วันอังคาร, มีนาคม 06, 2550

About a Boy: คำสารภาพของผู้ชายขี้เอา



ถ้า เฮเลน ฟีลดิ้ง (Bridget Jones’s Diary) คือ กระบอกเสียงของผู้หญิงคอสโม นิค ฮอร์นบี้ (Fever Pitch, High Fidelity, About a Boy) ก็คือ ตัวแทนของผู้ชายวัฒนธรรมป็อป หนังสือของทั้งสองถ่ายทอดสงครามร่วมสมัยระหว่างเพศชายกับเพศหญิงออกมาในลีลาเสียดสี เยาะหยัน และเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ตัวเอกหญิงของฟีลดิ้งทำงานหาเลี้ยงชีพเองได้ หมกมุ่นอยู่กับเรื่องความงาม (น้ำหนัก เสื้อผ้า) และชื่นชอบที่จะดำเนินวิถีชีวิตตามหนังสือฮาว-ทู/บทความในนิตยสาร ส่วนตัวเอกชายของฮอร์นบี้นั้นก็มักจะหมกมุ่นอยู่กับงานอดิเรก (ฟุตบอล ดนตรี โทรทัศน์) และดำเนินชีวิตตามกิจกรรมเหล่านั้น

ที่สำคัญทั้งสองล้วนได้รับอิทธิพลในการสร้างบุคลิกตัวละครมาจากแนวคิดตามหลักจิตวิทยาสมัยใหม่ของ จอห์น เกรย์ ที่อ้างว่าผู้ชายมาจากดาวอังคาร และ ผู้หญิงมาจากดาวศุกร์

ด้วยเหตุนี้ผู้ชายในหนังสือของพวกเขาจึงดูจะให้ความสำคัญกับเซ็กซ์มากกว่าผู้หญิง ชื่นชอบหลักเหตุผล นิยมจัดระเบียบชีวิตเป็นสัดส่วน และเข็ดขยาดการผูกมัด ส่วนผู้หญิงนั้นมักใช้อารมณ์ตัดสินใจ โรแมนติก เรียกร้องข้อผูกมัด ความมั่นคง และปรารถนาจะคบหาผู้ชายที่มีนิสัยตรงกันข้ามกับคุณลักษณะซึ่งกล่าวมาทั้งหมดข้างต้น

วิล ฟรีแมน (ฮิวจ์ แกรนท์) ใน About a Boy คือ ตัวอย่างชัดเจนของผู้ชายที่ถูกสร้างตามแนวคิดทางจิตวิทยาสมัยใหม่ เขาเป็นผู้ชายซึ่งกำลังตกอยู่ในภาวะ Peter Pan syndrome คำที่ถูกคิดค้นขึ้นโดยนักจิตวิทยาป็อป แดน ไคลี่ย์ ในหนังสือชื่อ Peter Pan syndrome: Men Who Have Never Grown Up วิลปฏิเสธความรับผิดชอบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพการงาน หรือความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง เขาไม่เคยทำงานจริงๆจังๆ รายได้หลักของเขามาจากเพลงฮิตที่พ่อแต่งเอาไว้เมื่อหลายปีก่อนชื่อ Santa’s Super Sleigh เขาเปลี่ยนคู่นอนบ่อยเหมือนเปลี่ยนเสื้อผ้า ชอบแบ่งกิจวัตรออกเป็นช่วงเวลา เช่น ออกกำลังกาย ดูโทรทัศน์ กินข้าว ซื้อซีดี ฯลฯ และยึดถือมันเป็นสรณะ เขาแต่งตัว ทำผม และรู้สึกเหมือนตัวเองยังเป็นวัยรุ่น

วิลเดินทางไป เนเวอร์แลนด์ และไม่แสดงท่าทีว่าอยากจะหวนกลับคืนสู่โลกแห่งความเป็นจริงอีกเลย… จนกระทั่งเขาได้พบกับ มาร์คัส (นิโคลัส ฮอลท์)

