วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 30, 2551

ดูแลฉัน! ปกป้องฉัน! และอย่ามีเซ็กซ์กับฉัน!


เป็นเรื่องบังเอิญอันน่าประหลาดในบ้านเรา ที่หนังเรื่อง Teeth (2007) เข้าฉายสัปดาห์เดียวกับ Twilight (2008) เพราะถึงแม้โดยเนื้อหาภายนอก หนังทั้งสองเรื่องดูเหมือนจะไม่สามารถเชื่อมโยงใดๆ ถึงกันได้ แต่หากมองทะลุเปลือกเข้าไปแล้ว คุณจะพบว่าพวกมันล้วนสะท้อนให้เห็นแฟนตาซีของเพศหญิง แต่อาจเรียกได้ว่าเป็นแฟนตาซี “ขั้วตรงข้าม” ของกันและกันก็ได้ (ความบังเอิญอีกอย่าง คือ ตัวเอกใน Teeth มีชื่อว่า ดอว์น หรือ รุ่งอรุณ ซึ่งตรงกันข้ามกับชื่อหนังเรื่อง Twilight ที่หมายถึงแสงสุดท้ายก่อนความมืดมิดแห่งรัตติกาลจะมาเยือน)

สเตฟานี ไมเออร์ ผู้แต่งนิยายชุดนี้เป็นมอร์มอนที่เคร่งศาสนา (จะว่าไปก็คงไม่แตกต่างจากดอว์นในช่วงต้นเรื่องของ Teeth สักเท่าไหร่) ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม Twilight ถึงนำเสนอ “อารมณ์ทางเพศของผู้หญิง” ในฐานะสิ่งของต้องห้าม และอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต โดยจุดพลิกผันเล็กๆ อยู่ตรง คนที่หลีกเลี่ยงไม่อยากมีเซ็กซ์กลับกลายเป็นเพศชาย (เอ็ดเวิร์ด) เพราะเขากลัวว่าจะเผลอทำร้ายเธอด้วยพลังเหนือธรรมชาติ หรือดูดเลือดเธอด้วยความกระหายตามสัญชาตญาณแวมไพร์ (ครอบครัวเอ็ดเวิร์ดเป็นแวมไพร์มังสวิรัติ พวกเขาฝึกฝนตนให้ดูดเลือดสัตว์เป็นอาหารและไม่ทำร้ายมนุษย์) “ความปลอดภัย” ของเบลล่าจึงกลายเป็นสัญลักษณ์แทน “พรหมจรรย์” ซึ่งเอ็ดเวิร์ดพยายามปกป้องคุ้มครองด้วยความทุ่มเทเต็มร้อย

นี่มันโลกแฟนตาซียิ่งกว่า มิดเดิล เอิร์ธ ซะอีก! โลกที่หญิงสาวสามารถเปิดเผยความต้องการได้อย่างอิสระ แล้วปล่อยใจให้ชายหนุ่มได้โดยไม่ต้องรู้สึกละอาย เพราะเขาจะเป็นคนคอย “ปกป้อง” พรหมจรรย์ของเธอเอาไว้จนกว่าจะถึงเวลาอันควร

ในโลกของมอร์มอน เป้าหมายของผู้หญิง คือ รักษาความบริสุทธิ์เอาไว้จนกระทั่งวันวิวาห์ ปกป้องตัวเองจากเหล่าผู้ชายหื่นกระหายทั้งหลายและควบคุมอารมณ์อันพลุ่งพล่านของตนเอง แม้จะพลิกผัน “หน้าที่เฝ้าประตู” จากผู้หญิงมาเป็นผู้ชาย (และโชคดีเหลือเกินที่ผู้ชายคนดังกล่าวช่างเต็มไปด้วยความรับผิดชอบและเก็บกดอารมณ์ได้เป็นเลิศ) แต่ Twilight ยังคงมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ผู้ชาย หรือแวมไพร์ ยังคงเป็นตัวแปรอันตรายและคุกคามความบริสุทธิ์ ส่วนผู้หญิงยังคงเปราะบาง อ่อนแอ การมีเพศสัมพันธ์อาจนำมาซึ่ง “ความตาย” (ความหมายแบบตรงตัวใน Twilight และความหมายเชิงนัยยะ นั่นคือ ความตายของสถานภาพทางสังคม ในโลกแห่งมอร์มอน)

การเปลี่ยนบทบาทให้ผู้หญิงไม่ต้องเป็นคนรับหน้าที่ปกป้องพรหมจรรย์ของตนเองจากเหล่าชายหนุ่มกลัดมันนำไปสู่อีกแฟนตาซีเพศหญิง ซึ่งดำรงอยู่คู่วัฒนธรรมของเรามาช้านาน (ในที่นี้หมายถึงวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่)

เพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งของผมเล่าให้ฟังว่า ฉากที่เธอชอบมากที่สุดของหนัง คือ ตอนท้ายเรื่องเมื่อเอ็ดเวิร์ดอุ้มเบลล่า (ใส่เฝือก) ข้ามธรณีประตูเข้าสู่งานพรอม พอผมถามเหตุผล เธอกลับตอบเรียบๆ แค่ว่า “ดูน่ารักดี” อย่างไรก็ตาม ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเธอถึงชอบฉากนี้ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ขอผมร่ายรายละเอียดเกี่ยวกับเพื่อนคนนี้เพิ่มเติมสักเล็กน้อย (อย่าหาว่าเอาเพื่อนมาเมาท์เลยนะ) เธอชื่นชอบละครและหนังเกาหลีโรแมนติกเป็นชีวิตจิตใจ (และไม่น่าจะรู้จักผลงานของผู้กำกับอย่าง คิมคีด็อค) บุคลิกโดยรวมค่อนข้างห้าว พูดจาโผงผางในบางเวลา จนหลายคนมองว่าเธอเป็นทอม เธอจะชื่นชมผู้ชายที่เปิดประตูให้ ช่วยถือของ ฯลฯ และด่าว่าผู้ชายที่ไม่แสดงคุณสมบัติทางอุดมคติว่า “ไม่เป็นสุภาพบุรุษเอาซะเลย” ปัจจุบันเธอยังไม่มีแฟนเป็นตัวเป็นตน แต่อยากมีมาก จนต้องไปบนบานศาลกล่าวก็เคย โดยเวลาถามถึงหนุ่มในสเป็ค เธอมักจะตอบว่าต้องมีฐานะดีกว่า สูงกว่า ฉลาดกว่า แต่ห้ามผอมกว่า!?!

แม้จะมีงานทำ หาเงินเลี้ยงตัวเองได้ แต่สุดท้ายเธอก็ยังใฝ่ฝันอยากมีผู้ชายสักคนที่เข้มแข็งมาดูแล ปกป้อง เหมือนคนใส่เฝือกที่เดินไม่ถนัด แล้วมี “สุภาพบุรุษ” มาคอยอุ้มข้ามอุปสรรคทั้งหลายอยู่นั่นเอง

ในทางจิตวิทยา ได้มีการคิดค้นคำว่า Cinderella Complex ขึ้นมาสำหรับอธิบายแรงปรารถนาที่จะพึ่งพิง หรือได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคนอื่น และหวาดกลัวการยืนหยัดบนลำแข้งของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในหมู่เพศหญิง แถมยังจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น จุดกำเนิดของคำดังกล่าว คือ ตัวเอกในนิทานเรื่อง Cinderella ซึ่งเป็นผู้หญิงสวย ฉลาด และสุภาพอ่อนโยน แต่กลับไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และต้องรอคอยความช่วยเหลือจากพลังภายนอก (เจ้าชาย) มาทำให้เธอได้พบกับความสุข สมหวัง ส่วนตัวละครผู้หญิงที่ทรงพลังและเข้มแข็งกลับถูกวาดภาพให้เป็นนังวายร้ายที่ควรค่าแก่การเกลียดชัง (แม่เลี้ยง)

“การเดินทาง” ของเบลล่า (Twilight) กับดอว์น (Teeth) พลิกตาลปัตรกันอย่างสิ้นเชิง ดอว์นเริ่มต้นเรื่องด้วยการมีทุกสิ่งทุกอย่าง รวมถึงพรหมจรรย์ เธอไร้เดียงสา อ่อนต่อโลก พยายามเก็บกดความต้องการทางเพศเอาไว้ภายใน แต่พอถึงตอนจบดอว์นสูญเสียแม่ (ครอบครัวทางสายเลือดเพียงคนเดียว) ตัดขาดจากสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ (ลูกพี่ลูกน้องและพ่อเลี้ยง) สูญเสียพรหมจรรย์ (แต่ได้รู้จักความหรรษาทางเพศ) ไม่เหลือมนุษย์เพศชายคอยปกป้อง (ชายหนุ่มที่เธอรักดันพยายามจะข่มขืนเธอ ส่วนผู้ชายอีกคนเห็นเธอเป็นแค่ตุ๊กตายางมีชีวิต) แต่ได้เรียนรู้ที่จะยืนหยัดบนขาของตัวเอง (พร้อมสรรพด้วยอาวุธลับทีเด็ดอย่าง “กลีบเขมือบ”) รอยยิ้มสุดท้ายของดอว์นก่อนจอหนังจะขึ้นเครดิตหนังสะท้อนให้คนดูตระหนักว่าเธอหาใช่เด็กสาวอ่อนเปลี้ย ไร้เดียงสาเหมือนในตอนต้นเรื่องอีกต่อไป

