วันศุกร์, มีนาคม 02, 2550

Head On: ตัวตนที่รอวันถูกค้นพบและยอมรับ


เมื่อครั้งที่หนังเรื่อง Head On เข้าฉายในออสเตรเลีย ไม่มีใครที่เกี่ยวข้องกับหนังเรื่องนี้ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังจะคาดคิดว่า ด้วยการเปิดฉายแบบจำกัดโรงเฉกเช่นธรรมเนียมปฏิบัติของภาพยนตร์อาร์ตโดยผู้สร้างอิสระทั้งหลาย จะสามารถผันให้ Head On ไต่อันดับจนสุดท้ายกลายเป็นภาพยนตร์ ‘ฮิต’ แห่งปีได้ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน เนื่องจากภาพที่ปรากฏบนจอนั้นมันช่างห่างไกลจากคำว่าตลาดเสียเหลือเกิน

จริงอยู่ที่เนื้อหาอันเกี่ยวข้องกับชายโฮโมเซ็กซ่วลเชื้อสายกรีกอาจดึงดูดผู้ชมเฉพาะกลุ่มได้ แต่เมื่อพิจารณาถึงโครงเรื่องแล้ว Head On ก็ไม่น่าจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มหนังที่ให้ความรู้สึกดีๆได้แน่นอน เกี่ยวกับเกย์กบฎผู้ตกอยู่ในวังวนของเซ็กซ์แบบไร้ข้อผูกพัน ยาเสพติด และความสิ้นหวังในการแสวงหาความหมายแห่งชีวิต sex scenes อันน่าตื่นตะลึงระหว่างชายกับชายอาจถูกมองเป็นจุดขายได้ แต่ก็คงไม่ใช่สำหรับกลุ่มรักต่างเพศซึ่งถือเป็นตลาดกลุ่มใหญ่ เช่นเดียวกับความหล่อเหลาของดารานำ อเล็กซ์ ดิมิเทรดส์ ซึ่งแม้เขาจะกลายเป็นขวัญใจวัยรุ่นจากหนังโรแมนติกอย่าง Heartbreak Kid (1993) และซีรี่ย์ชีวิตรักวัยรุ่น Heartbreak High แต่ก็คงจะไม่มีเด็กสาวคนใดชอบจะเห็นดาราคนโปรดเล่นบทรักกับผู้ชายร่างใหญ่แบบถึงอกถึงใจเป็นแน่

เช่นนั้นแล้วอะไรล่ะที่เป็นปัจจัยให้ Head On กลายเป็นหนังฮิตแห่งปีในออสเตรเลีย ?

นอกเหนือจากคุณภาพของตัวภาพยนตร์แล้ว Head On ได้สะท้อนความรู้สึกร่วมแห่งชนชาติออสเตรเลี่ยนออกมาได้อย่างแยบยล เชื่อว่าจุดนี้เองที่ช่วยให้หนังได้รับความสนใจในวงกว้าง เรื่องราวชีวิตของเด็กหนุ่มกรีกวัย 19 ปี ชื่อ อรี (อเล็กซ์ ดิมิเทรดส์) เขาไม่มีงานทำและเลือกใช้ชีวิตแบบเต็มเหยียดราวกับไม่มีอะไรจะเสีย ตลอดช่วงเวลากว่า 24 ชั่วโมง เราจะได้เห็นเขาปาร์ตี้อย่างหนักหน่วง เสพยาหลากชนิด และมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายแปลกหน้ามากมาย

เขามีเพื่อนสนิทอยู่สองคนที่ดำเนินชีวิตแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว และกลายเป็นตัวละครที่ถูกนำมาเปรียบเทียบได้อย่างน่าสนใจ โจ (เดเมี่ยน โฟตุส) ตกลงใจที่จะดำเนินชีวิตแบบหนุ่มกรีกตัวอย่างด้วยการหมั้นกับหญิงสาว ทำงาน สร้างครอบครัว ความมั่นคง และมีบ้านเป็นของตัวเอง ส่วนจอห์นนี่ (พอล แคปซิส) กลับเปิดเผยความเป็นรักร่วมเพศอย่างหมดเปลือกโดยไม่แคร์สังคม เขาชอบแต่งตัวเป็นผู้หญิงออกไปเที่ยวราตรี ไม่สนใจแม้ใครจะมอง หัวเราะเยาะ หรือกระทั่งทำให้เขาต้องเจอกับเรื่องเดือดร้อน

