วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 28, 2558

Oscar 2015: Best Picture


เช่นเดียวกับปีก่อน ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ครั้งล่าสุดยังคงอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวชีวิตของบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ เริ่มต้นจาก สตีเฟน ฮอว์คิง (เอ็ดดี้ เรดเมย์นนักฟิสิกส์ระดับโลกผู้สร้างองค์ความรู้ใหม่ให้กับคนรุ่นหลังเกี่ยวกับจักรวาลและเวลา นอกจากนี้ เขายังเป็นต้นแบบของมนุษย์ที่ไม่ยอมจำนนต่อชะตากรรมอีกด้วย หลังจากป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงตั้งแต่วัยหนุ่มและได้รับการวินิจฉัยว่าจะมีอายุอยู่ต่อไปได้อีกเพียง 2 ปีเท่านั้น เป้าหมายหลักของ  The Theory of Everything ไม่เพียงจะเชิดชูความงดงาม ยิ่งใหญ่ของมันสมองฮอว์คิงเท่านั้น แต่ยังเฉลิมฉลองความรัก ความทุ่มเทที่ เจน ไวลด์ ฮอว์คิง (เฟลิซิตี้ โจนส์มอบให้กับสามีอีกด้วย

คำสาปแห่งอัจฉริยภาพดูจะตามหลอกหลอน อลัน ทัวริง (เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบทช์ใน The Imitation Game เช่นเดียวกับฮอว์คิง แต่คราวนี้ไม่ใช่ในรูปของโรคร้าย แต่เป็นอคติของสังคมที่ไม่ปรารถนาจะยอมรับความแตกต่าง ทัวริงสร้างคุณประโยชน์ให้กับโลกและมนุษยชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือกองทัพอังกฤษถอดรหัสลับของทหารนาซีจนทำให้ฝ่ายพันธมิตรสามารถคว้าชัยชนะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หรือการก่อกำเนิดแนวคิดเกี่ยวกับวิทยาการคอมพิวเตอร์ แต่สุดท้ายแล้วรสนิยมทางเพศที่แตกต่างกลับทำให้เขาถูกตัดสินโดยกฎหมายอันไม่เป็นธรรมในยุคนั้นให้ต้องเลือกระหว่างโทษจำคุก หรือถูก “ตอน” ทางเคมีด้วยการฉีดฮอร์โมนเอสโตรเจนเข้าร่างกาย ความยิ่งใหญ่ใน The Theory of Everything และ The Imitation Game อาจมีราคาที่ต้องจ่ายเหมือนกัน แต่บทสรุปทางด้านอารมณ์โดยรวมของหนังสองเรื่องกลับต่างกันอย่างสิ้นเชิง เรื่องหนึ่งเน้นย้ำถึงพลังแห่งความหวังและการยืนหยัดต่อสู้ชีวิตโดยไม่ย่อท้อท่ามกลางอุปสรรคขวากหนาม อีกเรื่องกลับถูกถ่ายทอดในลักษณะของโศกนาฏกรรม

อารมณ์หม่นเศร้าดูจะอบอวลอยู่ในอากาศหลังจาก The Grand Budapest Hotel ดำเนินมาถึงบทสรุปสุดท้ายเช่นกัน หนังอาจไม่ได้สร้างจากเรื่องจริงและดำเนินเหตุการณ์ในประเทศสมมุติชื่อว่าสาธารณรัฐซูโบรวกา แต่ใครๆ ก็คงคาดเดาได้ไม่ยากว่ามันอ้างอิงไปถึงช่วงเวลาอันโหดร้ายระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อทหารนาซีเรืองอำนาจและพยายามจะขจัด ความต่าง” ทางด้านเชื้อชาติออกไปจากยุโรป ด้วยเหตุนี้ มิตรภาพต่างวัย ต่างเชื้อชาติ และต่างฐานะอันงดงามระหว่าง เมอร์ซิเออร์ กุสตาฟ (เรล์ฟ ไฟนส์) กับ ซีโร มุสตาฟา (โทนี เรโวโลรี) จึงเปรียบดังโอเอซิสกลางทะเลทราย และเป็น ประกายความหวังอันเลือนลางของความศิวิไลซ์ที่ยังหลงเหลืออยู่

ขณะที่ The Grand Budapest Hotel ถูกนำเสนอในลักษณะของเรื่องเล่าเกี่ยวกับอาณาจักรที่สูญสลายไปแล้ว แต่ยังสุกสว่างในความทรงจำ จนทำให้คนดูลิ้มรสหวานปนขมแห่งอารมณ์ถวิลหาอดีตได้อย่างเด่นชัด หนังเรื่อง Boyhood กลับกระตุ้นความรู้สึกแบบเดียวกันผ่านวิธีเล่าเรื่องที่เรียบง่ายกว่า ด้วยการถ่ายทอดความเป็นไปในแต่ละช่วงเวลาตลอด 12 ปี ของเด็กชายชื่อเมสัน (เอลลาร์ โคลเทรน) ซึ่งเติบใหญ่กลายเป็นหนุ่มต่อหน้าต่อตาคนดู และถึงแม้เมสันจะเป็นเด็กหนุ่มสุดแสนธรรมดา ไม่ได้มีชีวิตหวือหวา เป็นอัจฉริยภาพ หรือค้นพบสัจธรรมยิ่งใหญ่ใดๆ แต่หนังกลับให้ความรู้สึกแบบ มหากาพย์” ได้อย่างเด่นชัดจากวิธีนำเสนอของ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ นั่นคือ นัดทีมนักแสดงกลุ่มเดิมมาถ่ายหนังกันปีละครั้งตลอดช่วงเวลา 12 ปีเพื่อให้คนดูได้เห็น “การไหลผ่านของเวลาอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมผ่านรูปร่างหน้าตาที่เปลี่ยนไปของพวกเขาในทำนองเดียวกับการถ่ายภาพด้วยเทคนิค time-lapse เนื่องจากลิงค์เลเตอร์ตัดเชื่อมแต่ละช่วงเวลาต่อเนื่องกันไปตลอดโดยไม่มีการแบ่งแยก หรือบอกกล่าวคนดูผ่านตัวหนังสือบนจอ

อาจกล่าวได้ว่า Birdman ก็สร้างความตื่นตะลึงแก่คนดูได้ไม่แพ้กันผ่านวิธีนำเสนอสุดหวือหวา นั่นคือ เชื่อมโยงลองเทคแต่ละช็อตอย่างแนบเนียนจนดูเหมือนถ่ายทำแบบไม่มีการตัดต่อตลอดช่วงเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง หนังเล่าถึงเรื่องราวของอดีตนักแสดงชื่อดัง (ไมเคิล คีตันจากบทซูเปอร์ฮีโร่นาม “เบิร์ดแมน” ที่พยายามจะหวนคืนสู่วงการอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการกำกับและนำแสดงในละครเวที แต่แผนดังกล่าวดูจะเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะการต้องร่วมงานกับนักแสดงระดับสุดยอด แต่อีโก้ใหญ่เท่าจักรวาลอย่าง ไมค์ ไชเนอร์ (เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน)

Birdman เป็นการร่วมงานและโชว์ออฟทีมนักแสดงระดับแนวหน้าจำนวนมาก (และสามในนั้นก็ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์กันถ้วนทั่วตรงข้ามกับหนังอย่าง Whiplash ซึ่งมีตัวละครหลักๆ อยู่แค่สองคน คือ เด็กหนุ่มผู้ฝันอยากจะเป็นมือกลองเพลงแจ๊สขั้นเทพ (ไมลส์ เทลเลอร์และครูสอนดนตรีสุดโหดที่ก้าวร้าวและชอบใช้กำลังไม่ต่างจากครูฝึกในค่ายทหาร (เจ.เค. ซิมมอนส์) ทั้งสองเป็นเหมือนคู่อริที่พยายามเอาชนะคะคาน แต่ต่างก็แชร์ความฝันเดียวกัน นั่นคือ ความยิ่งใหญ่หรือ ความเป็นหนึ่งและก้มหน้าไขว่คว้าความฝันและทำตามความเชื่อลึกๆ ภายในอย่างมืดบอดจนนำไปสู่จุดจบอันน่าตื่นตะลึงและคาดไม่ถึง

ข้าพเจ้ามีความฝันเป็นสุนทรพจน์อันโด่งดังและเป็นที่โจษจันของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง (เดวิด โอเยลโลโอ) ตัวละครเอกในหนังเรื่อง Selma และวีรบุรุษผู้ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของประชาชนผิวสีในประเทศอเมริกา โดยเรื่องราวพุ่งเป้าไปยังช่วงเวลาสามเดือนของปี 1965 เมื่อคิงพยายามจะเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งให้กับคนผิวดำท่ามกลางเสียงต่อต้านรุนแรงจากดินแดนตอนใต้ การเดินขบวนจากเมืองเซลมาไปยังเมืองมอนต์โกเมอรีถือเป็นหนึ่งในชัยชนะของขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา ทั้งหมดถือกำเนิดขึ้นได้จากความกล้าหาญของมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งมองทุกชีวิตด้วยสายตาเท่าเทียมกันและต่อต้านการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง 

