วันอาทิตย์, มกราคม 15, 2555

100 Innovations That Change Cinema (1)


3D : ขั้นตอนการถ่ายทำและฉายภาพยนตร์ที่ทำให้เห็นภาพลวงของความลึก เมื่อโฟร์กราวด์ดูเหมือนจะยื่นออกมานอกจอ ขณะที่ส่วนอื่นๆ ในภาพก็มีมิติแปลกแยกจากกัน หนัง 3-D เริ่มเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่ทศวรรษ 1920 แต่พบเห็นไม่บ่อยนักเนื่องจากอุปกรณ์ถ่ายทำและขบวนการผลิตมีราคาแพง หนัง 3-D เรื่องแรกในประวัติศาสตร์ คือ The Power of Love (1922) แต่ยุคทองแรกที่แท้จริงเริ่มต้นในช่วงทศวรรษ 1950 (เมื่อภาพยนตร์ต้องเผชิญคู่แข่งอย่างโทรทัศน์) พร้อมการมาถึงของหนังสีสามมิติเรื่องแรก Bwana Devil (1952) ตามมาด้วยผลงานดังๆ อย่าง Creature from the Black Lagoon, Dial M for Murder และ The French Line

โรงภาพยนตร์ IMAX ช่วยพลิกฟื้นชีวิตให้หนังสามมิติผ่านเทคโนโลยีขั้นสูง ที่ช่วยให้ภาพสามมิติไม่ผิดส่วน และลดอาการอ่อนล้าของดวงตาอันเกิดจากระบบสามมิติแบบก่อนๆ ยุคทองครั้งใหม่เริ่มต้นขึ้นหลัง The Polar Express (2004) ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามจากการฉายในโรง IMAX จำนวน 66 แห่ง แต่สามารถทำเงินได้มากถึง 25% ของรายได้รวมทั้งหมดของหนัง จากนั้นกระแสความร้อนแรงก็พุ่งทะยานถึงจุดสูงสุดใน Avatar

แม้ปัจจุบันหนัง 3-D จะอินเทรนด์ แต่มันก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าให้คุณภาพแสงและสีไม่เต็มร้อย แถมบางครั้งอาจสร้างความรู้สึกวิงเวียน หรือคลื่นเหียนหากนั่งชมเป็นเวลานาน นอกจากนี้ มันยังจุดประกายให้เกิดการแปลงหนังเป็นสามมิติ ทั้งที่ความจริงตัวหนังถ่ายทำด้วยระบบสองมิติ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมนำไปสู่คุณภาพที่แตกต่าง เช่น Clash of the Titans, Alice in Wonderland, The Last Airbender , Piranha 3D และ The Green Hornet


70mm film : ฟิล์มที่มีขนาดใหญ่และให้ความคมชัดของภาพมากกว่าฟิล์มมาตรฐาน 35 ม.ม. ที่ใช้กันทั่วไป สำหรับกล้องฟิล์มจะมีขนาด 65 ม.ม. แต่สำหรับเครื่องฉายมันจะถูกพิมพ์ขนาดเป็น 70 ม.ม. โดยความกว้างที่เพิ่มขึ้นก็เพื่อบรรจุแถบเสียง ปัจจุบันการพิมพ์ขยายฟิล์ม 35 ม.ม. ให้กลายเป็น 70 ม.ม. จะพบเห็นได้มากกว่า เพราะการถ่ายทำด้วยฟิล์ม 70 ม.ม. ค่อนข้างสิ้นเปลืองและยุ่งยาก Hamlet ของ เคนเน็ธ บรานาห์ ถือเป็นผลงานล่าสุดที่ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 70 ม.ม. ตลอดทั้งเรื่อง ส่วน Inception และ The New World ใช้ฟิล์ม 70 ม.ม. ถ่ายทำแค่เฉพาะบางฉากเท่านั้น

ขนาดและความคมชัดเป็นพิเศษทำให้ฟิล์ม 70 ม.ม. เหมาะอย่างยิ่งสำหรับหนังมหากาพย์ขายความยิ่งใหญ่ หรือวิวทิวทัศน์อลังการอย่าง Lawrence of Arabia, Ben-Hur, 2001: A Space Odyssey และ The Sound of Music แต่หนังเรื่องแรกที่แนะนำคนดูให้รู้จักกับฟิล์ม 70 ม.ม. คือ Oklahoma! (1955) นอกจากนี้ฟิล์ม 70 ม.ม. อาจถูกนำมาใช้กับฉากที่ต้องอาศัยเทคนิคพิเศษด้านภาพค่อนข้างมาก เนื่องจากขนาดที่ใหญ่ขึ้นของฟิล์มเนกาทีฟจะช่วยลดการแตกของเกรนภาพอันเป็นผลจากขั้นตอนการทำเทคนิคพิเศษ เช่น ในหนังเรื่อง Close Encounters of the Third Kind และ Spider Man 2


