วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 28, 2558

Oscar 2015: Best Director


เวส แอนเดอร์สัน (The Grand Budapest Hotel)

นับแต่ผลงานกำกับชิ้นที่สามของเขาเมื่อปี 2001 เรื่อง The Royal Tenenbaums ดูเหมือนโลกในหนังของผู้กำกับชาวเท็กซัสอย่าง เวส แอนเดอร์สัน ก็เริ่มขยับขยายออกห่างจากโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ในผลงานกำกับชิ้นถัดมาเรื่อง The Life Aquatic With Steve Zissou เขาพาคนดูไปสำรวจภารกิจใต้น้ำเพื่อล้างแค้นปลาฉลามเรืองแสง ส่วนผลงานกำกับชิ้นที่เจ็ดเรื่อง Moonlight Kingdom เขาเล่าถึงเรื่องราวการหนีตามกันของเด็กชายกับเด็กหญิงวัย 12 ปีที่พบรักระหว่างการแสดงโอเปราเรื่อง Noye’s Fludde “หักเหจากโลกแห่งความจริงประมาณห้าองศาแอนเดอร์สันนิยามโลกในหนังของเขา ซึ่งนั่นถือเป็นการถ่อมตัวขั้นรุนแรง    

ผลงานกำกับชิ้นล่าสุด ซึ่งทำให้เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ในสาขาผู้กำกับและหนังยอดเยี่ยมเป็นครั้งแรก เรื่อง The Grand Budapest Hotel เล่าถึงเรื่องราวมิตรภาพระหว่างผู้จัดการโรงแรม มองซิเออร์ กุสตาฟ (เรล์ฟ ไฟนส์) กับเด็กยกกระเป๋า ซีโร (โทนี เรโวโลรี) ตลอดจนการผจญภัยของพวกเขาหลังกุสตาฟได้รับมรดกเป็นภาพวาดราคาแพงจากเศรษฐีนี(ทิลด้า สวินตัน) ซึ่งเป็นลูกค้าขาประจำของโรงแรม ฉากหลังของหนังเป็นยุค30 ก่อนการมาถึงของสงครามโลกและทหารนาซี (ในหนังสัญลักษณ์ SS ถูกแทนที่ด้วย ZZ) แต่ The Grand Budapest Hotel ไม่ได้ดำเนินเหตุการณ์ในกรุงบูดาเปส หรือกระทั่งประเทศฮังการีด้วยซ้ำ แต่เป็นเมืองสมมุติในยุโรปที่ท้องถนนปูพื้นหิน มีหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษและกระเช้าไฟฟ้า ผมอยากเล่าถึงตัวละคร และประสบการณ์ของพวกเขา แต่ในการเวลาเดียวกันผมก็อยากสร้างสรรค์โลกเฉพาะของพวกเขาด้วยแอนเดอร์สันกล่าว

ความประณีตในทุกรายละเอียดของเขาขึ้นชื่อเลื่องลือมานาน ทุกอย่างต้องเป๊ะทุกกระเบียดนิ้ว สมดุลและสมมาตร ไม่ใช่แค่การจับใส่ไปตามสะดวก โปรดิวเซอร์คนหนึ่งที่เคยร่วมงานกับเขาหลายเรื่องบอกว่าในระหว่างถ่ายทำหนังอนิเมชั่นเรื่อง Fantastic Mr. Fox ผู้กำกับวัย 45 ปีอยากให้คนดูเห็นคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ที่เขียนโดยมิสเตอร์ฟ็อกซ์ มันจะปรากฏบนจอเพียงไม่กี่วินาที แต่แอนเดอร์สันกลับก้มหน้าเขียนบทความสมบูรณ์แบบความยาว 400 คำเพื่อใช้ในการนี้โดยเฉพาะ ล่าสุดแฟนสาวของเขา จูแมน มาลอฟ ถูกจ้างให้มาวาดภาพเหล่านักแสดงใน The Grand Budapest Hotel สวมเครื่องแต่งกายเต็มยศ โดยภาพเหล่านี้ไม่ได้ถูกใช้เป็นอุปกรณ์ตกแต่งฉาก แต่ใช้สำหรับแขวนประดับโรงแรมที่พักของนักแสดงกับทีมงานเพื่อสร้างบรรยากาศ

บรรดาแฟนพันธุ์แท้จะมองผลงานของแอนเดอร์สันว่ามีเสน่ห์แพรวพราว ประณีต และเปี่ยมจินตนาการ แต่คนที่ไม่ใช่แฟนประจำก็มักจะวิจารณ์ว่าพวกมันดูวุ่นวายและปรุงแต่งเกินไป ขณะจมดิ่งลงไปยังโลกแสนพิเศษของเขามากยิ่งขึ้น เขาคิดว่าการกระทำดังกล่าวเสี่ยงต่อการผลักดันคนดูให้ออกห่าง หรือเข้าไม่ถึงหรือไม่ เพราะใครก็ตามที่ไม่คุ้นเคยกับสไตล์เฉพาะตัวของเขาอาจรู้สึกงุนงง หรือจับต้นชนปลายไม่ถูกเมื่อได้ชม The Grand Budapest Hotel “ผมคิดว่าถ้าใครเดินเข้ามาดูหนังเรื่องนี้โดยไม่เคยดูผลงานเรื่องอื่นๆ ของผมมาก่อนเลย เขาอาจจะคิดว่ามันแปลกๆ จากหนังทั่วไปอยู่หน่อย แต่ผมคิดว่า The Grand Budapest Hotel ก็เล่าเรื่องค่อนข้างตรงไปตรงมาอยู่นะคำพูดดังกล่าวตรงความจริงอยู่บ้าง แต่ไม่ทั้งหมด เพราะสิ่งละอันพันละน้อยทำให้มันแตกต่างจากหนังฮอลลีวู้ดกระแสหลักทั่วไป เช่น การแฟลชแบ็คซ้อนทับสามตลบ หรือการที่กล้องไม่ฉายให้เห็นเหตุการณ์สำคัญในช่วงไคล์แม็กซ์บีบอารมณ์ นั่นยังไม่รวมถึงอารมณ์ขันแปลกประหลาด และการจัดวางองค์ประกอบภาพอันเป็นเอกลักษณ์