นั่นดูจะแตกต่างจากมุมมองของ คริส ไคล์ (แบรดลีย์ คูเปอร์) ซึ่งถูกยกย่องให้เป็น อเมริกันฮีโร่และ ตำนาน ในฐานะพลซุ่มยิงที่สังหารเหยื่อได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์กองทัพเรือสหรัฐในระหว่างช่วงสงครามอิรัก หนังสะท้อนให้เห็นความรักชาติแบบอเมริกันและวัฒนธรรมคลั่งปืนด้วยท่าทีที่ปราศจากการวิพากษ์ หรือโน้มนำใดๆ จนสุ่มเสี่ยงต่อการถูกโจมตีว่าสนับสนุนความรุนแรง แต่ในเวลาเดียวกัน หนังยังไม่ลืมที่จะบ่งชี้ให้เห็นผลกระทบของสงครามต่อมนุษย์ ตลอดจนมุมมองที่เปลี่ยนไปของไคล์หลังจากเข้าร่วมรบเป็นเวลานานหลายปี ก่อนสุดท้ายจะจบชีวิตด้วยน้ำมือของทหารผ่านศึกชาวอเมริกันผู้ตระหนักในความเลวร้ายของสงครามไม่ต่างจากไคล์ มันเป็นเหมือนการเล่นตลกของชะตากรรมที่หัวเราะไม่ออก คริส ไคล์ บอกตัวเองเสมอว่าเขาเป็นหมาเลี้ยงแกะที่กำลังปกป้องฝูงแกะจากเหล่าหมาป่าที่โหดร้าย หมาป่าหมายจะเด็ดหัวเขาถึงขนาดตั้งราคาค่าหัว แต่สุดท้ายเขากลับถูกฆ่าตายด้วยน้ำมือของบุคคลที่เขาพยายามปกป้อง


American Sniper

การโผล่มาขโมยซีน Selma และถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสำคัญๆ มายมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (แบรดลีย์ คูเปอร์ซึ่งการแข่งขันเข้มข้นสูงสุด รวมไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่าหนังกลายเป็นบล็อกบัสเตอร์ระดับตัวพ่อ ถึงขั้นมีโอกาสไต่ระดับไปถึง 300 ล้านเหรียญในอเมริกา ทำให้ American Sniper ผลงานกำกับชิ้นล่าสุดของ คลินท์ อีสต์วู้ด ยิ่งตกเป็นเป้าโจมตีจากเหล่าเสรีชน ซึ่งต่อต้านสงครามและความรุนแรงทั้งหลาย ภาพโปสเตอร์หนังเรื่องนี้ถูกพ่นสีด้วยคำว่า “ฆาตกร” น่าจะสรุปความคับข้องใจของฝ่ายลิเบอรัลได้เป็นอย่างดี นอกเหนือไปจากข้อความทวิตเตอร์ของ ไมเคิล มัวร์ ซึ่งสรุปง่ายๆ ว่าพลซุ่มยิงเป็นพวกขี้ขลาด ไม่ใช่วีรบุรุษ และการรุกรานอิรักก็เป็นเรื่องไม่ชอบธรรม หรือ เซธ โรแกน ซึ่งเปรียบเปรยว่า American Sniper ก็ไม่ต่างจากหนังนาซีในช่วงครึ่งท้ายของ Inglorious Basterds ข้อโจมตีเหล่านี้ถูกตอกกลับด้วยพวกฝ่ายขวาตกขอบอย่าง ซาราห์ เพลิน ที่ยกย่องเชิดชูวีรกรรมของ คริส ไคล์ และหนังเรื่อง American Sniper ว่าคู่ควรกับความยิ่งใหญ่แห่งชาติอเมริกา

การยิงกระหน่ำใส่กันไปมาข้างต้นเป็นประเด็น “การเมือง” มากกว่าจะเกี่ยวกับตัวหนังโดยตรง เพราะถ้าใครที่ได้ดู American Sniper จะพบว่ามันไม่ได้นำเสนอสถานการณ์ในลักษณะขาวกับดำขนาดนั้น แม้ว่าวิธีสร้างความ บันเทิง ด้วยเทคนิคภาพยนตร์อันช่ำชองของผู้กำกับสุดเก๋า ในหลายฉากจะสุ่มเสี่ยงต่อข้อครหาอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในช่วงไคล์แม็กซ์เมื่อตัวละครเอกต้องห้ำหั่นกับคู่อริต่างเชื้อชาติ แต่ร่วมอาชีพเดียวกัน ซึ่งให้อารมณ์ฮึกเหิมจากชัยชนะอยู่ในที (ฉากทำนองเดียวกันปรากฏในไคล์แม็กซ์บุกจับตัวบินลาเดนของ Zero Dark Thirty แต่ในเรื่องนั้นคนดูยังสามารถสัมผัสได้ถึงอารมณ์ รุกล้ำ” และ “ล่วงละเมิด” ชัดเจนกว่าการสูบบริบทออกจากปัญหาขัดแย้งจนหมดสิ้นทำให้ American Sniper เต็มไปด้วยความคลุมเครือและค่อนข้างขัดแย้งในตัวเอง ถึงแม้จะเห็นได้ชัดว่าผู้กำกับที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควรอย่างอีสต์วู้ดฉลาดเกินกว่าจะนำเสนอเรื่องราวในลักษณะเชิดชูวีรบุรุษสุดโต่ง

หลายครั้งคนดูจะเห็น คริส ไคล์ (คูเปอร์) ถูกตั้งคำถามโดยเพื่อนทหาร หรือภรรยา (เซียนนา มิลเลอร์ว่ารู้สึกอย่างไรที่ต้องฆ่าคนเป็นอาชีพ เขาจะตอบด้วยน้ำเสียงไร้อารมณ์ดุจหุ่นยนต์ที่ถูกตั้งโปรแกรมไว้ว่ามันเป็นงาน เป็นหน้าที่ของเขาในการปกป้องเพื่อนทหารอเมริกัน ไม่มีอะไรให้ต้องคิดทบทวน หรือรู้สึกผิด คำตอบดังกล่าวถูกนำเสนอแบบผ่านๆ ปราศจากการเร้าอารมณ์ใดๆ รวมไปถึงปราศจากแง่มุมเชิงลึก หรือการตั้งคำถามว่าเหตุใดเขาและเพื่อนๆ ถึงถูกส่งตัวไปทำภารกิจนี้ที่อิรัก จากวิธีการนำเสนอดังกล่าวคนดูไม่อาจมั่นใจได้ว่าเราควรจะเชื่อตามที่เขาพูดหรือไม่ และไม่แน่ใจกระทั่งว่าไคล์เองเชื่อตามที่เขาพูดหรือไม่

อีกฉากที่สะท้อนอารมณ์ในลักษณะเดียวกัน คือ ฉากภรรยาม่ายของนายทหารคนหนึ่งอ่านจดหมายที่สามีเขียนไว้ก่อนตาย ซึ่งตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับสงครามครั้งนี้ เมื่อภรรยาของไคล์ถามเกี่ยวกับจดหมายฉบับนั้น เขากลับพูดเพียงว่าทหารคนดังกล่าวตายเพราะเขาเลิกจะเชื่อในภารกิจ ไคล์เชื่อแบบนั้นจริงๆ หรือเขาเพียงแค่กำลังสะกดจิตตัวเองว่าเขากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง ภายใต้สถานการณ์อันยากลำบาก สไตล์การกำกับแบบ “ยิ่งน้อยยิ่งดีของอีสต์วู้ดอาจทำให้หลายคนอาจตีความหนังของเขาผิดจากจุดประสงค์แท้จริง กล่าวคือ มันไม่ได้ตื้นเขินถึงขนาดพยายามสร้างภาพโรแมนติกให้กองทัพ และการก่นด่าว่ามันไม่ต่างจากหนังโฆษณาชวนเชื่อของนาซีก็ถือเป็นเรื่องเกินเลยไปหน่อย แต่ในเวลาเดียวกัน หนังก็ไม่วิพากษ์นโยบายสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐอเมริกาเช่นกัน

 เช่นเดียวกับหนังอีสต์วู้ดอีกหลายเรื่อง American Sniper ไม่ได้ต่อต้านความรุนแรงอย่างเด่นชัด แต่ความรุนแรงก็มีราคาที่ต้องจ่ายเหมือนกัน ดังจะเห็นได้จากตัวละครเอกใน Sudden Impact ไปจนถึง High Plains Drifter และ Unforgiven ที่เผชิญวิกฤติจากการใช้ความรุนแรงและไม่สามารถก้าวข้ามมันไปได้ คริส ไคล์ ในช่วงท้ายเรื่อง (แม้หลายครั้งจะพูดว่าเขาต้องทำไปตามหน้าที่) ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปของผู้ชายที่บอบช้ำทางจิตวิญญาณอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นสายตาเหม่อลอยของเขาขณะจดจ้องไปยังจอโทรทัศน์ที่ว่างเปล่า หรือการหลบสายตาตลอดฉากที่ทหารผ่านศึกนายหนึ่ง (โจนาธาน กรอฟ) กล่าวสรรเสริญไคล์ว่าช่วยชีวิตเขาไว้อย่างไร

มันไม่ใช่ความผิดที่ คลินท์ อีสต์วู้ด ไม่สนใจจะพูดถึงสงครามอิรักในแง่การเมือง หรือเลือกจะไม่ลงลึกไปยังเส้นแบ่งทางศีลธรรมอันคลุมเครือด้วยการแสดงให้เห็นแต่การฆ่าแบบ “มือสะอาด” ของไคล์ ตลอดจนการนำเสนอชาวอิรักในรูปของคนร้ายป่าเถื่อน เพราะถึงที่สุดแล้วเป้าหมายหลักของ American Sniper คือ การสำรวจสภาพจิตใจตัวละคร ซึ่งมองตัวเองว่าเป็นคนดี มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีระบบศีลธรรมชัดเจน เรียบง่าย (ในฉากช่วงต้นเรื่องคนดูจะเห็นพ่อของเขาสอนไคล์ว่ามนุษย์สามารถแบ่งออกเป็นคนสามกลุ่มได้อย่างง่ายดายแต่ระบบความคิดดังกล่าวกลับไม่เพียงพอสำหรับใช้ตัดสินสถานการณ์อันซับซ้อนในโลกแห่งความเป็นจริงและในสงคราม


