วันเสาร์, มีนาคม 22, 2551

Eastern Promises: ภาพสะท้อนของกันและกัน


ถึงแม้จะเริ่มต้นอาชีพด้วยการทำหนังตามแนวทาง (genre) เป็นส่วนใหญ่ (1) แต่ผลงานในระยะหลังของผู้กำกับ เดวิด โครเนนเบิร์ก ดูเหมือนจะมุ่งเน้นไปยังการเบี่ยงเบน บิดเบือนธรรมเนียมปฏิบัติ พร้อมทั้งเสริมมุมมองใหม่ให้กับสูตรสำเร็จอันคุ้นเคยเสียมากกว่า ก่อนจะตบท้ายด้วยการตั้งคำถามต่อประเด็นซับซ้อน โดยไม่พยายามยัดเยียดคำตอบที่เรียบง่ายเป็นบทสรุป

ใน A History of Violence เขาเล่นสนุกกับการพลิกผันแนวทางแอ็กชั่นสไตล์ Die Hard (ตัวละครธรรมดาถูกสถานการณ์บังคับให้กลายสภาพเป็นฮีโร่) ส่วนใน Eastern Promises ผลงานซึ่งเปรียบเสมือนฝาแฝด “มุมกลับ” ของ A History of Violence เป้าหมายกลับเปลี่ยนมาเป็นหนังแก๊งสเตอร์

นักวิจารณ์ภาพยนตร์เมืองนอกบางคนได้ยก The Godfather (1972) ขึ้นมาเปรียบเทียบ ซึ่งก็ไม่ถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ เนื่องจากหนังทั้งสองคล้ายคลึงกันในเชิงรายละเอียดอยู่ไม่น้อย เช่น บทเจ้าพ่อจอมเหี้ยม ผู้มีภาพลักษณ์ภายนอกเหมือนคุณปู่ที่ดูไม่เป็นพิษเป็นภัยอย่าง เซมยอน (อาร์มิน มูลเลอร์-สตาห์ล) อาจเปรียบได้กับ ดอน คอร์ลิโอเน ขณะลูกชายผู้อ่อนแอ ขี้เหล้า บุ่มบ่าม กักขฬะ และมีแนวโน้มรักร่วมเพศของเขาอย่าง คีริล (วินเซนต์ แคสเซล) ก็เป็นส่วนผสมระหว่างเฟรโด กับ ซอนนี่ คอร์ลิโอเน และสุดท้าย “คนนอก” ที่ดูสุขุม เยือกเย็น อีกทั้งยังเชี่ยวชาญในหน้าที่ จนต่อมากลับกลายเป็นผู้สืบทอดความยิ่งใหญ่ของแก๊งมาเฟียอย่างนิโคไล (วีโก้ มอร์เทนเซน) ก็อาจเปรียบได้กับ ทอม เฮแกน และ ไมเคิล คอร์ลิโอเน

จุดผกผันอยู่ตรงที่หนังของโครเนนเบิร์กดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับตัวละครผู้หญิงค่อนข้างมาก ซึ่งปกติมักถูกผลักดันให้เป็นเพียงไม้ประดับในหนังแก๊งสเตอร์ โดยเฉพาะ แอนนา (นาโอมิ วัตส์) ที่เปรียบเสมือนตัวเดินเรื่อง ควบคู่กับนิโคไล และ ทาเทียนา (ซาราห์-ฌอง ลาบรอส) ซึ่งอาจปรากฏร่างให้เห็นบนจอเพียงฉากเดียว แต่สมุดบันทึกของเธอได้กลายเป็นตัวจุดประกายเรื่องราวทั้งหมด นอกจากนี้ คนดูยังสามารถตระหนักถึงตัวตนของเธอตลอดทั้งเรื่องผ่านเสียงเล่าปริศนา และที่สำคัญ หนังยังแสดงให้เห็นจุดล่มสลายรวมถึงการเปลี่ยนถ่ายอำนาจครั้งสำคัญในแก๊งมาเฟีย อันเกิดจากน้ำมือของเด็กสาววัย 14 ปีด้วย

