วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 16, 2553

The Men Who Stare at Goat: ฝันร้ายสไตล์อเมริกัน


หลังจากดู The Men Who Stare at Goats จบ ผมได้แต่คาดหวังว่าคำอ้างตอนต้น (“นี่เป็นเรื่องจริงจนคุณไม่อยากเชื่อ”) เป็นเพียงหนึ่งในแก๊กตลกร้ายกาจแบบเดียวกับคำอ้างของสองพี่น้อง โจเอล และ อีธาน โคนในตอนต้นของหนังเรื่อง Fargo แต่จากการสืบเสาะเพิ่มเติม ผมกลับพบว่าเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวกับ “หน่วยเจได” ประจำกองทัพสหรัฐนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง ผ่านการสัมภาษณ์นายทหารระดับสูงและการค้นคว้าหาข้อมูลเชิงลึกของนักข่าว/นักทำสารคดีชาวอังกฤษ จอน รอนสัน ก่อนจะรวบรวมมาเป็นหนังสือขายดีชื่อเดียวกัน และถูกจัดให้อยู่ในหมวด Non-Fiction

สาเหตุที่ผมไม่อยากเชื่อว่าสิ่งที่เห็นบนจอจะตั้งอยู่บนรากฐานของ “เรื่องจริง” ก็เพราะทุกอย่างช่างดูโง่เง่า ไร้สาระ และอาจถึงขั้นบ้าบอคอแตก (ด้วยเหตุนี้กระมังหลายคนถึงชอบพูดว่าบางครั้งเรื่องจริงก็แปลกยิ่งกว่านิยายเสียอีก) ไม่ว่าจะเป็นนายพลที่พยายามจะวิ่งทะลุกำแพง หรือกองทัพสหรัฐที่ก่อตั้ง “หน่วยทหารพลังจิต” ขึ้น แล้วปล่อยให้อยู่ภายใต้การดูแลควบคุมของอดีตทหารผ่านศึกเวียดนาม ซึ่งได้อิทธิพลทางความคิดจากลัทธินิวเอจมากพอๆ กับยาแอลเอสดี โดยแบบฝึกหัดของเขาประกอบไปด้วยการเดินลุยไฟ การเต้นเพื่อปลดปล่อยจิตวิญญาณ การท่องบทสวดคารวะจักรวาล และการปิดตาขับรถหักหลบกรวยถนน หรือสายลับมือหนึ่งประจำหน่วยที่สามารถเพ่งโทรจิตค้นหาบุคคล (หรือกระทั่งสลายก้อนเมฆ) ใช้ “ดวงตาพิฆาต” สะกดใจคู่ต่อสู้ และสังหารแพะด้วยการจ้องมองมันเท่านั้น

นอกจากนี้ สองนักแสดงที่จบการศึกษาจาก โคน อคาเดมี ด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่งอย่าง จอร์จ คลูนีย์ (Burn After Reading, O Brother, Where Art Thou? Intolerable Cruelty) และ เจฟฟ์ “เดอะ ดู๊ด” บริดเจส (The Big Lebowski) ยังสลับคิวกัน “ปล่อยของ” เพื่อเรียกเสียงฮาแบบไม่เกรงกลัวว่าคนดูจะมองพวกเขาเป็นตัวการ์ตูน เพราะมันดูจะสอดคล้องกันดีกับมุกตลกอ้างอิงป็อปคัลเจอร์ตั้งแต่ Star Wars ไปจนถึง The Manchurian Candidate และ The Silence of The Lambs

ด้วยท่าที “เน้นเล่นมากกว่าเอาจริง” ดังกล่าว ผมจึงไม่คาดคิด (หรืออาจถึงขั้นช็อกเลยด้วยซ้ำ) เมื่อปรากฏว่าหลากหลายรายละเอียดในหนังอ้างอิงมาจากเรื่องจริง

