วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 11, 2551

ออสการ์ 2008: ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน


หลังจากบรรดารางวัลสมาพันธ์ทั้งหลายพากันตอกประตูปิดฝาโลงให้กับ Atonement อย่างพร้อมเพรียงกัน แต่สุดท้ายผลงานพีเรียดโรแมนติกจากเกาะอังกฤษที่ก่อนหน้านี้ถูกวางให้เป็น “ตัวเก็ง” ลำดับต้นๆ ในการคว้ารางวัลออสการ์กลับค่อยๆ คืบคลานขึ้นจากหลุมศพในเช้าวันที่ 22 มกราคมจนหลุดเข้ามาเป็นหนึ่งในห้าภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้สำเร็จแบบเส้นยาแดงผ่าแปด (เหมือนกับ Elizabeth และ Letters from Iwo Jima หนังอีกสองเรื่องที่เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมโดยไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลของสมาพันธ์ใหญ่ๆ ที่ใดเลย) แต่สภาพของมันก็ไม่ต่างจากผีดิบในหนังสยองขวัญสักเท่าไหร่ นั่นคือ เคลื่อนไหวได้ แต่ไร้ชีวิต เนื่องจาก โจ ไรท์ ถูกมองข้ามในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม และโดนแทนที่โดย จูเลียน ชนาเบล (The Diving Bell and the Butterfly) ซึ่งเพิ่งจะพลิกเอาชนะ โจเอล และ อีธาน โคน จาก No Country for Old Men และ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน จาก There Will Be Blood บนเวทีลูกโลกทองคำไปแบบเหนือความคาดหมาย

หนึ่งในสถิติที่ทราบกันดี คือ หนังจะมีโอกาสคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมน้อยมาก หากมันไม่ได้เข้าชิงในสาขาผู้กำกับควบด้วย ตามประวัติศาสตร์แล้ว มีภาพยนตร์เพียงสามเรื่องเท่านั้นที่ทำได้สำเร็จ นั่นคือ Wings (1929), Grand Hotel (1931/2) และ Driving Miss Daisy (1989) ด้วยเหตุนี้เอง ทีมโปรดิวเซอร์ของ Atonement คงทำได้แค่นั่งยิ้มและปรบมือให้ผู้ชนะในคืนวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เพราะโอกาสที่พวกเขาจะก้าวขึ้นไปยืนบนเวทีนั้นถือว่าต่ำเตี้ยติดดินกว่าหนังอื่นๆ อีกสี่เรื่อง

อันที่จริง การที่หนังสามารถเบียดคู่แข่งสำคัญอย่าง Into the Wild และ The Diving Bell and the Butterfly จนหลุดเข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้นั้นก็แทบจะถือเป็นความสำเร็จสูงสุดแล้ว สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากแรงสนับสนุนของบรรดาสมาชิกในสาขาย่อยๆ เช่น กำกับภาพ กำกับศิลป์ และดนตรีประกอบ ซึ่งชื่นชอบสโคปและความประณีตทางด้านงานสร้างของหนัง รวมทั้งมันยังเป็นผลงานที่ “เข้าทาง” ออสการ์อีกด้วย

จะว่าไปแล้ว ความสำเร็จของ Atonement คงทำให้คณะกรรมการลูกโลกทองคำสามารถหายใจได้โล่งคอขึ้น เพราะหากทั้ง Atonement และ Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street พลาดการเข้าชิงออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม มันจะถือเป็นครั้งแรกนับจากปี 1956 ที่ผู้ชนะลูกโลกทองคำทั้งสองเรื่องตกแบบสำรวจออสการ์ (ในปีนั้น East of Eden ได้ลูกโลกทองคำสาขาหนังดราม่า ส่วน Guys and Dolls คว้าชัยในสาขาหนังเพลง/ตลก แต่รายชื่อหนังออสการ์ห้าเรื่องสุดท้ายกลับประกอบไปด้วย Marty, Love Is a Many-Splendored Thing, Mister Roberts, Picnic และ The Rose Tattoo)