อรีกำลังเผชิญหน้ากับความกดดันครั้งยิ่งใหญ่ทั้งจากความคาดหวังของครอบครัวให้หางานทำ แต่งงาน สร้างฐานะ ความคาดหวังทางสังคมให้ทำตัวเป็นหนุ่มกรีก (จากครอบครัวอพยพ) ที่มีคุณค่า และความคาดหวังทางกามารมณ์ให้แสดงเจตจำนงอันชัดเจน

ผู้คนรอบข้างหวังจะเห็นเขามีชีวิตอันน่านับถือ ทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจด้วยการหาผู้หญิงมาเคียงกาย หางานดีๆทำเป็นหลักแหล่ง หาเงินได้มากมาย และหาบ้านสักหลังเพื่อลงหลักปักฐาน… อรีไม่ได้ต้องการสิ่งเหล่านั้น ถึงเขาจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองต้องการอะไรแต่ก็มั่นใจว่าทั้งหมดข้างต้นไม่ใช่สิ่งที่ตนกำลังแสวงหา ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้อรีต้องตกลงในห้วงชีวิตอันไร้ทิศทาง ไร้ความหวังที่จะค้นพบทางออกอันสวยงาม

ถึงแม้ Head On จะเป็นงานกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวครั้งแรกในชีวิต แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับผู้กำกับหญิง อนา ค็อคคินอส ในการพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับการค้นหาตัวตนทางด้านเชื้อชาติ เพศ และครอบครัว เนื่องจากก่อนหน้านี้ Only The Brave (1994) หนังความยาว 50 นาทีของเธอเกี่ยวกับหญิงวัยรุ่นสองคนในเมลเบิร์นกับปัญหาความไม่แน่ใจเกี่ยวกับตัวตนทางเพศ (sexual identity) ได้สร้างชื่อปูพื้นในวงแคบให้แก่ อนามาแล้วตามเทศกาลหนังนานาชาติต่างๆ ดังนั้นเมื่อมีโอกาสได้ทำภาพยนตร์ขนาดยาวเป็นครั้งแรก ประเด็นดังกล่าวจึงยังถูกนำมาพูดถึงอย่างเด่นชัดอีกครั้ง โดยคราวนี้เป็นการนำนิยายของ คริสตอส ซิโอลคาส เรื่อง Loaded มาดัดแปลงพร้อมกับเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เป็น Head On อันแสดงความหมายถึงการปะทะกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดสองชั่วโมงของหนัง

Head On มีความคล้ายคลึงกับ Trainspotting ในหลายด้านทั้งจงใจและบังเอิญ จนนักวิจารณ์ออสซี่หลายคนกระแนะกระแหนผู้กำกับอนาว่าเธอพยายามจะทำให้หนังออกมาในแนวทดลอง แหวก แตกต่าง แต่ความจงใจเหล่านั้นมันออกจะเด่นชัดเจนเกินไปจนทำให้หนังขาดชีวิตชีวา และที่สำคัญดูไม่จริงใจ ผมยอมรับว่าตัวเองมีความรู้สึกเช่นนั้นเหมือนกันเมื่อได้ชม Head On เป็นครั้งแรก (ยังไม่รวมถึงโทนอันเคร่งขรึมจนบางครั้งก็รู้สึกอยากจะเบือนหน้าหนี) แต่ก็ไม่อาจจะมองข้ามเสน่ห์หลักของหนังไปได้เช่นกัน นั่นคือ การตั้งคำถามอันลึกซึ้ง และละเอียดอ่อนมากมาย แต่กลับให้คำตอบแก่ผู้ชมเพียงน้อยนิด โดยความคลุมเคลือทั้งหลายนี้เองได้บ่งบอกให้เห็นว่าทีมผู้สร้างไม่ต้องการจะยัดเยียดทางออกให้แก่ปัญหา หรือสาระให้แก่ผู้ชม และสิ่งนี้เองเคยสร้างเสน่ห์ให้แก่ Trainspotting มาแล้วอย่างยอดเยี่ยม