Academy Awards : ส่วนใหญ่รู้จักกันในนาม “ออสการ์” เป็นรางวัลที่มอบให้กับความยอดเยี่ยมทางด้านภาพยนตร์ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โหวตลงคะแนนโดยกรรมการซึ่งทำงานอยู่ในวงการภาพยนตร์หลากหลายสาขาอาชีพ ปัจจุบันงานประกาศรางวัลออสการ์จะถูกถ่ายทอดสดไปยังประเทศต่างๆ กว่า 200 ประเทศ ถือเป็นงานแจกรางวัลทางด้านสื่อบันเทิงที่เก่าแก่ที่สุด และกล่าวได้ว่ายิ่งใหญ่ที่สุด โดยล่าสุด (ปี 2011) นับเป็นครั้งที่ 83 แล้ว ส่วนครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 1929 เพื่อมอบรางวัลให้กับหนังที่เข้าฉายระหว่างปี 1927-1928

การคว้ารางวัลออสการ์สาขาสำคัญๆ มาครองย่อมหมายถึงโอกาสโกยเงินที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนเหล่านักแสดง/คนทำงานเองก็จะกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ส่งผลให้มี “ข้อเสนอ” และ “ตัวเลือก” มากขึ้น ดังนั้น เหล่าสตูดิโอจึงทุ่มเงินจำนวนไม่น้อยให้กับการโปรโมตหนังในสังกัด (กระทั่งนักแสดงบางคนถึงขั้นควักกระเป๋าซื้อโฆษณาให้ตัวเอง เห็นได้จากรณีของ เมลิสสา ลีโอ) จัดการฉายรอบพิเศษสำหรับคณะกรรมการ รวมไปถึงแคมเปญสาดโคลนทั้งหลายไม่ต่างจากการหาเสียงในแวดวงการเมือง ขณะเดียวกัน ความเชื่อว่ากรรมการออสการ์ “ความจำสั้น” ก็ส่งผลให้เกิด “ฤดูหนังรางวัล” ที่กินความตั้งแต่กันยายนถึงธันวาคมของทุกปี โดยสตูดิโอต่างๆ จะพร้อมใจกันปล่อยหนังหวังกล่องของตนให้เข้าฉายในช่วงเวลานั้น


Accelerated montage : การตัดต่อภาพจากช็อตหนึ่งไปยังอีกช็อตหนึ่งด้วยอัตราความเร็วที่เพิ่มขึ้นเพื่อเร่งจังหวะเหตุการณ์ โดยความยาวในแต่ละช็อตจะค่อยๆ ลดลง เมื่อคนดูได้เห็นมุมมองต่างๆ ของเหตุการณ์เดียวกัน (เช่น ฉากฆาตกรรมในห้องน้ำของหนังเรื่อง Psycho ซึ่งใช้การตัดภาพถึง 60 ครั้งภายในเวลาเพียงสองสามนาทีเพื่อสร้างอาการตื่นตระหนกและช็อกคนดู) หรือระหว่างสองเหตุการณ์ ที่เชื่อมโยงถึงกัน (เช่น การตัดต่อช่วงไคล์แม็กซ์ในหนังหลายเรื่องของ ดี. ดับเบิลยู. กริฟฟิธ เพื่อสร้างอารมณ์ลุ้นระทึกระหว่างตัวเอกรีบเร่งไปช่วยเหยื่อที่กำลังตกอยู่ในอันตราย) ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ เป็นผู้กำกับอีกคนที่ชื่นชอบเทคนิคนี้ และนำมาใช้บ่อยครั้ง เช่น ในหนังเรื่อง Pi และ Requiem for a Dream


Action film : คนส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคยกันดีกับภาพยนตร์แนวนี้ พล็อตเรื่องของมันค่อนข้างเรียบง่าย และคล้ายคลึงกันไปหมด เล่าถึงวิบากกรรมของตัวละครเอก ที่จำเป็นต้องใช้ทักษะการต่อสู้ หรือไหวพริบเพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์คับขัน พล็อตและรายละเอียดเกี่ยวกับตัวละครในหนังแอ็กชั่นมักไม่มีความสำคัญเท่าฉากระเบิด การต่อสู้มือเปล่า การดวลปืน หรือการขับรถไล่ล่า ซึ่งทั้งหลายที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นเหมือนฉากบังคับของหนังแนวนี้