Birdman

การทำหนังตลกก็เหมือนการได้ปลดปล่อยตัวเอง มันให้ความรู้สึกเหมือนกับการเล่นดนตรีแจ๊สผู้กำกับเชื้อสายเม็กซิกัน อเลฮานโดร อินญาร์ริตู กล่าวถึงหนังใหม่ของเขาเรื่อง Birdman ซึ่งอัดแน่นไปด้วยความจริงจังเกี่ยวกับการค้นหาตัวเอง แต่ขณะเดียวกันก็สอดแทรกอารมณ์ขันเอาไว้ไม่ใช่น้อยเกี่ยวกับภาวะหมกมุ่นของดาราในเรื่องชื่อเสียงและความโด่งดัง ทุกวันนี้เราต่างหยิบยื่นอำนาจให้คนอื่นในการบอกว่าเราเป็นใคร ความนิยมชมชอบต่อระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กที่เพิ่มขึ้นทุกขณะจิตทำให้เราโหยหาการยอมรับโดยไม่จำเป็นต้องมีอาชีพเป็นนักการเมืองหรือดาราอีกต่อไป ตอนนี้โรคแห่งการไลค์หรือดิสไลค์ได้แพร่ระบาดไปทั่วแล้วอินญาร์ริตูกล่าว

ที่สำคัญหนังของเขายังสะท้อนความหงุดหงิดใจส่วนตัวอีกด้วยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหนังในฮอลลีวู้ด ซึ่งคราคร่ำไปด้วยผลงานในสไตล์บล็อกบัสเตอร์จนทำให้นักแสดงฝีมือดีอย่าง ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ และ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ ต้องเอาตัวรอดด้วยการหันมาเล่นหนังซูเปอร์ฮีโร่ และแน่นอนบรรดานักวิจารณ์ทั้งหลายก็ไม่วายถูกจิกกัดอย่างสนุกสนานอีกตามเคย โดยในฉากหนึ่ง ริกแกน ธอมสัน (ไมเคิล คีตัน) ถามนักข่าวว่า เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเหรอคนเราถึงได้มาทำอาชีพนักวิจารณ์ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมหลายคนถึงยกย่องให้ Birdman เป็นหนังสะท้อนวงการบันเทิงได้แสบสันต์ คมคายมากที่สุดนับจาก The Player ของ โรเบิร์ต อัลต์แมน

นอกจากนั้น บทหนังยังเต็มไปด้วยแง่มุมเจ็บแสบ วิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสื่อดิจิตอลในการกำหนดตัวตนคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านบทสนทนาโต้ตอบอันดุเด็ดเผ็ดมันระหว่างริกแกนกับ แซม (เอ็มมา สโตน) ลูกสาวที่ควบตำแหน่งผู้ช่วยของเขา กระนั้น อินญาร์ริตูก็ไม่ลืมที่จะให้น้ำหนักกับทั้งสองฟากฝั่งของการโต้แย้ง บางทีอาจเป็นเพราะประเด็นหลักจริงๆ ของหนัง คือ การดิ้นรนค้นหา หรือการต่อสู้กันภายในจิตใจคุณ ก็เหมือนที่ฟรอยด์เคยพูดเอาไว้เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน หนึ่งในนักแสดงนำของหนังกล่าว ทุกๆ คนในความฝันคุณก็คือตัวคุณ

ก่อนหน้านี้ความฝันของอินญาร์ริตูหาได้บันเทิงเริงใจ และเต็มเปี่ยมไปด้วยเสียงหัวเราะแบบใน Birdman แต่กลับอบอวลด้วยความตายและความหดหู่ ส่วนหนึ่งอาจเป็นอิทธิพลจากโศกนาฏกรรมส่วนตัว หลังจากเขาและภรรยาสูญเสียลูกชายไปในช่วงกลางทศวรรษ 1990 อินญาร์ริตูไม่ค่อยอยากจะพูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเท่าไหร่ แต่อารมณ์ ความรู้สึกของเขาสามารถสัมผัสได้อย่างชัดเจนจากผลงานอย่าง Babel ซึ่งสองตัวละครเอก รับบทโดย แบรด พิทท์ และ เคท แบลนเชตต์ เสียลูกทารกไปอย่างกะทันหัน หรือ 21 Grams ซึ่ง นาโอมิ วัตส์ ต้องรับมือกับข่าวร้ายว่าสามีกับลูกๆ ของเธอเสียชีวิตพร้อมกันในอุบัติเหตุรถชน กระทั่งผลงานก่อนหน้านี้ของเขาอย่าง Biutiful ก็ยังดำเนินไปตามทิศทางอันหดหู่ มืดหม่นดังกล่าว และบางทีอาจจะมากเกินไปด้วยซ้ำจนคนเริ่มตั้งข้อสรุปว่าอินญาร์ริตูคงไม่สามารถกลับมา พีคได้ในระดับเดียวกับช่วงยุคทองอีกแล้ว นับแต่เขาแยกทางกับคู่หูเขียนบท กิลเลอโม อาร์เรียกา ซึ่งร่วมงานกันมาตลอดตั้งแต่ Amores Perros ด้วยเหตุนี้เองอินญาร์ริตูจึงรู้สึกว่าเขาจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองขนานใหญ่ ผลลัพธ์ที่ได้ ก็คือ Birdman

บทหนังที่เขาร่วมสร้างสรรค์กับสองมือเขียนบทจาก Biutiful สะท้อนสภาวะจิตใจของอินญาร์ริตูในขณะนั้น เราพูดกันถึงเรื่องอีโก้ และความจำเป็นของมันในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เราคงไม่มีทางสร้างหนัง หรือเขียนนิยายได้หากปราศจากอีโก้ แต่ในเวลาเดียวกัน อีโก้ก็เป็นดาบสองคมที่อันตรายร้ายแรงนิโคลัส จีอาคาโบน หนึ่งในทีมเขียนบทกล่าว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเสียงความคิดของริกแกน ธอมสัน อดีตดาราดังจากบทซูเปอร์ฮีโร่นาม เบิร์ดแมนที่หันมากำกับละครเวทีเล็กๆ เพื่อหวนคืนสู่รากเหง้าที่ทำให้เขาหลงใหลการแสดงตั้งแต่แรกและกระตุ้นไฟแห่งความคิดสร้างสรรค์ให้กลับมาลุกโชติช่วง จะสะท้อนเสียงความคิดของอินญาร์ริตูไปในตัว คำถามแคลงใจของเขาว่าการสร้างหนังอาร์ตที่มีคนดูแค่ในวงจำกัดเป็นทางเลือกที่เหมาะสมแล้วใช่ไหมถูกเสียดสีผ่านคำพูดของริกแกนที่ว่า อย่างน้อยคนเขาก็อยากดูเรียลริตี้โชว์ แต่ไม่ใช่ผลงานห่าเหวนี่ ความสำเร็จของ Birdman ในเชิงพาณิชย์ (แม้ว่ามันจะไม่ได้ทำเงินถล่มทลาย แต่ก็สามารถคืนกำไรให้สตูดิโอได้มากมาย) และการถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มากถึง 9 สาขา ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีคนหลายคนต้องการชมและชื่นชอบผลงานชิ้นนี้


Boyhood

มีนักทำหนังเพียงไม่กี่คนที่หมกมุ่นกับเรื่องเวลามากเท่ากับ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ ผลงานกำกับของเขาจำนวน 6 ชิ้น ได้แก่ Slacker, Dazed and Confused, Tape และไตรภาคชุด Before ล้วนแต่เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในหนึ่งวัน โดย Tape ดำเนินเหตุการณ์ตามเวลาจริง ส่วนหนังชุด Before ก็ติดตามความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวคู่หนึ่งตลอดช่วงเวลา 18 ปี อย่างไรก็ตาม Boyhood ถือเป็นอีกหนึ่งการทดลองแปลกใหม่ นั่นคือ การเล่าเรื่องสมมุติของเด็กคนหนึ่งจากวัยประถมไปจนถึงวันแรกที่เขาย้ายเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัย โดยแบ่งคิวถ่ายทำเป็นประจำทุกปีตลอดช่วงเวลา 12 ปี เริ่มจากฤดูร้อนปี 2002 ไปจนถึงเดือนตุลาคม 2013

