วันอังคาร, มกราคม 12, 2553
ออสการ์ 2010: And Then There Were Ten
หัวข้อที่คนพูดถึงมากที่สุดเกี่ยวกับรางวัลออสการ์ในปีนี้ คือ การเพิ่มรายชื่อผู้เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก 5 เป็น 10 เรื่อง โดยข้อสงสัยของคนส่วนใหญ่อยู่ตรงความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้หนังอาร์ตเล็กๆ ที่ไม่ค่อยเข้าทางออสการ์ เช่น Mullholland Drive หรือหนังตลาดชั้นดีที่มักจะถูกมองข้าม เช่น The Dark Knight มากกว่ากัน แต่ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาในรูปใด คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคงหนีไม่พ้น พิกซาร์ สตูดิโอ เพราะหนังของพวกเขามักทำเงินมหาศาลและกวาดคำชมจากนักวิจารณ์มากมาย แต่กลับถูกมองข้ามในสาขาใหญ่สุดครั้งแล้วครั้งเล่า เหตุผลสำคัญเนื่องมาจากกรรมการออสการ์เลือกหนังได้แค่ 5 เรื่อง จึงไม่เหลือที่ว่างมากพอสำหรับหนัง “การ์ตูน” ซึ่งมีสาขา Animation แบ่งแยกไว้เป็นการเฉพาะแล้ว
ดังนั้นในปีนี้ Up เลยกลายเป็นตัวเก็งที่จะเข้ารอบ 10 เรื่องสุดท้ายสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมค่อนข้างแน่นอน สถานการณ์ดังกล่าวคงไม่มีวันเป็นไปได้ หากตัวเลือกยังถูกจำกัดไว้แค่ 5 (ถ้า Wall-E ยังทำไม่สำเร็จ Up ก็คงหมดหวัง) ส่วนหนังเรื่องอื่นๆ ที่น่าจะได้ตั๋วทองเช่นกัน คือ Avatar, Up in the Air, The Hurt Locker, Inglourious Basterds และ Precious: Based on the Novel Push by Sapphire รวมแล้วเท่ากับ 6 เรื่อง
อีกสองเรื่องที่ไม่คงพลาดเรือเที่ยวสุดท้าย ได้แก่ Invictus พิจารณาจากบารมี คลินท์ อีสต์วู้ด กับคำวิจารณ์แง่บวก และ Nine ซึ่งมี ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ คอยผลักดันแบบสุดแรงเกิด แม้หนังจะถูกสับจนเสียศูนย์ (แต่ไม่มากเท่า The Lovely Bones ของ ปีเตอร์ แจ๊คสัน) แถมยังทำเงินในสัปดาห์แรกได้ไม่เข้าเป้า อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบสำคัญอยู่ตรงพลังดาราเจิดจรัสของ นิโคล คิดแมน, เพเนโลปี้ ครูซ, มาริยง โกติญาร์, เดเนียล เดย์ ลูว์อีส, เคท ฮัดสัน และ จูดี้ เดนช์ (เสียงโหวตจากกรรมการออสการ์กลุ่มนักแสดง ซึ่งมีจำนวนมากสุด น่าจะช่วยผลักดันให้ Nine หลุดเข้าชิงได้แบบฉิวเฉียด ขณะเดียวกันการที่หนังติดหนึ่งในห้าสาขา “กลุ่มนักแสดงยอดเยี่ยม” บนเวที SAG ก็เป็นตัวพิสูจน์แล้วว่าเหล่านักแสดงชื่นชอบหนังในระดับหนึ่ง)
อย่าลืมว่าเมื่อปีก่อน ใครๆ ก็พากันเชิดใส่ The Reader ของไวน์สไตน์ เมื่อปรากฏว่าหนังได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างแย่ โดนก่นด่าสารพันจากคนหลายกลุ่ม แต่สุดท้ายหนังกลับหลุดเข้าชิงสาขาสำคัญๆ ได้แบบครบถ้วน ทั้งนี้เพราะกรรมการออสการ์ “ไม่ใช่” นักวิจารณ์ และการโหวตแบบลับๆ (กรอกรายชื่อลงในใบคะแนน) ทำให้พวกเขาสามารถเลือกหนังที่ชอบได้โดยไม่ต้องแคร์สื่อ
