วันอังคาร, ธันวาคม 11, 2550

Oscar 2008: สงคราม ความรัก และฆาตกรโรคจิต


เมื่อเทศกาลหนัง “คุณภาพ” เริ่มโหมโรงขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง หลายคนคาดการณ์ว่า “อีรัก” จะกลายเป็นธีมยอดฮิตบนเวทีออสการ์ช่วงต้นปีหน้า แต่แล้วจู่ๆ หนังเหล่านั้นกลับถูกนักวิจารณ์สอยร่วงไปทีละเรื่อง เริ่มจากขาใหญ่อย่าง In the Valley of Elah ของ พอล แฮ็กกิส (Crash) ซึ่งแม้จะไม่ถึงกับแหลกละเอียดคาคีย์บอร์ดของเหล่านักวิจารณ์ทั้งหลายเหมือน Elizabeth: The Golden Age แต่มันก็ได้เสียงตอบรับค่อนข้างเย็นชาจากสื่อใหญ่ๆ หลายแห่ง จนส่งผลให้โอกาสเด่นชัดเพียงหนึ่งเดียวของหนังอยู่ตรงสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม เพราะกระทั่งบุคคลที่ชิงชังสไตล์การทำหนังแบบโฉ่งฉ่างของแฮ็กกิสก็ยังอดไม่ได้ที่จะชื่นชมทักษะอันเป็นเลิศของ ทอมมี่ ลี โจนส์ ในบทพ่อที่พยายามสืบหาความจริงเบื้องหลังการหายตัวไปของลูกชายหลังกลับจากอีรัก

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า Crash เคยได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างก้ำกึ่งเช่นกัน ประเภทชอบก็ชอบ เกลียดก็เกลียด แต่สุดท้ายแล้ว มันกลับคว้ารางวัลใหญ่บนเวทีออสการ์มาครอง ถือเป็นการตบหน้าเหล่านักวิจารณ์ฉาดใหญ่ที่พากันสรรเสริญ Brokeback Mountain อย่างเป็นเอกฉันท์ บทเรียนครั้งนั้นสอนให้พวกเรารู้ว่า กรรมการออสการ์เลือกโหวตตามใจฉันโดยไม่สนใจเสียงรอบข้าง และอย่าประมาทพลังดึงดูดของ พอล แฮ็กกิส ซึ่งกำลังอยู่ในสถานะ “ลูกรัก” บนเวทีออสการ์อย่างเด็ดขาด

Rendition ของผู้กำกับ เกวิน ฮูด (Tsotsi) มีพล็อตใกล้เคียงกับ In the Valley of Elah แต่ดูจะประสบชะตากรรมที่เลวร้ายกว่า แม้ว่ามันจะอัดแน่นไปด้วยพลังดาราของ รีส วิทเธอร์สพูน, เจค จิลเลนฮาล และ เมอรีล สตรีพ ก็ตาม หนังเล่าถึงการ “หายตัว” อย่างปริศนาของวิศวกรเคมีชาวอียิปต์ ซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยในข้อหาก่อการร้าย ส่งผลให้ภรรยาชาวอเมริกันของเขาต้องออกสืบหาความจริง นักวิจารณ์หลายคนโจมตีหนังว่าน่าเบื่อ ไร้ชีวิตชีวา นอกจากนี้ วิทเธอร์สพูนยังโดนศอกกลับไปเต็มๆ เนื่องจากเธอรับบทคล้ายคลึงกับ แองเจลินา โจลี ใน A Mighty Heart แต่กลับดูไม่น่าเชื่อถือหรือทรงพลังเท่า ทั้งที่พวกเธอต่างมีเครดิตเคยได้รางวัลออสการ์มาแล้วทั้งคู่

อีกเรื่องยังไม่เปิดฉายวงกว้าง แต่คำวิจารณ์ที่หลุดออกมาจากเทศกาลหนังต่างๆ ดูไม่ค่อยเลิศหรูเท่าไหร่ นั่นคือ Redacted ของ ไบรอัน เดอ พัลมา ซึ่งเล่าถึงการข่มขืนและสังหารเด็กหญิงชาวอีรักวัย 15 ปีของทหารอเมริกันกลุ่มหนึ่ง (ดัดแปลงจากเหตุการณ์จริงเมื่อปี 2006) หรือพูดอีกอย่าง มันคือ Casualties of War ภาคสงครามอีรักและถ่ายทำด้วยกล้องดิจิตอล