ถึงแม้หนังเรื่องแรกของเขา Bottle Rocket ที่ร่วมเขียนบทและนำแสดงโดย โอเวน วิลสัน รูมเมทตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยจะล้มเหลวในด้านการทำเงิน แต่โปรดิวเซอร์ เจมส์ แอล บรู้กส์ ก็ยังเชื่อมั่นว่าแอนเดอร์สันเป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะอัดฉีดชีวิตชีวาและความแปลกใหม่ให้วงการหนัง เขามองสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนมดตัวอื่นอีกนับพันล้านตัวที่อยู่บนเนินเขาเดียวกันบรู้กส์กล่าวถึงเด็กปั้นของเขา นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาจึงช่วยผลักดันให้แอนเดอร์สันได้ทำหนังต่อไป ผลลัพธ์ที่ตามมา คือ Rushmore ภาพยนตร์ตลกโรแมนติกที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน มันประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และคำวิจารณ์ แถมยังช่วยชุบชีวิตอาชีพนักแสดงให้กับ บิล เมอร์เรย์ ซึ่งกลายเป็นดาราขาประจำของแอนเดอร์สัน หนังอีก 5 เรื่องทยอยออกฉายตามในช่วงเวลา 11 ปี แต่ขณะที่เพื่อนร่วมรุ่นอย่าง เดวิด โอ. รัสเซลล์ และ อเล็กซานเดอร์ เพย์น เริ่มคว้ารางวัลไปครองมากมาย ผลงานของแอนเดอร์สันกลับถูกตีค่าต่ำกว่าและได้เข้าชิงออสการ์ในสาขาย่อยๆ อย่างบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเท่านั้น เขาเคยรู้สึกอิจฉาบ้างไหม ไม่เลย ผมมีความสุขที่ได้ทำหนัง ผมคิดว่าผมจะรู้สึกขมขื่นก็ต่อเมื่อไม่มีใครให้ทุนมาสร้างหนังนั่นแหละแอนเดอร์สันกล่าว ความสำเร็จล้นหลามของ The Grand Budapest Hotel (มันเป็นหนังทำเงินสูงสุดของเขา) น่าจะรับประกันโอกาสสร้างหนังของแอนเดอร์สันไปได้อีกพักใหญ่ และบางทีอาจช่วยให้เขาคว้าออสการ์มาครองกับเขาสักที


อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินญาร์ริตู (Birdman)

สองปีก่อน อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินญาร์ริตู รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังยืนอยู่บนทางสองแพร่ง เลือกไม่ถูกว่าควรจะเดินต่อไปทางไหน เขาเริ่มต้นอาชีพในวงการบันเทิงด้วยผลงานสร้างชื่ออย่าง Ameros Perros ซึ่งถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม จากนั้นก็โกอินเตอร์และโด่งดังยิ่งขึ้นด้วยหนังพูดภาษาอังกฤษอย่าง 21 Grams และ Babel แต่แล้วหลังจากนั้นเขากลับใช้เวลาถึง 4 ปีกว่าจะสร้างหนังเรื่องถัดมา นั่นคือ Biutiful ซึ่งถูกฉายในวงจำกัด แต่ยังคงพูดถึงประเด็นหนักๆ ด้วยท่าทีขึงขังจริงจังเช่นเคย (บางคนค่อนขอดว่าอาจจะจริงจังมากเกินไปด้วยซ้ำ) หนังไม่ค่อยประสบความสำเร็จทั้งในแง่พาณิชย์และเสียงตอบรับของนักวิจารณ์ นับจากนั้นอินญาร์ริตูก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าเขากำลังเดินมาผิดทางหรือไม่ เขาเลือกกำกับหนังบนพื้นฐานของความกลัวที่จะล้มเหลวหรือเปล่า เขากำลังจะลงเอยเหมือนผู้กำกับต่างชาติอีกหลายคนที่ผันตัวเองจากศิลปินมาเป็นแค่มือปืนรับจ้างในฮอลลีวู้ดใช่หรือไม่ มันเป็นช่วงเวลาที่ผมต้องตัดสินใจเลือกว่าจะเอายังไงกับชีวิตดี อะไรที่ผมควรให้ความสำคัญมากกว่ากันผู้กำกับชาวเม็กซิกันกล่าว ตลอดช่วงเวลานั้นผมมองเห็นว่าอีโก้ของผมกำลังก้าวเข้ามาครอบงำ