หนังแอ็กชั่นเริ่มต้นถือกำเนิดและพัฒนาในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ผ่านหนังอย่าง The French Connection และ Dirty Harry ก่อนทศวรรษถัดมามันจะเบ่งบานและครอบครองฮอลลีวู้ดในที่สุด ช่วงเวลานี้เองดาราแอ็กชั่นชั้นนำอย่าง ซิลเวสเตอร์ สตอลโล, อาร์โนลด์ ชวาเซเน็กเกอร์, บรูซ วิลลิส และ ชัค นอร์ริส ได้ถือกำเนิดขึ้น นอกจากฮอลลีวู้ดแล้ว หนังแอ็กชั่นยังได้รับความนิยมอย่างสูงที่ฮ่องกง เอกลักษณ์และสไตล์อันโดดเด่นของ จอห์น วู เช่น การใช้ภาพ slow motion กับฉากต่อสู้ ส่งอิทธิพลไปยังหนังยุคหลังๆ ของฮอลลีวู้ดจำนวนไม่น้อย ตัวอย่างที่เด่นชัด คือ The Matrix


Actors Studio : สมาคมที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1947 ในกรุงนิวยอร์ก มีจุดประสงค์เพื่อให้นักแสดงได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะอย่างเป็นระบบ โดยสมาชิกจำกัดเพียงเหล่าดาราที่คร่ำหวอดในวงการมานาน หรือดาวรุ่งดวงใหม่ที่กำลังมาแรงและมีอนาคตสดใส ที่นี่กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญให้การแสดงแบบเมธอด (method acting) ได้รับความนิยมแพร่หลาย ภายใต้คำแนะนำของ ลี สตราสเบิร์ก ซึ่งดัดแปลงหลักการมาจากแนวคิดของ คอนสแตนติน สตานิสลาฟสกี นักแสดง/ผู้กำกับ/ครูสอนการแสดงชาวรัสเซียที่พยายามจะค้นหา “ความจริงทางการละคร”

แก่นหลักของการแสดงแบบเมธอด คือ เข้าถึงอารมณ์ ตลอดจนแรงจูงใจของตัวละครผ่านประสบการณ์ส่วนตัวของนักแสดงเอง เพื่อจะได้ถ่ายทอดเรื่องราวสู่คนดูได้สมจริง น่าเชื่อถือ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เพื่อ “กลายร่าง” เป็นตัวละครนั้นๆ อย่างสมบูรณ์ มันเป็นสไตล์การแสดงที่เรียกร้องสมาธิขั้นสูงสุดและเน้นความเป็นธรรมชาติ แตกต่างจากรูปแบบการแสดงดั้งเดิม ซึ่งเน้นถ่ายทอดความคิดและอารมณ์ผ่านรูปธรรมภายนอก อาทิ ท่วงท่า สุ้มเสียง และสีหน้า

การ “สวมวิญญาณ” ตัวละครทำให้นักแสดงแนวเมธอดหลายคนเลือกจะ “อยู่ในคาแร็คเตอร์” ตลอดช่วงเวลาถ่ายทำ ในหนังเรื่อง My Left Foot เดเนียล เดย์-ลูว์อิส ไม่ยอมลุกจากเก้าอี้รถเข็น เขาพูดสื่อสารด้วยสำเนียงภาษาติดๆ ขัดๆ แบบตัวละครพิการ และบางครั้งถึงขั้นขอให้ทีมงานช่วยป้อนอาหารให้เขาด้วย นอกจากเดย์-ลูว์อิสแล้ว นักแสดงแนวเมธอดที่โด่งดังคนอื่นๆ ได้แก่ เจมส์ ดีน, มาร์ลอน แบรนโด, เจน ฟอนดา, เอลเลน เบิร์นสตีน, โรเบิร์ต เดอ นีโร, ดัสติน ฮอฟฟ์แมน, อัล ปาชิโน, เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน, คริสเตียน เบล และ ฮีธ เลดเจอร์


Aerial shot : ช็อตที่ถ่ายทำโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ หรือเครื่องบินขนาดเล็ก คนดูจะเห็นภาพมุมกว้างจากที่สูง เช่น ฉากเปิดเรื่องของ West Side Story หากเป็นการจับภาพตัวละครด้วย aerial shot เขาหรือเธอจะดูไร้ความสำคัญไปโดยปริยายเมื่อเทียบกับความกว้างใหญ่ไพศาลรอบข้าง นอกจากนี้ ช็อตดังกล่าวยังอาจนำมาใช้เป็น subjective camera ของตัวละครแวมไพร์ได้อีกด้วย เช่น ในหนังเรื่อง The Lost Boys