ส่วนสองที่ว่างสุดท้ายคงเป็นการตบตีแย่งชิงกันระหว่าง An Education หนังดรามา-โรแมนติกที่กวาดคำชมจากนักวิจารณ์ A Serious Man หนังดรามาปนตลกของสองพี่น้องโคน The Blind Side หนังฟีลกู๊ดซึ่งทำเงินแตะหลัก 200 ล้านดอลลาร์อย่างไม่น่าเชื่อ และ District 9 หนังไซไฟที่นักวิจารณ์ชื่นชอบ
ช่วงเวลานี้อาจยังเร็วเกินกว่าจะคาดเดาว่าใครจะคว้าชัยไปครองในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เพราะทุกอย่างอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่หากวิเคราะห์ตามกระแสของรางวัลต่างๆ ที่ทยอยประกาศรายชื่อผู้เข้าชิง (ลูกโลกทองคำและสมาพันธ์นักแสดง) และผู้ชนะ (สมาคมนักวิจารณ์ต่างๆ) ออกมาอย่างต่อเนื่อง หนังสามเรื่องที่ทำท่าจะขับเคี่ยวกันอย่างสุดมันคือ Up in the Air, The Hurt Locker และ Avatar
เรื่องแรกดูจะเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างอาร์ตกับตลาด (ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก National Board of Review) แต่บางคนตั้งข้อสังเกตว่าตอนจบที่ไม่ค่อยเอาใจคนดูของหนังอาจกลายเป็นอุปสรรค (กระนั้น ข้อกล่าวหาเดียวกันนี้หาได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อ No Country for Old Men จริงอยู่ว่า เจสัน ไรท์แมน กระดูกคนละเบอร์กับสองพี่น้องโคน แต่กรรมการออสการ์ดูจะชื่นชอบเขาไม่น้อย สังเกตได้จากความสำเร็จของ Juno เมื่อสองปีก่อน) เรื่องที่สองเป็นขวัญใจนักวิจารณ์ตัวจริง โดยกวาดรางวัลใหญ่จากทั้งสมาคมนักวิจารณ์นิวยอร์ก (NYFCC) และแอลเอ (LAFCA) มาครองอย่างเป็นเอกฉันท์ แต่สุดท้ายจะลงเอยแบบเดียวกับ Sideways และ Brokeback Mountain หรือไม่ เราคงต้องรอดูกันต่อไป
ส่วน Avatar ก็กำลังไต่ระดับมาเป็นเต็งหนึ่ง พิจารณาจากรายได้ที่ไม่ค่อยตก (คนดูชื่นชอบ) คำวิจารณ์สวยหรู (คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก New York Film Critics Online มาครอง) และสถานะ “จุดเปลี่ยน” ของวงการภาพยนตร์ในเชิงเทคนิคแบบเดียวกับ Titanic (บางคนถึงขนาดเปรียบเทียบมันกับ The Jazz Singer เลยด้วยซ้ำ) ปัญหาหลักคงอยู่ตรงที่ไซไฟไม่ใช่หนังแนวทางโปรดของเหล่ากรรมการออสการ์ แต่ก่อนหน้า The Lord of the Rings: The Return of the King เราก็เคยคิดแบบเดียวกันนั้นกับภาพยนตร์แนวแฟนตาซี จุดต่าง คือ ปีเตอร์ แจ๊คสัน ใช้เวลา 3 ปีและหนัง 3 เรื่องในการทำลายอคติดังกล่าว เจมส์ คาเมรอน จะทำแบบเดียวกันโดยใช้หนังแค่ 1 เรื่องได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาว่าหนังของเขาได้คำวิจารณ์ไม่งดงามเท่าหนังของแจ๊คสัน
War of the Roses
