วันพุธ, กันยายน 10, 2551

ความลับหลังแท่นบูชาสีม่วง

เกย์ ไอคอน หมายถึง คนดังที่เหล่ารักร่วมเพศชื่นชอบ หลงใหล และเทิดทูนบูชา ซึ่งโดยส่วนมากมักจะเป็นดารา/นักร้องหญิง แถมเกือบทั้งหมดยังไม่ใช่เลสเบี้ยนเสียด้วย เราไม่ทราบแน่ชัดว่าทำไม บางทีอาจเป็นเพราะพวกเธอร้องเพลง “แทนใจ” ชายรักร่วมเพศ (ซึ่งดูเหมือนจะเป็นกระบอกเสียงหลักของรักร่วมเพศ เพราะพวกเขา “ตะโกน” ดังสุด เมื่อเทียบกับเลสเบี้ยน หรือไบเซ็กช่วล ที่ถูกผลักดันเข้ามุมมืด) ผู้นิยมแทนตัวเองในตำแหน่ง “เพศเมีย” จากการที่พวกเขาปรารถนาเพศชายเช่นเดียวกัน

มาตรวัด เกย์ ไอคอน แบบง่ายๆ คือ สังเกตดูว่าใครถูกกะเทยแต่งหญิงนำไปแสดงเลียนแบบบนเวทีอยู่บ่อยๆ และด้วยเหตุนี้กระมัง ดาราที่ควบอาชีพนักร้องไปด้วยจึงได้เปรียบอยู่หน่อยๆ ดังจะเห็นได้จากกรณีของ แชร์, บาร์บรา สตรัยแซนด์ และ เบ็ตต์ มิดเลอร์

แต่อะไรล่ะที่เป็นคุณสมบัติสำคัญของ เกย์ ไอคอน?

เรียนรู้จาก “ตัวแม่”

เกย์รู้สึกเหมือนเป็น “คนนอก” ในสังคม “รักไม้ต่างป่า” และชายเป็นใหญ่ ฉะนั้น พวกเขาจึงถูกดึงดูดเข้าหาดาราสาวที่มีภาพลักษณ์ของคนนอก ไม่ว่าจะโดยรูปร่างหน้าตา เพศสถานะ หรือความเปราะบางทางอารมณ์ คุณสมบัติดังกล่าวปรากฏชัดในตัว จูดี้ การ์แลนด์ อภิมหึมามหา เกย์ ไอคอน แห่งศตวรรษ ซึ่งพิสูจน์ได้จากศัพท์แสลง “เพื่อนของโดโรธี” (หมายถึงเป็นเกย์) ซึ่งอ้างอิงไปยังบทแรกที่สร้างชื่อเสียงให้กับการ์แลนด์ในหนังเพลงคลาสสิกเรื่อง The Wizard of Oz (1939)

มีหลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับการ์แลนด์ที่ผลักดันให้เธอได้รับความสนใจจากชายรักร่วมเพศ หนึ่งในนั้น คือ เธอถูกสตูดิโอโปรโมตด้วยภาพลักษณ์ผู้หญิง “ธรรมดาสามัญ” เหมือนเด็กสาวข้างบ้าน แต่ตัวตน “จริง” ของเธอกลับแตกต่างจากภาพลักษณ์ดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง มัน “โดนใจ” รักร่วมเพศ เพราะ เช่นเดียวกัน เกย์ถูกเลี้ยงดูให้เติบโตเป็นผู้ชาย “ธรรมดาสามัญ” แต่พวกเขากลับตระหนักในเบื้องลึกถึงความ “แตกต่าง” ภายใน

ชีวิตจริงของการ์แลนด์เต็มไปด้วยความซับซ้อน หม่นเศร้า เคล้าความหวือหวาฟู่ฟ่า เธอเคยพยายามฆ่าตัวตาย หลังจากโดนเอ็มจีเอ็มตัดหางปล่อยวัด แต่ความเข้มแข็ง สู้ชีวิตช่วยให้เธอตัดสินใจลุกขึ้นยืดหยัดได้อีกครั้ง (ส่วนผสมระหว่างความทุกข์ทรมานและความเด็ดเดี่ยวที่จะกลับมาใช้ชีวิตอีกครั้งดึงดูดใจชาวเกย์ เหมือนเนื้อเพลง I Will Survive ซึ่งกลายเป็นเพลงชาติของชาวเราไปแล้ว) ไม่เพียงเท่านั้น บทบาทของเธอในหนังก็สอดคล้องไปตามแนวทางเดียวกันอีกด้วย ในภาพยนตร์เพลง Meet Me in St. Louis (1944) การ์แลนด์รับบทเด็กสาวข้างบ้านที่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา ความร่าเริง และแก่นแก้ว แต่บ่อยครั้งบุคลิกดังกล่าวทำให้เธอต้องเผชิญความอับอายขายหน้า ฉะนั้น หากเธอต้องการเอาชนะใจชายหนุ่มและได้เขามาเป็นสามี (แล้วดำเนินชีวิตครอบครัวอันอบอุ่นแบบเดียวกับแม่ของเธอ) เธอจะต้อง “แต๊บ” พลังร่าเริงแห่งวัยสาวเหล่านั้นเอาไว้