ตรงกันข้าม เบลล่าเริ่มต้นเรื่องด้วยภาพลักษณ์ของเด็กสาวที่แข็งแกร่ง เธอตัดสินใจเดินทางมาอยู่กับพ่อในเมืองต่างถิ่น เพื่อให้แม่ได้อยู่กับคนรัก เธอขับรถกระบะคันยักษ์ไปโรงเรียน (พาหนะหลักของดอว์น คือ รถจักรยาน) และไม่สนใจพวกเด็กหนุ่มที่มาคลอเคลียเธอตั้งแต่วันแรก เธอไม่ตื่นเต้นเรื่องงานพรอม การเลือกซื้อชุด หรือหาคู่เดท เหมือนเด็กสาวมัธยมทั่วไป แต่พอถึงตอนจบ เบลล่ากลับกลายเป็นหญิงสาวที่ต้องพึ่งพิงเอ็ดเวิร์ดอย่างสิ้นเชิง (สุภาพบุรุษแวมไพร์ตนนี้ได้ “ช่วยชีวิต” เธอไว้ถึงสามครั้ง แถมยังคอยวิ่งมาเปิดประตูรถให้ และอุ้มเธอข้ามธรณีประตู) แม่อยากให้เธอไปอยู่ด้วย เธอปรับความเข้าใจกับพ่อได้ และลงรอยกับครอบครัวของเอ็ดเวิร์ด สรุปว่าสุดท้ายเธอมีครอบครัวให้เลือกถึงสามครอบครัวด้วยกัน หลังจากช่วงต้นเรื่องจำเป็นต้องยืนบนลำแข้งของตัวเอง เธอลงเอยด้วยการมาร่วมงานพรอม แต่ต้องเต้นรำบนเท้าของเอ็ดเวิร์ด ความอ่อนแอ เปราะบางของเธอถูกเน้นย้ำบ่อยครั้ง... ที่สำคัญ นอกจากไม่ต้องสูญเสียอะไรแล้ว เธอยังรักษาพรหมจรรย์เอาไว้ได้ในตอนจบ และไม่มีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับความหรรษาทางเพศ

ถึงตอนนี้ Twilight ให้ความรู้สึกเหมือนการนำเอา Thelma & Louise มาเล่าย้อนหลังยังไงพิกล

วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 23, 2551

ทุนเขมือบ


หลังจากพูดถึงประเด็นชาย-หญิงใน Teeth ไปเมื่อบทความก่อน คราวนี้ผมอยากจะลองหันมาพิจารณาอีกประเด็นซึ่งปรากฏควบคู่ในหนัง แต่อาจจะไม่เด่นชัดเท่า และให้ความรู้สึกเชิง “นัยยะ” มากกว่า แต่ถือว่ามันเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับภาพรวมของหนัง

ใครก็ตามที่ได้ดู Teeth คงอดแปลกใจไม่ได้กับภาพปล่องโรงงานพลังนิวเคลียร์ ซึ่งถูกสอดแทรกเข้ามา (คิดว่าน่าจะผ่านเทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟฟิก) ในหนังอย่างน้อยสี่ครั้งโดยปราศจากคำอธิบายเพิ่มเติมใดๆ มองโดยผิวเผิน นี่คงเป็นความพยายามอันเรียบง่ายของทีมสร้างหนังที่จะอธิบายสาเหตุแห่ง “กลีบเขมือบ” (แม่ของดอว์นเองก็ป่วยเป็นโรคร้ายแรง ซึ่งไม่ถูกระบุแน่ชัด แต่ตีความได้ว่าอาจเป็นผลมาจากการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี) ว่าเกิดจากการแปลงพันธุ์ หรือการบิดเบือนทางโครโมโซม

การ์ตูน The Simpsons เคยเล่นแก๊กตลกเกี่ยวกับการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีจนส่งผลให้สิ่งมีชีวิตบนโลกกลายพันธุ์เป็นสัตว์ประหลาด เช่น ปลามีขา หรือกบมีสิบตา อะไรทำนองนี้อยู่หลายครั้ง และนักวิจารณ์ภาพยนตร์ในเมืองนอกคนหนึ่งก็ได้เปรียบเทียบปล่องโรงงานใน Teeth ว่าให้อารมณ์คล้ายกับปล่องโรงงานนิวเคลียร์ที่ โฮเมอร์ ซิมป์สัน ทำงานอยู่



ฉากหลังของ Teeth แทบจะไม่แตกต่างจากสปริงฟิลด์ใน The Simpsons ตรงที่มันเป็นเมืองชนบทเล็กๆ ที่ยังเต็มไปด้วยธรรมชาติ เช่น ป่าเขา น้ำตก และทะเลสาบ ด้วยเหตุนี้ปล่องโรงงานนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ ที่ปล่อยควันจำนวนมหาศาลจึงเป็นสิ่งเดียวที่ดู “ไม่เข้าพวก” และขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกคุกคาม คล้ายเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ถูกยัดเยียด สอดใส่เข้ามาทำลายบรรยากาศอันเงียบสงบ ร่มรื่น หรือพูดอีกนัยหนึ่ง มันไม่ต่างจากภาพสัญลักษณ์ของการ “ข่มขืน” สังคมชนบทโดยชาวเมืองและทุนนิยม

การแบ่งแยก/ขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบทถือเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งในหนังสยองขวัญ ซึ่งมักเริ่มต้นเล่าเรื่องด้วยการให้ชาวเมืองกลุ่มหนึ่งย้ายบ้าน หรือแวะไปพักผ่อนยังชนบทอันห่างไกล (บรรดาบ้านผีสิงทั้งหลายถ้าไม่ตั้งอยู่กลางป่าเขา ก็มักจะเป็นเขตชานเมืองรอบนอก ส่วนแคมป์พักร้อน ซึ่งใช้เป็นฉากหลังในหนังแนว slasher films หลายเรื่องก็มักจะอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติเช่นกัน นิยายของ สตีเฟ่น คิง นิยมใช้พล็อตประเภทนี้เช่นกัน อาทิ Misery และ The Shining) จุดแรกเริ่มของมันคงได้แรงบันดาลใจมาจากพวกนิทานพื้นบ้านทั้งหลาย การเดินทางจากเมืองไปสู่ชนบทในหนังสยองขวัญก็คล้ายการเดินทางออกจากหมู่บ้านไปยังป่าเขาในนิทานเก่าแก่ เช่น ตำนานหนูน้อยหมวกแดง โดยหากคุณเปลี่ยนหมาป่าเป็นชายกลุ่มหนึ่ง เปลี่ยนฉาก “กิน” มาเป็น “ข่มขืน” ตัดบทนายพรานออก แล้วเปลี่ยนเป็นให้หนูน้อยหมวกแดงช่วยชีวิตตัวเธอเอง คุณก็จะได้หนังอย่าง I Spit on Your Grave (นักเขียนสาวชาวเมืองไปพักร้อนในชนบทแล้วถูกหนุ่มบ้านนอกกลุ่มหนึ่งรุมข่มขืนอย่างโหดเหี้ยม ต่อมาเธอจึงตามล่า แล้วฆ่าพวกมันทิ้งทีละคน)

รูปแบบของสังคมเมือง “ข่มขืน” สังคมชนบทพบเห็นอยู่เนืองๆ ในหนังสยองขวัญ The Hiils Have Eyes มีฉากหลังเป็นทะเลทราย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยคึกคักด้วยชุมชนเหมือง แต่พอแร่ธาตุถูกสูบออกไปจนหมดแล้ว พื้นที่โล่งร้างดังกล่าวก็กลายเป็นแหล่งทดลองระเบิดนิวเคลียร์ และกัมมันตภาพรังสีก็ส่งผลกระทบให้เกิดการบิดเบือนทางพันธุกรรม ในฉากเปิดเรื่องของ Deliverance ซึ่งมีพล็อตคล้าย I Spit on Your Grave แต่หลายคนอาจไม่จัดมันเข้าหมวดหนังสยองขวัญ คนดูจะได้เห็นภาพการสร้างเขื่อน การถมทับทะเลสาบ พร้อมเสียงพูดคุยของหนุ่มๆ ชาวเมืองเกี่ยวกับการจากไปของแม่น้ำอันเชี่ยวกรากและคงสภาพดั้งเดิมสูงสุดทางธรรมชาติ เพื่อหลีกทางให้กับโรงงานไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนมีแอร์ใช้กันมากขึ้น ตามมาด้วยเสียงสมทบว่า “เราจะข่มขืนไอ้ทัศนีภาพห่าเหวนี่ให้หมด”

ขณะที่ปมการเอาเปรียบและข่มเหงทางเพศใน Teeth ถูกสะสางและเอาคืนอย่างสนุกสนานในระดับหนึ่ง ปมการเอาเปรียบและข่มเหงทางเศรษฐกิจ/ชนชั้นกลับยังไม่ถูกระบุ หรือคลี่คลาย ตรงกันข้าม ตัวละครส่วนใหญ่ในหนังแทบจะไม่สังเกตเห็นปล่องควันขนาดยักษ์ดังกล่าวเสียด้วยซ้ำ ทั้งที่มันตั้งตระหง่านตำตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อาการป่วยของแม่ดอว์น หรือ “ความผิดปกติ” ของดอว์นไม่เคยถูกคิดเชื่อมโยงไปถึงปล่องโรงงานดังกล่าวเลย

พวกเขายังไม่ทันตระหนักถึงการล่วงละเมิด หรือ เช่นเดียวกับคำอ้างของพวกผู้ชายเวลากระทำชำเราเพศหญิง พวกเขา “ร้องขอมันเอง”?!?

วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 16, 2551

การเอาคืนของช่องคลอด


ผมไม่แน่ใจว่าจะสามารถตีตรา Teeth เป็นหนังสยองขวัญอย่างเต็มปากได้ไหม เพราะดูเหมือนจุดมุ่งหมายของมันจะเน้นขู่ขวัญคนดู (โดยเฉพาะเพศชาย) มากพอๆ กับเรียกเสียงฮา (ผมเคยอ่านข่าวว่ารอบฉายที่เมืองนอก กลุ่มคนดูผู้หญิงหัวเราะและปรบมือให้กับฉาก “สยอง” ในหนังกันอย่างไม่เกรงอกเกรงใจ) แต่ที่แน่ๆ คือ มันดำเนินตามสูตรหนังสยองประเภท “ผู้หญิงเอาคืน” แบบชัดเจน เช่น Carrie (เด็กสาวมัธยมวัย “ซึมเปื้อน” ถูกเพื่อนๆ กลั่นแกล้ง เธอเลยใช้พลังจิตเอาคืนทุกคนอย่างสาสม) และ I Spit on Your Grave (นักเขียนสาวชาวเมืองไปพักร้อนในชนบทแล้วถูกหนุ่มบ้านนอกกลุ่มหนึ่งรุมข่มขืนอย่างโหดเหี้ยม ต่อมาเธอจึงตามล่า แล้วฆ่าพวกมันทิ้งทีละคน) โดยเฉพาะในช่วงท้ายเรื่อง เมื่อ ดอว์น นางเอกผู้มี “กลีบเขมือบ” เล่นงานลูกพี่ลูกน้องชายเพื่อล้างแค้นแทนแม่ของเธอ

ความสนุกอย่างแรกของ Teeth อยู่ตรงการกลับตาลปัตรภาพลักษณ์หนังสยองขวัญที่เราคุ้นเคย เมื่อเรือนร่างเพศหญิงถูกปกปิดมิดชิด ขณะที่พวกตัวละครเพศชายเกือบทุกคนพากันปลดเปลื้องเสื้อผ้าแบบไม่อายฟ้าดิน พูดง่ายๆ คือ ในหนังเรื่องนี้คุณจะเห็นหัวนมผู้ชาย (บางครั้งในระยะโคลสอัพ) บ่อยกว่าหัวนมผู้หญิง และที่สำคัญ คุณจะได้เห็นอวัยวะเพศชาย (ที่ถูกกัดขาด... และในบางกรณียังถูกหมาคาบไปกินเสียอีก) ในระยะโคลสอัพ แต่อย่าคิดว่าจะได้เห็นแม้กระทั่งบางส่วนของเจ้าตัวการที่กัดพวกมันขาด

ถ้าคุณคุ้นเคยกับฉากเปิดเรื่องในห้องล็อกเกอร์ของ Carrie ซึ่งกล้องโลมเลียเรือนร่างเพศหญิงเปลือยเปล่า (พร้อมสรรพด้วยฟิลเตอร์ซอฟท์) ราวกับหนัง soft porn ฉากห้องล็อกเกอร์ใน Teeth จะให้อารมณ์แตกต่างอย่างสิ้นเชิง



ความสนุกประการต่อมา คือ วิธีที่หนังถ่มน้ำลายใส่แนวคิดชายเป็นใหญ่ เริ่มจากการให้ดอว์นเป็นสาวพรหมจรรย์ที่คลั่งลัทธิรักษาความบริสุทธิ์จนกว่าจะถึงวันวิวาห์ ไม่ต้องสงสัยว่าแนวคิดเกี่ยวกับการรักษาพรหมจรรย์และความลึกลับของช่องคลอด (ในหนัง ตำราเพศศึกษาระบุรายละเอียดเกี่ยวกับองคชาติพร้อมภาพประกอบอย่างเปิดเผย ส่วนภาพช่องคลอดกลับถูกปกปิดด้วยสติกเกอร์ดวงใหญ่) โดนปลูกฝังมาช้านานโดยเพศชาย เพื่อบีบกดไม่ให้เพศหญิงได้ลิ้มรสความรื่นรมย์แห่งเพศสัมพันธ์ (หนังในกลุ่ม slasher film อาทิ Halloween สาวบริสุทธิ์จะรอดชีวิตเป็นคนสุดท้าย ส่วนสาวร่านสวาทจะต้องโดนฆ่าตาย) ดังจะเห็นได้จากความหวาดกลัวของดอว์น เมื่อเธอเริ่มลุ่มหลงมนุษย์เพศชาย และอยากสำรวจความต้องการทางเพศ

ถ้า “กลีบเขมือบ” ทำงานด้วยการกัดทุกอย่างที่ล่วงล้ำเข้ามา มันคงช่วยตอกย้ำแนวคิดเกี่ยวกับการรักษาพรหมจรรย์ แต่ตรงกันข้าม มันเลือกทำงานตามความพอใจของ “เจ้าของ” กล่าวคือ ถ้าผู้ชายพยายามจะล่วงล้ำเข้ามาโดยเจ้าของไม่เห็นด้วย (ข่มขืน) เช่น กรณีของโทบี้ มันจะกัดขาด ถ้าหมอใช้นิ้วล้วงคว้านกันแบบไม่ถนอมน้ำใจ มันก็จะกัดขาดเช่นกัน แต่ถ้าผู้ชายสามารถมอบความสุขให้เจ้าของได้ ผ่านการเล้าโลมอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น กรณีไรอันกับนิ้วตัวช่วยของเขา มันก็จะปล่อยให้สิ่งแปลกปลอมผ่านเข้ามาได้ และเมื่อดอว์นค้นพบความหรรษาทางเพศ เธอก็ปลดเปลื้องความเก็บกดภายในออกจนหมด ซึ่งหนังได้แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการให้เธอยืนเปลือยกายหน้ากระจก สำรวจความงามแห่งเพศหญิงอย่างชื่นชม หลังจากก่อนหน้านี้เธอมักจะสวมใส่เสื้อผ้ามิดชิดมาตลอด




ฉากหนึ่งของหนัง มีการพูดถึงวิวัฒนาการของงูหางกระดิ่ง ซึ่งพัฒนาคุณลักษณะพิเศษขึ้นมา (หางกระดิ่ง) เพื่อ “พวกมันจะได้ไม่ถูกย่ำยี” (“They didn’t get step on”) บางทีเจ้า “กลีบเขมือบ” ก็อาจมีคุณสมบัติเดียวกัน นั่นคือ ช่วยไม่ให้เพศหญิง ซึ่งโดยสรีระแล้วเป็น passive ในขณะที่ผู้ชายเป็น active ถูกย่ำยีเพียงฝ่ายเดียว แต่สามารถโต้กลับได้แบบฉับพลัน ซึ่งนั่นกินความหมายตั้งแต่ ผู้ชายที่พยายามจะข่มขืนผู้หญิง (โทบี้) ไปจนถึงผู้ชายหน้าหม้อที่เห็นผู้หญิงเป็นแค่เครื่องระบายอารมณ์ (แบรด, ไรอัน และตาแก่ลามกในฉากปิดเรื่อง)

ในสังคมที่ผู้ชาย “ข่มขืน” ผู้หญิง ทั้งโดยร่างกายและโดยสังคม/การเมืองมาตลอดเวลาหลายศตวรรษ การปรากฏตัวขึ้นของหนังแฟนตาซี/สยองขวัญอย่าง Teeth จึงเปรียบเสมือนยาหอมที่จะช่วยปลอบประโลมใจ... อย่างน้อยก็เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ก่อนเราจะต้องออกมาเผชิญโลกแห่งความจริงนอกโรงภาพยนตร์

วันจันทร์, พฤศจิกายน 10, 2551

Short Replay: Top Secret!


เวลาพูดถึงยุคทองของทีม ZAZ (เจอร์รี่ ซัคเกอร์/จิม อับราฮัมส์/เดวิด ซัคเกอร์) คนส่วนใหญ่มักนึกถึงหนังตลกบ้าๆ บอๆ ระดับขึ้นหิ้งอย่าง Airplane! (1980) และ The Naked Gun (1988) แต่เท่าที่จำความได้ Top Secret! เป็นหนังของพวกเขาที่ทำให้ผมหัวเราะเหมือนเสียสติได้มากสุด ผมยังจำได้ว่าเคยเช่าวีดีโอหนังเรื่องนี้มาดู (ใช่ครับ สมัยนั้นเรายังดูหนังโดยใช้เครื่องเล่นวีดีโอกันอยู่) ในวันที่นัดเพื่อนๆ มาทำโปรเจ็กต์ส่งครู (วิชาอะไรก็จำไม่ได้ซะแล้ว) โดยหวังจะเปิดมันเป็นแบ็คกราวด์เพื่อไม่ให้บรรยากาศเคร่งเครียดจนเกินไป แต่ปรากฏว่าทุกคนกลับพากันเลิกทำงาน แล้วมานั่งดูหนังเป็นตาเดียว พร้อมทั้งหัวเราะท้องคัดท้องแข็งให้กับความปัญญาอ่อนของมุกตลก ซึ่งยิงกระหน่ำใส่คนดูแบบไม่ยั้งทุกๆ สิบห้าวินาที

เป้าล้อเลียนหลักๆ คือ บรรดาหนังเพลงของ เอลวิส เพรสลีย์ และหนังสายลับสงครามโลก วาล คิลเมอร์ รับบทนำครั้งแรกบนจอใหญ่เป็น นิค ริเวอร์ส ทีน ไอดอล ชาวอเมริกันที่เดินทางมาแสดงคอนเสิร์ตในประเทศเยอรมันตะวันออก แล้วตกหลุมรักกับลูกสาวแสนสวยของนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังผลิตอาวุธร้ายแรง ก่อนสุดท้ายจะจับพลัดจับผลูเข้าร่วมกองทัพใต้ดินเพื่อต่อต้านนาซีของชาวฝรั่งเศส

ทุกรายละเอียดในหนังสายลับถูกหยิบมาล้อเลียนกันอย่างสนุกสนาน รวมถึงหนังฮิตยุคนั้นอย่าง The Blue Lagoon (1980) หลายมุกผมยังจำได้แม่นจนทุกวันนี้ เช่น ฉากการวางแผนลอบเข้าฐานทัพของฝ่ายศัตรู พร้อมสรรพด้วยแบบจำลองและรถไฟจำลองครบครัน ฉากนางเอกบัลเลต์เต้นกระโดดไปบนกล่องดวงใจของเหล่านักบัลเลต์ชาย ฉากการต่อสู้ที่สามารถแตะมือผลัดเปลี่ยนเหมือนในกีฬามวยปล้ำ ฉากแผนที่แปลงสภาพเป็นเกมแพ็คแมน ฯลฯ สารพัดมุกตลกที่เฉียบคม หลากหลาย และได้ผลของหนังเรื่องนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าหนังตลกล้อเลียนยุคปัจจุบัน (aka Disaster Movie) คือ ความตกต่ำในเชิงคุณภาพและรสนิยมจนน่าใจหาย

วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 09, 2551

ถนนสายนี้ยังทอดยาว


หลังผลการเลือกตั้งในอเมริกาปรากฏชัด ความหวังเริ่มคุกรุ่น อัดแน่นในทุกอณูอากาศ จนผมชักไม่แน่ใจว่าจะมีวันที่ บารัค โอบามา สามารถเติมเต็มความคาดหวังอันสูงลิ่วนั้นได้หรือไม่ อารมณ์ข้างต้นทำให้ผมนึกถึงบรรยากาศหลังการเลือกตั้งของไทยครั้งหนึ่ง เมื่ออดีตนายกฯ เจ้าของฉายาอัศวินควายดำ ถูกเลือกเข้าสภาฯ ในสมัยแรกด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น พอๆ กับความคาดหวังถึงอนาคตอันสดใส