มวยคู่หลักบนเวทีออสการ์สาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนี้คงเป็น เจมส์ คาเมรอน vs. (อดีตภรรยา) แคทธีน บิเกโลว์ ฝ่ายแรกเสียเปรียบตรงเคยได้รางวัลนี้มาแล้วจาก Titanic ฝ่ายหลังได้เปรียบตรงการเดินหน้ากวาดรางวัลนักวิจารณ์มาครองแบบไม่แบ่งให้ใคร โดยโอกาสที่บิเกโลว์จะกลายเป็นผู้กำกับหญิงออสการ์คนแรกจะสดใสแค่ไหนคงต้องรอผลจากลูกโลกทองคำและสมาพันธ์ผู้กำกับอีกรอบ แต่บอกได้คำเดียวว่า ณ เวลานี้ เธอมีภาษีดีกว่าผู้กำกับหญิงคนอื่นๆ ก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นคนต่างด้าวอย่าง ลีน่า เวิร์ธมูลเลอร์ (Seven Beauties) และ เจน แคมเปี้ยน (The Piano) หรือคนอเมริกันอย่าง โซเฟีย คอปโปล่า (Lost in Translation)
เหตุผลสำคัญสองข้อ คือ บิเกโลว์ไม่ใช่มือใหม่ (เหมือนคอปโปล่า) และมีผลงานที่ได้รับการยอมรับมานาน (Near Dark, Blue Steel, Point Break, Strange Days) แม้ว่าเธอจะไม่เคยเข้าชิงออสการ์มาก่อน แต่หนังของเธอมักเข้าข่าย “ถูกตีค่าต่ำเกินควร” อีกเหตุผล คือ เธออาจได้คะแนนพิเศษจากการทำหนังแอ็กชั่น หนังสงคราม ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดปกติสำหรับผู้กำกับหญิง ที่มักจะเลือกทำหนังโรแมนติก หนังดรามา มากกว่า
ทว่าอย่าได้ประมาท เจสัน ไรท์แมน (Up in the Air) เป็นอันขาด เขาอาจกลายเป็นตาอยู่หยิบชิ้นปลามันไปกินแบบหน้าตาเฉย เพราะเขาเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยระหว่างกลาง สำหรับกรรมการหัวโบราณที่อาจมีแนวคิดเหยียดเพศหญิง และอยากเชิดชูผลงานในเชิงศิลปะมากกว่าหนังตลาดอย่าง Avatar นอกจากนี้ การสืบทอดเชื้อสายฮอลลีวู้ด โดยตรง (เจสันเป็นลูกชายของ อีวาน ไรท์แมน ผู้กำกับหนังฮิตอย่าง Ghost Busters, Kindergarten Cop และ Junior) ก็น่าจะทำให้เขามีพันธมิตรในวงการอยู่ไม่น้อย
ส่วนผู้กำกับอีกสองคนที่น่าจะหลุดเข้าชิง แต่คงเป็นได้แค่ไม้ประดับ คือ เควนติน ตารันติโน่ (Inglourious Basterds) และ ลี เดเนียลส์ (Precious: Based on the Novel Push by Sapphire) โดยมีตัวสอดแทรกอันตรายอย่าง คลินท์ อีสต์วู้ด (Invictus) โลน เชอร์ฟิก (An Education) และ จอห์น ลี แฮนค็อค (The Blind Side)
Married White Female
รายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมบนเวที SAG คงไม่แตกต่างจากเวทีออสการ์สักเท่าไหร่ กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า เมลานี ลอเรนต์ (Inglourious Basterds) แอ็บบี้ คอร์นิช (Bright Star) และ เอมิลี บลันท์ (The Young Victoria) จะสิ้นหวังเสียทีเดียว แต่ถ้าชื่อของพวกเธอปรากฏขึ้นในวันประกาศรายนามผู้เข้าชิงของเช้าวันที่ 2 กุมภาพันธ์ หลายคนคงประหลาดใจไม่น้อย เพราะนั่นหมายความว่าหนึ่งในกลุ่ม “ตัวเต็ง” จะต้องหลุดจากวงโคจรไป แต่ใครกันล่ะ
คนนั้นคงไม่ใช่ เมอรีล สตรีพ (Julie & Julia) แครี มัลลิแกน (An Education) หรือ เกบอรีย์ ซิไดบ์ (Precious: Based on the Novel Push by Sapphire) เพราะพวกเธอทั้งสามไม่เพียงจะถูกคาดเดาให้หลุดเข้าชิงเท่านั้น แต่ยังอาจไปไกลถึงขั้นคว้ารางวัลมาครองเลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะสองคนแรก แต่ขณะเดียวกันก็อย่าเผลอให้เครดิตรางวัลจากสมาคมนักวิจารณ์ทั้งหลายมากเกินไปนัก ไม่เชื่อก็ดูชะตากรรมที่เกิดแก่ แซลลี่ ฮอว์กินส์ (Happy-Go-Lucky) เมื่อปีก่อนได้ แต่ในกรณีนั้นลางบอกเหตุเริ่มส่อเค้าตั้งแต่ตอนที่เธอหลุดโผ SAG แล้ว
