทุกคนล้วนตระหนักดีอยู่แล้วว่ากรรมการออสการ์มักจะเลือกใช้หัวใจโหวตมากกว่าสมอง ดังนั้น ณ เวลานี้ มันจึงกลายเป็นตัวเก็งลำดับที่ 4 ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดยตัวเลือกที่ 5 คงต้องเป็นการแก่งแย่งชิงดำระหว่าง Michael Clayton, There Will Be Blood, Into the Wild และ The Diving Bell and the Butterfly โดยผลงานของ โทนี กิลรอย ดูเหมือนจะนำหน้าอยู่เล็กน้อย

คำพิพากษาของนักวิจารณ์


รางวัลนักวิจารณ์อาจมีผลต่อรางวัลออสการ์อยู่บ้างในแง่ของการเสนอชื่อเข้าชิง แต่มันกลับส่งผลน้อยมากต่อชัยชนะบนเวทีออสการ์ (ดูกรณีตัวอย่างของ Brokeback Mountain และ Sideways) เนื่องจากรสนิยมของนักวิจารณ์กับคณะกรรมการออสการ์มักไม่ค่อยสอดคล้องกัน อย่างไรก็ตาม การที่ เอมี่ ไรอัน จาก Gone Baby Gone ผลงานกำกับเรื่องแรกของ เบน อัฟเฟล็ก กวาดรางวัลนักวิจารณ์มาครองแบบเกือบจะเป็นเอกฉันท์ได้ผลักดันให้เธอกลายเป็นตัวเก็งอันดับหนึ่งในสาขานักแสดงสมทบหญิง แทนที่ เคท บลันเช็ตต์ ไปเรียบร้อยแล้ว

ในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม ทุกอย่างดูจะเป็นไปตามคาดหมายเมื่อ ฮาเวียร์ บาร์เด็ม กวาดรางวัลส่วนใหญ่มาครอง โดยมี เคซีย์ อัฟเฟล็ก คอยตามตอดอยู่เป็นระยะ (อันที่จริงบทของอัฟเฟล็กใน The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford น่าจะถือเป็นบทนำมากกว่าสมทบ) ส่วนชัยชนะแบบไม่เข้าพวกของ วลาด อีวานอฟ (4 Months, 3 Weeks and 2 Days) จากสมาคมนักวิจารณ์แอล.เอ.ก็ถือเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจเช่นกัน เพราะเมื่อปี 2005 LAFCA ก็เคยสวนกระแสมาแล้วด้วยการมอบรางวัลนักแสดงนำหญิงให้กับ เวรา ฟาร์มิก้า (The Departed) จากหนังเล็กๆ เรื่อง Down to the Bone ขณะที่สถาบันอื่นเลือกจะมอบรางวัลให้ รีส วิทเธอร์สพูน จาก Walk the Line แน่นอน ไม่มีใครกังขาในคุณภาพการแสดงของอีวานอฟ (หรือฟาร์มิก้า) แต่โอกาสที่เขาจะเบียดนักแสดงชื่อดังคนอื่นๆ ในหนังอเมริกันเข้าไปชิงออสการ์นั้นถือว่าริบหรี่เต็มทน

สมมุติฐานดังกล่าวยังสามารถนำมาใช้ได้กับ แฟรงค์ แลนเกลลา (Good Night, and Good Luck) ซึ่งแม้จะเป็นนักแสดงชาวอเมริกันที่คร่ำหวอดในวงการมานาน แต่เขาคว้ารางวัลนักแสดงนำชายของสมาคมนักวิจารณ์แห่งบอสตันมาครองจากหนังที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก หรือได้ชมเรื่อง Starting Out in the Evening นั่นหมายความว่าโอกาสที่กรรมการออสการ์จะโหวตเลือกเขาย่อมน้อยลงด้วย