น่าสังเกตว่าโครเนนเบิร์กและคนเขียนบท สตีฟ ไนท์ จงใจละเมิดหลักเหตุผลบางอย่างโดยใช้เสียงทาเทียนาเล่าเรื่อง (สมุดบันทึกถูกเขียนเป็นภาษารัสเซีย แต่เสียงเล่ากลับเป็นภาษาอังกฤษ และปรากฏขึ้นครั้งแรกก่อนแอนนาจะแปลความหมายใดๆ ในนั้นได้) เพื่อฉีดเพิ่มระดับ “ความเป็นหญิง” ให้กับหนังแนวผู้ชาย และไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังสอดแทรกเจตนารมณ์ไว้ในระดับสัญลักษณ์ด้วย เมื่อ Eastern Promises เป็นหนังอาชญากรรมที่ปราศจากร่องรอยของ “ปืน” หรือสัญลักษณ์แห่งเพศชายอย่างสิ้นเชิง ตรงกันข้าม อาวุธหลักที่พวกนักฆ่านำมาใช้สังหารเหยื่อทั้งหลายกลับกลายเป็นใบมีดคมกริบ

ในฉากฆาตกรรม อิเครม (โจเซฟ อัลทิน) อันสุดแสนหวาดเสียวและสยดสยอง โครเนนเบิร์กเปิดโอกาสให้คนดูได้ประจันหน้ากับบาดแผลของเด็กหนุ่มแบบจะๆ เมื่ออิเครมดึงผ้าพันคอลง เผยให้เห็นรอยเชือดที่เปิดกว้างออกและเลือดจำนวนมากที่ไหลทะลักออกมาดุจสภาพของช่องคลอดผู้หญิงในวันมามาก (2)

ขณะเดียวกันอารมณ์โฮโมอีโรติก ซึ่งมักจะส่งกลิ่นอายเพียงจางๆ ในโลกแห่ง “มิตรภาพแน่นแฟ้น” ระหว่างเหล่าร้าย (เพศชาย) ที่ผู้หญิงไม่อาจเข้าถึง ยังถูกโครเนนเบิร์กแต่งเติมจนทะลักจุดแตกผ่านฉากคีริลเฝ้ามองนิโคไลร่วมเพศกับโสเภณี ฉากนิโคไลสวมบ็อกเซอร์เพียงตัวเดียว ยืนอวดรอยสักตามร่างกายให้บรรดาเจ้าพ่อได้สำรวจตรวจสอบ และฉากนิโคไลต่อสู้กับสองนักฆ่าในสภาพเปลือยเปล่า

นอกจากจะสะท้อนให้เห็นความพยายามบิดเบือนและแยกตัวจากสูตรสำเร็จภายใต้โครงสร้างที่คนดูคุ้นเคยแล้ว พลังแห่งอิสตรีที่ถูกผสานเข้ามายังสะท้อนให้เห็นทัศนคติแห่งทวิภาวะของโครเนนเบิร์ก กล่าวคือ เขามองเห็นการแบ่งแยก (จิตใจ/ร่างกาย, ความดี/ความชั่ว, มนุษย์/จักรกล) ทว่าเส้นแบ่งระหว่างสองขั้วดัวกล่าวดูเหมือนจะไม่ชัดเจน จนบางครั้งเราไม่อาจแน่ใจได้ว่าอะไรเป็นอะไร เช่นเดียวกับความขัดแย้งและคล้ายคลึงของฝาแฝดนรีแพทย์ (เจเรมี่ ไอรอนส์) ใน Dead Ringers ที่แบ่งปันตัวตน ชีวิต และกระทั่งผู้หญิง เนื่องจากพวกเขามีเศษเสี้ยวเชื่อมโยงกัน และคนหนึ่งก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยปราศจากอีกคนหนึ่ง

ทั้งใน A History of Violence และ Eastern Promises หนังเริ่มต้นด้วยการแจกแจงให้เห็นสองโลกที่แตกต่าง แบ่งแยกเป็นเอกเทศระหว่างโลกของคนธรรมดา (ความดีงาม) กับโลกแห่งอาชญากรรม (ความชั่วร้าย) ก่อนจะค่อยๆ ชักนำทั้งสองให้เชื่อมโยงและหลอมรวมจนแทบมองไม่เห็นเส้นแบ่ง โดยตัวละครที่ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างสองโลกในหนังทั้งสองเรื่องล้วนรับบทโดย วีโก้ มอร์เทนเซน ซึ่งสะท้อนลักษณะขั้วตรงข้ามของคนเดียวกัน