บางที Lion for Lambs ของ โรเบิร์ต เรดฟอร์ด อาจสามารถจัดให้เข้ากลุ่มเดียวกันได้ โดยเปลี่ยนฉากหลังจากอีรักเป็นอัฟกานิสถาน และถึงแม้ว่ามันจะเป็นผลงานกำกับเรื่องแรกในรอบ 7 ปีของเรดฟอร์ด แต่เหล่านักวิจารณ์กลับไม่คิดเกรงใจเขาเท่าไหร่ (บางทีพวกเขาอาจยังเจ็บแค้นไม่หายกับผลงานเรื่องก่อนหน้าของเรดฟอร์ดอย่าง The Legend of Bagger Vance) เช่นเดียวกับคนดู ซึ่งพากันวิ่งหนีไปดูหนังเรื่องอื่นกันหมด ส่งผลให้รายได้ของหนังในช่วงสัปดาห์แรกจิ๊บจ้อยจนน่าตกใจ ดูเหมือนในช่วงสองสามปีหลัง ชื่อของ ทอม ครูซ จะไม่ขลังเหมือนก่อน คิดแล้วก็ชักน่าเป็นห่วงหนังฟอร์มยักษ์ปีหน้าของ ไบรอัน ซิงเกอร์ อย่าง Valkylie

ทันใดนั้น ภายในเวลาเพียงแค่สองเดือน แนวโน้มว่าออสการ์ 2008 จะถูกครอบครองโดยหนังการเมืองกลับกลายเป็นความเพ้อพก กระนั้นอย่าลืมว่าเรายังอยู่ในเดือนพฤศจิกายนเท่านั้น ทุกอย่างมีสิทธิ์จะเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ลูกแก้วทำนายจะเริ่มบอกใบ้อนาคตได้ชัดเจนขึ้น เมื่อนักวิจารณ์ คณะกรรมการลูกโลกทองคำ และสมาชิกสมาพันธ์ต่างๆ ทยอยกันประกาศความชอบของตน

ใครวิ่งนำในช่วงโค้งแรก


ทันทีที่เทศกาลภาพยนตร์โตรอนโตจบลง มือวางอันดับหนึ่งบนเวทีออสการ์ก็ปรากฏตัวขึ้น Atonement เป็นผลงานชิ้นล่าสุดของผู้กำกับหนุ่มวัย 35 ปี โจ โรท์ (Pride & Prejudice) ดัดแปลงเรื่องราวจากนิยายดังของนักเขียนมือรางวัล เอียน แม็คอีวาน โดยนักเขียนบทเจ้าของรางวัลออสการ์ คริสโตเฟอร์ แฮมป์ตัน (Dangerous Liaisons) เล่าถึงคำโกหกของเด็กหญิงคนหนึ่งที่ทำลายชีวิตของหลายคน เมื่อเธอกล่าวหาคนรักของพี่สาวว่าประกอบอาชญากรรมที่เขาไม่ได้ก่อ หนังมีรูปแบบของมหากาพย์รักโรแมนติก ซึ่ง “เข้าทาง” ออสการ์อย่างแรงในสไตล์เดียวกับ The English Patient และกวาดเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ทั่วทุกแห่งหน จนบรรดาเซียนออสการ์ทั้งหลายคาดเดาว่ามันควรจะได้เข้าชิงออสการ์อย่างน้อย 9-10 สาขา ได้แก่ ภาพยนตร์ ผู้กำกับ บทดัดแปลง ดนตรีประกอบ นักแสดงนำชาย นักแสดงนำหญิง นักแสดงสมทบหญิง กำกับภาพ กำกับศิลป์ ออกแบบเครื่องแต่งกาย และลำดับภาพ