เขาเริ่มตระหนักว่าความตึงเครียดอันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่เขาอยากทำกับสิ่งที่คนอื่นคาดหวังจากเขากำลังชักนำเขาไปสู่ความพยายามที่จะเดินย่ำรอยความสำเร็จในอดีต เขายังมองไม่เห็นทางออก เพราะตลอดชีวิตเขาทำแต่หนังซึ่งเต็มไปด้วยประเด็นดรามาหนักหน่วง การตั้งคำถามต่อระดับศีลธรรมในจิตใจคน ความตาย หรือโรคร้ายแรงถือเป็นหัวใจหลักของหนังทั้งสี่เรื่องก่อนหน้านี้ ฉะนั้นการจะเปลี่ยนแปลงอะไรแบบฉับพลันย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ทันใดนั้นเองเขาก็เกิดปิ๊งไอเดียสุดเจ๋งขึ้นมาว่า ถ้าเราเปลี่ยนความสงสัยไม่แน่ใจในตัวเองเหล่านั้นให้กลายเป็นหนังล่ะ? นั่นคือจุดกำเนิดของ Birdman หนังที่เล่าถึงเรื่องราวการดิ้นรนและการไถ่บาปของศิลปินด้วยลีลาเบาสมอง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนดูไม่เคยพบเห็นมาก่อนในหนังของผู้กำกับสุดเครียดอย่างอินญาร์ริตู

หนังใช้เวลาถ่ายทำประมาณหนึ่งเดือนที่โรงละครเซนต์เจมส์ในบรอดเวย์ ติดตามชีวิตของ ริกแกน ธอมสัน อดีตดาราดังจากการสวมวิญญาณซูเปอร์ฮีโร่ เบิร์ดแมนในหนัง รับบทโดย ไมเคิล คีตัน ซึ่งในชีวิตจริงเคยโด่งดังจากการเล่นหนังแบทแมนทั้งสองภาคของ ทิม เบอร์ตัน ริกแกนถูกหลอกหลอนโดยเสียงภายในของตัวเอง เขาหวาดกลัวว่าตัวเองกำลังตกอับกลายเป็นคนเคยดังที่ทุกคนพากันหลงลืม เพื่อสงบเสียงดังกล่าว ริกแกนจึงตัดสินใจเขียน กำกับ และนำแสดงในละครบรอดเวย์สุดซีเรียสซึ่งดัดแปลงจากหนังสือของ เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ แต่เมื่อใกล้วันเปิดแสดง ความท้าทายต่างๆ ก็เริ่มประเดประดังเข้ามาให้เขาต้องแก้ไขไม่หยุดหย่อน ทั้งการสู้รบกับนักแสดงละครชื่อดัง ไมค์ ไชเนอร์ (เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน) รวมไปถึงการรับมือลูกสาวปากร้าย (เอ็มมา สโตน) ซึ่งเป็นอดีตขี้ยาและรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยของเขา แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุด คือ ความรู้สึกว่าการทุ่มเทครั้งนี้มีสิทธิ์จะลงเอยด้วยหายนะ

วิธีนำเสนอของอินญาร์ริตูเป็นเหมือนกระจกสะท้อนภาวะบ้าบิ่นของริกแกน เนื่องจากเขาเลือกถ่ายทำทุกช็อตเป็นภาพลองเทค แล้วนำมาตัดต่อเข้าด้วยกันแบบหลอกตาคนดูเพื่อให้รู้สึกเหมือนว่าหนังถ่ายทำรวดเดียวแบบปราศจากการตัดต่อ นั่นหมายถึงทุกช็อต (บางครั้งกินความยาวในบทถึง 15 หน้า) จะต้องถูกเตรียมการอย่างละเอียดลออในระดับเดียวกับการปล่อยจรวดของนาซา ทุกอย่างต้องลงล็อกพอดี ห้ามมีความผิดพลาดแม้แต่น้อย ตั้งแต่การเคลื่อนกล้อง บล็อกกิ้งนักแสดง การจัดวางอุปกรณ์ประกอบฉาก ไปจนถึงบทพูดที่ต้องเข้าจังหวะสอดรับกับกล้อง โชคดีที่ลองเทคถือเป็นของหวานสำหรับ เอ็มมานูเอล ลูเบซกี้ ซึ่งเพิ่งจะคว้าออสการ์มาจากการถ่ายทำสไตล์เดียวกันใน Gravity เขาเกาะติดนักแสดงจากหลังเวทีไปยังหน้าเวทีได้อย่างลื่นไหลตลอดเวลาเกือบสองชั่วโมง ในโลกแห่งความเป็นจริงเราใช้ชีวิตโดยปราศจากการตัดต่อ นับแต่ลืมตาขึ้นมา เราต้องอาศัยอยู่ในกรอบของสเตดิแคม ผมอยากให้ตัวละครรู้สึกจมดิ่งไปกับความจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงนี้ และคนดูก็จะได้เดินเคียงข้างเขาไปตลอดช่วงเวลาสามวัน