นอกจากนั้นหนังทั้งสองยังพูดถึง การปะทะกันระหว่างแรงปรารถนาแห่งปัจเจกชนในอันที่จะเป็นอิสระจากกฏเกณฑ์ทางสังคม กับความกดดันคาดหวังจากสิ่งต่างๆรอบข้าง บทหนังตั้งคำถามต่อวิถีชีวิตซึ่งได้รับการยอมรับแบบที่โจถูกกลืนกินว่ามันควรค่าสำหรับการต่อสู้หรือ แต่กระนั้นก็ใช่จะมอบความถูกต้องต่อวิถีชีวิตแบบอรี (อย่างน้อยการที่เขาทำลายทุกอย่างพังพินาศจนทำให้เหลือตัวเองโดดเดี่ยวเพียงลำพังในตอนท้ายเรื่อง ก็ให้ความรู้สึกหดหู่มากกว่าจะเป็นชัยชนะ) ดังนั้นแม้สุดท้ายหนังจะจบลงแล้วเราก็ยังสับสน ไม่สามารถตัดสินได้ว่าวิถีชีวิตแบบใดที่ควรค่าแก่การค้นหา หรือบางทีนั่นอาจเป็นอีกวิธีหนึ่งของการบอกว่าปัญหาบางชนิดก็ลึกซึ้งเกินกว่าจะตอบว่าถูกหรือผิด แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ชมไม่อาจจะลืมได้ซึ่งก็คือจุดหลักหนัง ได้แก่ การค้นหาตัวเอง และการสำรวจเบื้องลึกแห่งจิตใจ

สำหรับอรีปัญหาของเขาไม่ใช่เพียงการเป็นหนุ่มเชื้อสายกรีกจากครอบครัวอพยพ ที่การทำงานอย่างหนักเท่านั้นถึงจะได้มาซึ่งการยอมรับในแผ่นดินของผู้อื่น แต่เขายังเป็นเกย์ ซึ่งทำให้หมดโอกาสสร้างความพึงพอใจแก่พ่อแม่ด้วยการลงหลักปักฐาน แต่งงาน สร้างชีวิตอันน่าเคารพนับถือ (สังคมที่ยึดถือคุณค่าดั้งเดิมแบบชาวกรีกกับสังคมชาวเกย์อันลึกลับ คือ อีกหนึ่งของการปะทะที่หนังเน้นย้ำตั้งแต่ต้นจนจบ) ขณะเดียวกันก็ยังถูกเหยียดยามถึงสองชั้นจากสังคมที่เต็มไปด้วยอคติ (ออสซี่เหยียดกรีก กรีกเหยียดคนจีน คนจีนเหยียดอิตาเลี่ยน อิตาเลี่ยนเหยียดเวียดนาม ผิวขาวเหยียดผิวเหลือง ผิวดำเหยียดผิวขาว รักต่างเพศเหยียดรักร่วมเพศ เกย์เหยียดเลสเบี้ยน) คือ ทั้งจากความเป็นกรีก (Greekness) และจากความเป็นเกย์ (Homosexuality)

ฉากหนึ่งซึ่งแสดงประเด็นดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา เป็นตอนที่อรีกับจอห์นนี่ถูกสองตำรวจเหยียดเกย์ โดยคนหนึ่งมีเชื้อสายกรีกเหมือนกันจับตัวไปสอบถาม พวกเขาบังคับทั้งสองให้ถอดเสื้อผ้าออกให้หมด แต่จอห์นนี่ปฏิเสธด้วยการพูดเป็นภาษากรีกจนสุดท้ายจึงโดนซ้อมเสียสะบักสะบอม เมื่อพ้นภัยออกมาในที่สุดอรีก็ถึงกับระเบิดอารมณ์ ด่าว่าจอห์นนี่ในความโง่เขลาที่คิดจะต่อกรกับผู้ถืออำนาจอยู่ในมือ พร้อมกับถามว่า ‘ทำไม?’ เหตุผลที่หลุดออกมาจากปากหนุ่มในเครื่องแต่งกายผู้หญิง คือ เราจะต้องยืนหยัดสู้ในโลกแห่งความจอมปลอม ปลิ้นปล้อน อยุติธรรม มิฉะนั้นเราก็จะต้องตกเป็นเหยื่อไปตลอดกาล

แต่อรีจะยืนหยัดต่อสู้กับอะไรเล่า ในเมื่อเขาเองยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าตน คืออะไร ?