Animation : ขั้นตอนการถ่ายภาพวาด หุ่นจำลอง หรือสิ่งของต่างๆ ทีละเฟรม โดยแต่ละเฟรมมีความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ฉะนั้นเมื่อนำมาฉายต่อกัน (24 ภาพต่อวินาที) มันจึงดูเหมือนเคลื่อนไหวได้ หากเปรียบเทียบง่ายๆ สำหรับหนังการ์ตูนความยาว 10 นาที คุณจะต้องใช้ภาพวาด 14400 ภาพ โดยความเร็วของภาพขึ้นอยู่กับปริมาณความเปลี่ยนแปลงจากเฟรมหนึ่งไปยังอีกเฟรมหนึ่ง การเคลื่อนไหวแบบเชื่องช้า (slow motion) ทำได้โดยการถ่ายซ้ำภาพเดิมสองสามเฟรม ส่วนฉากหลังที่ไม่เปลี่ยนแปลง/เคลื่อนไหวในแต่ละฉากจะถูกวาดลงบนแผ่นใส ซึ่งจะไม่ขยับไปไหน

ผลงานชิ้นสำคัญเรื่องแรก คือ Gertie the Dinosaur (1914) ซึ่งเปรียบเสมือนบิดาแห่งวงการหนังการ์ตูน อย่างไรก็ตาม พัฒนาการอันยิ่งใหญ่ของ animation เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ของ วอลท์ ดิสนีย์ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนเสียงเรื่องแรกอย่าง Steamboat Willie ซึ่งนำแสดงโดย มิกกี้ เมาส์ หรือการ์ตูนขนาดยาวเรื่องแรกอย่าง Snow White and the Seven Dwarfs ทุกวันนี้ยุคทองของการ์ตูนวาดมือได้ผ่านพ้นไปแล้ว ถูกแทนที่โดยการ์ตูนที่สร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์กราฟฟิก หลัง Toy Story ทำให้คนทั่วโลกรู้จักค่ายพิกซาร์


Art deco : สไตล์การจัดฉากและตกแต่งฉากที่ให้ความรู้สึกโมเดิร์น โล่งโปร่งสบาย เน้นความสำคัญของสีขาว เหล็ก และกระจก art deco ได้รับความนิยมอย่างสูงในหนังฮอลลีวู้ดช่วงทศวรรษ 1920 และ 1930 โดยปรากฏให้เห็นใน Our Dancing Daughters (1928) เป็นหนังเรื่องแรกๆ สไตล์การตกแต่งฉากแบบนี้มักใช้กับหนังที่พูดถึงความหรูหรา ฟู่ฟ่า และชีวิตของคนดัง ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกว่ามันจะกลายเป็นสไตล์ที่ถูกอกถูกใจ บัสบี้ เบิร์คลีย์ นักสร้างหนังเพลงที่ขายความอลังการดาวล้านดวงเป็นหลัก นอกจาก เซดริก กิบบอนส์ แล้ว นักออกแบบงานสร้างในแนวทางนี้อีกคน คือ ฮันส์ ไดรเออร์ ซึ่งโด่งดังจากการสร้างฉากให้กับหนังอย่าง Monte Carlo, One Hour with You และ Trouble in Paradise

Art House
: โรงภาพยนตร์ที่เน้นฉายหนังต่างประเทศ หนังอิสระ หรือหนังคลาสสิก ส่วนใหญ่จะเป็นโรงเล็กๆ และดึงดูดนักดูหนังเฉพาะกลุ่ม art house ถือกำเนิดในช่วงต้นทศวรรษ 1950 ก่อนจะแพร่กระจายความนิยมไปทั่วโลกภายในเวลา 10 ปีต่อมา แต่ปัจจุบันโรงหนังประเภทนี้เริ่มประสบปัญหาขาดทุน และหลายแห่งก็ต้องปิดกิจการไป เนื่องจากไม่อาจแข่งขันกับโรงหนังมัลติเพล็กซ์และหนังกระแสหลักของฮอลลีวู้ดได้