หนังเป็นส่วนผสมระหว่างการก้าวผ่านช่วงเวลาของเด็กชายกับภาพสะท้อนสังคมและครอบครัวอเมริกัน เล่าผ่านสายตาของ เมสัน (เอลลาร์ โคลเทรน) ซึ่งเติบใหญ่ต่อหน้าต่อตาผู้ชมจากวัยเด็ก ขวบสู่วัยรุ่น 18 ปี อีธาน ฮอว์ค กับ แพ็ทริเซีย อาร์เคตต์ รับบทเป็นพ่อแม่ของเมสัน พวกเขาแยกทางกันตั้งแต่ฉากแรกของหนัง ส่วนพี่สาวของเมสันรับบทโดย ลอร์ไล ลิงค์เลเตอร์ ลูกสาวแท้ๆ ของผู้กำกับ “ไอเดียในการสร้างหนังเรื่องนี้เริ่มต้นในปี 1999 ตอนนั้นผมเป็นพ่อคนได้สักพักแล้วและตื่นตะลึงกับการได้เห็นเขาค่อยๆ เติบโต มันทำให้ผมเริ่มต้นคิดว่า แล้ววัยเด็กของเราล่ะ วัยเด็กคืออะไร หรือบางทีเราน่าจะทำหนังเกี่ยวกับวัยเด็กผู้กำกับวัย 54 ปีกล่าว “แต่มันน่าหงุดหงิดตรงที่ผมไม่สามารถเลือกได้ว่าจะยกเอาช่วงเวลาไหนมาเล่าดี มันเป็นความท้าทายอย่างมากจนผมเกือบจะล้มเลิกโครงการ ขณะกำลังฟูมฟักไอเดียดังกล่าวอยู่ ลิงค์เลเตอร์ก็ได้พูดคุยกับ อีธาน ฮอว์ค เกี่ยวกับเวลาในภาพยนตร์ ผมรู้ว่าริคอยากทำหนังเกี่ยวกับวัยเด็กและการเติบใหญ่ จู่ๆ เขาก็พูดขึ้นว่า ถ้าเราไม่เจาะจงแค่ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งล่ะตอนแรกที่เขาคิดไว้หนังจะมีฉากดรามา มีการพลิกผันมากกว่านี้ แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนใจโดยบอกว่า ทำไมเราไม่กำจัดพล็อตออกไปเลย แล้วเล่าถึงแค่การเติบใหญ่ ฮอว์ครำลึกความหลัง ผมตกหลุมรักไอเดียดังกล่าวอย่างจัง

ความท้าทายต่อไปของลิงค์เลเตอร์ คือ การหานักแสดงมาเล่นบทแม่ เขาจำได้ว่าเคยเจอกับอาร์เค็ตต์ในงานปาร์ตี้หลังจากหนังเรื่อง True Romance เพิ่งเข้าฉาย เธอชื่นชอบ Slacker และ Dazed and Confused มากและแสดงเจตจำนงชัดเจนว่าอยากร่วมงานกับเขา หลายปีต่อมา เขาโทรหาฉันแล้วถามว่า คุณมีแผนจะทำอะไรในอีก 12 ปีข้างหน้า’ ” อาร์เค็ตต์เล่า ตอนนั้นฉันคิดในใจว่า เขาจะขอฉันแต่งงานนาน 12 ปีแล้วค่อยขอหย่างั้นเหรอ จากนั้นเขาก็พูดขึ้นว่า ผมมีความคิดอยากถ่ายหนัง ซึ่งคนดูจะเห็นเด็กชายเข้าเรียนชั้นประถมในฉากแรกและจบลงตอนที่เขาเข้าเรียนมหาวิทยาลัย แต่เราไม่มีเงินทุนมากเท่าไหร่ ฉันรีบตอบกลับทันทีว่า ช่างปะไร ฉันเอาด้วย!’

ลิงค์เลเตอร์ประกาศรับสมัครนักแสดงวัยประถมทั่วเมืองออสติน รัฐเท็กซัส แล้วทดสอบหน้ากล้องเด็กชายเป็นร้อยๆ คน กว่าจะตัดสินใจเลือก เอลลาร์ โคลเทรน ซึ่งมีพ่อเป็นสมาชิกวงร็อกที่เขาชื่นชอบ “ผมคิดว่าริชาร์ดเลือกผมเพราะเขาคิดว่าพ่อของผมเจ๋งโคลเทรนกล่าวติดตลก แต่ลิงค์เลเตอร์อธิบายว่าเขาใช้สัญชาตญาณเป็นหลัก ผมคิดว่าเด็กคนนี้น่าสนใจและละเอียดอ่อน เขาดูลึกลับ เขาไม่อ่านหนังสือ แต่มีไอเดียมากมายเกี่ยวกับหนังและดนตรี เขาเป็นเหมือนดาราเพลงร็อกตัวน้อย เด็กอื่นๆ รอบข้างเหมือนจะถูกดึงดูดเข้าหาเขา

โครงการนี้ต้องอาศัยศรัทธาและความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นหลัก เนื่องจากสัญญาการถ่ายหนังไม่สามารถครอบคลุมระยะเวลาเกิน ปี ทางด้านเงินทุนลิงค์เลเตอร์ได้รับความไว้วางใจจากประธานกรรมการ IFC Films ซึ่งยินดีเซ็นเช็ค 2 แสนเหรียญให้เขาทุกปีเป็นเวลา 12 ปี (รวมเป็นเงิน 2.4 ล้านเหรียญ) โดยไม่เห็นผลลัพธ์อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน หนังเปิดกล้องในปี 2002 และหลังจากนั้นทีมงานก็จะนัดเจอกันทุกปี แล้วใช้เวลาถ่ายทำประมาณ 3 ถึง 4 วันต่อครั้ง มันกลายเป็นความท้าทายอย่างหนักเมื่ออาร์เคตต์ได้รับเลือกให้แสดงนำในซีรีย์ชุด Medium แต่เธอก็แบ่งสรรเวลามาได้เสมอ โดยบางครั้งก็นั่งเครื่องบินมาถึงออสตินวันพฤหัสบดี ซ้อมบทจนกระทั่งตีหนึ่ง แล้วเข้ากล้องตั้งแต่วันศุกร์ถึงวันจันทร์

ผลลัพธ์จากความทุ่มเททำให้ Boyhood ถูกขนานนามให้เป็น “มาสเตอร์พีซ” อย่างถ้วนทั่ว เป็นหลักไมล์สำคัญแห่งวงการภาพยนตร์ และที่สำคัญที่สุดเป็นบทเฉลิมฉลองความสามัญแห่งชีวิตประจำวัน มันหลีกเลี่ยงความซ้ำซากของหนังแนว coming-of-age เช่น จูบแรก การเสียพรหมจรรย์ แล้วหันไปให้ความสำคัญกับชัยชนะหรือความสูญเสียเล็กๆ ซึ่งสะท้อนรูปแบบชีวิตที่เราทุกคนล้วนเคยประสบพบเจอ มันเป็นหนังที่แสดงให้เห็นถึงการผันผ่านของเวลา ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น “การประสานงานกับสิ่งที่ไม่เคยหยุดนิ่งอย่างเวลาและความพยายามที่จะสะท้อนให้เห็นว่ามันส่งผลกระทบกับเราอย่างไรถือเป็นแก่นหลักของหนังเรื่องนี้” ลิงค์เลเตอร์กล่าว “เราเชื่อในพลังของมัน เชื่อว่าพลังจากการรวมตัวของช่วงเวลา หรือเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ จะก่อให้เกิดอารมณ์ หรือความรู้สึกบางอย่างในหมู่คนดู มันเป็นเหมือนความพยายามที่จะบ่งบอกให้เห็นว่ามนุษย์เราสัมผัสถึงชีวิตกันอย่างไร


The Grand Budapest Hotel

ลองจินตนาการดูว่าถ้าคุณสามารถถอดกะโหลกศีรษะด้านหลังของ เวส แอนเดอร์สัน ออกได้เหมือนฝาปิดทีวีรุ่นโบราณ คุณจะเจอกับอะไร ลิ้นชักซึ่งอัดแน่นไปด้วยเชือกว่าว มีดพับ และของเล่นไขลาน หรือกล่องอุปกรณ์เครื่องมือที่แบ่งช่องต่างๆ ไว้อย่างเป็นระเบียบผลงานชิ้นล่าสุดของเขาเรื่อง The Grand Budapest Hotel ยังคงรักษาเอกลักษณ์อันโดดเด่นไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ขันบ้าๆ บอๆ การจัดองค์ประกอบภาพแบบสมดุล การตกแต่งฉากอย่างวิจิตร ประณีต และงานรวมดารา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขาประจำที่นักดูหนังคุ้นหน้าเป็นอย่างดี โดยคราวนี้เป็นการเล่าถึงเรื่องราวของพนักงานต้อนรับนาม กุสตาฟ (เรล์ฟ ไฟนส์) ประจำโรงแรมหรูของประเทศสมมุติในยุโรป และขั้นตอนการขโมยภาพวาดราคาแพงโดยได้รับความช่วยเหลือจากเด็กยกกระเป๋า (โทนี เรโวโลรี) ในช่วงต้นทศวรรษ 1930

โทนสีพาสเทล เครื่องแต่งกายสไตล์บาร็อค และเบเกอรีที่ได้รับการปรุงแต่งอย่างงดงามเป็นสิ่งที่คุณสามารถคาดเดาได้ไม่ยากจากหนังของผู้กำกับ The Royal Tenenbaums, Rushmore และ Moonlight Kingdom แต่ครั้งนี้คนดูจะได้สัมผัสกับความชั่วร้ายและความบ้าคลั่งแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในผลงานกำกับ 7 เรื่องก่อนหน้า มันถูกสอดแทรกเข้ามาอย่างเชื่องช้าดุจเงามืดที่ค่อยๆ เยื้องกรายเข้ามาครอบงำความเฮฮา สนุกสนาน แอนเดอร์สันบอกว่านี่เป็นหนังเรื่องแรกของเขาที่มีตัวร้ายและความรุนแรงแบบถึงเลือดถึงเนื้อ “ผมไม่เคยทำหนังที่มีภาพคนถูกตัดมือตัดนิ้วมาก่อน” ทั้งนี้เนื่องจาก The Grand Budapest Hotel เป็นเสมือนภาพสะท้อนความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกหากมันจะเป็นหนังเรื่องแรกของแอนเดอร์สันที่คนดูรู้สึกได้ถึงความเศร้าและหดหู่ได้อย่างชัดเจน