แต่ในกระจุกนี้ สาขาที่เปราะบางสุดเห็นจะเป็นสาขานักแสดงนำหญิงของ คีรา ไนท์ลีย์ ไม่ใช่เพราะเธอเล่นไม่ดี (อันที่จริงหลายคนชมว่าเธอเล่นดีกว่าตอนเข้าชิงจาก Pride & Prejudice เสียอีก) แต่เพราะบทเธอค่อนข้างน้อย และไม่โดดเด่น ซับซ้อน มากเท่ากับ เจมส์ แม็คเอวอย ซึ่งเป็นตัวเก็งในสาขาดารานำชาย หรือกระทั่งดาวรุ่งวัยทีนอย่าง ซาเรส โรแนน (ล่าสุดกำลังร่วมงานกับ ปีเตอร์ แจ็คสัน ในหนังเรื่อง The Lovely Bones) ซึ่งเป็นตัวเก็งในสาขาดาราสมทบหญิง นอกจากนี้ บทน้องสาวจากนรกของโรแนนยังสืบทอดต่อไปยังนักแสดงรุ่นพี่ (ราโมนา กาไร) และรุ่นป้า (วาเนสซ่า เรดเกรฟ) ได้อย่างนุ่มนวล (เสียงร่ำลือแว่วมาว่า ถึงแม้จะปรากฏตัวบนจอเพียงไม่กี่นาที แต่นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์จาก Julia เมื่อเกือบสามสิบปีก่อนก็ขโมยซีนไปครองชนิดคนดูต้องลืมไม่ลง)

เนื่องจากการแข่งขันที่ไม่ค่อยดุเดือดในสาขานักแสดงนำหญิง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับสาขานำชาย) คีรา ไนท์ลีย์ จึงยังมีโอกาสหลุดเข้าชิงค่อนข้างสูง หากกรรมการชื่นชอบ Atonement อย่างรุนแรงจนเธอสามารถโหนกระแสเข้าชิงได้ การมีส่วนร่วมในผลงานที่เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมย่อมช่วยให้เธอมีภาษีเหนือ เคท บลันเช็ตต์ ซึ่งรับบทซ้ำเดิมในหนังที่โดนนักวิจารณ์สับเละเป็นหมูบะช่อ และ แองเจลินา โจลี ซึ่งกวาดคำชมจากหนังที่ล้มเหลวทางการตลาดอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าบทของเธอจะไม่โดดเด่นมากเท่าสองคนหลัง ที่อุ้มหนังทั้งเรื่องไว้บนบ่า ก็ตาม

ถ้า Atonement เป็นตัวแทนของหนังเข้าทางออสการ์ No Country for Old Men ก็น่าจะเป็นตัวแทนของหนังขวัญใจนักวิจารณ์ แต่สุดท้ายมันจะลงเอยแบบ Brokeback Mountain หรือ United 93 คงต้องจับตาดูกันต่อไป ถ้าหนังกวาดรางวัลนักวิจารณ์ใหญ่ๆ มาครอง (NY, LA หรือ National Society of Film Critics) โอกาสของมันก็จะเพิ่มสูงขึ้น ที่สำคัญ โจเอล และ อีธาน โคน ไม่ใช่ พอล กรีนกราส พวกเขาเป็นนักทำหนังอเมริกันที่อยู่ในวงการมายาวนาน ได้รับการเคารพยกย่อง แม้หนังของพวกเขามักไม่ค่อยตรงกับรสนิยมของคณะกรรมการออสการ์ แต่ Fargo ก็เคยเข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาแล้ว

No Country for Old Men เล่าถึงเรื่องราวของชายสามคน คนหนึ่งเป็นชนชั้นล่าง ฐานะยากจน ที่ไปพบเจอกระเป๋าใส่เงิน (จากการค้ายาเสพติด) จำนวนสองล้านดอลลาร์กลางทะเลทรายระหว่างการล่าสัตว์ แล้วพยายามจะยึดครองเงินนั้น คนหนึ่งเป็นฆาตกรใจเหี้ยมที่กำลังตามหากระเป๋าใบดังกล่าว ส่วนอีกคนเป็นนายอำเภอที่พยายามตามจับชายคนที่สองเพื่อหยุดยั้งการฆ่าอันไม่สิ้นสุด ปัญหาของหนัง (มองในเชิงโอกาสบนเวทีออสการ์) อยู่ตรงโทนอารมณ์โดยรวมที่ค่อนข้างเลือดเย็น รุนแรง และไม่เจืออารมณ์ขัน (ร้ายๆ) ไว้มากเท่ากับ Fargo โดย เจฟฟรีย์ เวลส์ แห่งเว็บ Hollywood Elsewhere ได้สรุปเนื้อหามืดหม่นของหนัง (ซึ่งมีฉากหลังเป็นยุค 1980 แต่กลับสะท้อนให้เห็นภาวะแห่งโลกปัจจุบันได้อย่างยอดเยี่ยม) ไว้สี่ข้อ คือ 1) คุณไม่มีทางมองเห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้น 2) คุณไม่สามารถหยุดยั้งสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ 3) คนดีกำลังร่อยหรอ ส่วนคนเลวกำลังเพิ่มจำนวนขึ้น และ 4) วันพิพากษาทางจิตวิญญาณกำลังรอคอยเราอยู่เบื้องหน้าดุจเมฆดำทะมึน