การ์แลนด์เข้าถึงกลุ่มชาวเกย์เพราะเธอเลือกจะร้องเพลง ซึ่งสะท้อนความคิดและวิบากกรรมของเกย์ในสังคมรักต่างเพศ The Man That Got Away แทบจะเป็นเพลงชาติของชาวเราได้เลย ส่วนเพลงอื่นๆ ก็ถ่ายทอดความปรารถนาของรักร่วมเพศในฐานะชนกลุ่มน้อยได้อย่างกินใจ เช่น Over the Rainbow ซึ่งนำเสนอโลกใหม่อันสมบูรณ์แบบ ที่ทุกชีวิตสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียมโดยปราศจากอคติ ไม่ว่าพวกเขาจะมีไลฟ์สไตล์แบบใด หรือ Get Happy ก็อาจสื่อนัยยะถึงความสามารถของชาวเกย์ที่จะรับมือกับปัญหาได้ด้วยกำลังใจของ “เพื่อนพ้อง”

เมื่อเปรียบเทียบกับดาราสาวสวยคนอื่นๆ ในยุคนั้นอย่าง ลาน่า เทอร์เนอร์ และ มาริลีน มอนโร อาจกล่าวได้ว่า จูดี้ การ์แลนด์ ขาดแคลนความเซ็กซี่ เสน่ห์เย้ายวน ซึ่งนั่นเปรียบดังความล้มเหลวในเพศหญิง เธออาจทรงคุณค่าจากทักษะการร้องเพลงอันร่าเริง เปี่ยมชีวิตชีวา แต่โดยรวมแล้ว เธอดูเหมือนสมาชิกในกลุ่มเด็กผู้ชายมากกว่า การขาดพลังดึงดูดทางเพศย่อมจุดประกายความรู้สึกต่ำต้อย และมันย่อมเชื่อมโยงไปยังอารมณ์คับแค้นของชาวเกย์ (ในยุคสมัยนั้น) ซึ่งมักจะมองตนเอง (ผ่านบรรทัดฐานทางสังคม) ว่ามีความวิปริตผิดเพศ ไร้เสน่ห์ดึงดูด และผิดปกติ แน่นอนว่าในหนัง สุดท้ายแล้วการ์แลนด์ก็ลงเอยด้วยการได้พระเอกของเรื่องมาครอง ซึ่งนั่นเป็นส่วนเติมเต็มความฝันให้กับชาวเกย์ว่าแม้พวกเขาจะแตกต่าง แต่สุดท้ายก็สามารถครอบครองสิ่งที่หัวใจปรารถนาได้เช่นกัน

นอกจากนี้ แง่มุมสำคัญอีกประการของ จูดี้ การ์แลนด์ ซึ่งเกี่ยวพันถึงภาพลักษณ์ผู้หญิงธรรมดาสามัญ ก็คือ สถานะ “แฟนหนัง” ของเธอ ดังจะเห็นได้จากภาพยนตร์หลายเรื่องที่เธอต้องแสดงประกบ มิคกี้ รูนีย์ โดยเขามักรับบทดาวเด่นประจำเมือง หนุ่มป็อปปูล่าที่เหล่าสาวๆ ตามกรี๊ด และหัวหน้าแก๊งวัยรุ่น ส่วนการ์แลนด์จะแสดงเป็นหญิงสาวหน้าตาเรียบง่าย ที่แอบหลงใหลเขา เหมือนเด็กสาวคลั่งไคล้ดาราหนุ่ม ก่อนสุดท้ายจะได้เขามาครองดังหวัง หนังเพลงของเอ็มจีเอ็มยุคสตูดิโอรุ่งเรืองมักเฉลิมฉลองความธรรมดาสามัญไปพร้อมๆ กับความหรูหรา ฟู่ฟ่า อลังการดาวล้านดวงในสไตล์ฮอลลีวู้ด การ์แลนด์คือนักแสดงที่เชื่อมโยงสองขั้วตรงข้ามเข้าด้วยกัน เธอทำให้ความเฉิดฉายเกินเอื้อมกลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้สำหรับชาวบ้านทั่วไป

โรงภาพยนตร์เป็นสื่อเพื่อความบันเทิงอันทรงอิทธิพลสำหรับชาวเกย์ เพราะมันแยกคุณโดดเดี่ยวจากกรอบสังคมรักต่างเพศที่บีบรัด เปิดโอกาสให้คุณมีโลกส่วนตัว ส่งผลให้การดูหนังกลายเป็นประสบการณ์สำคัญของชาวเกย์ และการ์แลนด์ คือ ตัวแทนของแรงปรารถนาที่จะใช้ชีวิตในโลกภาพยนตร์ของชาวเกย์ เพราะเธอเป็นสาวน้อยธรรมดาสามัญ ที่หลบหนีเข้าไปยังดินแดนมหัศจรรย์แห่งโลกภาพยนตร์