มาร์คัสเป็นเด็กชายวัย 12 ขวบ แต่ทำตัวเหมือนชายหนุ่มวัยกลางคน แม่ของเขา ฟิโอน่า (โทนี่ คอลเล็ตต์) ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง เธอชอบร้องไห้และมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย มาร์คัสเป็นห่วงฟิโอน่าราวกับเธอเป็นเด็กในความดูแลของเขา ความวิตกกังวลดังกล่าวเริ่มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นอีกเมื่อเขากลับบ้านมาพบเธอนอนสลบอยู่บนโซฟาจากการกินยาเกินขนาด เขาแต่งตัวและฟังเพลงตามรสนิยมของคุณแม่ฮิปปี้ (ในหนังสือเขาฟังเพลงของ โจนี่ มิทเชลล์ ในหนังเขาฟัง Killing Me Softly ของ โรเบอร์ต้า แฟล็ค) เขาเป็นมังสวิรัติที่ไม่เคยแตะต้องแม็คโดนัลด์เหมือนเด็กคนอื่นๆ

มาร์คัสไม่มีเพื่อนและเข้ากับใครในโรงเรียนไม่ได้ เขาไม่รู้จักวิธีประพฤติตัวให้เหมือนเด็กวัย 12 ขวบทั่วๆไป…จนกระทั่งเขาได้พบกับวิล ฟรีแมน

เช่นเดียวกับในหนังสือ About a Boy ฉบับหนัง ผลงานกำกับของสองพี่น้อง พอล กับ คริส ไวท์ซ (American Pie) เล่าเรื่องราวของ ‘เด็กชายสองคน’ สลับกันไปมาแบบฉากต่อฉาก บทต่อบท ก่อนทั้งคู่จะเดินทางมาพบกันในช่วงถัดมา เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความต่างในความเหมือนของตัวละครทั้งสอง โดยระหว่างที่วิลดำเนินชีวิตแบบ ปีเตอร์ แพน ด้วยการเสแสร้งเป็นผู้ใหญ่ (คุณพ่อลูกติด) ในชุมนุมของกลุ่มพ่อม่ายแม่ม่ายภายใต้ชื่อ Single Parents Alone Together มาร์คัสก็ต้องประสบปัญหาไม่รู้จบเพราะเขาทำตัวเกินวัยหรือล้าสมัยจนกลายเป็นตัวตลกของเด็กทุกคนในโรงเรียน จากนั้นบทหนังก็ค่อยๆเชื่อมโยงทั้งสองเข้าด้วยกัน ทำให้พวกเขาเรียนรู้จากกันและกันทีละนิดทีละหน่อย ช่วยพัฒนาชีวิตปัจจุบันของอีกฝ่ายให้ดีขึ้น วิลช่วยมาร์คัสเลือกซื้อรองเท้าและเลือกฟังเพลงแบบที่เด็กคนอื่นๆเขาฟังกัน ส่งผลให้เขาเริ่ม ‘มีโอกาส’ กับเด็กหญิงคนหนึ่งที่โรงเรียนซึ่งเขาแอบปิ๊งอยู่ ส่วนมาร์คัสก็ช่วยสอนวิลให้รู้จักแก้ปัญหาแบบผู้ใหญ่ เช่น บอกความจริงกับราเชล (ราเชล ไวซ์) ผู้หญิงซึ่งเขาหลงรัก