นั่นหมายความว่าสองคนที่มีโอกาส (ไกลๆ) พลาดการเข้าชิงออสการ์ คือ เฮเลน เมียร์เรน (The Last Station) และ แซนดร้า บูลล็อค (The Blind Side) คนแรกได้เปรียบตรงบารมี “Academy Award Winner” (จากหนังเรื่อง The Queen) และฝีไม้ลายมือซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมานาน ดังนั้น แม้หนังที่เธอเล่นจะไม่ค่อยมีคนดูและยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่เธอก็น่าจะเรียกคะแนนโหวตได้มากพอ ส่วนคนหลังได้เปรียบตรงการรับบทนำในหนังซูเปอร์ฮิต เล่นเป็นตัวละครที่กรรมการออสการ์น่าจะลุ้นเอาใจช่วยได้ไม่ยาก (คุณแม่หัวใจทองคำที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อลูกเลี้ยงผิวดำ) ที่สำคัญ เธอเป็นนักแสดงที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการเป็นเวลานาน แต่ยังไม่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์เลยสักครั้ง และนี่ถือเป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญจากบทตลก-โรแมนติกที่ทุกคนคุ้นเคยมาเล่นอารมณ์ดรามาหนักๆ โดยผสานพลังดาราเอาไว้อย่างกลมกลืนในสไตล์ จูเลีย โรเบิร์ตส์ จาก Erin Brockovich
The Lonely Heart Club
เช่นเดียวกับสาขานักแสดงนำหญิง รายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมประจำปีนี้คงจะลงเอยด้วยการคัดลอกรายชื่อผู้เข้าชิงจากเวทีของ SAG มาแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ได้แก่ มอร์แกน ฟรีแมน (Invictus) เจฟฟ์ บริดเจส (Crazy Heart) จอร์จ คลูนีย์ (Up in the Air) โคลิน เฟิร์ธ (A Single Man) และ เจเรมี เรนเนอร์ (The Hurt Locker)
หลายคนบอกว่าบทพนักงานที่เชี่ยวชาญในเรื่องการลดขนาดองค์กรและใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ตามสนามบินในหนังเรื่อง Up in the Air ถือเป็นการแสดงที่ดีที่สุดในชีวิตของ จอร์จ คลูนีย์ คำกล่าวข้างต้นคงมีมูลอยู่บ้าง สังเกตได้จากรางวัลนักวิจารณ์จำนวนมากที่เขาคว้ามาได้ คลูนีย์เป็น “ลูกรัก” ของฮอลลีวู้ด และกำลังดวงขึ้นสุดๆ ในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา (เข้าชิงผู้กำกับหนึ่งครั้งจาก Good Night, and Good Luck นักแสดงสองครั้ง นำชายจาก Michael Clayton และสมทบชายจาก Syriana ซึ่งทำให้เขาคว้าออสการ์ตัวแรกมาครองได้สำเร็จ) ด้วยเหตุนี้เอง ตำแหน่งเต็งหนึ่งจึงตกเป็นของเขาไปโดยปริยาย