Boom : ไมโครโฟนที่ต่อแขนยาว สามารถยื่นไปรับเสียงเหนือศีรษะนักแสดงโดยไม่หลุดเข้ามาติดในเฟรมภาพ คิดค้นโดย เอ็ดดี้ แมนนิซ ช่างเทคนิคเสียงของสตูดิโอ MGM และ ไลโอเนล แบร์รีมอร์ นักแสดง/ผู้กำกับ ไมโครโฟนชนิดนี้ช่วยพลิกโฉมหน้าวงการหนังเสียง ซึ่งในยุคเริ่มแรกต้องใช้ไมโครโฟนแบบไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ แถมยังเปิดรับเสียงรบกวนไม่พึงประสงค์จากรอบด้าน และเนื่องจากกลไกของกล้องถ่ายหนังยุคนั้นจะส่งเสียงดัง เวลาถ่ายทำมันจึงต้องถูกบรรจุไว้ในบูธเก็บเสียงติดกระจกด้านหน้า ซึ่งเคลื่อนไหวไปไหนไม่ได้ การจะเปลี่ยนตำแหน่งบูธต้องใช้เวลาและความอุตสาหะขั้นสูง ส่งผลให้หลายครั้งกองถ่ายต้องใช้กล้องหลายตัวเพื่อความหลากหลายของมุมมอง ซึ่งถือเป็นเรื่องสิ้นเปลืองและเสียเวลา ด้วยเหตุนี้หนังในยุคนั้นจึงค่อนข้างน่าเบื่อ จืดชืด และดูน่าตลกขบขัน (หนังเพลงเรื่อง Singing in the Rain ถ่ายทอดข้อจำกัดต่างๆ ของหนังเสียงในยุคแรกได้อย่างชัดเจนและสนุกสนาน) การถือกำเนิดขึ้นของ boom ส่งผลให้นักแสดงสามารถเคลื่อนไหวได้อิสระขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องกังวลว่าเสียงของตนจะหลุดจากระยะทำงานของไมโครโฟน


Blue-screen process : เทคนิคซ้อนภาพที่ได้รับความนิยมสูงสุด เพราะไม่จำเป็นต้องใช้กล้องชนิดพิเศษ แต่สามารถซ้อนภาพจากหลายๆ แหล่งเข้าไว้ในเฟรมเดียวกัน โดยนักแสดงจะต้องยืนเข้าฉากอยู่หน้าแบ็คกราวด์สีฟ้า (หรืออาจใช้สีเขียวก็ได้ เรียกว่า green-screen process ทั้งนี้เพราะสีฟ้าและสีเขียวเป็นสีที่ห่างไกลจากสีของผิวหนังมนุษย์มากที่สุด) จากนั้นในขั้นตอนการพิมพ์ ภาพดังกล่าวจะถูกแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกนักแสดงจะชัด แบ็คกราวด์จะมืด ส่วนที่สอง นักแสดงจะมืด แบ็คกราวด์จะชัด จากนั้นภาพทั้งสองจะถูกนำมาพิมพ์รวมกันบนฟิล์มเนกาทีฟชุดใหม่ด้วยเครื่อง optical printer และเนื่องจากภาพย้อนแสงของนักแสดง (ซึ่งแบ็คกราวด์ชัด) จะเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละเฟรมเนื่องจากการเคลื่อนไหวของนักแสดง ขั้นตอนดังกล่าวจึงถูกเรียกว่า traveling-matte process

ข้อได้เปรียบของเทคนิค blue-screen เหนือเทคนิค front/rear projection คือ มันเปิดโอกาสให้กล้องเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ และใช้เวลาเตรียมการ หรืออุปกรณ์พิเศษไม่มาก อย่างไรก็ตาม กล้องจำเป็นต้องเคลื่อนที่ให้ตรงตามจังหวะ เช่นเดียวกับการจัดแสง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้แสงที่ตกกระทบบนฉากสีฟ้า สะท้อนมาอยู่บนตัวนักแสดงที่โฟร์กราวด์ หรือเกิดรอยต่อระหว่างแบ็คกราวด์กับโฟร์กราวด์ อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวค่อยๆ หมดไปในปัจจุบัน เมื่อเทคนิค blue-screen ถูกนำมาใช้ร่วมกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเราเรียกว่า chroma key