เล่นหนังห่วยช่วยได้

เกย์ยินดีจะอ้าแขนรับและค้นพบคุณค่าในหนังหรือตัวละครที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าเป็นตัวประหลาด คนนอก หรือน่าขยะแขยง สถานะ เกย์ ไอคอน ของ โจน ครอว์ฟอร์ด ยิ่งลอยทะลุฟ้าจากหนังเสียสติอย่าง Mommie Dearest (1981) ดัดแปลงจากบันทึกชีวิตด่าแม่ตัวเองของ คริสติน่า ครอว์ฟอร์ด ซึ่งเต็มไปด้วยแง่มุมเจ็บแสบ ร้ายกาจ เหมือนการสาดน้ำกรดใส่ทุกๆ เหตุการณ์ หนังโดนสาบส่งจากเหล่านักวิจารณ์ คนดูส่วนใหญ่ก็ชิงชังตัวละครในเรื่อง (มันชนะรางวัลราซซี่ถึงห้าสาขา รวมถึงภาพยนตร์ยอดแย่) แต่แฟนหนังชาวเกย์กลับคลั่งไคล้ นำบางฉากในหนังมาสร้างเลียนแบบจนกระทั่งมันกลายเป็นภาพยนตร์ cult classic

ความฮิตของ Mommie Dearest ส่งผลให้ เฟย์ ดันนาเวย์ กลายเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าชาวเกย์ไปด้วย จากการสวมวิญญาณ โจน ครอว์ฟอร์ด ได้โอเวอร์ เหนือจริงทุกฉากทุกตอน ทุกท่วงท่า ที่สำคัญ สไตล์เสื้อผ้าหน้าผมของเธอในหนัง (แต่งหน้าหนาเป็นคาบูกิ มือไม้กวัดแกว่งเหมือนกำลังเล่นละครเวที และสวมเสื้อหนุนไหล่หนา) ยังเหมาะต่อการนำมาล้อเลียนตามโชว์กะเทยทั่วอเมริกาอีกด้วย

ด้วยมาตรฐานเดียวกัน Showgirls (1995) วางรากฐานให้ จินา เกอร์ชอน กับ อลิซาเบ็ธ เบิร์กลีย์ เริ่มกลายเป็นที่สนใจของชาวเกย์ (การหันมาโชว์เนื้อนมไข่แบบไม่อายสายตาใครของคนหลังได้บดขยี้ภาพลักษณ์สาวใสจาก Saved by the Bell ลงอย่างราบคาบ ส่วนคนแรกก็ตอกย้ำสถานะ เกย์ ไอคอน ด้วยการรับบทเป็นเลสเบี้ยนในหนังเรื่อง Bound อีกหนึ่งปีต่อมา)

โทรี่ สเปลลิ่ง โดนวิพากษ์แบบสาดเสียเทเสียจากการแสดงอันไร้ซึ่งความเป็นธรรมชาติในซีรีย์ทางโทรทัศน์เรื่อง Beverly Hills 90210 แต่ชาวเกย์กลับชื่นชอบ แม้เธอจะโดนวัยรุ่นและเหล่านักวิจารณ์รุมขับไล่ จากนั้น เธอก็ตอกย้ำความนิยมด้วยการรับบทเพื่อนสาวของเกย์หนุ่มหน้าละอ่อนในหนังฮิตอย่าง Trick (1999) และออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวรักร่วมเพศอย่างต่อเนื่อง

เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ สิดี

“ใหญ่” ในที่นี้หมายถึงความมั่นใจ หรือเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น การแต่งชุดที่ออกแบบมาไม่เหมือนใคร ใช้เนื้อผ้าซีทรู ปักเลื่อมระยิบระยับจนเหล่าอนุรักษ์นิยมหัวโบราณต้องออกมาต่อต้าน สิ่งแปลกปลอม สิ่งที่ดูประดิษฐ์ ไม่เป็นธรรมชาติเรียกร้องเสียงชื่นชมจากชาวเกย์ รวมถึงการเลียนแบบ เพราะเมื่อพูดถึงเรื่องดารา/นักร้อง เกย์ไม่ต้องการเทิดทูน บูชาจากระยะไกล พวกเขาชื่นชอบสไตล์อันโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นท่าทาง น้ำเสียง การแต่งตัว หรือใบหน้า ดังจะเห็นได้จาก แชร์ ซึ่งไม่เคยอยู่ในสายตาของชาวเกย์สมัยยังร้องเพลงคู่กับ ซอนนี่ โบโน แต่พอเธอเริ่มแต่งตัวแรงๆ ในลักษณะกะเทยเรียกพี่มาปรากฏตัวตามงานเปิดตัวหนัง คอนเสิร์ต หรือกระทั่งในพิธีประกาศผลรางวัลออสการ์ เหล่าเกย์ทั้งหลายก็เริ่มตั้งแท่นบูชากันยกใหญ่ (พวกเขาไม่ได้เพราะอยาก “ได้” เธอ แต่ค่อนไปทางอยาก “เป็น” เธอเสียมากกว่า) สไตล์การแต่งตัวของแชร์สะท้อนทัศนคติ ซึ่งถูกใจเกย์ ในทำนอง “ทุกคนต้องมองฉัน และฉันก็ไม่แคร์ว่าพวกเขาจะคิดอย่างไร” ไม่นานต่อมา โชว์กะเทยจึงเริ่มแสดงเลียนแบบแชร์กันเป็นทิวแถว