ขณะที่ ทอม สตอล ใน A History of Violence สร้างภาพลวงแห่งความดีงามขึ้นเพื่อหวังจะปกปิดอดีตอันชั่วร้าย นิโคไลใน Eastern Promises กลับสร้างภาพลวงแห่งความชั่วร้ายขึ้นเพื่อหวังจะปกป้องความดีงาม (เขาช่วยเหลือโสเภณีให้รอดพ้นจากซ่องนรกและช่วยชีวิตลุงของแอนนา) ทอมสวมรอยเข้าไปในโลกธรรมดาเพื่อหลบหนีจากโลกอาชญากรรม ส่วนนิโคไลกลับสวมรอยเข้าไปในโลกอาชญากรรม แล้วตอบปฏิเสธโลกธรรมดาเมื่อเขาได้รับการหยิบยื่นโอกาสจากแอนนา ซึ่งเขารู้สึกผูกพัน (หรืออาจถึงขั้นหลงรัก?) และจากหัวหน้าในกรมตำรวจที่เปิดทางให้เขาถอนตัว ทอมแสดงให้เห็นประกายของปีศาจร้ายที่กระหายความรุนแรง เมื่อสถานการณ์เรียกร้องให้เขาต้องเผชิญหน้ากับโลกอาชญากรรม ส่วนนิโคไลกลับแสดงให้เห็นประกายของความรักและเมตตา เมื่อสถานการณ์ชักนำเขาให้หวนไปสัมผัสกับโลกธรรมดา (แอนนาและทาเทียนา)

ความแตกต่างสำคัญอยู่ตรงอดีตที่คลุมเครือของนิโคไล เพราะคนดูไม่อาจแน่ใจได้ว่าเขาเคยใช้ชีวิตธรรมดามาก่อน แล้วปฏิเสธมันเพื่ออุทิศตนต่อการล้มล้างแก๊งมาเฟีย หรือบรรดารอยสักทั้งหลายของเขาเป็นของจริง และเขาถูกทางการดึงตัวจากเรือนจำในประเทศรัสเซียมารับงานนี้เพื่อไถ่บาปให้กับอดีตอันชั่วร้าย

อย่างไรก็ตาม ในฉากสุดท้าย หนังทั้งสองเรื่องดูเหมือนจะเวียนมาบรรจบกันอีกครั้ง (กระทั่งอาหารที่ทอมกับครอบครัวและแอนนากับครอบครัวทานก็ยังคล้ายคลึงกันอย่างประหลาด นั่นคือ เนื้ออบกับผัก) ด้วยภาพโคลสอัพใบหน้าตัวละครเอกที่โต๊ะอาหาร โดยดวงตาของทอมดูจะเต็มไปด้วยความหวาดหวั่น แต่เปี่ยมความหวัง ขณะมองหาร่องรอยการยอมรับจากสมาชิกในครอบครัว ส่วนดวงตาของนิโคไลกลับฉายแววครุ่นคิด เมื่อเขาหวนคำนึงถึงเรื่องราวของทาเทียนาและบางทีอาจรวมถึงโอกาสสร้างชีวิตใหม่กับแอนนาที่เขาปล่อยให้หลุดมือไป

นอกจากนี้ ฉากดังกล่าวยังอาจเตือนคนดูให้ระลึกถึงฉากจบของ The Godfather Part II ขณะ ไมเคิล คอร์ลิโอเน นั่งเดียวดายอยู่บนเก้าอี้ เขาทรงอำนาจสูงสุด แต่ปราศจากความสุข เขาเลือกจะผลักไสทุกคนออกห่างและยอมสละทุกสิ่งเพื่ออำนาจและเงินทอง ส่งผลให้คนดูอดไม่ได้ที่จะชิงชัง สังเวชเขา ตรงกันข้าม โครเนนเบิร์กกลับไม่เปิดโอกาสให้คนดูสามารถตัดสินใจได้ว่าควรรู้สึกอย่างไรกับฉากจบของ Eastern Promises

นิโคไลเริ่มหลงใหลในอำนาจ หรือเขายอมสละความสุขส่วนตัวเพื่อปกป้องผู้บริสุทธิ์? เราควรจะชื่นชม หรือนึกกังขาการปฏิเสธข้อเสนอให้ถอนตัวจากปฏิบัติการของเขา?