นอกจากนี้ เรื่องราวในหนังยังเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ระหว่างระดับชั้นในผลงานศิลปะ ระหว่างการเรียกร้องบทบาทบุคคลสาธารณะของยุคดิจิตอลกับแรงปรารถนาในความเป็นส่วนตัว ระหว่างภาพลักษณ์ที่เราคิดว่าตัวเองเป็นกับตัวตนแท้จริงของเราประเด็นหลายอย่างในหนังล้วนเป็นสิ่งที่ผมประสบพบเจอกับตัวเอง Birdman ถือเป็นเหมือนการบำบัดจิต มันเปิดโอกาสให้ผมได้สำรวจความซับซ้อนต่างๆ เหล่านั้นอินญาร์ริตูกล่าว จากนั้น ไมเคิล คีตัน ก็สรุปตบท้ายว่า หลายคนคิดว่าหนังเรื่องนี้เป็นภาพสะท้อนของผมกับอาชีพในวงการบันเทิงที่ผ่านมา แต่ความจริงแล้ว มันบอกกล่าวความรู้สึกนึกคิดของอเลฮานโดรมากกว่า


ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ (Boyhood)

ผลงานกำกับเรื่องล่าสุดของ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ อาจมีชื่อว่า Boyhood แต่ความจริงแล้วมันไม่ได้เกี่ยวกับ วัยเด็กเสียทีเดียว จริงอยู่หนังเล่าถึงเรื่องราวชีวิตของเด็กชายชาวเท็กซัสคนหนึ่งชื่อว่า เมสัน (เอลลา โคลเทรน) ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพ่อ (อีธาน ฮอว์ค) แม่ (แพ็ทริเซีย อาร์เคตต์) และพี่สาว (ลอร์ไล ลิงค์เลเตอร์) ที่เต็มไปด้วยความสุขสันต์และเจ็บปวดตลอดช่วงเวลา 12 ปี แต่โดยแก่นหลักแล้ว Boyhood ไม่ได้เป็นหนังเกี่ยวกับการเติบโตเป็นหนุ่ม หรือวัยเด็ก หากแต่พูดถึงเรื่องของเวลา ซึ่งเป็นประเด็นที่ลิงค์เลเตอร์สนใจมานาน และมักจะนำเสนอแง่มุมต่างๆ ผ่านหนังหลายเรื่องของเขาในอดีต โดยเวลาในที่นี้หาใช่การพูดถึงในเชิงปรัชญา หรือวิทยาศาสตร์ใดๆ (เช่น เวลาแบบที่เห็นในหนังอย่าง Interstellar) แต่หมายถึงช่วงเวลา ของเราช่วงเวลาแห่งปัจจุบัน และความคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอยู่กับชั่วขณะนี้

ความน่าตื่นตะลึงของ Boyhood อยู่ตรงที่ลิงค์เลเตอร์เลือกถ่ายหนังเรื่องนี้ทุกๆ หนึ่งปี ปีละ 3-4 วันตลอดระยะเวลา 12 ปี เพื่อทำให้คนดูได้เห็นพัฒนาการทางด้านอารมณ์ เรื่องราว และรูปธรรมของตัวละครไปพร้อมๆ กัน ได้เห็นนักแสดงเติบใหญ่ หรือไม่ก็แก่ชราไปตามกาลเวลา โดยย่นย่อ 12 ปีเอาไว้ในช่วงเวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมง ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ความมหัศจรรย์แบบที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อนบนจอภาพยนตร์ อย่างไรก็ตาม เดิมพันดังกล่าวของลิงค์เลเตอร์อาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าใดนัก หากพิจารณาจากเครดิตที่ผ่านมาของเขา ซึ่งเต็มไปด้วยความทดลองอะไรแปลกใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นหนังที่ถ่ายทำตามเวลาจริงอย่าง Tape หนังคนแสดงแล้ววาดการ์ตูนทับลงไปจนให้อารมณ์ล่องลอยเหมือนอยู่ในความฝันอย่าง Waking Life หรือหนังที่ติดตามความเป็นไปของคู่รักในช่วงเวลา 18 ปีอย่าง Before Trilogy โดยแต่ละเรื่องจะเว้นระยะห่างกัน 9 ปี เริ่มจาก Before Sunrise ในปี 1995 ตามมาด้วย Before Sunset ในปี 2004 และ Before Midnight ในปี 2013 ครั้งแล้วครั้งเล่า ลิงค์เลเตอร์จะพาคนดูไปสำรวจความไม่แน่นอน ความเปลี่ยนแปลง ผ่านบทสนทนาอันยืดยาว แต่เปี่ยมธรรมชาติ พร้อมทั้งสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับประสบการณ์ในเรื่องเวลา หรือตั้งคำถามเกี่ยวกับความซับซ้อนของชีวิต ความหมายแห่งการดำรงอยู่ ซึ่งทั้งหมดอาจสรุปง่ายๆ ได้ด้วยบทเพลงของ จูลี เดลพี ในฉากเปิดเรื่องของ Before Sunset ที่ว่า กาลเวลาผันผ่าน ผู้คนร่ำร้องครวญคราง ทุกสิ่งทุกอย่างวิ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว

Before Trilogy ยอดเยี่ยมตรงที่มันแสดงให้เห็นการไหลผ่านของห้วงเวลาได้อย่างงดงาม โดยไม่จำเป็นต้องราบรื่น หรือเดินหน้าต่อไปอย่างสม่ำเสมอ แต่เต็มไปด้วยการสะดุด หยุดพักเป็นช่วงๆ จังหวะแห่งความรักอันเข้มข้น โรแมนติกอาจถูกคั่นกลางด้วยหลายปีแห่งอารมณ์โหยหา หรือทุกข์ทรมาน บางช่วงเวลาเราอาจจดจำทุกรายละเอียดได้แม่นยำ ชัดเจน เช่น คืนหนึ่งในเวียนนา ขณะที่อีกหลายช่วงเวลากลับเลือนหายไปจากความทรงจำ ความรู้สึกแบบเดียวกันถูกนำมาสำรวจอย่างลงลึกอีกครั้งใน Boyhood ผลงานซึ่งทะเยอทะยานขึ้นทั้งในแง่จุดมุ่งหมายและกลวิธีการถ่ายทำ ฮอว์คอธิบาย Boyhood ว่าเป็นเหมือน การถ่ายภาพ time-lapse ของมนุษย์โดยแทนที่เราจะได้เห็นดอกไม้เบ่งบาน พระอาทิตย์หล่นหายลับขอบฟ้าอย่างต่อเนื่องภายในเวลาแค่ไม่กี่นาที คราวนี้เรากลับได้เห็นเด็กชายคนหนึ่งเติบใหญ่จากวัยประถมไปสู่วัยหนุ่มภายในเวลาเกือบสามชั่วโมง มันเป็นภาพสะท้อนความจริงแห่งชีวิตผ่านชุดเหตุการณ์ซึ่งเรียบง่าย แต่เมื่อนำมาเรียงต่อกันกลับก่อให้เกิดความรู้สึกอัศจรรย์ใจเช่นเดียวกับเทคนิคการถ่ายภาพแบบ time-lapse ลิงค์เลเตอร์นำเสนอชีวิตและรูปธรรมของตัวละครโดยมีฉากหลังเป็นโลกรอบข้างและเหตุการณ์ต่างๆ แล้วเชิญชวนให้เราเฝ้ามองการเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปของพวกเขาดุจเดียวกับการเฝ้ามองภาพดอกไม้เบ่งบาน หรือพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า โดยในช่วงเวลาระหว่างนั้นเราก็มีโอกาสหวนคิดถึงประสบการณ์ส่วนตัวสลับกันไปมา

ไม่กี่ปีก่อนหน้าลิงค์เลเตอร์จะเริ่มเปิดกล้อง Boyhood นักเศรษฐศาสตร์ ดับเบิลยู. ไบรอัน อาร์เธอร์ นำเสนอข้อคิดว่าเราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการคิดแบบใหม่ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่พึ่งพิงเทคโนโลยีเป็นหลัก เพราะในโลกที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การพึ่งพิงประสบการณ์เก่าก่อนจากอดีต หรือวิธีคิดแบบเดิมๆ ไม่เพียงพออีกต่อไป ในยุคก่อนเราอาจพึ่งพิงความชัดเจน สถิติ และระบบระเบียบ แต่ในยุคปัจจุบัน ตามคำกล่าวของอาร์เธอร์ เราจำเป็นต้อง ค้นหาว่าต้องทำอย่างไร เราต้องถอยออกมาแล้วเฝ้ามอง สำรวจความเป็นไป เราต้องทำตัวเหมือนนักเล่นกระดานโต้คลื่น หรือนักแข่งรถเก่งๆ อย่าตัดสินใจจากการคำนวณหักลบ แต่ให้ใช้ความรู้สึกภายใน ปรับตัวไปเรื่อยๆ เราไม่ควรจะคิดอะไรด้วยซ้ำ แต่ต้องตระหนักในความเป็นไปของสถานการณ์ในแง่หนึ่งแนวคิดดังกล่าวสะท้อนชัดใน Boyhood เนื่องจากมันเชื้อเชิญคนดูให้ถอยห่างมาหนึ่งก้าว แล้วเฝ้ามองความเป็นไป แทนที่จะสนุกสนานกับการผูกพล็อต หรือคลี่คลายปมขัดแย้งแบบหนังปกติทั่วไป ลิงค์เลเตอร์กำลังเสนอว่าชีวิตก็เปรียบเสมือนการรวบรวมชุดเหตุการณ์ และเวลาก็มีแต่จะไหลผ่านไปอย่างต่อเนื่องโดยที่เราไม่อาจทำอะไรได้นอกจากสำรวจและซึมซับมันไว้ดังเช่นในฉากสุดท้ายของหนัง 


เบนเน็ต มิลเลอร์ (Foxcatcher)