เขาไม่แน่ใจในรสนิยมทางเพศของตนเอง แม้โดยพฤติกรรมแล้วเขาจะพอใจกับการมีเซ็กซ์กับผู้ชายก็ตาม เขาเคยพยายามจะมีเซ็กซ์กับเบ็ตตี้ (เอเลน่า แมนดาลิส) น้องสาวของโจ แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้จบลงอย่างสุขสำราญ เขาปฏิเสธที่จะประกาศให้โลกรู้ถึงความเป็นโฮโมเซ็กซ่วลแบบจอห์นนี่ เพราะลึกๆแล้วเขาไม่ต้องการจะถูกตัดขาดจากครอบครัวอย่างสิ้นเชิงเสียทีเดียว แม้คำดูถูกเหยียดหยามเป็นระยะจากบิดาจะจุดประกายผลักดันให้เขาปฏิเสธวิถีชีวิตแบบครอบครัวชาวกรีกก็ตาม

นั่นเองเป็นเหตุให้อรีทำร้ายความรักที่ฌอน (จูเลี่ยน การ์เนอร์) พยายามจะหยิบยื่นให้

เมื่อมองในมุมนี้จอห์นนี่จึงหาใช่ตัวละครที่น่าสังเวช สงสารเสมอไป เขาอาจเป็นกะเทยผู้บ่อยครั้งถูกมองเป็นตัวตลก และบางครั้งก็กลายเป็นเหยื่อแห่งอคติ แต่อย่างน้อยเขาก็ยังรู้ว่าตนเป็นใคร ต้องการอะไร และจะต้องต่อสู้กับสิ่งใดบ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งดังกล่าว อรีเสียอีกที่ยังคงสับสน ไม่แน่ใจ และปฏิเสธทุกสิ่งด้วยเชื่อว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ จิตใจเขาล้วนเต็มไปด้วยความเกลียดชัง ความไม่พอใจ เขาเกลียดโลกใบนี้ เกลียดความคาดหวังของสังคม ไม่นับถือผู้ที่ยอมแพ้ต่อมัน (โจ) ไม่ต้องการจะเป็นคนบุกเบิก (จอห์นนี่) และปฏิเสธความช่วยเหลือ (ฌอน) จนดูเหมือนเขาจะรู้เพียงว่าอะไรคือสิ่งที่เขา ‘ไม่ต้องการ’

แต่ก่อนที่เขาจะรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ตนต้องการ เขาจะต้องรู้เสียก่อนว่าตัวตน (identity) ที่แท้จริงของเขานั้นเป็นใคร ซึ่งอรีอาจจะค้นหาไม่พบไปตลอดชีวิต หรือ ค้นพบแล้วแต่เขาขลาดเกินกว่าจะยอมรับมัน และต่อสู้ทุกอุปสรรคเพื่อมัน

ประเทศออสเตรเลียเองก็ดูจะไม่แตกต่างจากอรีสักเท่าใดนักในด้าน จุดยืนทางตัวตนอันคลุมเครือ เนื่องจากในยุคแรกนั้นออสเตรเลียประกอบขึ้นด้วยชนผิวขาว ผู้มีรากฐานมาจากประเทศอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ (เกาะแห่งนี้ถูกใช้เป็นแหล่งจองจำนักโทษ) ลักษณะการถือกำเนิดมีความใกล้เคียงกับอเมริกาตรงการใช้กำลัง ความก้าวหน้าเข้ารุกรานชนพื้นเมืองต่างสีผิว จนสุดท้ายต้องล่าถอยและถูกจัดให้เป็นพลเมืองอันดับสองในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อประเทศเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ออสเตรเลียก็กลายเป็นสวรรค์ของชนอพยพต่างชาติจากชาวกรีกในยุคแรกสู่ชาวเวียดนามในยุคหลัง ส่งผลให้สังคมถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ เต็มไปด้วยชนกลุ่มน้อยและการกลืนกินทางเชื้อชาติ สายพันธุ์ ทำให้สุดท้าย national identity ของคนออสเตรเลี่ยนกลายเป็นเรื่องน่ากังขา

