วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 06, 2550

รักแห่งสยาม: ไม่มีแม่คนไหนอยากให้ลูกเป็นกะเทย


เมื่อวันก่อน เพื่อนผมโทรศัพท์มารายงานว่าเธอได้ไปดู รักแห่งสยาม ตามคำแนะนำ (แกมบังคับ) ของผมแล้ว เธอบอกว่าเธอชอบหนัง และเห็นว่ามันเป็นหนังที่ดีมากเรื่องหนึ่ง จากนั้นเราก็คุยกันถึงความชอบส่วนตัวโดยทั่วไปอยู่พักหนึ่ง (น้องโอ้หล่อทุกช็อตเลยเนอะ สินจัยแม่งเล่นโคตรดีเลย ฯลฯ) ก่อนเธอจะเริ่มชื่นชมตัวละครอย่างสุนีย์จนออกนอกหน้า โดยเฉพาะในฐานะแม่ ซึ่งต้องแบกรับภาระทุกอย่างไว้บนบ่า ผมไม่แปลกใจหรอกที่พบว่าเธอ “อิน” กับตัวละครตัวนี้เป็นพิเศษ (เพราะประเด็นโรแมนติกของหนังมันเกิดขึ้นระหว่างชายกับชาย) และเห็นด้วยกับเธอในหลายๆ ประเด็น แต่ขณะเดียวกันก็แย้งขึ้นว่า โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าตัวละครตัวนี้หาได้สมบูรณ์แบบแต่อย่างใด เธอกระทำผิดพลาดในบางช่วงตอนเช่นกัน และก็ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น

ผมหมายถึงปฏิกิริยาแรกของเธอเมื่อตระหนักว่าลูกชายของเธอ “กุ๊กกิ๊ก” กับผู้ชายอีกคน

แต่เพื่อนผมกลับเห็นว่าปฏิกิริยาดังกล่าวถือเป็นเรื่องชอบธรรมและ “ถูกต้อง” แล้ว เหตุผลของเธอก็ประมาณว่า “ไม่มีแม่คนไหนอยากให้ลูกเป็นกะเทยหรอก” ฉะนั้น เธอจึงต้องพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะดึงลูกชายให้กลับมายังเส้นทางที่ถูกต้องและ “ปกติ” ก่อน แต่สุดท้าย เมื่อเห็นว่าไม่สำเร็จ เธอก็ยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น... เห็นไหมว่าเธอประเสริฐขนาดไหน? แต่ผมแย้งไปว่า ความรักของสุนีย์มันออกจะมากเกินไป แล้วคาบเกี่ยวกับการครอบงำ ผมไม่แปลกใจที่ตัวละครกระทำอย่างที่เห็นในหนัง เพราะบทได้ปูพื้นให้เราเชื่อว่าตัวละครจะปฏิบัติเช่นนั้น เมื่อพิจารณาว่าหล่อนและครอบครัวหล่อนต้องเผชิญกับอะไรมาบ้าง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพฤติกรรมดังกล่าวจะถูกต้อง หรือชอบธรรม เพราะอย่างน้อยความพยายามจะ “ปกป้อง” ลูกของสุนีย์ก็ทำให้คนสองคนต้องเจ็บปวด นั่นคือ มิว และ โต้ง เธอทำให้พวกเขารู้สึกว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำเป็นสิ่ง “ผิด”

ผมมีความเชื่อว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่ควรปล่อยให้ลูกได้มีอิสระที่จะคิดเอง ตัดสินใจเอง เลือกทางเดินชีวิตของตัวเองเมื่อเขาโตพอจะตัดสินใจได้แล้ว เพราะสุดท้าย มันก็เป็นชีวิตของเขา แต่เพื่อนผมกลับแย้งประมาณว่า แต่เราต้องปกป้องลูกของเรา เหมือนเวลาแกเห็นลูกไปวิ่งเล่นแถวแม่น้ำ แกก็ต้องเข้าไปห้ามใช่ไหม

อุปมาของเธอทำเอาผมสะอึก... นี่เธอกำลังเปรียบเทียบการเป็นรักร่วมเพศกับความตายจริงๆ หรือ?

ไปๆ มาๆ ผมเริ่มมีความรู้สึกว่าบทสนทนาครั้งนี้แทนที่จะสะท้อนบางอย่างเกี่ยวกับตัวหนัง มันกลับสะท้อนทัศนคติบางอย่างของเพื่อนผมเสียมากกว่า ผมเริ่มคิดถึงคำพูดก่อนหน้าของเธอ ที่ผมทำเป็นแกล้งขำ แล้วปล่อยผ่านไป เช่น เธอบอกว่านังมิวเนี่ย ถ้าแสดงมากกว่านี้อีกหน่อยก็เป็นกะเทยเดินบิดตูดแล้ว หรือถ้ามันออกอาการมากกว่านี้ กูคงอ้วกตอนมันจูบกัน พอผมพยายามสื่อนัยยะว่าสิ่งที่เธอพูดนั้นเริ่มจะคาบเกี่ยวอาการของ homophobia แล้วนะ เธอกลับตอบประมาณว่า “ฉันน่ะรับได้กับเรื่องพวกนี้ที่สุดแล้ว”

ผมพิจารณาคำพูดของเธอ และก็เห็นด้วยในระดับหนึ่ง เธอรับได้กับเรื่องพวกนี้มากกว่าคนอีกหลายร้อยคนในเว็บบอร์ดพันทิป เธอยินดีไปดู รักแห่งสยาม ด้วยความเต็มใจ แม้จะรู้ว่ามันมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักของเกย์รวมอยู่ (แน่นอน น้องมาริโอ้ก็เป็นจุดดึงดูดอย่างหนึ่ง) เธอสามารถพูดคุยเรื่องผู้ชายกับผมได้อย่างไม่ตะขิดตะขวง แม้กระทั่งยามต้องลงรายละเอียดแบบเจาะลึก... แต่นั่นเพราะผมเป็น “เพื่อน” เธอหรือเปล่า? เราคบหากันมานานเกือบสิบปี ก่อนผมจะบอกเธอว่าผมเป็นเกย์ (ซึ่งเธอก็ไม่แปลกใจ) แต่ผมจำความรู้สึกในตอนนั้นได้ดีว่าผมหวั่นเกรงปฏิกิริยาของเธอสูงสุด เพราะบางครั้งทัศนคติที่เธอแสดงออกต่อพวกรักร่วมเพศเวลาเราพูดคุยกันอยู่ในกลุ่ม (ตอนผมยังไม่ come out) ออกจะค่อนไปทางลบพอสมควร แต่ทุกอย่างก็ราบรื่นดี เรายังคบหากันต่อไปอย่างสนิทใจ และคงจะคบหากันต่อไปอีกนานแสนนาน