สังเกตจากรางวัลของสมาคมนักวิจารณ์ มันดูเหมือน จอร์จ คลูนีย์ กับ เดเนี่ยล เดย์-ลูว์อิส จะตีคู่สูสีกันมาในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม แต่สำหรับบนเวทีออสการ์แล้ว ฝ่ายหลังอาจได้เปรียบเล็กน้อยเนื่องจากฝ่ายแรกเพิ่งได้ออสการ์ไปไม่นาน ขณะเดียวกัน มีคนจำนวนไม่น้อย “นับถือ” เดย์-ลูว์อิสในฐานะพระเจ้าทางการแสดง แล้วมองว่าคลูนีย์เป็นแค่ซูเปอร์สตาร์ฮอลลีวู้ดที่เล่นหนังเป็น แม้บททนายบาปกลับใจใน Michael Clayton จะเป็นบทบาทการแสดงที่ดีที่สุดในชีวิตของเขาก็ตาม

กระนั้นบุคคลที่น่าจับตามองสูงสุดในสาขานี้ คือ จอห์นนี่ เด็บบ์ ซึ่งออกจะได้เปรียบคู่แข่งสำคัญคนอื่นๆ ตรงที่เขายังไม่เคยได้ออสการ์ แต่เคยเข้าชิงในสาขานักแสดงนำชายมาแล้วสองครั้งจาก Finding Neverland และ Pirates of the Caribbean: The Curse of the Black Pearl แถมยังเป็นที่ชื่นชอบและยอมรับในวงการมานาน นักวิจารณ์หลายคนที่ได้ชม Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street แล้วต่างเห็นพ้องว่ามันเป็นบทบาทการแสดงที่ดีที่สุดบทหนึ่งของเด็บบ์ ซึ่งสร้างมิติให้ตัวละครเป็นมากกว่าแค่ฆาตกรที่ใช้ใบมีดปาดคอเหยื่อเพื่อล้างแค้น เขาทำให้คนดูเห็นใจและเข้าอกเข้าใจความคับแค้นของตัวละคร โดยไม่ประนีประนอมต่อแง่มุมด้านมืด

ในตอนนี้ ตัวเก็งอีกคนเดียวในสาขานักแสดงนำชายที่ยังไม่เคยได้ออสการ์ (หรือในกรณีนี้ยังไม่เคยเข้าชิงมาก่อนเลยด้วยซ้ำ) คือ เจมส์ แม็คอะวอย จาก Atonement

There Will Be Blood อาจได้แรงดันจาก LAFCA และลูกโลกทองคำให้ยังโคจรอยู่ในกระแส ไม่ได้ถูกผลักออกเหมือน I’m Not There, Once หรือ Zodiac แต่สุดท้ายแล้ว หนังที่ไม่เข้าทางออสการ์อย่างแรงเรื่องนี้น่าจะมีโอกาสในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมมากกว่าภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เช่นเดียวกับ United 93 เมื่อปีก่อน ส่วนการกวาดรางวัลของ No Country for Old Men นั้นก็หาได้รับประกันความแน่นอนใดๆ เหรียญอาจพลิกเป็น Brokeback Mountain หรือ The Departed ได้มากพอๆ กัน บางทีคำพยากรณ์อาจจะเริ่มชัดเจนขึ้น เมื่อบรรดาสมาพันธ์ต่างๆ (ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงโหวตรางวัลออสการ์ตัวจริง ไม่ใช่นักวิจารณ์) เริ่มประกาศผลออกมา