แอนเดอร์สันได้แรงบันดาลใจในการสร้างหนังเรื่องนี้จากผลงานของ สเตฟาน ซเวก นักเขียนนิยาย บทละคร และอัตชีวประวัติชาวออสเตรียเชื้อสายยิวที่เคยด่งดังระดับโลกในช่วงทศวรรษ 1920-1930 ก่อนจะลี้ภัยนาซีไปยังบราซิล และต่อมาฆ่าตัวตายพร้อมกับภรรยาเนื่องด้วยรู้สึกสิ้นหวังที่ได้เห็นยุโรปถูก ครอบงำโดยอำนาสฟาสต์ซิสและอคติทางเชื้อชาติ ในบันทึกที่เขาเขียนไว้ก่อนปลิดชีวิตตนเอง ซเวกหวนไห้ต่อความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมที่กำลังจากไปอย่างไม่มีวันกลับคืน และหดหู่กับอนาคตอันมืดหม่นที่เหล่านาซีกำลังหยิบยื่นให้มนุษย์ทุกคน แอนเดอร์สันหลงใหลงานเขียนของซเวกเพราะมันเจาะลึกถึงสภาพจิตใจของตัวละคร “งานเขียนของเขาไม่ล้าสมัยเลยแม้แต่น้อย พวกมันดำเนินตามแนวคิดในยุคหลังฟรอยด์ ทั้งที่เขารู้จักฟรอยด์ตัวเป็นๆ” ผู้กำกับวัย 45 ปีกล่าว

นอกจากนี้เพื่อรองรับยุคสมัยในเรื่องราวแต่ละส่วน แอนเดอร์สันยังเลือกถ่ายทำหนังด้วยรูปแบบฟิล์มที่แตกต่างกันไป โดยเรื่องราวในช่วงทศวรรษ 1930 ซึ่งกินเวลาส่วนใหญ่ ภาพบนจอจะมีลักษณะเป็นจัตุรัสมากกว่าปกติเนื่องจากใช้สัดส่วนเดียวกับบรรดาหนังเงียบในยุคนั้น สำหรับเรื่องราวในช่วงทศวรรษ 1960 ภาพในหนังจะเป็น wide screen ส่วนเรื่องราวในช่วงทศวรรษ 1980 หนังจะใช้ภาพสัดส่วน 1.85:1 ซึ่งนักดูหนังยุคปัจจุบันคุ้นเคย “แต่ละรูปแบบก็มีความท้าทายในการจัดองค์ประกอบภาพที่แตกต่างกันผู้กำกับภาพ โรเบิร์ต ดี. ยีโอแมน ให้สัมภาษณ์ สำหรับยุค ’30 เราศึกษาหนังตลกของ เออร์เนสต์ ลูบิทช์ หลายเรื่องเพื่อซึมซับสไตล์ภาพเนื่องจากเฟรมภาพมีรูปทรงใกล้เคียงกับสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทำให้เหลือพื้นที่ว่างเหนือหัวตัวละครค่อนข้างมาก หลายครั้งยีโอแมนจึงต้องใช้แท่นให้นักแสดงยืนต่างระดับกัน โดยเฉพาะในฉากที่มีตัวละครหลายคนอยู่ร่วมช็อต

อย่างไรก็ตาม อารมณ์สนุกสนานและรื่นเริงแบบ เวส แอนเดอร์สัน ก็ยังคงสามารถสัมผัสได้แทบทุกฉาก (นี่อาจเป็นหนังตลกที่สุดของเขาเลยก็ว่าได้รวมไปถึงแง่มุมความรักอันบริสุทธิ์สดใสแบบที่เห็นใน Rushmore และ Moonlight Kingdom ความมหัศจรรย์อีกอย่างของหนัง คือ การเปิดโอกาสให้คนดูได้เห็นทักษะการแสดงตลกระดับสุดยอดของ เรล์ฟ ไฟนส์ ซึ่งโด่งดังขึ้นมาจากการรับบททหารนาซีจอมโหดใน Schindler’s List เขาไม่ใช่ดาราขาประจำของแอนเดอร์สัน และเป็นที่รู้จักจากบทดรามาหนักๆ หรือบทจอมมารอย่าง ลอร์ด โวลเดอร์มอร์ ในหนังชุด Harry Potter แต่การเสี่ยงดวงครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวด ตอนเขาส่งบทมาให้ผม เขาถามผมด้วยว่าคุณอยากจะเล่นเป็นใคร ซึ่งแปลกมากๆ เพราะเห็นได้ชัดว่ากุสตาฟเป็นตัวละครที่โดดเด่นสุด เขามีเสน่ห์แม้กระทั่งบนหน้ากระดาษจากบุคลิกสุดเนี้ยบและความหลงใหลในน้ำหอม” นักแสดงชาวอังกฤษกล่าว

The Grand Budapest Hotel นำเสนอกุสตาฟในฐานะชายผู้ต้องการจำลอง หรือรักษากาลเวลาและสถานที่ ซึ่งสูญหายไปแล้ว เอาไว้ ซึ่งนั่นอาจใช้เป็นคำอธิบายหนังของ เวส แอนเดอร์สัน ได้พอๆ กัน ในความคิดของไฟนส์ เขาเชื่อว่าแอนเดอร์สัน “ตระหนักถึงโลกอีกโลกหนึ่งในอดีตที่เขาสามารถอาศัยอยู่ได้อย่างมีความสุข มันเป็นความรู้สึกหวานปนเศร้าของอารมณ์ถวิลหาอดีตซึ่งคุณไม่เคยพานพบ หรือช่วงเวลาซึ่งคุณยังไม่ได้ลืมตาขึ้นมาดูโลกวความเจ็บปวด สูญเสีย และความหนักอึ้งของประวัติศาสตร์ดังกล่าวส่งผลให้ The Grand Budapest Hotel กลายเป็นผลงานที่น่าประทับใจและเติบใหญ่มากที่สุดของแอนเดอร์สัน


The Imitation Game

อลัน ทัวริง ตัวละครเอกใน The Imitation Game โด่งดังเป็นที่รู้จักในฐานะบิดาแห่งวิทยาการคอมพิวเตอร์ และที่สำคัญ นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษผู้นี้ยังได้รับยกย่องให้วีรบุรุษช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอีกด้วย หลังช่วยกองทัพอังกฤษถอดรหัสลับอีนิกมา ซึ่งทหารนาซีใช้การติดต่อสื่อสารและเชื่อกันว่าเป็นรหัสที่ซับซ้อนที่สุดและไม่อาจแก้ได้ วินสตัน เชอร์ชิล กล่าวว่าทัวริงเป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยให้ฝ่ายพันธมิตรมีชัยเหนือฝ่ายอักษะ ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ทัวริง ซึ่งหมกมุ่นและหลงใหลเกี่ยวกับรหัสลับมาตั้งแต่เล็ก มีชีวิตไม่ต่างจากปริศนาที่เต็มไปด้วยข้อขัดแย้ง เขามีนิสัยประหลาด ไม่ชอบเข้าสังคม และนิยมขลุกตัวอยู่กับตัวเลขมากกว่าผู้คน เขาค่อนข้างเปิดเผยเกี่ยวกับรสนิยมรักร่วมเพศในช่วงเวลาที่กิจกรรมรักร่วมเพศถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และในปี 1952 เขาก็ถูกตั้งข้อหากระทำการอนาจาร โดยแทนที่จะเลือกโทษจำคุก เขากลับตัดสินใจเลือกโทษ ตอนด้วยการฉีดฮอร์โมน จากนั้นสองปีต่อมา ขณะอายุเพียง 41 ปี ทัวริงก็ฆ่าตัวตายด้วยการกินแอปเปิ้ลอาบสารไซยาไนด์เพื่อเลียนแบบฉากโปรดของเขาในการ์ตูนเรื่อง Snow White and the Seven Dwarfs อย่างไรก็ตาม แม่ของเขายืนยันว่าทัวริงเป็นคนไม่ค่อยระมัดระวังและน่าจะสูดสารไซยาไนด์เข้าไปโดยอุบัติเหตุมากกว่าจะจงใจฆ่าตัวตาย ส่วนอีกหนึ่งสมมุติฐาน คือ เขาถูกฆ่าปิดปากโดยหน่วยข่าวกรองอังกฤษเพราะกลัวว่าเขาจะปูดความลับขององค์กร

เราจะเล่าเรื่องราวของคนที่ใช้ชีวิตจมดิ่งอยู่กับความลับ (ทั้งในแง่อาชีพการงานและชีวิตส่วนตัว) ได้อย่างไร ในหนังเรื่อง Enigma (2001) ทัวริงถูกดัดแปลงให้กลายเป็นชายแท้ที่กำลังเผชิญปัญหารักสามเส้า ขณะเดียวกันพล็อตสายลับก็ถอดสอดแทรกเข้ามาเพื่อช่วยเพิ่มอรรถรส ฮอลลีวู้ดไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับหนังเกี่ยวกับนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษที่เป็นเกย์เกรแฮม มัวร์ คนเขียนบท The Imitation Game กล่าว ดังนั้นจึงไม่แปลกที่บทหนังของเขาจะติดอันดับบทหนังยอดเยี่ยมที่ยังไม่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อยู่นานหลายปี ก่อน เท็ดดี้ ชวาร์ซแมน โปรดิวเซอร์หนังเรื่อง All Is Lost จะซื้อบทต่อจาก วอร์เนอร์ บราเธอร์ส แล้วเปิดไฟเขียวด้วยทุนสร้าง 15 ล้านเหรียญ