ในทางกลับกัน สมาพันธ์นักแสดงแห่งอเมริกา (SAG) ก็เริ่มดำดิ่งสู่ภาวะล่มสลายทางเครดิต เมื่อรายชื่อหนังในสาขานักแสดงกลุ่มยอดเยี่ยม (เทียบเท่ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม) ของพวกเขาสอดคล้องกับรางวัลออสการ์เพียงหนึ่งเรื่องเท่านั้น คือ No Country for Old Men (อีกสี่ ได้แก่ Hairspray, 3:10 to Yuma, American Gangster และ Into the Wild) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกัน รายชื่อผู้เข้าชิงของสมาพันธ์ผู้กำกับ (DGA) ที่มักจะตรงกับรายชื่อหนังยอดเยี่ยมของออสการ์ ก็พลาดเป้าไปถึงสองเรื่อง ทั้งที่ปกติแล้วพวกเขาจะไม่พลาด หรือพลาดแค่หนึ่ง (DGA เลือก The Diving Bell and the Butterfly กับ Into the Wild แทน Juno กับ Atonement) โดยปีล่าสุดที่เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น คือ ปี 2002 เมื่อ DGA เลือก ริดลีย์ สก็อตต์ จาก Black Hawk Down และ คริสโตเฟอร์ โนแลน จาก Memento แต่ออสการ์หนังยอดเยี่ยมกลับเลือก In the Bedroom และ Gosford Park

บทเรียนครั้งนี้สอนให้รู้ว่าบางทีเราอาจให้เครดิตกับรางวัลของสมาพันธ์ต่างๆ มากเกินไปในฐานะโพยสำหรับกะเก็งรางวัลออสการ์ ดังจะเห็นได้จากหายนะที่เกิดแก่เหล่าขวัญใจสมาพันธ์ต่างๆ ในอดีตอย่าง Almost Famous, Dreamgirls และล่าสุด คือ Into the Wild

อาการตกรถด่วนขบวนสุดท้ายในสาขาภาพยนตร์และผู้กำกับยอดเยี่ยมของ Into the Wild อาจไม่ชวนช็อกมากเท่า Dreamgirls ซึ่งเข้าชิงรางวัลของสมาพันธ์ใหญ่ๆ แบบครบถ้วน “รวมถึง” ลูกโลกทองคำ (ส่วนหนังของ ฌอน เพนน์ นั้นถูกสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศและสมาพันธ์ผู้อำนวยการสร้างPGAเชิดใส่) ทว่าการที่มันได้เข้าชิงออสการ์เพียงสองสาขา (สมทบชายและลำดับภาพ) เท่านั้นก็ยังถือเป็นความน่าผิดหวังครั้งยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ เอ็ดดี้ เวดเดอร์ เจ้าของลูกโลกทองคำจากเพลง Guaranteed หลุดโผแบบชวนพิศวงท่ามกลางกระแส “คลั่ง” อลัน เมนเกน และ สตีเฟ่น ชวาร์ทซ์ (พวกเขาเคยคว้ารางวัลเพลงประกอบร่วมกันมาแล้วจาก Pocahontas) ของกรรมการออสการ์ ที่เสนอเพลงจากหนังฮิต Enchanted ให้เข้าชิงถึง 3 เพลงด้วยกัน

อีกคนที่กรรมการออสการ์คลั่งไคล้ไม่แพ้กัน คือ เคท บลันเช็ตต์ ซึ่งถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสองสาขาจากหนังสองเรื่อง บทบาทของเธอใน I’m Not There กวาดคำชมอย่างเป็นเอกฉันท์ ส่งผลให้เธอกลายเป็นเต็งหนึ่งประจำสาขานักแสดงสมทบหญิง (แม้ว่าจะมีเต็งสองอย่าง เอมี่ ไรอัน ซึ่งโกยรางวัลนักวิจารณ์มาประมาณสองกระบุง หายใจรดต้นคออยู่) และหากบลันเช็ตต์เก็บชัยชนะได้สำเร็จ เธอก็จะเจริญรอยตาม ลินดา ฮันท์ (The Year of Living Dangerously) ในการคว้ารางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากการรับบทเป็นผู้ชาย

คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าบลันเช็ตต์ได้เข้าชิงจาก I’m Not There เพราะฝีมือ แต่ได้เข้าชิงจาก Elizabeth: The Golden Age เพราะบารมี เนื่องจากหนังเรื่องหลังนอกจากจะถูกยำใหญ่จากเหล่านักวิจารณ์และล้มเหลวบนตารางหนังทำเงินแล้ว การแสดงของเธอยังถูกบางคนดูแคลนว่า “คนละระดับ” กับภาคแรก (ส่วนหนึ่งคงต้องโทษบทภาพยนตร์) แต่โชคดีตรงที่หนังของคู่แข่งคนสำคัญอย่าง แองเจลิน่า โจลี่ เรื่อง A Mighty Heart ก็เจ๊งไม่เป็นท่า ที่สำคัญ งานแสดงของโจลี่ยังค่อนข้างลุ่มลึก เรียบนิ่ง ไม่ใหญ่โตและเรียกร้องความสนใจมากเท่าบลันเช็ตต์ และนั่นคงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชื่อเธอโดนคัดออกในนาทีสุดท้าย แม้จะหลุดเข้าชิงลูกโลกทองคำและ SAG ได้ครบถ้วน

นอกจากนี้ การได้เข้าชิงออสการ์จากบทพระราชินีอลิซาเบ็ธที่หนึ่งอีกครั้งหลังจาก Elizabeth เมื่อเก้าปีก่อน ยังทำให้บลันเช็ตต์ถูกจัดเข้ากลุ่มกับ บิง ครอสบี้ (Going My Way กับ The Bells of St. Mary’s) พอล นิวแมน (The Hustler กับ The Color of Money) อัล ปาชิโน (The Godfather กับ The Godfather: Part II) และ ปีเตอร์ โอ’ ทูล (Becket กับ The Lion in Winter) ในฐานะนักแสดงที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สองครั้งจากบทเดียวกัน

ภาพรวมของออสการ์ในปีนี้ถือว่าเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และอะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ตั้งแต่ข่าวการตายแบบกะทันหันของ ฮีธ เลดเจอร์ (เกี่ยวกันมั้ย?) ไปจนถึงการประท้วงอย่างยืดเยื้อของสมาพันธ์นักเขียน ซึ่งหากยังหาข้อสรุปไม่ได้ ออสการ์ปีนี้คงกร่อยไม่แพ้งานลูกโลกทองคำ เนื่องจากเหล่านักแสดงส่วนใหญ่ล้วนประกาศจุดยืนชัดเจนว่าพวกเขาสนับสนุนนักเขียนและจะไม่ไปร่วมงาน หากยังมีการประท้วงอยู่ในตอนนั้น

ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนยังรวมไปถึงผลรางวัล ซึ่งสามารถพลิกผันได้เสมอจนเหล่าเซียนออสการ์เริ่มคาดเดาไปคนละทิศละทาง แน่นอน กลุ่มผู้นำยังปรากฏให้เห็น (พวกเขาได้แก่ No Country for Old Men, โจเอล และ อีธาน โคน, จูลี่ คริสตี้, เดเนียล เดย์-ลูว์อิส, ฮาเวียร์ บาเด็ม และเคท บลันเช็ตต์) แต่ระยะห่างของพวกเขากับคนอื่นๆ ดูเหมือนจะไม่มากนัก และอาจถูกแซงในช่วงโค้งสุดท้ายได้ ตัวอย่างเช่น สาขาภาพยนตร์และผู้กำกับยอดเยี่ยม ซึ่งทำท่าจะกลายเป็นสงครามสามเส้าระหว่าง No Country for Old Men, Juno และ There Will Be Blood เรื่องแรกได้เปรียบนิดหน่อยตรงเสียงสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์ของนักวิจารณ์ บารมีอันยาวนานของผู้กำกับ และความสมบูรณ์แบบตามแนวทาง (genre) ซึ่งถูกใจคนดูในระดับหนึ่ง (ล่าสุดมันกลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดของสองพี่น้องโคน โดยแซงหน้า O Brother, Where Art Thou? เจ้าของสถิติเดิม ไปแล้ว) แต่ช่วงหลังๆ หนังดูเหมือนจะเสียศูนย์ไปพอควร เมื่อพลาดท่าให้ Atonement บนเวทีลูกโลกทองคำและ There Will Be Blood บนเวทีใหญ่อย่าง National Society of Film Critics