เราจะจัดใครเข้ากลุ่มชาวออสเตรเลี่ยน ‘ดั้งเดิม’ ในเมื่อคนกลุ่มแรกที่มาบุกเบิกดินแดนเป็นชาวอังกฤษ เจ้าของประเทศแท้จริงเป็นชนเผ่าอะบอริจิ้น ส่วนประชากรในปัจจุบันจำนวนมากล้วนมีเชื้อลูกผสมจากเอเชีย อังกฤษ อิตาลี สแกนดิเนเวีย จนถึงกรีซ ซึ่งต่างไม่อาจเอ่ยอ้างความเป็นออสเตรเลี่ยนได้อย่างเต็มปากเต็มคำ

ขณะเดียวกันประเทศของ ‘ชนผิวขาว’ แห่งนี้กลับมีความใกล้ชิด ผูกพัน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ภูมิศาสตร์และการเมืองกับประเทศส่วนใหญ่ในแถบเอเชียซึ่งเป็นแหล่งของ ‘ชนผิวเหลือง’ มากกว่าจะเป็นอเมริกา หรือ ยุโรป แต่กระนั้นทุกครั้งที่มีกิจกรรมระดับนานาชาติในภูมิภาคเอเชีย น้อยครั้งเหลือเกินที่ออสเตรเลียจะได้รับเชิญด้วย เพราะในสายตาของคนผิวเหลืองแล้ว ออสเตรเลียถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม ‘ตะวันตก’

เมื่อมองในระดับสังคม ออสเตรเลียเองก็ดูเหมือนจะขาดสิ่งที่อเมริกันเรียกว่า American Culture ตรงกันข้ามคำที่ถูกนักวิชาการทั้งหลายนำมาใช้เสมอๆสำหรับอธิบายสภาพสังคมโดยรวมกลับเป็น Multiculture (วัฒนธรรมอันหลากหลาย) พร้อมกันนั้นออสเตรเลียเองก็ยังคมผูกพันอยู่กับอังกฤษประเทศแม่ในระดับที่เข้มข้นกว่าอดีตลูกหม้อเช่นกันอย่างอเมริกาอยู่หลายเท่าตัว เห็นได้จากกีฬาที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่ล้วนมีรากฐานมาจากสหราชอาณาจักรทั้งสิ้น อาทิ รักบี้ คริกเก็ต หรือแม้แต่ Footy ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับรักบี้อย่างมากเมื่อเทียบกับอเมริกันฟุตบอลที่น่าจะมีรากฐานมาจากรักบี้เช่นกัน วันเกิดของพระราชินียังคงเป็นวันหยุดราชการในออสเตรเลีย เช่นเดียวกับระบบการศึกษา การเมือง การปกครองที่คงรากฐานมาจากเมืองผู้ดีอย่างใกล้ชิด

ดังนั้นขณะที่ปรารถนาจะเป็นเอกราช อิสระ ออสเตรเลียก็ต้องทนทุกข์ทรมานจากการยืนอยู่ตรงกลาง โดยไม่สามารถจะเข้าฝักฝ่ายใดได้เลย แน่นอนว่าอรีไม่สามารถเข้าสังคมออสซี่ได้อย่างกลมกลืนจากความเป็นกรีกที่ปฏิเสธจะทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างฐานะ ขณะเดียวกันก็รู้สึก‘ไม่พอดี’ในชุมชนชาวกรีกจากความเป็นเกย์ สุดท้ายเขาอาจถูกจัดอยู่ในกลุ่มโฮโมได้ แต่เขากลับยังไม่แน่ใจว่ามันเป็นสิ่งที่ตนต้องการ พร้อมกับวิ่งหนีความสัมพันธ์ชนิดไม่แยแส

ดูเหมือนเสน่ห์ความเป็นกบฎ คนนอกผู้ไม่เข้าพวกใครของอรีนี่เองที่ดึงดูดความสนใจและความรู้สึกร่วมของชาวออสเตรเลี่ยนอย่างได้ผล

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณนะค่ะ