บทสนทนาครั้งนี้ทำให้ผมเริ่มตระหนักว่า เธออาจรับได้กับเรื่องพวกนี้ แต่เธอยังคงมองว่ามันเป็นเรื่องผิด “ปกติ” อยู่ดี และถ้าเลือกได้ “ไม่มีแม่คนไหนอยากให้ลูกเป็นกะเทย”

แกต้องยอมรับนะ มันเป็นความจริงในทุกวันนี้

ใช่ครับ ผมยอมรับ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผมต้องเห็นชอบกับความจริงข้อนี้

อย่าว่าแต่คนเป็นแม่เลยครับ กระทั่งตัวกะเทยเอง ส่วนใหญ่ถ้าเลือกได้ก็คงไม่อยากเกิดมาเป็นกะเทย เพราะความกดดันจากสังคม สายตาดูหมิ่น การถูกล้อเลียน ฯลฯ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมรักร่วมเพศจึงมักมีปม “เกลียดตัวเอง” อย่างรุนแรง และการก้าวข้ามปมดังกล่าวมา “ยอมรับ” ในสิ่งที่เขาเป็นนั้นถือเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ (ประเด็นนี้ผมเคยพูดถึงไปแล้วในบทวิจารณ์หนังไทยเรื่อง พรางชมพู)

กลับมายังหนังเรื่อง รักแห่งสยาม ผมมีความรู้สึกว่าหลายคนชื่นชมความรักของแม่อย่างสุนีย์จนล้นเหลือ พูดถึงความยากลำบากของเธอ ความเสียสละของเธอ และความน่าสงสารของเธอ แต่น้อยคนนักจะพูดถึง โต้ง ตัวละครที่ผมคิดว่าน่าสงสารที่สุดในเรื่อง เช่นเดียวกัน โต้งเผชิญหน้ากับปม “เกลียดตัวเอง” อย่างจัง เมื่อเขาพบว่าแม่ของเขารับไม่ได้กับการที่เขาแสดงความรักกับผู้ชายอีกคนหนึ่ง (“เราทำให้คนรอบข้างเราต้องเจ็บเพราะเราไม่รู้ว่าเราเป็นอะไร” เขาร้องครางกับหญิง ผู้มอบความรัก ความเข้าใจ และการปลอบประโลมให้เขามากกว่าแม่แท้ๆ ของเขาเอง) และเมื่อถูกกลุ่มเพื่อนกดดันว่าเขา “แตกต่าง” จากคนอื่นๆ เหมือนดังข่าวล่ำลือจริงหรือไม่

ต่อมาไม่นานในฉากตกแต่งต้นคริสต์มาส มันดูเหมือนเขาจะตัดสินใจได้แล้วว่าเขาเป็นอะไร และแม่ของเขาก็ดูเหมือนจะทำใจยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ ทุกอย่างดูเหมือนจะดำเนินไปสู่ความสุขสมหวัง... แต่ไม่ใช่

หลายคนตีความฉากจบว่า (แม้หนังจะไม่สรุปชัดเจน) การที่โต้งเลือกไม่เป็นแฟนกับมิว เพราะเขาต้องการให้ความสำคัญกับครอบครัวมากกว่า เพราะเขาแคร์แม่มากกว่า ไม่อยากให้แม่ต้องกลุ้มใจไปมากกว่าที่เป็นอยู่ หากนั่นเป็นจริง ก็หมายความว่าโต้งอาจ “รู้” ว่าตัวเองเป็นอะไร แต่เขายังไม่อาจทำใจ “ยอมรับ” ในสิ่งที่เขาเป็นได้ เช่นเดียวกับแม่ของเขา เช่นเดียวกับเพื่อนของผม โต้งเห็นว่ารักร่วมเพศ คือ ความผิดปกติ และด้วยเหตุนี้ ฉากจบดังกล่าวจึงถือเป็นโศกนาฏกรรมแห่งปัจเจกชน แม้ว่าหลายคนจะตีความว่ามันเป็นชัยชนะแห่งความรักภายในครอบครัวก็ตาม โต้งยอมเสียสละ “ตัวตน” เพื่อสังคมที่ไม่เคยมองเห็นหัวเขา สังคมที่พยายามจะครอบงำความคิดของเขาว่า การแสดงความรักระหว่างมนุษย์ด้วยกันจะสวยงามก็ต่อเมื่อมนุษย์สองคนนั้นต่างเพศกัน (เชื่อหรือไม่ว่ากระแส “อยากอ้วก” อาจจะไม่รุนแรงเท่า หากมันเป็นฉากจูบระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง... นั่นหมายความว่านอกจากถูกครอบงำโดย Heterosexism แล้ว เรายังถูกครอบงำด้วยลัทธิชายเป็นใหญ่ด้วยใช่ไหม)

อันที่จริง การแสดงความรักระหว่างคนสองคนมันน่าสะอิดสะเอียนตรงไหน ผมไม่เข้าใจ มนุษย์เราก็แปลก คุณสามารถฆ่ากันตายได้ด้วยข้ออ้างสารพัด บางทีก็ไร้สาระเหลือแสน แต่กลับทนเห็นคนสองคนแสดงความรักกันอย่างจริงใจไม่ได้ เช่นนี้แล้วคุณยังจะแปลกใจอีกไหมว่าทำไมโลกเราถึงเต็มไปด้วยสงคราม แต่ขาดแคลนความเข้าอกเข้าใจกันระหว่างเพื่อนมนุษย์