มองในแง่หนึ่ง วิธีจบแบบปลายเปิดดังกล่าวช่างสอดคล้องกับสารที่โครเนนเบิร์กต้องการนำเสนอเกี่ยวกับความคลุมเครือของเส้นแบ่งระหว่างความดีกับความชั่ว และเปลือกนอกบางทีก็ไม่อาจสะท้อนให้เห็นเนื้อแท้ของตัวละคร ดังเช่น ทอม สตอล คุณพ่อตัวอย่างที่กลายเป็นนักฆ่าจอมโหด หรือนิโคไล นักฆ่าจอมโหดที่กลายเป็นผู้พิทักษ์กฎหมาย หรือแม้กระทั่งตัวละครเพศหญิง ซึ่งในแวบแรกเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งความดีงาม โครเนนเบิร์กก็ไม่เว้นที่จะปลูกฝังเมล็ดแห่งความคลุมเครือให้พวกเธอ

เช่นเดียวกับ อีดี้ สตอล (มาเรีย เบลโล) ใน A History of Violence ซึ่งเผยให้เห็นประพิมประพายของด้านมืดหลังต้องเข้าไปพัวพันกับโลกอาชญากรรม ผ่านฉากที่เธอสบถด่าพร้อมทั้งข่มขู่ แดน โฟกาตี้ (เอ็ด แฮร์ริส) ให้อยู่ห่างๆ จากครอบครัวเธอและฉากการร่วมรักแบบดิบๆ บนขั้นบันได แอนนาเองก็กลายเป็นเป้าสงสัยในเจตนารมณ์อันแท้จริงของเธอต่อความพยายามจะช่วยเหลือเด็กทารกแปลกหน้า บทหนังปูรายละเอียดว่าเธอเพิ่งแท้งลูกและเลิกรากับคนรัก ฉะนั้นความผูกพันระหว่างเธอกับเด็กย่อมไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ขณะเดียวกันเหตุไฉนเธอถึงไม่ยอมเลิกรา หรือส่งมอบเรื่องให้ตำรวจ เมื่อเริ่มตระหนักว่าเด็กคนนี้กำลังชักนำเธอและครอบครัวเข้าไปพัวพันกับอันตรายร้ายแรง เป็นไปได้ไหมว่าเพราะเธอเห็นช่องทางอันชอบธรรมที่จะถือครองเด็กทารก ซึ่งอาจมาช่วยเติมเต็มชีวิตอันว่างเปล่า ทุกข์ระทม และเธอก็พร้อมจะมุ่งมั่นทำทุกอย่างเพื่อให้ฝันนั้นเป็นจริง

หลังได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลที่เธอไม่คาดคิดสูงสุด ในช่วงท้ายเรื่อง แอนนาจึงคาดคั้นนิโคไลว่า “ฉันจำเป็นต้องรู้ว่าคุณเป็นใคร” แต่ก็เช่นเดียวกับคนดู เธอไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน และเช่นเดียวกับคนดู เธอได้เรียนรู้ว่าท่ามกลางสภาพสังคมอันซับซ้อนและผุกร่อน เมื่อความหวังที่จะเดินทางมาแสวงโชคด้วยการเป็นนักร้อง กลับลงเอยด้วยการโดนหลอกมาคุมขังแล้วบีบบังคับให้ค้าประเวณี คุณไม่อาจแบ่งแยกขาวออกจากดำได้อย่างชัดเจนเหมือนในหนังคาวบอยยุคเก่าอีกต่อไป

หมายเหตุ

(1) จริงอยู่ว่าภาพยนตร์สยองขวัญยุคแรกของโครเนนเบิร์กอาจมีเนื้อเรื่องและโครงสร้างคล้ายคลึงหนังสยองขวัญทั่วไป แต่พวกมันก็มีเอกลักษณ์บางอย่างที่น่าจดจำเช่นกัน โดยเฉพาะการสะท้อนสภาพความป่วยไข้ทางจิตเป็นรูปธรรมผ่านการกลายพันธุ์ของเนื้อหนังมังสา (Eastern Promises สะท้อนกลิ่นอายดังกล่าวให้เห็นผ่านบรรดารอยสักตามตัว ซึ่งสามารถบ่งบอกถึงประสบการณ์และตำแหน่งสถานะของบุคลล) รวมทั้งการสอดแทรกประเด็นวิพากษ์สังคมและเทคโนโลยีแบบที่พบเห็นได้ไม่บ่อยนักในหนังประเภทนี้