ครั้งแรกที่ผู้กำกับ เบนเน็ต มิลเลอร์ ได้ข่าวเกี่ยวกับคดีฟ็อกซ์แคชเชอร์ คือ ปี 2006 หลังจากเขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์จาก Capote มีคนยื่นซองจดหมายที่อัดแน่นไปด้วยข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์ระหว่างที่เขากำลังแจกลายเซ็นให้กับงานโปรโมตดีวีดี The Cruise สารคดีซึ่งเป็นผลงานกำกับเรื่องแรกของเขาเกี่ยวกับไกด์ทัวร์ในแมนฮัตตัน มิลเลอร์ติดอกติดใจตัวละครหลักสามคนซึ่งชะตากรรมพลิกผันยิ่งกว่าละครหลังข่าวในทันที ไม่ว่าจะเป็น จอห์น ดูปองต์ เศรษฐีหนุ่มใหญ่วัย 57 ปีที่อาศัยอยู่ในคฤหาสน์ของแม่เขาในฟิลาเดลเฟีย มาร์ค ชูลท์ซ นักมวยปล้ำอดีตแชมป์โอลิมปิกเมื่อ 12 ปีก่อนที่พยายามจะคัมแบ็ค และ เดวิด ชูลท์ซ พี่ชายนักมวยปล้ำแชมป์โอลิมปิกของเขาที่ผันตัวมาเป็นโค้ชฝึกสอน ก่อนต่อมาจะถูกดูปองต์ยิงเสียชีวิต ผมบอกกับตัวเองว่านี่จะเป็นหนังเรื่องถัดไปของผมมิลเลอร์เล่า

ในปี 2007 เขาใช้เวลาสองสามเดือนเริ่มต้นเขียนเอาท์ไลน์กับ เดฟ เอ็กเกอร์ส จากนั้นนักเขียนบท อี. แม็กซ์ ฟราย ก็เซ็นสัญญามาร่วมงานด้วย มิลเลอร์ตระเวนเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อสัมภาษณ์ผู้คนที่รู้จักตัวละครเหล่านี้ สั่งสมข้อมูลอย่างไม่หยุดหย่อน ขณะเดียวกันก็เริ่มต้นคิดหานักแสดงที่จะมารับบท มาร์ค ชูลท์ซ โดยจับตามองไปยังดาราดังหลายคน อาทิ ไรอัส กอสลิง และ ฮีธ เลดเจอร์ แต่สุดท้ายกลับปักใจในตัวนักแสดงหนุ่มหน้าใหม่ที่เขาประทับใจบทบาทการแสดงในหนังเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีใครได้ดูอย่าง A Guild to Recognizing Your Saints “เบนเน็ตพูดว่า ต้องคนนี้แหละ แถมเขาเคยเรียนศิลปะป้องกันตัวอีกด้วย เขาชื่อ แชนนิง ตาตั้มฟรายเล่า ผมถามเขากลับไปว่า ใครนะ ในตอนนั้นตาตั้มยอมรับว่าเขาเพิ่งเข้าวงการใหม่ๆ และขาดประสบการณ์ที่จะอินไปกับโครงการดังกล่าว ผมไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ ผมอ่านบทไม่เป็นด้วยซ้ำ ผมไม่รู้เรื่องการแสดงอะไรเท่าไหร่ แล้ววิธีที่เบนเน็ตพูดถึงตัวละครแปลกๆ เต็มไปด้วยด้านมืด แต่น่าหลงใหลก็ทำให้ผมนึกกลัวๆ อยู่นิดๆ ผมยังหนุ่มเลยไม่ค่อยเข้าใจความต้องการของเขา ขอบคุณพระเจ้าที่หนังถูกพับเก็บไปก่อนเพราะผมไม่รู้ว่ามันจะออกมาเป็นยังไงถ้าเราถ่ายทำกันตอนนั้น

ในปี 2009 มิลเลอร์คิดว่าบทสมบูรณ์พอจะนำไปสร้างเป็นหนังแล้ว แต่เงินทุนจากสตูดิโอกลับเหือดหาย ที่สำคัญทีมนักแสดงที่มิลเลอร์คิดไว้ในหัวก็ปราศจากพลังดารา ส่งผลให้โครงการถูกถอดปลั๊ก นั่นหมายความว่าเวลาผ่านไป 4 ปีนับแต่ Capote เปิดตัว แต่มิลเลอร์กลับลอยคว้างโดยปราศจากแผนการว่าจะกำกับหนังเรื่องไหนต่อ เขากำลังเข้าสู่ดินแดนของ เทอร์เรนซ์ มาลิก และ สแตนลีย์ คูบริค คุณควรจะมองหาหนังมากำกับได้แล้วเอเยนต์ของเขาแนะนำหลังมั่นใจว่า Foxcatcher ไม่มีวันหานายทุนมาสนับสนุนได้ในเร็ววันนี้ คุณชอบเบสบอลหรือเปล่าปลายปีนั้นเองมิลเลอร์ก็ตกลงใจเซ็นสัญญากำกับ Moneyball แทน สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก ซึ่งถอนตัวออกไป มันเป็นหนังสตูดิโอเรื่องแรกของเขาและหนังเรื่องแรกที่เขาไม่ได้ร่วมขั้นตอนปั้นแต่งบทตั้งแต่เริ่มต้น ส่วน Foxcatcher ก็ถูกเก็บเข้าลิ้นชักชั่วคราว แต่ไม่ได้ถูกลืมเสียทีเดียวเนื่องจาก แดน ฟัตเตอร์แมน (Capote) ถูกดึงให้มาช่วยขัดเกลาบทอีกรอบ และหลังจากปิดกล้อง Moneyball เสร็จสมบูรณ์ มิลเลอร์ก็เผอิญเจอกับ แชนนิง ตาตั้ม โดยบังเอิญในสตูดิโอ เขาเติบโตและมีความมั่นใจในฐานะนักแสดงมากขึ้น ทั้งสองยังคงแสดงท่าทีสนใจในโครงการนี้