ผลงานกำกับชิ้นล่าสุดของอัจฉริยะหนุ่ม พอล โธมัส แอนเดอร์สัน ได้เปรียบ No Country for Old Men อยู่บ้างตรงที่มันมีสโคปกว้างใหญ่ เต็มไปด้วยการทดลองแปลกใหม่ ความกล้าหาญ และทะเยอทะยาน แต่จุดอ่อนของหนังดูเหมือนจะเด่นชัดเช่นกัน ทั้งในส่วนของพัฒนาการตัวละคร ตอนจบที่ไม่ลงตัว และความน่าขยะแขยงของตัวละคร ซึ่งดึงคนดูให้ถอยห่างจากตัวหนัง

อย่างไรก็ดี ม้ามืดที่หลายคนคาดว่าอาจคว้าชิ้นปลามันไปครอง หาก No Country for Old Men กับ There Will Be Blood ตัดคะแนนกันเอง เนื่องจากพวกมันล้วนอัดแน่นไปด้วยพลังแห่งเพศชาย ความรุนแรง ความหดหู่ และความซับซ้อนยอดเยี่ยมในเชิงภาพยนตร์เหมือนๆ กัน คือ Juno ภาพยนตร์ที่เรียบง่ายในเรื่องราว การนำเสนอ แต่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน ความอบอุ่น ความน่ารักของตัวละคร และเป็นหนัง feel good อย่างแท้จริงเพียงเรื่องเดียวในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จริงอยู่ หลายคนอาจยก Little Miss Sunshine มาเปรียบเทียบให้เห็นว่า หนังเล็กๆ ไม่ว่าจะ “น่ารัก” เพียงใด ก็ไม่อาจดึงดูดให้กรรมการส่วนใหญ่ทำใจโหวตมันเป็นหนังยอดเยี่ยมประจำปีได้ แต่ Juno ถือไพ่เหนือ Little Miss Sunshine อยู่สองใบ ใบแรก คือ ผู้กำกับ เจสัน ไรท์แมน สามารถหลุดเข้าชิงออสการ์ชนิดสุดเซอร์ไพรซ์ ซึ่งนั่นหมายความว่าหนังได้รับแรงสนับสนุนมากกว่าที่หลายคนคาดคิด (ส่วนผู้กำกับสองผัวเมียของ Little Miss Sunshine พลาดท่าให้กับ พอล กรีนกราส จาก United 93) ใบที่สอง คือ หนังทำเงินได้มโหฬาร โดยขณะนี้กำลังวิ่งลิ่วสู่หลักร้อยล้านเหรียญในอเมริกาแล้ว (มันเป็นหนังทำเงินสูงสุดในบรรดาห้าเรื่อง เช่นเดียวกับ The Departed เมื่อปีก่อน) นั่นหมายความว่า Juno “เข้าถึง” คนกลุ่มใหญ่

สถิติในเชิงบวกของ Juno ได้แก่ การที่นักวิจารณ์ชื่อดัง โรเจอร์ อีเบิร์ต เลือกมันเป็นหนังอันดับหนึ่งประจำปี โดยหนังอันดับหนึ่งก่อนหน้านี้ของเขาได้แก่ Million Dollar Baby และ Crash (นอกจากนี้เขายังเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ทำนายว่าออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจะตกเป็นของ Crash) ส่วนสถิติในเชิงลบของ Juno อยู่ตรงที่มันพลาดการเข้าชิงสาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม เพราะตามประวัติศาสตร์แล้ว มีหนังเพียง 9 เรื่องเท่านั้น (It Happened One Night, The Life of Emile Zola, Hamlet, Marty, Tom Jones, A Man For All Seasons, The Godfather: Part II, Annie Hall และล่าสุดคือ Ordinary People เมื่อปี 1980) ที่ได้ออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดยไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาลำดับภาพ นั่นทำให้ No Country for Old Men กับ There Will Be Blood กลายเป็นฝ่ายได้เปรียบ