วิเคราะห์ลูกโลกทองคำ


คำครหาว่า “สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศคือกลุ่มคลั่งดารา” ดูเหมือนจะได้รับการตอกย้ำอีกครั้งว่าเป็นจริง เมื่อรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำถูกประกาศออกมาพร้อมข้อกังขามากมาย เริ่มต้นจากจำนวนภาพยนตร์ “เจ็ด” เรื่องที่ได้เข้าชิงในสาขาดราม่า (อาการ “รักพี่เสียดายน้อง” ของลูกโลกทองคำชักทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อปี 2005 มีหนังดราม่าเข้าชิงหกเรื่อง แต่พอปีนี้รายชื่อกลับงอกเพิ่มมาอีกหนึ่ง บางทีคงอีกไม่นานหรอกกว่ามันจะแพร่เชื้อกลายเป็น 10) หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าหนังอย่าง The Great Debaters สามารถเบียดมาเข้าชิงได้เพียงเพราะอิทธิพลของ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ เท่านั้น คล้ายคลึงกับกรณีของ Bobby เมื่อปีก่อน นอกจากนี้ การที่มันเป็นผลงานกำกับชิ้นที่สองของดาราดังอย่าง เดนเซล วอชิงตัน (เรื่องแรก คือ Antwone Fisher) ก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญไม่แพ้กัน (Bobby เป็นผลงานกำกับของอดีตดาวดัง เอมิลิโอ เอสเตเวซ ลูกชายคนโตของ มาร์ติน ชีน ซึ่งนำแสดงโดยดาราดังเกือบครึ่งฮอลลีวู้ด แต่ตัวหนังล้มเหลวบนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ แถมยังโดนนักวิจารณ์จำนวนเกือบครึ่งสับเละ)

ถึงแม้จะมีพื้นที่สำหรับหนังเจ็ดเรื่อง แต่ Into the Wild ของ ฌอน เพนน์ กลับถูกสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศเมินใส่อย่างเย็นชา ทั้งที่หนังได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างดี และถูกคาดหมายให้เข้าชิงออสการ์ในหลายสาขา (หนังเข้าชิงลูกโลกทองคำเพียงสองสาขา คือ ดนตรีประกอบและเพลงประกอบ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฮาล ฮอลบรู๊ก ซึ่งหลุดโผนักแสดงสมทบชายไปอย่างเหลือเชื่อ แล้วถูกแทนที่ด้วยซูเปอร์สตาร์อย่าง จอห์น ทราโวลต้า (Hairspray) แต่เชื่อได้ว่ารางวัลออสการ์ รวมถึงสมาพันธ์นักแสดง จะแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าว

ซูเปอร์สตาร์อีกคนที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศคงอยากให้มาร่วมงาน เลยพยายามแทรกเธอให้เข้าชิงกับเขาด้วย คือ จูเลีย โรเบิร์ตส์ (โชคดีที่การแข่งขันในสาขานักแสดงสมทบหญิงไม่ค่อยดุเดือดเท่าไหร่ ความเสียหายร้ายแรงจึงไม่เป็นที่สังเกตเห็น) แต่พวกเขากลับมองข้ามการแสดงอันโดดเด่นของ ลอร่า ลินนีย์ ใน The Savages ทั้งที่บทของเธอนั้นสำคัญไม่แพ้ (หรืออาจจะมากกว่า) ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน ด้วยซ้ำ จริงอยู่ว่า Hairspray เป็นหนังดังที่หลายคนชื่นชอบ แต่หากมองให้ถ้วนถี่แล้วการแสดงของ นิกกี้ บลอนสกี้ นั้นดีกว่า ลินนีย์ หรือ เคอรี่ รัสเซลล์ (Waitress) หรือ เคทเธอรีน เฮก (Knocked Up) จริงๆ หรือ

ขณะที่ฮอฟฟ์แมนและบลันเช็ตต์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในสองสาขา ทอมมี่ ลี โจนส์ กลับกลายเป็นบุรุษผู้ถูกลืม ถึงแม้เขาจะฝากผลงานน่าจดจำเอาไว้ในหนังถึงสองเรื่องอย่าง In the Valley of Elah และ No Country for Old Men เช่นเดียวกับหนังเพลงทุนต่ำเรื่อง Once ซึ่งถูกหนังเพลงบีทเทิลส์เรื่อง Across the Universe เขี่ยกระเด็นแบบค้านสายตากรรมการ