บาร์บรา สตรัยแซนด์ คือ อีกหนึ่ง เกย์ ไอคอน ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เหล่ากะเทยโชว์ทั่วโลก ความมั่นใจของเธอส่อแววเด่นชัด ตั้งแต่สมัยเธอไปปรากฏตัวในรายการทางโทรทัศน์ของ จูดี้ การ์แลนด์ ชื่อ The Judy Garland Show เมื่อปี 1963 ทั้งสองชิงดีชิงเด่นกันอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางความแตกต่างที่สวนทางทั้งด้านบุคลิก สไตล์ น้ำเสียง และทัศนคติ (ขณะนั้นสตรัยแซนด์อายุเพียง 21 ปี แต่สามารถร้องเพลง Happy Days Are Here Again และ There’s No Business Like Show Business ประกบการ์แลนด์ได้อย่างไม่เกรงกลัวรัศมี)

คงไม่มีผู้หญิงถ่อมตัวคนไหนจะร้องเพลง Don’t Rain On My Parade แล้วทำให้คนดูตื่นตะลึงจนไม่อาจละสายตาจากจอหนังได้ เหมือนอย่างที่บาร์บราทำใน Funny Girl (1968) ภาพยนตร์เพลงซึ่งผลักดันเธอให้โด่งดังเป็นพลุแตกในชั่วข้ามคืน ถ้าเสียงร้องของการ์แลนด์เจือกลิ่นอายความเศร้าและความขัดแย้ง ซับซ้อน เสียงร้องของบาร์บราก็ท่วมทะลักด้วยความเชื่อมั่น พลังของคนที่พยายามจะทำลายกรอบกีดขวางรอบข้าง เพื่อเป็นตัวของตัวเอง... ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชายรักร่วมเพศจะคลั่งไคล้เธออย่างออกนอกหน้า

ดูเหมือนลูกสาวของ จูดี้ การ์แลนด์ อย่าง ไลซา มินเนลลี จะได้ส่วนผสมของทั้งสองมาแบบเต็มๆ นั่นคือ พลังเสียงเป็นเอกลักษณ์จากบาร์บราและความเปราะบางในบุคลิกจากแม่ ไม่นานต่อมา เธอจึงเจริญรอยตามการ์แลนด์ด้วยการดำรงสถานะของ เกย์ ไอคอน

แม้เสียงร้องของ เบ็ตต์ มิดเลอร์ จะน่าฟังไม่แพ้ใคร แต่ชาวเกย์ถูกดึงดูดเข้าหาเธอเนื่องจากบุคลิกอันโดดเด่นเสียมากกว่า แก๊กตลกของเธอเวลาอยู่บนเวที หรือท่ามกลางสป็อตไลท์ค่อนข้างเถรตรง ทะลึ่งปนทะเล้น หรือบางครั้งอาจถึงขั้นหยาบโลน เช่น เธอเคยปล่อยมุกเกี่ยวกับหนังโป๊เรื่อง Deep Throat (1972) อย่างไม่ขัดเขิน ขณะที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่กล้าแม้แต่จะเอ่ยนามหนังเรื่องนี้ด้วยซ้ำ เธออาจหาญพูดในสิ่งที่ผู้หญิง “ดีๆ” ส่วนใหญ่เขาไม่พูดกัน และนั่นโดนใจชาวเกย์ ซึ่งชอบเมาท์เรื่องเซ็กซ์และสรีระของผู้ชายเป็นหลัก สองหัวข้อที่กระทั่งดาวตลกชายบางคนยังไม่กล้าย่างกรายเข้าใกล้ คุณสมบัติ “ฮาปนห่าม” ข้างต้นถูกส่งผ่านไปยังดาวตลกรุ่นหลังอย่าง มาร์กาเร็ต โช และ แคธี่ กริฟฟิน ซึ่งกำลังได้รับความสนใจในหมู่รักร่วมเพศมากขึ้นเรื่อยๆ

สองเพศในร่างเดียว

ในหนังเรื่อง A Star Is Born (1954) จูดี้ การ์แลนด์ ดูเซ็กซี่ สวยสง่า และเป็นหนึ่งเดียวกับพวกผู้ชายในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะฉากร้องเพลง Gotta Have Me Go With You เช่นเดียวกับฉากร้องเพลง Get Happy ในหนังเรื่อง Summer Stock (1950) ซึ่งเธอดูเหมือนมนุษย์สองเพศ หรือกระทั่งไร้เพศ คล้ายคลึงกับภาพลักษณ์ของ มาร์ลีน ดีทริช และ เกรตา การ์โบ นอกจากนี้ การ์แลนด์ยังสานต่อส่วนผสมระหว่างความเป็นชายกับความเป็นหญิงไปยังการแสดงคอนเสิร์ตหลายๆ ครั้งด้วย โดยการสวมเสื้อเชิ้ตผู้ชายหลวมๆ ของเธอเปรียบเสมือนวิธีอำพรางรูปร่าง ซึ่งเป็นหลักฐานบ่งบอกเพศสถานะ