ชัยชนะล่าสุดของสองพี่น้องโคนบนเวที DGA น่าจะทำให้พวกเขาคงสถานะเต็งหนึ่งบนเวทีออสการ์ไปได้ตลอด อย่างน้อยก็ในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม (ส่วน No Country for Old Men จะลงเอยแบบ Brokeback Mountain หรือ The Departed เราคงต้องรอดูกันต่อไป) เช่นเดียวกับชัยชนะของคริสตี้, เดย์-ลูว์อีส และบาเด็มบนเวที SAG ส่วนการคว้ารางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมแบบพลิกล็อกถล่มทลายของ รูบี้ ดี (American Gangster) นักแสดงหญิงผิวดำที่ได้รับการยอมรับมาเนิ่นนานและภรรยาของนักแสดงระดับตำนาน ออสซี่ เดวิส ก็น่าจะช่วยผลักดันให้เธอกลายเป็นตัวเก็งที่มีโอกาสเบียดเอาชนะ บลันเช็ตต์ ซึ่งเพิ่งได้ออสการ์ไปเมื่อไม่นาน และไรอัน ซึ่งอ่อนประสบการณ์และบารมี ในช่วงโค้งสุดท้ายได้ แต่พึงระลึกไว้เสมอว่าผู้ชนะบนเวที SAG แทบไม่เคยตรงกับรางวัลออสการ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญ อย่างที่หลายคนจดจำกันได้ดี นักแสดงสมทบหญิงเป็นสาขาที่คาดเดายากและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนสูงสุดสาขาหนึ่ง ไม่เชื่อก็ดูได้จากชัยชนะของ แอนนา พาควิน (The Piano) จูเลียต บิโนช (The English Patient) มาร์เซีย เกย์ ฮาเดน (Pollock) และ มาริสา โทเม (My Counsin Vinny)


เกล็ดเก็บตก

• ไม่ว่าใครก็ตามในกลุ่มตัวเก็งที่บรรดาเซียนออสการ์ทั้งหลายคาดการณ์ว่าน่าจะคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาครอง เธอคนนั้นจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยหากเต็งหนึ่งอย่าง จูลี่ คริสตี้ ได้รางวัล เธอจะทำสถิติ “ทิ้งช่วงห่างสูงสุดระหว่างออสการ์ตัวแรกกับตัวที่สอง” (คริสตี้ได้ออสการ์ตัวแรกจาก Darling ในปี 1966) และเขี่ยผู้ครองตำแหน่งเดิม คือ เฮเลน เฮย์ส (คว้านำหญิงจาก The Sin of Madelon Claudet ในปี 1931 และสมทบหญิงจาก Airport ในปี 1970) ลงจากบัลลังก์ ถ้าเต็งสองอย่าง มาริยง โกติญาร์ ได้ออสการ์ เธอจะเป็นนักแสดงภาษาต่างประเทศคนที่สองที่คว้ารางวัลนำหญิงมาครองหลัง โซเฟีย ลอเรน สร้างปรากฏการณ์ไว้เมื่อปี 1961 จากหนังเรื่อง Two Women ส่วนชัยชนะของดาวรุ่งเต็งสามอย่าง เอลเลน เพจ ก็หมายถึงออสการ์จะได้นักแสดงนำหญิงที่อายุน้อยสุด (เพจจะมีอายุ 21 ปีกับ 3 วันในวันที่ 24 กุมภาพันธ์) มาแทนที่ มาร์ลี แม็ทลิน จาก Children of a Lesser God ซึ่งอายุประมาณ 21 ปีกับ 5 เดือนตอนรับรางวัล