แต่เนื่องจากหนังสือของ จอน รอนสัน ขาด “พล็อต” ที่จับต้องได้ มือเขียนบท ปีเตอร์ สตรอแฮน จึงตัดสินใจสร้างเรื่องราวของ บ็อบ วิลตัน (ยวน แม็คเกรเกอร์) ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนคนดูในการเข้าไปทำความรู้จักกับโลกอันเหนือจริงของกองทัพเจได เขาเป็นนักข่าวชาวอเมริกัน (การเลือกใช้บริการนักแสดงเชื้อสายสก็อตอย่างแม็คเกรเกอร์ ซึ่งคนส่วนใหญ่คุ้นหน้าจากบทบาท โอบี-วัน เคโนบี ใน Star Wars Trilogy เป็นอีกหนึ่งแก๊กตลกวงในของทีมงาน เพื่อช่วยให้ประโยค “นักรบเจไดคืออะไร” ของบ็อบฟังดูชวนหัวขึ้นไปอีกขั้น) ที่พยายามจะพิสูจน์ความเป็นลูกผู้ชายด้วยการกระโดดเข้าร่วมสงครามในตะวันออกกลาง หลังถูกภรรยาทอดทิ้งไปอยู่กินกับเจ้านายของเขา บ็อบโหยหาข่าวใหญ่ เรื่องราวชวนตะลึงที่ยังไม่มีใครเคยค้นพบมาก่อน และเขาก็ขุดเจอขุมทองบ่อยักษ์ในรูปของ ลิน แคสซิดี้ (คลูนีย์) อดีต “สายลับพลังจิต” มือหนึ่งที่กำลังจะเดินทางข้ามทะเลทรายในอิรักเพื่อไปปฏิบัติภารกิจลับสุดยอด

เหตุการณ์ต่อจากนั้นดำเนินไปตามกรอบของแนวทาง road movie เมื่อบ็อบ (และคนดู) ได้เรียนรู้ (ผ่านฉากแฟลชแบ็ค) เกี่ยวกับต้นกำเนิดของหน่วยพลังจิตในกองทัพสหรัฐ รวมไปถึงจุดจบซึ่งเริ่มต้นขึ้นพร้อมๆ กับการมาถึงของ แลร์รี ฮูเปอร์ (เควิน สเปซีย์) นักรบเจไดที่ก้าวเข้าสู่ด้านมืดจนกลายสภาพเป็น ดาร์ท เวเดอร์ ในที่สุด ขณะเดียวกันระหว่างทาง ชายทั้งสองยังถูกโจรชาวอิรักจับเป็นตัวประกัน แต่สุดท้ายก็หนีรอดมาได้โดยอาศัย “ทักษะพิเศษ” ของนักรบเจได ซึ่งลินเพียรอธิบายให้บ็อบฟัง (อันที่จริงสาเหตุน่าจะเป็นเพราะโชคช่วยเสียมากกว่า) พร้อมกันนั้นพวกเขาก็ได้ช่วยเหลือพ่อค้าท้องถิ่นไว้คนหนึ่ง ก่อนทั้งสามจะพบเจอกับนักธุรกิจชาวอเมริกัน (โรเบิร์ต แพ็ทริค) และกองทัพองครักษ์ติดอาวุธครบมือที่วางตัวกร่างเหมือนเป็นเป็นเจ้าของประเทศ โดยตลอดเวลาลินปกปิดจุดมุ่งหมายในการเดินทางมายังทะเลทราย ด้วยเชื่อว่าบ็อบมีบทบาทสำคัญต่อภารกิจนี้เช่นกัน และไม่ใช่แค่ความบังเอิญที่ชักนำทั้งสองมาร่วมการผจญภัย หากแต่เป็นชะตาฟ้าลิขิตต่างหาก

ในช่วงแรกหนังเชิญชวนให้คนดูหัวเราะเยาะแนวคิดอันเหนือจริงของหน่วยเจได เช่นเดียวกับบ็อบที่มองพฤติกรรมประหลาดของลินว่าเลื่อนลอย ไร้เหตุผล และอาจถึงขั้นเสียสติ แต่จู่ๆ ในช่วงท้ายเรื่องหนังกลับปรับเปลี่ยนท่าที ทำให้นักข่าวหนุ่มเริ่มสัมผัส “แก่นสาร” ของพฤติกรรมบ้าๆ เหล่านั้น และจุดมุ่งหมายแท้จริงของหน่วยเจได ซึ่งมีขึ้นเพื่อขับเน้นสันติภาพและความสำคัญของจิตใจเหนืออาวุธยุทโธปกรณ์ บางทีอาจเพราะชีวิตที่มืดหม่น ไร้จุดหมายต่อการดำรงอยู่ของบ็อบ ซึ่งไม่แตกต่างจากคนกรุงในสังคมยุคใหม่อีกจำนวนมาก กำลังต้องการหลักยึดเหนี่ยวท่ามกลางความโกลาหลแห่งโลกทุนนิยมและความรุนแรงทางอคติ บางทีการจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างที่ยิ่งใหญ่อาจเรียกร้องให้คุณต้องกล้าหาญและมุ่งมั่นพอจะก้าวพ้นจากกรอบแห่งมาตรฐาน