ด้วยมาตรฐานเดียวกัน ชาวเกย์จึงชื่นชอบผู้หญิงที่พูดหรือทำตัวเหมือนผู้ชาย อย่างน้อยก็เกี่ยวกับเรื่องบนเตียง ตัวละครใน Sex and the City กลายเป็นขวัญใจรักร่วมเพศ เพราะพวกเธอใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการนัดเพื่อนออกมานั่งเมาท์ กิน เที่ยวตระเวนราตรี และแลกเปลี่ยนของเหลวในร่างกายกับผู้ชายแปลกหน้า ไลฟ์สไตล์ดังกล่าวถือว่าใกล้เคียงกับวัฒนธรรมเกย์ในเมืองใหญ่อยู่ไม่น้อย แต่ประเด็นที่ซ่อนลึกลงไปกว่านั้น คือ ชาวเกย์ชื่นชอบสาวแรดร่านเหล่านี้เพราะพวกเธอไม่ยินยอมจะประพฤติตนตามกฎเกณฑ์ที่สังคมขีดเส้นไว้ว่า อะไร “เหมาะสม” อะไร “ไม่เหมาะสม” พวกเธอจึงเป็นเหมือนขบถ หรือคนนอก และนั่นถูกใจรักร่วมเพศยิ่งนัก

ถึงแม้ซีรีย์ Sex and the City จะฮิตถล่มทลายในชุมชนรักร่วมเพศ แต่นักแสดงที่รับบทเด่น น่าจะมีเพียง ซาราห์ เจสซิก้า พาร์คเกอร์ คนเดียวเท่านั้นที่สามารถบุกฝ่ามายืนอยู่แนวหน้าได้ เพราะเธอเริ่มแผ้วถางเส้นทางไว้ตั้งแต่ปี 1995 แล้ว เมื่อให้สัมภาษณ์ว่าเป้าหมายในอาชีพนักแสดงของเธอ คือ การเป็น เกย์ ไอคอน และหลังจากนั้นเป็นต้นมา เธอก็มักระบุขอบคุณบรรดาแฟนๆ ชาวเกย์ทั้งหลายที่คอยให้การสนับสนุนอยู่เสมอ

เจ้าหญิงไม่เอา เราชอบ “bitches”

เวลา จูดี้ การ์แลนด์ ร้องเพลง Over the Rainbow ความเศร้าในน้ำเสียงของเธอสามารถสัมผัสได้อย่างชัดเจน แม้ขณะกำลังบรรยายถึงความสวยงามของสายรุ้ง หรือฝูงนกบลูเบิร์ด มันสื่อนัยถึงความซับซ้อนเบื้องหลังภาพลักษณ์ผิวเผินอันบริสุทธิ์ สดใสที่ปรากฏให้เห็นบนจอ แง่มุมดังกล่าวจี้ใจชาวเกย์ ซึ่งต้องคอยปั้นหน้าเพื่อรักษาภาพลักษณ์ในสังคม ขณะพยายามปกปิดตัวตนที่แท้จริง สองด้านอันขัดแย้ง (ร่าเริงภายนอก ขมขื่นภายใน) ถูกตอกย้ำผ่านข่าวอื้อฉาวตลอดอาชีพนักแสดงของการ์แลนด์ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมติดเหล้า ติดยา หรือการเป็นลมกลางกองถ่าย ทั้งหมดนั้นส่งผลให้เกย์อดไม่ได้ที่จะนึกสงสารเห็นใจเธอในฐานะผู้หญิง ซึ่งชีวิตถูกบังคับควบคุมโดยเหล่าผู้บริหารสตูดิโอที่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นเพศชาย

โศกนาฏกรรมของการ์แลนด์อาจสะท้อนถึงความรู้สึกเบื้องลึกของรักร่วมเพศในการต้องหลบซ่อนรสนิยมทางเพศ (in the closet) แต่ยังมี เกย์ ไอคอน บางคนเหมือนกันที่แสดงบุคลิกตรงกันข้ามและเป็นที่ชื่นชอบของชาวเกย์ผ่านท่าทีอันเด็ดเดี่ยว ที่จะปลดแอกตนเองจากความคาดหวังและมาตรฐานทางสังคม สองตัวอย่างเด่นชัด คือ เบตตี้ เดวิส และ โจน ครอว์ฟอร์ด จากหนังคลาสสิกอย่าง Jezebel (1938) และ Mildred Pierce (1945) โดยตัวละครเอกในหนังทั้งสองเรื่องล้วนเป็นผู้หญิงที่ห่างไกลจากภาพลักษณ์ “นางเอกแสนดี” ซึ่งคนดูคุ้นเคย

ขณะเดียวกันในชีวิตจริง ผู้หญิงทั้งสองล้วนถูกขนานนามว่า “หัวแข็ง” ทำงานด้วยยาก และห้าวพอจะต่อกรกับเหล่าผู้บริหารสตูดิโอ เมื่อเห็นว่าอาชีพการงานของพวกเธอกำลังก้าวไปผิดทาง โดยทั้งเดวิสและครอว์ฟอร์ดต่างไม่ยินยอมจะถูกกักขังในกรอบของชีวิตแม่บ้าน (คนแรกผ่านการแต่งงานมาสี่ครั้ง ส่วนคนหลังห้าครั้ง) บุคลิกดื้อดึง และปฏิเสธการตีกรอบของพวกเธอสะท้อนให้เห็นความรู้สึกเบื้องลึกของเกย์ต่อสังคมรักต่างเพศ ที่พยายามจะกักขังพวกเขาให้ต้องอาศัยอยู่ในเงามืด ในกรอบแห่งความ “ปกติ”