• หลายครั้งข่าวลือก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ดังจะเห็นได้อาการ “ตกรถ” แบบค้านสายตาคอหนังทั่วโลกของ 4 Months, 3 Weeks and 2 Days หลังก่อนหน้านี้เคยมีรายงานจากแหล่งข่าววงในเล็ดรอดมาว่าคณะกรรมการออสการ์ “ไม่ปลื้ม” หนังทำแท้งจากโรมาเนียเรื่องนี้สักเท่าไหร่ อันที่จริง มันไม่ติดโผหนังภาษาต่างประเทศเก้าเรื่องที่เข้ารอบรองชนะเลิศด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่รายชื่อห้าเรื่องสุดท้ายเลย นอกจากนี้ หนังการ์ตูนชั้นเยี่ยมจากฝรั่งเศสอย่าง Persepolis ก็ยังประสบชะตากรรมเดียวกันด้วย (ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกรรมการหลายคนเชื่อมั่นว่ามันน่าจะได้เข้าชิงออสการ์ในสาขาภาพยนตร์การ์ตูนยอดเยี่ยมค่อนข้างแน่) โดยภาพยนตร์เก้าเรื่องที่เข้ารอบรองชนะเลิศประกอบด้วย The Counterfeiters (ออสเตรีย), The Year My Parents Went on Vacation (บราซิล), Days of Darkness (แคนาดา), Beaufort (อิสราเอล), The Unknown (อิตาลี), Mongol (คาซัคสถาน), Katyn (โปแลนด์), 12 (รัสเซีย) และ The Trap (เซอร์เบีย) การตัดสินใจดังกล่าวส่งผลให้กรรมการออสการ์ตกอยู่ในสถานะ “จำเลย” ว่าปราศจากคุณสมบัติและรสนิยมอันดีพอจะตัดสินรางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ขณะเดียวกัน กฎเกณฑ์ที่ไร้มาตรฐานแน่นอน (กรณี Lust, Caution) และคับแคบเกินไป (กรณี The Band’s Visit) ยังส่งผลให้ผลงานหลายชิ้นต้องหลุดจากการพิจารณาอย่างอยุติธรรม

• ออสการ์สาขาออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมปีนี้เห็นท่าจะเป็นการฟาดฟันกันอย่างสูสีระหว่าง Atonement กับ Elizabeth: The Golden Age ซึ่งล้วนเป็นผลงานพีเรียดด้วยกันทั้งคู่ แต่สไตล์โดยรวมกลับแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว เรื่องแรกเน้นความเรียบหรู เปี่ยมรสนิยม โดยเฉพาะชุดราตรีสีเขียวมรกตสวมโดย คีร่า ไนท์ลีย์ ซึ่งล่าสุดเพิ่งถูกโหวตให้ติดอันดับหนึ่งเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมตลอดกาลในภาพยนตร์ จากผลสำรวจของ Sky Movies และนิตยสาร In Style นอกจากนี้ชุดดังกล่าวยังได้รับเสียงชื่นชมจากเหล่าดีไซเนอร์ชั้นนำแบบเป็นเอกฉันท์อีกด้วย ส่วนเรื่องหลังนั้นค่อนข้างจะเน้นแนวคิดทำนอง “ยิ่งมากยิ่งดี” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า over-the-top (ซึ่งเหมาะสมกับโทนของหนัง) และแน่นอนว่าโดยสถิติที่ผ่านมา ความอลังการ ตระการตามักคว้าชัยบนเวทีออสการ์ได้เสมอ อย่างไรก็ตาม จากแบบสำรวจของสำนักเดียวกัน ชุด “มุ้งผ้าขาวบาง” ที่ เคท บลันเช็ตต์ สวมใส่ใน Elizabeth: The Golden Age นั้นติดอยู่ที่อันดับ 9