ดูเหมือนเนื้อหาส่วนนี้ถูกเพิ่มเข้ามาเพื่อผลักดัน “พล็อต” ไปสู่จุดหมาย ทำให้บ็อบได้เรียนรู้บางอย่างจากการผจญภัย ก่อนจะโยงเข้าสู่ฉากจบที่ทอประกายความหวังเป็นนัยๆ เพราะแม้ลินและ บิล แจงโก้ (บริดเจส) ผู้ก่อตั้งกองทัพเจไดจะจากไป ส่วนแลร์รี่ก็ถูกด้านมืดครอบงำจนหาทางออกไม่เจอ แต่อย่างน้อยคบเพลิงก็ถูกส่งต่อมายังบ็อบได้ทันเวลา

การพลิกผันมาเล่นท่า “เอาจริง” ในช่วงท้ายเรื่องให้ความรู้สึกแร้นแค้น ขาดชีวิตชีวา และที่สำคัญดูขัดเขิน ขัดแย้งกับโทนเย้ยหยัน เสียดสีในช่วงครึ่งแรก ตรงกันข้าม The Men Who Stare at Goats กลับลื่นไหลอย่างสวยงาม ขณะเดินหน้าล้อเลียนกองทัพผ่านอารมณ์ขันอันร้ายกาจ เช่น เมื่อนายพลฮอปกู๊ด (สตีเฟน แลง) อธิบายจุดกำเนิดของหน่วยวิจัยโทรจิตว่าเริ่มต้นจากความเข้าใจผิดของรัสเซีย ซึ่งคิดว่าสหรัฐกำลังค้นคว้าเรื่องนี้อยู่ จนสุดท้ายสหรัฐต้องกระโจนเข้าร่วมวงด้วยเพราะ “เราไม่อาจปล่อยให้รัสเซียกลายเป็นผู้นำด้านพลังเหนือธรรมชาติได้” (สำหรับประชากรผู้เสียภาษีชาวอเมริกัน คุณคงไม่รู้ว่าควรจะหัวเราะหรือร้องไห้ดี ที่เห็นเงินของคุณถูกใช้ไปอย่างรอบคอบเช่นนี้!) หรือวิพากษ์บทบาทของสหรัฐในอิรัก รวมถึงนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช เช่น เมื่อกลุ่มองครักษ์ของพ่อค้าชาวอเมริกันระดมกราดกระสุนไปรอบทิศเพื่อตอบโต้ศัตรูซึ่งไม่มีอยู่จริง

หนังเชื่อมโยงความหวาดวิตกของอเมริกาหลังเหตุการณ์ 11 กันยายนเข้ากับความบอบช้ำในอดีตจากสงครามเวียดนาม ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในแสนยานุภาพของกองทัพสหรัฐ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนใหญ่คนโตในเพนตากอนจะเริ่มหันมาสนใจ “พลังทางจิต” (แล้วเออออห่อหมกไปกับโครงการบ้าๆ บวมๆ อย่างหน่วยวิจัยโทรจิต) หลังจากค้นพบว่ากำลังเงิน กำลังคน และกำลังอาวุธเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอจะเอาชนะกลุ่มคนเอเชียตัวเล็กๆ ที่มีทุกอย่างน้อยกว่าในเชิงปริมาณ แต่เหนือกว่าในแง่ความมุ่งมั่นเป็นหนึ่งเดียว