คุณสมบัติดังกล่าวได้รับการเน้นย้ำให้หนักแน่นขึ้นเมื่อทั้งสองยิ่งแก่ตัว ในหนังเรื่อง Whatever Happened to Baby Jane? (1962) พวกเธอรับบทสองพี่น้องสาวแก่ ไร้สามี ที่ปฏิบัติต่อกันการอย่างโหดร้าย ทารุณ อันเป็นผลมาจากการแก่งแย่งชิงดีในแง่ชื่อเสียงและความสำเร็จทางด้านการงาน นอกเหนือจากหนังเรื่องนี้แล้ว ดาราทั้งสองยังมักถูกบีบให้ต้องรับบท “มนุษย์ไร้หัวใจ” หรือไม่ก็ “ปีศาจร้าย” อีกหลายเรื่องเมื่อพวกเธอเริ่มแก่ตัว (ดู Berserk! เป็นตัวอย่างเสริมในกรณีของครอว์ฟอร์ด) ซึ่งนั่นเปรียบเสมือนมุมมองของฮอลลีวู้ดต่อผู้หญิงสูงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้หญิงคนนั้นเย้ยหยันสถานะแม่ หรือเมีย เพื่อวิ่งตามหาความสำเร็จทางอาชีพและอิสระทางสถานภาพ แง่มุมนี้โดนใจเกย์ไม่น้อยเช่นกัน เพราะฮอลลีวู้ดก็มักจะมองรักร่วมเพศเป็นตัวประหลาด หรือไม่ก็ฆาตกร ขณะสังคมโดยรวมก็มองการเบี่ยงเบนออกจาก “มาตรฐาน” ทางเพศ ตลอดจนอุดมคติแห่งเพศชายของชาวเกย์เป็นเรื่องเลวร้าย ชวนให้ประณามหยามเหยียด

ลูกหลานของโดโรธี

แชร์: โด่งดังจากการจับคู่ร้องเพลงกับ ซอนนี่ โบโน ในนาม Sonny & Cher ก่อนจะแยกมาฉายเดี่ยว แล้วขุดเจอขุมทองอย่างจังกับอัลบั้ม Believe ซึ่งอัดแน่นด้วยเพลงแดนซ์อมตะที่เกย์คลั่งไคล้ (ขณะนั้นเธอมีอายุ 52 ปี) แชร์เป็นหนึ่งในศิลปินเพียงไม่กี่คนที่กะเทยทั่วโลกชอบนำไปแสดงเลียนแบบบนเวที นอกจากนี้ กลุ่มรักร่วมเพศยังถูกอกถูกใจ เมื่อเธอออกมาสนับสนุนลูกสาวเลสเบี้ยน เชสติตี้ โบโน อย่างหมดใจ และเป็นกระบอกเสียงให้ชุมชนชาวเกย์มาตลอด ในซิทคอมสุดฮิต Will & Grace แชร์เป็นศิลปินในดวงใจของตัวละครเกย์สาวแตกอย่าง แจ๊ค แม็คฟาร์แลนด์ (ฌอน เฮย์ส) หนังโดนใจเกย์: Silkwood (1983) แชร์รับบทเพื่อนเลสเบี้ยนของ คาเรน ซิลค์วูด (เมอรีล สตรีพ) สาวโรงงานนิวเคลียร์ที่พยายามจะเตือนทุกคนถึงอันตรายของกัมมันตภาพรังสี แต่เสียชีวิตอย่างลึกลับระหว่างขับรถนำเอกสารไปเปิดโปงกับหนังสือพิมพ์ นิวยอร์ก ไทมส์ บทดังกล่าวส่งผลให้เธอเข้าชิงออสการ์นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ก่อนสี่ปีต่อมาจะได้ออสการ์นำหญิงจาก Moonstruck (1987) แฝดสยาม: สินจัย เปล่งพานิช ได้ใจเกย์ไปเต็มๆ จากการร้องเพลงและนำแสดงในหนังเรื่อง ฉันรักผัวเขา ก่อนจะตอกย้ำสถานะ เกย์ ไอคอน ด้วย รักแห่งสยาม ตลอดจนการให้สัมภาษณ์สนับสนุนลูกชายอย่างเต็มที่ ไม่ว่าเขาจะเลือก “ตุ๊กตาชาย” หรือ “ตุ๊กตาหญิง”

มาดอนนา: คลุกคลีกับชาวรักร่วมเพศมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น เมื่อครูสอนบัลเลต์พาเธอตะลอนบาร์เกย์ แล้วโน้มน้าวให้เธอย้ายไปแมนฮัตตันเพื่อเดินตามฝันของการเป็นแดนเซอร์ เมื่อมาถึงเมืองใหญ่ เพื่อนกลุ่มแรกของเธอประกอบด้วยกะเทยสาวและเด็กขายน้ำ ในช่วงทศวรรษ 1980 หลังชื่อเสียงโด่งดังทะลุฟ้า เธอเป็นคนดังคนแรกที่สนับสนุนกองทุนค้นคว้าเกี่ยวกับโรคเอดส์ เพราะเพื่อนหลายคนของเธอเสียชีวิตด้วยโรคนี้ (เธอแต่งเพลง In This Life อุทิศแด่พวกเขา) เพลงสุดฮิตอย่าง Vogue ตลอดจนท่าเต้นอันเป็นเอกลักษณ์ ได้อิทธิพลจากกลุ่มนักเต้นใต้ดิน ซึ่งเป็นที่นิยมตามบาร์เกย์และดิสโก้ในกรุงนิวยอร์ก นิตยสาร The Advocate เคยโหวตให้เธอเป็น เกย์ ไอคอน ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเหนือ จูดี้ การ์แลนด์ หนังโดนใจเกย์: Evita (1996) เสียงร้องและฝีมือการแสดงของราชินีเพลงป็อปพัฒนาถึงขีดสุดในหนังเพลงเรื่องนี้ เธอรับบทเป็นสาวชาวบ้านที่ผลักดันตัวเองจนกลายเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งของประเทศอาเจนติน่า แฝดสยาม: คริสติน่า อากิล่าร์ กลายเป็นขวัญใจเกย์ตั้งแต่ออกอัลบั้มแรกแล้วดังระเบิดเถิดเทิง จนกระทั่งปัจจุบันเพลงแดนซ์อมตะตลอดกาลของเธออย่าง นินจา และ พลิกล็อก ยังคงถูกเปิดตามผับบาร์ชาวเกย์อย่างต่อเนื่อง ควรค่ากับสมญานามราชินีสีลมเป็นอย่างยิ่ง

เบ็ตต์ มิดเลอร์: ตั้งชื่อตาม เกย์ ไอคอน อีกคน นั่นคือ เบ็ตตี้ เดวิส แต่ถึงจะเขียนเหมือนกัน มิดเลอร์เลือกออกเสียงชื่อแรกแค่พยางค์เดียว เธอเริ่มต้นสร้างชื่อเสียงจากการร้องเพลงที่ คอนติเนนตัล บาธ ซึ่งเป็นโรงอาบน้ำสำหรับชาวเกย์ในนิวยอร์ก งานดังกล่าวทำให้เธอสนิทสนมกับนักเปียโน แบร์รี่ แมนิโลว์ ผู้ต่อมากลายเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับอัลบั้มแรก The Divine Miss M ที่กวาดคำชมจากนักวิจารณ์และขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เธอเคยเข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงสองครั้งจาก The Rose (1979) และ For the Boys (1991) “แม้ผลลัพธ์ที่ตามมาจะไม่น่าพิสมัย (โรคเอดส์ระบาด) แต่ฉันยังคงภูมิใจกับยุคสมัยของการร้องเพลงในโรงอาบน้ำ ฉันรู้สึกเหมือนยืนอยู่แถวหน้าในการเรียกร้องสิทธิ์ให้กับรักร่วมเพศ ฉันหวังว่าตัวเองจะมีส่วนช่วยผลักดันความเคลื่อนไหวนั้นไปข้างหน้า” เบ็ตต์กล่าว หนังโดนใจเกย์: Beaches (1988) ผลงานบีบน้ำตาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสองสาวเพื่อนรัก จุดเด่นอยู่ตรงเพลง Wind Beneath My Wings ซึ่งคว้าแกรมมี่สาขา Record of the Year มาครอง แฝดสยาม: เจนนิเฟอร์ คิ้ม อาจหน้าไม่สวย หุ่นไม่เร้าใจ แต่เธอมากอารมณ์ขัน โดยเฉพาะมุกประเภทใต้สะดือ และร้องเพลงเจ็บปวดได้สะเทือนหัวใจ นอกจากนี้ เกย์ยังอินกับความล้มเหลวของเธอในการหาผู้ชายดีๆ สักคนมาครองจนเคยคิดฆ่าตัวตาย

ไลซา มินเนลลี: สืบทอดสายเลือด เกย์ ไอคอน มาจาก “ตัวแม่” (เธอเป็นลูกสาวของ จูดี้ การ์แลนด์ กับสามีคนที่สอง วินเซนต์ มินเนลลี) เริ่มเล่นหนังตั้งแต่อายุสามขวบใน In the Good Old Summertime (1949) ซึ่งนำแสดงโดยแม่ของเธอกับ แวน จอห์นสัน แต่ดูเหมือนชะตากรรมจะโยงใยไลซากับละครบรอดเวย์มากกว่า ชาวเกย์ชื่นชอบภาพลักษณ์ของเธอจาก Cabaret และนิยมนำมาเลียนแบบ (แต่งหน้าเข้ม เน้นขนตายาวสลวย ผมทรงหมวกกันน็อกสีดำขลับ ซึ่งให้อารมณ์ผสมผสานระหว่างความเปราะบาง ความเด็ดเดี่ยว โหยหารัก และการปลดปล่อยตัวเองจากโลกแห่งความจริง) นอกจากนี้ เธอยังเป็นลูกไม้หล่นใต้ต้นจากประวัติเรื้อรังเรื่องยาเสพติด และความล้มเหลวในชีวิตสมรส (เธอแต่งงานทั้งหมดสี่ครั้ง) หนังโดนใจเกย์: Cabaret (1972) รับบทเป็นนักร้องคาบาเรต์ที่ไปหลงรักหนุ่มหล่อ แต่เขาดันไปติดผู้ชายอีกคน ไลซาทุ่มเทหมดตัวให้กับการสวมวิญญาณ แซลลี่ บาวเลส จนคว้าออสการ์นำหญิงมาครองแบบไร้ข้อกังขา แฝดสยาม: เสาวลักษณ์ ลีละบุตร ลูกสาวนักร้อง ฉันทนา กิตติยพันธ์ แต่งเพลงอกหักรักคุดออกมาเป็นกุรุสหลังโดนผู้ชายทิ้ง ชาวเกย์เลยเริ่มหันมาสนใจ ต่อมาเมื่อเธอเลือกครองตัวเป็นโสด ดำรงสถานะสาวห้าว ก๋ากั่น และมีความสุขกับการใช้ชีวิตขัดกับค่านิยมความเป็นหญิง พวกเกย์ยิ่งเทใจให้