About a Boy ไม่ใช่ครั้งแรกที่ นิค ฮอร์นบี้ สอดแทรกบุคลิกแบบ ‘เด็กไม่รู้จักโต’ ให้กับตัวละครเอกของเขาซึ่งมักจะทำหน้าที่เป็นคนเล่าเรื่อง (1) ก่อนหน้านี้ ตัวเอกของ Fever Pitch ก็คลั่งไคล้ฟุตบอลอย่างหนัก โดยเฉพาะทีมอาร์เซนอล จนทำให้เขาปฏิเสธไม่ยอมไปงานปาร์ตี้ของเพื่อนฝูง หรือออกเดทกับแฟนสาว ทั้งยังจัดแจงเปรียบเทียบ ลำดับชีวิตของเขาตามประวัติศาสตร์การแข่งขันของทีมอาร์เซนอลอีกต่างหาก ทางด้านตัวเอกของ High Fidelity เองก็คลั่งไคล้เพลงร็อคไม่แพ้กันจนพยายามจะตีความทุกอย่างในชีวิตของเขาตามกฎเกณฑ์แห่งดนตรี (เขามีนิสัยชอบจัด top five ให้กับทุกสิ่งทุกอย่าง) เขาทำงานติดแหง็กอยู่ในร้านขายแผ่นเสียงซึ่งเขาเองก็ไม่ได้มีความสุขกับมันนัก แต่ก็หวาดกลัวเกินกว่าจะเปลี่ยนแปลง โลกในร้านขายแผ่นเสียงคือเนเวอร์แลนด์ที่เขาสามารถพูดคุย ถกเถียงกับเพื่อนๆเรื่องเพลงร็อคและคงความเป็นเด็กเอาไว้ได้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ความเป็นเด็กของ วิล ฟรีแมน ดูเหมือนจะก้าวไปไกลกว่าใครเพื่อน โดยขณะที่สองตัวเอกใน Fever Pitch กับ High Fidelity หลงระเริงอยู่กับ ‘งานอดิเรก’ ของพวกเขาจนมันส่งผลกระทบต่อสัมพันธ์รักส่วนตัว (จริงๆแล้วพวกเขาต้องการสานสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับใครสักคน) วิลกลับมีความสุข (หรือคิดว่าเขามีความสุข) ในการวิ่งหนีสัมพันธภาพแบบจริงจังกับผู้หญิงหรือใครก็ตามในโลกนี้ เขาเป็นผู้ชายประเภทที่ บริดเจ็ท โจนส์ ขนานนามให้เป็น ‘ผู้ชายขี้เอา’ คนพวกนี้จ้องแต่จะกอบโกย โดยไม่ยินยอมมอบสิ่งใดกลับคืน พวกเขาต้องการมีเซ็กซ์แบบไม่ผูกมัด พวกเขาไม่เคยแคร์หรือหลงรักใครมากไปกว่าตัวเอง (2)

แต่เช่นเดียวกับบรรดาฮีโร่ทั้งหลายในภาพยนตร์และในนิยายสองเรื่องก่อนหน้าของฮอร์นบี้ที่สุดท้ายย่อมต้องก้าวข้ามข้อบกพร่องภายในตัวเอง (character flaws) ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากความรู้สึกผิด/วิกฤติแห่งอดีต หรือความหวาดกลัวต่ออนาคตก็ตาม ได้สำเร็จ และทำให้ผู้ชมรู้สึกเห็นอกเห็นใจอย่างเต็มที่ ในที่สุด วิล ฟรีแมน ก็ได้เรียนรู้คุณค่าของการแคร์ใครสักคนและตระหนักถึงความปิติสุขที่ได้จากการมีคนแคร์เขาอยู่เช่นกัน เขายอมลดกำแพงลงเพื่อเปิดโอกาสให้คนรอบข้างได้เข้ามามีส่วนร่วมใน ‘รายการ’ ของเขาเป็นการถาวร ไม่ใช่เพียงแขกรับเชิญที่มาสนุกสนานเฮฮาในงานอยู่พักหนึ่งแล้วก็จากไปตลอดกาล