ฉากที่พบเห็นอยู่บ่อยๆ ในหนังสงครามเวียดนาม คือ ภาพทหารอเมริกันถูกซุ่มโจมตีโดยศัตรูที่มองไม่เห็น (ดังเช่นครึ่งหลังของหนังเรื่อง Full Metal Jacket) หรือตกอยู่ในภาวะหวาดระแวงเพราะไม่อาจแยกศัตรูจากชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ได้ จนสุดท้ายต้องลงเอยด้วยการกราดกระสุนไปทั่ว (หรือระเบิดทุกอย่างให้ราบเป็นหน้ากลองเหมือนในฉากเด็ดของ Apocalypse Now) ด้วยความหวังว่าจะถูกเป้าหมายเข้าบ้าง

ความต่างของสงครามครั้งใหม่ ณ ดินแดนตะวันออกกลาง ถูก The Men Who Stare at Goats นำมาล้อเลียนอย่างเจ็บแสบในฉาก “ปั๊มน้ำมัน” กล่าวคือ การกราดกระสุนไปทั่วของอเมริกันชนนั้นปราศจากหลักฐานที่หนักแน่น ขาดความรอบคอบ (อเมริกาบุกอิรักด้วยข้อหาว่าครอบครองอาวุธร้ายแรง แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนเพื่อยืนยันข้ออ้างดังกล่าว เสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ ณ เวลานั้นเป็นผลจากอารมณ์หวาดระแวง ตื่นตระหนกหลังโศกนาฏกรรมที่ตึก เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ เมื่อเครื่องบินโดยสารถูกนำมาใช้เป็นอาวุธทำลายล้าง เมื่อผู้โดยสารข้างๆ คุณผันตัวเป็นนักรบบ้าคลั่ง อเมริกันชนในเวลานั้นคงมีความรู้สึกไม่ต่างจากทหารอเมริกันในสงครามเวียดนาม นั่นคือ ไม่สามารถแยกศัตรูจากชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ได้ จนส่งผลไปสู่ปรากฏการณ์ “ล่าแม่มด” และการล่วงละเมิดสิทธิชาวอาหรับจำนวนมาก) เพราะปฏิบัติการตอบโต้อย่างบ้าระห่ำทั้งหลายแหล่ถือกำเนิดขึ้นเนื่องจากเสียงท่อไอเสียระเบิดเท่านั้น!

นอกจากนี้ หนัง (และหนังสือ) ยังบอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาอีกว่าแนวคิดอันพิลึกพิลั่นของ “หน่วยพลังจิต” ซึ่งถือกำเนิดขึ้นหลังความพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม ยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดสารพันเทคนิคสำหรับทรมานนักโทษระหว่างสงครามต่อต้านการก่อการร้ายด้วย เช่น การเปิดเพลง I Love You ของไดโนเสาร์บาร์นีย์ให้นักโทษฟังเป็นเวลาติดต่อกัน 24 ชม. ก่อนเริ่มต้นสอบปากคำ และการใช้ยาแอลเอสดีในปริมาณสูงแทนสัจจะเซรุ่ม

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่สุดท้ายแล้วการผจญภัยของบ็อบกับลินจะไปลงเอยยังค่ายกักกันนักโทษกลางทะเลทราย ซึ่งแลร์รี่รับผิดชอบควบคุมภายใต้การอนุมัติงบประมาณโดยรัฐบาลสหรัฐ ไม่ต้องสงสัยว่าค่ายดังกล่าวเปรียบเสมือนตัวแทนของเรือนจำอาบูกราอิบ ที่ตกเป็นข่าวอื้อฉาวจากการทรมานนักโทษอย่างสาหัสและด้วยกลวิธีแปลกประหลาด จนนักโทษหลายคนเสียถึงขั้นเสียชีวิตทั้งที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายแต่อย่างใด (ติดตามรายละเอียดส่วนหนึ่งได้ในหนังสารคดีชนะรางวัลออสการ์เรื่อง Taxi to the Dark Side) และการร่วมมือกันวางแผน “ปล่อยแพะ” ของอัศวินเจไดสามคนจากสามรุ่นในช่วงท้ายเรื่องก็แสดงให้เห็นจุดยืนอย่างชัดเจนของ The Men Who Stare at Goats ต่อสงครามในประเทศอิรักและนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายของประธานาธิบดีบุช

1 ความคิดเห็น:

ehling กล่าวว่า...

ชอบเรื่องนี้ค่ะ