ผมลองนั่งนึกสมมุติฐานว่า หากมิวเป็นเด็กผู้หญิงฐานะยากจน ฉากที่สุนีย์เดินทางไปพูดกับมิวให้เลิกคบหากับลูกชายเธอนั้นจะยังสร้างอารมณ์แบบเดียวกันให้กับเพื่อนของผมไหม เธอจะยังคิดไหมว่า สุนีย์ทำถูกต้องที่สุดแล้วเพื่อลูกชายของเธอ? อะไรเลวร้ายกว่ากันระหว่างความยากจนกับรักร่วมเพศ? ทำไมในละครน้ำเน่า เราถึงสามารถจงเกลียดจงชังแม่ที่มาขัดขวางความรักของลูกชายกับหญิงสาวยากจน แต่กลับทำใจยอมรับและอาจถึงขั้นชื่นชม แม่ที่พยายามจะขัดขวางความรักระหว่างลูกชายกับผู้ชายอีกคนหนึ่ง?

บทสนทนาระหว่างผมกับเพื่อนจบลงแบบห้วนๆ (ผมแกล้งบอกเธอไปว่ามีสายเข้า) ผมไม่รู้ว่าเธอจับน้ำเสียงไม่พอใจของผมได้หรือไม่ ในการพูดคุยช่วงท้ายๆ ผมเริ่มเงียบและไม่โต้ตอบเธอมากนัก แต่หลังจากได้ระบายความรู้สึกกับเพื่อนอีกคนหนึ่งในกลุ่มเดียวกัน ผมก็รู้สึกดีขึ้น และเย็นลง ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็น activist และหลายอย่างที่กลุ่มเกย์ activist ทำก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากผม แต่ความรู้สึกแย่คงเป็นเพราะบทสนทนาครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างเพื่อนสองคนที่คบหากันมานานกว่า 20 ปี ไม่ใช่การอ่านความเห็นห่วยๆ ของคนแปลกหน้าบนบอร์ดพันทิป

แน่นอน มิตรภาพของเราจะยังคงอยู่ ผมยังคงรักเธอในแบบที่เธอเป็น และหวังว่าสักวันเธอจะรักผมกลับ ไม่ใช่ในฐานะ “เพื่อน” แต่ในฐานะ “กะเทย” คนหนึ่ง

...ดั่งในใจความบอกในกวี ว่าตราบใดที่มีรักย่อมมีหวัง...

19 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อึ้ง...

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผู้ที่หาได้มีประสบการณ์ความรักที่ลึกซึ้ง ทั้งเจ็บปวดและสมหวัง.....หาได้รู้จักรักที่แท้จริงไม่ แต่ยังคงมองผ่านความวาดหวังของตนเองออกมาเป็นทัศนคติทั้งบวกหรือลบ การจะตัดสินความรักของใครในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ดูออกจะไม่ยุติธรรม เพราะ "เรา" ไม่ได้เป็น "เขา" และ "เขา" ไม่เคยมาเป็น "เรา" ค่าของคนใดคนหนึ่งอยู่ที่ "ความดีงาม" ใช่หรือไม่ หรือที่ผ่านมาข้าพเจ้าเข้าใจผิดไปเอง

โลกนี้ออกจะไม่ยุติธรรมในหลายๆด้าน แต่ที่แท้ทุกอย่างมี 2 ด้านเสมอ มีสุข-ทุกข์ มิอาจหลีกเลี่ยงได้ สลับหมุนเวียนอยู่เช่นนี้ จงเลือกที่จะรับฟังและปล่อยวาง และให้อภัย.....

แต่จงยินดีกับทางที่คุณเลือก หรืออย่างน้อยคุณได้ค้นพบตัวเองแล้ว จงสรรค์สร้างสิ่งสวยงามในสิ่งที่คุณค้นพบ เป็นโลกที่ชายและหญิงอาจไม่มีทางเข้าใจ
But it doesn't matter, your dream is still carrying on.....และขอเป็นกำลังใจให้กับความกล้าหาญในการ "เปิดใจรับตนเองอย่างที่เป็น" ใครจะรู้บ้างว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยและไม่มีวันเป็นเรื่องง่าย

ขอให้มีความสุขกับทุกวันที่มีอยู่

*ยังไม่ได้ดูรักแห่งสยาม แต่เท่าที่อ่าน เป็นหนังดีๆ ที่ละเมียดละไมลึกซึ้ง เป็นตัวแทนความรักในทุกรูปแบบที่น่าเสียดายที่ชื่อเรื่องไม่อาจบรรยายสรรพคุณของหนังได้ดีดั่งใจ :)

รักคนเขียนบทความ เป็นกำลังใจให้เสมอ :)

Always....

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ชอบมากนะเรื่องนี้ ใจเย็นครับ
คนต่างมีความเชื่อและภูมิหลังที่ต่างกัน
กว่าจะให้ใครรับอะไรซักอย่างได้คงต้องใช้เวลา
เพราะเราเองก็รับไม่ได้กับคนบางคนที่แสดง
นิสัยแย่ ๆ กรี๊ดในโรงหนังเหมือนกัน

ผมเอง

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ต้องขอบคุณหนัง รักแห่งสยาม ที่ช่วยให้เกิดประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมนี้ ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หนังเรื่องนั้นเป็น "หนังไทย"

สำหรับเพื่อนของ RD (ขอเรียกย่อๆละกันเด้อ) J. ว่าเค้าก็มีเหตุผลของเค้าอ่ะนะ โดยเฉพาะเมื่อพูดในแง่มุมของความเป็นแม่อย่างสุนีย์ ซึ่งแบกรับทุกอย่างไว้เพียงลำพัง แต่ไม่ต้องการให้ครอบครัวของเธอพังทลายเพราะสิ่งที่เธอเห็นว่ามันเป็นหนทางที่ "ไม่ถูกต้อง"

J. อยากจะบอกว่า เห็นด้วยกับเพื่อนของ RD ไม่น้อยนะ โดยเฉพาะที่ว่า "เหตุผลของเธอก็ประมาณว่า “ไม่มีแม่คนไหนอยากให้ลูกเป็นกะเทยหรอก” ฉะนั้น เธอจึงต้องพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะดึงลูกชายให้กลับมายังเส้นทางที่ถูกต้องและ “ปกติ” ก่อน แต่สุดท้าย เมื่อเห็นว่าไม่สำเร็จ เธอก็ยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น..."