• There Will Be Blood เกือบจะกลายเป็นหนังที่เข้าชิงออสการ์สูงสุดประจำปีแบบโดดๆ อยู่แล้ว (สุดท้ายมันกลับทำสถิติเทียบเท่า No Country for Old Men นั่นคือ 8 รางวัล) หากคณะกรรมการไม่ตัดสิทธิหนังในสาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยมไปเสียก่อน โดยให้เหตุผลว่าผลงานของ จอนนี่ กรีนวู้ด สมาชิกวง Radiohead ซึ่งหลายคนเชื่อว่าไม่เพียง “คู่ควร” กับการเข้าชิงเท่านั้น แต่ยังควรจะคว้าชัยชนะไปครองเลยด้วยซ้ำ เข้าข่ายผิดกฎเกี่ยวกับการใช้ผลงานดนตรีที่มีอยู่แล้ว (หนังมีสกอร์ใหม่ประมาณ 35 นาที และสกอร์ที่ดัดแปลงมาจากผลงานดนตรีที่มีอยู่แล้วประมาณ 46 นาที) แต่บางคนได้ตั้งข้อสงสัยต่อมาตรฐาน “ตามใจฉัน” ของกรรมการออสการ์ โดยยกตัวอย่างผลงานของ กุสตาโว ซานตาโอลัลลา จาก Babel ซึ่งคว้าชัยบนเวทีออสการ์ในสาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยมไปเมื่อปีก่อน เพราะในหนังเรื่องนั้น original score ของซานตาโอลัลลากินเวลาเพียง 15 นาที ส่วนสกอร์อื่นๆ ที่เหลือล้วนเป็นการดัดแปลงจากผลงานเก่าของเขาเอง (21 Grams) และผลงานการประพันธ์ของ เรียวอิชิ ซากาโมโต ทั้งสิ้น

• ถ้าโลกของเรายังมีความยุติธรรมหลงเหลืออยู่ ผู้กำกับภาพชั้นยอดอย่าง โรเจอร์ เดียกินส์ ควรจะได้ออสการ์มาครองกับเขาสักตัว หลังจากเคยเข้าชิงมาแล้ว 5 ครั้ง (The Shawshank Redemption, Fargo, Kundun, O Brother, Where Art Thou? และ The Man Who Wasn’t There) และเดินกลับบ้านมือเปล่าทุกครั้ง ปีนี้เขามีโอกาสเป็นดับเบิ้ล (หรือพวกมันอาจตัดคะแนนกันเอง?) ด้วยการเข้าชิงจาก No Country for Old Men และ The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford คู่แข่งของเขาถือว่ามหาโหดทีเดียว เนื่องจาก The Diving Bell and the Butterfly (จานุส คามินสกี้ เจ้าของสองรางวัลออสการ์จาก Schindler’s List และ Saving Private Ryan) There Will Be Blood และ Atonement ล้วนได้รับเสียงชื่นชมในแง่การกำกับภาพแบบถ้วนทั่วทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม เดียกินส์คงไม่ใช่คนเดียวที่จะต้องคอยลุ้นตัวโก่งให้โชคเข้าข้าง เพราะ เควิน โอ’คอนเนลล์ ซาวด์มิกเซอร์ระดับแนวหน้า ก็ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งที่ 20 จาก Transformers และเขายังไม่เคยได้ออสการ์มาครองเลยสักตัว!

• ในสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นักเขียนหญิงจำนวนสี่คนเดินขบวนกันเข้าชิงมากเป็นประวัติการณ์เทียบเท่าสถิติเดิมเมื่อปี 1989 (Big, Running on Empty, Gorillas in the Mist, Little Dorrit) โดยประกอบไปด้วย อดีตนักเต้นระบำเปลื้องผ้าที่ผันตัวมาเป็นนักเขียนและตัวเก็งในสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิม ไดอาโบล โคดี้ (Juno) แนนซี่ โอลิเวอร์ (Lars and the Real Girl) ทามารา เจนกิ้นส์ (The Savages) และ ซาราห์ พอลลี่ (Aways from Her) คนหลังหลุดเข้าชิงแบบสุดเซอร์ไพรซ์ หลังจากถูกสมาพันธ์นักเขียนบท (WGA) มองข้าม (พวกเขาเลือกเสนอ Zodiac กับ Into the Wild แทน Away from Her กับ Atonement ส่วนในสาขาบทดั้งเดิมแตกต่างกันเพียงหนึ่งเรื่อง คือ Knocked Up ถูกแทนที่โดย Ratatouille)