หวังเพียงว่าโอบามาจะทำได้ดีกว่านายกฯ ท่านนั้น

กระแสข่าวการเลือกตั้งส่งผลให้ข่าวการผ่านข้อเสนอเพื่อแก้ไขกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนีย หรือ Proposition 8 ซึ่งระบุให้การแต่งงานเป็น “สิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมาย” ของชายกับหญิงเท่านั้น กลายเป็นเพียงหมายเหตุเล็กๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ (ผลโหวตระบุว่ามีคนเห็นชอบให้ผ่านข้อเสนอ หรือ พูดง่ายๆ คือ เห็นชอบไม่ให้คนเพศเดียวกันมีสิทธิแต่งงานกันตามกฎหมาย 52% เอาชนะเสียงที่ไม่เห็นชอบ 48% ไปอย่างหวุดหวิด) อย่างไรก็ตาม ข่าวดังกล่าวทำให้ผมนึกสงสัยว่า ชัยชนะของโอบามาเป็นเพราะคนอเมริกันเบี่ยงเบนเข้าหาแนวคิดเสรีนิยมอย่างแท้จริง หรือพวกเขาเพียงต้องการจะลงโทษรัฐบาล จอร์จ บุช ต่อวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่กำลังดำเนินอยู่กันแน่

ด้วยเหตุนี้ วันที่อเมริกาได้ประธานาธิบดีผิวสีเป็นคนแรกจึงกลายเป็นวันเดียวกับที่อเมริกาได้ตอกย้ำให้เห็นว่า อคติทางเพศยังคงดำรงอยู่และอาจถึงขั้นหยั่งรากลึก (4% ดูเผินๆ อาจไม่มาก แต่หากพิจารณาว่าแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐที่อุดมไปด้วยประชากรเกย์และเลสเบี้ยน คุณจะพบว่า 4% หาใช่ตัวเลขจุ๋มจิ๋มอีกต่อไป ลองคิดดูสิว่าช่องว่างจะกว้างขึ้นขนาดไหน หากมันเป็นผลการโหวตของรัฐอนุรักษ์นิยมอย่างเท็กซัส)

บล็อกเกอร์ภาพยนตร์หลายคนในอเมริกานึกสงสัยว่า หากหนังเรื่อง Milk ของ กัส แวน แซนท์ เข้าฉายเร็วกว่านี้สักหนึ่งเดือน บางทีผลลัพธ์อาจจะออกมาตรงกันข้าม เพราะ Milk เล่าถึงเรื่องราวชีวิตของนักการเมืองเกย์ ฮาร์วีย์ มิลค์ (รับบทโดย ฌอน เพนน์ ในมาดเปี่ยมเสน่ห์ น่าเห็นอกเห็นใจ และ “แตกต่าง” จาก ฌอน เพนน์ ที่พวกเราคุ้นเคย จนบางคนยกย่องให้มันเป็นบทบาทการแสดงที่ดีที่สุดของเขา) โดยผลงานสำคัญของมิลค์ก่อนจะถูก แดน ไวท์ นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามยิงสังหารด้วยกระสุนสี่นัด คือ การคว่ำข้อเสนอเพื่อแก้ไขกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนีย หรือ Proposition 6 เมื่อปี 1978 ซึ่งจะกีดกันรักร่วมเพศไม่ให้ทำงานเป็นครูในสถาบันการศึกษา

หน้าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ ฮาร์วีย์ มิลค์ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของขบวนการเรียกร้องสิทธิรักร่วมเพศ แต่สามสิบปีผ่านไป ความพ่ายแพ้ในการโหวต Proposition 8 ได้ปลุกเหล่านักเคลื่อนไหวชาวเกย์และเลสเบี้ยนให้ตื่นมาพบความจริงอันโหดร้ายว่า พัฒนาการเพื่อเรียกร้องการยอมรับในเพศสภาพที่แตกต่างนั้นยังไม่ได้ก้าวไกลไปจากยุคสมัยของ ฮาร์วีย์ มิลค์ มากนัก หรืออย่างน้อยก็มากเท่าที่ควรจะเป็น

จะเกิดอะไรขึ้นกับเหล่าคู่แต่งงานรักร่วมเพศจำนวนมากในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกตีตรารองรับโดยศาลฎีกา? แน่นอน พวกเขายังคงมองโลกในแง่ดี พร้อมทั้งมอบความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงไว้กับ บารัค โอบามา ผู้เคยแสดงท่าทีต่อต้านการแบนการแต่งงานระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน

แต่เขาพร้อมจะตบหน้ากลุ่มคนจำนวน 52% ที่โหวตสนับสนุน Proposition 8 หรือไม่

ถนนเบื้องหน้าช่างดูยาวไกลและปกคลุมไปด้วยหมอกหนา

เรื่องน่าเศร้า คือ ขณะประเทศอเมริกากำลังต่อสู้เพื่อสิทธิในการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน เมืองไทยกลับยังคงวุ่นวายกับกระแสต่อต้านภาพเด็กผู้ชายสองคนจูบกันในหนังอยู่เลย แค่นี้คงเป็นข้อพิสูจน์ได้ชัดเจนแล้วว่าถนนเบื้องหน้าของเรานั้นยาวไกลกว่าของเขาหลายเท่าตัว

วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 02, 2551

เที่ยวบิน 224


เคยพูดเล่นๆ กับเพื่อนว่าตอนสุดท้ายของหนังเรื่อง “สี่แพร่ง” จะต้องถูกใจอดีตสว.หญิงบางคนเป็นแน่ จนอาจถึงขั้นกลายเป็นหนังในดวงใจไปเลยทีเดียว เพราะ (ถ้าจำไม่ผิด) หล่อนคนนี้เคยออกมาด่าทอพวกเมียน้อย พร้อมทั้งวางแผนจะตั้งชมรมเมียหลวงขึ้นเพื่อหวังเล่นงานเหล่าคนชอบกินน้ำใต้ศอกทั้งหลาย เพื่อนผม (ที่เป็นผู้หญิง) เคยบอกว่าสงสารสามีของเธอจริงๆ ที่ได้ผู้หญิงแบบนี้มาเป็นภรรยา แต่คิดไปคิดมา ผมกลับนึกสงสารเธอมากกว่า ที่ไม่สามารถมองโลกออกจากกรอบสถานะความเป็น “เมีย” ได้

คุณเคยนึกสงสัยบ้างไหมว่าทำไมคำด่าจำพวก “แรด” “ร่าน” “กะหรี่” หรือ “สุวรรณมาลี” ถึงได้พุ่งตรงไปยังเพศหญิงฝ่ายเดียว ส่วนผู้ชายหลายใจกลับมีแต่คำด่าหน่อมแน้มประมาณ “หน้าหม้อ” หรือ “เจ้าชู้” เท่านั้น? ซึ่งบางทีก็กลายเป็นโดนตีความในแง่บวกไป เช่น ผู้ชายเจ้าชู้หมายถึงผู้ชายเจ้าเสน่ห์ และผู้หญิงบางคนก็เหมือนจะยอมรับโดยดุษฎีว่าผู้ชายย่อมเจ้าชู้เป็นธรรมชาติ เพราะถ้าผู้ชายไม่เจ้าชู้ก็เหมือนเสือไม่มีเขี้ยว อะไรทำนองนั้น

ใน “เที่ยวบิน 224” พิม (เฌอมาลย์ บุญศักดิ์) กระทำความผิดไว้สองอย่าง คือ หนึ่ง คบชู้กับชายที่แต่งงานแล้ว และ สอง ฆ่าคนตาย (ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม) แต่หนังกลับจงใจลงทัณฑ์เธอจากความผิดแรกเป็นหลัก ทั้งที่ความผิดหลังนั้นถือได้ว่าหนักหนาสาหัสกว่ากันหลายเท่านัก (พิมแค่โดนขู่ว่าจะถูกตรวจสอบสำหรับความผิดหลัง) และตัวเธอก็เหมือนจะไม่ได้สำเหนียกเลยว่าตนเองเพิ่งฆ่าคนตายไปเช่นกัน โดยขณะกำลังโดนผีสาวหน้าเละหลอกหลอนจนเสียสติ เธอกลับกรีดร้องว่า “หนูกลัวแล้ว หนูจะไม่ยุ่งกับเขาอีกแล้ว” ราวตระหนักว่าสาเหตุเดียวที่ผีร้ายตามมารังควาญเธอเกิดจากการที่เธอไปแย่งผัวชาวบ้านมา

ตลกดีที่สังคมวางกฎลงโทษผู้หญิงที่ไปมีอะไรกับผู้ชายแต่งงานแล้ว แต่ไม่เห็นลงโทษผู้ชายแต่งงานแล้วที่ไปยุ่งกับผู้หญิงอื่น ทำไมบรรดาเมียหลวงถึงเลือกจะก่อสงครามกับเมียน้อย แล้วปล่อยให้พวกผู้ชายหน้าหม้อนอนหลับสบาย? หรือพวกเธอจินตนาการชีวิตตัวเองไม่ออก หากไม่ใช่ “เมีย” ของผู้ชายสักคน? อะไรบ่มเพาะให้พวกเธอมีความคิดเช่นนั้น? ความนิยมของละครหลังข่าวเป็นตัวอย่างอันชัดเจนหรือไม่ว่าแนวคิดดังกล่าวยังคงฝังแน่น หยั่งรากลึก และเจริญงอกงามอย่างไม่สิ้นสุด?

บางทีสังคมเราอาจไม่ต่างจากเที่ยวบิน 224 สักเท่าไหร่ มันถูกควบคุมโดยเพศชาย (กัปตันสองคน) ผู้มักจะลอยตัวอยู่เหนือปัญหา และวางอำนาจบาตรใหญ่ ขณะที่เหล่าผู้โดยสารหญิงบนเครื่องพากันตบตี ฟาดฟันกันเพื่อแย่งชิง “โคมแดง” จนเลือดตกยางออก (แถมยังน่าเจ็บใจตรงที่ ในสายตาของกัปตัน มันถือเป็นเรื่อง “ไร้สาระ” เสียอีก) พวกเธอคิดว่าเครื่องบินลำนี้ คือ โลกทั้งใบ พวกเธอมองไม่เห็นท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ไพศาลนอกเครื่อง และเมื่อพิมพยายามจะพังทำลายกำแพงเครื่องบิน เธอกลับถูกฉุดกระชากให้มานั่งที่เดิม โดนมัดมือติดกับเก้าอี้ แล้วยอมจำนนต่อชะตากรรมอย่างไร้ทางออก

ถึงเวลาหรือยังที่เราจะนำเครื่องบินลำนี้ลงจอด แล้วถ้าจะให้ดีก็เผาทำลายมันเสีย เพราะมันถูกใช้งานมานานเกินแล้ว