แปดปีเต็มนับจากเขาเริ่มต้นเขียนบทร่างแรก สุดท้ายโชคชะตาก็เป็นใจ ตาตั้มกลายเป็นซูเปอร์สตาร์จากหนังฮิตอย่าง Magic Mike และ 21 Jump Street ส่วน Moneyball ก็ไปได้สวยทั้งในแง่คำวิจารณ์และการทำเงิน สุดท้าย เมแกน เอลลิสัน โปรดิวเซอร์ที่เคยหนุนหลัง พอล โธมัส แอนเดอร์สัน, แคธลีน บิเกโลว, สไปค์ จอนซ์ และ เดวิด โอ. รัสเซลล์ เวลาพวกเขาไม่สามารถหาเงินทุนจากสตูดิโอใหญ่ได้ จึงตอบตกลงในการให้ทุนสร้าง Foxcatcher โดยไม่จำเป็นต้องอ่านบทหนังด้วยซ้ำ และถึงแม้ว่าบทหนังจะถูกขัดเกลามาอย่างดี แต่พอถึงเวลาถ่ายทำจริง มิลเลอร์กลับชอบที่จะดัดแปลง ด้นสดไปตามแต่สถานการณ์จะพาไป มันใกล้เคียงกับวิธีการทำงานของ ไมค์ ลีห์ มากกว่า แอรอน ซอร์กินเขากล่าว ผมชอบเดินเข้ากองถ่ายโดยมีความรู้สึกว่าบทยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี และบางสิ่งบางอย่างสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ

สไตล์การกำกับของมิลเลอร์เป็นส่วนผสมอันประหลาดระหว่างการควบคุมและปล่อยเป็นอิสระ เขาทุ่มเทเพื่อให้ทุกช็อตออกมาสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม เขายินดีจะทดลองทุกอย่างเพื่อดูว่าผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร ในฉากหนึ่งเขาเดินไปบอก สตีฟ คาเรลล์ ซึ่งรับบทเป็น จอห์น ดูปองต์ ให้เขียนสิ่งที่เลวร้ายที่สุดเกี่ยวกับตัวเองลงในกระดาษ สิ่งที่เขาละอายไม่กล้าบอกใครมาก่อนแม้กระทั่งภรรยา แล้วพับกระดาษใบนั้นใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกง พร้อมกับตระหนักอยู่เสมอว่าเขา (มิลเลอร์) สามารถเดินไปล้วงมาอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ ผลลัพธ์ คือ มันเป็นฉากที่ผมชื่นชอบมากที่สุดตั้งแต่เคยถ่ายหนังมาเลยทีเดียวมิลเลอร์กล่าว


มอร์เทน ทิลดัม (The Imitation Game)

มองในแวบแรก The Imitation Game เดินตามสูตรหนังหวังกล่องในช่วงปลายปีของฮอลลีวู้ดแบบไม่บิดพลิ้ว มันเล่าเรื่องราวของนักคณิตศาสตร์คนสำคัญ อลัน ทัวริง ที่ช่วยให้กองทัพอังกฤษคว้าชัยชนะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองด้วยการถอดรหัสลับของนาซี แต่ต่อมากลับถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในฐานะรักร่วมเพศ (ตามกฎหมายในยุคสมัยนั้น) หนังนำแสดงโดย เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบทช์ ซูเปอร์สตาร์ขวัญใจสาวน้อยสาวใหญ่ในโลกแห่งแฟนบอยและอินเทอร์เน็ต พร้อมด้วยทีมนักแสดงสมทบชั้นยอดอย่าง คีรา ไนท์ลีย์ และ แม็ทธิว กู๊ด ก่อนจะตบท้ายด้วยการได้สตูดิโอของ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ซึ่งช่ำชองการปั้นหนังออสการ์ยิ่งกว่าใครๆ มาเป็นนายทุนหนุนหลัง ตัวแปรเดียวที่ดูเหมือนจะ ผิดคาดคือ มอร์เทน ทิลดัม ผู้กำกับชาวนอร์เวย์ ซึ่งแทบจะไม่เป็นที่รู้จักของนักดูหนังทั่วไป แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ในประเทศบ้านเกิดของเขา เนื่องจากงานกำกับชิ้นที่สามของทิลดัมเรื่อง Headhunters (2011) ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามและติดอันดับหนึ่งหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลของนอร์เวย์ เครดิตดังกล่าวโดดเด่นพอจะดึงดูดความสนใจของฮอลลีวู้ด ด้วยเหตุนี้ ผู้กำกับวัย 43 ปีจึงตัดสินใจย้ายครอบครัวมายังอเมริการะหว่างเขาตระเวนหาโครงการหนังเรื่องใหม่ในลอสแองเจลิส จนสุดท้ายก็ได้ข้อเสนอที่มีชื่อว่า The Imitation Game