ซาราห์ เจสซิก้า พาร์คเกอร์: แรกเริ่มก็เป็นแค่ดาราธรรมดา ไม่โดนใจเกย์เท่าไหร่ จนกระทั่งมารับบทนำในซีรีย์สุดฮิตวัดความสั่นสะเทือนในย่านชาวเกย์ได้ประมาณ 8 ริกเตอร์เรื่อง Sex and the City (1998-2004) เนื่องจากพฤติกรรมของสี่สาวในซีรีย์ถูกมองว่าห่างไกลจากผู้หญิงจริงๆ แต่ใกล้เคียงกับเกย์มากกว่า โดยเฉพาะการเปลี่ยนคู่ขาไม่ซ้ำหน้า แถมยังเก็บเอาประสบกามสุดสวิงมาเมาท์กันในกลุ่มเพื่อนแบบไม่มีเขินอายอีกด้วย รายละเอียดที่เกย์แอบกรี๊ดอีกอย่างของซีรีย์ชุดนี้ คือ ขบวนพาเหรดเสื้อผ้าสุดเก๋ รองเท้าสุดหรู และเครื่องประดับสุดไฮโซ จนแทบจะเรียกว่าเป็นสวรรค์สีรุ้งได้เลย หนังโดนใจเกย์: Sex and the City (2008) แครี่ แบรดชอว์ ดูเหมือนจะสะกิดใจเกย์มากกว่าตัวละครอื่นในเรื่องตรงที่เธอยังคงเชื่อมั่นในรักโรแมนติก และแม้ภายนอกจะแสดงตัวเป็นสาวมั่นประเภทสวยเริดเชิดหยิ่ง แต่ภายในกลับเก็บซ่อนความเปราะบางและอ่อนไหวทางอารมณ์เอาไว้ แฝดสยาม: มาช่า วัฒนพานิช อาจไม่ใช่ขวัญใจชาวเกย์ในช่วงแรกของอาชีพนักแสดง แต่ระยะหลังเธอเริ่มหันทำเพลงแดนซ์เอาใจกลุ่มเด็กอตก. มากขึ้น ความแกร่งในการยืนบนลำแข้งตัวเอง เลี้ยงดูลูกชายเพียงลำพังยังดึงดูดใจชาวเกย์ได้ไม่น้อย รวมถึงการบรรลุความฝันอันสูงสุดของชาวเกย์ นั่นคือ มีสามีเด็กกว่า

บาร์บรา สตรัยแซนด์: เป็นหนึ่งในดารา/นักร้องเพียงไม่กี่คนที่คว้าออสการ์ เอ็มมี่ และแกรมมี่มาครองอย่างครบถ้วน เธอเริ่มต้นอาชีพด้วยการร้องเพลงตามไนท์คลับ ก่อนจะโด่งดังจากการแสดงในบาร์เกย์และย่อชื่อบาร์บาราให้เหลือแค่บาร์บราเพื่อความโดดเด่น นอกจากร้องเพลง เล่นหนัง เล่นละครแล้ว เธอยังเคยกำกับ The Prince of Tides (1991) จนเข้าชิงออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาแล้ว ในหนังตลกเรื่อง In & Out (1997) คาลวิน ไคลน์ รับบทชายหนุ่มที่สารภาพกลางงานแต่งว่าเขาเป็นเกย์ ส่งผลให้ว่าที่เจ้าสาวผู้โชคร้าย (โจน คูแซ็ค) ต้องระบายความอัดอั้นออกมา “คุณรู้ไหมว่าฉันต้องทนดู Funny Lady (ภาคต่อของ Funny Girl) ไปตั้งกี่รอบ” มันพิสูจน์ให้เห็นว่าชาวเกย์รักบาร์บรามากแค่ไหน หนังโดนใจเกย์: Funny Girl (1968) เรื่องราวของดาวตลกหญิงที่ไต่เต้าจากสลัมชาวยิวจนมามีชื่อเสียงระดับประเทศ บาร์บราร้อง เต้น เล่นสเกต ปล่อยมุกตลก และเหวี่ยงหมัดเด็ดน็อกหัวใจคนดูอย่างทรงพลังจนคว้าออสการ์นักแสดงนำหญิงมาครอง แฝดสยาม: ใหม่ เจริญปุระ เป็นหนึ่งในนักแสดงเพียงไม่กี่คนที่ร้องเพลงได้อย่างทรงพลัง เธอยืนหยัดผ่านข่าวร้ายๆ จากฝีมือป้ายสีของคนอื่นอย่างไม่ย่อท้อ แถมยังส่งกลิ่นอายจางๆ ของมนุษย์สองเพศ... แบบนี้เกย์ชอบ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