• ถึงแม้งานออสการ์ 2008 จะยังไม่เสร็จสิ้น แต่หลายคนก็เริ่มมองหา “ตัวเก็ง” สำหรับเวทีออสการ์ 2009 เรียบร้อยแล้ว โดยผลงานที่ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษ คือ The Agentine และ Guerilla หนังทวิภาคของ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก เกี่ยวกับชีวิตและผลงานของนักปฏิวัติชื่อก้องโลก เช เกวารา รับบทโดยเจ้าของรางวัลออสการ์นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจาก Traffic เบนนิชิโอ เดล โทโร Australia วิมานลอยเวอร์ชั่นแดนจิงโจ้ของ แบซ เลอห์แมน นำแสดงโดย ฮิวจ์ แจ๊คแมน และ นิโคล คิดแมน Body of Lies หนังอิงการเมืองเกี่ยวกับปฏิบัติการตามล่าผู้นำกองโจร อัล ไคด้า ซึ่งได้ รัสเซลล์ โครว กับ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ มานำแสดง ผลงานกำกับของ ริดลีย์ สก็อตต์ Changeling หนังดราม่าเรื่องล่าสุดของผู้กำกับขวัญใจออสการ์ คลินท์ อีสต์วู้ด เกี่ยวกับแม่ (แองเจลินา โจลี) ซึ่งพลันตระหนักว่าลูกชายของเธอที่หวนกลับมาหลังถูกลักพาตัวไปหาใช่ลูกชายแท้ๆ ของเธอไม่ The Curious Case of Benjamin Button กำกับโดย เดวิด ฟินเชอร์ ดัดแปลงจากนิยายชื่อดังของ เอฟ. สก็อตต์ ฟิทซ์เจอรัลด์ นำแสดงโดย แบรด พิทท์, เคท บลันเช็ตต์ และ ทิลด้า สวินตัน The Reader สร้างจากนิยายขายดีของ เบิร์นฮาร์ด ชลิงค์ กำกับโดย สตีเฟ่น ดัลดรี้ (The Hours) Frost/Nixon ของ รอน โฮเวิร์ด เล่าถึงเรื่องราวการสัมภาษณ์ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน (แฟรงค์ ลันเกลลา จาก Starting Out in the Evening) หลังเกิดคดีวอเตอร์เกท โดยพิธีกรชาวอังกฤษ เดวิด ฟรอสต์ (ไมเคิล ชีน) และสุดท้าย ได้แก่ ผลงานล่าสุดของ แซม เมนเดส เรื่อง Revolutionary Road ซึ่ง เคท วินสเล็ท (ภรรยาตัวจริงของผู้กำกับ) ได้แสดงประกบ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ เป็นครั้งแรกหลังความสำเร็จอย่างล้นหลามของ “ชู้รักเรือล่ม” แถมพวกเขายังพ่วงเอา เคธี่ เบทส์ กลับมาด้วยอีกคน มันเป็นหนังดราม่าเกี่ยวกับปัญหาในครอบครัวยุค 1950 ดัดแปลงจากนิยายของ เดวิด เยทส์

2 ความคิดเห็น:

black forest กล่าวว่า...

ฝรั่งเศสคงเสียดายที่ไม่ได้ส่ง The Diving Bell and the Butterfly เข้าชิงหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม

เสียดายแทน Atonement ด้วยเหมือนกัน ที่ Joe Wright ไม่ได้เข้าชิงผู้กำกับ ส่วนในเว็บ Slant Magazine ดอทคอม ตอนที่เขาทำนายรายชื่อผู้กำกับที่น่าจะได้เข้าชิงออสการ์ (ตอนที่รายชื่อตัวจริงยังไม่ประกาศผล) ก็เห็นเขาใส่ชื่อของอภิชาติพงศ์จากแสงศตวรรษเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ Should Be Nominated ด้วยเหมือนกัน

NUNAGGIE กล่าวว่า...

ลีลาการวิเคราะห์นุ่มนวลชวนฝันเหมือนเดิมนะคะ ป๋า