(2) บทเปรียบเทียบบาดแผลกับช่องคลอดคงไม่ถือเป็นเรื่องน่าแปลกสำหรับคอหนังที่คุ้นชินกับผลงานในอดีตของโครเนนเบิร์ก และเคยได้เห็น เจมส์ วู้ด “ล่วงละเมิด” ช่องท้องของตัวเองใน Videodrome หรือ จู๊ด ลอว์ เสียบสายเล่นเกมใส่รูบนแผ่นหลัง เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์ ใน eXistenZ หรือ เจมส์ สเปเดอร์ พยายามร่วมรักกับบาดแผลบนท่อนขาของ โรแซนนา อาร์เควตต์ ใน Crash

5 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ว้าวววว

เสร็จจนได้ ลุ้นจนเหนื่อย -*-

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ชอบหนังและชอบบทวิจารณืชิ้นนี้ครับ

black forest กล่าวว่า...

ประทับใจคำพูดของ แอนนา (Naomi Watts) ที่กล่าวกับนิโคไล (Viggo Mortensen) ในช่วงท้ายเรื่องมากๆ คำพูดดังกล่าวมีข้อความประมาณว่า "ฉันอยากรู้จริงๆ ว่าคุณคือใคร ทำไมคุณถึงช่วยเหลือพวกเรา" ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคำพูดประโยคนี้มีความหมายอย่างไรต่อเนื้อเรื่อง แล้วทำไมแอนนาต้องถามนิโคไลออกมาเช่นนั้น แต่มันก็ทำให้เราร้องไห้ออกมาแทบจะทันทีที่ประโยคนี้จบลง

Naomi Watts งดงามมากในหนังเรื่องนี้ เธอเป็นเหมือนนางฟ้าตัวน้อยที่เพียรเฝ้าสังเกตุผู้คนด้วยสายตาแห่งสรวงสวรรค์ เธอเหมือนมีญาณวิเศษในการส่องจิตใจของผู้อื่น ในขณะเดียวกันเธอก็ทำท่าทางราวกับกำลังศึกษาความเป็นไปของโลกมนุษย์ที่น่าสนเท่ห์

บรรยากาศของกรุงลอนดอนในหนังเรื่องนี้ยังถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างสวยงามน่าพิศวงถูกใจตัวเองเป็นอย่างมาก เหมือนมันอบอวลไปด้วยมนต์ขลังแห่งดินแดนเทพนิยายที่เรืองรองอยู่ในความมืดมิดของราตรีกาล ตัวละครในหนังเรื่องนี้ก็น่าสนใจมากๆ เช่นเดียวกัน พวกเขาเหมือนมีเงื่อนงำอะไรบางอย่างที่มองไม่เห็นแต่สัมผัสได้ เหมือนเวลาที่เรามองเห็นพื้นดินแห้งๆ ที่ไม่มีอะไรปกคลุมอยู่ตรงนั้นเลยแม้แต่น้อย แต่เมื่อลองเอาหูไปกดแนบกับพื้นดินตรงนั้นแล้วกลับได้ยินเสียงครวญครางประหลาดล่องลอยออกมา ราวกับว่าลึกลงไปภายใต้พื้นดินนั้นมีบางสิ่งบางอย่างเคลื่อนไหวอยู่ และพร้อมจะระเบิดออกมาได้ทุกเวลา

ชอบบทความของน้อง Vespertine ใน Bioscope ฉบับหน้าปกหนังไทยเรื่อง "กอด" ที่เขียนถึงหนังเรื่องนี้มากๆ เช่นเดียวกัน เคยคุยกับน้อง Vespertine นอกรอบ เขาก็ชอบหนังเรื่องนี้มากๆ ครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ทำไมเขียนสั้นจัง...อ่านแล้วไม่อิ่มง่ะ...

ประสงค์ กล่าวว่า...

ผมชอบอ่านสำนวน การวิจารณ์ซึ่งตีแผ่ตัวละคร คลอบคลุมหลาย ๆ ด้านซึ่งคนดูทั่วไปอาจจะไม่ได้สังเกตุหรือมองข้ามไป

การได้อ่านบทวิจารณ์นี้ทำให้เข้าใจและดูหนังได้อรรถรสเพิ่มขึ้น ขอบคุณสำหรับข้อเขียนดี ๆ และขอชมว่าวิจารณ์ได้ถูกใจผมและตรงประเด็นครับ