ไม่ต้องสงสัยว่ากรรมการออสการ์ย่อมรู้สึก “อึดอัด” กับสิ่งที่หนังนำเสนอ แม้พวกเขาจะยกย่องและเคารพทักษะภาพยนตร์อันเป็นเลิศของสองพี่น้องโคน (อย่าลืมว่าสุดท้ายแล้วกรรมการมักจะโหวตเลือกหนังที่พวกเขา “รัก” มากกว่าหนังที่พวกเขา “ชื่นชม” กรณีตัวอย่าง คือ Brokeback Mountain vs. Crash) ที่สำคัญ บางคนเริ่มจี้จุดอ่อนไปยังตอนจบอันคลุมเครือของหนัง ซึ่งอาจสร้างความรู้สึกทะแม่งๆ สับสน และงุนงงให้กรรมการออสการ์หลายคน อย่างไรก็ตาม สาขาที่หลายคนเห็นตรงกันว่าต้องได้เข้าชิงแน่ และดีไม่ดีอาจคว้าชัยมาครองเลยด้วยซ้ำ คือ นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม เพราะ ฮาเวียร์ บาเด็ม ในบทฆาตกรโรคจิต ซึ่งมีวิธีฆ่าสุดพิสดารและโหดเหี้ยมเกินบรรยาย สามารถทำให้คนดูกลับไปนอนฝันร้ายได้แบบเดียวกับ แอนโทนีย์ ฮ็อปกิ้นส์ ใน The Silence of the Lambs นั่นเลย

หนังสองเรื่องที่ยังไม่มีใครได้ดู


ในช่วงโค้งแรก นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ดูจะให้คะแนน Charlie Wilson’s War ของ ไมค์ นิโคลส์ เหนือกว่า Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street ของ ทิม เบอร์ตัน เนื่องจาก 1) มันเต็มไปด้วยพลังดารา ทั้ง ทอม แฮงค์, จูเลีย โรเบิร์ตส์ และ ฟิลิป ซีย์มัวร์ ฮอฟฟ์แมน ซึ่งต่างก็เคยชนะรางวัลออสการ์มาแล้วทั้งนั้น แต่จากข่าวลือที่หลุดรอดมา ดูเหมือนคนหลังสุดจะมีโอกาสเข้าชิงค่อนข้างแน่ในสาขานักแสดงสมทบ 2) สถิติที่ผ่านมาของนิโคลส์ ซึ่งเคยชิงออสการ์สาขาผู้กำกับ 4 ครั้ง ชนะ 1 ครั้งจาก The Graduate และพาหนังเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสามครั้งจาก Who’s Afraid of Virginia Woolf?, The Graduate และ Working Girl ส่วน ทิม เบอร์ตัน นั้นไม่เคยเข้าชิงออสการ์สาขาผู้กำกับ และหนังของเขาก็ไม่เคยเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม 3) แนวทางของหนังซึ่งน่าจะถูกโฉลกกับออสการ์มากกว่า

หลังจากบรรดาหนังการเมืองเกี่ยวกับอีรักและสงครามต่อต้านการก่อการร้ายถูกนักวิจารณ์ (รวมถึงคนดู) ปัดทิ้งอย่างไม่ใยดีเหมือนใบไม้ร่วง Charlie Wilson’s War กลับกลายเป็นตัวเลือกสุดท้ายสำหรับคณะกรรมการออสการ์ โดยความแตกต่างสำคัญอยู่ตรงที่ผู้กำกับ ไมค์ นิโคลส์ และคนเขียนบท แอรอน ซอร์กิน แห่ง The West Wing พยายามสอดแทรกอารมณ์ขันล้อเลียนเอาไว้ในแทบทุกจังหวะ (สังเกตจากโทนอารมณ์ในหนังตัวอย่าง) ส่งผลให้มันก้าวเข้าใกล้ Wag the Dog มากกว่า Syriana หนังดัดแปลงมาจากเรื่องจริงของ ชาร์ลี วิลสัน อดีตสมาชิกรัฐสภาจากเท็กซัส ที่เคยใช้อำนาจเพื่อหาเงินและติดอาวุธให้กับกลุ่มกองโจรมูจาฮิดีนในอัฟกานิสถานเพื่อต่อสู้กับการรุกรานของกองทัพรัสเซียเมื่อปี 1979 โดยได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ซีไอเอและสาวไฮโซจากฮุสตัน แต่เขาหารู้ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลกระทบอันคาดไม่ถึงต่ออนาคตและอเมริกาในปัจจุบัน