นิยายของฟีลดิ้งกับฮอร์นบี้ได้รับการกล่าวขวัญถึงในฐานะ ภาพสะท้อนสังคม (กรุงลอนดอน?) ร่วมสมัย ตัวละครในหนังสือของพวกเขาตกผลึกมาจากความรู้สึกของผู้หญิง-ผู้ชายยุควัฒนธรรมป็อปแพร่ระบาด ภาพยนตร์ ดนตรี หนังสือแนวฮาว-ทู ตลอดจนนิตยสารแฟชั่น มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของพวกเขา วิล ฟรีแมน สามารถ ‘ช่วยชีวิต’ มาร์คัสได้จากการเลือกซื้อรองเท้า เสื้อผ้า และซีดีที่เหมาะสมกับวัยให้เขา ส่วน บริดเจ็ท โจนส์ ก็ได้รับอิทธิพลในการดำเนินชีวิตอย่างสูงจากนิตยสาร (แฟชั่น) และหนังสือ (ฮาว-ทู) ที่เธออ่าน นิยายของฟีลดิ้งกับฮอร์นบี้อาจดู ‘โมเดิร์น’ ในการอ้างอิงวัฒนธรรมป็อป แนวคิดจิตวิทยาสมัยใหม่ สะท้อนถึงชีวิตของคนโสดในสังคมเมืองซึ่งเต็มไปด้วยครอบครัวแบบพ่อเดี่ยว/แม่เดี่ยว ผู้หญิงมีความคิดอิสระเสรีในเรื่องเซ็กซ์ ผู้ชายถูกลดทอนความเป็นชาย (masculinity) ลงเมื่อเทียบกับตัวเอกในนิยายแนวโรแมนติกคลาสสิกทั้งหลาย แต่หากมองลงไปลึกๆแล้วจะพบว่าหนังสือของพวกเขานั้นยังคงเน้นย้ำคุณค่าหรือแนวความคิดแบบดั้งเดิมเกี่ยวกับครอบครัวและความรัก หาใช่การปฏิวัติ

บริดเจ็ท โจนส์ อาจดูแกร่งกร้าว มั่นใจ เป็นสาวทำงานยุคใหม่เต็มตัว แต่ลึกๆแล้วเธอยังมีแนวความคิดแบบโรแมนติกสุดโต่ง รอคอยอัศวินอย่าง มาร์ค ดาร์ซี่ ให้ขี่ม้าขาวมาช่วยพาเธอหนีจากชีวิตโสดอันสุดแสนจะทรมานนี้เสียที (3) ส่วน วิล ฟรีแมน นั้น ถึงแม้เขาจะดูไม่ทุกข์ไม่ร้อนกับชีวิตโสดในวัย 30 กว่าๆเทียบเท่า บริดเจ็ท โจนส์ แต่หนังก็ตอกย้ำอยู่เสมอผ่านคำพูดของตัวละครรอบข้างว่านั่นเป็นวิถีชีวิตที่ผิดพลาด ตื้นเขิน ไร้คุณค่า หนังอาจไม่ได้แสดงท่าทีตำหนิติเตียนทางเลือกของวิลชัดเจน ขณะเดียวกันก็ล้อเลียนภาพลักษณ์ ‘ครอบครัวสุขสันต์’ อยู่ในทีเป็นครั้งครา แต่แน่นอนว่ามันก็ไม่พร้อมจะเชิดชูว่าการดำเนินชีวิตเยี่ยงนั้นถือเป็นเรื่องปรกติธรรมดา หรือกระทั่งน่ายกย่อง เชิดชูเช่นกัน ตรงกันข้าม หนังนำเสนอวิถีชีวิตของวิลราวกับเขา ‘ติดกับ’ อยู่ในเนเวอร์แลนด์ต่างหาก จริงๆแล้วเขาไม่ได้เป็นคนเลือก เขาเพียงแค่มองไม่เห็นทางออกเท่านั้น

เช่นเดียวกับบริดเจ็ท ความเปลี่ยนแปลง/เติบโต/เติมเต็มในชีวิตของวิลนั้นเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก (อัศวินม้าขาว) คือ ราเชล ไม่ใช่จากภายใน วิลเพิ่งรู้สึกอย่างจริงๆจังๆว่าการไม่มีงานเป็นหลักแหล่ง ไม่มีลูก และไม่เคยผูกมัดกับใครมาก่อน เป็นเรื่องเลวร้าย น่าอายเหลือแสนในฉากที่เขาได้พบเธอเป็นครั้งแรก เพราะราเชลกับมาร์คัส วิลจึงค่อยๆก้าวข้ามความเป็นเด็กไปสู่วิถีชีวิตแบบผู้ใหญ่ได้ในที่สุด ซึ่งฉากจบของหนัง (งานปาร์ตี้คริสต์มาสอันอบอุ่นไปด้วยบรรยากาศของครอบครัวสุขสันต์) ก็สรุปให้เห็นเด่นเจนว่ามันหรรษา ทรงคุณค่า น่าพึงพอใจกว่าชีวิตก่อนหน้านี้ของวิลเป็นไหนๆ