Bullet time : เทคนิคพิเศษในการบิดเบือนความไวของภาพไปพร้อมๆ กับระยะทาง กล่าวคือ คนดูจะเห็นเหตุการณ์ในลักษณะของภาพแบบ slow motion แต่ขณะเดียวกันกล้องกลับเคลื่อนไหวไปรอบๆ เหตุการณ์ด้วยความไวปกติ แน่นอนแนวคิดข้างต้นไม่อาจเกิดขึ้นจริงได้กับการถ่ายทำโดยใช้กล้องปกติ แต่เป็นไปได้กับ “กล้องสมมุติ” ใน “โลกสมมุติ” ที่สร้างขึ้นโดยคอมพิวเตอร์ ขั้นตอนคร่าวๆ คือ ตั้งกล้องถ่ายภาพนิ่งหลายๆ ตัวล้อมรอบเหตุการณ์ แล้วกดชัตเตอร์กล้องทุกตัวพร้อมกัน (หรืออาจเหลื่อมเวลากันเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับความต้องการของเรา) จากนั้นภาพแต่ละเฟรมจากกล้องแต่ละตัวจะถูกนำมาจัดเรียงให้ต่อเนื่องในคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงของมุมมอง (การเคลื่อนที่ของกล้อง) ขณะเหตุการณ์หยุดนิ่งอยู่กับที่ หรือดำเนินไปอย่างเชื่องช้ามากๆ (hyper-slow-motion) ตัวอย่างที่โด่งดังและเป็นต้นกำเนิดของคำว่า bullet time คือ ฉากหลบกระสุนของตัวละครเอกในหนังเรื่อง The Matrix (1999) รวมถึงฉากการต่อสู้อีกหลายฉาก ที่ตัวละครกระโดดลอยตัวกลางอากาศแล้วหยุดนิ่ง ขณะกล้องยังคงเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่องด้วยอัตราความเร็วปกติ


Cahiers du cinema : นิตยสารภาพยนตร์ที่ทรงอิทธิพลของฝรั่งเศส ก่อตั้งขึ้นในปี 1951 โดย อังเดร บาแซง มันเป็นแหล่งเผยแพร่ทฤษฎีที่ทรงอิทธิพลต่อการวิจารณ์ภาพยนตร์ นั่นคือ auteur theory ซึ่งเน้นความสำคัญไปยังตัวผู้กำกับภาพยนตร์ในฐานะฟันเฟืองหลัก ทั้งในแง่สไตล์ เทคนิค และประเด็นเนื้อหา การวิจารณ์ภาพยนตร์ตามรูปแบบ auteur theory ช่วยผลักดันให้นักสร้างหนังฮอลลีวู้ดหลายคนที่ก่อนหน้านี้ถูกมองว่าเป็นแค่นักทำหนังตลาดทั่วไป ได้รับการยกย่องเชิดชูในวงกว้าง โดยเฉพาะ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก และ โฮเวิร์ด ฮอว์ค นอกจากนี้ นิตยสาร Cahiers du cinema ยังเป็นแหล่งผลิตนักทำหนังชั้นยอดอีกด้วย หลังนักวิจารณ์หลายคนในสังกัดเริ่มผันตัวไปทำงานหลังกล้อง เช่น ฟรังซัวส์ ทรุฟโฟต์, ฌอง-ลุค โกดาร์ด, อีริค โรห์แมร์, คล็อด ชาโบล และฌาคส์ ริแวตต์ จนก่อให้เกิดกระแส French New Wave

Cannes Film Festival
: เทศกาลหนังที่ใหญ่สุด ได้รับการยอมรับสูงสุด และแน่นอนเป็นที่รู้จักมากสุด ก่อตั้งขึ้นในปี 1946 และการจัดงานครั้งล่าสุด (พฤษภาคม 2011) ถือเป็นครั้งที่ 64 นอกจากจะเป็นตลาดซื้อขายหนังขนาดใหญ่แล้ว คานส์ยังจัดมอบรางวัลเป็นประจำทุกปี ซึ่งให้ความสำคัญกับคุณค่าในเชิง “ศิลปะ” เหนือความบันเทิง แรกเริ่ม Cannes Film Festival เป็นเหมือนแหล่งโปรโมตหนังอาร์ตยุโรปให้ทั่วโลกรู้จัก แต่ในเวลาต่อมา มันได้ขยายเครือข่ายจนกลายเป็นเวทีสำคัญสำหรับโชว์ผลงานของนักสร้างชั้นนำหนังทั่วโลก คานส์เป็นจุดเริ่มต้นของกระแส “คลั่งอิหร่าน” หลังจาก Taste of Cherry ของ อับบาส เคียรอสตามี คว้ารางวัลปาล์มทองมาครอง และแน่นอนอีกไม่กี่ปีต่อมา มันก็กลายเป็นประชาสัมพันธ์ให้กับ Romanian New Wave ซึ่งพุ่งทะลักจุดแตกพร้อมกับการคว้ารางวัลหนังยอดเยี่ยมของ 4 Months, 3 Weeks and 2 Days นอกจากนี้ เทศกาลหนังเมืองคานส์ยังช่วยสร้างชื่อเสียงให้นักสร้าง “หนังอาร์ต” ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สองพี่น้อง ลุค กับ ฌอง-ปิแอร์ ดาร์เดน (เบลเยียม), ลาร์ส ฟอน เทรียร์ (เดนมาร์ก), โชไฮ อิมามูระ (ญี่ปุ่น), อิเมียร์ คุสตูริกา (ยูโกสลาเวีย), ไมเคิล ฮานาเก (ออสเตรีย), อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (ไทย) และ อากิ คัวริสมากิ (ฟินแลนด์)