J. เองยังคิดเหมือนกันนะ ว่าถ้า J. เป็นแม่อย่างสุนีย์ J. ก็อาจจะทำอย่างที่สุนีย์ทำกับมิวเหมือนกัน จริงอย่างที่ RD เขียนไว้ว่า "คนเป็นพ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกได้มีอิสระที่จะคิดเอง ตัดสินใจเอง เลือกทางเดินชีวิตของตัวเองเมื่อเขาโตพอที่จะตัดสินใจได้แล้ว เพราะสุดท้ายมันก็เป็นชีวิตของเขา" J. เห็นด้วยอย่างเต็มที่และไม่มีอะไรจะคัดค้าน

แต่ J. ก็คิดว่ายังมีพ่อแม่อีกมากมายในสังคมนี้ที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ยังเห็นลูกตัวเองเป็นเด็กอยู่วันยังค่ำ แล้วถ้ามองจากในหนังเรื่องนี้ โต้งเองก็ยังเป็นเด็กนักเรียนมัธยม เขายังไม่มีความสามารถที่จะพึ่งพาหาเลี้ยงตัวเองได้เลย พูดง่ายๆคือยังต้องแบมือขอเงินแม่ใช้ ฉะนั้นมันจึงไม่แปลกที่แม่อย่างสุนีย์จะเห็นว่าโต้งยังเป็นเด็กอยู่ จนต้องยื่นมือเข้าไปขีดเส้นทางเดินให้แก่เขา

ส่วนเรื่องที่เพื่อนของ RD อุปมานั้น J. ว่าเค้าคงไม่ตั้งใจให้ฟังดูรุนแรงขนาดนั้นหรอกกระมัง ก็เป็นแค่การยกตัวอย่างการอุปมาอุปมัยเพื่อการโน้มน้าวใจเท่านั้นเอง เขาก็แค่พูดจากจุดยืนที่ว่าไม่มีแม่คนไหนอยากให้ลูกเป็นกะเทยเท่านั้น ซึ่งหากเขาห้ามไม่ให้ลูกเป็นกะเทยแล้ว (ไม่ว่าในใจของเขาจะมีทัศนคติเกี่ยวกับการเป็นรักร่วมเพศเช่นใดก็ตาม) แต่ไม่สามารถจะห้ามได้ เขาก็คงหาทางพาลูกไปเรียนว่ายน้ำให้ถูกต้อง เพื่อที่ต่อไปเวลาลูกไปวิ่งเล่นแถวแม่น้ำ ลูกจะได้ไม่เผลอตกน้ำตกท่าจมหายต๋อมไปก็เท่านั้นเอง

เฮ้อ...ไม่รู้จะพูดอะไรเหมือนกันเนาะ (ยิ่งพูดยิ่งมั่ว...J. เป็นพวกไม่ถนัดคุยอะไรหนักๆซะด้วยจิ) แค่อยากจะบอกว่าดีใจที่ได้อ่านความคิดเห็นของ RD แบบนี้ จึงต้องขอบคุณเพื่อนของ RD คนนั้นด้วยที่ก่อให้เกิดบทความดีๆเช่นนี้ขึ้นมา แต่ไม่รู้ซินะ...อ่านย่อหน้าสุดท้ายของ RD แล้วเศร้าจัง ฟังคล้ายๆเหมือนจะบอกว่า "จงรักผมเพราะผมเป็น 'กะเทย' คนหนึ่ง ดีกว่ารักผมเพราะผมเป็น 'เพื่อน' คุณ" ยังไงยังงั้น...

แล้วต่อไปเราจะพูดคำว่า "เพื่อน...กูรักมึงว่ะ" ให้ใครฟังกันล่ะ????

Riverdale กล่าวว่า...

แหะๆ ขอบคุณสำหรับทุกความเห็นนะครับ จริงๆ ผมไม่ได้ "แรง" เหมือนในบทความที่เขียนหรอกนะครับ ยังรักเพื่อนคนนี้เหมือนเดิม และจะรักตลอดไป คนเราเติบโตมาไม่เหมือนกัน เราจะทำยังไงได้ นอกจากยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็นและหวังว่าเขาจะยอมรับเราอย่างที่เราเป็นเช่นกัน

คุณ J ครับ ประโยคนั้น ในความหมายของผม คือ ผมรู้อยู่แล้วว่าเธอรักผมในฐานะเพื่อน แต่ถ้าผมไม่ใช่เพื่อน เป็นแค่เพื่อนร่วมโลกคนหนึ่ง แล้วก็เป็นกะเทย เธอยังจะสามารถรักผมได้ไหม เท่านั้นเอง :)

ขอให้สันติภาพและความรักจงงอกเงย

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เพิ่งเข้ามาอ่านเจอ ชอบคับ ให้กำลังใจคับ สังคมไทยยังคงต้องการความเข้าใจเรื่องเพศวิถีอยู่อีกมาก ยินดีที่พี่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความเข้าใจดีๆ ให้เกิดขึ้นนะคับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เห็นด้วยกับที่เขียนเล่ามา

รู้สึกอย่างหนึ่งว่า อย่างน้อยตัวเองก็โชคดีมาก ๆ ที่ตอนที่แม่รู้ว่าตัวเองรักผู้ชายด้วยกัน สิ่งที่แม่บอกคือ ไม่เห็นเป็นไรเลย ลูกเป็นคนดีของแม่ เป็นคนดีของสังคม แม่ก็พอใจแล้ว

เข้าใจความรู้สึกครับ
แต่ถ้าเป็นผม ผมจะปล่อยวางเสียให้เร็วที่สุด ซึ่งก็เข้าใจว่าคุณก็ทำได้แล้ว
เพราะว่าผมตอบตัวเองได้ว่า เปล่าประโยชน์กับการไปเปลี่ยนทรรศนคติของคนที่มีลักษณะแนวความคิด homophobia
เพราะบางครั้งผมเองก็รู้สึกว่าตัวเองเป็น ชะนีphobia เช่นกัน

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

รักป๋าค่ะ ฮิๆๆๆ

Nongmodkit กล่าวว่า...

