วันพุธ, มกราคม 18, 2555

Sleeping Beauty : ชีวิตที่หยุดนิ่ง


หลังจากอ่านพล็อต และเห็นชื่อ เจน แคมเปี้ยน พะยี่ห้อนำเสนอหนังบนใบปิด หลายคนอาจคาดหวังว่า Sleeping Beauty จะนำเสนอประเด็นทางเพศที่หนักหน่วง ผสานอารมณ์อีโรติกสุดร้อนแรงในสไตล์เดียวกับนิยาย S&M รุ่นแม่เรื่อง Story of O หรืออย่างน้อยก็อาจสะท้อนสงครามระหว่างเพศอันดุเดือดในสไตล์เดียวกับ The Piano และ Holy Smoke แต่สุดท้ายภาวะงัดข้อ/ต่อสู้กลับแทบไม่ปรากฏ ตรงข้าม ชายหญิงในหนังดูจะตกอยู่ในสภาพเดียวกัน ฝ่ายแรกนอนนิ่งราวผักแช่แข็ง ในขณะที่ฝ่ายหลังถ้าไม่หมดสภาพเนื่องจากเหล้าและยา ก็แก่หง่อมยิ่งกว่ามะเขือเผา อย่าว่าแต่จะร่วมเพศเลย ลำพังแค่อุ้มหญิงสาวร่างเล็กลงจากเตียงยังทุลักทุเลเหลือแสน

กล้องนำเสนอความน่าผิดหวัง ไร้ชีวิตชีวาของเหล่าตัวละคร ซึ่งเคลื่อนไหว ตอบโต้ดุจหุ่นยนต์อัตโนมัติ (สังเกตคำพูดทักทายกันระหว่างลูซี่กับเบิร์ดแมน) ด้วยองค์ประกอบแบบสมดุล และมักจัดวางตัวละครไว้กึ่งกลางช็อต อิทธิพลของ สแตนลีย์ คูบริค หาได้สะท้อนชัดแค่การจัดแสง เลือกใช้โทนสี (และโทนอารมณ์) ที่เย็นชาเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นฉากห้องทดลอง ฉากห้องถ่ายเอกสาร (ส่วนฉาก “เสิร์ฟอาหาร” ก็อาจพาลให้นึกถึง Eyes Wide Shut) แต่ยังรวมถึงการแช่กล้อง และบางครั้งเคลื่อนไหวอย่างแน่นนิ่งผ่านรางดอลลี่จนคนดูแทบไม่ทันสังเกต ครั้งเดียวที่กล้องเหมือนจะถูกฉุดกระชากให้สะดุ้งตื่น แล้วตามติดการเคลื่อนไหวของนักแสดงอย่างใกล้ชิด คือ ฉากสุดท้าย ซึ่งสอดคล้องอย่างแนบเนียนไปกับสภาวะทางจิตของตัวละคร

วลี “ห้ามสอดใส่” ถูกเน้นย้ำหลายครั้ง บางทีไม่ใช่เพียงเพื่อเตือนเหล่าลูกค้าแก่หง่อมของลูซี่ (เอมิลี บราวนิง) แต่ยังเปรียบเสมือนคำบอกเล่าถึงบุคลิกของหญิงสาวอีกด้วย โดยทางกายภาพ เธออาจถูกล่วงละเมิดหลายครั้ง เช่น เมื่อออกล่าเหยื่อตามบาร์ (“ช่องคลอดของฉันไม่ใช่วัดศักดิ์สิทธิ์” เธอบอกแม่เล้า) เมื่อโดนนักทดลองสอดท่อเข้าปาก หรือเมื่อถูกล้วงคอขณะหลับ แต่โดยสภาพจิตใจแล้ว ลูซี่กลับเป็นตัวละครที่ยากจะ penetrate หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ยากต่อการทำความเข้าใจ

หนังไม่ได้อธิบายว่าเหตุใดเธอจึงมีพฤติกรรมอย่างที่เป็นอยู่ เราเห็นว่าเธอไม่ถูกกับแม่และเพื่อนร่วมบ้านเช่า เธอทักทายเพื่อนนักศึกษาแบบขอไปที และไม่เคยสนิทสนมกับใครในร้านอาหารซึ่งเธอรับจ๊อบเป็นพนักงานเสิร์ฟ เธอเสพยา ดื่มจัด และบางทีก็ยอมมีเซ็กซ์กับชายแปลกหน้าเพื่อหาค่าเช่าห้อง แต่เงินไม่ใช่สิ่งที่เธอปรารถนาสูงสุด (เธอนั่งเผาธนบัตรเล่นในฉากหนึ่ง) เราอาจไม่รู้แน่ชัด แต่ก็พอจะคาดเดาได้ว่าเธอคงถูกชีวิตโบยตีจนตายด้าน และเฝ้าหายใจต่อไปวันๆ โดยไม่รับรู้รสแห่งความเจ็บปวด หรือความสุขสันต์ใดๆ คนเดียวที่เข้าใจเธอคงจะเป็น เบิร์ดแมน (อีเวน เลสลี) เพราะเขาเองก็มีพฤติกรรมทำลายตัวเองไม่แพ้กัน เธอดูมีความสุขเวลาได้มาเยี่ยมเขา แม้ว่าสภาพแวดล้อมจะชวนให้รู้สึกหดหู่ สิ้นหวังขนาดไหน

ด้วยมีพื้นฐานเป็นนักเขียนมาก่อน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหาก จูเลีย ลีห์ จะสอดแทรกกลิ่นอาย “วรรณกรรม” เอาไว้ในผลงานกำกับชิ้นแรก ผ่านฉากที่ลูกค้าชรา (ปีเตอร์ คาร์รอล) เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชายหนุ่มวัย 30 ปี ที่จู่ๆ ก็เกิดเบื่อหน่ายตัวตน ตลอดจนสภาพรอบข้างโดยปราศจากเหตุผล เขาตัดสินใจออกเดินทางไกลเพื่อหลบหนี พร้อมความหวังว่าจะเริ่มต้นใหม่ ก่อนสุดท้ายกลับพลันตระหนักในคุณค่าชีวิต หลังจากประสบอุบัติเหตุรถชน ซึ่งคร่าชีวิตเพื่อนของเขา

เสียงกรีดร้องและน้ำตาของลูซี่ในฉากสุดท้ายหาใช่หลั่งไหลเพื่อชายชราที่นอนสิ้นลมอยู่ข้างกาย หากแต่เป็นการระบายความคับแค้น ความเจ็บปวดต่อชีวิต… เช่นเดียวกับชายชรา ผู้ยอมรับต่อหน้าแม่เล้า (ราเชล เบลค) ว่า ความสำเร็จ เงินทอง หรือกระทั่งลูกเมียที่พรั่งพร้อมนั้นหาได้นำมาซึ่งความสุขสงบ เขาไม่พอใจชีวิต แต่ก็เลือกจะเดินหน้าต่อจนกระทั่ง “กระดูกทุกชิ้นในร่างแหลกสลาย” ลูซี่ใช้ชีวิตอย่างแห้งแล้ง ปราศจากความฝัน หรือแรงปรารถนา โดยไม่เคยคิดจะต่อสู้ ตั้งคำถาม หรือมองหาทางเลือกอื่น เธอยังมีลมหายใจ เคลื่อนไหวได้ปกติ แต่ลึกๆ ภายในกลับมีสภาพไม่ต่างจากเจ้าหญิงนิทราที่โดนวางยาให้นอนหลับ ไร้สติ ไร้การต่อต้าน... เช่นเดียวกับชายหนุ่มวัย 30 ปีในเรื่องสั้น The Thirtieth Year ของ อิงบอร์ก บาคแมน ประสบการณ์เฉียดตายทำให้เธอพลันตระหนักว่า ตนยังสามารถเปลี่ยนแปลง ยังสามารถลุกขึ้นมาใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า ในเมื่อกระดูกในร่างยังมีอยู่ครบ เธอกรีดร้องร่ำไห้ต่อเวลาที่ผันผ่านไปอย่างไร้ความหมาย ต่อความเจ็บปวด ความผิดพลาดที่ก้มหน้าเผชิญโดยไม่ยี่หระ... และนี่คงเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เธอรู้สึกรู้สา

2 ความคิดเห็น:

BlueSea BrownSand & BlackSky กล่าวว่า...

เอาไว้เด่วมาตอบ 555

Unknown กล่าวว่า...

น่าดูมากๆ เลย ต้องหามาดู haha