CinemaScope : ระบบการถ่ายทำและฉายภาพยนตร์โดยใช้ anamorphic lens บีบภาพแนวนอนจนเหลือแค่ครึ่งเดียว จากนั้นเวลานำมาฉาย เลนส์ที่เครื่องฉายจะขยายภาพให้กลับคืนสู่ขนาดดั้งเดิม กลายเป็นภาพในระบบจอกว้าง (ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อความคมชัดและความสว่างของภาพ แต่การพัฒนาเลนส์และฟิล์มในเวลาต่อมาก็ช่วยลดปัญหาดังกล่าวลงได้) อย่างไรก็ตาม เลนส์ทั้งสองจะไม่รบกวน/บิดเบือนขนาดภาพในแนวตั้ง

เทคโนโลยีนี้มีจุดกำเนิดจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อ อองรี เครเทียง ออกแบบเลนส์มุมกว้างสำหรับรถถังเพื่อให้มองเห็นภาพในมุม 180 องศา หลังสงครามเลนส์ดังกล่าวถูกนำมาใช้สำหรับถ่ายภาพทางอากาศเพื่อทำแผนที่ ก่อนจะดัดแปลงมาใช้กับภาพยนตร์เป็นครั้งแรกโดย โคลด โอตอง-ลารา สำหรับหนังสั้นเรื่อง Construire un Feu ในปี 1928 จากนั้นสตูดิโอฟ็อกซ์ได้ซื้อลิขสิทธิ์ระบบมาพัฒนาต่อจนกระทั่งได้ผลลัพธ์เป็น The Rope (1953) หนังเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยระบบ CinemaScope มันกลายเป็นการปฏิวัติวงการภาพยนตร์ จนหลายสตูดิโอเริ่มพากันพัฒนาระบบดังกล่าวขึ้นบ้าง แล้วตั้งชื่อเรียกต่างๆ กันไป (คำว่า scope เป็นเหมือนตัวย่อของระบบนี้ เช่น CinemaScope, Superscope, Panascope และ Warnerscope)

anamorphic lens เป็นกลวิธีสร้างภาพในระบบจอกว้างที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อนเท่าการใช้กล้องและเครื่องฉายหลายตัวถ่ายทำและฉายภาพพร้อมๆ กัน แต่ทุกวันนี้ CinemaScope ได้ถูกแซงหน้าโดย Panavision ไปแล้ว ตัวอย่างหนังที่ถ่ายทำด้วยระบบ CinemaScope ได้แก่ The King and I, Lady and the Tramp, An Affair to Remember, How to Marry a Millionaire, Rebel Without a Cause และ A Star is Born


Cinerama : ระบบการฉายแบบจอกว้างที่คิดค้นขึ้นโดย เฟร็ด วอลเลอร์ และเปิดตัวครั้งแรกในปี 1952 ด้วยหนังเรื่อง This Is Cinerama ซึ่งใช้เครื่องฉายฟิล์ม 35 ม.ม. ทั้งหมดสามเครื่อง โดยเครื่องแรกทางซ้ายมือจะยิงภาพไปยังด้านขวาของจอภาพ กินพื้นที่เศษหนึ่งส่วนสามของจอภาพ ส่วนเครื่องทางขวาจะยิงภาพไปยังจอภาพด้านซ้าย และเครื่องตรงกลางจะยิงภาพตรงไปยังกลางจอภาพ ส่งผลให้คนดูรู้สึกเหมือนตกอยู่ตรงท่ามกลางเหตุการณ์เบื้องหน้า (หนึ่งในฉากเด่นของหนังเป็นฉากนั่งรถไฟเหาะ ซึ่งทำให้คนดูกรีดร้องได้ทุกรอบ) ปัญหาของระบบการฉายแบบนี้ คือ ภาพเบลอภาพตรงบริเวณรอยต่อของเฟรมภาพ ขณะเดียวกัน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด คนดูควรจะต้องนั่งชมบริเวณกลางโรงภาพยนตร์ (ด้านหน้าเครื่องฉายตรงกลาง)

ความสำเร็จอย่างล้นหลามทำให้ Cinerama ขยายตัวไปตามเมืองต่างๆ อีก 11 แห่งในอเมริกา แต่ค่าใช้จ่ายมหาศาลของระบบ (เครื่องฉายสามเครื่อง จอขนาดยักษ์ จำนวนที่นั่งที่ลดลง จำนวนฟิล์มที่ต้องใช้มากขึ้น) ส่งผลให้ Cinerama ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงไป โดยหนังเพื่อความบันเทิงเรื่องแรกที่ถ่ายทำเพื่อฉายในระบบนี้ ได้แก่ The Wonderful World of the Brothers Grimm (1962) แต่มันกลับไม่ประสบความสำเร็จมากเท่า How the West Was Won ที่ออกฉายในปีเดียวกัน


Close up : ช็อตที่กล้องดูเหมือนจะอยู่ในระยะประชิดนักแสดง ใบหน้า หรืออวัยวะบางส่วน หรือสิ่งของบางชิ้นจะกินพื้นที่ส่วนใหญ่ของเฟรมภาพ ภาพระยะโคลสอัพเหมาะสำหรับใช้ถ่ายทอดอารมณ์ตัวละคร ช่วยให้คนดูซึมซับรายละเอียดได้อย่างเต็มที่เพราะมีเพียงจุดสนใจเดียวในช็อต ดี. ดับเบิลยู. กริฟฟิธ เริ่มพัฒนาทักษะการใช้ภาพโคลสอัพในหนังเงียบเรื่อง The Lonedale Operator แต่เป็น คาร์ล เดรเยอร์ ผลักดันภาพโคลสอัพสู่ศักยภาพสูงสุดในหนังเรื่อง The Passion of Joan of Arc เมื่อกล้องพาคนดูไปสำรวจความทุกข์ระทมของตัวละครเอกในระยะใกล้

Color film : หากไม่นับการระบายสีลงบนเฟรมภาพ เช่น ใน Anabelle’s Dance (1896) และ A Trip to the Moon (1902) แล้ว หนังสีขนาดยาวเรื่องแรก (ภายใต้การคิดค้นของบริษัท เทคนิคคัลเลอร์ โมชั่น พิกเจอร์ส คอร์โปเรชัน) ได้แก่ Becky Sharp (1935) แต่สำหรับนักดูหนังส่วนใหญ่ ยุคของหนังสีเริ่มต้นขึ้นจริงๆ ในปี 1939 เมื่อภาพยนตร์เรื่อง Gone with the Wind และ The Wizard of Oz เข้าฉาย เนื่องจากความยุ่งยากในขบวนการผลิตและค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง หนังสีจึงเข้ามาแทนที่หนังขาวดำช้ากว่าเมื่อครั้งที่หนังเสียงเข้ามาแทนที่หนังเงียบ โดยในปี 1954 มีหนังเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่ถ่ายทำเป็นหนังสี อย่างไรก็ตามพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีทำให้หนังขาวดำค่อยๆ สูญสลายไปในที่สุด


Computer generated imagery (CGI)
: การใช้คอมพิวเตอร์สร้างภาพสามมิติเริ่มต้นโดย เบลล์ แล็บ ในปี 1963 เพื่อออกแบบการเคลื่อนไหวของดาวเทียม สแตน แวนเดอร์บีค และ จอห์น วิทนีย์ ใช้คอมพิวเตอร์วาดการ์ตูนในหนังแอ็บสแตรกหลายเรื่องของพวกเขาช่วงทศวรรษ 1960 ถึง 1970 แต่พัฒนาการเริ่มปรากฏเด่นชัดในหนังเรื่อง Tron และ Star Trek II ก่อนจะก้าวกระโดดครั้งสำคัญไปพร้อมกับหนังเรื่อง The Abyss ของ เจมส์ คาเมรอน เมื่อปรากฏภาพสามมิติที่เคลื่อนไหวได้และสร้างโดยคอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรก ตามมาด้วย Terminator 2: Judgment Day ซึ่งตัวละครที่เป็นมนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นรูปร่างต่างๆ ได้อย่างลื่นไหลและต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าน่าประทับใจไม่แพ้ไดโนเสาร์ทีเร็กซ์และบรอนโตเซารัสในหนังเรื่อง Jurassic Park ส่วนหนังเรื่องแรกที่ใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกในการสร้างสรรค์ตัวละครเอก คือ Casper ปัจจุบัน CGI ถือว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งในการผลิตหนังทั่วโลก

1 ความคิดเห็น:

Akaryocyte กล่าวว่า...

ได้ความรู้ขึ้นเยอะเลย ขอบคุณคร้าบบบ ^_^