อ๊ะ... J. ยังมะได้บอกใช่มะ

ว่า J. ชอบประโยคนี้มั่กๆ แบบว่าตรงใจจัง

การแสดงความรักระหว่างคนสองคนมันน่าสะอิดสะเอียนตรงไหน ผมไม่เข้าใจ มนุษย์เราก็แปลก คุณสามารถฆ่ากันตายได้ด้วยข้ออ้างสารพัด บางทีก็ไร้สาระเหลือแสน แต่กลับทนเห็นคนสองคนแสดงความรักกันอย่างจริงใจไม่ได้ เช่นนี้แล้วคุณยังจะแปลกใจอีกไหมว่าทำไมโลกเราถึงเต็มไปด้วยสงคราม แต่ขาดแคลนความเข้าอกเข้าใจกันระหว่างเพื่อนมนุษย์

พอมาคิดๆดูแล้ว มันถูกต้องสุดๆ...

มันไม่ใช่แค่สังคมนี้หรอก แต่สังคมไทยก็เป็นเหมือนกัน คือทนเห็นการแสดงความรักระหว่างคนสองคน (โดยเฉพาะสองคนนั้นเป็นผู้ชาย)ไม่ได้...

แต่ถ้าเป็นผู้หญิงกับผู้หญิงละก็ กลัับไม่เห็นรู้สึกสะอิดสะเอียนที่ตรงไหน

ไม่เข้าใจเหมือนกัน ว่าทำไมในหนังโป๊ทั่วๆไป ถึงชอบให้มีฉากหญิง-หญิงกอดจูบกันอยู่เรื่อย แถมยังดูกันได้โดยไม่รู้สึกว่านั่นเป็นฉากเลสเบี้ยน

แต่ชาย-ชาย ยังไม่ต้องถึงขั้นจูบกันหรอก แต่จับมือกันก็ร้อง "เฮ้ย...แมร่ง..." ในใจกันลั่นแย้ววววว

นึกถึงเรื่อง เขาชนไก่ เนาะ...

ฉากที่มีคนหนึ่งโดนบังคับให้เลือก

ว่าระหว่างจูบปากตุ๊ดกับคุกเข่าไปกราบตีนอันธพาล

ไอ้เด็กนั่นมันแทบไม่เสียเวลาคิดสักนิด แต่คุกเข่าลงแทบจะทันทีเลย...เวรกรรม...

อย่างน้อย มรึง(ผู้กำกับ)น่าจะให้ตัวละคร มันทำท่าลังเลสักหน่อยเนาะ...

คิดแร้วเซ็ง...

Riverdale กล่าวว่า...

ฉากนั้นของ เขาชนไก่ เป็นฉากที่ฮามากๆ ไม่รู้คนดูคนอื่นดูแล้วจะคิดเหมือนผมกับคุณ J ไหม

คิดดูสิ ปากกะเทย น่ารังเกียจกว่าส้นตีนซะอีก 5555

แต่ในหนังเนี่ย ตอนนั้นเป็นอารมณ์ดราม่ารุนแรงมากนะ

วันก่อนไปอ่านความเห็นของใครไม่รู้ เขาเขียนว่าผู้ชายเสียเปรียบผู้หญิงอย่างไรบ้าง มีข้อหนึ่งเขียนทำนองว่า

ผู้หญิงหอมแก้มผู้หญิง --- น่ารัก
ผู้ชายหอมแก้มผู้ชาย ---- อืยยย หวาดเสียว ขนลุก

วันก่อนไปดูรักแห่งสยามมาอีกรอบ ก็ได้ยินเสียงผู้หญิงพูดกันว่า "สยอง" บ้างล่ะ "น่ากลัวกว่าหนังผีอีก" บ้างล่ะ ตอนฉากที่โต้งกับมิวมองตากัน นอนซบกัน ส่วนฉากจูบ รู้สึกจะไม่ได้ยินอะไร คาดว่าหล่อนคงช็อกสลบคาเก้าอี้ไปแล้ว

น่าสงสัยว่าทำไม "ผู้หญิง-ผู้หญิง" (แฟนตาซีเพศชาย) ถึงได้รับการยอมรับมากกว่า "ผู้ชาย-ผู้ชาย" แม้กระทั่งในสายตาของผู้หญิงด้วยกันเอง นั่นเพราะเราถูกครอบงำด้วยลัทธิชายเป็นใหญ่ใช่ไหม?

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

นั่นดิ ไม่เข้าใจเหมือนกัน เคยได้ยินเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่ง เขาก็พูดว่าถ้าให้ดูหนังเกย์ก็ดูได้ แต่ถ้าให้มีฉากผู้ชายจูบกัน เค้ารับไม่ด้ายยยยยยยย...

เลยคิดว่าคงไม่เพียงแต่สังคมนี้ถูกครอบงำด้วยลัทธิชายเป็นใหญ่อย่างเดียว ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยก็ยินดีที่จะตกอยู่ใต้อำนาจของเพศชาย ยอมให้ผู้ชาย dominate ชีวิตเธอทุกอย่างด้วยความยินยอมพร้อมใจ ไม่รู้ซินะ...อย่าง สุนีย์ ก็เหมือนๆ เธอจะยอมทุกอย่างให้ครอบครัวมากเกินไป โดยเฉพาะผัว!

J. น้ำตาเกือบไหล ตอนสุนีย์เอาข้าวแข็งๆกับไข่พะโล้ไปนั่งกินโดยไม่ปริปาก แต่เวลาจัดให้ผัวกิน แหม...กับข้าวร้อนๆ ควันงี้ขึ้นกรุ่น น่ากินเป็นที่สุด

ดูในหนังก็ OK อ่ะนะ ฉากนี้ใครๆ ก็รักสุนีย์ แต่ J. มานั่งคิดๆ ดู ในชีวิตจริงๆ จะมี แม่/เมีย คนไหน ทำแบบสุนีย์ในหนังเรื่องนี้บ้าง โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงว่าสุนีย์ก็เป็น working woman ด้วยอ่ะนะ ไม่ใช่ชาวบ้านทั่วๆ ไปที่ต้องคอยให้ผัวหาเลี้ยงตลอดซะเมื่อไหร่

คิดไปคิดมา ก็อาจพูดได้ว่า ความเป็นแม่ของสุนีย์ ในหนังเรื่องนี้ ก็ถือเป็น "แฟนตาซี" ของผู้หญิงไทยจำนวนไม่น้อยที่ถูกครอบงำด้วยสังคมชายเป็นใหญ่ได้เหมือนกัน

แถมถูกครอบงำอย่างไม่รู้ตัวเสียด้วย...

Riverdale กล่าวว่า...

บางทีความรักก็ทำให้คนเราทำได้ทุกอย่าง เหมือนอย่างผู้หญิงบางคนก็ยอมทนให้ผัวซ้อมเช้าซ้อมเย็นโดยไม่ยอมเลิก

ความรัก + ความไม่เคารพตัวเอง หรือ self-esteem ต่ำ

นี่เป็นเหตุว่าทำไมผมถึงชอบ Muriel's Wedding มากๆ เพราะหนังจบลงด้วยการให้นางเอกเรียนรู้ที่จะรักและเคารพตนเอง แทนการจบแบบให้เธอค้นพบผู้ชายดีๆ สักคนมาเติมเต็มเธอ (สุนีย์เป็นเหมือนแม่ของมิวเรียลไหมนะ?)

นอกจากนี้ บางทีสุนีย์อาจเป็นมาโซคิสต์ เสพติดความเจ็บปวดเหมือนๆ กับสามี เธอจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าก็ต่อเมื่อได้รับใช้สามีอย่างปราศจากเงื่อนไข 555

นี่เราสองคนมองโลกแง่ร้ายกันเกินไปไหม?

ประเด็นหนึ่งที่ผมสนใจ คือ ผู้หญิงอาจไม่ชอบผู้ชายแสดงความรักอย่างหวานซึ้งกันเพราะพวกเธอมีความเชื่อว่าเพศชาย คือ เพศที่เข้มแข็ง แต่รักร่วมเพศได้ทำลายความเชื่อนั้นลง เปิดเผยให้เห็นด้านที่อ่อนหวาน อ่อนไหวของเพศชาย พวกเธอจึงรู้สึกเหมือนรับไม่ได้ จริงอยู่ ผู้หญิงชอบบอกว่าพวกเธอโหยหาผู้ชาย sensitive แต่สุดท้ายแล้ว เชื่อเถอะครับ พวกเธอก็ยังต้องการให้ผู้ชายเป็น "ผู้ชาย" อยู่ดี เหมือนในหนังเรื่อง Bedazzled ที่นางเอกเขียนในไดอารี่ว่าอยากเจอผู้ชายอ่อนไหว อ่อนหวาน แต่พอพระเอกถูกมนตร์นางมารกลายเป็นผู้ชาย sensitive (เกินเหตุ) สุดท้ายหล่อนก็หนีไปกับผู้ชายชีกอ (เล่นบอล) ที่มาจีบหล่อนบนชายหาด 555

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ไม่รู้ว่าเราสองคนมองโลกแง่ร้ายเกินไปมั้ย? แต่ J. คิดว่าถ้าให้ผู้หญิงที่ชอบ สุนีย์ กันจังน่ะ... ลองให้ไปมีชีวิตแบบสุนีย์บ้าง พวกเธอจะทนได้สักกี่น้ำ!

อาจเป็นอย่างที่ RD ตั้งข้อสังเกตก็ได้ คือ "สุนีย์อาจจะมีความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เมื่อได้รับใช้สามีอย่างปราศจากเงื่อนไข" เพราะถ้าเธอไม่ทำแบบนั้น เธอก็จะไม่มีตัวตนในสายตาของผู้ใดเลย

แล้วการมีตัวตนในสายตาของคนอื่นๆ แม้จะในฐานะของ 'ผู้ถูกกระทำ' ก็อาจจะยังดีกว่าตกอยู่ในสภาพอากาศธาตุตลอดเวลา... ใช่หรือเปล่า????

และอีกอย่าง การที่เธอ (สุนีย์ และ ฯลฯ) ยอมให้ตัวเองถูกกระทำแบบนั้น มันก็ได้สร้างความชอบธรรมให้พวกเธอ สามารถลุกขึ้นมาป่าวประกาศได้ว่า ทุกอย่างที่ฉันทำก็เพื่อครอบครัว... ครอบครัวที่ฉันต้องพยายามกอบกู้ และรักษามันไว้อย่างสุดความสามารถ... โดยใช้ความอดทนเป็นตัวตั้ง กลืนเลือดตัวเองทุกวัน เพื่อให้ครอบครัวสามารถอยู่เป็นสุขได้...

เพราะครอบครัวเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของสังคม... มิใช่หรือ????

มาคิดๆดูนะ J. ว่าถ้าเปลี่ยนตัวแสดงบท กร จากพี่กบ ทรงสิทธิ์ ซึ่งเป็นผู้ชายที่ดูอ่อนโยน ใจดี มีชาติตระกูลเอามากๆ กลายมาเป็นผู้ชายหุ่นล่ำบึ้ก คมเข้ม มาดแมนเกินร้อยอย่างผู้กองเบิร์ด (พระนเรศวร) ความรู้สึกของคนดูที่มีต่อบทสุนีย์ จะยิ่งออกมาในแนวเทิดทูนบูชามากกว่านี้หรือเปล่า...

หรืออาจจะไม่รู้สึกอะไร... เพราะทุกวันนี้ ผัวฉันก็หุ่นล่ำๆ เมาเหล้าเช้าเย็นทุกวันอยู่แล้ว แถมมันยังเตะฉันเช้าเย็นหลังอาหารอีกต่างหาก

และการที่ฉันชอบ สุนีย์ เอามากๆนั้น ก็อาจเป็นเพราะว่าฉันอยากให้ผัวฉัน เป็นคนที่แลดูอ่อนโยน อ่อนไหว น่าคุ้มครองปกป้องให้ความรัก แบบเดียวกับพี่กบ ทรงสิทธิ์นั่นกระมัง...

สงสัย 'สุนีย์แฟนคลับ' คงเกลียดเราสองคนเข้าไส้แล้วล่ะมั้งเนาะ...อุอุ

Riverdale กล่าวว่า...

พอคุณ J พูดขึ้นมา ผมก็นึกได้ว่า รักแห่งสยาม เป็นหนังเกี่ยวกับเกย์ และเป็น coming-out-of-age ที่ดูเหมือนจะเชิดชูสถาบันครอบครัว (หรือรากฐานแห่งสังคม Heterosexual) อย่างยิ่งยวด ซึ่งมันให้ความรู้สึกขัดแย้งกันอยู่ในตัว เพราะเกย์และเลสเบี้ยน "ไม่เข้าพวก" กับสถาบันครอบครัว

จะพบว่าหนังอย่าง Muriel's Wedding มีความเป็น "รักร่วมเพศ" ค่อนข้างสูง อาจจะมากกว่า รักแห่งสยาม ด้วยซ้ำ เพราะหนังแสดงให้เห็นภาพของตัวเอกที่สลัดทิ้งครอบครัวในสายเลือด (ขณะเดียวกันหนังก็สะท้อนภาวะการล่มสลายแห่งสถาบันครอบครัว ผ่านเรื่องราวของครอบครัวมิวเรียล ซึ่งพ่อไปมีเมียน้อย ลูกๆ ไม่ทำงานทำการ แม่กลายเป็นเหมือนทาสในเรือนเบี้ยจนสุดท้ายตัดสินใจฆ่าตัวตาย) แล้วไปสร้างครอบครัวแบบเกย์ๆ (อยู่กับกลุ่มเพื่อน) ในเมืองใหญ่ แถมสุดท้ายในตอนจบ มิวเรียลยังตัดสินใจเลือก "ครอบครัวที่เธอเลือกเอง" แทน "ครอบครัวในสายเลือด" อีกด้วย

แต่ใน รักแห่งสยาม ฉากจบที่หลายคนตีความ (ตรงนี้ผู้กำกับไม่ได้บอกชัดเจน)มันดูเหมือนว่าโต้งจะเลือกครอบครัวในสายเลือด แทนที่จะเลือกยอมรับตัวเอง มันน่าเศร้าจริงๆ ว่ามั้ย

Riverdale กล่าวว่า...

บางทีโต้งน่าจะลองฟังเพลง Dancing Queen ของ ABBA ดูบ้าง :)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

J. ชอบเพลง Dancing Queen ของ ABBA มั่กๆ

เออ... จะว่าไป J. ก็ชอบเพลง ABBA เกือบทุกเพลงอ่ะ รวมถึงหนังที่เอาเพลง ABBA มาประกอบด้วย (อยากดู Mama Mia จังเยยย...)

แล้ว J. ก็ชอบ Muriel's Wedding มั่กๆ ด้วยอ่าาาาาาาา... เพราะหนังเรื่องนี้แท้ๆ ทำให้ J. กลายมาเป็น ABBA FC. ด้วยความเต็มใจ

และ J. ก็ชอบ โต้ง ด้วยอ่า... หลิมๆแต่น่ารัก แม้ J. จะไม่มีอะไรสู้ มิว ไม่ได้ก็ตาม

J. ร้องไห้เสียตาบวมฉึ่งเรย ที่โต้งดันเลือกแม่ แทนที่จะเลือก J. เอ๊ย เลือกมิว คือเลือกที่จะปฏิบัติตนตามกรอบของสังคม แทนเลือกเดินตามหัวใจตนเอง

หนังเรื่องนี้จึงควรเปลี่ยนชื่อเป็น "รัก(โศกนาฎกรรม) แห่งสยาม" แทน!!!

คิดถึงบทความของคุณโตมร ที่ว่าคุณมะเดี่ยวกล้าวิพากษ์สังคมแคทอลิก ก็น่าเสียดายที่คุณมะเดี่ยว ยังไปไม่ไกลถึงขั้นท้าทายสังคมไทย ด้วยการให้โต้งกับมิวเป็นแฟนกันในตอนจบ

เฮ้อ...คราวนี้ไม่เพียงแต่ สุนีย์แฟนคลับ จะเกลียดเราเท่านั้น แฟนคลับรักแห่งสยาม คงหันมาด่าเราด้วยแน่ๆ เพราะยิ่งคุยก็เหมือนว่าจะยิ่งห่างไกลจากความรู้สึกน่าประทับใจ

แต่ถ้าไม่รักหนัง...ก็คงคุยไม่ได้ถึงขนาดหรอก... จริงมะ??? หุหุ

NUNAGGIE กล่าวว่า...

หนูจะอยู่เป็นเกย์คู่ขวัญกับป๋าตลอดไปนะคะ แม่รับไม่ได้ที่ลูกเป็นเกย์ แต่แม่รับได้ที่ลุกเป็นเลสเบียน หนูมั่นใจค่ะ

นุ่น เพื่อนรักของป๋า

ปล เพิ่งได้ดูเรื่องนี้ค่ะ ชอบมากๆ เลยมาอ่านบทความของป๋าต่อ

runangel กล่าวว่า...