มัวร์ไม่เคยมีประสบการณ์เขียนบทหนังมาก่อน (เขาโด่งดังจากการแต่งนิยายขายดีเรื่อง The Sherlockian) แต่เขาเป็นพวกคลั่งไคล้คอมพิวเตอร์ และหมกมุ่นกับเรื่องราวชีวิตของทัวริงมาตั้งแต่สมัยยังเป็นวัยรุ่น โดยในตอนนั้นชื่อของทัวริงยังเป็นที่รู้จักแค่ในวงจำกัด เขาครุ่นคิดมาตลอดว่ามันเหมาะจะนำไปสร้างเป็นหนัง และระหว่างนั่งเครื่องบินเพื่อทัวร์โปรโมตหนังสือเรื่อง The Sherlockian เขาก็เริ่มต้นเขียนฉากแรก ความลำบากอย่างหนึ่งของการเขียนบทหนังเรื่องนี้อยู่ตรงที่ผลงานของทัวริงเพิ่งเป็นที่ยอมรับ หรือถูกเปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ ไม่มีเทปบันทึกภาพและเสียงของเขา นอกจากนี้บุคลิกเขาก็ค่อนข้างซับซ้อน เชื่อกันว่าเขามีบุคลิกค่อนข้างแปลก (เขาล่ามโซ่ถ้วยชาไว้กับเครื่องทำความร้อน) มักจะพูดติดๆ ขัดๆ อีกทั้งยังชอบเดินหนีไปเฉยๆ หากบทสนทนาไม่เป็นที่น่าสนใจสำหรับเขา แต่ในเวลาเดียวกัน เขาก็หาได้เคร่งขรึม เย็นชาดุจศาสตราจารย์น่าเบื่อทั่วๆ ไป เขามีอารมณ์อ่อนไหว และยังคงโศกเศร้ากับการจากไปของเพื่อนวัยเด็ก ชีวิตเซ็กซ์ของเขาไม่เคยถูกปิดบัง และเขาก็ไม่เคยอับอายที่ชื่นชอบเพศเดียวกัน

บทละครของ ฮิวจ์ ไวท์มอร์ เรื่อง Breaking the Code ซึ่งดัดแปลงจากหนังสือชีวประวัติทัวริงเขียนโดย แอนดรูว์ ฮ็อดส์ เช่นเดียวกับ The Imitation Game ตอบสนองความต้องการของมัวร์ได้ในแง่ที่ว่ามันวาดภาพทัวริงในแง่มุมน่ารักและน่าเศร้าไปพร้อมๆ กัน เขาเป็นชายหนุ่มผู้บริสุทธิ์ที่แปลกแยกแตกต่าง ตั้งแต่ฉากแรกมัวร์ต้องการให้ทัวริงเป็นบุคคลลึกลับสำหรับคนดู และบางทีอาจสำหรับตัวเขาเองด้วย ในขณะที่ Breaking the Code พูดถึงการถอดรหัสลับอีนิกมาน้อยมาก บทหนังของมัวร์กลับไม่ลังเลที่จะโยนตัวละครอย่างทัวริง ซึ่งมีความซับซ้อน เก็บกดมากกว่าเวอร์ชั่นละครเวที ลงไปอยู่ในหนังแนวทางสายลับ โดยความเป็นจริงแล้ว การถอดรหัสเกิดขึ้นหลายครั้งเนื่องจากกองทัพเยอรมันเปลี่ยนรหัสอยู่เรื่อยๆ ไม่ได้มี การค้นพบที่ยิ่งใหญ่แบบที่เห็นในหนัง แต่มัวร์ต้องการให้คนดูสัมผัสเหตุการณ์ผ่านมุมมองของทัวริง มันน่าจะตรงกับความรู้สึกเขาในขณะนั้นมัวร์กล่าว เขาคงรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังอยู่ในหนังสายลับและจุดนี้เองที่ทำให้ The Imitation Game แตกต่างจากหนังชีวประวัติบุคคลยิ่งใหญ่ทั่วๆ ไป (นอกเหนือไปจากการเล่าเรื่องแบบตัดสลับสามเหตุการณ์จากสามช่วงเวลาโดยไม่เรียงลำดับก่อนหลัง แต่สอดประสานกันในแง่อารมณ์และการค่อยๆ เปิดเผยข้อมูล) มันผสมผสานแนวทางลึกลับตื่นเต้น เกมชิงไหวชิงพริบในช่วงสงคราม เข้ากับเรื่องราวการวิเคราะห์ตัวละครได้อย่างกลมกลืน


Selma

ฮอลลีวู้ดเป็นโลกที่ชายผิวขาวเป็นใหญ่ ฉะนั้นสำหรับผู้กำกับหญิงวัย 42 ปีอย่าง เอวา ดูเวอร์เนย์ เธอจึงแทบไม่ต่างจากวัฒนธรรมย่อยของชนกลุ่มน้อย การที่ แองเจลินา โจลี ได้ทุน 65 ล้านเหรียญจากสตูดิโอมากำกับ Unbroken อาจไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจาก Maleficent สามารถทำเงินทั่วโลกได้มากกว่า 700 ล้านเหรียญ แต่มันถือเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจเล็กๆ ที่สตูดิโอจะให้ทุน 20 ล้านเหรียญกับผู้กำกับหญิงผิวดำค่อนข้างโนเนมมาสร้างหนังเกี่ยวกับบุคคลแห่งประวัติศาสตร์อย่าง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง (Middle of Nowhere หนังเรื่องก่อนของดูเวอร์เนย์ใช้ทุนเพียง 2 แสนเหรียญ) และเหตุการณ์อันน่าจดจำอย่างการเดินขบวนประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งของคนผิวสีจากเมืองเซลมาไปยังมอนต์โกเมอรี ภายใต้การต่อต้านอย่างหนักจากดินแดนตอนใต้ ซึ่งกระแสการเหยียดสีผิวยังคงคุกรุ่น

ลองเปรียบเทียบง่ายๆ ดูก็ได้ว่ากระทั่งผู้กำกับหญิงมากประสบการณ์และเครดิตอย่าง แคธลีน บิเกโลว ยังเคยได้ทุนสร้างเพียง 15 ล้านเหรียญเท่านั้นสำหรับมาทำหนังสงครามเจ้าของรางวัลออสการ์อย่าง The Hurt Locker อย่างไรก็ตาม การก้าวเข้ามานั่งเก้าอี้ผู้กำกับของดูเวอร์เนย์ถือเป็นเรื่องโชคชะตาดลบันดาลอยู่ไม่น้อย เนื่องจากแรกทีเดียว ลี เดเนียลส์ ถูกวางตัวให้เป็นผู้กำกับ ก่อนเขาจะเปลี่ยนใจหันไปสร้างหนังเรื่อง The Butler แทน (นอกจากนี้ยังมีผู้กำกับชายอีกหลายคนที่แสดงความสนใจ ไม่ว่าจะเป็น ไมเคิล มานสตีเฟน เฟรียร์สพอล แฮ็กกิส และสไปค์ ลี) ข่าวร้ายดังกล่าวทำให้โปรดิวเซอร์นึกถอดใจ แต่ไม่ใช่ เดวิด โอเยลโลโอ ซึ่งถูกวางตัวให้สวมบทบาท มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ทั้งนี้เพราะเขาเชื่อมั่นว่าดูเวอร์เนย์สามารถรับมือกับสโคปอันใหญ่โตของ Selma ได้ โอเยลโลโอลงมือเขียนจดหมายไปยัง Pathe บริษัทที่ให้ทุนสร้างเริ่มแรกกับ Selma ก่อนพาราเมาท์จะมารับช่วงต่อ เพื่อเสนอให้ดูเวอร์เนย์เป็นผู้กำกับ Selma

ถ้า ทอม ฮูเปอร์ ได้รับไฟเขียวจาก Pathe ให้กำกับ The King’s Speech ได้ทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำหนังสเกลใหญ่มาก่อน ทำไมเธอ (ดูเวอร์เนย์จะทำบ้างไม่ได้โอเยลโลโอให้สัมภาษณ์ (ทั้งสองเคยร่วมงานกันใน Middle of Nowhere และโอเยลโลโอก็ประทับใจกับสไตล์การทำหนังของดูเวอร์เนย์ซึ่งเน้นความใส่ใจในรายละเอียดแต่คนที่ช่วยให้ทุนสร้างของ Selma ได้รับการอนุมัติในท้ายที่สุด คือ โอปรา วินฟรีย์ ซึ่งชื่นชอบ Middle of Nowhere และเชื่อว่าเรื่องราวใน Selma ยังไม่เป็นที่รับรู้โดยทั่วไป โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างคิงกับ ลินดอน จอห์นสัน (ทอม วิลคินสัน) ก่อนฝ่ายหลังจะออกกฎหมายสิทธิเลือกตั้งในปี 1965 (เธอรับบทสมทบเล็กๆ ในหนังด้วย)