ผมก็แปลกใจตัวเองเหมือนกันทิลดัมกล่าวถึงการตัดสินใจรับหน้าที่กำกับ The Imitation Game ซึ่งเป็นหนังพูดภาษาอังกฤษเรื่องแรกของเขา แถมยังเป็นหนังย้อนยุคที่ใช้ทีมนักแสดงอังกฤษเป็นหลัก และดำเนินเหตุการณ์ส่วนใหญ่ใน เบลทช์ลีย์ พาร์ค ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการหน่วยถอดรหัสลับของกองทัพอังกฤษ ทิลดัมยอมรับว่าบทหนังเรื่องนี้ชนะใจเขา อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เขาได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ ที่เขาไม่คุ้นเคย สิ่งที่ผมมองหา คือ เรื่องราวและตัวละครที่น่าสนใจ บทหนังเรื่องนี้มีอยู่ครบถ้วน เรื่องราวมีหลายแง่มุมให้ค้นหา ส่วนทัวริงเองก็เป็นตัวละครที่น่าค้นหา เขาเข้มแข็ง มุ่งมั่น แต่ในเวลาเดียวกันก็เปราะบางและแปลกแยกจากสังคม ผมช็อกอยู่เหมือนกันที่มีความรู้เกี่ยวกับ อลัน ทัวริง น้อยมาก แต่ต่อมาเมื่อได้เริ่มศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม ผมก็หมกมุ่นเกี่ยวกับเขาอยู่พักใหญ่ สำหรับผมหนังเรื่องนี้เล่าถึงกลุ่มคนนอกและความสำคัญของความแตกต่าง

บทหนังตัดสลับเรื่องราวสามเหตุการณ์ไปมา ส่วนแรกคือชีวิตวัยเด็กของทัวริงในโรงเรียนชายล้วน ส่วนที่สองคือภารกิจถอดรหัสลับให้กับรัฐบาลอังกฤษระหว่างช่วงสงครามโลก และส่วนที่สามเป็นช่วงบั้นปลายชีวิตของเขาในยุค 1950 ก่อนจะตัดสินใจฆ่าตัวตาย เกรแฮม มัวร์ คนเขียนบท กล่าวว่าเขาได้พูดคุยกับผู้กำกับราว 30 คนที่มีแนวโน้มเป็นไปได้ แต่ไม่มีใครสร้างความประทับใจให้เขามากเท่ากับทิลดัม มอร์เทนมองโทนอารมณ์ของหนังออกชนิดทะลุปรุโปร่งมัวร์เล่า สิ่งแรกที่เราพูดถึงคืออารมณ์ขันที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราว จริงอยู่ในตอนท้ายความมืดหม่น หดหู่เริ่มก้าวเข้ามา แต่อารมณ์ขันและความเบาสบายในช่วงครึ่งแรกมีส่วนสำคัญในการช่วยขับเน้นโศกนาฏกรรมในตอนท้ายอย่างมาก ผู้กำกับหลายคนจะพูดว่าเรื่องราวมันซีเรียส ต้องหนักแน่นขึงขัง คุณจะใส่โจ๊กเข้าไปทำไม เขาไม่เก็ทความตั้งใจของผม แต่มอร์เทนมองออกตั้งแต่แรกมัวร์คงต้องกล่าวขอบคุณวิสัยทัศน์ของ เท็ดดี้ ชวาร์ซแมน โปรดิวเซอร์ผู้เห็นแววของทิลดัมหลังจากได้ดูหนังเรื่อง Headhunters ทางเน็ทฟลิกซ์ ผมเคยลองคุยกับผู้กำกับชาวอังกฤษหลายคน แต่ไม่มีใครเหมาะสมเลยชวาร์ซแมนอธิบาย ผมไม่อยากได้หนังชีวประวัติแบบสูตรสำเร็จที่ดูแล้วชวนง่วงเหงาหาวนอน ผมประทับใจ Headhunters ตรงการนำเสนอหลากหลายอารมณ์ มันเป็นทั้งหนังเขย่าขวัญและหนังตลกร้ายในเวลาเดียวกัน

หนังใช้เวลาถ่ายทำนาน 8 สัปดาห์ด้วยทุนสร้างราว 15 ล้านเหรียญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ทิลดัมพยายามจะถ่ายทำในสถานที่จริงตามท้องเรื่องหากเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเชอร์บอร์นในเมืองดอร์เซ็ท หรือ เบลทช์ลีย์ พาร์ค การทำหนังเรื่องนี้ผมมีข้อผูกมัดอยู่สองอย่างทิลดัมกล่าว ข้อแรก คือ นำเสนอตัวละครอย่างถูกต้องตามประวัติศาสตร์ ประวัติผลงานของเขา และเหตุการณ์สำคัญว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ใครคือ อลัน ทัวริง เป็นคำถามหลักที่เราพยายามจะค้นหาคำตอบ อีกข้อ คือ การทำให้หนังดูสนุก น่าตื่นเต้น เพราะมันเป็นทั้งหนังสายลับ โศกนาฏกรรมความรัก และการวิเคราะห์ตัวละครผสมกันเป็นหนึ่งเดียวไม่ต้องสงสัยว่าความพยายามของทิลดัมประสบความสำเร็จสมตามเป้าประสงค์ พิสูจน์ได้จากการที่มันถูกโหวตให้คว้ารางวัลขวัญใจมวลชนที่เทศกาลหนังโตรอนโต ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับหนังเกี่ยวกับนักคณิตศาสตร์เกย์ที่จบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตาย 

ไม่มีความคิดเห็น: