
เป็นเรื่องบังเอิญอันน่าประหลาดในบ้านเรา ที่หนังเรื่อง Teeth (2007) เข้าฉายสัปดาห์เดียวกับ Twilight (2008) เพราะถึงแม้โดยเนื้อหาภายนอก หนังทั้งสองเรื่องดูเหมือนจะไม่สามารถเชื่อมโยงใดๆ ถึงกันได้ แต่หากมองทะลุเปลือกเข้าไปแล้ว คุณจะพบว่าพวกมันล้วนสะท้อนให้เห็นแฟนตาซีของเพศหญิง แต่อาจเรียกได้ว่าเป็นแฟนตาซี “ขั้วตรงข้าม” ของกันและกันก็ได้ (ความบังเอิญอีกอย่าง คือ ตัวเอกใน Teeth มีชื่อว่า ดอว์น หรือ รุ่งอรุณ ซึ่งตรงกันข้ามกับชื่อหนังเรื่อง Twilight ที่หมายถึงแสงสุดท้ายก่อนความมืดมิดแห่งรัตติกาลจะมาเยือน)
สเตฟานี ไมเออร์ ผู้แต่งนิยายชุดนี้เป็นมอร์มอนที่เคร่งศาสนา (จะว่าไปก็คงไม่แตกต่างจากดอว์นในช่วงต้นเรื่องของ Teeth สักเท่าไหร่) ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม Twilight ถึงนำเสนอ “อารมณ์ทางเพศของผู้หญิง” ในฐานะสิ่งของต้องห้าม และอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต โดยจุดพลิกผันเล็กๆ อยู่ตรง คนที่หลีกเลี่ยงไม่อยากมีเซ็กซ์กลับกลายเป็นเพศชาย (เอ็ดเวิร์ด) เพราะเขากลัวว่าจะเผลอทำร้ายเธอด้วยพลังเหนือธรรมชาติ หรือดูดเลือดเธอด้วยความกระหายตามสัญชาตญาณแวมไพร์ (ครอบครัวเอ็ดเวิร์ดเป็นแวมไพร์มังสวิรัติ พวกเขาฝึกฝนตนให้ดูดเลือดสัตว์เป็นอาหารและไม่ทำร้ายมนุษย์) “ความปลอดภัย” ของเบลล่าจึงกลายเป็นสัญลักษณ์แทน “พรหมจรรย์” ซึ่งเอ็ดเวิร์ดพยายามปกป้องคุ้มครองด้วยความทุ่มเทเต็มร้อย
นี่มันโลกแฟนตาซียิ่งกว่า มิดเดิล เอิร์ธ ซะอีก! โลกที่หญิงสาวสามารถเปิดเผยความต้องการได้อย่างอิสระ แล้วปล่อยใจให้ชายหนุ่มได้โดยไม่ต้องรู้สึกละอาย เพราะเขาจะเป็นคนคอย “ปกป้อง” พรหมจรรย์ของเธอเอาไว้จนกว่าจะถึงเวลาอันควร
ในโลกของมอร์มอน เป้าหมายของผู้หญิง คือ รักษาความบริสุทธิ์เอาไว้จนกระทั่งวันวิวาห์ ปกป้องตัวเองจากเหล่าผู้ชายหื่นกระหายทั้งหลายและควบคุมอารมณ์อันพลุ่งพล่านของตนเอง แม้จะพลิกผัน “หน้าที่เฝ้าประตู” จากผู้หญิงมาเป็นผู้ชาย (และโชคดีเหลือเกินที่ผู้ชายคนดังกล่าวช่างเต็มไปด้วยความรับผิดชอบและเก็บกดอารมณ์ได้เป็นเลิศ) แต่ Twilight ยังคงมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ผู้ชาย หรือแวมไพร์ ยังคงเป็นตัวแปรอันตรายและคุกคามความบริสุทธิ์ ส่วนผู้หญิงยังคงเปราะบาง อ่อนแอ การมีเพศสัมพันธ์อาจนำมาซึ่ง “ความตาย” (ความหมายแบบตรงตัวใน Twilight และความหมายเชิงนัยยะ นั่นคือ ความตายของสถานภาพทางสังคม ในโลกแห่งมอร์มอน)
การเปลี่ยนบทบาทให้ผู้หญิงไม่ต้องเป็นคนรับหน้าที่ปกป้องพรหมจรรย์ของตนเองจากเหล่าชายหนุ่มกลัดมันนำไปสู่อีกแฟนตาซีเพศหญิง ซึ่งดำรงอยู่คู่วัฒนธรรมของเรามาช้านาน (ในที่นี้หมายถึงวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่)
เพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งของผมเล่าให้ฟังว่า ฉากที่เธอชอบมากที่สุดของหนัง คือ ตอนท้ายเรื่องเมื่อเอ็ดเวิร์ดอุ้มเบลล่า (ใส่เฝือก) ข้ามธรณีประตูเข้าสู่งานพรอม พอผมถามเหตุผล เธอกลับตอบเรียบๆ แค่ว่า “ดูน่ารักดี” อย่างไรก็ตาม ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเธอถึงชอบฉากนี้ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ขอผมร่ายรายละเอียดเกี่ยวกับเพื่อนคนนี้เพิ่มเติมสักเล็กน้อย (อย่าหาว่าเอาเพื่อนมาเมาท์เลยนะ) เธอชื่นชอบละครและหนังเกาหลีโรแมนติกเป็นชีวิตจิตใจ (และไม่น่าจะรู้จักผลงานของผู้กำกับอย่าง คิมคีด็อค) บุคลิกโดยรวมค่อนข้างห้าว พูดจาโผงผางในบางเวลา จนหลายคนมองว่าเธอเป็นทอม เธอจะชื่นชมผู้ชายที่เปิดประตูให้ ช่วยถือของ ฯลฯ และด่าว่าผู้ชายที่ไม่แสดงคุณสมบัติทางอุดมคติว่า “ไม่เป็นสุภาพบุรุษเอาซะเลย” ปัจจุบันเธอยังไม่มีแฟนเป็นตัวเป็นตน แต่อยากมีมาก จนต้องไปบนบานศาลกล่าวก็เคย โดยเวลาถามถึงหนุ่มในสเป็ค เธอมักจะตอบว่าต้องมีฐานะดีกว่า สูงกว่า ฉลาดกว่า แต่ห้ามผอมกว่า!?!
แม้จะมีงานทำ หาเงินเลี้ยงตัวเองได้ แต่สุดท้ายเธอก็ยังใฝ่ฝันอยากมีผู้ชายสักคนที่เข้มแข็งมาดูแล ปกป้อง เหมือนคนใส่เฝือกที่เดินไม่ถนัด แล้วมี “สุภาพบุรุษ” มาคอยอุ้มข้ามอุปสรรคทั้งหลายอยู่นั่นเอง
ในทางจิตวิทยา ได้มีการคิดค้นคำว่า Cinderella Complex ขึ้นมาสำหรับอธิบายแรงปรารถนาที่จะพึ่งพิง หรือได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคนอื่น และหวาดกลัวการยืนหยัดบนลำแข้งของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในหมู่เพศหญิง แถมยังจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น จุดกำเนิดของคำดังกล่าว คือ ตัวเอกในนิทานเรื่อง Cinderella ซึ่งเป็นผู้หญิงสวย ฉลาด และสุภาพอ่อนโยน แต่กลับไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และต้องรอคอยความช่วยเหลือจากพลังภายนอก (เจ้าชาย) มาทำให้เธอได้พบกับความสุข สมหวัง ส่วนตัวละครผู้หญิงที่ทรงพลังและเข้มแข็งกลับถูกวาดภาพให้เป็นนังวายร้ายที่ควรค่าแก่การเกลียดชัง (แม่เลี้ยง)