ความแตกต่างของ Selma กับหนังอิงประวัติศาสตร์ หรือหนังชีวประวัติเรื่องอื่นๆ อยู่ตรงที่ในมุมแรกหนังเน้นย้ำให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละครมากกว่าการไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ ขณะที่ในมุมหลังหนังไม่ได้เล่าถึงชีวิตโดยรวมของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง แต่เลือกจับเฉพาะช่วงเวลาสำคัญ ซึ่งนิยามตัวตนของเขาได้ชัดเจนที่สุด “ฉันเป็นโรคภูมิแพ้หนังดรามาประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องสิทธิพลเมือง เพราะหนังพวกนี้ส่วนใหญ่ให้ความรู้สึกเหมือนยาขม เล่าผ่านมุมมองโลกสวย เป็นประวัติศาสตร์ประเภทเคลือบน้ำตาล และขาดความน่าสนใจ ทั้งที่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์เหล่านี้ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาและแง่มุมซับซ้อน แต่พอถึงเวลานำมาทำเป็นหนัง การต้องผ่านมือคนหลายคน ผนวกกับความพยายามจะทำให้หนังเข้าถึงกลุ่มคนดูที่กว้างที่สุดทำให้พวกมันสูญเสียพลังบางอย่างไป มีบางเรื่องเหมือนกันที่ฉันชอบ บางเรื่องก็ดีมากๆ แต่ส่วนใหญ่ฉันรู้สึกเหมือนกำลังนั่งอ่านหนังสือประวัติศาสตร์มากกว่า นั่นทำให้ฉันพยายามใส่ชีวิตชีวาและความแตกต่างให้กับหนังเรื่อง Selma” ดูเวอร์เนย์กล่าว

ดูเวอร์เนย์ตัดสินใจแก้ไขบทหนังของ พอล เว็บบ์ ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ “ฉันไม่อยากทำหนังแบบ Mississippi Burning นั่นคือ เล่าเรื่องผ่านตัวละครผิวขาวเธอกล่าว บทเวอร์ชั่นดั้งเดิมของเว็บบ์โฟกัสไปยังความพยายามทางการเมืองของ ลินดอน บี. จอห์นสัน ในการผ่านกฎหมายสิทธิเลือกตั้ง ดูเวอร์เนย์ตอบตกลงว่าจะกำกับหนังเรื่องนี้โดยมีข้อแม้ว่าเธอต้องสามารถเปลี่ยนแปลงบทได้ (ในเวลาต่อมา Selma ก็ตกเป็นจำเลยในข้อหา เปลี่ยนประวัติศาสตร์” ด้วยการวาดภาพจอห์นสันให้เป็นเหมือนคนร้าย คอยขัดขวางการเดินขบวนของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง) “ความสนใจของฉันอยู่ตรงบรรดาผู้คนที่มาร่วมเดินขบวนในเซลมา เหล่าพี่น้องผิวสีทั้งชายและหญิงรอบๆ ตัวคิงดูเวอร์เนย์อธิบาย บทหนังเวอร์ชั่นล่าสุดของเธอปรากฏตัวละครใหม่ๆ มากกว่า 10 คน แต่ความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่สุดคงหนีไม่พ้นการผลักดันให้ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง กลายเป็นแก่นหลักของหนังเพื่อสะท้อนให้เห็นความเก่งกาจของเขา ไม่เฉพาะแต่การสร้างแรงบันดาลใจให้ฝูงชนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเล่นการเมืองเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอันยิ่งใหญ่อีกด้วย


The Theory of Everything

ครั้งแรกที่ สตีเฟน ฮอว์คิง (เอ็ดดี้ เรดเมย์น) ทดลองใช้เสียงคอมพิวเตอร์ เจน ภรรยาของเขา (เฟลิซิตี้ โจนส์) โพล่งขึ้นมาด้วยน้ำเสียงหงุดหงิดว่า มันเป็นสำเนียงอเมริกัน!บทพูดดังกล่าวเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้ไม่น้อย และในเวลาเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่ามีอะไรอีกหลายอย่างที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับอัจฉริยบุคคลชาวอังกฤษผู้ถูกยกย่องให้เป็น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ แห่งทศวรรษที่ 20 ในอเมริกาและแคนนาดา 9 ใน 10 คิดว่าเขาเป็นคนอเมริกัน และส่วนใหญ่ก็นึกว่าเขาพิการตั้งแต่กำเนิด พวกเขาไม่รู้เลยว่าฮอว์คิงแต่งงานและมีลูกทั้งหมดสามคน หนังเรื่องนี้จะทำให้คนรู้จักตัวตนที่แท้จริงของฮอว์คิงในเชิงลึกมากขึ้น คนเขียนบท แอนโธนีย์ แม็คคาร์เทน กล่าว

The Theory of Everything ดัดแปลงจากบันทึกชีวิตของ เจน ฮอว์คิง เรื่อง Travelling to Infinity: My Life with Stephen ตีพิมพ์เมื่อปี 2007 เล่าถึงประวัติความเป็นมาของ สตีเฟน ฮอว์คิง นับแต่เขายังมีร่างกายสมบูรณ์เป็นปกติในฐานะนักศึกษาภาควิชาฟิสิกส์ที่เกียจคร้านของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทุกอย่างดูราบรื่น งดงาม เมื่อเขาพบรักกับเจนและค้นพบข้อมูลใหม่อันน่าสนใจเกี่ยวกับหลุมดำ ตลอดจนการกำเนิดของจักรวาล แต่ทันใดนั้นเอง ชีวิตกลับพลิกผันอย่างไม่คาดคิดหลังแพทย์แจ้งข่าวร้ายว่าเขาป่วยเป็นโรค ALS และเหลือเวลาบนโลกนี้แค่สองปี โชคดีที่คำทำนายดังกล่าวห่างไกลจากความเป็นจริง เพราะ 50 ปีต่อมา ฮอว์คิงยังคงมีชีวิตอยู่ เขาโด่งดังเป็นที่รู้จักจากการเขียนหนังสือเรื่อง A Brief History of Time ซึ่งทำยอดขายมากกว่า 10 ล้านเล่มทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ชีวิตแต่งงานของเขาก็พบกับจุดพลิกผันเช่นกัน โดยหลังจากประคับประคองผ่านความยากลำบากมาตลอด 25 ปี ทั้งสองตัดสินใจแยกทางกัน โดยสตีเฟนแต่งงานไปใหม่กับพยาบาลที่เจนจ้างมาช่วยเหลือเขา ส่วนเจนก็แต่งงานใหม่ไปกับผู้ควบคุมวงประสานเสียงที่มาช่วยดูแลสตีเฟน

หนังเป็นงานกำกับของ เจมส์ มาร์ช ซึ่งสร้างชื่อจากสารคดียอดฮิต Project Nim และสารคดีชนะรางวัลออสการ์ Man on Wire เขาพยายามจะสร้างสีสันและถ่ายทอดรูปธรรมให้ผลงานทางวิทยาศาสตร์ของฮอว์คิงด้วยการถ่ายภาพครีมเทียมในถ้วยกาแฟแทนภาพจำลองของหลุมดำ หรือการให้เจนใช้ถั่วกับมันฝรั่งในการอธิบายความแตกต่างระหว่างทฤษฎีควอนตัมกับทฤษฎีสัมพัทธภาพ แต่ส่วนใหญ่แล้วฟิสิกส์ถูกบดบังให้กลายเป็นแบ็คกราวด์ของเรื่องราวความรักอันยิ่งใหญ่ และการก้าวข้ามอุปสรรคอันยิ่งใหญ่เพื่อค้นหาความหมายในชีวิต ตอนอ่านบทครั้งแรก ผมรู้สึกตื่นตะลึงกับประสบการณ์ที่ชายคนนี้ต้องเผชิญ รวมไปถึงความสำเร็จมากมายที่เกิดจากมันสมองของเขา มันเป็นเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจได้อย่างใหญ่หลวง สตีเฟน ฮอว์คิง คือ สัญลักษณ์ของความหวังเรดเมย์นกล่าวแต่หนังยังเล่ามิติแห่งความเป็นมนุษย์ของชายที่ปราดเปรื่องด้วย เขาเปี่ยมชีวิตชีวา มีรอยยิ้มอยู่ในดวงตา ยังมีด้านที่แตกต่างของเขานอกเหนือจากสติปัญญาอันล้ำเลิศ ทั้งความดื้อรั้นและอารมณ์ขัน ผมมีความรู้สึกว่าเขาเป็นเหมือนนักร้องเพลงร็อค

จากการค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม เรดเมย์นตระหนักว่าฮอว์คิงเติบโตมาในครอบครัวปัญญาชน ขณะที่เจนตัดสินใจหันมาเอาดีในโลกแห่งวิชาการด้วยความบากบั่นส่วนตัว นั่นถือเป็นทางเลือกที่กล้าหาญพอควรสำหรับผู้หญิงยุค ’60 “พวกเขามีพื้นเพแตกต่างกันมาก แทบจะเรียกได้ว่าเป็นขั้วตรงข้ามเลยก็ได้นักแสดงหนุ่มวัย 33 ปีกล่าว ความคิดว่าคนสองคนจากโลกที่แตกต่างสามารถเติมเต็มและฟันฝ่าอุปสรรคไปด้วยกันถือเป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับผม และในขณะเดียวกันก็โรแมนติกมากๆ!

ความดีงามของ The Theory of Everything อยู่ตรงที่หนังไม่ได้นำเสนอความรักในรูปแบบเมโลดรามา โลกสวย หรือเพ้อฝัน ความรักไม่ได้สามารถเอาชนะทุกสิ่ง แต่มันเป็นหนังที่สะท้อนให้เห็นแง่มุมลึกซึ้งของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์สองคนที่ต่างก็มีข้อเสีย และไม่ได้สมบูรณ์แบบ (หนังลดทอนข้อบกพร่องของฮอว์คิงในชีวิตสมรสโดยเฉพาะช่วงท้ายๆ เมื่อเขากับเจนเริ่มเหินห่างกันไปลงค่อนข้างมากเพื่อให้ตัวละครดูน่าเห็นอกเห็นใจสำหรับคนดู จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมฮอว์คิงตัวจริงถึงเห็นชอบกับผลลัพธ์สุดท้ายขนาดยินดีให้ทีมงานยืมเสียงคอมพิวเตอร์ของเขามาใช้ในหนังได้ เมื่อพิจารณาว่าเรื่องราวดัดแปลงมาจากมุมมองของอดีตภรรยาเขา) พวกเขาต่อสู้ดิ้นรนผ่านอุปสรรคขวากหนาม ความขัดแย้ง และความผิดพลาดไม่ต่างจากคู่สมรสทั่วไป The Theory of Everything แตกต่างจากผลงานดาษๆ ในแนวนี้ไม่ใช่มันเชิดชูชัยชนะอันน่าประทับใจของสองตัวละคร แต่เพราะมันสดุดีแด่การดิ้นรนต่อสู้ของพวกเขาต่างหาก


Whiplash

หนังส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับดนตรีแจ๊สมักพูดถึงดนตรีแจ๊สในแง่ของการเฉลิมฉลอง การได้เล่นเครื่องดนตรีสักชิ้นก็เหมือนการได้ปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระ ได้ถ่ายทอดเสียงให้กับอารมณ์ ความรู้สึกภายใน และที่สำคัญที่สุด ดนตรีแจ๊สจะมอบความสุขให้กับชีวิตอย่างสุดซึ้ง แต่หนังอินดี้เล็กๆ ที่กลายเป็นผลงานเข้าชิงออสการ์ในเวลาต่อมาเรื่อง Whiplash กลับเสนอมุมมองที่แตกต่างออกไป เมื่อการเล่นเครื่องดนตรีให้อารมณ์เหมือนการถูกลงโทษ ทั้งในแง่ร่างกายและสภาพจิตใจ และประสบการณ์ในวงดนตรีแจ๊สก็ดุเดือด ตึงเครียดไม่ต่างจากการถูกฝึกอยู่ในค่ายทหาร แทนที่จะมอบอิสระ มันกลับให้อารมณ์เหมือนกรงขังที่สิ้นไร้ทางออก ฉากหลังของหนัง คือ โรงเรียนสอนดนตรีชั้นนำแห่งหนึ่งในแมนฮัตตัน นักเรียนหนุ่มผู้เปี่ยมพรสวรรค์ (ไมลส์ เทลเลอร์) ต้องฝึกฝนและยินยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อให้ได้เป็นมือกลองอันดับหนึ่งในสายตาของวาทยกรจอมโหด (เจ.เค. ซิมมอนส์) ที่รับเขาเข้าร่วมวงด้วยความหวังว่าจะค้นพบนักดนตรีแจ๊สมือหนึ่งระดับตำนานแบบเดียวกับ ชาร์ลี เบิร์ดพาร์คเกอร์

ใครที่ได้ชมหนังต่างรู้สึกคาดไม่ถึงเมื่อพบว่าความเข้มข้น เลือดสาดดุจเดียวกับหนังสงครามชั้นยอดของ Whiplash เป็นฝีมือของผู้กำกับหน้าใหม่ที่อายุเพียง 29 ปีอย่าง เดเมียน เชเซล ซึ่งก่อนหน้านี้สร้างชื่อเสียงในวงจำกัดจากการกำกับหนังรักเล็กๆ เรื่อง Guy and Madeline on a Park Bench ที่พูดถึงแง่มุมงดงามของดนตรีแจ๊สแบบเดียวกับที่กล่าวไปในช่วงต้น เชเซลเคยเป็นมือกลองตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยม และได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากประสบการณ์ดังกล่าว เทอเรนซ์ เฟลทเชอร์ เป็นภาพเสมือนของหัวหน้าวงดนตรีผมในตอนนั้น มันเป็นวงที่เต็มไปด้วยการแข่งขันเข้มข้น และถูกจัดตั้งขึ้นเลียนแบบวงดนตรีแจ๊สมืออาชีพ ผมจำได้ว่ารู้สึกหวาดกลัวตลอดเวลาถึงขนาดกินอะไรไม่ลงก่อนเริ่มซ้อม นอนไม่หลับ และเหงื่อไหลเป็นน้ำ ผมอยากถ่ายทอดความรู้สึกเหล่านั้นลงไปในหนังเชเซลเล่า

โชคดีสำหรับนักดูหนังอย่างเราที่เชเซลตัดสินใจเลือกภาพยนตร์แทนที่จะหันไปเอาดีด้านการเป็นนักดนตรีเหมือนเพื่อนๆ ของเขาอีกหลายคนในวง แต่นั่นไม่ได้ทำให้ชีวิตเขาราบรื่นขึ้น หรือห่างไกลจากโรคเส้นเลือดในสมองแตกเสมอไป การทำหนังเป็นความเครียดที่แตกต่างออกไป จริงอยู่ว่าไม่มีใครมาตะโกนใส่หน้าผมอีกแล้ว อย่างน้อยก็ไม่ใช่ตลอดเวลา ส่วนมากจะเป็นผมต่างหากที่ตะโกนใส่ตัวเองในใจ แต่ข้อจำกัดหลายๆ อย่างก็สามารถสร้างความหงุดหงิด ตึงเครียดได้ไม่เว้นแต่ละวันเขากล่าว ผมพยายามรักษาบรรยากาศเป็นกันเองในกองถ่าย ทำให้ทุกคนรู้สึกว่ามีอิสระที่จะทดลองอะไรแปลกใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรามีเวลาถ่ายทำทั้งหมด 20 วัน แค่นั้นก็เครียดพออยู่แล้ว

Whiplash เริ่มต้นในรูปของบทภาพยนตร์ความยาว 85 หน้า และติดรายชื่อในปี 2012 ในฐานะบทหนังชั้นเยี่ยมที่ยังไม่ถูกนำไปสร้าง เชเซลได้ทุนจำกัดจำเขี่ยมาพอสำหรับดัดแปลง 15 หน้าในบทภาพยนตร์ให้กลายเป็นหนังสั้นความยาว 18 นาทีเท่านั้น นำแสดงโดย จอห์นนี ซิมมอนส์ ในบทมือกลอง และ เจ.เค. ซิมมอนส์ ในบทครู หนังได้เสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์และคว้ารางวัล Jury Prize จากซันแดนซ์มาครอง แต่ที่สำคัญที่สุด คือ มันดึงดูดให้ โบลด์ ฟิล์มส์ สตูดิโออิสระยอมลงเงินทุนจำนวน 3 ล้านเหรียญเพื่อดัดแปลงมันให้เป็นหนังขนาดยาว โดยมี ไมลส์ เทลเลอร์ มารับบทเป็นมือกลอง จากนั้นหนังก็เดินตามรอยความสำเร็จของหนังสั้นด้วยการคว้ารางวัล Grand Jury Prize จากเทศกาลหนังซันแดนซ์มาครอง ก่อนจะเดินหน้าคว้ารางวัลอีกมากมายจนสุดท้ายลงเอยด้วยการถูกเสนอชื่อเข้าชิงสาขาสูงสุดบนเวทีออสการ์ ซึ่งถือเป็นการเดินทางอันน่าทึ่งสำหรับหนังเล็กๆ ที่ปราศจากแรงสนับสนุนของสตูดิโอยักษ์ใหญ่

แม้หนังจะพูดถึงอาชีพและทักษะเฉพาะทาง แต่ประเด็นหลักของหนังสามารถเข้าถึงกลุ่มคนดูได้อย่างสากล คือ ราคาที่ต้องจ่ายสำหรับความยิ่งใหญ่ พร้อมกันนั้นก็ตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้ว ความยิ่งใหญ่คืออะไรกันแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายตาของเด็กรุ่นหนุ่มสาวที่กำลังค้นหาที่ทางในสังคม บทหนังเรื่องนี้ใกล้เคียงกับชีวิตจริงของผมมากที่สุด ผมใช้เวลา 5 ปีอุทิศให้การตีกลองในวงดนตรีแจ๊ส ผมอยากสะท้อนให้เห็นระดับความหมกมุ่น ผมไม่เคยคิดอะไรอื่นนอกจากเรื่องตีกลอง ดนตรีแจ๊ส และการฝึกฝนทักษะให้เชี่ยวชาญ มันเป็นชีวิตจิตใจของผม นำมาซึ่งทั้งความสุขและความทุกข์ทรมานในเวลาเดียวกัน มันเป็นเหมือนอีกโลกหนึ่งที่ตัดขาดจากทุกสิ่งทุกอย่างรอบข้างเชเซลกล่าว ผมต้องการวิพากษ์แนวคิดที่ว่าเป้าหมายที่ดีงามให้ความชอบธรรมกับวิธีการที่ชั่วช้า ผมรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้สามารถมองได้สองทาง คือ ก่นด่าลักษณะการสอนแบบหนึ่งภายใต้แนวคิดที่ว่าความยิ่งใหญ่สามารถจัดระบบและเคี่ยวเข็ญได้ อีกทาง คือ เฉลิมฉลองความเสียสติ (ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น) ของศิลปิน ดังนั้นในฉากจบผมจึงรู้สึกว่ามันเป็นฉากแฮปปี้เอ็นดี้ที่น่าเศร้าที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น: