วันเสาร์, มีนาคม 10, 2550

15 Minutes: หลุมพรางในเกมโยนเหรียญ


ผลงานกำกับของ จอห์น เฮิร์ซเฟลด์ (2 Days in the Valley) เรื่อง 15 Minutes เกี่ยวกับอิทธิพลตลอดจนผลกระทบแห่งชื่อเสียง การแสวงหา ‘ความโด่งดัง 15 นาที’ และบทวิพากษ์จรรยาบรรณของสื่อมวลชน ดูเหมือนจะมีจุดเชื่อมโยงไปยังศิลปินป็อปอาร์ท แอนดี้ วอร์ฮอล ได้มากกว่าเพียงชื่อหนังซึ่งดึงมาจากประโยคคลาสสิกของเขาเมื่อปี 1967 ที่ว่า “ในอนาคตทุกคนจะมีชื่อเสียงเป็นเวลา 15 นาที”

แอนดี้ วอร์ฮอล ถือกำเนิดในเมืองพิทซ์เบิร์ก มีพ่อแม่เป็นผู้อพยพจากยุโรปตะวันออก เขาค่อนข้างเงียบขรึม ไม่เข้าสังคม และหลงไหลทุกสิ่งเกี่ยวกับฮอลลิวู้ด โดยวอร์ฮอลเริ่มสะสมรูปภาพดาราตั้งแต่วัยเยาว์ งานศิลปะแนวป็อปอาร์ทของเขาถือกำเนิดขึ้นจากความลุ่มหลงความงามและเรือนร่างดาราโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสตูดิโอรุ่งเรือง ผลงานชิ้นเลื่องชื่อ คือ การนำเอาภาพ มาริลีน มอนโร มาแปลงโฉมเสียใหม่ เพิ่มสีสันบาดตาเพื่อตีแผ่ ‘อีกด้านหนึ่ง’ ของซูเปอร์สตาร์ ภาพลักษณะดังกล่าวทำให้วอร์ฮอลกลายเป็นศิลปินรุ่นบุกเบิกในการให้ความสำคัญกับบทสำรวจอีกมิติภายใต้มนุษย์ที่ถูกเคลือบภายนอกไว้ด้วยชื่อเสียง และแสงสีแห่งวงการบันเทิง นอกจากนั้นเขายังเป็นศิลปินคนแรกผู้ปฏิเสธความงามแห่งธรรมชาติแล้วหันมาให้ความสำคัญกับเครื่องประดิษฐ์จักรกล เขาเรียกสตูดิโอว่าโรงงาน (factory) พกพากล้องโพราลอยด์แทนสมุดวาดภาพ และเทปบันทึกเสียงแทนปากกา โดยหลักตรรกะเบื้องลึกหลังพฤติกรรมเหล่านั้น คือ เขาเป็นชายหนุ่มผู้ตื่นตระหนกจากสิ่งที่ธรรมชาติสรรค์สร้างขึ้น หวาดกลัวความตายอันเป็นนิรันด์ และต้องมนต์ความงามแห่งเรือนร่างซึ่งไม่จิรังยั่งยืน เมื่อพบว่าตัวเองไม่มีโชคในด้านหน้าตาเขาจึงชอบหยอกเล่นกับมันด้วยวิกผม เสื้อผ้า เครื่องสำอาง พยายามเปลี่ยนแปลง บิดเบือนรูปลักษณ์ของตน แล้วตีตัวออกห่างโลกแห่งความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา

อาการหมกมุ่นเกี่ยวกับชื่อเสียง และความโด่งดังของวอร์ฮอล บางทีอาจมีต้นเหตุมาจากแรงปรารถนาที่จะปกปิดอารมณ์รักร่วมเพศภายในซึ่งขัดแย้งอย่างรุนแรงกับแนวคิดเชิงคาธอลิกที่เขาถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ด้วยความเชื่อว่าชื่อเสียงสามารถไถ่บาป และเปลี่ยนแปลงมนุษย์ให้กลายเป็นบุคคลใหม่ได้ เขาจึงตัดสินใจหยิบกล้องขึ้นมาโฟกัสภาพชีวิตเหล่าเพื่อนๆขี้ยา ผู้ชายขายตัว และกระเทยแปลงเพศรอบข้าง มอบ 15 นาทีแห่งแสงไฟมายาให้ แล้วเรียกพวกเขาว่าดารา แต่ด้วยพื้นฐานความหลงไหลในกลุ่มนักแสดงยุคสตูดิโอรุ่งเรืองทำให้บรรดาผู้คนชนชั้นล่างที่วอร์ฮอลผันเป็นซูเปอร์สตาร์ ส่วนใหญ่ยังคงมีข้อได้เปรียบสำคัญ คือ พรจากพระเจ้าในแง่รูปร่างหน้าตา

บุคลิกซึ่งเต็มไปด้วยปมขัดแย้งในตัววอร์ฮอล ตลอดจนภาพลักษณ์สองด้านที่ถูก ‘เปิดเผย’ และ ‘ปกปิด’ ไว้ ได้รับการถ่ายทอดเป็นเชิงรูปธรรมด้วยการวางตัวละครหลักให้ยืนอยู่คนละขั้วเป็นคู่ๆ หรือหัวกับก้อยบนเหรียญเดียวกันอย่างต่อเนื่อง แต่ละคู่ล้วนใช้กล้องทีวี และอำนาจสื่อแสวงหาผลประโยชน์แตกต่างกันไป เริ่มจากคู่คนร้ายระหว่างอีมิล (คาเรล โรเดน) ผู้เหี้ยมเกรียม และคงความเป็นผู้นำชัดเจน กับโอเล็ก (โอเล็ก ทาคทารอฟ) ผู้ดูไร้เดียงสาแบบเด็กๆ เช่นเดียวกับวอร์ฮอลเขาเป็นชายหนุ่มจากยุโรปตะวันออกที่ถูกปลูกฝังขึ้นมาโดยวัฒนธรรมฮอลลิวู้ด ฮีโร่ของโอเล็กไม่ใช่ดารา แต่เป็นคนอยู่เบื้องหลังอย่าง แฟรงค์ คาปร้า ดังนั้นเมื่อมีอาวุธพร้อมในมือ คือ กล้องวีดีโอที่เขาขโมยมาจากร้านค้า โอเล็กก็เริ่มแต่งเติมสีสัน ‘บิดเบือน’ ชีวิตของตนเองกับคู่หูให้กลายเป็นเหมือนหนังเรื่องหนึ่งซึ่งสนุกถึงพร้อมด้วยความตื่นเต้น (ในช่วงไล่ล่า) พลังดราม่าเศร้าโศก (จากพิธีศพของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย) และฉากจบอันเปี่ยมความหมาย (ด้วยแบ็คกราวด์เป็นเทพีเสรีภาพ) แนวโน้มว่าโอเล็กเริ่มสูญเสียสัมผัสในโลกแห่งความเป็นจริงสะท้อนออกมาในหลายๆฉากที่เขาพยายามอ้างสิทธิกับเพื่อนคู่หูว่า วีดีโอในกล้องนี้เป็น ‘หนัง’ ของเขา เขาเป็นผู้กำกับผู้มีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจว่าเมื่อไหร่ถึงควรคัท เมื่อไหร่ควรถ่ายทำต่อ เขาหมกมุ่นอยู่กับการสร้างคุณค่าเชิงศิลปะโดยไม่สนใจสถานการณ์เบื้องหน้า ดังนั้นทั้งๆที่กำลังถูกไล่ล่าโดยเหล่าตำรวจ โอเล็กก็ยังไม่วายเดินกล้องไปเรื่อยๆเพียงเพราะเชื่อมั่นว่ามันจะกลายเป็นฉากที่เร้าใจของหนัง

ในทางกลับกันอีมิลตีค่ากล้องตัวเดียวกันเสมือนบันไดสู่ความร่ำรวย เขา คือ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ไขว่คว้าหาทางลัดเพื่อให้ได้มาซึ่งชื่อเสียง ความสำเร็จ โดยไม่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ ผิดกับคนอพยพรุ่นก่อนผู้เดินทางมายังอเมริกาเพราะมันเป็น ‘ดินแดนแห่งเสรีภาพ’ ที่เปิดโอกาสให้ ‘ทุกคนเป็นอะไรก็ได้ตามที่พวกเขาต้องการ’ ดังคำอ้างของโอเล็กในฉากเปิดเรื่อง หนังนำเสนอตัวแทนของชาวต่างชาติที่เดินตามรอยดั้งเดิมผ่าน มิลอส (วลาดิมเมียร์ แมชคอฟ) อดีตเพื่อนร่วมอาชญกรรมกับอีมิลที่ผันตัวมาทำงานช่างประปาในอเมริกา เดฟนี่ (เวร่า ฟาร์มิกา) พนักงานสระผมที่กลายมาเป็นพยานสำคัญในคดีฆาตกรรม นิโคเล็ตต์ (เมลิน่า คานาคาเรเดส) นักข่าวทีวีผู้มุ่งมั่นในอาชีพการงานจนบางครั้งมันก็เข้ามาขวางทางชีวิตส่วนตัว และจอร์ดี้ (เอ็ดเวิร์ด เบิร์นส์) เจ้าหน้าที่ในแผนกดับเพลิงซึ่งมีพ่อแม่เป็นชาวโปแลนด์อพยพ

นอกจากนั้นหนังยังสะท้อนแนวคิดการไถ่บาปโดยชื่อเสียงของ แอนดี้ วอร์ฮอล ผ่านเรื่องราวของฆาตกรโหดอย่างอีมิลผู้ใช้แสงไฟ และความโด่งดังแปรสภาพตัวเองให้เกิดใหม่ในฐานะดาราผู้สามารถผลิตเงินได้จากทุกสิ่งที่เขาจับต้อง ความสำเร็จแห่งขั้นตอนดังกล่าวปรากฏขึ้นเมื่ออีมิลพูดคุยกับทนายในคุกโดยแทนที่ต่างจะซักซ้อมกันถึงขั้นตอนสอบสวนในชั้นศาล หรือหาข้อโต้แย้งฝ่ายอัยการ พวกเขากลับพุ่งเป้าไปยังการต่อรองทางธุรกิจจนดูคล้ายขั้นตอนหาข้อตกลงส่วนแบ่งรายได้ระหว่างดารากับผู้จัดการส่วนตัวมากกว่าจะเป็นบทสนทนาระหว่างทนายกับจำเลยลูกความ

คู่ที่สอง ได้แก่ คู่ตำรวจระหว่างเอ็ดดี้ (โรเบิร์ต เดอ นีโร) ผู้มากประสบการณ์ และใช้ประโยชน์จากสื่อมวลชนอย่างเต็มที่โดยอ้างว่าความดังทำให้งานของเขาง่ายขึ้น กับจอร์ดี้ ผู้ปฏิเสธเครดิตหน้ากล้องเพราะเห็นว่า “มีอย่างอื่นสำคัญกว่าต้องทำ” เขาเชี่ยวชาญในเรื่องไฟ แต่อ่อนทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิในเชิงสืบสวนสอบสอน และสัจธรรมของสังคมแห่งการสร้างภาพ บทเรียนที่นักผจญเพลิงหนุ่มได้รับเมื่อหนังเดินหน้าไป คือ ชื่อเสียงไม่ใช่เรื่องไร้สาระแต่อย่างใด เขาอาจไม่ชอบดูทีวีแต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกคนเป็นเหมือนเขากันหมด การเสนอหน้าในข่าวภาคค่ำหมายถึงประสิทธิภาพของผลงานต่อสายตาผู้บริหารเบื้องบน ซึ่งจะส่งผลไปยังเงินสนับสนุนที่มากขึ้น ด้วยเหตุนี้หัวหน้าแผนกจึงอ้างสิทธิตำหนิจอร์ดี้ที่ปล่อยให้เอ็ดดี้คว้าหลักฐานสำคัญไปออกข่าวแทน ต่อมาจอร์ดี้ก็ได้บทเรียนอันโหดเหี้ยมยิ่งขึ้นอีกเมื่อถูกหัวหน้าสั่งพักงานพร้อมกับบอกว่าความดีทั้งหลายของเขานั้นมันไม่อาจลบล้างความผิดเล็กๆน้อยๆ (มัดโจรไว้กับต้นไม้) ที่ถูกนำมา ‘แฉ’ ทางทีวีได้เลย

อย่างไรก็ตามเช่นเดียวกับทุกสิ่งในโลกซึ่งมีมากกว่าหนึ่งด้าน ความหอมหวานของชื่อเสียงย่อมมาพร้อมกับโทษราคาแพง สมมุติฐานดังกล่าวพิสูจน์ได้จากชะตากรรมของวอร์ฮอล (ผู้เคยถูกลอบทำร้ายปางตายโดยคนโรคจิต) หรือคนดังรายอื่นๆอาทิ จอห์น เลนน่อน ซึ่งตกเป็นเป้าล่ออันเย้ายวนสำหรับบุคคลที่ต้องการมีชื่อเสียงกับเขาบ้าง อีมิลเข้าใจกฎดังกล่าวถ่องแท้จากการนั่งดู Rosanne และ Top Story รายการทีวีที่ถนัดวิธีผันคนธรรมดาให้กลายเป็นดารา 15 นาทีด้วยการตีแผ่พฤติกรรมอันผิดศีลธรรมของพวกเขา อีมิลตระหนักว่าการฆ่าช่างประปาชาวเชค หรือโสเภณีชั้นล่างอาจช่วยให้เขากลายเป็นหัวข้อข่าวอยู่สองสามวัน แต่สุดท้ายก็จะถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา ตรงกันข้ามหากเขาลงมือสังหารคนดังอย่างโหดเหี้ยมแล้วถ่ายวีดีโอเก็บไว้ เทปนั้นจะแปรสภาพเป็นกุญแจสู่แผนรวยทางลัดแล้วปลดโทษประหารให้กลายเป็นอาชีพนักเขียนไปในทันที

ปิดท้ายด้วยคู่สื่อมวลชนระหว่างโรเบิร์ต (เคลซี่ย์ แกรมเมอร์) จอมบ้าเลือด คลั่งเรทติ้ง กับคาสแซนดร้า (คิม คาทรอลล์) ที่ต้องการให้รายการโทรทัศน์มี ‘เนื้อหา’ หนักแน่นกว่าแค่กระหน่ำความรุนแรงใส่คนดู การประทะกันทางความคิดของคนทั้งสองสะท้อนสองแนวคิดในการนำเสนอข่าว ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป พร้อมๆกับสื่อถึงการขยายวงกว้างของสื่อมวลชน ซึ่งทำให้คนดังในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องสวย หล่อ หรือเปี่ยมเสน่ห์น่าสนใจตามความเชื่อของวอร์ฮอลอีกต่อไป พวกเขาเพียงแค่ยืนอยู่หน้ากล้องแล้วปล่อยงาน ‘ขยายความ’ ให้เป็นของคนหลังกล้อง แนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้คำทำนายของวอร์ฮอลใกล้เคียงความจริงจนชวนให้ขนลุก สื่อมวลชนหันมากอบโกยเรทติ้งจากรายการประเภท Real TV เกี่ยวกับคนจริงๆ ปราศจากการแต่งเสริมเติมสี แล้วปั้นมนุษย์เดินดินให้กลายเป็นดารารายวัน หนังสรุปประเด็นดังกล่าวในฉากที่จอร์ดี้นั่งดูทีวีแล้วเปลี่ยนช่องไปมาพบว่าทุกคนกำลังสนุกสนานอยู่กับ 15 นาทีแห่งความโด่งดังของตนตั้งแต่อีมิล เดฟนี่ จนถึงโจรกระจอกที่เขาจับล่ามกุญแจมือกับต้นไม้ในช่วงต้นเรื่อง แน่นอนคนเหล่านี้โดยเฉพาะอีมิลไม่ใช่คนดีเปี่ยมศีลธรรม แต่หนังก็ไม่ได้ป้ายความผิดทั้งหมดให้แก่บรรดานักฉวยโอกาสเสียทีเดียว เพราะอย่างน้อยอีมิลก็ไม่เคยมีความคิดจะฆ่าคนเพื่อเชื่อเสียงมาก่อนจนกระทั่งได้ดูรายการทีวี ข้อสรุปว่าไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองเลยในอเมริกา โดยทั้งหมดล้วนอ้างว่าตนเป็นเหยื่อ เป็นผู้เสียหาย คือ แรงบันดาลใจให้อีมิลแสวงโชคจากช่องโหว่ทางกฎหมาย ดังนั้นคงไม่ผิดหากจะกล่าวว่าสื่อมวลชนเป็นผู้ยื่นมีดให้แก่ฆาตกร แล้วยังขาดสำนึกขั้นรุนแรงถึงขนาดนำเอาผลอันชั่วร้ายจากการกระทำของตนมาเผยแพร่เพื่อหาประโยชน์อีกทอดหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม 15 Minutes ไม่ได้เรียกร้องให้จำกัดสิทธิสื่อมวลชน หรือเรียกร้องกฎเซ็นเซอร์ใดๆ เสรีภาพในการนำเสนอเป็นสิ่งที่ยังควรค่าแก่การดำรงไว้ ประเด็นที่หนังบ่งชี้ คือ การตั้งคำถามต่อเจตนารมย์อันน่าเคลือบแคลงของบุคคลที่กุมสื่อเอาไว้ในมือต่างหาก คนเหล่านี้เคยฉุกคิดหรือไม่ว่าความรุนแรงอันพร่ำเพรื่อเริ่มทำให้มวลชนคุ้นเคยจนสุดท้ายถึงขั้นเฉยชาขนาดฉากฆาตกรรมธรรมดาไม่อาจช็อคพวกเขาได้ ? แล้วสาระของการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพ่อที่แอบไปมีเซ็กซ์กับสะใภ้แล้วมาขออภัยลูกชายผ่านจอทีวีล่ะอยู่ที่ใด? คำตอบง่ายๆว่าเหตุใดคนเหล่านี้จึงไร้ยางอายขนาดยอมนำเอาเรื่องส่วนตัวเหล่านี้มาเปิดเผยให้โลกรู้ คือ พวกเขาต้องการ 15 นาทีแห่งชื่อเสียง นั่นเอง เจ้าของรายการอาจมีเหตุผลสารพัดปกป้องเนื้อหารายการต่างๆนาๆ แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาไม่พูดออกมาตรงๆ คือ เซ็กซ์ ‘ขายได้’ เช่นเดียวกับความรุนแรงชนิดถึงเลือดถึงเนื้อ และนั่นดูเหมือนจะเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้รายการอย่าง Rosanne หรือ Top Story ถือกำเนิดขึ้นมา จุดมุ่งหมายเชิงพาณิชย์ล้วนๆเช่นนี้เอง คือ เป้าโจมตีหลักของผู้กำกับ จอห์น เฮิร์ซเฟลด์

จริงอยู่ที่ 15 Minutes มุ่งสะท้อนภาวะตกต่ำแห่งจรรยาบรรณในการเสนอข่าวเมื่อผู้สร้างเห็นกำไรเหนือความถูกต้องจนนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดอาชญากรรมในสังคม แต่เฮิร์ซเฟลด์ไม่ได้โทษสื่อเพียงอย่างเดียว เขามองย้อนกลับไปยัง‘อีกด้านของเหรียญ’ แล้วโยนความรับผิดชอบไปยังผู้บริโภคหรือมากพอๆกัน จริงอยู่พฤติกรรมของโรเบิร์ตออกจะน่ารังเกียจเกินทน เขาข้ามเส้นผิดชอบชั่วดีด้วยการนำเทปฉากฆาตกรรมบุคคลซึ่งเขาเรียกว่า ‘เพื่อน’ มาออกอากาศได้อย่างเลือดเย็น ความโลภทำให้เขาตกเป็นเครื่องมือของอีมิล แต่หนังก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าทฤษฎี ‘เลือดยิ่งมากข่าวยิ่งใหญ่’ (if it bleeds, it’s lead) ของเขาไม่เที่ยงตรง ในคืนวันออกอากาศเทปมูลค่าล้านเหรียญที่เขาซื้อมาจากฆาตกร ผู้คนส่วนใหญ่ล้วนจดจ่ออยู่หน้าจอทีวีไม่ว่าจะในร้านอาหาร หรือบนท้องถนน หลายคนแสดงความขยะแขยง หดหู่ สะพรึงกลัว แต่น้อยคนนักที่จะเบือนหน้าหนีจากภาพข่าว หรือกดรีโมทเปลี่ยนช่อง แม้แต่คาสแซนดร้าผู้ยืนอยู่อีกฟากฝั่งศีลธรรมจากโรเบิร์ตก็ยังแอบเหลือบมองลอดผ่านมือที่ยกมาปิดตา

กี่คนกันเชียวที่จะก่นด่าการนำเสนอความรุนแรงเกินขอบเขตแล้วประท้วงด้วยการปิดรับสื่อดังกล่าวอย่างจริงจัง? หากส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าไม่อยากรับรู้เรื่องไร้สาระเกี่ยวกับชีวิตเซ็กซ์วิปริตของคนกลุ่มหนึ่ง ทำไมพวกเขาไม่หยิบรีโมทมาเปลี่ยนช่องเสีย? ทั้งนี้เนื่องจากคนจำนวนมากล้วนเป็นพวกปากว่าตาขยิบ เหตุนองเลือดหรือกิจกรรมทางเซ็กซ์ทั้งหลายล้วนตอบสนองสันดานดิบภายในมนุษย์ทุกคน เราชื่นชอบที่จะเห็นหายนะของผู้อื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันถูกนำเสนอผ่านสื่อเนื่องจากมันช่วยกันเราออกจากความรู้สึกผิดในระดับหนึ่งเทียบกับการเผชิญหน้าในสถานการณ์จริง (แต่กระนั้นทุกครั้งที่ไฟไหม้ หรือมีใครตาย ฝูงคนมุงก็กลายเป็นสัจจะที่มักเกิดขึ้นควบคู่กันเสมอ) ดังนั้นตราบเท่าที่รายการอย่าง Top Story ยังมีเรทติ้งพุ่งกระฉูด เราจะสามารถอ้างสิทธิประณามการตัดสินใจของโรเบิร์ตได้อย่างเต็มปากเต็มคำเชียวหรือ? อย่างน้อยในสังคมบริโภคนิยมที่เน้นการแข่งขัน และความหลากหลาย ผู้บริโภคใช่ว่าจะไร้ซึ่งทางเลือกอื่นเสียทีเดียว โรเบิร์ตเพียงแต่ผลิตสินค้าตามหลักการแรงซื้อ/ขายเท่านั้น

ขณะเดียวกัน 15 Minutes ยังล่อหลอกผู้ชมด้วยวิธีเดียวกันตรงการใช้ความรุนแรงเป็นจุดขาย เช่นเดียวกับการที่หนังอย่าง Last Tango in Paris และ Betty Blue ใช้เซ็กซ์เป็นน้ำตาลเคลือบแก่นหลักอันขมขื่น หนักหน่วง ซึ่งแน่นอนว่าทำให้มันเสี่ยงที่จะถูกตัดสินอย่างฉาบฉวย (นักวิจารณ์บางคนกล่าวหาว่า 15 Minutes ขายความรุนแรงในแบบเดียวกับสื่อที่หนังกำลังต่อต้าน) ทั้งที่แท้จริงแล้วความรุนแรงทั้งหลายซึ่งถูกกระหน่ำเข้ามาบนจอหนังเปรียบเสมือนการตั้งคำถามต่อผู้ชมว่าพวกเขากำลังค้นพบความบันเทิงจากซากศพ และห่ากระสุนเหล่านั้นหรือไม่ ? ถ้าใช่ เช่นนั้นเราก็เป็นหนึ่งในต้นเหตุแห่งปัญหามากพอๆกับโรเบิร์ต อย่าลืมว่าหนังแอ็กชั่นทั้งหลายในฮอลลิวู้ดถูกสร้างขึ้นไม่หยุดหย่อนก็เนื่องจากมีคนเข้าไปอุดหนุนกันอยู่เสมอไม่ต่างกับรายการ Top Story

สุดท้ายแล้ว จอห์น เฮิร์ซเฟลด์ ไม่ต้องการให้ผู้ชมของเขาตกหลุมพรางเหมือนจอร์ดี้ผู้ไม่ทันระวังว่าเหรียญที่เอ็ดดี้ใช้โยนทายหัวก้อยนั้นมีแต่ด้านหัวเพียงอย่างเดียว เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักชอบที่จะมองปัญหา และตัดสินสถานการณ์ในลักษณะเกมการเล่นโยนเหรียญ นั่นคือ ดูผลจากเพียงด้านเดียว ดังนั้นพอเกิดเหตุ เช่น นักเรียนวัยรุ่นใช้ปืนบุกถล่มโรงเรียน เป้าหมายแรกที่ถูกรุมกระหน่ำจากหน่วยงานทุกฝ่าย ได้แก่ การขาดวิจารณญาณของสื่อมวลชนด้วยวิธีนำเสนอความรุนแรงชนิดไร้ขีดจำกัด แน่นอนว่าสมมุติฐานดังกล่าวไม่หลักลอยเสียทีเดียว แต่เฮิร์ซเฟลด์ต้องการจะบอกว่าจริงๆแล้วมันยังมี ‘ด้าน’ อื่นๆอีกที่ถูกปกปิดไว้ซึ่งอาจส่งอิทธิพลเท่าเทียม หรือ ‘คล้ายคลึง’ กับส่วนที่ถูกเปิดโปงจนแยกไม่ออก และหากเรารู้เท่าทันธรรมชาติแห่งเกมโยนเหรียญนี้แล้ว การตัดสินขั้นสุดท้ายก็จะดำรงความยุติธรรมสูงสุด

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณนะค่ะ