การที่หนังยังปิดตัวเงียบ ไม่มีรอบพิเศษใดๆ เปิดฉายสำหรับนักวิจารณ์ส่งผลให้เซียนออสการ์ทั้งหลายยังคงสงวนท่าทีเกี่ยวกับโอกาสของหนังบนเวทีออสการ์ เพราะสุดท้ายแล้ว สถานะตัวเต็งอาจพังทลายลงอย่างรวดเร็วทันทีที่มีคนได้ดูตัวหนังแบบเดียวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Flags of Our Father เมื่อปีก่อน

หลังจาก Moulin Rouge! และ Chicago เมื่อหลายปีก่อน หนังเพลงดูเหมือนจะเริ่มถดถอยเข้าคลองตามเดิม ทั้งในแง่คุณภาพและความสำเร็จบนเวทีออสการ์ (The Phantom of the Opera, The Producer, Rent) ชะตากรรมล่าสุดที่เกิดกับ Dreamgirls เมื่อต้นปี ทำให้หลายคนเริ่มคิดทบทวนก่อนจะประกาศให้ Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street เป็นหนึ่งในตัวเก็งรางวัลออสการ์ ถึงแม้ว่ามันจะดัดแปลงมาจากละครบรอดเวย์ยอดฮิต ซึ่งเป็นผลงานการประพันธ์ของนักแต่งเพลงระดับตำนานอย่าง สตีเฟน ซอนด์ไฮม์ ก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากอารมณ์ขันและสไตล์การทำหนังของ ทิม เบอร์ตัน ดูเหมือนจะไม่ค่อยสอดคล้องกับรสนิยมของคณะกรรมการออสการ์สักเท่าไหร่

แล้วไหนจะบรรดาเลือดและความรุนแรงแบบไม่ยั้งอีกล่ะ

Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street เล่าถึงเรื่องราวของ เบนจามิน บาร์เกอร์ ช่างตัดผมที่ถูกลงโทษให้ติดคุกเป็นเวลาสิบห้าปีจากอาชญากรรมที่เขาไม่ได้ก่อ เขาหลบหนีออกจากคุกกลับมายังลอนดอน ก่อนจะค้นพบว่าภรรยาและลูกสาวต้องทนทุกข์ทรมานจากน้ำมือของคนที่ส่งเขาไปเข้าคุก ด้วยเหตุนี้ เขาจึงวางแผนแก้แค้น โดยได้รับความช่วยเหลือจาก คุณนาย เนลลี่ เลิฟเว็ทท์ อาวุธหลักที่เขาเลือกใช้ คือ ใบมีดโกน (สำหรับปาดคอเหยื่อ) จากนั้นคุณนายเลิฟเว็ทท์ก็จะนำซากศพไปทำเป็นพายเนื้อ!?!

ถึงแม้ตัวหนังและผู้กำกับจะยังดูน่ากังขา แต่หลายคนเริ่มทำนายโอกาสที่ค่อนข้างสูงของ จอห์นนี่ เด็บบ์ ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (ข่าวกระซิบจากผู้ที่ได้ชมเวอร์ชั่นแรกของหนังบอกว่ามันเป็นการแสดงที่ห้ามพลาดประจำปี) เนื่องจากบทอันโดดเด่นและความ “เป็นที่รัก” ของเด็บบ์ในหมู่เพื่อนๆ นักแสดง และหากหนังได้รับเสียงชื่นชมอย่างอบอุ่นจากนักวิจารณ์ บางที เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ ก็อาจได้อานิสงส์ เข้าชิงสาขานักแสดงนำหญิงกับเขาด้วย เมื่อพิจารณาว่าสาขาดังกล่าวค่อนข้างขาดแคลนการแข่งขันมากแค่ไหน

เกร็ดเก็บตก

(1) เส้นทางสู่ออสการ์ของหนังทำแท้งจากโรมาเนียเจ้าของรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเมืองคานส์เรื่อง 4 Months, 3 Weeks and 2 Days ดูท่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อคู่แข่งเขี้ยวลากดินอย่าง Lust, Caution เจ้าของรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเมืองเวนิซ ถูกตัดสิทธิ์จากกรรมการออสการ์ด้วยเหตุผลว่ามัน “ไต้หวัน” ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ประเทศต้นสังกัดต้องรีบเปลี่ยนไปเสนอเรื่อง Island Etude เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมแทน คำตัดสินดังกล่าวสร้างความฉงน (ปนเคียดแค้นเล็กๆ) ให้กับ เจมส์ ชามุส โปรดิวเซอร์คู่ใจของ อั้งลี่ โดยเขาได้ให้สัมภาษณ์กับ ฮอลลีวู้ด รีพอร์ตเตอร์ ว่า “ช่วยอธิบายหน่อยว่า Lust, Caution ถูกตัดสิทธิ์ได้อย่างไร ขณะที่ Crouching Tiger, Hidden Dragon ไม่เพียงถูกเลือกให้เข้าชิงเท่านั้น แต่ยังชนะรางวัลในสาขานี้ด้วย เราถ่ายทำหนังทั้งสองเรื่องในประเทศจีนด้วยทีมงานเกือบจะทีมเดียวกัน มันเป็นคำตัดสินที่ไร้สาระสิ้นดี”

(2) ตรงกันข้าม ภาพยนตร์ motion capture (หรือเทคนิคที่หลายคนรู้จักกันในนาม “เดอะ กอลลัม เอฟเฟ็กต์”) อย่าง Beowulf ของ โรเบิร์ต เซเมคิส กลับถูกพิจารณาจากคณะกรรมการออสการ์ให้เป็นหนึ่งใน 12 หนัง “การ์ตูน” ที่มีสิทธิ์เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์การ์ตูนยอดเยี่ยม คำตัดสินดังกล่าวดูเหมือนจะเรียกเสียงตอบรับที่ไม่ค่อยเป็นมิตรจาก จอห์น ลาสเซเตอร์ หัวแรงหลักของพิกซาร์และโปรดิวเซอร์ Ratatouille ซึ่งเป็นตัวเก็งอันดับหนึ่งในสาขานี้ อย่างไรก็ตาม คำตัดสินดังกล่าวส่งผลให้การแข่งขันเริ่มดุเดือดเลือดพล่านขึ้น เนื่องจาก Beowulf, The Simpsons Movie และ Persepolis จะต้องหันมาแย่งชิงเก้าอี้ว่างที่เหลืออยู่อีกแค่สองตัวเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า Beowulf จะประสบความสำเร็จทางรายได้และคำวิจารณ์แบบท่วมท้นเมื่อเปิดฉายวงกว้าง แต่หนังทำนองเดียวกันอย่าง The Polar Express ของเซเมคิสก็เคยถูกออสการ์เชิดใส่มาแล้ว ส่วน Persepolis ซึ่งเป็นตัวแทนขวัญใจนักวิจารณ์แบบเดียวกับ Spirited Away และ The Triplets of Belleville ก็อาจถูกลืมเหมือน Waking Life ของ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ ขณะเดียวกัน กรรมการหลายคนก็อาจเลือก The Simpsons Movie ให้เข้าชิงไม่ใช่เพราะคุณภาพในระดับ “เกือบดี” ของมัน แต่เพราะพวกเขาชื่นชอบและชื่นชมซีรีย์แห่งประวัติศาสตร์ชุดนี้มาช้านานแล้ว... ดูเหมือนความเป็นไปได้สูงสุดในตอนนี้ คือ หนังหัวก้าวหน้าของ โรเบิร์ต เซเมคิส ซึ่งเจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์ยืนกรานชัดเจนว่าไม่ใช่หนัง “การ์ตูน” อาจโดนเขี่ยทิ้งไปแบบฉิวเฉียด

(3) ถึงแม้เรตติ้งจะตกต่ำ ถึงแม้เสียงตอบรับจะค่อนข้างก้ำกึ่ง (เอนเอียงไปในทางลบด้วยซ้ำ) แต่ทีมงานเบื้องหลังพิธีแจกรางวัลออสการ์ก็ยังไม่เข็ดกับ จอน สจ๊วต พิธีกรรายการ The Daily Show และได้เชิญเขาให้มาแก้ตัวใหม่อีกครั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2008 หลังจากเขาเคยดำเนินงานออสการ์มาแล้วในปี 2006 ซึ่งแก๊กเด็ดสุดคงหนีไม่พ้นการตัดภาพล้อเลียนหนังเกย์คาวบอยอย่าง Brokeback Mountain หนึ่งในผู้เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากผลการสำรวจในอเมริกาปรากฏว่าสจ๊วตสามารถดึงดูดคนดูให้เปิดชมรายการได้เพียง 38.9 ล้านคนเท่านั้น น้อยกว่างานครั้งที่ผ่านมา ซึ่ง เอลเลน ดีเจเนอเรส เป็นพิธีกร (เรตติ้ง 39.9) และงานในปี 2005 ซึ่งมี คริส ร็อค เป็นพิธีกร (42.1) ส่วนพิธีกรที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของงานออสการ์อย่าง บิลลี่ คริสตัล (รับหน้าที่มาแล้วทั้งหมด 8 ครั้ง) เคยดึงดูดผู้ชมได้มากถึง 55 ล้านคน เมื่อเขาเป็นจัดงานในปี 1998 ปีที่หนังมหาฮิตอย่าง Titanic คว้ารางวัลใหญ่ไปครอง

8 ความคิดเห็น:

Nongmodkit กล่าวว่า...

เงิ่บ...เงิ่บ...

มาลงชื่อก่อนเป็นแรกง่า...

ดีใจจังเยยยยยย...อุอุ...

รออ่านมานานแย้วอ่ะ ถึงจะยังไม่ได้อ่านละเอียด...

แต่ก็อยากอ่านตอนต่อไป...

ด้วยความระทึกในดวงหทัยพลัน...

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ยาวมาก ยังอ่านไม่จบ
แต่จะบอกว่า Elizabeth: The golden age นี่ เห็นตรงข้ามกับนักวิจารณ์อย่างมาก

ได้ความรู้สึกคล้ายตอนดู Kate ในภาคแรก
ส่วนคนอื่นก็เล่นได้ดีมาก
อาจมีปัญหาเรื่องการตัดต่อที่ทำให้อารมณ์ขาดหาย แต่ชอบมาก ๆ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ทำไมปีนี้ดูซบเซาไงก็ไม่รู้อ่ะคับ ไม่ค่อยมีหนังอยากดูเท่าไหร่เลยสำหรับออสการ์น่ะ(หรือจะเป็นเพราะ มันอยู่ในช่วง"แรก"หว่า)

จะว่าไป อยากดู เด๊ปป์ กะ คนดีไม่มีที่อยู่อ่ะ
ฆาตกรทั้งคู่ แหะ แหะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

กรุณาอัพเดทตอน ๒ ด่วนเรย อ่านตอนแรกจบแล้วง่ะ

กำลังอินสุดๆ อยากรู้ข้อมูลก่อนใคร

เชียร์ เจมส์ แม็คอะวอย สุดชีวิตเรยปีนี้!!!

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

No Country For Old Men
เป็น"ภาพยนตร์"ที่ดีมาก ผู้กำกับทักษะสูง
แต่ผมว่ามันก็หยุดอยู่ที่แค่การเป็น"ภาพยนตร์"จริงๆ
ดูแล้วผมก็ชอบ แต่ผมตะขิดตะขวงที่ให้ภาพยนตร์ยอมเยี่ยม

ถึงยังไงออสการ์ก็ชอบขัดใจผมอยู่แล้ว

Riverdale กล่าวว่า...

น่าอิจฉาน้อง boat ที่ได้ดูหนังเรื่อง No Country for Old Men แล้ว พวกเราในเมืองไทยคงต้องร้องเพลงรอกันต่อไป

จริงๆ นอกจาก Fargo แล้ว พี่ก็ไม่ค่อยถูกใจเรื่องไหนของสองพี่น้องโคนมากเป็นพิเศษ ไม่ค่อยได้ดูผลงานยุคแรกๆ ของเขาอย่าง Blood Simple และ Miller's Crossing ชอบ Raising Arizona และ The Hudsucker Proxy (Barton Fink ก็เพี้ยนดี) แต่ปีนี้เชียร์ให้พวกเขาได้ออสการ์นะ ไม่รู้จะเชียร์ใคร ได้ดูแค่ Atonement เรื่องเดียว ชอบเหมือนกัน แต่ไม่ได้ชอบสุดๆ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อ่านสนุกมากครับ
อยากดู No Country For Old Men ไม่รู้จะได้ดูเมื่อไหร่

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