เพิ่งได้มาอ่านฮะ

เป็นบล๊อกที่มีความคิดเห็นคมคายมากฮะ

ส่วนบทความนี้ ผมก็เห็นด้วย กับคุณ Riverdale แทบทั้งหมดเลยคับ

ผมขอเปรียบเทียบตัวอย่างนึงในหนังและบทความกับเรื่องของตัวเอง
(ให้พอเห็นภาพของคนอื่นที่ไม่ได้เป็นรักร่วมเพศแต่ถูกกระทำเช่นเดียวกัน)นะฮะ

ข้อแรกเกี่ยวกับเรื่อง ประเด็นแม่(สุนีย์)พยายามปกป้องลูกหรือครอบงำกันแน่
คือตัวผมก็โดนนะ ตั้งแต่สมัยยังเด็ก
(มีรายละเอียดมากมาย เยอะเกินจะพิมพ์ตั้งแต่เด็กจนโต)
ที่แม่ผมรักและหวง(หรืออาจเรียกว่าความรักที่ต้องการเป็นเจ้าของเพียงผู้เดียว)
มากเกินกว่าเด็ก โดยเฉพาะเด็กผู้ชายทั่วไป


ปัจจุบันผมเป็น ผู้ชายที่ไม่ค่อยมีความเป็นชายสักเท่าไหร่ มีความเป็นผุ้หญิงซะเยอะ จากการเลี้ยงดูอย่างถนุถนอมสลับกับหวงเกินพอดีในบางครั้ง

เมื่อสมัยผมเป็นวัยรุ่น (ตอนนี้งอมแล้ว55+) ผมถึงขั้นแสวงหา
ความเป็นชาย(ยุคเก่า) จากเพลง หนังสือแฟชั่น ฯลฯ ที่แสดงถึงความเป็นชาย บางครั้งอย่างไร้เหตุผล เช่น เมื่อก่อนผมฟังแต่เพลงเมทัลร็อกหนักหน่วง และเกลียดเพลงรักโรแมนซ์ติกหวานซึ้ง ยิ่งโดยเฉพาะเพลงแดนซ์ หรืออิเล็กโทร ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มเพศชายไม่ร้อยเปอร์เซ็น
และยังมีอีกหลายกรณี เกินบรรยาย

แต่ตอนนี้ผมโตแล้วจึงยอมรับว่าเพศชายไม่จำเป็นต้องแมนหรือโหดขนาดนั้น 55+

ทำให้ผมมาดูหนังเรื่องนี้(ทั้งที่รู้อยู่ก่อนแล้วว่าเป็นหนังเกี่ยวกับรักร่วมเพศ)
อย่างเข้าใจ และเห็นด้วย ที่คุณบอกว่า ตัวละครอย่างสุนีย์ไม่ใช่ตัวละครที่สมบูรณ์แบบ
ไม่ใช่แม่ที่แสนดีเลศ ตรงกันข้ามผมกับรู้สึกสะเทือนใจไปกับเรื่องราวของหนังอย่างมาก
(ก็มันโดนตัวผมนี่นา)


ส่วนอีกข้อที่ผมเห็นด้วยแต่ขอเพิ่มเติมคือ

ในตอนจบนั้น โต้งเลือกที่จะยอมทำให้แม่สบายใจ
ผมมองในแง่ดีมากกว่านะฮะ คือ สมมุติตามที่คุณ Riverdale บอก คือถ้ามิวเป็นเด็กสาวยากจน หนังก็บมีสิทธิ์ที่จะจบแบบเดิมได้ คือ การที่โต้งยอมแม่ (ใช้เหตุผล) มากกว่าคบกับมิว(ใช้อารมณ์รัก)
ซึ่งต่อให้มิวเป็นเด็กสาวยากจน หนังก็จะจบคล้ายกัน
ถ้าใช้เหตุผล (ของทั้งสังคมและความรักแม่)

ส่วนตัวหลังจากหนังจบผมว่า โต้งน่าจะไม่ยอมแม่ชัว
คือลักษณะของการยอมไปก่อน คืออธิบายง่ายๆว่า
ผมว่าโตขึ้นโต้งต้อง มีแฟนเป็นผู้ชายชัวป้าด
อาจจะแอบคบไม่ให้แม่เห็น ไม่ใช่เพราะว่าไม่ยอมรับตัวเอง
เพียงแต่คนที่เรารัก(แม่)อีกคน ไม่อาจยอมรับตัวเราได้
และเพื่อให้แม่สบายใจอาจจะรอให้แม่ตายก่อนแล้วค่อยแต่งงาน(ฮ่า)

พอดีผมเป็นคนดื้อเงียบหน่ะครับ :P
ทุกวันนี้แม่ก็ยังไม่ยอมรับที่ผมชอบเรียน+ทำงานไม่เหมือนคนอื่น
(ผมเรียนโฆษณามาคับ)




ปล. ผมเป็นคนนึงที่ดูฉากจูบกันระหว่างโต้งกับมิวแล้วไม่รู้สึกขยะแขยง
แต่แค่ไม่อินในการแสดงความรัก เท่ากับผู้ชมที่เป็นรักร่วมเพศ
อานะก็ผมชอบผู้หญิงหนิ ผมก็เลยสงสารน้องตาลมากกกกกกกก
ที่เธอโดนปฏิเสธ น่ารักขนาดนี้ ถ้ามาบอกชอบผม รับรองไม่เหลือหรอกครับ 555+


ปล.2ความเห็นที่สองอาจจะเพราะผมเปิดใจกว้างละมั้ง
เพราะว่าไม่อยากจะเป็นคนที่รักลูกมากเกินไปแบบตัวแม่ผมเองอะ
มันเซ็งที่ทุกวันนี้แม่ผมยังจิกผม ว่า เมื่อไหร่จะทำงานที่เข้าแปดโมงเลิกห้าโมง ละค่ะคุณลูก-_-"

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ที่เราเจ็บปวดเพราะเรากำลังแสวงหาการยอมรับจากคนอื่นอยู่ ซึ่งที่จริงแล้วหากเรายอมรับตัวเราเองได้เต็มที่แล้ว

การจะได้รับการยอมรับจากคนอื่นหรือไม่ก็ไม่สำคัญหรอกนะ