การเข้าชิงสูงสุดถึง 7 สาขาของ Atonement อาจช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้ทีมงานไม่น้อย เมื่อพิจารณาว่าผลงานของพวกเขาถูกหลงลืมไปตลอดช่วงเทศกาลแจกรางวัลของนักวิจารณ์ อย่างไรก็ตาม สถิติของลูกโลกทองคำในฐานะ “ลูกแก้วทำนายออสการ์” ในช่วงหลังๆ เริ่มจะไขว้เขวออกนอกเส้นทางอยู่บ่อยครั้ง ดังจะเห็นได้จากการที่พวกเขาเลือก Babel แทน The Departed เลือก Brokeback Mountain แต่ไม่เสนอชื่อ Crash เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสาขาดราม่า และเลือก The Aviator แทน Million Dollar Baby ฉะนั้น ถึงแม้ในที่สุดแล้ว Atonement จะคว้าชัยบนเวทีลูกโลกทองคำ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะมีโอกาสสูงกว่า No Country for Old Men บนเวทีออสการ์

เกร็ดเก็บตก


* วุ่นวายไม่เลิกสำหรับกติกาในการตัดสินรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม โดยหลังจาก Lust, Caution ของไต้หวันถูกตัดสิทธิ์ไปไม่นาน ล่าสุด The Band’s Visit หนังดังจากประเทศอิสราเอล ซึ่งเดินสายกวาดคำชมตามเทศกาลต่างๆ มาแล้วทั่วโลกก็ถูกตัดสิทธิ์ตามไปอีกเรื่อง เมื่อคณะกรรมการเห็นว่าหนังมีบทสนทนาภาษาอังกฤษอยู่มากกว่าครึ่ง ส่งผลให้มันขาดคุณสมบัติของความเป็น “ต่างประเทศ”!?! The Band’s Visit เป็นผลงานกำกับของ อีราน โคลิริน เล่าถึงเรื่องราวของกลุ่มทหารอียิปต์ที่พลัดหลงเข้าไปในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งของประเทศอิสราเอล และเพื่อติดต่อสื่อสารกับชาวบ้านในเมือง เหล่าตัวละครชาวอียิปต์ (พูดภาษาอาหรับ) จึงจำเป็นต้องพูดภาษาอังกฤษ (บางครั้งก็แบบงูๆ ปลาๆ) กับเหล่าตัวละครชาวยิว (พูดภาษาฮิบบรู)

* ไม่มีอะไรแน่นอนบนเวทีออสการ์ สัจธรรมดังกล่าวถือเป็นข่าวร้ายสำหรับ “ของตาย” ในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมอย่าง 4 Months, 3 Weeks & 2 Days “หนังทำแท้งจากโรมาเนีย” เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำ และล่าสุดรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก European Film Awards โดยข่าววงในแว่วมาว่าในรอบฉายพิเศษสำหรับคณะกรรมการออสการ์ ผลงานกำกับของ คริสเตียน มุนกัว ได้เสียงตอบรับค่อนข้าง “ก้ำกึ่ง” ถึงขนาดบางคนคิดว่ามันอาจถูกเขี่ยหลุดจากโผก่อนรอบชิงชนะเลิศด้วยซ้ำ (กรรมการจะคัดเลือกหนังทั้งหมดให้เหลือเพียง 12 หรือ 15 เรื่อง จากนั้นค่อยนำมาฉายใหม่เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 5 เรื่องสุดท้าย) จากข้อมูลของแหล่งข่าว กรรมการหลายคนบ่นอุบว่าหนังค่อนข้าง “อืดเอื่อย” บ้างก็ไม่ชอบใจช็อต “ตัวอ่อนบนพื้นห้อง” ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งหงุดหงิดกับสไตล์กล้องแบบสั่นส่ายชวนให้ปวดหัว อย่างไรก็ตาม จนถึงเวลาขณะนี้ 4 Months, 3 Weeks & 2 Days ยังถือเป็นหนึ่งในกลุ่มตัวเก็งที่คาดว่าน่าจะหลุดเข้าชิงร่วมกับ The Year My Parents Went on Vacation (บราซิล) Persepolis (ฝรั่งเศส) The Edge of Heaven (เยอรมนี) The Unknown (อิตาลี) The Orphanage (สเปน) และ The Counterfeiters (ออสเตรีย)

* ดูเหมือนแคมเปญในการผลักดัน Once หนังเพลงขวัญใจนักวิจารณ์ช่วงซัมเมอร์ ให้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจะเริ่มวิ่งเข้าหาทางตันเสียแล้ว แต่อย่างน้อยมันก็อาจได้รางวัลปลอบใจไปนอนกอดแทนในสาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยม ซึ่ง Falling Slowly ครองสถานะตัวเก็งอันดับหนึ่ง (ส่วนเพลงเด่นอีกเพลงของหนังอย่าง If You Want Me ก็อาจมีสิทธิ์เข้าชิงเช่นกัน) โดยคู่แข่งสำคัญของ Once ในสาขานี้ได้แก่ Into the Wild, Hairspray, Ratatouille, The Golden Compass, Grace Is Gone และ Enchanted

* คนเดียวที่ไม่ต้องคอยนั่งลุ้นตัวโก่ง หรือตบตีแย่งชิงรางวัลกับใครในงานออสการ์ครั้งนี้ คือ โรเบิร์ต บอยล์ นักออกแบบงานสร้างระดับตำนาน ซึ่งจะก้าวขึ้นรับรางวัลออสการ์พิเศษในคืนวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์เขาเคยเข้าชิงออสการ์ในสาขากำกับศิลป์มาแล้ว 4 ครั้ง (North by Northwest, Gaily, Gaily, Fiddler on the Roof และ The Shootist) แต่ชวดหมด นอกจากนี้ผลงานสำคัญเรื่องอื่นๆ ของก็เช่น The Birds, In Cold Blood, The Thomas Crown Affair (1968), Private Benjamin และ It Came from Outer Space บอยล์จบการศึกษาในสาขาสถาปัตยกรรม แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้เขาตัดสินใจเบนเข็มมายังวงการภาพยนตร์ด้วยการรับหน้าที่เป็นตัวประกอบเดินผ่านกล้อง ก่อนจะค่อยๆ เริ่มไต่เต้าขึ้นมาเป็นผู้กำกับศิลป์ให้กับยูนิเวอร์แซลในช่วงต้นทศวรรษ 1940

6 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ออสการ์ปีนี้ ผม no idea เลยจริงๆ

ถ้าลอง มาริยง คอติลลาร์ด กับ สี่เดือน สามอาทิตย์ สองวัน หลุดเข้าชิง ก็ปิดฉากออสการ์ปีนี้สำหรับผมได้เลย

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

SAG ประกาศลิสต์ออกมาแล้วครับ

น้อง มาริยง กับคุณเคท อยู่รอดปลอดภัยดี

ว่าแต่ ไมเคิล เคลย์ตันนี่จะมีใครสงเคราะห์เอากลับมาเข้าโรงบ้างมั้ยนี่!!!

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ทำไม!!!!!

พูดถึง เจมส์ แม็คอะวอย น้อยจังง่ะ...

ตัวเก็งในใจ J. ปีนี้เชียนะ...

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ออสการ์ปีนี้เดาไม่ถูกจริงๆแฮะ...
สูสีเบียดกันกระจุยกระจายมาก - -

ทำใจเชียร์ไม่ถูก
Marion Cotillard
Cate Blanchett
หรือว่าจะ Tilda Swinton ดี

black forest กล่าวว่า...

เข้มข้นเรื่องออสการ์เหมือนเดิม...ไม่หลุดคอนเซปต์จริงๆ

สวัสดีปีใหม่นะพี่บิ๊ก มีความสุขความสมหวังตลอดปี 2008 นะครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

Juno น่าสนใจแฮะครับ