กล่าวอีกนัยหนึ่ง About a Boy คือ คำสารภาพกลายๆของผู้ชายว่า ไม่ว่าพวกเขาจะขี้เอา หรือทำตัวเป็นเด็กไม่รู้จักโตมากขนาดไหน ลึกๆแล้วพวกเขาล้วนแสวงหาความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง มีความหมายเช่นเดียวกันกับพวกผู้หญิงทั้งหลาย และปรารถนาว่าวันหนึ่งจะได้เติบโตขึ้นเพื่อลงหลักปักฐานกับ ‘คนที่ใช่’ สักคน

ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องน่าละอายใจ หรือควรค่าแก่การตำหนิติเตียน ในเมื่อ About a Boy ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้มวลชนเกิดความรู้สึกดีๆและเพื่อตอบสนองจินตนาการแห่งอุดมคติซึ่งคนส่วนใหญ่ใฝ่หาและศรัทธา (วิลได้รู้จักกับความรัก ส่วนบริดเจ็ทก็ได้เจอกับอัศวินม้าขาว) กระนั้นมันก็ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะนึกถึงฉากหนึ่งในหนังสยองขวัญคลาสสิกของ เจมส์ เวลส์ ที่วิลเช่ามาดูตอนคืนวันคริสต์มาส เพียงแต่คราวนี้เจ้าแฟรงเก้นสไตน์มันเปลี่ยนมาพูดว่า

“ครอบครัว…ดี

โสด…แย่”

หมายเหตุ

(1) ยกเว้นเพียง About a Boy ซึ่งฮอร์นบี้ใช้สรรพนามบุรุษที่สามในการเล่าเรื่อง ผู้เล่าทำหน้าที่เหมือนพระเจ้า ล่วงรู้ความคิดของตัวละคร แต่ขณะเดียวกันก็จำกัดมุมมองรอบด้านอื่นๆ ทำให้มันเหมือนกับเป็นการเล่าเรื่องผ่านสายตาของวิลหรือมาร์คัส หนังเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในส่วนนี้ด้วยการให้มาร์คัสกับวิลเล่าเรื่องราวโดยใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งแบบตรงไปตรงมาแทน

(2) นอกจากนั้น หนึ่งในผู้ชายขี้เอาของ Bridget Jones’s Diary หรือ เดเนี่ยล คลีเวอร์ ก็ยังรับบทโดย ฮิวจ์ แกรนท์ อีกด้วย

(3) ความจริงที่ว่า Bridget’s Jones’s Diary ได้โครงเรื่องมาจากนิยายคลาสสิกสุขนาฏกรรมชื่อ Pride and Prejudice ของ เจน ออสเตน ช่วยตอกย้ำสมมุติฐานให้ชัดเจนขึ้น

7 ความคิดเห็น:

black forest กล่าวว่า...

เอ...เค้าจะเป็น Peter Pan syndrome มั๊ยน๊า

Riverdale กล่าวว่า...

หมายถึงคุณน้องเปลี่ยนคู่นอนบ่อยเหมือนเปลี่ยนเสื้อผ้า และไม่อยากคบหาใครจริงๆ จังๆ น่ะเหรอจ๊ะ :)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมว่าผู้ชายขี้เอาดูดีกว่าผู้หญิงขี้เอานะ
ว่ามั้ย? :P

Riverdale กล่าวว่า...

เอ่อ คุณเด็กโหง่ยยึดถือคติแห่ง "สังคมชายเป็นใหญ่" มากไปหน่อยหรือเปล่าจ๊ะ ทำไมผู้หญิงขี้เอาถึงถูกตราหน้าว่า "แรด" แต่ผู้ชายเจ้าชู้กลับกลายเป็น "มีเสน่ห์"

(ส่วนเกย์ขี้เอาเขาเรียก "ธรรมชาติ" 555)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

^____^"

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ชอบเรื่องนี้มาก
ขอบคุณที่เขียนเล่าเกร็ดให้อ่านครับ
...
Jake

Riverdale กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ คุณ Jake เอิ่ม ชื่อนี้ bring back memory มากอ่ะ ^^"