ก้างขวางคอเบอร์ XL ของ จอร์จ คลูนีย์ คือ เจฟฟ์ บริดเจส ซึ่งได้เปรียบตรงที่ยังไม่เคยได้รางวัลออสการ์ แม้จะเคยเข้าชิงมาแล้วถึง 4 ครั้งจาก The Last Picture Show (สมทบชาย) Thunderbolt and Lightfoot (สมทบชาย) Star Man (นำชาย) และ The Contender (สมทบชาย) นอกจากนี้ หลายคนยังบอกว่าเขาน่าจะได้เข้าชิงเพิ่มอีกหลายครั้งจากหนังอย่าง The Fabulous Baker Boys, The Fisher King, Tucker: The Man and His Dream, The Big Lebowski และ The Door in the Floor นอกจากนี้ บริดเจสยังเป็นที่เคารพนับถือในวงการ และบทนักดนตรีที่ถูกชีวิตโบยตีจนบอบช้ำของเขาก็เข้าทางออสการ์อยู่ไม่น้อย โดย โรเจอร์ อีเบิร์ต นักวิจารณ์ชื่อดังถึงกับขนานนามให้ Crazy Heart เป็น The Wrestler แห่งปี 2009
โอกาสที่ โทบี้ แม็คไกว์ (Brothers) ซึ่งหลุดเข้าชิงลูกโลกทองคำในสาขานักแสดงนำชาย (ดรามา) หรือวีโก้ มอร์เทนเซน (The Road) จะแทรกตัวมาเสียบแทนที่ เจเรมี เรนเนอร์ บนเวทีออสการ์ก็อาจพอมีอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก เนื่องจากหนังของคนแรกได้คำวิจารณ์ไม่สู้ดีนัก (และใครๆ ก็รู้ดีว่าลูกโลกทองคำคลั่งไคล้คนดังมากแค่ไหน) ส่วนหนังของคนหลังก็เหมือนจะหายเข้ากลีบเมฆ หลังจากทำเงินไม่น่าพอใจนัก ตรงกันข้ามกับเรนเนอร์ ซึ่งแม้จะเป็นนักแสดงหน้าใหม่ที่ใครๆ ก็ไม่คุ้นชื่อ แต่หนังของเขากลับโดดเด่นในทุกสาขาสำคัญๆ โกยคำชมจากนักวิจารณ์แบบถ้วนทั่ว นอกจากนี้ เขายังอุ้มหนังทั้งเรื่องไว้บนบ่าอย่างน่าชื่นชม
Monsters Inc.
ถ้า “แม่พระ” เป็นคำจำกัดความของสาขานักแสดงนำหญิง และ “คนเหงา” เป็นคำจำกัดความของสาขานักแสดงนำชาย สาขานักแสดงสมทบชายและหญิงก็ควรจะถูกแทนที่ด้วยคำว่า “สัตว์ประหลาด!” เพราะตัวเก็งอันดับหนึ่งที่จะคว้ารางวัลไปครองของทั้งสองสาขา คือ คริสตอฟ วอลซ์ (Inglourious Basterds) ในบทนักล่ายิวจอมโหด และ โมนีก (Precious: Based on the Novel Push by Sapphire) ในบทคุณแม่จากนรก หลังจากทั้งเขาและเธอเดินหน้าโกยรางวัลจากสมาคมนักวิจารณ์มาครองแบบนับไม่ถ้วน
อีกสี่คนที่น่าจะได้เข้าชิงในสาขานักแสดงสมทบชายค่อนข้างแน่ คือ สแตนลีย์ ทุคชี่ (The Lovely Bones)
แม็ท เดมอน (Invictus) วู้ดดี้ ฮาร์เรลสัน (The Messenger) และ คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ (The Last Station) ซึ่งทั้งหมดล้วนได้เข้าชิงทั้งรางวัล SAG และ ลูกโลกทองคำกันอย่างครบถ้วน กระนั้น บางคนกลับตั้งข้อสังเกตว่า แม็ท เดมอน อาจเป็นตัวเลือกที่ค่อนข้างเปราะบางสุด เพราะหนังไม่ได้เปิดโอกาสให้เขาแสดงอารมณ์ใดๆ มากมายนัก จนอาจถูกแทนที่ในนาทีสุดท้ายโดยตัวสอดแทรกอันตรายอย่าง อเล็ก บอลด์วิน (It’s Complicated) และ คริสเตียน แม็คเคย์ (Me and Orson Welles)
สาขานักแสดงสมทบหญิงดูจะคาดเดาได้ยากกว่า โดยนอกจากโมนีกแล้ว เชื่อได้ว่าสองสาวจาก Up in the Air คือ แอนนา เคนดริก และ เวรา ฟาร์มิกา คงไม่ตกรถด่วนขบวนสุดท้าย เพราะพวกเธอล้วนได้เข้าชิงลูกโลกทองคำและ SAG กันแบบครบถ้วน ส่วนสองสาวจาก Nine ก็น่าจะได้ตำแหน่งว่างไปอีกหนึ่ง แต่จะเป็นใครกันแน่ระหว่าง เพเนโลปี้ ครูซ ซึ่งเข้าชิงทั้ง SAG และลูกโลกทองคำ หรือ มาริยง โกติญาร์ ซึ่งชวดเข้าชิงทั้ง SAG และลูกโลกทองคำเพราะไวน์สไตน์ส่งเธอเข้าชิงในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม แต่อย่างที่รู้กันดีว่ากรรมการออสการ์เลือกทุกอย่างตามใจชอบ ดังจะเห็นได้จากกรณีของ เคท วินสเล็ท จาก The Reader เมื่อปีก่อน