“การเดินทาง” ของเบลล่า (Twilight) กับดอว์น (Teeth) พลิกตาลปัตรกันอย่างสิ้นเชิง ดอว์นเริ่มต้นเรื่องด้วยการมีทุกสิ่งทุกอย่าง รวมถึงพรหมจรรย์ เธอไร้เดียงสา อ่อนต่อโลก พยายามเก็บกดความต้องการทางเพศเอาไว้ภายใน แต่พอถึงตอนจบดอว์นสูญเสียแม่ (ครอบครัวทางสายเลือดเพียงคนเดียว) ตัดขาดจากสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ (ลูกพี่ลูกน้องและพ่อเลี้ยง) สูญเสียพรหมจรรย์ (แต่ได้รู้จักความหรรษาทางเพศ) ไม่เหลือมนุษย์เพศชายคอยปกป้อง (ชายหนุ่มที่เธอรักดันพยายามจะข่มขืนเธอ ส่วนผู้ชายอีกคนเห็นเธอเป็นแค่ตุ๊กตายางมีชีวิต) แต่ได้เรียนรู้ที่จะยืนหยัดบนขาของตัวเอง (พร้อมสรรพด้วยอาวุธลับทีเด็ดอย่าง “กลีบเขมือบ”) รอยยิ้มสุดท้ายของดอว์นก่อนจอหนังจะขึ้นเครดิตหนังสะท้อนให้คนดูตระหนักว่าเธอหาใช่เด็กสาวอ่อนเปลี้ย ไร้เดียงสาเหมือนในตอนต้นเรื่องอีกต่อไป
ตรงกันข้าม เบลล่าเริ่มต้นเรื่องด้วยภาพลักษณ์ของเด็กสาวที่แข็งแกร่ง เธอตัดสินใจเดินทางมาอยู่กับพ่อในเมืองต่างถิ่น เพื่อให้แม่ได้อยู่กับคนรัก เธอขับรถกระบะคันยักษ์ไปโรงเรียน (พาหนะหลักของดอว์น คือ รถจักรยาน) และไม่สนใจพวกเด็กหนุ่มที่มาคลอเคลียเธอตั้งแต่วันแรก เธอไม่ตื่นเต้นเรื่องงานพรอม การเลือกซื้อชุด หรือหาคู่เดท เหมือนเด็กสาวมัธยมทั่วไป แต่พอถึงตอนจบ เบลล่ากลับกลายเป็นหญิงสาวที่ต้องพึ่งพิงเอ็ดเวิร์ดอย่างสิ้นเชิง (สุภาพบุรุษแวมไพร์ตนนี้ได้ “ช่วยชีวิต” เธอไว้ถึงสามครั้ง แถมยังคอยวิ่งมาเปิดประตูรถให้ และอุ้มเธอข้ามธรณีประตู) แม่อยากให้เธอไปอยู่ด้วย เธอปรับความเข้าใจกับพ่อได้ และลงรอยกับครอบครัวของเอ็ดเวิร์ด สรุปว่าสุดท้ายเธอมีครอบครัวให้เลือกถึงสามครอบครัวด้วยกัน หลังจากช่วงต้นเรื่องจำเป็นต้องยืนบนลำแข้งของตัวเอง เธอลงเอยด้วยการมาร่วมงานพรอม แต่ต้องเต้นรำบนเท้าของเอ็ดเวิร์ด ความอ่อนแอ เปราะบางของเธอถูกเน้นย้ำบ่อยครั้ง... ที่สำคัญ นอกจากไม่ต้องสูญเสียอะไรแล้ว เธอยังรักษาพรหมจรรย์เอาไว้ได้ในตอนจบ และไม่มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับความหรรษาทางเพศ
ถึงตอนนี้ Twilight ให้ความรู้สึกเหมือนการนำเอา Thelma & Louise มาเล่าย้อนหลังยังไงพิกล