ส่วนที่ว่างสุดท้ายคงต้องเป็นการฟาดฟันกันระหว่าง จูลีแอนน์ มัวร์ (A Single Man) ซึ่งได้เข้าชิงลูกโลกทองคำ และ ไดแอน ครูเกอร์ (Inglourious Basterds) ซึ่งได้เข้าชิง SAG แบบพลิกความคาดหมาย
It Takes Two to Tango
นอกจากรายชื่อหนังสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจะถูกเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวแล้ว พิธีกรในงานแจกรางวัลออสการ์ในคืนวันอาทิตย์ที่ 7 มีนาคม 2010 ก็จะถูกทวีคูณตามไปด้วย โดยสองโปรดิวเซอร์รายการ บิล เมคานิก และ อดัม แชงค์แมน ได้ตัดสินใจเลือก สตีฟ มาร์ติน และ อเล็ก บอลด์วิน มาทำหน้าที่ดังกล่าวร่วมกัน (ไม่ใช่เรื่องแปลกที่งานออสการ์จะมีพิธีกรมากกว่าหนึ่ง โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 1987 เมื่อ เชฟวี่ เชส มาร่วมสร้างความครื้นเครงกับ โกลดี้ ฮอว์น และ พอล โฮแกน) คนแรกเคยผ่านประสบการณ์แบบนี้มาแล้วสองครั้งเมื่อปี 2001 และ 2003 ส่วนคนหลังถือเป็นมือใหม่ แต่ก็ใช่ว่าจะหน้าใหม่กับเวทีออสการ์เสียทีเดียว เพราะเขาเคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมมาแล้วจาก The Cooler เมื่อปี 2004
แรกเริ่มสองโปรดิวเซอร์ได้ติดต่อ ฮิวจ์ แจ๊คแมน ให้กลับมาทำหน้าที่เดิมอีกครั้งหลังความสำเร็จจากปีก่อน แต่วูล์ฟเวอรีนตอบปฏิเสธเพราะไม่อยากเป็นพิธีกรออสการ์สองปีซ้อน นอกจากนี้ ถือเป็นความบังเอิญอย่างยิ่งที่มาร์ตินและบอลด์วินเพิ่งจะนำแสดงร่วมกันในหนังตลกเรื่อง It's Complicated ของ แนนซี่ เมเยอร์ส แถมพวกเขายังต้องประกบ เมอรีล สตรีพ ซึ่ง ณ เวลานี้ถือเป็นเต็งหนึ่งในสาขานักแสดงนำหญิง อย่างไรก็ตาม ว่ากันว่าสาเหตุหลักที่ทำให้มาร์ตินถูกทาบทามเป็นเพราะวิวาทะสุดฮาระหว่างเขากับ ทีน่า เฟย์ ขณะประกาศรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเมื่อปีก่อน ทางโปรดิวเซอร์อยากได้เฟย์มาเป็นพิธีกรคู่กับเขาในปีนี้ แต่ดูเหมือนตารางงานจะไม่เอื้ออำนวย เพราะเธอกำลังวุ่นปิดกล้องซิทคอมยอดฮิต 30 Rock ซึ่งเธอทั้งร่วมเขียนบทและนำแสดง ส่งผลให้ทีมงานต้องหันไปพิจารณา อเล็ก บอลด์วิน แทน เขารับบทเป็นเจ้านายของเฟย์ใน 30 Rock และโดดเด่นจนคว้ารางวัลเอ็มมี่สาขานักแสดงนำชาย (ตลก) มาครองถึงสองปีซ้อน
"สตีฟกับอเล็กเคยร่วมงานกันมาก่อนใน Saturday Night Live และล่าสุดในหนังใหม่ของ แนนซี่ เมเยอร์ส ผมรู้ว่าทั้งสองชื่นชมและเคารพกันและกันเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ผมยังมั่นใจว่าพวกเขาต้องเรียกเสียงฮาได้แน่นอน ผมอยากให้โชว์ปีนี้สนุกและตลกมากเป็นพิเศษ หลายคนคงอยากได้ยินว่าจะมีอะไรหลุดออกมาจากปากของ อเล็ก บอลด์วิน บ้าง" แชงค์แมนกล่าว
เมื่อถูกถามว่าเขาจะเตรียมตัวอย่างไรสำหรับงานพิธีกรครั้งแรก บอลด์วินตอบว่า "ผมคงหวังพึ่ง สตีฟ มาร์ติน เป็นหลัก เพราะเขาเคยทำงานนี้มาแล้วสองครั้ง ผมแค่อยู่ที่นั่นเพื่อช่วยเหลือเขา เหมือนผู้ช่วยนักมายากล ผมรู้สึกแบบนั้นจริงๆ ผมจะแต่งชุดแบบเดียวกับผู้ช่วยนักมายากลเลยด้วยซ้ำ" จากนั้นเขาก็เสริมว่า "สิ่งสำคัญที่ต้องจดจำไว้เสมอ คือ รายการนี้มีผู้ชมสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ชมหน้าจอโทรทัศน์ อีกกลุ่มคือแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน รางวัลออสการ์ถือเป็นความสำเร็จขั้นสูงสุดสำหรับคนในวงการภาพยนตร์ ฉะนั้น คุณต้องพยายามรักษาเกียรติของงานและความขลังของตัวรางวัลเอาไว้ด้วย"
Back to the Past
อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงของงานออสการ์ครั้งล่าสุด คือ จะไม่มีการประกาศรางวัลออสการ์เกียรติยศบนเวทีเนื่องจากทางทีมงานต้องการทอนความยาวของการถ่ายทอดสด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปรากฏว่าผู้ได้รับเลือกให้คว้ารางวัลดังกล่าวประจำปีนี้มีจำนวนมากถึงสามคนด้วยกัน ได้แก่ นักแสดงหญิงระดับตำนาน ลอเรน เบคอล เจ้าพ่อหนังเกรดบี โรเจอร์ คอร์แมน และผู้กำกับภาพชั้นครู กอร์ดอน วิลลิส
งานแจกรางวัลจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2009 และกินเวลานานถึง 3 ชั่วโมงครึ่ง เทียบเท่าความยาวของงานแจกรางวัลออสการ์เลยทีเดียว
แม้จะนำแสดงร่วมกับ ฮัมฟรีย์ โบการ์ท ในหนังคลาสสิกหลายเรื่องอย่าง To Have and Have Not, The Big Sleep และ Key Largo แต่เบคอลกลับเคยเข้าชิงออสการ์เพียงครั้งเดียวในสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากหนังตลกโรแมนติกของ บาร์บรา สตรัยแซนด์ เรื่อง The Mirror Has Two Faces เมื่อปี 1996 (และพลาดรางวัลให้แก่ จูเลียต บิโนช จาก The English Patient) บุคลิกอันโดดเด่นบนจอภาพยนตร์ ตลอดจนการมีส่วนร่วมในฉากคลาสสิกมากมายที่คนรุ่นหลังยังคงไม่ลืมเลือนส่งผลให้ออสการ์เกียรติยศสำหรับเบคอลกลายเป็นไฮไลท์ประจำงานไปอย่างช่วยไม่ได้ โดยหลังจากขบวนนักแสดงรุ่นใหญ่อย่าง แอนเน็ตต์ เบนนิ่ง (ว่าที่ออสการ์เกียรติยศในอีก 10 ปีข้างหน้า?) แองเจลิก้า ฮุสตัน และ เคิร์ก ดักลาส ตบเท้ากันมากล่าวสดุดี พร้อมไล่เรียงประวัติผลงานในอดีตอันน่าจดจำจนครบถ้วนกระบวนความแล้ว เบคอลก็เริ่มต้นสุนทรพจน์ด้วยการขอบคุณเหล่านักแสดงและผู้กำกับที่เธอเคยมีโอกาสร่วมงานด้วย "ฉันรู้สึกดีใจที่ยังมีชีวิตอยู่" เธอทิ้งจังหวะครู่หนึ่ง ก่อนจะยิ้มกริ่ม "หลายคนคงคาดไม่ถึงล่ะสิ และฉันจะยังไม่ไปไหนทั้งนั้น ทำใจยอมรับเสียเถอะ"
เมื่อพิจารณาว่าเธอไม่ใช่นักแสดงเปี่ยมทักษะเฉกเช่น เบ็ตตี้ เดวิส หรือ แคทเธอรีน เฮ็บเบิร์น จึงอาจไมใช่เรื่องน่าประหลาดนักที่เบคอลยังไม่เคยคว้ารางวัลออสการ์มาครอง แต่การที่ กอร์ดอน วิลลิส ต้องมาประสบชะตากรรมคล้ายคลึงกัน หนำซ้ำยังเคยมีโอกาสเข้าชิงแค่สองครั้ง ถือเป็นปริศนาชวนพิศวงอย่างยิ่งและบางทีอาจช่วยพิสูจน์ข้อเท็จจริงของคำกล่าวที่ว่า "ไม่มีความยุติธรรมบนเวทีออสการ์" งานถ่ายภาพและจัดแสงระดับเทพ (และค่อนข้างหัวก้าวหน้า) ของเขาใน The Godfather ยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังจำนวนมาก แต่มันกลับถูกออสการ์เชิดใส่อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อนึกย้อนกลับไป จะมีใครจดจำงานกำกับภาพในหนังอย่าง 1776, Butterflies Are Free, The Poseidon Adventure และ Travels with My Aunt ได้บ้าง แน่นอน การที่ Cabaret คว้ารางวัลไปครองในที่สุดอาจถือเป็นเรื่องที่พอจะยอมรับได้ ตรงกันข้ามกับเหตุการณ์ในอีกสองปีถัดมา เมื่อวิลลิสชวดการเข้าชิงเช่นเคยจาก The Godfather Part II และคราวนี้หนังที่คว้ารางวัลดังกล่าวไปครอง คือ The Towering Inferno !?! (เขาได้เข้าชิงออสการ์ครั้งที่สองจาก The Godfather Part III)
ที่สำคัญ วิบากกรรมของวิลลิสยังไม่จบลงแค่นั้น การร่วมงานเป็นเวลาหลายปีระหว่างเขากับ วู้ดดี้ อัลเลน จนนำไปสู่มาสเตอร์พีซอย่าง Annie Hall, Manhattan และ The Purple Rose of Cairo ล้วนถูกกรรมการออสการ์มองข้าม (เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงครั้งแรกจาก Zelig) ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าผลงานถ่ายภาพขาวดำสุดบรรเจิดของเขาใน Manhattan กวาดเสียงยกย่อง ชื่นชมมาครองอย่างเป็นเอกฉันท์
การมอบรางวัลชดเชยให้เบคอลและวิลลิสถือเป็นเหมือนการแก้ไขความผิดพลาดในอดีต แต่สำหรับ โรเจอร์ คอร์แมน มันคือการรู้จักคิดนอกกรอบที่น่าชื่นชม เพราะผลงานภาพยนตร์ของคอร์แมนนั้นคงไม่มีวันได้เข้าชิงออสการ์ อย่าว่าแต่จะคว้ามันมาครองเลย กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเป็นนักทำหนังที่ทรงอิทธิพล และช่วยสร้างดาวจรัสฟ้าให้กับวงการภาพยนตร์มากมาย ตั้งแต่ มาร์ติน สกอร์เซซี่ (Boxcar Bertha) ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Dementia 13) แจ๊ค นิโคลสัน (Little Shop of Horrors) ไปจนถึง โรเบิร์ต เดอ นีโร (Bloody Mama) ขณะเดียวกัน ยังไม่น่าแปลกใจว่าการมอบรางวัลให้กับคอร์แมนกลายเป็นช่วงเวลาที่สนุกสนานที่สุดของงาน ไม่ว่าจะเป็นการนั่งชมคลิปหนังอย่าง Attack of the Crab Monsters และ The Wasp Women หรือการกล่าวแนะนำที่เต็มไปด้วยคำหยาบ คำสบถ และอารมณ์ขันร้ายๆ จาก เควนติน ตารันติโน, รอน โฮเวิร์ด และ โจนาธาน เด็มมี่
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการแจกรางวัล เออร์วิง จี. ธัลเบิร์ก อีกด้วย โดยผู้ได้รับเกียรติประจำปีนี้ คือ จอห์น แคลลี โปรดิวเซอร์และผู้บริหารสตูดิโอ ซึ่งเคยผลักดันให้เกิดผลงานภาพยนตร์อย่าง The Exorcist, A Clockwork Orange, Mean Streets, Dog Day Afternoon และ All the President's Men แต่น่าเสียดายที่แคลลีไม่อาจมาร่วมงานได้เนื่องจากปัญหาทางด้านสุขภาพ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น